ฉายภาพโอกาสและความหวัง เมื่อมีวัคซีน COVID-19 เศรษฐกิจไทยจะเดินหน้าอย่างไร

Library > Economic Outlook/Trends
28/12/2020
รับชมแล้วทั้งหมด 3629 คน
ฉายภาพโอกาสและความหวัง  เมื่อมีวัคซีน COVID-19 เศรษฐกิจไทยจะเดินหน้าอย่างไร
banner

ในทันทีที่บริษัทยายักษ์ใหญ่ชั้นนำโลก ทั้งจากต่างประกาศความสำเร็จในการทดลองวัคซีนกับมนุษย์ได้เป็นผลกว่าร้อยละ 90 สวิตช์ไฟเศรษฐกิจโลกก็ถูกเปิดขึ้น ทำให้เริ่มมองเห็นภาพเศรษฐกิจชัดเจนขึ้นอีกครั้ง ล่าสุดประเทศรัสเซีย ประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา เริ่มมีการอนุมัติให้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ประชาชนทั่วไป ถือเป็นอีกความหวังด้านเศรษฐกิจ ทำให้มีการประมาณการณ์ว่า ภายในต้นปี 2564 วัคซีนโควิดจะเริ่มทยอยฉีดให้กับคนทั่วโลก ก็ยิ่งเน้นย้ำว่าชัยชนะจากโรคอุบัติใหม่ครั้งนี้อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

ถึงกระนั้น คงไม่มีใครจะมองโลกในแง่ดี ขนาดที่พิจารณาว่าพอจบโควิด-19 แล้ว เศรษฐกิจทั่วโลกจะกลับมาฟื้นตัวในทันที เนื่องจากบาดแผลจากผลกระทบในช่วงที่ผ่านมา หลายประเทศต่างประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจที่มีความรุนแรงต่างกัน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ทว่าอีกข้อสงสัยที่หลายท่านคงอยากทราบ แม้จะมีความหวังจากวัคซีนป้องกันโควิดแล้ว เศรษฐกิจไทยจะดำเนินไปในทิศทางใดต่อไป และท่ามกลางการระบาดระลอกใหม่ในปัจจุบัน จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจรุนแรงแค่ไหน ภาคการท่องเที่ยวจะเดินหน้าอย่างไร และนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาหรือไม่ ?  

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme 


ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐกิจและการลงทุน มองภาพเศรษฐกิจไทยภายหลังมีวัคซีนโควิด-19 ว่า วิกฤตครั้งนี้เกิดจากปัจจัยด้านโรคระบาด เพราะฉะนั้นถ้าโควิด-19 ยังไม่หายไป เศรษฐกิจก็ยังไม่มีทางฟื้นตัวขึ้นได้ วัคซีนจึงเป็นความหวังของเศรษฐกิจอย่างแท้จริง

พอได้ทราบข่าวว่าวัคซีนโควิดทดลองสำเร็จกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ และจะเริ่มฉีดให้ประชาชนได้เร็วๆ  นี้ แน่นอนว่าเป็นผลดีในด้านความรู้สึก ในมุมของธนาคาร หากยังเห็นความหวังและคิดว่ายังสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการได้ เมื่อผู้ประกอบการอยู่รอดได้ กระบวนการฟื้นเศรษฐกิจก็ไปได้” 


 

แม้มีวัคซีนโควิด แต่เศรษฐกิจต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว

ท่ามกลางข่าวดีแต่ก็ยังไม่อาจการันตีว่าเศรษฐกิจจะฟื้นได้ในทันที ซึ่ง ดร.กอบศักดิ์ มองว่า ช่วงที่ทั่วโลกล็อกดาวน์ เศรษฐกิจไทยย่ำแย่อย่างหนัก ภาคการส่งออก -23% ภาคการผลิต -25% ภาคการลงทุนและการบริโภค -10% นับตั้งแต่เป็นนักเศรษฐศาสตร์มายังไม่เคยเจอตัวเลขเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ขนาดนี้มาก่อน แต่สถานการณ์ก็พลิกผันอีกครั้งช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน ตัวเลขเศรษฐกิจไทยเริ่มกลับมาดีขึ้น ภาคการส่งออกเริ่มกลับมา แม้ยังติดลบอยู่แต่ก็แค่ -4% เนื่องจากทั่วโลกเริ่มควบคุมสถานการณ์ได้ในระดับหนึ่ง กิจกรรมทางเศรษฐกิจจึงขยับอีกครั้ง และประชาชนก็เริ่มกล้าใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น  

