สภาวะเศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรก และแนวโน้มเศรษฐกิจครึ่งปีหลังและปีหน้า

กิจกรรมเด่น
03/09/2021
รับชมแล้วทั้งหมด 4355 คน
สภาวะเศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรก และแนวโน้มเศรษฐกิจครึ่งปีหลังและปีหน้า
banner

หลังจากที่ GDP ประเทศไทยหดตัว 2.6% ในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ในไตรมาสที่ 2 GDP กลับมาขยายตัวได้ที่ 7.5% เนื่องจากฐานต่ำ สืบเนื่องมาจากการล็อคดาวน์ทั่วประเทศไทยในไตรมาสที่ 2 ปีที่แล้ว โดยตัวเลขนี้ถือว่าสูงกว่าผลสำรวจใน Bloomberg (6.6%) อย่างไรก็ดี GDP ในไตรมาสที่ 2 นี้ยังคงต่ำกว่า GDP ก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ราว 4%

 

 

การฟื้นตัวของการส่งออกที่แข็งแกร่งเป็นตัวขับเคลื่อนหลักสำหรับการขยายตัวของ GDP ในไตรมาสนี้ เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศคู่ค้าต่างๆ เริ่มมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ด้วยเหตุนี้การส่งออกสินค้าและบริการของไทยจึงปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงที่ 27.5% ดีขึ้นจากที่หดตัวไป 10.5% ในไตรมาสที่ 1 ขณะที่การนำเข้าสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น 31.4% สูงขึ้นจากที่ขยายตัว 1.7% ในไตรมาสก่อน

 

 

หมวดหมู่สินค้าที่ส่งออกได้ดี คือ สินค้าด้านการเกษตร โดยเฉพาะผลไม้ไทย อาหาร ยานยนต์ กลุ่มอิเลคโทรนิคส์ กลุ่มเครื่องไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เช่น ชุด PPE หน้ากาก ถุงมือยาง แต่ในระยะต่อไปหลังจากที่ได้มีการกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติในกลุ่มประเทศที่ฉีดวัคซีน ความต้องการสินค้าโดยรวมจะลดลง ส่งผลให้ภาคส่งออกก็จะชะลอตัวลงไปด้วย เพราะผู้คนจะเริ่มออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน และนำเงินออกไปใช้จ่ายในภาคบริการแทน เช่น ร้านอาหาร โรงแรม โรงภาพยนตร์ การเดินทาง การท่องเที่ยว และกีฬา เป็นต้น

 

หากจำแนกการส่งออกตามตลาด การส่งออกไปตลาดหลักส่วนใหญ่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 2 การส่งออกไปยังประเทศสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปขยายตัว 30.4% และ 49.8% ตามลำดับ ตามการส่งออกสินค้าประเภทเครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง ส่วนการส่งออกไปยังประเทศจีนเพิ่มขึ้น 29.2% ตามการเพิ่มขึ้นของการส่งออกผลไม้สด แช่เย็นและแช่เข็ง เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เป็นหลัก

 

การท่องเที่ยว: ความพยายามที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวกลับเข้ามาในประเทศด้วยโครงการ Phuket Sandbox และ Samui Plus คาดว่าจะทำรายได้ให้กับประเทศได้ไม่มากนัก โดยตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม เป็นต้นมา มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเพียงไม่กี่หมื่นคน ซึ่งถือว่าน้อยมากหากเทียบกับช่วงก่อนการระบาด โดยทั้งปีนี้ทางเรามองว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศไทยราว 1 แสนคน ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่ 1.2 ล้านคนมาก

 

ค่าเงินบาท: ภายใต้แรงกดดันจากปัญหาในประเทศมากมาย ค่าเงินบาทเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่อ่อนค่าลงมากที่สุดในภูมิภาค โดยตั้งแต่ช่วงต้นปี 2564 จนถึงปัจจุบัน ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงราว 8% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ

 

 

จากที่ประเทศไทยเคยเป็นประเทศที่ได้รับการชื่นชมว่าสามารถจัดการกับโควิด-19 ได้อย่างดีเยี่ยมในปีที่แล้ว แต่ในตอนนี้ประเทศไทยกลับถูกจัดลำดับให้เป็นประเทศที่มีการฟื้นตัวจากโควิด-19 แย่ที่สุดในโลก สะท้อนจากดัชนีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ (The Nikkei COVID-19 Recovery Index) ที่ไทยได้อยู่ลำดับที่ 120 (จากจำนวนการจัดลำดับ 120 ประเทศ) เนื่องด้วยมีคนไทยเพียง 36.6% เท่านั้นที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรก และมีเพียง 13.6% ที่ได้รับวัคซีนครบทั้งสองเข็ม

 

