เตรียมรับมืออย่างไร? กับเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้าย

กิจกรรมเด่น
08/10/2021
รับชมแล้วทั้งหมด 2261 คน
เตรียมรับมืออย่างไร? กับเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้าย
banner

เศรษฐกิจเราน่าจะได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในเดือนสิงหาคม

 

การบริโภคภาคเอกชน ในเดือนสิงหาคมลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน เนื่องจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เข้มงวดขึ้น ดัชนีการบริโภคภาคเอกชน (PCI) ลดลง 9.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน และลดลง 2.6% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยเป็นผลมาจากการที่ 29 จังหวัดในพื้นที่ควบคุมสีแดงเข้มยังคงมีการล็อกดาวน์อยู่ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 39.6 ในเดือนสิงหาคม จาก 40.9 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี

 

ด้านดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (PII) เดือนสิงหาคม เพิ่มขึ้น 9.6% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน แต่ลดลง 1.6% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เนื่องจากปัญหา Supply Disruption เริ่มทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในหลาย ๆ อุตสาหกรรม ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดว่าผู้ประกอบการมีมุมมองเกี่ยวกับภาวะธุรกิจในปัจจุบันอย่างไร ลดลงเหลือ 40.0 ในเดือนสิงหาคมจาก 41.4 ในเดือนก่อนหน้า



 


ภาคการท่องเที่ยวยังคงซบซบเซา แต่การท่องเที่ยวในประเทศน่าจะเริ่มกลับมาได้ในช่วงก่อนสิ้นปี


มาตรการล็อกดาวน์สร้างความเสียหายต่อการท่องเที่ยวในประเทศไทย เป็นการซ้ำเติมในช่วงที่นักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศได้อย่างไม่มีข้อจำกัด เรามีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเพียง 15,015 คนในเดือนสิงหาคม ซึ่งลดลงจาก 18,056 คนในเดือนก่อน ตัวเลขนี้ถือว่าต่ำกว่าช่วงก่อนการระบาดมาก โดยก่อนการระบาดปกติจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวประมาณ 3 ล้านคนต่อเดือน

 

และถึงแม้ว่าในตอนนี้ตัวเลขผู้ป่วยจะลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังอยู่ในสถานการณ์ที่ยังวางใจไม่ได้ เพราะมีเพียง 12 จังหวัด จาก 76 จังหวัดเท่านั้น ที่ฉีดวัคซีนได้เกิน 50% ของจำนวนประชากร อย่างไรก็ดี รัฐบาลไทยได้เริ่มมีแผนการลดระยะเวลากักตัวสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาประเทศไทยให้เหลือเพียง 7 – 10 วัน จากเดิม 14 วัน และมี 4 จังหวัดที่ดำเนินการเปิดนำร่องการท่องเที่ยวแล้วได้แก่ ได้แก่ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี พังงา และ กระบี่ นอกจากนั้น หากมีการเปิดการท่องเที่ยวเพิ่มอีก 10 จังหวัด ในวันที่ 1 พ.ย. รวมถึงกรุงเทพฯ และ เชียงใหม่ ซึ่งติดอันดับสถานที่ที่เหมาะกับการ Workation มากที่สุดในโลก คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น

 

ทั้งนี้ทางเราได้ปรับเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดการณ์ไว้สำหรับปี 2564 นี้จากเดิม 100,000 คนกลายเป็น 150,000 คน แต่ยังคงต่ำกว่าที่แบงก์ชาติมองไว้ที่ 2 แสนคนปีนี้ ยังคงเป็นระดับที่ต่ำมาก หากเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2019 ที่เกือบ 40 ล้านคน





ธนาคารแห่งประเทศไทยจะไม่ลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม แต่กว่าจะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยน่าจะในปี 2566


คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.5% ในการประชุมครั้งล่าสุด เป็นครั้งที่ 11 ติดต่อกัน ก่อนหน้านี้เรามองว่าการที่คณะกรรมการฯ 2 คนโหวตให้ลดอัตราดอกเบี้ยลงมาอยู่ที่ 0.25% ในการประชุมรอบเดือนสิงหาคมเป็นการส่งสัญญาณว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำลังจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตามการตัดสินคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างเป็นเอกฉันท์เมื่อปลายเดือนกันยายนชี้ให้เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะยังคงอยู่ที่ 0.5% จนกว่าวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยจะเริ่มต้นขึ้น ซึ่งเรามองว่าน่าจะใช้เวลาอีกนาน โดยอย่างเร็วที่สุดก็อาจจะเป็นช่วงปี 2566

 

ธปท. ได้คงประมาณการการเติบโตเศรษฐกิจไทยปี 2564 ไว้ที่ 0.7% แต่ปรับเพิ่มประมาณการปี 2565 จาก 3.7% เป็น 3.9% ซึ่งยังคงมากกว่าที่ทางเราคาดการณ์ไว้ที่ 0% ในปีนี้ แต่น้อยกว่าที่เรามองไว้ที่ 5% ในปี 2565 ซึ่งสาเหตุหลักที่ธปท. มีการปรับประมาณการเพิ่มขึ้น ได้แก่ อัตราการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้นและการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ที่เร็วกว่าที่คาดไว้ ปัจจุบันประชากรไทยประมาณ 50% ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้ว เพิ่มขึ้นจากเพียงประมาณ 20% ในช่วงเดือนสิงหาคม นอกจากนี้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ก็มีแนวโน้มที่จะลดลง โดยมีผู้ป่วยรายวันเพียงประมาณ 10,000 ราย ซึ่งน้อยกว่าครึ่งเมื่อเทียบกับช่วงเดือนสิงหาคม ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงได้ประกาศแผนการที่จะลดระยะเวลาการกักตัวนักท่องเที่ยว ลดระยะเวลาการเคอร์ฟิวในตอนกลางคืน และเริ่มอนุญาตให้ธุรกิจต่าง ๆ ได้กลับมาดำเนินธุรกิจได้มากขึ้น

 

ทางด้านธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ล่าสุดในการประชุมเดือนกันยายนที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ก็ยังคงยืนยันเดินหน้าพิจารณาปรับลดลงวงเงินในโครงการซื้อคืนพันธบัตร (QE Tapering) ที่น่าจะเริ่มต้นขึ้นในเดือนพฤศจิกายนปีนี้และเสร็จสิ้นในช่วงกลางปี 2565

 

นอกจากนั้น ข้อมูลจาก Fed Dot Plot ชี้ให้เห็นว่าคณะกรรมการฯ ส่วนใหญ่ยังมองว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Funds Rate) อาจจะเกิดขึ้นในปี 2565 ซึ่งเร็วกว่า 1 ปี เมื่อเทียบกับการคาดการณ์เดิม

 

ด้วยแนวโน้มนโยบายของเฟดที่เข้มงวดขึ้นนี้ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีของสหรัฐฯ และไทยจนถึงตอนนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 0.20% (20 bps) และ 0.10% (10 bps) ตามลำดับ นับแต่การประชุมเดือนกันยายนที่ผ่านมา


ในส่วนของดอกเบี้ยในไทย ถึงแม้ว่า ธปท. จะไม่มีการขึ้นดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้ แต่อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทย 10 ปี ก็ปรับสูงขึ้นตามทิศทางของดอกเบี้ยในสหรัฐด้วย ล่าสุด อัตราผลตอบแทนอยู่ที่ 1.88% ซึ่งแนวโน้มอัตราผลตอบแทนในสหรัฐจะมีโอกาสสูงขึ้นต่อเนื่อง หลังจากการเริ่มทำ Taper และ Fed ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย





ค่าเงินบาทมีแนวโน้มจะอ่อนตัวไปอยู่ที่ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ในอีกไม่นาน


จากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยืดเยื้อและการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ค่าเงินบาทยังคงเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่อ่อนค่าลงมากที่สุดในภูมิภาค โดยตั้งแต่ช่วงต้นปี 2564 จนถึงปัจจุบัน ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงแล้วกว่า 11.6% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ

 