อย่างไรก็ตามภาคการส่งออกที่ขยับขึ้นเล็กน้อยยังไม่มีความแน่นอน เพราะเมื่อดูตัวเลขการส่งออกเดือนตุลาคมที่ผ่านมา -6% ลดลงกว่าเดือนกันยายนเล็กน้อย นั่นเพราะตลาดในยุโรป อังกฤษ และสหรัฐฯ ยังไม่ดีขึ้นจากการระบาดของโควิด-19

คาดว่าหลังจากนี้ตัวเลขเศรษฐกิจไทยจะค่อยๆ ไต่ระดับขึ้นไปอย่างช้าๆ แม้บางกลุ่มจะเติบโต อาทิเช่น กลุ่มค้าปลีกออนไลน์ เดลิเวอรี บริการด้านซอฟต์แวร์ และอุปกรณ์ไอทีต่างๆ แต่ก็ยังมีบางธุรกิจที่ตกต่ำ อาทิ การท่องเที่ยว โรงแรม ธุรกิจบันเทิง ซึ่งเป็นรูปแบบการเติบโตรูปตัว K (K shape) ทำให้ภาพรวมของเศรษฐกิจยังโตได้อย่างเชื่องช้า

ด้วยเหตุนี้ ปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นอย่างรวดเร็ว คือต้องฟื้นภาคท่องเที่ยวให้กลับมาปกติโดยเร็ว โดยที่ผ่านมารัฐตัดสินใจว่าต้องคัดกรองไม่ให้เกิดการระบาดรอบสองในประเทศไทย จึงยังไม่เปิดประเทศแบบเต็มตัว ยังมีการคัดกรองและกักตัวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศ 14 วัน ทำให้ภาคท่องเที่ยวยังไปต่อไม่ได้ การจับคู่ทำ Travel Bubble ก็อาจจะไม่ช่วยอะไร เพราะอยู่บนพื้นฐานของความไม่แน่นอนจากการระบาดของโควิด-19 จะยกเลิกเมื่อไหร่ก็ได้ กรณี Travel Bubble สิงคโปร์และฮ่องกง ที่ประกาศชะลอไปอย่างไม่มีกำหนด คือตัวอย่างของความไม่แน่นอนนั้น

ดังนั้นเมื่อมีวัคซีนแล้ว ที่ต้องคิดต่อคือทำอย่างไรให้สามารถเปิดภาคการท่องเที่ยวต่างประเทศได้ ด้วยวิธีแบบใหม่ๆ เช่น การตรวจสอบว่านักท่องเที่ยวมีการฉีดวัคซีนมาแล้วหรือไม่ ก็สามารถให้เข้าประเทศได้

“แม้ปัจจุบันยังมีความไม่แน่นอนอีกหลายอย่าง แต่เชื่อว่าในช่วงกลางปีหน้าจะมีข่าวดีมากขึ้น แต่สำหรับธุรกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ก็ยังคงต้องเตรียมสภาพคล่องไว้อย่างน้อย 6 เดือน อย่างน้อยต้องคิดไว้ถึงกลางปีหน้าไว้ก่อน แต่การมีข่าวดีเรื่องโควิดก็ทำให้บรรยากาศของเศรษฐกิจดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด



Asian Century ไทยอนาคตสดใสหลังโควิดจบลง

ดร.กอบศักดิ์ กล่าวว่าการระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้ ทำให้ประเทศไทยได้เรียนรู้ในหลายด้าน ดังนั้นต่อไปจะต้องมีการเตรียมการรับมือที่ดีขึ้น เพื่อรับมือโรคระบาดอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต การทำให้คนเกิดความมั่นใจในด้านสุขภาพ หรือ Health Security เป็นเรื่องสำคัญในก้าวต่อไปของประเทศไทย ในการคว้าโอกาสการเป็นศูนย์กลางการจัดการโรคระบาดในอนาคต แต่สำหรับภาคธุรกิจเองก็ต้องจำบทเรียนครั้งนี้ไว้เช่นกัน

ครั้งนี้อาจเหมือนการซ้อมใหญ่ ไม่อาจรู้ได้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นอีก

อย่างไรก็ตาม หากโควิด-19 จบลง เทรนด์ที่เคยเกิดขึ้นจะกลับมา คือ “ศตวรรษแห่งเอเชีย” (Asian Century) แม้โควิดจะทำให้เศรษฐกิจเกิดการชะงัก แต่เมื่อเปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก เอเชียจะเป็นภูมิภาคที่คาดว่าจะมีการเติบโตสูงสุด เนื่องจากเป็นตลาดที่ยังมีความสดใหม่ เป็นแหล่งของวิวัฒนาการและอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ซึ่งกลุ่มที่น่าจับตามากที่สุด คือ จีน อินเดีย และอาเซียน ที่จะเป็นพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจยุคใหม่

