‘โคแพค’ มองเห็นโอกาส วาง Positioning ในสมรภูมิที่ได้เปรียบ สู่โรงพิมพ์คุณภาพระดับพรีเมียม มัดใจลูกค้าญี่ปุ่น

SME in Focus
19/04/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 2077 คน
‘โคแพค’ มองเห็นโอกาส วาง Positioning ในสมรภูมิที่ได้เปรียบ สู่โรงพิมพ์คุณภาพระดับพรีเมียม มัดใจลูกค้าญี่ปุ่น
banner
การดำเนินธุรกิจในยุคของ Digital Disruption ที่ต้องปรับตัวให้ทันเทคโนโลยี รวมไปถึงการต่อยอด เพิ่มไลน์การผลิตหลากหลายรูปแบบเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าสมัยใหม่ คุณเรืองศักดิ์ หิรัญญาภินันท์ และ คุณสุทัศน์ หิรัญญาภินันท์ กรรมการผู้จัดการ สองพี่น้องผู้บุกเบิก บริษัท โคแพค จำกัด ใช้การ Business Transformation พลิกโฉมโรงพิมพ์แบบเดิม นำเทคโนโลยีมาปรับใช้ พร้อมปรับกลยุทธ์ในการบริหารจนกลายเป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการพิมพ์สกรีนแถวหน้าเมืองไทย ที่สามารถครองใจลูกค้าบ้านเราและชนะใจลูกค้ามาตรฐานสูงอย่างญี่ปุ่นได้สำเร็จ


คุณเรืองศักดิ์ หิรัญญาภินันท์ (คนขวา) และ คุณสุทัศน์ หิรัญญาภินันท์ (คนซ้าย) กรรมการผู้จัดการ ผู้บุกเบิก บริษัท โคแพค จำกัด


สร้างธุรกิจโรงพิมพ์ด้วย Start Step Scale 

คุณเรืองศักดิ์ เผยถึงที่มาว่า ด้วยความที่ฐานะทางบ้านไม่ได้ดีมากนัก หลังจากเรียนจบ ป.7 ตนกับน้องชายจึงออกมาเป็นลูกจ้างอยู่ร้านอะไหล่รถยนต์ หลังจากนั้นเริ่มอยากมีธุรกิจเป็นของตนเอง จึงมองหางานที่ขายฝีมือ ช่วงนั้นเราทั้ง 2 คนจึงพยายามเรียนรู้อยู่หลายอาชีพ ไม่ว่าจะทำขนม กรอบรูปวิทยาศาสตร์ ชุบโลหะ คืออะไรที่เขาเปิดสอนฟรีเราไปหมด 

จนวันหนึ่งเห็นว่ามีอบรม ‘พิมพ์ซิลค์สกรีน’ จึงพากันไปเรียนเป็นจุดที่นำไปสู่แนวคิดเปิดโรงพิมพ์เล็กๆ กับน้องชาย โดยเริ่มจากการพิมพ์เรือนไมล์รถ ซึ่งเมื่อก่อนยังไม่เป็นแบบดิจิทัลเหมือนทุกวันนี้ นอกจากนี้ยังทำเสื้อโฆษณาและป้ายโมบาย โดยขณะนั้นยังมีทุนไม่มาก จึงทำเป็นงานอดิเรกหลังเลิกงาน


พอปี 2522 จึงลาออกมาเพื่อเปิดกิจการของตนเองเป็นโรงพิมพ์เล็กๆ ชื่อ ‘สยามวัฒนา’ รับพิมพ์งานทุกชนิดตั้งแต่นามบัตร โบรชัวร์ไปจนถึงงานออฟเซ็ทใหญ่ๆ แล้วค่อยๆ เติบโตมาเรื่อยๆ พองานเยอะขึ้นเริ่มมองเห็นว่าถ้ารับผลิตงานหลายๆ อย่างพร้อมกันไม่เหมาะกับธุรกิจที่สำคัญทำให้ต้นทุนสูงขึ้นด้วย จึงเลือกผลิตเฉพาะงานที่เราถนัดและงานที่ลูกค้าสั่งผลิตประจำเท่านั้น 




