เชียงใหม่เฟรชมิลค์ ชูนวัตกรรมพร้อมสร้างต้นแบบ Green Farm ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

SME in Focus
14/09/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 4186 คน
เชียงใหม่เฟรชมิลค์ ชูนวัตกรรมพร้อมสร้างต้นแบบ Green Farm ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
banner
มองเป็นเห็นโอกาส Bangkok Bank SME ขอพาไปเจาะลึกแนวคิดการทำธุรกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืนและส่งคืนคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชุมชน ของ บริษัท เชียงใหม่เฟรชมิลค์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมรายใหญ่ของภาคเหนือ ที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ทั้งการทำตลาดในประเทศ รวมถึงการส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

ซึ่งได้รับการยอมรับเรื่องคุณภาพที่ดีและใส่ใจในทุกขั้นตอนการผลิตสินค้าเพื่อให้ลูกค้าได้สิ่งที่ดีที่สุด จะมีประเด็นใดที่น่าสนใจ เหมาะสำหรับเป็นกรณีศึกษาให้กับผู้ประกอบการและ SME ได้เรียนรู้นำไปประยุกต์ปรับใช้ในองค์กรได้บ้าง ติดตามอ่านบทสัมภาษณ์นี้กันได้เลย



‘เชียงใหม่เฟรชมิลค์’ ปักธงฟาร์มโคนมท้องถิ่นภาคเหนือ

คุณวีรพล ยศศักดา หรือ คุณตุ๊ก กรรมการบริหารและผู้จัดการทั่วไป บริษัท เชียงใหม่เฟรชมิลค์ จำกัด เปิดเผยถึงจุดเริ่มต้นธุรกิจว่า ธุรกิจนี้มีขึ้นตั้งแต่ปี 2535 โดย ดร.บัลลพ์กุล ทิพย์เนตร ประธานกรรมการบริหาร และคุณดาราวรรณ ทิพย์เนตร รองประธษนกรรมการบริหาร บริษัทเชียงใหม่เฟรชมิลค์ จำกัด ได้เริ่มก่อร่างสร้างโรงงานเล็ก ๆ เพื่อรับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรในจังหวัดเชียงใหม่ โดยปริมาณที่รับซื้อขณะนั้นอยู่ที่ประมาณ 2 ตันต่อวัน

ช่วงแรกเริ่ม ใช้การผลิตด้วยการต้มน้ำนมที่รับซื้อจากเกษตรกรในหม้อต้ม เพื่อเป็นการพาสเจอร์ไรส์ แม้จะเป็นโรงงานที่เพิ่งเริ่มต้น แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการทำธุรกิจที่มาถูกทางในระดับหนึ่ง การดำเนินงานเป็นไปด้วยดีจนมาถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่ทำให้บริษัท เชียงใหม่เฟรชมิลค์ เริ่มขยับขยายธุรกิจแบบก้าวกระโดดในปี พ.ศ. 2540 จากการที่บริษัทได้เข้าร่วมโครงการ นมโรงเรียน

ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลในการแก้ปัญหาการขาดสารอาหารในเด็กวัยเรียน และสนับสนุนอุตสาหกรรมโคนมไทยจากเกษตรกรในประเทศ โดยทางบริษัทได้เข้าร่วมในโครงการนมโรงเรียนในรูปแบบของนมพาสเจอร์ไรส์ จัดส่งนมให้กับ 3 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วย สันป่าตอง จอมทอง และฮอด คิดเป็นสัดส่วนยอดขายอยู่ 70-80% ของภาพรวมรายได้ที่มีกว่า 1 พันล้านบาท 



ธุรกิจโรงงาน เติบโตอย่างแข็งแกร่ง พร้อมเสริมทัพด้วย “ฟาร์มโคนม”

การเติบโตจากที่กล่าวมา นำมาสู่การขยายธุรกิจเพิ่มเติม โดยเชียงใหม่เฟรชมิลค์ มีการสร้างอาคารสำหรับผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ขึ้นในปี 2544 เพื่อรองรับกำลังการผลิตที่ขยายตัว อีกทั้งมีการเพิ่มไลน์การผลิตและติดตั้งเครื่องบรรจุนม UHT ในปี 2546 ปัจจุบันโรงงานแห่งนี้สามารถบรรจุได้ทั้งนมพาสเจอร์ไรส์และ UHT

