ทำความรู้จัก ‘แพลตฟอร์มซื้อขายพลังงานสะอาดและคาร์บอนเครดิตไทย’ เครื่องมือธุรกิจเดินตามแนวคิด ESG

ESG
27/11/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 7032 คน
ทำความรู้จัก ‘แพลตฟอร์มซื้อขายพลังงานสะอาดและคาร์บอนเครดิตไทย’ เครื่องมือธุรกิจเดินตามแนวคิด ESG
banner
คาร์บอนเครดิตเป็นกลไกที่สำคัญอย่างหนึ่งในการสร้างแรงจูงใจและเป็นทางเลือกของผู้ประกอบการในการลดก๊าซเรือนกระจก โดยมี ‘แพลตฟอร์มการซื้อขายพลังงานสะอาดและคาร์บอนเครดิต’  เป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยให้การซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศให้เป็นเรื่องง่าย สะดวก และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

และยังเพิ่มโอกาสการแข่งขันทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการส่งออก ได้รับการยอมรับว่าสินค้าที่ผลิตมีความปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน (Sustainability) รวมถึงลดความเสี่ยงจากผลกระทบของมาตรการเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ซึ่งเป็นกฎกติกาโลกการค้าโลกยุคใหม่



สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) และ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. จึงมีความเห็นร่วมกันในการพัฒนาแพลตฟอร์มการซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต เพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการซื้อขายคาร์บอนเครดิต

เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ สามารถดำเนินกิจกรรมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสนับสนุนตลาดคาร์บอนภายในประเทศ



ใครเป็นผู้ซื้อ ใครเป็นผู้ขาย ทำไม ? ต้องมีการซื้อ-ขาย ‘คาร์บอนเครดิต’ กัน

สำหรับการซื้อ-ขาย ‘คาร์บอนเครดิต’ มีหลักการง่าย ๆ คือ หากบริษัทใดลดการปล่อยคาร์บอนฯ ได้ต่ำกว่าที่รัฐบาลกำหนด ก็สามารถขายสิทธิ์การปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ที่เหลือให้บริษัทอื่น ๆ ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ เกินกว่าที่รัฐบาลกำหนดนั่นเอง นั่นแปลว่าหากบริษัทใดต้องการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ เป็นจำนวนมากก็จำเป็นต้องซื้อคาร์บอนเครดิตจากบริษัทอื่น

ส่วนทางฝั่งบริษัทที่เป็นผู้ขายก็จะนำเงินที่ได้ มาพัฒนากระบวนการผลิตสินค้าตัวเองที่เน้นใช้พลังงานสีเขียวหรือพลังงานสะอาดมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งโมเดลนี้จะส่งผลให้บริษัทที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ น้อยอยู่แล้วก็จะลดน้อยลงเรื่อย ๆ จนในที่สุดก็ก้าวไปสู่ Net Zero หรือค่าการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ส่วนบริษัทไหนที่ไม่อยากมีต้นทุนทางธุรกิจเพิ่ม ก็หันมาเคร่งครัดการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ในกระบวนการผลิตและอื่น ๆ

ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ ภาพรวมการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ น้อยลงเรื่อย ๆ โดยโมเดลนี้ก็ถูกนำไปใช้ในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก อย่างเช่น สหภาพยุโรป, ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตในภาคบังคับ

ส่วนในประเทศไทยนั้นเป็น ตลาดสมัครใจ เป็นการซื้อ-ขายที่ไม่มีกฎระเบียบข้อบังคับจากทางภาครัฐ โดยความเคลื่อนไหวล่าสุดในเรื่องคาร์บอนเครดิต ก็คือ การก่อตั้ง Carbon Markets Club นำโดย กลุ่มบริษัทบางจากฯ พร้อมด้วยความร่วมมือจากบริษัทยักษ์ใหญ่ของประเทศไทยมาเข้าร่วม อาทิ กฟผ., เครือเจริญโภคภัณฑ์, เชลล์, บีทีเอส กรุ๊ป, เต็ดตรา แพ้ค, บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส โดยมีผู้ขายคือ บริษัท บีซีพีจี และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

