‘Carbon Tax’ กฎกติกาการค้าโลกใหม่ ส่งออกไทยเตรียมรับมืออย่างไร? สู่เป้าหมายความยั่งยืนด้วย ESG

ESG
29/05/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 13817 คน
‘Carbon Tax’ กฎกติกาการค้าโลกใหม่ ส่งออกไทยเตรียมรับมืออย่างไร? สู่เป้าหมายความยั่งยืนด้วย ESG
banner
ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการค้าโลก จึงมีการเรียกเก็บภาษีคาร์บอนข้ามแดน (Carbon Border Tax) ที่จะเรียกเก็บภาษีจากสินค้านำเข้าที่ไม่ปฏิบัติตามเป้าหมายสภาพภูมิอากาศระหว่างประเทศ โดยเห็นว่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศอย่างเดียวจะไร้ประโยชน์

หากยังมีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศที่ไม่มีการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อีกทั้งยังเรียกร้องให้มีการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันระหว่างสินค้าที่ผลิตในประเทศที่ต้องทำตามเงื่อนไขเกี่ยวกับก๊าซเรือนกระจกที่เข้มงวดกับสินค้านำเข้าที่ไม่มีการควบคุมตามข้อตกลงระหว่างประเทศ 

Carbon Border Tax คืออะไร? ทำไมธุรกิจไทยต้องตื่นตัว

Carbon Border Tax หรือภาษีคาร์บอนข้ามแดนเป็นภาษีที่ใช้หลักของ Border Adjustment ซึ่งมักรู้จักกันในหลายชื่อ อาทิ Border Tax Adjustments หรือ Border Tax Assessments ซึ่งเป็นภาษีนำเข้าที่เรียกเก็บจากสินค้าที่ผลิตโดยประเทศที่ไม่มีการเก็บภาษีคาร์บอน เพื่อปกป้องผู้ผลิตในประเทศที่มีการเก็บภาษีคาร์บอนจากประเทศที่ไม่มีมาตรการทางภาษีเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ซึ่งส่วนใหญ่ภาษีดังกล่าวมักกำหนดใช้โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานแบบเข้มข้น โดยจะนำร่องสินค้าที่มีกระบวนการผลิตที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนหรือก๊าซเรือนกระจกสูง 

ยกตัวอย่าง ประเทศในอาเซียนใกล้ๆ บ้านเราอย่าง ประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการกำหนดราคาซื้อขายคาร์บอน และได้ดำเนินการเก็บภาษีคาร์บอนเพื่อกระตุ้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาตั้งแต่ปี 2019 และมีแผนที่จะขึ้นภาษีคาร์บอนในอนาคต โดยจะปรับตัวเลขเป็น 45 ดอลลาร์สิงคโปร์ในปี 2026 และ 2027 และขึ้นเป็น 50 ดอลลาร์สิงคโปร์ถึง 80 ดอลลาร์สิงคโปร์ภายในปี 2030 

ขณะที่การเก็บภาษีคาร์บอนของสิงคโปร์ในปัจจุบันได้บังคับใช้กับโรงงาน อุตสาหกรรม ธุรกิจทั้งหมดทุกประเภทที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณ 25,000 ตันต่อปีขึ้นไป ซึ่งจะครอบคลุมถึงผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ 30 - 40 รายในประเทศสิงคโปร์ อาทิ โรงกลั่นน้ำมันและโรงไฟฟ้า ซึ่งปล่อยปริมาณก๊าซเรือนกระจกมากถึง 80% ของปริมาณการปล่อยก๊าซทั้งหมดของประเทศ ซึ่งถือเป็นการตื่นตัวและมีความพร้อมในการเตรียมรับมือของสิงคโปร์ในกฎกติการการค้าโลกยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี 