ดังนั้นโควิด-19 ครั้งนี้ เป็นเพียงการหยุดชะงักเพียงชั่วคราว เพราะหากมองภาพอนาคตจะเห็นว่ายังเป็นภาพที่สวยงามรออยู่ ขอแค่ให้วัคซีนได้ผล โควิดหายไป ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางของตลาดจีน อินเดีย และอาเซียน ซึ่งมีประตูทางออกทะเลทั้งในด้านอ่าวไทยและอันดามัน ไทยจะเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนของโลกหลังโควิด

เพราะแม้จีนและอินเดียจะเป็นอีก 2 ประเทศที่เศรษฐกิจจะเติบโตเช่นกัน แต่การไปลงทุนในสองประเทศนี้อาจไม่ใช่เรื่องง่าย มาตรการและกฎเกณฑ์ต่างๆ อาจไม่ได้สะดวกนักเหมือนในอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19 น้อยเมื่อเทียบกับหลายประเทศในอาเซียน จะเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่เศรษฐกิจจะเติบโตได้เร็ว มั่นใจว่าไทยหลังโควิดจะเป็นไทยที่มีความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในหลายด้าน

 


มีลุ้น! กลางปี 2564 คนไทยอาจได้ฉีดวัคซีนที่ผลิตโดยคนไทย

คุณวิฑูรย์ วงศ์หาญกุล ประธานกรรมการ บริษัท ไบโอเนท–เอเชีย จำกัด ได้ฉายภาพการพัฒนาวัคซีนในไทยว่า บริษัท ไบโอเนท- เอเชีย ภาคเอกชนที่ดำเนินการด้านอุตสาหกรรมวัคซีน ที่ผ่านมามีการผลิตวัคซีนไอกรนในเด็กได้สำเร็จ และมีการร่วมมือกับภาครัฐและสถาบันการศึกษาในการคิดค้นวัคซีนโควิด-19 ชนิด DNA เพื่อใช้ในประเทศไทย ภายใต้ความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ, สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.), คณะแพทยศาสตร์ รพ.ศิริราช, คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล, คณะเภสัช ม.จุฬา, ไบโอเทค และ สวทช. โดยมีเป้าหมายพัฒนาวัคซีนในประเทศ ให้มีทิศทางเดียวกับการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลก

ดังนั้นถ้า DNA ของไบโอเนทได้รับการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 เร็วๆ นี้ ช่วงเดือนมกราคม 2564 น่าจะรู้ผล และหากมีการทดสอบระยะที่ 2 ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน มีความเป็นไปได้ที่ช่วงเดือนพฤษภาคม น่าจะทราบผลแน่ชัดแล้วว่าจะสามารถใช้กับคนได้หรือไม่ โดยใช้เวลาในการผลิตราว 1-2 เดือน ดังนั้นกลางปี 2564 คนไทยอาจจะได้รับวัคซีนโควิดที่ผลิตโดยบริษัทคนไทย ซึ่งอาจจะต้องมอบให้กระทรวงสาธารณสุขฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงก่อน

 


ปรับแผนรองรับความเสี่ยงหากผลทดลองไม่เป็นตามเป้า

คุณวิฑูรย์ กล่าวอีกว่า ไบโอเนท ยังได้มีการร่วมมือกับโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีองค์ความรู้ในการผลิตวัคซีนชนิด mRNA ซึ่งวัคซีนป้องโควิด-19 ชนิด mRNA เป็นเชื้อตัวอ่อนที่ร่างกายจะไปจับเพื่อสร้างภูมิต้านทานขึ้นมา สามารถผลิตได้เร็วกว่าและมากกว่าวัคซีนชนิด DNA เนื่องจากเป็นการสังเคราะห์ขึ้นมา แต่ขั้นตอนการผลิต mRNA จะต้องผลิต DNA ได้ด้วย

ด้วยเหตุนี้ ไบโอเนท จึงเตรียมแผนสองในการร่วมมือโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกันด้วย หากแผนการในขั้นที่ 1 คือการทดลองวัคซีนชนิด DNA ในระยะที่ 1 ซึ่งเป็นการทดลองในมนุษย์ไม่ประสบผลตามเป้าหมาย