ซึ่งมีราคาขายอยู่ที่ 25 บาทต่อ 1 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ (tCO2e) และเพียงวันแรกที่เปิดตลาดซื้อ-ขายกันนั้นมีมูลค่ารวม 2,564 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ใหญ่ 298,140 ต้น หรือคิดเป็น 1,491 ไร่



ที่น่าสนใจก็คือ Carbon Markets Club ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ยังช่วยประสานงานการขายให้แก่คนทั่วไปที่ต้องการซื้อ คาร์บอนเครดิต จาก อบก. อีกด้วย รู้หรือไม่ว่า ค่าเฉลี่ยคนไทยปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ 3.77 ตันต่อคน โดยตัวเลขนี้จะเป็นการคำนวณค่าเฉลี่ยจากภาคการผลิตและภาคขนส่งของประเทศที่ในปี 2020 มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ รวมกัน 224.3 ล้านตัน

โดยแบ่งเป็นภาคการผลิตไฟฟ้า 40% ภาคอุตสาหกรรม 29% ภาคขนส่ง 25% ที่เหลือคือภาคธุรกิจอื่น ๆ 6% ข้อมูลตรงนี้ ทำให้ปฏิเสธไม่ได้ว่า ใน 1 วันตัวเราเองก็เป็นผู้ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนฯ เพราะเราต้องใช้ไฟฟ้าและเดินทางบนท้องถนนอยู่เป็นประจำ 

สำหรับ ผู้ประกอบการ SME และประชาชนทั่วไปที่สนใจ สามารถเข้าเว็บไซต์ http://www.carbonmarketsclub.com เพื่อให้ผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาและเลือกซื้อ เป็นการสนับสนุนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศผ่านการซื้อขายคาร์บอนเครดิตโดย อบก.

และแพลตฟอร์มซื้อขายพลังงานหมุนเวียนและคาร์บอนเครดิตของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยอีกทางหนึ่ง ขอเชิญชวนมาร่วมเป็นสมาชิก CMC ทั้งประเภทองค์กรและบุคคล โดย CMC เป็น platform ที่รองรับทุก ๆ certification ไม่ว่าจะเป็น TVER หรือ REC รวมถึงรูปแบบอื่น ๆ ที่อาจจะมีขึ้น มาเสนอขายใน Marketplace 

โดยหน่วยงานที่เข้ามามีส่วนร่วม ได้แก่ กฟผ. และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. (TGO) ซึ่งทั้ง 2 องค์กรเป็นหน่วยงานที่ออกใบรับรองเกี่ยวกับคาร์บอนต่างๆ รวมถึงสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่เป็นกลุ่ม SME อุตสาหกรรมขนาดกลาง ก็สามารถดำเนินการผ่าน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และกลไกนี้ในการซื้อขายคาร์บอนเครดิต

ทีนี้หลายคนคงสงสัยว่าเงินที่ได้จากการขายคาร์บอนเครดิตนำไปใช้ประโยชน์อะไร ?
คำตอบก็คือ นอกจากจะนำไปใช้ในเรื่องพัฒนาสิ่งแวดล้อมแล้วนั้น เงินอีกก้อนก็จะถูกนำไปใช้พัฒนากระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม



สถานการณ์ ‘ซื้อขายคาร์บอนเครดิต’ กับโอกาสภาคธุรกิจไทย

สถานการณ์ตลาดคาร์บอนในต่างประเทศหลัก ๆ เช่น สหภาพยุโรป หรือ EU เป็นตลาดคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุดในโลก เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 ทำให้ราคาคาร์บอนเครดิตตลาดนี้ มีมูลค่าที่ค่อนข้างสูงเฉลี่ยที่ 2,769 บาท/ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