ผู้ประกอบการไทย ปรับอย่างไร? สหัฐฯ - อียู เก็บภาษีสิ่งแวดล้อม

ขณะที่ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ อย่าง สหรัฐอเมริกา เองก็เตรียมออกมาตรการลักษณะเดียวกันนี้เช่นกัน อาทิ เดือนกรกฎาคม เสนอร่างกฎหมาย Fair, Affordable, Innovative and Resilient Transition and Competition Act (Fair Transition and Competition Act) ที่กำหนดให้เก็บ Carbon Border Tax สำหรับสินค้านำเข้าจากทุกประเทศ โดยสินค้าเป้าหมาย คือ ปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และสินค้าที่มีกระบวนการผลิตเป็น Carbon-Incentive เช่น อะลูมิเนียม เหล็ก ซีเมนต์ และอาจจะเพิ่มรายการสินค้าอีกในอนาคต

ซึ่งจะเป็นต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในรูปของ Carbon Emissions Tax ที่มีการเรียกเก็บทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้ธุรกิจสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะถูกนำมาใช้ในปี 2567 เนื่องจากสหรัฐอเมริกาเป็นหนึ่งในคู่ค้าหลักของ EU 

นอกจากนี้ยังมีกฎหมายเกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อม หรือ American Innovation and Manufacturing Act of 2020 เพื่อลดระดับการผลิตและการใช้สารไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCs) ซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจก ให้ลดลง 85% ภายใน 15 ปี ตามนโยบายของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ล่าสุด ได้เสนอให้มีการยกร่างกฎหมาย Rewording Efforts to Decrease Unrecycled Contaminants in Environments (REDUCE) เพื่อเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตเม็ดพลาสติกใหม่ (Virgin Plastic Reisins) จากโรงงานผู้ผลิตและผู้นำเข้าในอัตราเพิ่มขึ้น

เบื้องต้นจะเริ่มการบังคับใช้ในปี 2565 อัตราภาษีจะอยู่ที่ 10 เซนต์ต่อปอนด์ และทยอยเพิ่มขึ้นแบบเป็นขั้นบันไดเป็น 15 เซ็นต์ต่อปอนด์ ในปี 2566 และ 20 เซ็นต์ต่อปอนด์ ในปี 2567 ซึ่งจะส่งผลกระทบกับสินค้าพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ทั้งบรรจุภัณฑ์พลาสติก บรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม และบรรจุภัณฑ์อาหาร

ทั้งนี้ แผนงานดังกล่าวจุดประกายให้ทั่วโลกหันมาใช้มาตรการใกล้เคียงกัน จึงเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการและ SME ไทย ต้องเตรียมรับมือในตลาดอื่นๆ รวมถึงอาจมีการขยายขอบข่ายไปยังสินค้าอื่นที่ส่งผลต่อไทยมากขึ้น อาทิ สินค้าพลาสติกและวัตถุดิบในการผลิตพลาสติก เริ่มถูกจำกัดการใช้งาน โดยเริ่มจากสินค้าบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use Plastics: SUPs) ผู้ประกอบการไทยที่ใช้แพ็กเกจจิ้งเป็นพลาสติกควรต้องหันไปใช้วัสดุอื่นทดแทน

โดย EU เริ่มใช้มาตรการห้ามใช้ SUPs มาตั้งแต่ 3 กรกฎาคม 2564 ประกอบด้วยพลาสติก 10 รายการ คือ ก้านสำลีเช็ดหู, ช้อน/ส้อม/มีด/จาน/หลอด, ลูกโป่งและไม้เสียบลูกโป่ง, ภาชนะใส่อาหาร, ถ้วยเครื่องดื่ม, ภาชนะบรรจุเครื่องดื่ม, ก้นบุหรี่, ถุงพลาสติก, แพ็กเก็จและที่ห่อ, ทิชชูเปียกและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัย
    