และถ้าแผนหนึ่งและแผนสองล้มเหลว ไบโอเนท แผนสาม ซึ่งปัจจุบันได้เตรียมขวดบรรจุที่สามารถบรรจุวัคซีนจากต่างประเทศได้ (ปัจจุบันขวดบรรจุขาดตลาดทั่วโลก) ถือเป็นการเตรียมความพร้อมอย่างครบวงจร และเป็นการปรับแผนให้สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์

 


วิเคราะห์ปัญหาคอขวดของอุตสาหกรรมวัคซีน

คุณวิฑูรย์ มองว่าเรื่องอุตสาหกรรมวัคซีนโลกยังคงมีประเด็นที่ต้องจับตา คือ เรื่องวัคซีนซัพพลายจะเป็นคอขวด เพราะแม้จะมีการทดสอบวัคซีนสำเร็จแล้ว แต่ก็ยังมีประเด็นที่น่ากังวล เช่น เรื่องโลจิกติกส์ เพราะผลการทดลองวัคซีนขั้นที่ 3 ของไฟเซอร์-ไบออนเทคและโมเดอร์นา ต้องเก็บรักษาวัคซีนไว้ที่อุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส และสามารถเก็บไว้ในตู้เย็นธรรมดาได้เพียง 5 วัน และวัคซีนของบริษัทโมเดอร์นาต้องเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียสเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือน และสามารถเก็บรักษาไว้ในตู้เย็นธรรมดาได้ 1 เดือน ดังนั้นการขนส่งและจัดเก็บอาจจะเกิดปัญหาและล่าช้า

ในส่วนของการผลิตวัคซีนในไทย แม้จะมีการล่าช้าไปบ้าง แต่ก็เป็นการถ่ายโอนด้านเทคโนโลยีและองค์ความรู้ครั้งสำคัญของประเทศ ทำให้เชื่อว่าประเทศไทยยังมีความหวังว่าในช่วงกลางปีหน้าเป็นต้นไป และจะมีมาตรการหลายด้านที่ผ่อนคลายลง และประเมินว่าถึงต้นปี 2565 โควิด-19 อาจไม่ได้น่ากลัว และเป็นเพียงโรคเฉพาะถิ่นไปแล้ว


 

โควิด-19 คือ Paradigm Shift วงการผลิตวัคซีน

คุณวิฑูรย์ กล่าวว่า การเกิดโควิด-19 ครั้งนี้ ทำให้วงการวัคซีนมีปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm Shift) อย่างใหญ่หลวง จากอดีตที่วัคซีนชนิดหนึ่งอาจต้องใช้เวลาหลายปี ขณะที่ปัจจุบันอาจใช้เวลาแค่ 90 วัน ในการสร้างเชื้อตัวอย่างขึ้นมาได้ เพราะมีเทคโนโลยี เมื่อสามารถรู้โครงสร้างของเชื้อก็จะใช้เวลาไม่นานในการทดลองและผลิตเป็นวัคซีนขึ้นได้

ดังนั้นปัญหาเฉพาะหน้า คือต้องเร่งผลิตวัคซีนให้ได้ก่อน เรื่องจะกลายพันธุ์หรือไม่ยังไม่ต้องกังวล เพราะเมื่อมีองค์ความรู้และเทคโนโลยีในการสร้าง DNA วัคซีนโควิด-19 ขึ้นมาได้แล้ว การจะผลิตวัคซีนจากไวรัสโควิดสายพันธุ์อื่นๆ ที่อาจเกิดการกลายพันธุ์ในอนาคตย่อมสามารถทำได้เช่นกัน

และบทเรียนครั้งนี้ทำให้เราเห็นว่า แผนการรับมือในภาวะฉุกเฉินสิ่งที่ประเทศต้องการมากที่สุดคือวัคซีน แต่ที่ผ่านมาประเทศมีจุดอ่อนในด้านการร่วมมือจากภาครัฐ ในการส่งเสริมให้มีการพัฒนาวัคซีนภายในประเทศ โดยเอกชนที่มีความพร้อมในการทำวัคซีน แต่มีกฎหมายห้ามให้เงินในการอุดหนุนโดยตรง แตกต่างจากต่างประเทศที่มีงบประมาณในการส่งเสริมให้เอกชนคิดค้นและพัฒนาวัคซีน เป็นการบ้านที่รัฐควรนำไปพิจารณา