ขณะที่ประเทศไทย ราคาคาร์บอนเครดิต ในปี 2561 อยู่ที่ 21.37 บาท/ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จนมาถึงปัจจุบันปี 2565 ราคาสูงขึ้นแบบก้าวกระโดดไปอยู่ที่ 107.23 บาท/ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือประมาณ 3 ดอลลาร์/ตันคาร์บอนฯ ขณะที่ราคาคาร์บอนเครดิตในแต่ละตลาดหรือแต่ละมาตรฐานจะมีความแตกต่างกัน ปัจจุบันราคาคาร์บอนเครดิตโลกอยู่ที่ประมาณ 25 ดอลลาร์ต่อตันคาร์บอนฯ
 
จะเห็นได้ว่า ราคาคาร์บอนของไทย แม้ราคาจะขยับสูงขึ้นแต่ยังอยู่ในระดับที่ต่ำ เมื่อเทียบกับราคาคาร์บอนในต่างประเทศ จากข้อมูลล่าสุดของ World Bank พบว่า เมื่อเดือน เมษายน 2565 ค่ากลางของราคาคาร์บอนอยู่ที่ 25 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันคาร์บอนฯ และมีหลายประเทศที่ราคาคาร์บอนสูงกว่าไทยมาก เช่น ระบบ ETS ของยุโรปที่อยู่ที่ราว 80-100 ดอลลาร์ฯ ต่อตัน 3 สูงกว่าไทยเกินกว่า 25 เท่า และระบบ ETS ของเกาหลีใต้ที่มีราคาคาร์บอนสูงกว่าไทยราว 6 เท่าตัว 

อย่างไรก็ตาม  แม้มีหลายสาเหตุทำให้ราคาคาร์บอนในไทยอยู่ในระดับต่ำ แต่ส่วนหนึ่งอาจมาจากการมีคาร์บอนเครดิตคุณภาพสูงจากโครงการดูดซับก๊าซเรือนกระจก เช่น การปลูกป่า และการใช้เทคโนโลยี CCUS ในจำนวนที่น้อยหรือไม่มีเลย ซึ่งคาร์บอนเครดิตจากโครงการเหล่านี้ในกรณีต่างประเทศมักมีราคาสูง

นอกจากนี้ การที่ตลาดคาร์บอนเครดิตของไทยมีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตด้วยราคาที่อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับราคาในตลาดโลก ส่วนหนึ่งมาจากไทยยังไม่มีนโยบายที่มีการบังคับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหมือนในต่างประเทศ เช่น อียู สหราชอาณาจักร รัฐแคลิฟอร์เนีย เกาหลีใต้ เป็นต้น

สะท้อนโอกาสของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่มีต้นทุนสูงในการจัดหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ หรือธุรกิจไทยที่ต้องการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเอง สามารถชดเชยคาร์บอนเครดิตด้วยต้นทุนที่ต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดประเทศอื่น ๆ

เพื่อประโยชน์ด้านการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในการระดมทุน และเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจในตลาดต่างประเทศที่ให้ความสำคัญด้านการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้



การซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต ต้องทำผ่านช่องทางไหน ?

สำหรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิต สามารถดำเนินการได้ 2 รูปแบบ ได้แก่

1. การซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มตลาดซื้อขาย (Trading Platform) หรือ ศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ (ศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิตของประเทศไทย อบก. อยู่ระหว่างการทำความตกลงกับผู้ประกอบการศูนย์ซื้อขายเพื่อเปิดให้บริการ โดย อบก. หรือ TGO)

2. ซื้อขายในระบบทวิภาค (Over-the-counter: OTC) ซึ่งเป็นการตกลงกันระหว่างผู้ต้องการซื้อและผู้ขายโดยตรงโดยไม่ผ่านตลาด ทั้งนี้ การซื้อขายทั้ง 2 รูปแบบสามารถเกิดขึ้นได้ ทั้งเป็นการซื้อขายในตลาดแรก (Primary market) ซึ่งเป็นการซื้อขายระหว่างเจ้าของโครงการลด หรือดูดซับก๊าซเรือนกระจกกับผู้ซื้อรายแรก หรืออาจเป็นการซื้อขายในตลาดรอง (Secondary market) ซึ่งเป็นการซื้อขายต่อมาจากผู้ซื้อรายแรกอีกที โดยผู้ซื้อและผู้ขายอาจเป็นองค์กร หรือบุคคลก็ได้ 