ถ้าพิจารณาในกรอบระยะเวลาที่สั้นลง ค่าเงินบาทอ่อนค่าโดยเฉลี่ย 1.5% ในเดือนสิงหาคม แต่ดีดตัวขึ้น 0.6% ในเดือนกันยายน เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนเริ่มกลับมาดำเนินได้ภายหลังการยกเลิกข้อจำกัดทางสังคม นอกจากนี้การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงเพิ่มขึ้นเป็น 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนสิงหาคม ซึ่งถือว่าสูงกว่าที่คาดไว้จากการสำรวจของ Bloomberg ที่ 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยทางเรามองว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะยังคงขาดดุลต่อเนื่องจนกว่าภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทยจะกลับมาฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ

 

ในระยะข้างหน้า เราคาดว่าค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงอีกเป็น 34.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในอีกไม่นาน เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังคงเปราะบางจากผลกระทบของการแพร่ระบาดใหญ่ครั้งที่ผ่านมา ประกอบกับธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังมีท่าทีเชิงนโยบายที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้น





คลังต้องเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70% ของ GDP แต่ไม่เป็นอะไรที่น่ากังวล


ในแง่ของการสนับสนุนทางการคลัง ในที่สุดรัฐบาลไทยก็ได้มีการปรับเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% เป็น 70% เพื่อให้รัฐสามารถกู้ยืมได้มากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามที่เราคาดไว้ก่อนหน้านี้ จากข้อมูลล่าสุด หนี้สาธารณะของประเทศไทยอยู่ที่ 9.2 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 57% ของ GDP ในเดือนสิงหาคม หากมองไปข้างหน้า ตัวเลขนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเหนือระดับ 60% ในอีกไม่ช้า เพราะเศรษฐกิจเรามีแนวโน้มฟื้นช้า ยังคงต้องการเม็ดเงินสนับสนุน ผ่านนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ของรัฐบาลเพิ่มเติม





ภาคการผลิตยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด แต่น่าจะปรับตัวดีขึ้นเรื่อย ๆ


ด้วยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของประเทศไทยที่อยู่ในระดับ 48.9 ในเดือนกันยายน ภาคการผลิตของประเทศไทยยังคงหดตัวต่อเนื่อง ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นจาก 48.3 ในเดือนสิงหาคมแต่ยังคงต่ำกว่า 50 ซึ่งเป็นจุดแบ่งระหว่างการเติบโตและการหดตัว

 

เมื่อพิจารณาทั้งภูมิภาคอาเซียน PMI อยู่ที่ระดับ 50 ในเดือนกันยายน เพิ่มขึ้นจาก 44.5 ในเดือนสิงหาคม บ่งชี้ถึงการฟื้นตัวที่มาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลายลงในหลายประเทศทำให้มีการผ่อนคลายข้อจำกัดในการล็อกดาวน์ที่เคยส่งผลกระทบต่อการผลิตในโรงงานหลายแห่ง ในระยะถัดไปเรายังคงต้องจับตามองปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทาน เช่น ค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น การปิดท่าเรือ และภัยธรรมชาติ ซึ่งอาจขัดขวางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในอนาคตอันใกล้นี้ได้





ข้อเสนอแนะสำหรับธุรกิจ SME:


ในช่วงที่ผ่านมาค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมาก และยังมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่อง ประกอบกับปัญหา Supply Disruption ที่ทำให้ราคาสินค้าวัตถุดิบต่าง ๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับราคาน้ำมัน ผู้ประกอบการ SME ที่มีธุรกิจเกี่ยวข้องกับภาคการส่งออกนำเข้ามีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวมากที่สุด เนื่องจากมีต้นทุนในการดำเนินงานที่สูงขึ้น เป็นการตอกย้ำปัญหาที่พบเจออยู่แล้ว ทั้งเรื่องความต้องการซื้อที่มีน้อยลง การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์สำหรับการขนส่งระหว่างประเทศ และปัญหาค่าระวางเรือที่ปรับเพิ่มขึ้นมาก ดังนั้นผู้ประกอบการควรที่จะระมัดระวังและวางแผนล่วงหน้าสำหรับการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศในตอนนี้

