ข้อมูลการส่งออกข้าวของกระทรวงเกษตรกัมพูชา เปิดเผยว่า เดือนมีนาคมของปี 2017 พบว่าการส่งออกข้าวกัมพูชาลดลงร้อยละ 16 อย่างน่าใจหาย แต่ตัวเลขการส่งออกข้าวในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ (2017) คือ 166,678 ตัน เพิ่มขึ้นจาก 162,220 ตันของช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว โดยในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ 2017 พบว่ามีอัตราการเติบโตขึ้นเล็กน้อย แยกแยะได้เป็นเดือนมกราคมเติบโตเพียงร้อยละ 11 และเดือนกุมภาพันธ์เพียงร้อยละ 17 เท่านั้น แต่เมื่อมองภาพรวมทั้งไตรมาสแล้วพบว่ายังน่าเป็นห่วง
Hun Lak รองประธานสภาข้าวกัมพูชา เปิดเผยว่า สาเหตุที่การส่งออกข้าวของกัมพูชามียอดที่ลดลงในเดือนมีนาคม 2017 นั้น อาจเป็นผลมาจากการจัดการสุขาภิบาลและสุขอนามัยพืช (SPS) ที่ยังไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งมีความจำเป็นอย่างมากต่อการส่งออก โดยเฉพาะตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่อันดับที่ 2 รองจากสหภาพยุโรป
เขายังเปิดเผยอีกว่า มีภาคเอกชนเพียง 6 รายเท่านั้น ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลกัมพูชาให้ส่งออกข้าวไปยังจีนได้ ส่วนอีก 55 ราย ยังคงต้องรอการตรวจสอบอีกหลายขั้นตอน
ขณะนี้พบว่า โรงงานขนาดใหญ่ในกัมพูชาที่เป็นผู้ส่งออกข้าวไปยังจีน ก็ยังไม่สามารถดำเนินการส่งออกได้ พบว่ามีปัญหาเกี่ยวกับมาตรฐาน SPS แต่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ภายในเร็วๆ นี้ ดังนั้นภาพรวมตัวเลขการส่งออกข้าวจึงยังคงลดลงต่อเนื่อง
รองประธานสภาข้าวกัมพูชา (CRF) ยังเปิดเผยต่อว่า ได้มีการเรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชาเร่งเจรจากับจีน เพื่อให้การส่งออกข้าวกัมพูชาให้มีหนทางที่สามารถเข้าถึงตลาดจีนได้มากขึ้น และยังได้แจ้งเตือนไปยังวงการอุตสาหกรรมข้าวกัมพูชาด้วยว่า หากไม่เร่งรีบดำเนินการใดๆ วงจรธุรกิจข้าวอาจจะถึงคราวล่มสลายก็เป็นได้
อีกทั้งการที่จะเข้าสู่ตลาดโลกนั้น จะยากมากขึ้น เพราะแต่ละประเทศมีกฎเกณฑ์การนำเข้าข้าวจากประเทศต่างๆ ที่เข้มงวดมากขึ้นด้วย
นอกจากกัมพูชาจะเผชิญกับอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดจีนแล้ว สหภาพยุโรปเองก็ยังเรียกร้องให้โรงสีข้าวกัมพูชาเร่งกำจัดเชื้อราในกระบวนการผลิตข้าวอีกด้วย ซึ่งนี่ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ต้องเร่งแก้ไข
จะเห็นได้ว่า ปัญหาภาคการส่งออกข้าวในกัมพูชานั้นค่อนข้างจะรุนแรงพอสมควร หากไม่เร่งแก้ไข โอกาสที่จะแข่งขันในอาเซียน สหภาพยุโรป และตลาดโลกก็จะดำเนินการได้ยากขึ้น เพราะคู่แข่งมีเกือบทุกประเทศ