Bnomics | ความเสี่ยงและความหวังของเศรษฐกิจไทยปี 2565

Library > Economic Outlook/Trends
07/01/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 2710 คน
Bnomics | ความเสี่ยงและความหวังของเศรษฐกิจไทยปี 2565
banner

ภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโอมิครอน

จากการเปิดประเทศเป็นระยะเวลาสองเดือน ประเทศไทยมียอดนักท่องเที่ยวสะสมตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน ถึง 31 ธันวาคม 2564 เป็นจำนวนทั้งสิ้น 423,678 คน ซึ่งมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 268,000 คนหรือคิดเป็นสัดส่วน 72% โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เข้ามามากสุด มาจากประเทศเยอรมนี สหราชอาณาจักร รัสเซีย และสหรัฐฯ ตามลำดับ 

แต่เชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนกำลังระบาดไปทั่วโลกได้กลายเป็นสายพันธุ์หลักในหลายประเทศ โดยถึงแม้ผู้ป่วยสายพันธุ์นี้จะมีอาการรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์อื่นๆ แต่สามารถแพร่กระจายได้เร็วกว่ามาก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทยในระยะอันใกล้นี้ ส่งผลให้รัฐบาลไทยระงับการเดินทางเข้าประเทศแบบไม่ต้องกักตัว โดยมีการปิดรับลงทะเบียนชั่วคราวสำหรับระบบ Test & Go และแซนด์บ็อกซ์ (Sandbox) ยกเว้นภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์

นอกจากนั้นแล้ว ในวันที่ 7 มกราคม 2565 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ยังยกระดับมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนให้เข้มงวดขึ้น โดยมีการปรับเพิ่มพื้นที่โซนสีส้ม (พื้นที่ควบคุม) จาก 39 จังหวัด เป็น 69 จังหวัด แต่ยังอนุญาตให้ประชาชนสามารถรับประทานอาหารในร้านอาหารได้ตามปกติ ส่วนพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (พื้นที่สีฟ้า) จำนวน 8 จังหวัด อนุญาตให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ถึงเวลา 3 ทุ่ม จากเดิมที่สามารถดื่มได้ถึง 5 ทุ่ม ในส่วนของสถานศึกษา ที่ประชุมศบค. ไม่ได้พิจารณาสั่งปิด แต่มีการเพิ่มวันทำงานที่บ้าน (Work from home) อีก 14 วัน โดยไม่ได้มีการประกาศล็อกดาวน์แต่อย่างใด แต่ถ้าสถานการณ์ไม่ดีขึ้น เราอาจจะเห็นมาตรการที่เข้มข้นขึ้นไปอีกในเร็ววันนี้

รูปที่ 1: จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาประเทศไทย

 

แหล่งที่มา: กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, Macrobond


โอมิครอนส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของไทยด้วย ผ่านทางความต้องการซื้อสินค้า

จากข้อมูลของ IHS Markit ดัชนี PMI ภาคการผลิตของสหรัฐอเมริกา อยู่ที่ 57.7 ในเดือนธันวาคม ลดลงจาก 58.3 ในเดือนพฤศจิกายน แต่เป็นไปตามข้อมูล Flash ที่ประกาศออกมาก่อนหน้านี้ที่ 57.8 อย่างไรก็ตามดัชนีดังกล่าวถือว่าอยู่ในระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 ซึ่งโดยปกติแล้ว หากค่าดัชนี PMI สูงกว่า 50 ชี้ว่าภาคการผลิตกำลังขยายตัว

ในยูโรโซน ดัชนี PMI ภาคการผลิตลดลงเหลือ 58 โดยอิตาลีมีอัตราการเติบโตที่สูงที่สุด ในขณะที่ฝรั่งเศสเติบโตได้ช้าที่สุด ข้อมูลเผยให้เห็นว่าปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทานกำลังคลี่คลายลง โดยระยะเวลารอสินค้าโดยเฉลี่ยลดลงจนถึงระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 

PMI ของจีนปรับเพิ่มขึ้นจาก 49.9 ในเดือนพฤศจิกายน มาเป็น 50.9 ในเดือนธันวาคม ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์กันไว้ที่ราว 50.0 โดยอัตรานี้ถือว่าสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีที่แล้ว เนื่องจากปัญหาโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลงแล้ว การผลิตเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบปี โดยได้แรงหนุนจากแรงกดดันด้านราคาที่ผ่อนคลายลง

ดัชนี PMI เฉลี่ยของอาเซียนแสดงการเติบโตใกล้ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนธันวาคม โดยดัชนีอยู่ที่ระดับ 52.7 เนื่องจากภูมิภาคเริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากผลกระทบที่ได้รับจากโควิด-19 

5 ประเทศจาก 7 ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่มีการจัดทำดัชนี PMI พบว่ากิจกรรมด้านอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นในเดือนธันวาคม 2564 โดยสิงคโปร์เป็นผู้นำในแง่ของการเติบโต โดยดัชนี PMI แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 58.0 ในขณะเดียวกัน สถานการณ์ในอินโดนีเซียปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน ส่วนประเทศอื่น ๆ อย่าง มาเลเซียและเวียดนาม มีการขยายตัวสูงขึ้นในเดือนธันวาคม โดยการฟื้นตัวดังกล่าวได้รับแรงหนุนจากการเติบโตของผลผลิตที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ เช่นเดียวกับปริมาณยอดการสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก

ในทางกลับกัน ภาคการผลิตของประเทศไทยหดตัวลง โดยดัชนี PMI ลดลงเหลือ 49.5 ในเดือนธันวาคม จาก 50.6 ในเดือนพฤศจิกายน หลังจากขยายตัวได้ดีในช่วง 2 เดือนก่อน หลังจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 แต่ถึงแม้ว่าภาคการผลิตจะมีการเติบโตอย่างมั่นคง แต่ยังได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ที่อ่อนแอในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างช้า ๆ

รูปที่ 2: ดัชนี PMI ภาคการผลิต

 

แหล่งที่มา: IHS Markit, Macrobond


ความเสี่ยงสินค้าจีนทะลักเข้าไทยผ่านรถไฟลาว - จีน

นอกจากปัจจัยเสี่ยงในประเทศที่เกิดจากการระบาดของโควิด-19 แล้ว ยังมีปัจจัยภายนอกประเทศที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย อย่างโครงการรถไฟลาว – จีน ที่เปิดตัวเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยขบวนรถไฟนี้ เชื่อมต่อระหว่างกรุงเวียงจันทน์ของลาวกับนครคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลยูนนาน ประเทศจีน 

ทางรถไฟนี้มีระยะทางรวม 1,035 กม. และเป็นหนึ่งในโครงการ Belt & Road Initiative ของจีน ที่ต้องการขยายเส้นทางการเดินทางขนส่งเชื่อมต่อผู้คนใน 70 ประเทศทั่วโลกทั้งทางบกและทางทะเล

รูปที่ 3: รถไฟจีน-ลาว

 

แหล่งที่มา: Global Times


รูปที่ 4: ทางรถไฟสายเวียงจันทน์–บ่อเต็น

 

แหล่งที่มา: Radio Free Asia


รถไฟนี้สามารถวิ่งทำความเร็วขนส่งผู้โดยสารได้สูงถึง 160 - 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ถ้าหากเป็นขบวนรถไฟขนส่งสินค้าจะสามารถวิ่งได้ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งจากลาวไปจีนได้มากถึง 40 – 50% เทียบกับค่าขนส่งรูปแบบเดิม และช่วยย่นระยะเวลาการขนส่งสินค้าจากลาวไปจีนลง เหลือเพียง 1 วัน จากเดิมที่ต้องใช้เวลาเกือบ 30 วัน ผ่านทางท่าเรือของไทย

ทั้งนี้ จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 1 เดือนแล้วที่รถไฟจีน-ลาว ได้เปิดให้บริการ โดยมีผู้โดยสารเดินทางด้วยรถไฟดังกล่าวแล้วกว่า 670,000 คน ขนส่งสินค้าไปแล้วทั้งสิ้นกว่า 170,000 ตัน

สินค้าที่มีการขนส่งผ่านรถไฟเส้นทางนี้เป็นจำนวนมาก ได้แก่ ยาง ปุ๋ย อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ของใช้ในชีวิตประจำวัน สิ่งทอ ผัก และ ดอกไม้ เป็นต้น (อ้างอิงจากสำนักข่าว Xinhua ประเทศจีน)

การเปิดตัวของรถไฟลาว – จีนนี้ สร้างทั้งโอกาสและความท้าทายให้กับเศรษฐกิจไทย ด้านโอกาส ไทยมีโอกาสในการที่จะขายสินค้าได้เพิ่มมากขึ้น ผ่านการส่งออกสินค้าไปยังจีน สินค้าส่งออกต่าง ๆ ในไทย ปกติแล้วจะใช้การขนส่งทางเรือเป็นหลัก มากกว่า 80% ของจำนวนสินค้าทั้งหมด โดยโครงการเส้นทางรถไฟนี้จะช่วยลดต้นทุนค่าขนส่ง และลดความเสี่ยงจากปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนสำหรับการขนส่งทางเรือได้เป็นอย่างดี 

นอกจากนั้นแล้ว ไทยอาจได้ประโยชน์ในภาคการท่องเที่ยว เนื่องจากในมณฑลยูนานที่เป็นต้นทางของรถไฟสายนี้ มีจำนวนประชากรกว่า 47 ล้านคน ถ้าหาก 1% ของประชากรเหล่านี้ เดินทางมาไทยคาดว่าจะสร้างรายได้ให้กับภาคการท่องเที่ยวไทยได้ไม่ต่ำกว่า 800 ล้านบาทต่อปี (อ้างอิงจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา) แต่ในขณะนี้ ทางการจีนยังคงเข้มงวดกับสถานการณ์โควิด จึงทำให้อานิสงส์จากการท่องเที่ยงในเส้นทางใหม่อาจจะไม่ปรากฎในเร็ววันนี้