 

ส่วนธุรกิจในประเทศ จากสถานการณ์โควิดที่เริ่มคลี่คลายลงบ้างในประเทศไทย ผู้ประกอบการภาคการบริการที่เคยได้รับผลกระทบหนักมากที่สุดก่อนหน้านี้ก็มีแนวโน้มที่จะกลับมาฟื้นตัวได้ และควรวางแผนล่วงหน้าสำหรับการกลับมาดำเนินธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง เช่น ธุรกิจร้านอาหารก็ควรที่จะเตรียมสต็อกสินค้าให้พร้อมขาย และมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดที่เข้มงวดขึ้นมากกว่าแต่ก่อน หรือธุรกิจโรงแรมก็ควรที่จะเตรียมห้องพักให้พร้อมสำหรับการต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาและให้ความสำคัญกับสุขอนามัยเพิ่มมากขึ้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่น

 

เศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว และคาดว่าจะฟื้นตัวได้เร็วและแรงในอีกไม่ช้า ขอให้จับตาดูอัตราการฉีดวัคซีนในประเทศ ว่าจะเกินระดับร้อยละ 70 เมื่อไร ผมว่าเมื่อนั้นรัฐบาลพร้อมที่จะเปิดประเทศ แต่อย่างไรก็ดี โลกหลังโควิด อาจจะไม่เหมือนเดิม การ Work from Home คงจะอยู่กับเราตลอดไป การเดินทางเข้ามาทำงานที่ Office อาจจะไม่จำเป็น การประชุม สัมมนา คงมีทางเลือกให้เข้า Online ได้ เพราะฉะนั้น การทำธุรกิจหลายแบบคงต้องปรับตัวตาม แต่อย่างไรก็ดี เราเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แล้ว ขอให้ทุกคนเตรียมพร้อมพบกับโลกหลังโควิดครับ



ผู้เขียน : บุรินทร์ อดุลวัฒนะ Chief Economist, Bnomics

 

ติดตามบทความวิเคราะห์ประเด็นเศรษฐกิจ เพิ่มเติมได้ที่

Website : https://www.bnomics.co

Facebook : https://www.facebook.com/Bnomics.co

Blockdit : https://www.blockdit.com/bnomics

Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC

Youtube : https://www.youtube.com/bnomics

Twitter : https://twitter.com/bnomics_co


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

งานเสวนา ออนไลน์ เพื่อนคู่คิด “เกษตรก้าวหน้า” ครั้งที่ 2/2566

งานเสวนา ออนไลน์ เพื่อนคู่คิด “เกษตรก้าวหน้า” ครั้งที่ 2/2566

เกษตรกร ผู้ประกอบการเกษตร ชาวไร่มันสำปะหลังเตรียมตัวให้พร้อม!!!ขอเชิญท่านเข้าร่วมชมการถ่ายทอดสดงานเสวนาออนไลน์ เพื่อนคู่คิด "เกษตรก้าวหน้า…
pin
385 | 16/10/2023
โอกาสสุดท้าย! ในการสมัครโครงการ The Big Blue Ocean by BBL รุ่น 2

โอกาสสุดท้าย! ในการสมัครโครงการ The Big Blue Ocean by BBL รุ่น 2

หลักสูตร Digital Transformation 13 สัปดาห์ สำหรับผู้นำ: อัพเดตเทรนด์เทคโนโลยีล่าสุด เรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ การเสริมศักยภาพองค์กรไปกับผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญชั้นนำเปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้…
pin
934 | 13/06/2023
งานเสวนาออนไลน์ เพื่อนคู่คิด "เกษตรก้าวหน้า"

งานเสวนาออนไลน์ เพื่อนคู่คิด "เกษตรก้าวหน้า"

ลงทะเบียนเข้าร่วมงาน #เสวนาออนไลน์ไม่มีค่าใช้จ่ายมาร่วมรับฟังข้อมูลและเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร…
pin
2681 | 15/03/2022
เตรียมรับมืออย่างไร? กับเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้าย