ล่าสุดประเทศฝรั่งเศสออกมาตรการแบนการใช้ถุงพลาสติกในผักผลไม้แล้ว โดยเริ่มบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2022 ขณะที่ประเทศสวีเดนได้วางระบบการคัดแยกขยะ และนำขยะแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้า รวมถึงหลายๆ ประเทศในยุโรปที่มีการวางระบบมัดจำถุงพลาสติกในร้านค้า เช่น เยอรมนี หรืออังกฤษ มีการเก็บค่าธรรมเนียมถุงพลาสติกด้วยเช่นกัน

ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการได้เริ่มทยอยปรับตัวโดยมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อใช้บรรจุภัณฑ์ เช่น การใช้ฟิล์มหด (Shrink Label) ที่ผลิตจากพลาสติก PET มาใช้ เพื่อให้สามารถนำวัสดุนี้ไปรีไซเคิลได้ นอกจากนี้ก็มีการปรับใช้บรรจุภัณฑ์จากไบโอพลาสติกหลายประเภท เช่น พลาสติกชีวภาพจากพืช (PLA) ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากวัสดุโพลีโพรไพลีน (PP) ชนิดหมุนเวียน เป็นต้น

สะท้อนให้เห็นว่า หากไทยเร่งปรับตัวได้ทั้งในเรื่องการจัดหาวัตถุดิบและกระบวนการผลิตสินค้าเพื่อให้สอดรับเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมจะสร้างโอกาสทางการค้ามากขึ้นในอนาคต อย่างเช่น ปีนี้ตลาดสินค้า Sustainability ของสหรัฐอเมริกา มีรายงานของบริษัทวิจัย Nielsen คาดว่า ยอดขายสูงถึง 1.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ จะเห็นได้ว่าตลาดสินค้าใส่ใจสิ่งแวดล้อมกำลังมาแรงและเป็นกระแสที่ทั่วโลกให้ความสำคัญมากขึ้นอย่างแน่นอน

ขณะที่เครื่องมือสำคัญในการเก็บภาษีคาร์บอนจากสินค้านำเข้าก่อนข้ามพรมแดน อย่าง CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) เป็นแผนการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านภูมิอากาศ ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อลดภาวะโลกร้อนของสหภาพยุโรป เร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้การผลิตของผู้ประกอบการในสหภาพยุโรปมีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เสียเปรียบประเทศที่ผลิตสินค้าโดยไม่เสียภาษีคาร์บอน       

ด้วยเหตุนี้ EU จึงต้องการบังคับให้ผู้นำเข้าสินค้าจากนอก EU จะต้องซื้อ ‘ใบรับรองการปล่อยก๊าซคาร์บอน’ หรือ ‘CBAM Certificates’ ผ่านตลาดการค้าคาร์บอนภายในของ EU หรือ Emission Trading System (EU ETS) เพื่อเป็นการจ่ายค่าธรรมเนียม หรือ ‘ค่าปรับ’ ตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้านำเข้าบางประเภทที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ในราคาหน่วยยูโรต่อการปล่อยก๊าซ 1 ตันตามราคาเฉลี่ยที่มีการคำนวณตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ โดยจะมีผลบังคับใช้ในปี 2566 และจะบังคับใช้เต็มรูปแบบและขยายรายการสินค้าที่ครอบคลุมมากขึ้นในปี 2569 เป็นต้นไป



ดังนั้นผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าของไทยไป EU จะต้องปรับการผลิตสินค้าเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือมีค่าใช้จ่ายสำหรับขอใบรับรองการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งคาดว่าอียูจะบังคับใช้ต้นปี 2566 จากมาตรการดังกล่าวประกอบกับบริษัทแม่ในต่างประเทศที่ประกาศเป้าหมาย Net Zero จึงผลักดันให้บริษัทในไทยที่เป็น Supply Chain เริ่มหาพลังงานหมุนเวียน (RE) 100% เพื่อการผลิตสินค้ามากขึ้น



หลายประเทศเริ่มใช้มาตรการเก็บภาษีคาร์บอนแล้ว

ทั้งนี้การออกมาตรการทางการค้าดังกล่าว อาจกลายเป็นเครื่องมือในการกีดกันการค้าได้ หากผู้ประกอบการและ SME ในภาคการผลิตและส่งออกของไทยไม่สามารถปฏิบัติได้ตามระเบียบกฎเกณฑ์ที่เขากำหนด