ประกอบกับมาตรการสนับสนุนจากทางภาครัฐ ที่น่าจะไม่เพียงพอและมีความล่าช้า ส่งผลให้ผู้ที่มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบมากที่สุดในขณะนี้ ข้อจำกัดและมาตรการล็อกดาวน์ในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของคนจำนวนหลายล้านคน กระทบกับกว่า 40% ของประชากรในประเทศ และมากกว่า 75% ของ GDP ไทย แต่รัฐบาลเพิ่งประกาศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เมื่อวันที่ 1 กันยายน ที่ผ่านมา หลังจากได้มีการประเมินว่าสถานการณ์ได้เริ่มปรับตัวดีขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับการฉีดวัคซีนในเขตกรุงเทพได้ครอบคลุมกว่าร้อยละ 90 ของประชากรที่มีทะเบียนบ้านทั้งหมด

 

อย่างไรก็ดี เราคาดว่าเงินบาทจะยังคงอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยจะสามารถควบคุมได้ แม้ว่านายกรัฐมนตรีจะให้คำมั่นว่าจะเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบในช่วงเดือนพฤศจิกายน แต่เรามองว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ และเราคาดว่าประเทศไทยจะประสบกับการฟื้นตัวรูปแบบ W-shaped ไม่ใช่การฟื้นตัวแบบ V-shaped เหมือนกับประเทศที่ประสบความสำเร็จในการกระจายวัคซีน

 

แม้ปัญหาด้านระบบสาธารณสุขดูจะเริ่มคลี่คลายลง แต่เราอาจจะต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 2–3 เดือน ก่อนที่สถานการณ์โรคระบาดจะเริ่มกลับมาดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยคาดว่าจะยังคงขาดดุลจนกว่าการท่องเที่ยวจะกลับมาฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นเรามองว่าค่าเงินบาทน่าจะอ่อนค่าไปที่ระดับ 34-34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ซึ่งโดยรวมค่าเงินมีแนวโน้มอ่อนตัวไปอีกสักระยะ ไม่ได้อยู่ในเทรนด์แข็งค่าเหมือนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

 

นโยบายการเงิน: หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.5% ในการประชุมครั้งที่ผ่านมา ทางเราคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในเดือนกันยายน เนื่องจากในขณะนี้เศรษฐกิจไทยต้องการแรงหนุนอย่างมาก จึงยังคงเป็นปัจจัยค่าเงินบาท และทาง ธปท.น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไปอีกอย่างน้อยถึงปลายปี 2022 และเราจะจับตาดูต่อไปว่าทาง ธปท.จะมีนโยบายอะไรเพิ่มเติมนอกเหนือจากการลดอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ใกล้ 0% มากแล้ว

ในทางตรงกันข้ามธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีแนวโน้มที่จะใช้นโยบายทางการเงินที่เข้มงวดขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังร้อนแรง ตลาดยังคงรอสัญญาณการลด QE จากการประชุม FOMC Meeting ที่จัดขึ้นในช่วงปลายเดือนกันยายนนี้ ท่าทีนโยบายการเงินที่แตกต่างกันระหว่างไทยและสหรัฐฯ นี้คาดว่าจะกดดันค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลงไปอีก

 

ในระยะข้างหน้าเราคาดว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สภาวะถดถอยอีกครั้งโดย GDP ในไตรมาสที่ 3 และ 4 จะหดตัว 3% และ 1.8% ตามลำดับ ทั้งนี้ตัวเลขการคาดการณ์การดังกล่าวยังมีความไม่แน่นอน และขึ้นอยู่กับแนวโน้มความสำเร็จในการแจกจ่ายวัคซีนและระยะเวลาที่ใช้ในการล็อคดาวน์ ส่วนการฟื้นตัวของ GDP จะเป็นไปได้ช้ากว่าประเทศอื่น ที่มีการจัดสรรวัคซีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจะฟื้นกลับมาแตะระดับก่อนการระบาดในช่วงไตรมาสสุดท้ายปี 2565

 

 

สำหรับแนวโน้มปี 2565 เราคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะมีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ดังจะสังเกตได้จากประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และยุโรป ที่ฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งหลังมีการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง เราคาดว่า GDP จะเพิ่มขึ้น 5% โดยมีแรงสนับสนุนหลักมาจากการบริโภคภาคเอกชน ส่วนด้านการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวเพียงเล็กน้อย โดยมีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเดินทางเข้ามาราว 2 ล้านคน แต่ก็อาจจะมากกว่านี้ได้ หากแผนการฉีดวัคซีนประสบความสำเร็จได้ดีกว่าคาด

 

SME ยุคโควิด: ก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME หลายรายมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาการขายในรูปแบบออฟไลน์เป็นหลัก เนื่องจากมีความซับซ้อนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับช่องทางออนไลน์ แต่หลังการแพร่ระบาดพฤติกรรมผู้โภคได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ผู้คนหันมาซื้อสินค้าหรือใช้บริการผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ดังนั้นเราจึงมองว่าผู้ประกอบการควรเร่งปรับตัวโดยการขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้าและบริการไปในแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ

 