จากนั้นในปี 2550 ทางผู้บริหารได้เล็งเห็นว่าเมื่อประสบความสำเร็จทางธุรกิจ ควรมีการให้ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงโคนมแก่กลุ่มเกษตรกรที่ส่งน้ำนมดิบมาให้ทางโรงงาน ประกอบกับทางโรงงานมีพื้นที่แปลงหนึ่งเล็ก ๆ ว่างอยู่ จึงได้ทำโรงเลี้ยงโคนมแห่งแรก เริ่มจากนำวัวพันธุ์นมจำนวน 10-20 ตัว มาศึกษาข้อมูล พัฒนาการเลี้ยงอย่างถูกวิธี ซึ่งนั่นทำให้เกิด Know-How สูตรสำเร็จที่พร้อมส่งต่อความรู้ไปยังเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ปรับเปลี่ยนวิถีจากเดิมที่เป็นการเลี้ยงแบบรุ่นสู่รุ่น มาเป็นการถ่ายทอดข้อมูลใหม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น 



หลังจากทดลองเลี้ยงโคนมในฟาร์มประมาณ 2 ปี เชียงใหม่เฟรชมิลค์ จึงเริ่มมีการขยายธุรกิจฟาร์มโคนมภายใต้ชื่อ เชียงใหม่เฟรชมิลค์ฟาร์ม (CHIANG MAI FRESHMILK FARM) ที่อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 200 ไร่  และเริ่มมีการทำธุรกิจฟาร์มโคนมอย่างเต็มรูปแบบในปี 2553 เพื่อจุดหมายในการเพิ่มปริมาณการเลี้ยงโคนมมากขึ้น ปัจจุบันที่ฟาร์มแห่งใหม่ มีโคนมกว่า 2,000 ตัว

ความโดดเด่นที่น่าสนใจ คือการใช้หลักการบริหารจัดการในลักษณะของฟาร์ม Zero Waste หรือการลดปริมาณขยะให้เหลือน้อยที่สุด หรือไม่สร้างขยะเลย (0%)  รวมถึงหันมาการใช้ ไบโอแก๊ส (Biogas) ซึ่งเป็นแก๊สที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ จากการย่อยสลายสารอินทรีย์และมีการปรับปรุงก๊าซชีวภาพ เพื่อผลิตก๊าซไบโอมีเทนอัด (CBG) เพื่อเป็นเชื้อเพลิงหมุนเวียนสำหรับใช้งานในฟาร์ม 



‘Sustainable Organization’ ปั้นองค์กรที่ยั่งยืน

หลักในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน สำหรับผู้ประกอบการ ได้แก่การสร้างความสมดุล 3 ปัจจัยสำคัญ ประกอบด้วย เศรษฐกิจ (Economy) สังคม (Sociality) และ สิ่งแวดล้อม(Environmental) เชียงใหม่เฟรชมิลค์ฟาร์ม จึงยึดแนวทางการสร้าง Green Farm ผ่าน 3 ปัจจัยและให้ความสำคัญกับระบบการจัดการฟาร์มที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

คุณวีรพล เผยว่า “ฟาร์มเชียงใหม่เฟรชมิลค์ ถือเป็น Green Farm ที่มีการจัดการฟาร์มที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศครบวงจร โดยเราวางระบบหมุนเวียนเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด เช่น นำมูลโคทั้งหมดภายในโรงเรือน มาผลิตก๊าซชีวภาพ หรือ Biogas และ ก๊าซไบโอมีเทนอัด หรือ CBG ที่มีคุณสมบัติเทียบเท่าก๊าซธรรมชาติ สำหรับใช้เป็นพลังงานในรถยนต์ เครื่องจักรการเกษตร และปั่นไฟฟ้าใช้ภายในฟาร์ม ส่วนกากตะกอนที่ได้สามารถนำไปผลิตปุ๋ยอัดเม็ดอีกด้วย 