นอกจากนี้ ในการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ยังต้องคำนึงถึงประเภทของสัญญาซื้อขาย โดยในปัจจุบันสัญญาซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Emission Reduction Purchase Agreement) หรือที่เรียกย่อ ๆ ว่า "ERPA" ในตลาดภาคบังคับ มี 2 ประเภท

1. Forward Contract : เป็นสัญญาที่มีข้อตกลงที่จะส่งมอบคาร์บอนเครดิตที่ผ่านการรับรองในระยะเวลาใดระยะเวลาหนึ่งในอนาคต โดยเป็นสัญญาที่กำหนดให้มีการจ่ายเงินล่วงหน้า ตั้งราคาซื้อขายที่ยืดหยุ่นได้ ผู้ซื้อและผู้ขายรับความเสี่ยงร่วมกัน รับประกันรายได้ที่ได้รับล่วงหน้า มีการให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคในการพัฒนาโครงการ และสามารถต่อรองราคาคาร์บอนเครดิตตามระดับความเสี่ยงได้

2. Spot Market Contract : เป็นการซื้อขายหลังจากที่ได้รับคาร์บอนเครดิตที่ผ่านการรับรอง โดยเป็นสัญญาที่กำหนดให้ผู้ขายเป็นผู้รับความเสี่ยง (แต่น้อย) สามารถกำหนดราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้ในราคาสูง เนื่องจากมีความเสี่ยงต่ำ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และราคาคาร์บอนเครดิตในขณะที่ซื้อขาย ไม่สามารถรับประกันรายได้ล่วงหน้า และไม่ต้องมีการให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาโครงการ

ประเด็นที่สำคัญใน ERPA ที่ควรพิจารณาเพิ่มเติม ได้แก่ ปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ผ่านการรับรอง ตกลงจะขาย ซึ่งผู้ขายต้องมั่นใจว่าสามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้จริงตามที่กำหนดในสัญญา รวมถึงการประเมินราคาคาร์บอนเครดิตที่ผ่านการรับรอง ควรจะเป็นเท่าไร

และต้องส่งมอบให้กับใคร ระยะเวลาส่งมอบและวิธีการรับเงิน คู่สัญญาฝ่ายใดจะเป็นผู้รับผิดชอบในการขอการรับรองคาร์บอนเครดิตผลกระทบจากการที่ไม่สามารถส่งมอบคาร์บอนเครดิต หรือส่งมอบไม่ครบตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญา ประเด็นเรื่องถ้อยแถลงหรือข้อความในสัญญา

เพื่อป้องกันความเสี่ยงในกรณีที่เกิดสถานการณ์หรือเหตุฉุกเฉินที่ไม่สามารถควบคุมได้ รวมถึงการจัดให้มีกลไกและกระบวนการการเจรจาในกรณีที่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ เป็นต้น



แพลตฟอร์ม ที่เปิดให้ซื้อขายคาร์บอนเครดิต มีอะไรบ้าง ?

แพลตฟอร์ม FTIX เป็นแพลตฟอร์มที่ ส.อ.ท. พัฒนาและบริหารจัดการเพื่อเป็นศูนย์ซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตที่สามารถเชื่อมโยงกับระบบของ อบก. นอกจากนี้ ยังมีการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อตอบสนองความต้องการการใช้พลังงานหมุนเวียน 100% (RE100) รวมถึงการซื้อขายใบรับรองการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน หรือ REC ด้วย

แพลตฟอร์ม Energy Trading ในชื่อ Gideon ที่เปิดให้ซื้อขายคาร์บอนเครดิตและพลังงานสะอาด ให้กับกลุ่มคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทยได้ใช้งานฟรี โดยมีมูลค่ากว่า 5 ล้านบาท พร้อมเผยความคืบหน้าการซื้อขายพลังงานโซลาร์ คาดว่าจะได้เห็นการซื้อขายแบบ P2P

