ไฮไลต์ :
มะพร้าวถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศมหาศาล ตลาดมะพร้าวมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมานับจากปี 2555 โดยเฉพาะตลาดจีน ซึ่งประชาชนนิยมบริโภคเครื่องดื่มน้ำกะทิจึงทำให้ตลาดนี้ขยายตัว 100% ส่งผลให้ราคาจำหน่ายมะพร้าวสูงขึ้น จูงใจให้ชาวสวนลดพื้นที่ปลูกพืชชนิดอื่นหันมาปลูกมะพร้าวแทน ไม่เพียงตลาดมะพร้าวสดเท่านั้นที่เติบโต แต่ผู้ประกอบการไทยยังได้พัฒนานวัตกรรมในอาหารและเครื่องดื่มที่แปรรูปจากมะพร้าว เช่น น้ำมะพร้าวสปาร์กลิ่ง ผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวจากมะพร้าว ซึ่งช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพืชเศรษฐกิจนี้ได้อย่างมากมาย
มะพร้าวถือเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจสำคัญของไทย โดยตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมานับจากปี 2555 อุตสาหกรรมในกลุ่มมะพร้าวมีการส่งออกเติบโตอย่างต่อเนื่อง เฉพาะในปี 2559 มีมูลค่าส่งออก 14,544 ล้านบาท ขยายตัว 11.6% ไปยังตลาดส่งออกหลัก คือ สหรัฐอเมริกา สัดส่วน 30% รองลงมาคือ สหภาพยุโรป สัดส่วน 28% และจีน สัดส่วน 10.9% โดยเฉพาะตลาดจีน ถือเป็นตลาดที่นิยมบริโภคเครื่องดื่มน้ำกะทิมากจนทำให้ตลาดนี้มีการเติบโตสูงสุด มีอัตราขยายตัวเกิน 100% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
(กราฟิก 1 ผลิตภัณฑ์มะพร้าวส่งออกที่สำคัญของไทย)
ที่มา : สถาบันอาหาร
ทั้งนี้ ในปี 2560 สถาบันอาหารคาดว่าการส่งออกมะพร้าวของไทยจะมีมูลค่า 17,492 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 20.3% ในระยะยาวยังคงมีแนวโน้มเติบโตตามกระแสนิยมบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ SME ไทยจึงควรพยายามเร่งผลผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อที่จะไม่พลาดโอกาสทางธุรกิจ
ปลูกมะพร้าว ราคาดี
ด้านการผลิตในแต่ละปีไทยสามารถปลูกมะพร้าวได้ปีละ 1 ล้านตัน ซึ่งทำให้ไทยอยู่ในประเทศผู้ผลิตมะพร้าวอันดับ 6 ของโลกขณะที่เบอร์ 1 คือ ฟิลิปปินส์ โดยพื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดทางภาคใต้ เช่น ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และปัตตานี ซึ่งมีการพื้นที่การปลูกมะพร้าวเป็นมะพร้าวแกง และมะพร้าวน้ำหอม
สำหรับราคามะพร้าวแก่ที่นำมาทำกะทิ ประมาณผลละ 21-22 บาท มะพร้าวน้ำหอมหน้าสวน ราคาประมาณผลละ 7 บาท ถือว่าราคาดีตามฤดูกาล จนกลายเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรเริ่มหันมาปลูกมะพร้าวเพิ่มขึ้น
(กราฟิก 2 เปรียบเทียบราคามะพร้าวผลแห้ง ย้อนหลัง 5 ปี)
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
“วนิชย์ ปักษ์กิ่งเมือง” นายกสมาคมสวนมะพร้าวไทย ให้ข้อมูลว่า นับตั้งแต่ปี 2556 ราคามะพร้าวเพิ่มสูงขึ้นในทุกปี กลายเป็นแรงจูงใจทำให้เกษตรกรหลายรายเริ่มโค่นสวนยางพาราและสวนปาล์มหันมาปลูกมะพร้าวแทน เพิ่มขึ้น 20% ต่อปี เพราะไม่เพียงมะพร้าวสามารถขายได้ทุกส่วนของผลผลิต แต่ยังเป็นสินค้าบริโภคที่รัฐบาลให้การสนับสนุน นับตั้งแต่ปี 2558 มาจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาปริมาณผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ไทยต้องนำเข้าจากประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และเมียนมา
ขณะที่ “ณรงค์ศักดิ์ ชื่นสุชน” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นซี โคโคนัท จำกัด ผู้ส่งออกมะพร้าวน้ำหอม กล่าวว่า มะพร้าวน้ำหอมของไทยมีผลผลิตเข้าสู่ตลาดประมาณ 1 ล้านลูกต่อวัน ผลผลิตที่ได้มาตรฐานจะมีตลาดจีนมารองรับ ส่วนผลผลิตที่ไม่ผ่านมาตรฐาน ก็มีกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปมารองรับ คาดการณ์ว่าในปี 2561 ไทยจะยังคงเป็นผู้นำในการส่งออกมะพร้าวน้ำหอม เนื่องจากเด่นทั้งด้านคุณภาพ รสชาติ และปริมาณ ซึ่งทิศทางตลาดมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ต้องรักษาคุณภาพให้คงไว้ตามมาตรฐาน