‘นวัตกรรม’ ต่อยอดมูลค่า-เพิ่มคุณภาพน้ำนม

จากจุดเริ่มต้นของการทำฟาร์มเล็ก ๆ ที่เลี้ยงโคนม 20-30 ตัวในช่วงแรก พร้อมการศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการดูงานในต่างประเทศเพื่อเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีการทำฟาร์มโคนม เช่น นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย รวมถึงประเทศในแถบยุโรป และนำมาปรับปรุงการใช้งานให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมของประเทศไทย โดยได้ใช้การออกแบบตามหลักวิศวกรรมมีชายคาสูง 4 เมตร ติดตั้งพัดลมระบายอากาศเพื่อให้มีลมเข้าออก

พร้อมทั้งมีการออกแบบซองนอนพร้อมเบาะรองนอนที่ทำจากยางพาราแบบแผ่น เพื่อให้วัวนอนพักผ่อนและหลับอย่างสบาย และระบบ Happy Cow ซึ่งเป็นเครื่องนวดสร้างความผ่อนคลายให้กับวัวและช่วยทำความสะอาดวัวนม ทำให้ไม่มีสิ่งสกปรกไปตกค้างที่เต้าของวัว

นอกจากนี้ ยังมีการนำระบบรีดอัตโนมัติที่ทันสมัย ซึ่งเป็นระบบปิดอัตโนมัติแบบพาราเรล สามารถรีดนมวัวได้พร้อมกันถึงครั้งละ 64 ตัว ใช้เวลารีดนมเพียง 10-15 นาที รวมทั้งยังใช้เทคโนโลยีอย่าง ชิป (chip)  ฝังไว้ที่วัว เพื่อทราบปริมาณน้ำนมวัวแต่ละตัวรวมถึงบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ทำให้รู้ว่าวัวตัวไหนเกิดปัญหาเช่นให้นมน้อยลง สัตวบาลก็จะหาสาเหตุได้จากข้อมูลที่บันทึกไว้ เป็นต้น

“เราเน้นเรื่องการใช้นวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อนำมาต่อยอดและประยุกต์ใช้ ซึ่งทำให้ได้รู้ว่าการเลี้ยงโคนมในประเทศที่บ้านเขาเป็นเมืองหนาว ส่วนใหญ่จึงเลี้ยงแบบระบบปิด ช่วงไหนที่อากาศอุ่นก็จะปล่อยวัวออกมากินหญ้าตามธรรมชาติ แต่ประเทศไทยเป็นเมืองร้อนต้องประยุกต์และปรับใช้บางอย่างเพื่อให้ได้น้ำนมที่มีคุณภาพมากที่สุด อาทิเช่น โรงเลี้ยงต้องออกแบบให้เป็นอาคารสูงเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก รวมถึงการวางทิศทางในการออกแบบต้องคำนึงถึงสภาพอากาศด้วย เช่นหากหันหน้าไปทางทิศตะวันออก แสงอาทิตย์จะผ่านอาคารเข้ามาทำให้วัวร้อน รวมถึงอากาศที่ไม่ถ่ายเทก็จะให้ผลผลิตที่ไม่ได้คุณภาพเพียงพอ การวางโครงสร้างของฟาร์มจึงต้องปรับให้ทุกเรื่องสอดคล้องกันได้ทั้งหมด”

ทั้งนี้ การให้ความสำคัญในทุก ๆ เรื่องรวมไปถึงพื้นที่ตั้งของฟาร์ม จึงเป็นเหตุผลที่เชียงใหม่เฟรชมิลค์ฟาร์ม สร้างขึ้นที่จังหวัดลำพูน ไม่ใช่เชียงใหม่เพราะเนื่องจากความสูงจากระดับน้ำทะเลที่ “ยิ่งสูง ยิ่งดี” ส่งผลต่อคุณภาพของผลผลิตที่ได้  



