'ไพรัตน์ ฟู้ด' สร้างสรรค์ 'กาแฟเทพเสด็จ' ยกระดับ Thai Specialty Coffee สู่สากล

SME in Focus
23/12/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 2404 คน
'ไพรัตน์ ฟู้ด' สร้างสรรค์ 'กาแฟเทพเสด็จ' ยกระดับ Thai Specialty Coffee สู่สากล
banner
มองเป็นเห็นโอกาส Bangkok Bank SME จะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับ “กาแฟเทพเสด็จ” กาแฟพันธุ์ดีของคนไทย ผลผลิตจากดอยสูงใน จ. เชียงใหม่ สู่ Specialty Coffee ที่ต่างชาติยังติดใจ ภายใต้การพัฒนารสชาติ และปรับปรุงการแปรรูปเมล็ดกาแฟอย่างพิถีพิถันทุกขั้นตอนโดย “บริษัท ไพรัตน์ ฟู้ด จำกัด” จนสามารถเพิ่มมูลค่าผลผลิตในชุมชน สร้างรายได้อย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการทำเกษตรผสมผสาน โดยยึดหลักแห่งการ “แบ่งปัน” มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ 

ในโอกาสนี้ Bangkok Bank SME ได้รับเกียรติจาก คุณเสาวลักษณ์ ธาตุอินจันทร์ (คุณเล็ก) ผู้บริหารบริษัท ไพรัตน์ ฟู้ด จำกัด ที่เป็นผู้บอกเล่าและสัมผัสกับเรื่องราวเบื้องลึก - เบื้องหลัง กว่าจะมาเป็น ”กาแฟเทพเสด็จ” พร้อมพูดคุยถึงแนวคิดการทำธุรกิจที่เรียบง่าย แต่ยั่งยืน ในแบบฉบับของครอบครัว “ธาตุอินจันทร์” ที่ถ่ายทอดออกมาผ่าน “แบ่งปันฟาร์ม” เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ประกอบการ SME หรือผู้ที่สนใจธุรกิจแปรรูปเมล็ดกาแฟ สามารถนำไปปรับใช้ ต่อยอดวงการกาแฟบ้านเราสู่ระดับสากล

จุดเริ่มต้นที่ทำให้บริษัท ไพรัตน์ ฟู้ด จำกัด เข้ามาจับธุรกิจเมล็ดกาแฟ
 
เราอยู่กันที่ “แบ่งปันฟาร์ม” ฟาร์มเกษตรผสมผสาน บนพื้นที่ราว 60 ไร่ ในอ. ดอยสะเก็ด จ. เชียงใหม่ สถานที่ที่เราจะได้ลิ้มรสชาติของกาแฟเทพเสด็จ ท่ามกลางบรรยากาศร่มรื่นของสวนผลไม้ - พืชผักสวนครัว และฟาร์มสัตว์หลากหลายสายพันธุ์ ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวน่าศึกษาเรียนรู้

ย้อนกลับไปเมื่อกว่า 30 ปีก่อน ไพรัตน์ ฟู้ด เริ่มต้นธุรกิจด้วยการเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรแปรรูป คิดค้น พัฒนา ต่อยอดผลผลิตในภาคการเกษตร จนทุกวันนี้มีสินค้าขึ้นชื่ออย่าง “กระเทียมโทนดองน้ำผึ้ง” ที่หลายบ้านต้องมีติดครัวไว้ไม่ขาด นอกจากนี้ ยังมีสินค้าผัก - ผลไม้แปรรูปอีกมากมาย อาทิ ผักกาดดอง, หน่อไม้ดอง ฯลฯ ส่งจำหน่ายไปทั่วประเทศ



สำหรับกาแฟ ซึ่งเป็นสินค้าที่ ไพรัตน์ ฟู้ด ก่อร่างสร้างแบรนด์มาได้ประมาณ 7 ปีแล้วนั้น คุณเสาวลักษณ์ เล่าให้เราฟังว่า “ครอบครัวมีไร่กาแฟอยู่บนดอย ลุงป้าน้าอาเป็นคนดูแล เราไม่ได้เข้าไปยุ่ง แต่วันหนึ่ง พวกเขาบอกว่าจะไม่ทำแล้ว จะไปปลูกอย่างอื่น เพราะกาแฟถูกมาก เขาขายไม่ได้ราคา” เมื่อได้ยินดังนั้น จึงเกิดความสงสัยว่า ทำไมต้นทางผลกาแฟที่ออกจากไร่ถึงมีราคาถูกมาก สวนทางกับปลายทางที่ร้านกาแฟขายกันแก้วละ 70-100 บาท ทำให้เริ่มเข้าไปศึกษาเรื่องกาแฟอย่างจริงจัง เพื่อหวังจะช่วยแก้ปัญหา และเพิ่มมูลค่าของผลผลิตเมล็ดกาแฟ