ดังนั้นสิ่งที่ภาคธุรกิจไทยต้องเร่งปรับตัวนับจากนี้คือ การเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ของประเทศคู่ค้าที่ขณะนี้สหภาพยุโรป (อียู) เป็นผู้นำร่องบังคับใช้แล้ว ได้แก่

- ประเทศสวีเดน 137 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2) เก็บภาษีคาร์บอนสูงสุดของโลก 
- ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เก็บ 101 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันCO2 
- ประเทศฝรั่งเศส 52 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันCO2 
- ประเทศญี่ปุ่น 3 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน CO2 (เก็บจากพลังงานฟอสซิลทั้งหมด) 
- ประเทศสิงคโปร์เก็บ 4 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันCO2 (เก็บจากอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานฟอสซิล) 
- ประเทศแอฟริกาใต้ 9 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันCO2 (เก็บจากอุตสาหกรรม ขนส่ง อาคารที่ใช้พลังงานฟอสซิล) 
 
กติกาโลกใหม่ มุ่งสู่การทำธุรกิจ Low Carbon มากขึ้น

นอกจาก CBAM ที่เป็นมาตรการที่บังคับให้การผลิตสินค้าต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีมาตรการลดโลกร้อนที่มีผลเชื่อมโยมกับการค้าระหว่างประเทศในลักษณะคล้ายๆ กันออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Carbon Footprint คือปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากการผลิต

โดยยุโรปจะให้ความสำคัญกับสินค้าติดฉลากคาร์บอน หรือฉลากโลกร้อนเพื่อเป็นการแสดงถึงการประเมินคาร์บอนและช่วยลดโลกร้อนมากขึ้น นอกจากข้างต้นแล้ว ยังมีมาตรการเกี่ยวกับการลดโลกร้อนและรักษาสิ่งแวดล้อมตามมาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Europe Green Deal (แผนปฏิรูปสีเขียวของยุโรป), Cap and Trade (การซื้อขายคาร์บอน)ใน ยุโรป, US Green New Deal (GND) หรือข้อตกลงสีเขียวของสหรัฐฯ ที่จะส่งผลกระทบกับสินค้าที่เราค้าขายหรือส่งออกไปยุโรปและสหรัฐอเมริกา ต้องปรับตัว  

ขณะเดียวกันยังมีโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและกำลังเป็นนโยบายหลักของประเทศทั่วโลกอย่าง BCG Economy (Bio – Circular  -Green Economy) หรือเศรษฐกิจชีวภาพ – เศรษฐกิจหมุนเวียน - เศรษฐกิจสีเขียว) ESG (Environment-Social-Governance) เป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน

โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบ 3 ด้านหลักคือสิ่งแวดล้อม สังคมและ การกำกับดูแล ซึ่งได้รับความนิยมจากนักลงทุนทั่วโลก เพราะการลงทุนอย่างยั่งยืนจะได้รับผลตอบแทนที่ดีทั้งจากภายในและภายนอกองค์กร สะท้อนให้เห็นว่าโลกการค้ายุคใหม่กำลังจะเปลี่ยนผ่านไปสู่การทำธุรกิจ คาร์บอนต่ำ (Low Carbon) เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่จะนำไปสู่การลดภาวะโลกร้อนอย่างยั่งยืนนั่นเอง



‘Carbon Tax’ มาตรการลดโลกร้อน ที่ SME ไทย ต้องเตรียมรับมือ

ข้อมูลจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือ TGO เมื่อเดือนธันวาคม 2564 ระบุว่ามีผู้ประกอบการไทยผ่านการรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ หรือฉลากลดโลกร้อนเพื่อรับมือกับกฎกติกาดังกล่าวของประเทศคู่ค้า 702 บริษัท รวม 5,030 ผลิตภัณฑ์ 3 อันดับแรกอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม, อุตสาหกรรม ปิโตรเลียม ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ และก่อสร้าง
  