โจทย์ใหญ่ สร้าง Brand Royalty รักษาฐานลูกค้าได้ทุก GEN

จากการที่ เชียงใหม่เฟรชมิลค์ เข้าร่วมในโครงการนมโรงเรียน ซึ่งเป็นการสนับสนุนโดยรัฐบาลเพื่อให้เด็กได้ดื่มนมฟรีจนถึงระดับประถมศึกษาปีที่ 6 สิ่งที่ทางบริษัทต้องตีโจทย์ต่อ คือ ช่วงหลังจากนั้น จะทำอย่างไรให้เด็กที่จะกลายเป็นวัยมัธยมเหล่านั้นยังคงเป็นลูกค้าที่ทานนมที่เป็นผลิตภัณฑ์ของ บริษัทเชียงใหม่เฟรชมิลค์ ต่อไป จึงนำมาสู่การเพิ่มผลิตภัณฑ์ในกลุ่มแดรี่ออกมาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายมากขึ้น ได้แก่ผลิตภัณฑ์ เช่น ครีม เนย นมรสชาติต่างๆ

ซึ่งหนึ่งในไอเดียธุรกิจที่น่าสนใจ คือ แนวคิดที่ว่า เด็กที่ทานนมส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่อยู่ในท้องถิ่น ควรมีร้านที่มีผลิตภัณฑ์นมในพื้นที่ จึงได้เริ่มแตกไลน์ธุรกิจ สู่รูปแบบของคาเฟ่ เฟรชแอนด์มายด์ (Fresh&Mild) ซึ่งสาขาแรกเปิดที่คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โดย คุณวีรพลเผยว่า “ต้องมองให้ออกว่าก่อนที่เราจะเปิดร้านข้างนอก ลูกค้าส่วนใหญ่มองเราเป็นแบบไหน เห็นสินค้าเราเป็นยังไง ร้านแห่งแรกที่นี่ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นบุคลกรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่จะเลือกซื้อสินค้าดี ที่มีคุณภาพ ซึ่งถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายที่จะทำสินค้าให้เป็นที่ยอมรับ

จากผลตอบรับที่ผ่านมาถือว่าร้านของเราสอบผ่านในระดับที่ดี มีการบอกต่อและแนะนำกันในกลุ่มลูกค้าที่ซื้อสินค้าไป จากนั้น เราจึงเริ่มขยายสาขา เริ่มจากในบริเวณมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คือคณะพยาบาลศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ และศูนย์อาหาร เริ่มขยับเข้าไปในกลุ่มสถานศึกษา โดยเพิ่มสาขาในโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และยังได้เพิ่มหมวดหมู่สินค้าให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น” 



ชูจุดแข็ง “น้ำนมคุณภาพดี” เสริมแกร่งผลิตภัณฑ์ 

หลังสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย ทำให้บรรดาร้านอาหารและเครื่องดื่มกลับมาคึกคักมากขึ้น เชียงใหม่เฟรชมิลค์ มีจุดแข็งคือสามารถผลิตน้ำนมดิบที่มีคุณภาพ จึงต้องคิดแผนระยะต่อไปว่าจะทำอย่างไรให้ส่งต่อผลิตภัณฑ์ให้ลูกค้าเพื่อขยายฐานให้กว้างขึ้น

“โจทย์คือ หากจะเพิ่มผลิตภัณฑ์กลุ่มร้านกาแฟ ที่มีนมเป็นวัตถุดิบที่ใช้เป็นส่วนใหญ่เราก็จะมีการพัฒนาสูตรเหมือนบาริสต้าชง คือให้ตอบโจทย์ลูกค้า เช่นบางร้านที่มีเมนูลาเต้ จะใช้นมข้นหวาน หรือนมข้นจืด ส่วนของร้านเราจะใช้ผลิตภัณฑ์จากน้ำนมดิบ เพราะไขมันในนมมีส่วนสำคัญที่ทำให้รสชาติอร่อยขึ้น รวมถึงขณะนี้เรายังมีนมที่เป็นแลคโตสฟรี (Lactose free) เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับลูกค้าที่แพ้นมวัวอีกด้วย”