จาก ‘สยามวัฒนา’ มาเป็น ‘โคแพค’ งานพิมพ์สกรีนระดับพรีเมียม ครบมาตรฐาน

คุณเรืองศักดิ์ ย้อนความหลังให้ฟังว่า ช่วงที่ทำธุรกิจถึงปี 2528 รัฐบาลมีนโยบายชักชวนชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทำให้ชาวต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาตั้งโรงงานในไทยเป็นจำนวนมากรวมถึงบริษัทญี่ปุ่น จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่บริษัท ได้ร่วมงานกับญี่ปุ่น โดยงานกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของญี่ปุ่นถือเป็นงานหลักของบริษัทฯ ในสมัยนั้น 

จนปี 2535 จากโรงพิมพ์ ‘สยามวัฒนา’ ตึกแถวเล็กๆ จึงขยับขยายไปตั้งบริษัทใหม่ที่จังหวัดสมุทรปราการบนพื้นที่ 2 ไร่ ในชื่อใหม่ว่า ‘บริษัท โคแพค จำกัด’ เพื่อรองรับกำลังการผลิตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังได้รับมาตรฐาน ISO 9001 ซึ่งบริษัทฯ ทำมาตั้งแต่ปี 2541 จนถึง ISO 14000 ที่มุ่งดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมไม่ส่งผลกระทบเรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และหมึกที่ใช้ไม่มีสารวัตถุต้องห้ามในการพิมพ์ จึงยืนยันได้ว่ากระบวนการผลิตของบริษัท จะไม่ก่อปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมหรือทำให้เกิดภาวะโลกร้อนแต่อย่างใด



จากยุคแรงงานคนสู่การ Business Transformation รองรับงานหลากหลายรูปแบบ

คุณสุทัศน์ ฉายภาพว่า เทคโนโลยีสมัยก่อนยังไม่ทันสมัยเช่นทุกวันนี้ เป็นการใช้แรงงานคนเป็นหลัก จึงเน้นงานที่เป็นลูกค้าประจำอยู่แล้ว เนื่องจากสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ งานพิมพ์สกรีนส่วนมากใช้เครื่องจักรแบบกึ่งอัตโนมัติ (Semi-Auto) ในการพิมพ์สกรีนจะพิมพ์ใส่แผ่นโพลีเอสเตอร์, โพลีคาร์บอเนต เพื่อไปติดบนหน้ากากของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ปุ่ม Control บนเครื่องซักผ้า ไมโครเวฟ เป็นต้น เพราะการพิมพ์สกรีนจะทำให้ติดคงทนอยู่ได้นานหลายสิบปี
 
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มฉลากสินค้า ฉลากยางรถยนต์ ซึ่งเมื่อก่อนยังมีจำนวนไม่มาก บริษัทจึงใช้วิธีพิมพ์ด้วยมือ เมื่อตลาดเติบโตมากขึ้นจึงทำให้ผลิตสินค้าไม่ทัน ต้นทุนก็แพงกว่าด้วย จึงเริ่มนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการพิมพ์ ด้วยระบบการพิมพ์หลายระบบตั้งแต่พิมพ์สกรีน, พิมพ์ออฟเซ็ท, พิมพ์เลตเตอร์เพรส (Letterpress Printing) และดิจิตอลปริ๊นต์ นอกจากนี้ยังมีเครื่องโรตารี่พิมพ์เป็นม้วน เพราะลูกค้าเวลาที่ยอดขายเยอะจะไม่ติดด้วยมือ ต้องผลิตออกมาเป็นม้วนเพื่อจะเข้าเครื่องออโตเมติกของเขาได้ เป็นการพัฒนาไปตามความต้องการของลูกค้าจากงานพิมพ์สกรีนปรับเปลี่ยนมาเป็นงานพิมพ์ม้วน เป็นการเติบโตไปพร้อมๆ กับลูกค้า



ทำไม? ญี่ปุ่นถึงเลือก ‘โคแพค’

คุณเรืองศักดิ์ เล่าถึงเส้นทางการได้มาเป็นซัพพลายเออร์ของบริษัทญี่ปุ่นให้ฟังว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าการทำงานกับญี่ปุ่น โดยเฉพาะสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์จะต้องมีความละเอียดและมาตรฐานสูงมาก ทำให้หลายๆ โรงพิมพ์ในเวลานั้นไม่กล้ารับผลิตงาน เนื่องจากเกรงจะเกิดปัญหาต่างๆ แต่ ‘โคแพค’ มองว่าเป็นโอกาสและความท้าทายที่บริษัทฯจะได้เติบโตไปอีกระดับหนึ่ง จึงมุ่งมั่นและพยายามพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อนำมาปรับปรุงแก้ปัญหาต่างๆ ในการทำงาน จนเมื่อปี 2537 กองบริการอุตสาหกรรมของกระทรวงอุตสาหกรรมมีการจัดงานที่ญี่ปุ่น บริษัทมีโอกาสร่วมงานในครั้งนั้นจึงได้ศึกษาดูงานและเรียนรู้นำมาพัฒนาต่อยอดสินค้าของตนเองจนเป็นที่ยอมรับของบริษัทญี่ปุ่นและเชื่อถือในคุณภาพงานพิมพ์ของเราเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้