แพลตฟอร์ม Thailand Carbon Credit Exchange Platform เป็นแพลตฟอร์มหลักของประเทศสำหรับการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต รวมถึงมีการจัดตั้ง RE100 Thailand Club เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน ทดแทนพลังเดิมที่ก่อมลภาวะให้กับโลก



ทำไม ? ต้องมี แพลตฟอร์มการซื้อขายพลังงานสะอาดและคาร์บอนเครดิต

- เป็นแพลตฟอร์มเพื่อช่วยให้การซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศให้เป็นเรื่องง่าย สะดวก และมีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว
 
- เพิ่มโอกาสการแข่งขันทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมที่มีสินค้าส่งออกนอกประเทศ เป็นที่ยอมรับว่าสินค้าที่ผลิตมีความปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย 

- ลดความเสี่ยงจากผลกระทบของมาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ซึ่งเป็นกฎกติกาสำหรับผู้ประกอบการที่จะส่งออกสินค้าไปยัง EU

จุดเด่นของแพลตฟอร์มซื้อขายคาร์บอนเครดิต
 -การซื้อขายผ่านแพลตฟอร์ม สามารถซื้อได้ทั้งพลังงานสะอาดและคาร์บอนเครดิต
-แสดงภาพรวมข้อมูลทั้งด้านการเงินและพลังงาน รวมถึงภาพรวมในตลาดทั้งปริมาณและราคา
-การส่งคำสั่งซื้อขาย สามารถทำได้ล่วงหน้า 1 วัน / ภายในวัน พร้อมการยืนยันความถูกต้อง
-สามารถตรวจสอบข้อมูลภาพรวมของผู้ซื้อขายทุกคนหรือแต่ละรายได้
-มีบิลแบบรายเดือนเพื่อนำไปชำระเงิน

สำหรับผู้ที่ประสงค์ลงทะเบียนจดแจ้งซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน/คาร์บอนเครดิต/ใบรับรองสิทธิการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ในโครงการ ERC Sandbox ระยะที่ 2 คลิกที่นี่ https://bit.ly/3Rfmc71 หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส.อ.ท. (Climate Change Institute: CCI)

 

ขั้นตอนการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ต้องทำอย่างไร?

ประเทศไทยมีหน่วยงานที่ดำเนินงานคาร์บอนเครดิต คือ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ซึ่งมีตลาดซื้อขายก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการรับรอง ผ่านโครงการ T-VER ผู้ที่ประสงค์จะขายคาร์บอนเครดิตสามารถลงทะเบียนผ่านระบบทะเบียนคาร์บอนเครดิต (T-VER Registry) ของ อบก.ได้ ดังนี้

1. เจ้าของบัญชี T-VER Credits หรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของบัญชี T-VER Credits แจ้งความประสงค์ในการขายคาร์บอนเครดิต จำนวนคาร์บอนเครดิต และคาร์บอนเครดิตจากโครงการใด ไปยังเจ้าหน้าที่ อบก.

2. อบก. พิจารณาความถูกต้อง 

3. อบก. จะดำเนินการโอน (Transfer) หรือหักล้าง (Cancel) คาร์บอนเครดิต ตามที่ได้รับแจ้งแก่ผู้ใช้งาน ภายใน 3 วัน ทำการ หลังจากตรวจสอบข้อมูล/เอกสารเรียบร้อยแล้ว

4. อบก. จะส่งเอกสาร Transfer Notification/Cancellation Notification ไปยังอีเมลของเจ้าของบัญชี T-VER Credits หรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของบัญชี T-VER Credits ในการทำธุรกรรม

สำหรับผู้ที่ต้องการซื้อคาร์บอนเครดิต สามารถสอบถามไปยังเจ้าของคาร์บอนเครดิตได้โดยตรง ตามช่องทางติดต่อในเอกสารโครงการ โดยสามารถดูเอกสารโครงการได้จาก http://ghgreduction.tgo.or.th/tver-database-and-statistics/t-ver-registered-project.html

ติดต่อสอบถามรายละเอียดการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต เพิ่มเติม ได้ที่: 
-สำนักส่งเสริมตลาดคาร์บอนและนวัตกรรม 
-องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
คุณนพรัตน์ พรหมอินทร์ (ผู้จัดการ)
โทรศัพท์: 0-2141-9827
อีเมล: nopparat@tgo.or.th
สามารถติดตามข้อมูลการซื้อ-ขาย คาร์บอนเครดิต ที่ได้: http://carbonmarket.tgo.or.th

สุดท้ายนี้ การพัฒนาแพลตฟอร์มของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นศูนย์กลางการซื้อขายคาร์บอนเครดิต และใบรับรองการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (REC) หรือใบรับรองด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ในอนาคต จะเป็นอีกปัจจัยสนับสนุนให้เกิดโครงสร้างพื้นฐาน สร้างบรรยากาศที่ดีต่อการซื้อขายคาร์บอนเครดิตของไทยในระยะยาว และช่วยให้ธุรกิจไทยประสบความสำเร็จในการบรรลุเป้าหมายการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้


ที่มา
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก
https://www.mreport.co.th/news/trend-and-innovation/345-FTIX-platform-for-cc-re-rec-trading-carbon-credit
https://www.ryt9.com/s/prg/3243862
https://www.bangkokbiznews.com/business/948667
http://carbonmarket.tgo.or.th/index.php?lang=TH&mod=Y29uY2VwdF9tYXJrZXQ=
http://carbonmarket.tgo.or.th/index.php?lang=TH&mod=dHJhZGluZ19wcm9jZXNz
http://carbonmarket.tgo.or.th/index.php?lang=TH&mod=aHRvYw==
https://ghgreduction.tgo.or.th/th/tver-step/tver-carbon-trading-procedure.html
https://www.longtunman.com/30943
http://thaicarbonlabel.tgo.or.th/index.php?lang=TH&mod=Y0hKdlpIVmpkSE5mYVhNPQ

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

Green Hotel (โรงแรมสีเขียว) ปรับตัวอย่างไร? ให้อยู่รอด พร้อมตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

Green Hotel (โรงแรมสีเขียว) ปรับตัวอย่างไร? ให้อยู่รอด พร้อมตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

ถึงวันหยุดพักผ่อนกันยาว ๆ อีกแล้ว สำหรับช่วงเทศกาลมหาสงกรานต์ หลายคนวางแผนไปท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้จากการไปพักโรงแรม หรือรีสอร์ท…
pin
336 | 14/04/2024
ผ่าแนวคิด ‘อุตสาหกรรมยานยนต์-อากาศยานรักษ์โลก’ ปรับตัวสู่เส้นทาง Net Zero ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร?

ผ่าแนวคิด ‘อุตสาหกรรมยานยนต์-อากาศยานรักษ์โลก’ ปรับตัวสู่เส้นทาง Net Zero ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร?

ปัจจุบันมีการผลักดัน และพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในทุกมิติ จึงก้าวหน้าขึ้นทุกวัน ส่งผลให้ยานยนต์ทุกประเภทต่างมุ่งหน้าสู่เส้นทางพลังงานสะอาด รวมไปถึง…
pin
3606 | 30/03/2024
ส่อง 5 นวัตกรรม ESG สุดว้าว! ทั่วโลกเขาเปลี่ยนขยะเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลก (Green Product) อะไรกันบ้าง

ส่อง 5 นวัตกรรม ESG สุดว้าว! ทั่วโลกเขาเปลี่ยนขยะเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลก (Green Product) อะไรกันบ้าง

หลายปีที่ผ่านมา โลกได้พัฒนาก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว มีผลิตภัณฑ์มากมายที่พัฒนาขึ้นมาจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่สร้างความสะดวกสบายให้ผู้บริโภค…
pin
3343 | 18/03/2024
ทำความรู้จัก ‘แพลตฟอร์มซื้อขายพลังงานสะอาดและคาร์บอนเครดิตไทย’ เครื่องมือธุรกิจเดินตามแนวคิด ESG