ผู้อำนวยการ TGO กล่าวถึงแนวทางการเตรียมรับมือของภาคธุรกิจไทยต่อเรื่องดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า การสร้างตลาดคาร์บอนจะมีส่วนช่วยภาคธุรกิจ ในการปรับตัวสู่การลด ละ เลิก การปล่อยคาร์บอนหรือก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม เนื่องจากในกระบวนการผลิตของธุรกิจต่างๆ จะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมา เรียกว่าสร้างคาร์บอน ฟุตพริ้นท์ให้เกิดขึ้น

กิจการไหนที่ปล่อยมากก็จะมีค่าคาร์บอน ฟุตพริ้นท์สูง ขณะที่กิจกรรมที่ทำแล้วลดการปล่อยคาร์บอน เรียกว่ามีคาร์บอนเครดิต หากนำมาหักลบกันแล้วมีส่วนเหลือสามารถนำไปซื้อขายแลกเปลี่ยนกันได้ ทำให้เกิดตลาดคาร์บอน (Carbon Trading System) ขึ้น
 
ทั้งนี้ TGO ได้ส่งเสริม 222 โครงการ ให้สามารถไปขอคาร์บอนเครดิตในตลาดคาร์บอนโลก โดยวันนี้เราได้พัฒนามาตรฐานการวัดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่เป็นมาตรฐานสากล และต้องศึกษาและพัฒนาการวัดเทียบเกณฑ์ใหม่ๆ ที่แต่ละประเทศในเรื่องคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เช่น CBAM ของสหภาพยุโรป

เพื่อใช้ตรวจวัดกับธุรกิจไทย ถ้าเราจัดเก็บภาษีส่วนนี้ไว้เองแล้ว เมื่อจะส่งไปขายในอียูไม่ต้องเสียภาษีซ้ำอีก ดังนั้น ต่อไปภาคธุรกิจต้องลดการปล่อยคาร์บอนทั้งหมด อยู่ที่ว่าใครจะทำได้ในต้นทุนที่ถูกกว่า ก็จะสามารถแข่งขันได้ดีกว่า อนาคตการแข่งขันในตลาดโลกต้องแข่งกันในเรื่องนี้



ผลกระทบ CBAM ต่อภาคธุรกิจไทย

คงปฏิเสธไม่ได้แล้วว่ามาตรการ CBAM จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจไทยในอนาคตอันใกล้นี้อย่างแน่นอน โดยรายงานจากสำนักงานที่ปรึกษาการศุลกากร ณ กรุงบรัสเซลส์ได้ประเมินผลกระทบไว้ดังนี้..

1. ราคาสินค้านำเข้าจากประเทศที่ไม่มีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่เทียบเท่ากับของ EU จะมีราคาสูงขึ้น ทำให้ปริมาณการนำเข้าสินค้าสู่ตลาด EU ลดลง

2. ผู้ประกอบการหรือผู้บริโภค EU จะหันมาใช้สินค้าที่ผลิตภายในมากขึ้น

3. สินค้าราคาถูกจากประเทศที่มีมาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่ต่ำกว่าถูกกีดกันทางอ้อมไม่ให้เข้าตลาด

โดยรายงานยังระบุถึงมาตรการเตรียมตัวของไทยด้วย เช่นในเรื่องฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint of Products) และฉลากลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint Reduction) รวมไปถึง โครงการนำร่องระบบซื้อขายสิทธิ์ในการปล่อยคาร์บอนด้วยความสมัครใจ (Voluntary Carbon Market)

ทั้งนี้ 4.3% ของมูลค่าการส่งออกไทยไปอียู หรือ 0.35% ของการส่งออกของไทยเป็นสินค้าที่เข้าข่าย CBAM ซึ่งมีแนวโน้มที่จะมีราคาสูงขึ้นเมื่อขายในอียู และมีความเสี่ยงที่ปริมาณการส่งออกจะปรับลดลง แต่ผู้ประกอบการไทยยังสามารถแข่งขันได้