ทุกวันนี้นักวิจัยไทยเก่ง เพียงแต่ยังขาดการสนับสนุนด้านการเงิน จากเดิมที่มีการคิดค้นและผลิตวัคซีนต่างๆ ยังจำกัดในการผลิตต่อหน่วยที่มีต้นทุนสูงเพราะมีสเกลขนาดเล็ก มองว่ายังไม่มีความคุ้มค่าในเชิงพาณิชย์ แต่หากสามารถพัฒนาให้เกิดเป็นการผลิตครั้งละมากๆ ได้ มูลค่าวัคซีนก็จะถูกลง ทั้งยังสามารถขายต่างประเทศได้ด้วย

สุดท้าย คุณวิฑูรย์ ตั้งความหวังว่า ในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน ประเทศไทยถือว่ามีงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์มากกว่าทุกประเทศ ดังนั้นมีความเห็นว่าหลังโควิดจบลง ประเทศไทยจะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย โดยเฉพาะในด้านการจัดการระบบต่างๆ ในประเทศต้องกล้าเปลี่ยน รวมทั้งโอกาสในการเป็นศูนย์กลางในหลายด้าน อาทิ การเป็นศูนย์กลางด้านการผลิตอาหารของโลก มีจุดแข็งด้านการบริการด้านท่องเที่ยว เรียกว่ามีความพร้อมในหลายด้าน เพียงแต่ขาดการบริหารจัดการและ Mindset แบบใหม่ ดังนั้นประเทศไทยหลังโควิด-19 จบลง ต้องปรับกระบวนการคิดและการทำงานแบบใหม่ให้รวดเร็วและลดขั้นตอน เพื่อปูทางไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพและอุตสาหกรรมวัคซีนในอนาคต

อนึ่งความคิดเห็นทั้งหมดเกิดขึ้นภายในงานสัมมนาออนไลน์  “วัคซีน COVID-19 กับความหวังเศรษฐกิจ...” ‘จัดโดยธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่เดินหน้าจัดสัมมนาให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการในทุกกลุ่ม เพื่อฉายภาพความคืบหน้าด้านการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ควบคู่กับการวิเคราะห์ทิศทางอนาคตเศรษฐกิจไทยระหว่างที่รอวัคซีนสำเร็จ ดำเนินรายการโดยคุณสิทธิชัย หยุ่น ในวันที่ 26 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา



Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

Bnomics | ดัชนีเศรษฐกิจหลายตัวเริ่มหมดแรง เว้นภาคการท่องเที่ยวซึ่งยังฟื้นตัวต่อไป

Bnomics | ดัชนีเศรษฐกิจหลายตัวเริ่มหมดแรง เว้นภาคการท่องเที่ยวซึ่งยังฟื้นตัวต่อไป

เครื่องยนต์ของเศรษฐกิจไทยในหลายด้านเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลง อันเป็นผลมาจากแรงกดดันทางด้านอัตราเงินเฟ้อและการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจคู่ค้าไทยในต่างประเทศเป็นสำคัญ…
pin
1279 | 04/11/2022
เจาะใจ สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ ปั้นระบบ ‘FoodStory’ เสริมแกร่งร้านอาหาร ช่วยให้ SME บริหารร้านได้ทุกที่ทุกเวลา

เจาะใจ สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ ปั้นระบบ ‘FoodStory’ เสริมแกร่งร้านอาหาร ช่วยให้ SME บริหารร้านได้ทุกที่ทุกเวลา

ย้อนเส้นทาง บริษัท ลีฟวิ่ง โมบาย จำกัด สตาร์ทอัพผู้นำด้านการพัฒนาระบบ POS ด้วย แอปพลิเคชัน ‘FoodStory’ สำหรับร้านอาหารทุกประเภท ตั้งแต่ร้านอาหารรายย่อย…
pin
3608 | 26/10/2022
โอกาสมาแล้ว! ดีมานด์มันสำปะหลังจีนโตแรง เกษตรกรไทยลุยรุกส่งออกแดนมังกร ชิงส่วนแบ่งตลาดก้อนยักษ์

โอกาสมาแล้ว! ดีมานด์มันสำปะหลังจีนโตแรง เกษตรกรไทยลุยรุกส่งออกแดนมังกร ชิงส่วนแบ่งตลาดก้อนยักษ์

อีกหนึ่งโอกาสเกษตรกรไทย! คาดการณ์ความต้องการมันสำปะหลังช่วง 6 เดือนหลังของปี 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คาดทั้งปีไทยส่งออกกว่า 11 ล้านตัน…
pin
4854 | 23/10/2022
ฉายภาพโอกาสและความหวัง  เมื่อมีวัคซีน COVID-19 เศรษฐกิจไทยจะเดินหน้าอย่างไร