บรรทัดฐานใหม่! ความเปลี่ยนแปลงของตลาดยุโรปในยุคหลังโควิด

SME Go Inter
25/06/2020
รับชมแล้วทั้งหมด 2145 คน
บรรทัดฐานใหม่! ความเปลี่ยนแปลงของตลาดยุโรปในยุคหลังโควิด
banner

สหภาพยุโรปนับเป็นตลาดส่งออกที่มีมูลค่าสูงของไทย ขณะที่ผลกระทบอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยคณะกรรมาธิการยุโรปคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของภูมิภาคจะหดตัวกว่า 7.4% ในปี 2563  และกลับมาขยายตัว 6.1% ในปี 2564 นอกจากนี้อัตราการว่างงานมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และตัวเลขการขาดดุลงบประมาณและหนี้สาธารณะก็จะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด สืบเนื่องจากมาตรการการเงินการคลังที่รัฐบาลจำเป็นต้องนำออกมาใช้เพื่อพยุงเศรษฐกิจ 

สำหรับตัวเลขการค้า คณะกรรมาธิการยุโรป คาดว่าในปี 2563 การส่งออกของอียูจะหดตัว 9-15% (คิดเป็น 282-470 พันล้านยูโร) และการนำเข้าจะลดลง 11-14% (คิดเป็น 313-398 พันล้านยูโร) โดยภาคอุตสาหกรรมในกลุ่มเครื่องจักรและยานยนต์ได้รับผลกระทบมากที่สุด

นาย Paolo Gentiloni กรรมาธิการยุโรปด้านเศรษฐกิจ ประเมินว่าประเทศในยุโรปได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่เท่ากัน และความสามารถในการฟื้นฟูเศรษฐกิจก็จะเร็วช้าต่างกันด้วย ขึ้นอยู่ว่าแต่ละประเทศจะออกจากมาตรการล็อกดาวน์ได้เมื่อไหร่ การพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวมีมากน้อยเพียงใด และสถานะทางการเงินก่อนวิกฤตเป็นอย่างไร

ซึ่งความไม่เท่าเทียมกันนี้อาจส่งผลกระทบต่อระบบตลาดเดียวของอียูและยูโรโซนเป็นอย่างมาก เว้นแต่ประเทศสมาชิกจะหันหน้าเข้าหากันและหาทางออกร่วมกันในระดับอียู

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme 

การอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ

ช่วงที่ผ่านมาอียูและรัฐบาลประเทศสมาชิก ได้ออกมาตรการการเงินการคลังเพื่อฝ่าวิกฤตโควิดแล้วหลายชุด ทั้งเงินช่วยเหลือฉุกเฉินสำหรับประชาชน บริษัท SMEs และประเทศสมาชิก โดยในขณะนี้ประเทศสมาชิกอียูอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อเสนองบประมาณการฟื้นฟูเศรษฐกิจของคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งมีวงเงินสูงถึง 1.85 ล้านล้านยูโร

อาทิเช่นการออกกองทุนฟื้นฟู Next Generation EU” จำนวน 7.5 แสนล้านยูโร โดยแบ่งเป็นเงินให้เปล่า 5 แสนล้านยูโร และเงินกู้ 2.5 แสนล้านยูโร และ กรอบงบประมาณ Multiannual Financial Framework (MFF) จำนวน 1.1 ล้านล้านยูโร สำหรับช่วง 7 ปีข้างหน้า (ค.ศ.2021-2027) โดยคาดว่าน่าจะบรรลุข้อตกลงกันได้ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ 

ทั้งนี้แผนงบประมาณดังกล่าว ต้องได้รับความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์จากประเทศสมาชิกอียูทั้ง 27 ประเทศ และจะมีส่วนสำคัญในการประคับประคองเศรษฐกิจอียูทั้งระบบให้สามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้า และกลับเข้าสู่ภาวการณ์เติบโตได้อีกครั้ง รวมถึงเป็นบทพิสูจน์ความเป็นเอกภาพของอียูที่มักถูกวิจารณ์ว่าเริ่มอ่อนแอลง นับจากเหตุการณ์ Brexit

 