เนื่องจาก CBAM นั้นบังคับใช้กับประเทศคู่แข่งอื่นๆ ด้วย ดังนั้นหากผู้ประกอบการไทยสามารถผลิตสินค้าโดยปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ต่ำกว่าคู่แข่งก็มีโอกาสในการแข่งขันสูงขึ้น ซึ่งต่อจากนี้ไปศักยภาพในการควบคุมการปล่อยก๊าซฯ จะกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดความสามารถในการแข่งขันในตลาดอียูอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
 
โดยเฉพาะภาคการเกษตรของไทยมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ สูงมาก ซึ่งผู้ประกอบการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไทยส่วนใหญ่เป็น SME ถึง 94% ดังนั้นภาคธุรกิจเกษตรและอาหารของไทยต้องตื่นตัวเรื่อง Net Zero ให้มาก เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคทั่วโลกหันมาให้ความสําคัญมากขึ้นกับผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของอากาศ (Climate Change) ซึ่งหากมองเรื่องการเกษตรหลักของไทย การปลูกข้าวถือว่ามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในภาคเกษตรและอาหารไทย 

ซึ่งจากข้อมูลองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations : FAO) ระบุว่า แหล่งที่มาของก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรของโลกส่วนใหญ่ 39% มาจากก๊าซมีเทนในสาขาปศุสัตว์ รองลงมา คือ การใช้ปุ๋ย 13% และนาข้าว 10%

ขณะที่ภาคการเกษตรของไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับ 9 ของเอเชีย และสูงเป็นอันดับ 3 ของอาเซียนรองจาก อินโดนีเซีย และเมียนมา ที่น่าเป็นห่วงคือสูงกว่าเวียดนามที่เป็นคู่แข่งสําคัญในการส่งออกข้าว และปศุสัตว์ของไทย 

สะท้อนให้เห็นว่า หากผู้ประกอบการและ SME ไทยต้องการส่งสินค้าทางการเกษตรไปขายในตลาดโลก กระบวนการผลิตสินค้าทางการเกษตรควรเร่งปรับตัวเป็นอันดับแรก เนื่องจากภาคเกษตรของไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับ 2 รองจากภาคพลังงาน

โดยในปี 2016 ภาคพลังงานปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด อยู่ที่ 254 ล้านตัน CO2eqหรือคิดเป็น 71% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทั้งหมด รองลงมา คือ ภาคการเกษตร ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่ 52 ล้านตัน CO2eq หรือคิดเป็น 15%  ดังนั้นผู้ประกอบการไทยอาจจําเป็นต้องลงทุนเพิ่ม ทั้งในด้านการส่งเสริมการผลิตอาหารจากพืช และระบบการจัดการปศุสัตว์ โดยการลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตรมากขึ้น

ที่น่าเป็นห่วงคือผู้ประกอบการเกษตรและอาหารไทยยังเข้าร่วมโครงการลดการปล่อยก๊าซค่อนข้างน้อย โดยข้อมูลจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การ มหาชน) หรือ อบก. พบว่ามีเพียง 2 โครงการในหมวดเกษตรที่เข้าร่วมลงทะเบียน ภายใต้โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ซึ่งคิดเป็นปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เพียง 70 ตัน CO2eq ต่อปีเท่านั้น



SME ไทย ไม่ปรับตัวจะเป็นอย่างไร?

แม้เราจะทราบดีว่า CBAM มีหลักการอย่างไรและสินค้าใดบ้างที่เข้าเกณฑ์ ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามอาจมีผลดังนี้..

1. การวัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต หากไม่นำส่งข้อมูลอียูจะใช้ค่าเฉลี่ยของการผลิตสินค้าชนิดนั้นในประเทศต้นทาง หรือค่าเฉลี่ยของธุรกิจนั้นที่ปล่อยก๊าซฯ สูงที่สุดของอียูเป็นบรรทัดฐาน ซึ่งอาจส่งผลให้สินค้านั้นเผชิญภาษี CBAM ที่สูงกว่าที่ควรจะต้องจ่าย 

 2. การลดก๊าซเรือนกระจกด้วยต้นทุนต่อหน่วยที่ต่ำที่สุดจะเป็นหัวใจสำคัญของการแข่งขันในอนาคต แต่ต้นทุนการปรับกระบวนการผลิตและการติดตั้งระบบการวัดปริมาณก๊าซฯ อาจเป็นอุปสรรคสำคัญต่อธุรกิจ SME

3. เสียโอกาสในการแข่งขันในตลาดการค้าโลก เนื่องจากผู้บริโภคหันมาบริโภคสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยมองถึงที่มาของกระบวนการผลิตสินค้าที่ไม่ส่งผลกระทบต่อโลก

4. ผลกระทบที่จะเกิดกับผู้ประกอบการและ SME  ไทย หากยังไม่ตระหนักและเร่งปรับตัวในเรื่องนี้ จะทำให้เข้าถึงแหล่งทุนยากขึ้น เพราะสถาบันการเงินจะนำมาเป็นเกณฑ์การพิจารณาการให้สินเชื่อในการนำไปปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีในการผลิต การส่งออก ไปยุโรปและสหรัฐอเมริกาจะมีความยากลำบากมากขึ้น หากไทยไม่ปรับตัวตามกฎกติกาที่กำหนดไว้

ขณะที่ประเทศไทยมีเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2065 ดังนั้นเพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถตัดสินใจลงทุนปรับกระบวนการผลิตด้วยต้นทุนที่แข่งขันได้ ภาครัฐจึงควรเข้ามามีบทบาทสนับสนุนในหลายมิติ อาทิ การหาเทคโนโลยีการลดก๊าซฯ ที่ดีและมีราคาถูกเข้ามาในประเทศ

การจัดหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำหรือ สินเชื่อธุรกิจสีเขียวที่สนับสนุนเงินลงทุนเพื่อลดต้นทุนในการปรับกระบวนการผลิตของภาคธุรกิจ ยกตัวอย่างเช่น ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีนโยบายสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำมากให้แก่สถาบันการเงินเพื่อนำไปปล่อยกู้ในลักษณะที่เชื่อมโยงกับนโยบายการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เป็นต้น
      
หนึ่งในธุรกิจ SME ที่ปรับตัวสู่ธุรกิจ Low Carbon ได้เป็นอย่างดี

บริษัท ยูเนี่ยนราชบุรี จำกัด สะท้อนมุมมองในเรื่องมาตรการเก็บภาษีคาร์บอนสินค้าข้ามแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ได้อย่างชัดเจน  เมื่อธุรกิจเริ่มมีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยไปสหภาพยุโรปและอเมริกา โดยจะมีการคุมเข้มจากคู่ค้าในกระบวนการผลิตที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย เช่น กระบวนการผลิตปล่อยของเสียเท่าไหร่ แพ็กเกจจิ้งย่อยสลายหรือนำมา Recycle ได้หรือไม่

แม้กระทั้งรถที่ใช้ขนส่งสินค้าไปถึงมือลูกค้าปล่อยคาร์บอนไปเท่าไหร่ อย่างนี้เป็นต้น นั่นหมายความว่า SME ที่ไม่เริ่มปรับตัวนับจากนี้อาจประสบปัญหาการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ หรือรับจ้างผลิตสินค้า (OEM) ให้กับคู่ค้าในต่างประเทศอย่างแน่นอน