นอกจากนี้ เชียงใหม่เฟรชมิลค์ ยังได้เพิ่มกลยุทธ์จับมือคู่ค้าพันธมิตรเพื่อเพิ่มไลน์ผลิตภัณฑ์ และขยายช่องทางการขาย โดยอาศัยความเชี่ยวชาญด้านการผลิตนมที่เป็นส่วนประกอบในเมนูประเภทเบเกอรี่ เช่นร่วมกับแบรนด์ผึ้งน้อย ร้านเบเกอรี่ท้องถิ่นชื่อดังของเชียงใหม่ผลิตขนม หลังจากนั้นจะนำมาวางจำหน่ายในร้านคาเฟ่เฟรชแอนด์มายด์ ซึ่งเป็นแบรนด์ในเครือ เป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าอีกทางหนึ่ง

“นอกจากการจับมือคู่ค้า ล่าสุดเรากำลังเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ซึ่งเป็นนมอัดเม็ด ที่ใช้น้ำนมดิบสดจากเกษตรกรส่งเข้าโรงงาน สู่กระบวนการทำให้แห้ง จากนั้นก็ทำการอัดเม็ดในโรงงานพร้อมจำหน่าย ซึ่งต่างจากแบรนด์อื่นที่นำนมผงจากต่างประเทศมาผลิตซึ่งใช้เวลาขนส่งนานกว่า”



"นมคุณภาพสูงล้านนา" สร้าง Value Added

อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการยอมรับอย่างมากจากลูกค้าของเชียงใหม่เฟรชมิลค์ นั่นคือ "นมคุณภาพสูงล้านนา" ที่เน้นความพรีเมียม คุณภาพสูง เริ่มตั้งแต่การใส่ใจทุกกระบวนการตั้งแต่เชื้อจุลินทรีย์ในน้ำนมดิบต้องคัดเลือกอย่างพิถีพิถันก่อนนำเข้ามาในโรงงาน ซึ่งนมทั่วไปจะมีกำหนดปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ไม่เกินกว่า 500,000 ตัว แต่นมคุณภาพสูงล้านนาจะกำหนดว่าไม่เกิน 200,000 ตัว

ขณะที่น้ำนมดิบจากเกษตรกรจะอยู่ที่ไม่เกิน 90,000 ตัว เพื่อให้ได้รสชาติของนมดีขึ้น รวมทั้งการจัดเก็บจะเก็บได้นานกว่านมทั่วไป นอกจากนั้น ยังกำหนดปริมาณของไขมัน ซึ่งนมทั่วไปจะกำหนดให้ไม่เกิน 3.2 แต่ล้านนามิลค์จะต้องไม่เกิน 3.6  ด้วยมุมมองว่าทุกปัจจัยมีผลต่อรสชาติและคุณภาพ

เน้นออฟไลน์ พร้อมขยับช่องทางขายออนไลน์

“เราได้รับคำแนะนำจากกรมเจรจาการค้า กระทรวงพาณิชย์ โดยเริ่มนำสินค้าขายที่แพลตฟอร์มออนไลน์เช่นลาซาด้า, ช้อปปี้ เริ่มนำสินค้าไปจำหน่ายผ่านเพจเฟซบุ๊กด้วย ขณะที่ตลาดออฟไลน์ เราได้รับการสนับสนุนจากโมดิร์นเทรดท้องถิ่น อย่าง “ริมปิง” ที่เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตที่ผูกพันกับชาวเชียงใหม่มานาน รวมไปถึงร้านแจ่มฟ้าเซฟมาร์ท และล่าสุดยังจับมือกับทางเบทาโกรช้อป โดยนำสินค้าเข้าไปจำหน่าย

เฉพาะ Contact Farming ที่เป็นของเราเอง มีอยู่ประมาณ 200 กว่าฟาร์ม ส่วนที่เป็นเกษตรกรที่เรารับซื้อผ่านทางสหกรณ์การเกษตรมีประมาณ 700-800 ฟาร์ม รวมทั้งหมดประมาณพันกว่าฟาร์ม เรามองว่าการที่เรามีฟาร์มที่ได้การรับรองมาตรฐาน GAP ไม่ใช่แค่ฟาร์มเราเองแต่จะพยายามให้มาตรฐานขยับไปถึงกลุ่มสหกรณ์การเกษตรด้วยเพื่อเพิ่มมูลค่าให้สินค้า”