 

“สิ่งสำคัญที่ทำให้ โคแพค ได้เป็นซัพพลายเออร์บริษัทญี่ปุ่น คือการผลิตงานที่มีคุณภาพจนเป็นที่ยอมรับและส่งมอบสินค้าทันเวลาตรงต่อความต้องการ ซึ่งบริษัทญี่ปุ่นจะใช้รูปแบบการบริหารแบบ Just In Time คือ ผลิตสินค้าเมื่อมีความต้องการซื้อจากลูกค้าเท่านั้นและส่งมอบให้ลูกค้าทันทีหลังจากผลิตเสร็จ โดยไม่เก็บสินค้าเอาไว้ เพื่อลดจำนวนสินค้าคงคลังให้เท่ากับศูนย์ (Zero Inventory) นั่นคือสิ่งที่เราตอบสนองให้เขาได้ สิ่งนี้ถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้ เพราะถ้าเรารักษาคุณภาพไว้ได้ จะสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าได้ในระยะยาว จนสามารถเป็นคู่ค้ากันได้อย่างยั่งยืน”




เข้าใจตลาดแล้ววาง Positioning ของธุรกิจในตลาดที่เราได้เปรียบ

ในเรื่องบริหารธุรกิจ คุณเรืองศักดิ์ บอกว่า การบริหารโรงพิมพ์นั้น การมีงานพิมพ์จำนวนมาก มีออเดอร์ผลิตสูง ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ต้นทุนเราต่ำลง ตรงกันข้ามจะทำให้ต้นทุนสูงและเสียโอกาส ถ้าพูดถึงโรงพิมพ์ขนาดเดียวกัน ‘โคแพค’ ถือว่าได้เปรียบในหลายๆ ด้าน เพราะมีระบบการพิมพ์หลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่พิมพ์สกรีน, พิมพ์ออฟเซ็ท, พิมพ์เลตเตอร์เพรส และดิจิตอลปริ๊นต์ เป็นต้น

“เรามีระบบพิมพ์ออฟเซ็ทถึงแม้จะเป็นเครื่องขนาดเล็กก็ไม่ได้เสียเปรียบแต่อย่างใด เพราะไม่ใช่งานหลักของเรา ถ้ามีงานออฟเซ็ทเยอะๆ ก็จะส่งออกไปให้โรงพิมพ์ออฟเซ็ทขนาดใหญ่ผลิตให้ ส่วนงานขนาดเล็กจะทำเองเพราะเป็นงานที่ถนัดและมีระบบพิมพ์หลากหลายรูปแบบไว้รองรับ จึงสามารถวางแผนได้ว่าจะพิมพ์ระบบไหนถึงจะได้ต้นทุนที่ต่ำสุด ตรงนี้ถือเป็นจุดแข็งของเรา” คุณเรืองศักดิ์ กล่าว..

“การค้าในปัจจุบันส่วนใหญ่จะไม่ผลิตจำนวนน้อย เพราะต้นทุนจะสูงทำให้สินค้ามีราคาแพง แต่โคแพคสามารถผลิตได้ เพราะมีเทคโนโลยีการพิมพ์ที่รองรับหลากหลายรูปแบบ ที่ทำให้ต้นทุนไม่สูง ถ้าเป็นโรงพิมพ์ออฟเซ็ทอย่างเดียว ถ้าผลิตจำนวนน้อยๆ จะไม่สามารถทำได้เพราะต้นทุนสูงไม่คุ้มค่า สะท้อนให้เห็นว่า การผลิตด้วยเครื่องพิมพ์ขนาดใหญ่ในจำนวนเยอะๆ ไม่ได้ทำให้ต้นทุนถูกลงเสมอไป แต่การมีระบบที่รองรับการพิมพ์ที่หลากหลายรูปแบบ สามารถลดต้นทุนและกลายเป็นข้อได้เปรียบทางการตลาดได้เช่นกัน” ” คุณสุทัศน์ กล่าวเสริม..
 