ช่องทางออนไลน์ไม่เพียงแต่ช่วยให้รักษากลุ่มลูกค้าเดิมเอาไว้ได้ แต่ยังช่วยขยายโอกาสในการเข้าถึงลูกค้ารายใหม่มากขึ้นด้วย เพราะตลาดออนไลน์มีพื้นที่ไม่จำกัดและมีเครื่องมือหลากหลาย ที่จะช่วยให้สินค้าและบริการเข้าถึงผู้คนที่มีความต้องการซื้อจริงๆ ได้ นอกจากนั้นผู้ประกอบการยังสามารถทำการโปรโมทสินค้าและบริการ รวมถึงแจ้งกิจกรรมส่งเสริมการขายให้กับลูกค้าเป็นจำนวนมากในเวลาพร้อมกันได้อย่างง่ายดายด้วย

 

นอกจากการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายแล้ว การพัฒนาสินค้าและบริการให้เข้ากับพฤติกรรม New Normal ของผู้บริโภคก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เช่น ธุรกิจร้านอาหารอาจจะต้องคิดค้นพัฒนาสูตรอาหารใหม่ๆ ที่เหมาะกับการเดลิเวอรี่ หรือการนำกลับไปทานที่บ้านมากขึ้น หรือธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์อาจจะต้องนำเสนอโครงการผ่านออนไลน์แบบส่วนตัว (Virtual Tour) เพื่อลดการพบปะกัน เป็นต้น

 

 

แนวโน้มธุรกิจจะเติบโตหลังการแพร่ระบาด


สำหรับธุรกิจที่มีแนวโน้มจะเติบโตได้ดีหลังจากนี้ คาดว่าจะเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ เนื่องจากผู้คนเริ่มให้ความสนใจกับการดูแลสุขภาพของตนเองเพิ่มมากขึ้น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับช่องทางออนไลน์ เช่น ธุรกิจความปลอดภัยด้านไซเบอร์ เพราะหลายธุรกิจเริ่มย้ายมาอยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์มากยิ่งขึ้น และมีข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าอยู่มากมาย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องหาวิธีป้องกันไม่ให้ข้อมูลเหล่านั้นรั่วไหลออกไป และธุรกิจการขายสินค้าและบริการผ่านระบบออนไลน์ เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรม จากการออกไปซื้อของตามห้างสรรพสินค้ามาเป็นการสั่งของผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีความสะดวกสบายมากกว่า และในบางครั้งได้รับส่วนลดมากกว่าการซื้อจากหน้าร้านอีกด้วย

 

แต่แน่นอนครับ การที่กลุ่ม SME มีโอกาสเข้าถึงลูกค้าใหม่ๆ จากช่องทางดิจิทัลมากขึ้น ทางกลุ่มลูกค้าเองก็จะมีตัวเลือกสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น ทาง SME จึงต้องหาปัจจัยอื่น นอกจากราคา ในการดึงดูดลูกค้าให้อยู่กับบริษัทเราให้ได้ จึงต้องมีเรื่องการทำนวัตกรรม สร้างความแตกต่างให้สินค้าและบริการเราไม่เหมือนเจ้าอื่นๆ ในตลาด รวมถึงการทำการตลาดเพื่อสร้างเรื่องราวของแบรนด์ (Storytelling) และทำให้ลูกค้าติดใจกับสินค้าและบริการของเรามากที่สุด



ผู้เขียน : บุรินทร์ อดุลวัฒนะ Chief Economist, Bnomics



 


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

งานเสวนา ออนไลน์ เพื่อนคู่คิด “เกษตรก้าวหน้า” ครั้งที่ 2/2566

งานเสวนา ออนไลน์ เพื่อนคู่คิด “เกษตรก้าวหน้า” ครั้งที่ 2/2566

เกษตรกร ผู้ประกอบการเกษตร ชาวไร่มันสำปะหลังเตรียมตัวให้พร้อม!!!ขอเชิญท่านเข้าร่วมชมการถ่ายทอดสดงานเสวนาออนไลน์ เพื่อนคู่คิด "เกษตรก้าวหน้า…
pin
400 | 16/10/2023
โอกาสสุดท้าย! ในการสมัครโครงการ The Big Blue Ocean by BBL รุ่น 2

โอกาสสุดท้าย! ในการสมัครโครงการ The Big Blue Ocean by BBL รุ่น 2

หลักสูตร Digital Transformation 13 สัปดาห์ สำหรับผู้นำ: อัพเดตเทรนด์เทคโนโลยีล่าสุด เรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ การเสริมศักยภาพองค์กรไปกับผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญชั้นนำเปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้…
pin
958 | 13/06/2023
งานเสวนาออนไลน์ เพื่อนคู่คิด "เกษตรก้าวหน้า"

งานเสวนาออนไลน์ เพื่อนคู่คิด "เกษตรก้าวหน้า"

ลงทะเบียนเข้าร่วมงาน #เสวนาออนไลน์ไม่มีค่าใช้จ่ายมาร่วมรับฟังข้อมูลและเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร…
pin
2706 | 15/03/2022
สภาวะเศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรก และแนวโน้มเศรษฐกิจครึ่งปีหลังและปีหน้า