บรรทัดฐานใหม่ทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการไทย

แม้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจของอียูจะไม่สู้ดีนัก แต่อียูก็ยังเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยเตรียมความพร้อมในการปรับตัวเข้าสู่การดำเนินธุรกิจยุคหลังโควิด ซึ่งมาพร้อมกับโอกาสและความท้าทายดังนี้

- การลดปัจจัยความเสี่ยงห่วงโซ่อุปทาน : ที่ผ่านมาในยุคโลกาภิวัฒน์ ภาคการผลิตโดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติต่างๆ ต่างเน้นการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงสุดและต้นทุนต่ำสุด ทำให้เกิดห่วงโซ่อุปทานที่ส่วนใหญ่จะพึ่งพาวัตถุดิบจากจีน อย่างไรก็ดีภายหลังห่วงโซ่อุปทานโลกเจอผลกระทบอย่างหนักจากการหยุดชะงักของการส่งออกจีนในช่วงโควิด ประกอบกับการที่หลายประเทศออกมาตรการห้ามหรือจำกัดการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และอาหาร ทำให้หลายชาติเช่น อียู ญี่ปุ่น และสหรัฐ ต้องทบทวนกลยุทธ์การลงทุนในห่วงโซ่อุปทานและกำลังการผลิตของตนเองใหม่ ซึ่งทำให้ในอนาคตอาจเกิดการกระจายความเสี่ยงห่วงโซ่อุปทาน (supply chain diversification) โดยเฉพาะสินค้าที่มีความจำเป็น เช่น เครื่องมือแพทย์และเวชภัณฑ์ ให้หลากหลายขึ้นในหลายประเทศ หรือหันมาผลิตในประเทศ รวมถึงลดการพึ่งพาคู่ค้าน้อยราย (Single line of supply chain) เพื่อลดปัจจัยความเสี่ยงห่วงโซ่อุปทาน

มีความเป็นไปได้สูงว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทำให้ธุรกิจทั่วโลกเริ่มตระหนักว่าไม่ควรพึ่งพาประเทศหนึ่งประเทศใดจนเกินไป และมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการเชื่อมโยงกับคู่ค้าต่างประเทศหลายรายขึ้น เพื่อสร้างเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานที่ครอบคลุมหลายภูมิภาค เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดกับสายการผลิต

ในขณะที่สมาพันธ์ภาคธุรกิจของยุโรป (BusinessEurope) ออกมาเตือนว่านโยบายสนับสนุนการย้ายฐานการผลิตกลับภูมิภาคยุโรป เปรียบเสมือนดาบสองคม เพราะจะส่งผลให้สินค้าในประเทศมีปริมาณมากเกินความต้องการ

นอกจากนั้นการปกป้องทางการค้าไม่ใช่ทางออก และอียูต้องยอมรับว่าการเคลื่อนย้ายห่วงโซ่อุปทานไปยังนอกภูมิภาคยุโรปของภาคธุรกิจ เป็นผลจากการบริหารจัดการต้นทุนการผลิตให้สามารถแข่งขันได้ และการแสวงหาตลาดผู้บริโภคที่เกิดใหม่ พร้อมย้ำว่าการค้าจะเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยให้เศรษฐกิจอียูฟื้นตัว โดยอียูควรเร่งทำความตกลงทางการค้ากับคู่ค้าต่างๆ เพื่อขยายเข้าสู่ตลาดใหม่ๆ

 

เกราะกำบัง? ห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน

อย่างไรก็ตามแม้แถลงการณ์ของอียูจะสวยหรู แต่หากส่องเนื้อในยังมีประเด็นที่ธุรกิจไทยต้องทำความเข้าใจในหลายประเด็น อาทิ ความรับผิดชอบต่อสังคมในห่วงโซ่อุปทาน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แรงงาน สิทธิมนุษยชน รวมถึงสุขอนามัยและความปลอดภัย  

นาง Ursula von der Leyen ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งได้นำเสนอแนวทางขับเคลื่อนโลกหลังโควิดในการประชุม High-Level Event on Financing for Development in the Era of Covid-19 and Beyond ของ UN โดยมุ่งเน้นการร่วมมือกันเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมโลกบนพื้นฐานของเศรษฐกิจสีเขียว ที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวขับเคลื่อน และสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