นอกจากนี้ ในปี 2556 บริษัทได้เริ่มส่งออกผลิตภัณฑ์นมไปยังประเทศเพื่อนบ้านในรูปแบบของ OEM โดยรับผลิตผลิตภัณฑ์นมให้กับประเทศเมียนมา ซึ่งใช้ชื่อแบรนด์ PEP  อีกด้วย



SME ต้องคืนกำไรให้สังคม

สินค้าโคนม นับเป็นหนึ่งในสินค้าเศรษฐกิจที่สำคัญ (Top 4) ของจังหวัดเชียงใหม่ การทำธุรกิจที่มีช่องทางการตลาดเปิดกว้าง ท่ามกลางคู่แข่งขันและก้าวสู่ความสำเร็จ ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยสิ่งที่ เชียงใหม่เฟรชมิลค์ ได้ให้ข้อคิดดี ๆ สำหรับ SME รุ่นใหม่ที่กำลังเผชิญความท้าทายในเวทีการค้าว่า วันหนึ่งเมื่อคุณทำธุรกิจจนได้สินค้าที่ดี มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับแล้ว ลองมองย้อนกลับไปที่ต้นทาง หากคุณมีโอกาสให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคุณภาพหรือการเพิ่มมูลค่าผลผลิต ต้องให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่

“เราควรต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ต้องซัพพอร์ตซึ่งกันและกัน คุณต้องยอมจ่าย เพราะการทำธุรกิจ หวังจะได้อย่างเดียวคงไม่ได้ ต้องคืนกลับไปด้วย โดยเฉพาะคืนคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดีขึ้นไปด้วยกัน”   คุณวีรพล ทิ้งท้าย


รู้จัก ‘บริษัท เชียงใหม่เฟรชมิลค์ จำกัด’ เพิ่มเติมได้ที่
http://www.cmfreshmilk.com/
https://www.facebook.com/CMFreshmilk/

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

จากธุรกิจนำเข้า สู่เจ้าของกรรมสิทธิ์อุปกรณ์ ‘ตู้บริการสื่อสารเอนกประสงค์’ กล่องสมองกลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจร

จากธุรกิจนำเข้า สู่เจ้าของกรรมสิทธิ์อุปกรณ์ ‘ตู้บริการสื่อสารเอนกประสงค์’ กล่องสมองกลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจร

Bangkok Bank SME จะพาไปทำความรู้จักกับธุรกิจในกลุ่มบริษัทโทรคมนาคม (Telco) ที่เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะรู้ว่ารูปแบบของการดำเนินงาน มีภาพรวมของรายละเอียดอย่างไร…
pin
184 | 17/04/2024
‘วรุณา’ นำเทคโนโลยี AI ยกระดับภาคการเกษตรไทย พร้อมดันประเทศสู่สังคม Net Zero

‘วรุณา’ นำเทคโนโลยี AI ยกระดับภาคการเกษตรไทย พร้อมดันประเทศสู่สังคม Net Zero

ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกมีความตื่นตัวและหันมาให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อช่วยดูแลและช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนที่ปัจจุบันทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย…
pin
393 | 10/04/2024
‘เอเชี่ยนแอสฟัลท์’ ผู้เชี่ยวชาญด้านยางมะตอย ขยายไลน์สู่ผู้นำนวัตกรรมวัสดุก่อสร้าง เจาะตลาด Home Use ครบวงจรด้วยเทคโนโลยี

‘เอเชี่ยนแอสฟัลท์’ ผู้เชี่ยวชาญด้านยางมะตอย ขยายไลน์สู่ผู้นำนวัตกรรมวัสดุก่อสร้าง เจาะตลาด Home Use ครบวงจรด้วยเทคโนโลยี

ถนนลาดยาง คืออะไร?ยางมะตอย By-Product จากกระบวนการกลั่นน้ำมันดิบ ลักษณะสีดำ ข้น หนืด ด้วยคุณสมบัติที่ทนทานต่อสภาพอากาศ ทนน้ำ ยึดเกาะกับวัสดุหินได้ดี…
pin
1351 | 01/04/2024
เชียงใหม่เฟรชมิลค์ ชูนวัตกรรมพร้อมสร้างต้นแบบ Green Farm ใส่ใจสิ่งแวดล้อม