นวัตกรรมมะพร้าวตอบโจทย์ลูกค้ายุคใหม่
แม้ว่าทิศทางตลาดมะพร้าวสดจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ก็มีผู้ผลิตอาหารกลุ่มหนึ่งเริ่มเห็นถึงแนวทางการเจาะตลาดโดยการพัฒนานวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับมะพร้าวได้มากยิ่งขึ้น
ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน คือ “ชัญญา ธนศักดิภัทร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทไทยโคโคนัท จำกัด (มหาชน) (THAICOCO) ที่เห็นถึงความนิยมสินค้าเพื่อสุขภาพในตลาดส่งออกหลัก ทั้งสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาเพิ่มมากขึ้น และค้นพบจากงานวิจัยที่ระบุว่า ไขมันจากมะพร้าวไม่ใช่ไขมันที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ยิ่งส่งผลทำให้ขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์กะทิ โคโคนัทมิลค์
จุดเริ่มต้นของไอเดียในการพัฒนาสปาร์กลิ่งมาจากพฤติกรรมการบริโภคของลูกค้าในกลุ่มสหภาพยุโรปจะนิยมเครื่องดื่มสปาร์กลิ่งอยู่แล้ว เพราะเชื่อว่าช่วยย่อยไม่ให้ท้องอืด จึงได้ทดลองอัดแก๊สและใส่นวัตกรรมเข้าไป สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับมะพร้าว
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ น้ำมะพร้าวสปาร์กลิ่ง “BLANC COCO” ทั้งแบบที่เป็นน้ำมะพร้าวธรรมชาติอัดแก๊ส (Natural) และแบบอัดแก๊สผสมแอลกอฮอล์ 5% ซึ่งบริษัทวางแผนส่งออก 100% ออกมาจำหน่ายในราคาขวดละ 70 บาท และสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวจากแป้งมะพร้าวอบกรอบ “COCO Rice” ภายในซองบรรจุมีซอสดิป รสต่างๆ เช่น ซอสมะเขือเทศ รสซอสพริกศรีราชา และรสซอสพริกหยวก ซึ่งทำให้บริษัทฯ ตั้งเป้ายอดขายทั้งปีจะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 20% จากผลของการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งเป็นรายได้จากการส่งออกเกิน 90% ไปยังตลาด 60-70 ประเทศทั่วโลก เช่น สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย โอเชียเนีย ตะวันออกกลาง เป็นต้น
ขณะที่ “สุรวุฒิ ปวุติภัทรพงศ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ แอนด์ เจ ผลไม้ไทย จำกัด ระบุว่า บริษัทได้ตั้งทีมวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะพร้าวน้ำหอม ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มผลิตวุ้นในลูกมะพร้าว และพุดดิ้งมะพร้าวอ่อน เตรียมวางจำหน่ายในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า
เหตุผลสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมต่อยอดจากเดิมที่บริษัทจำหน่ายมะพร้าวน้ำหอมสดให้กับตลาดค้าส่งในประเทศ และตลาดจีน ซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะขณะนี้ตลาดมะพร้าวน้ำหอมสดมีการแข่งขันสูงขึ้น ดังนั้น หากมีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ฉีกหนีคู่แข่ง ก็น่าจะถือว่าเป็นการเพิ่มโอกาสใหม่ในการทำการตลาดด้วย
คลัสเตอร์มะพร้าว
ในฝั่งภาครัฐ “สถาบันอาหาร” กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นแม่งานหลักในการขับเคลื่อนโครงการสนับสนุนเครือข่ายกลุ่ม SME ปี 2560 ในอุตสาหกรรมมะพร้าว ซึ่งขณะนี้ได้รวบรวมสมาชิกแล้ว 3,300 รายแล้ว จากหลายจังหวัด เช่น ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี ชุมพร พังงา สตูล ปัตตานี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี เป็นต้น
หลังจากนั้นจะผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มให้ได้อย่างน้อย 25 เครือข่ายตามเป้าหมาย และจะมีการคัดเลือกผู้ประสานงานเครือข่าย (Cluster Development Agent-CDA) เพื่อจัดทำแผนพัฒนากลุ่มคลัสเตอร์ ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวต่อไป
Bangkok Bank SME เราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพ คลิก หรือสายด่วน 1333