ด้วยความที่ ‘โคแพค’ โตมาจากธุรกิจเล็กๆ จึงเข้าใจงานเล็กๆ แล้วค่อยๆ เติบโตขึ้นมาทำให้เราเข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี ดังนั้นสิ่งสำคัญคือเราต้องเข้าใจตลาดแล้ววางธุรกิจของเราให้ถูกกลุ่มเป้าหมายที่วางไว้ ถือเป็นการผสมผสานการบริหาร Project Management กับ Cost Management  เข้าด้วยกันได้อย่างลงตัวเลยทีเดียว



ในท้ายสุด ทั้งสองพี่น้องกรรมการผู้จัดการ บริษัท โคแพค จำกัด ยังฝากข้อคิดให้ผู้ประกอบการ SME ด้วยว่า ในการเริ่มต้นธุรกิจอย่าตั้งเป้าหมายสูงเกินไปนัก แต่ค่อยๆ โตอย่างมั่นคงด้วยคุณภาพและรับผิดชอบต่องานที่ทำ สิ่งนี้ทำให้ โคแพค มีลูกค้าตั้งแต่วันแรก จนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 40 ปีแล้ว ถึงแม้ธุรกิจของลูกค้าจะตกทอดสู่รุ่นลูก อาทิ โบลิเด้น, บริดจสโตน, ไทยแอโรว์ ปัจจุบันก็ยังเป็นคู่ค้ากันเสมอมา สิ่งนี้ยืนยันได้ว่าหลักการที่เรายึดมั่นในการดำเนินธุรกิจเป็นสิ่งที่สร้างความเชื่อถือให้ลูกค้าได้เป็นอย่างดี

รู้จัก ‘บริษัท โคแพค จำกัด’ เพิ่มเติมได้ที่


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘LED Farm’ โรงงานผลิตพืชด้วยหลอดไฟ ฟาร์มผักพันธุ์ใหม่ เอาใจคนรักสุขภาพยุคดิจิทัล

‘LED Farm’ โรงงานผลิตพืชด้วยหลอดไฟ ฟาร์มผักพันธุ์ใหม่ เอาใจคนรักสุขภาพยุคดิจิทัล

จากธุรกิจผลิตหลอดไฟ LED ต่อยอดสู่การพัฒนาด้านการผลิตอาหารและนวัตกรรมการแปรรูปสินค้าเกษตรออร์แกนิก แบรนด์ ‘แอลอีดี ฟาร์ม’ (LED Farm) ที่มุ่งสร้างมาตรฐานสินค้าเกษตรคุณภาพ…
pin
63 | 25/04/2024
Transition สู่ Operation Excellence ความมุ่งมั่นพัฒนาระบบการทำงาน สู่ความเป็นเลิศในธุรกิจแป้งทำอาหาร ‘แบรนด์ปลาแฟนซีคาร์ฟ’

Transition สู่ Operation Excellence ความมุ่งมั่นพัฒนาระบบการทำงาน สู่ความเป็นเลิศในธุรกิจแป้งทำอาหาร ‘แบรนด์ปลาแฟนซีคาร์ฟ’

การทำโลกธุรกิจสำหรับ SME ยุคดิจิทัล ต้องมี ‘นวัตกรรม’ เข้ามาเป็นตัวช่วยให้ธุรกิจเติบโต และอยู่รอดท่ามกลางการแข่งขัน เพิ่มขีดความสามารถด้านการพัฒนาสินค้า…
pin
187 | 22/04/2024
จากธุรกิจนำเข้า สู่เจ้าของกรรมสิทธิ์อุปกรณ์ ‘ตู้บริการสื่อสารเอนกประสงค์’ กล่องสมองกลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจร

จากธุรกิจนำเข้า สู่เจ้าของกรรมสิทธิ์อุปกรณ์ ‘ตู้บริการสื่อสารเอนกประสงค์’ กล่องสมองกลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจร

Bangkok Bank SME จะพาไปทำความรู้จักกับธุรกิจในกลุ่มบริษัทโทรคมนาคม (Telco) ที่เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะรู้ว่ารูปแบบของการดำเนินงาน มีภาพรวมของรายละเอียดอย่างไร…
pin
806 | 17/04/2024
‘โคแพค’ มองเห็นโอกาส วาง Positioning ในสมรภูมิที่ได้เปรียบ สู่โรงพิมพ์คุณภาพระดับพรีเมียม มัดใจลูกค้าญี่ปุ่น