สาระสำคัญของประเด็นนี้คือ อียูยังเตรียมประกาศจะเสนอร่างกฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อบังคับให้ภาคเอกชนอียูตรวจสอบ supply chain ของสินค้า เพื่อแสดงว่าไม่ได้มาจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนและทำลายสิ่งแวดล้อม

โดยกฎหมายดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ European Green Deal และจากข้อร้องเรียนที่ว่าความต้องการสินค้าด้านการแพทย์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงการระบาดของโควิดนั้น อาจมาจากการผลิตที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านแรงงาน

ดังนั้นในการดำเนินการค้ากับอียู ผู้ประกอบการไทยจึงต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเกี่ยวกับเรื่องมาตรฐานทั้งในมิติสิ่งแวดล้อม แรงงาน สิทธิมนุษยชน สุขภาพและความปลอดภัย โดยอียูมีแนวโน้มจะเพิ่มระดับมาตรฐานด้านความยั่งยืนทั้งกับตัวสินค้าและกระบวนการผลิตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ผู้ประกอบการควรต้องติดตามข่าวคราวด้านนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่บรรทัดฐานใหม่ทางธุรกิจในยุคหลังโควิด ในประเด็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่คำนึงถึงประเด็นด้านสังคม สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน รวมถึงสุขอนามัยและความปลอดภัย

โดยเข้ามาบูรณาการเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงและเป็นการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ อีกทั้งยังเป็นการตอบสนองต่อความต้องการและความคาดหวังของผู้บริโภคยุคใหม่ โดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรปที่มุ่งเน้นการก้าวสู่เศรษฐกิจสีเขียวและดิจิทัลอีกด้วย

 

แหล่งที่มา : https://thaieurope.net/ กระทรวงการต่างประเทศ


สมัครสินเชื่อ >>สินเชื่อธุรกิจบัวหลวง SMEs ดีแน่นอน<<


แนวโน้มธุรกิจร้านอาหารในอังกฤษ หลังโควิด -19

พิษโควิด-19! ‘อียู’ อาจใช้มาตรการปกป้องตลาดสินค้าเกษตร


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ตลาดอาหารวีแกน เทรนด์โลก โตแรง! โอกาสทองของผู้ส่งออกไทย ที่ต้องรีบคว้า

ตลาดอาหารวีแกน เทรนด์โลก โตแรง! โอกาสทองของผู้ส่งออกไทย ที่ต้องรีบคว้า

เทรนด์การรับประทานอาหารแบบเนื้อไร้เนื้อ ยังคงเป็นแนวโน้มการบริโภคที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา  จากกระแสการหันมาดูแลสุขภาพ…
pin
5938 | 17/01/2023
ไทย หนึ่งในเป้าหมาย! จีนเล็งลงทุนเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน ผู้ประกอบการ SME ปรับตัวไวได้ประโยชน์มหาศาล

ไทย หนึ่งในเป้าหมาย! จีนเล็งลงทุนเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน ผู้ประกอบการ SME ปรับตัวไวได้ประโยชน์มหาศาล

ขณะนี้ โลกของเราได้เข้าสู่ยุคระบบเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy : DE) ซึ่งหลอมรวมเทคโนโลยีดิจิทัลให้เข้ากับวิถีชีวิตของผู้คน ส่งผลให้เศรษฐกิจดิจิทัลได้กลายเป็นอีกหนึ่งพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทย…
pin
1903 | 21/12/2022
โอกาสมาแล้ว! ดีมานด์มันสำปะหลังจีนโตแรง เกษตรกรไทยลุยรุกส่งออกแดนมังกร ชิงส่วนแบ่งตลาดก้อนยักษ์

โอกาสมาแล้ว! ดีมานด์มันสำปะหลังจีนโตแรง เกษตรกรไทยลุยรุกส่งออกแดนมังกร ชิงส่วนแบ่งตลาดก้อนยักษ์

อีกหนึ่งโอกาสเกษตรกรไทย! คาดการณ์ความต้องการมันสำปะหลังช่วง 6 เดือนหลังของปี 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คาดทั้งปีไทยส่งออกกว่า 11 ล้านตัน…
pin
4854 | 23/10/2022
บรรทัดฐานใหม่! ความเปลี่ยนแปลงของตลาดยุโรปในยุคหลังโควิด