ผู้บริหาร ยูเนี่ยนราชบุรี ยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า ลูกค้าในฝั่งยุโรปต้องการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์เป็นกระดาษและพิมพ์ตราอักษรเป็นสีดำทั้งหมด เพื่อป้องกันปัญหาการเรียกเก็บภาษีคาร์บอน (Tax Border Carbon) ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการและ SME ต้องเริ่มปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต โดยเฉพาะ แพ็กเกจจิ้ง ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ควรเริ่มปรับเปลี่ยนก่อนเป็นสิ่งแรก

ดังนั้นการส่งออกไปตลาดยุโรปสิ่งสำคัญคือการผลิตสินค้าต้องไม่กระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งตลาดสหรัฐอเมริกาก็เริ่มใช้กฎหมายข้อบังคับดังกล่าวในการพิจารณาเก็บภาษีคาร์บอน (Tax Border Carbon) นำเข้าสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเช่นกัน เรื่องนี้สำคัญมากหาก SME ไม่เร่งปรับตัว อาจทำให้เสีย Market Share ของตัวเองไปอย่างน่าเสียดาย

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การใช้มาตรการ CBAM ของ EU และสหรัฐอเมริกา จะส่งผลต่อการส่งออกไทยเพียง 0.9% ของการส่งออกไทยไปตลาดโลก แต่ผู้ประกอบการและ SME ไทยควรตื่นตัวและเร่งปรับตัวสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานสะอาดมากขึ้น

เพราะหากนานาประเทศหันมาใช้มาตรการแบบเดียวกัน สินค้าไทยจะต้องเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งในระยะต่อไป หากมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมขยายขอบเขตไปยังสินค้าอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร สินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม ก็จะยิ่งเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของไทย ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงจำเป็นต้องเริ่มปรับกระบวนการผลิตโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยคาร์บอน และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ เพื่อให้สินค้าไทยตอบโจทย์ความต้องการตามกระแส ESG 


ที่มา : TGO | องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
https://www.bangkokbiznews.com/columnist/988709

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

Green Hotel (โรงแรมสีเขียว) ปรับตัวอย่างไร? ให้อยู่รอด พร้อมตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

Green Hotel (โรงแรมสีเขียว) ปรับตัวอย่างไร? ให้อยู่รอด พร้อมตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

ถึงวันหยุดพักผ่อนกันยาว ๆ อีกแล้ว สำหรับช่วงเทศกาลมหาสงกรานต์ หลายคนวางแผนไปท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้จากการไปพักโรงแรม หรือรีสอร์ท…
pin
2043 | 14/04/2024
ผ่าแนวคิด ‘อุตสาหกรรมยานยนต์-อากาศยานรักษ์โลก’ ปรับตัวสู่เส้นทาง Net Zero ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร?

ผ่าแนวคิด ‘อุตสาหกรรมยานยนต์-อากาศยานรักษ์โลก’ ปรับตัวสู่เส้นทาง Net Zero ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร?

ปัจจุบันมีการผลักดัน และพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในทุกมิติ จึงก้าวหน้าขึ้นทุกวัน ส่งผลให้ยานยนต์ทุกประเภทต่างมุ่งหน้าสู่เส้นทางพลังงานสะอาด รวมไปถึง…
pin
3801 | 30/03/2024
ส่อง 5 นวัตกรรม ESG สุดว้าว! ทั่วโลกเขาเปลี่ยนขยะเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลก (Green Product) อะไรกันบ้าง

ส่อง 5 นวัตกรรม ESG สุดว้าว! ทั่วโลกเขาเปลี่ยนขยะเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลก (Green Product) อะไรกันบ้าง

หลายปีที่ผ่านมา โลกได้พัฒนาก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว มีผลิตภัณฑ์มากมายที่พัฒนาขึ้นมาจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่สร้างความสะดวกสบายให้ผู้บริโภค…
pin
3428 | 18/03/2024
‘Carbon Tax’ กฎกติกาการค้าโลกใหม่ ส่งออกไทยเตรียมรับมืออย่างไร? สู่เป้าหมายความยั่งยืนด้วย ESG