ส่วนทางด้านความท้าทาย แม้ว่าสินค้าไทยจะมีแนวโน้มส่งออกไปจีนได้มากขึ้น แต่สินค้านำเข้าจากจีนก็คาดว่าจะทะลักเข้ามาในไทยด้วยเช่นกัน และก่อให้เกิดการแข่งขันกับธุรกิจไทยในที่สุด ดังนั้นผู้ประกอบการไทยควรเตรียมความพร้อมเพื่อคว้าโอกาสที่กำลังจะมาถึง และเร่งเพิ่มความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น

บทสรุป

โดยรวมแล้ว ในปี 2565 นี้ ปัจจัยเสี่ยงหลักที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยยังคงเป็นการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่สามารถแพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ ก่อนหน้านี้ ซึ่งอาจทำให้ภาครัฐออกมาตรการป้องกันที่เข้มงวดขึ้นส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวได้ดีหลังมีการเปิดประเทศ ทั้งนี้ ในระยะถัดไป เรายังคงต้องติดตามสถานการณ์กันต่อไปและจับตาว่ามาตรการภาครัฐจะเข้มงวดเหมือนกับช่วงกลางปีที่แล้วหรือไม่

ส่วนการเปิดตัวรถไฟลาว – จีน เมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการ เนื่องจากจะมีสินค้าจากจีนไหลเข้ามาในประเทศไทยเป็นปริมาณมาก ผู้ประกอบการไทยควรเร่งพัฒนาสินค้าหรือบริการให้มีความแตกต่าง เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาด และดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มมากขึ้น

แต่ทางเรา ก็เชื่อว่าปี 2565 นี้ เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ดีกว่าปีที่แล้วมาก โดยทางเราคาดการณ์ว่า GDP น่าจะโตได้ถึง 4.5% ในปีนี้ ถึงแม้ว่าในช่วงระยะสั้นสั้น ยังมีความไม่แน่นอนจากสายพันธุ์โอมิครอน แต่การที่โอมิครอนไม่ได้ทำให้เกิดการเจ็บป่วยที่รุนแรง นั่นก็ชี้ว่า เราน่าจะใกล้เห็นวิกฤติโควิดใกล้จบแล้วเช่นกัน หลังจากที่ทำคนต้องปรับตัวกันอย่างหนักในช่วงสองปีที่ผ่านมา แต่เราเชื่อว่าปีนี้ เราจะก้าวข้ามวิกฤติครั้งนี้ไปได้


ผู้เขียน : บุรินทร์ อดุลวัฒนะ Chief Economist, Bnomics 

ติดตามบทความวิเคราะห์ประเด็นเศรษฐกิจ เพิ่มเติมได้ที่

Website : https://www.bnomics.co

Facebook : https://www.facebook.com/Bnomics.co

Blockdit : https://www.blockdit.com/bnomics

Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC

Youtube : https://www.youtube.com/bnomics

Twitter : https://twitter.com/bnomics_co



Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

Bnomics | ดัชนีเศรษฐกิจหลายตัวเริ่มหมดแรง เว้นภาคการท่องเที่ยวซึ่งยังฟื้นตัวต่อไป

Bnomics | ดัชนีเศรษฐกิจหลายตัวเริ่มหมดแรง เว้นภาคการท่องเที่ยวซึ่งยังฟื้นตัวต่อไป

เครื่องยนต์ของเศรษฐกิจไทยในหลายด้านเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลง อันเป็นผลมาจากแรงกดดันทางด้านอัตราเงินเฟ้อและการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจคู่ค้าไทยในต่างประเทศเป็นสำคัญ…
pin
1296 | 04/11/2022
เจาะใจ สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ ปั้นระบบ ‘FoodStory’ เสริมแกร่งร้านอาหาร ช่วยให้ SME บริหารร้านได้ทุกที่ทุกเวลา

เจาะใจ สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ ปั้นระบบ ‘FoodStory’ เสริมแกร่งร้านอาหาร ช่วยให้ SME บริหารร้านได้ทุกที่ทุกเวลา

ย้อนเส้นทาง บริษัท ลีฟวิ่ง โมบาย จำกัด สตาร์ทอัพผู้นำด้านการพัฒนาระบบ POS ด้วย แอปพลิเคชัน ‘FoodStory’ สำหรับร้านอาหารทุกประเภท ตั้งแต่ร้านอาหารรายย่อย…
pin
3658 | 26/10/2022
โอกาสมาแล้ว! ดีมานด์มันสำปะหลังจีนโตแรง เกษตรกรไทยลุยรุกส่งออกแดนมังกร ชิงส่วนแบ่งตลาดก้อนยักษ์

โอกาสมาแล้ว! ดีมานด์มันสำปะหลังจีนโตแรง เกษตรกรไทยลุยรุกส่งออกแดนมังกร ชิงส่วนแบ่งตลาดก้อนยักษ์

อีกหนึ่งโอกาสเกษตรกรไทย! คาดการณ์ความต้องการมันสำปะหลังช่วง 6 เดือนหลังของปี 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คาดทั้งปีไทยส่งออกกว่า 11 ล้านตัน…
pin
4922 | 23/10/2022
Bnomics | ความเสี่ยงและความหวังของเศรษฐกิจไทยปี 2565