ทุกความสำเร็จ เริ่มต้นจากความรู้

คุณเสาวลักษณ์ ทุ่มเท และศึกษาเรื่องกาแฟอย่างจริงจัง ถึงขั้นไปเข้าคอร์สเรียนกับสถาบันการเรียนรู้กาแฟพิเศษประเทศไทยใน กทม. เริ่มเรียนรู้ตั้งแต่เรื่องสายพันธุ์, การเพาะปลูก, การแปรรูป ไปจนถึงการคั่วเมล็ดกาแฟ 



หลังจากได้วิชาความรู้ความเข้าใจมาอย่างเต็มเปี่ยม จึงได้นำความรู้เหล่านี้กลับมาแบ่งปันกับลุงป้าน้าอาชาวไร่ โดยทดลองเพาะปลูกกาแฟสายพันธุ์ต่าง ๆ ในพื้นที่ของตัวเองก่อน แล้วจึงคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีคุณภาพมากพอที่จะเพิ่มมูลค่าไปแจกจ่ายให้เครือข่ายเกษตรกรผู้เพาะปลูกเมล็ดกาแฟ ที่มีอยู่ราว 20 ครัวเรือน คุณเสาวลักษณ์ กล่าวว่า “แม้สายพันธุ์กาแฟที่เราเลือกปลูกอาจให้ผลผลิตได้น้อยกว่าพันธุ์ที่ชาวบ้านเคยปลูก แต่ก็สามารถขายได้ราคาดีกว่า”
 
“ในช่วงแรก ๆ เราขอแค่ให้เกษตรกรเก็บผลกาแฟเชอร์รี่สุก ๆ ให้ เราก็พอใจแล้ว พอนำผลผลิตเหล่านี้มาแปรรูป แล้วนำไปจำหน่ายปรากฎว่าได้ราคาดีขึ้น เกษตรกรก็เริ่มเปิดใจที่จะปรับปรุง พัฒนากระบวนการเพาะปลูก เราแนะนำเขาตั้งแต่เรื่องปุ๋ยอินทรีย์ที่ทำเอง, การตัดแต่งกิ่ง, การกำจัดมอด เน้นเรื่องลดการใช้สารเคมี ให้ผลผลิตของเราคลีนที่สุดเท่าที่จะทำได้ พอเกษตรกรนำไปปรับใช้อย่างต่อเนื่อง เราจึงเริ่มได้ผลกาแฟเชอร์รี่ที่มีคุณภาพมากขึ้น ขายได้ราคาที่มากขึ้น”


 
ทำไมต้อง “กาแฟเทพเสด็จ”

“เราเลือกใช้เมล็ดกาแฟจากไร่ที่สูงเหนือระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000 เมตรขึ้นไป จาก 3 หมู่บ้านใน ต. เทพเสด็จ อ. ดอยสะเก็ด จ. เชียงใหม่ ส่วนใหญ่จะเป็นสายพันธุ์ที่มีปลูกในบ้านเราอยู่แล้ว เช่น ทิปปิก้า (Typica) หรือ คาติมอร์ (Catimor) โดยพยายามใช้วัตถุดิบที่เรามีก่อน บวกกับใช้คนในพื้นที่ให้มากที่สุด เพราะจะควบคุมคุณภาพได้ง่ายกว่า”

เมื่อถามถึงวิธีการแปรรูปกาแฟ คุณเสาวลักษณ์ เผยว่า “วิธีการหลักของเราจะแปรรูปเมล็ดกาแฟด้วยHoney Process ซึ่งเป็นกระบวนการผลิตกาแฟ  เพื่อแปรสภาพจากผลกาแฟสด ออกมาเป็นสารกาแฟ (เมล็ดกาแฟ) ที่พร้อมคั่ว

อีกทั้งยังมีการปลูกกาแฟร่วมกับป่าไม้    โดยเมล็ดกาแฟจะเจริญเติบโตช้า ๆ เพื่อสะสมสารอาหารได้อย่างเต็มที่ และเมื่อนำมาผ่านวิธีการแปรรูปอย่างพิถีพิถันทุกขั้นตอน ทำให้กาแฟเรามีความแตกต่าง ด้วยวิธี Honey Process  จึงช่วยคงกลิ่นและความหวานให้เมล็ดกาแฟได้ดี ประกอบกับการคั่วที่เป็นวิธีของเราเอง ทำให้กาแฟของเรามีเอกลักษณ์ในเรื่องความหอม หวานและรสชาติที่ไม่เหมือนใคร 

คุณเสาวลักษณ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า  Honey Process จะเป็นกระบวนการผลิตกาแฟ เพื่อแปรสภาพจากผลกาแฟสด ออกมาเป็นสารกาแฟ (เมล็ดกาแฟ) ที่พร้อมคั่ว ซึ่งทางฟาร์มเราเลือก Honey Process เรียกอีกอย่างว่า Semi-Washed Process โดยการนำผลกาแฟมาปอกเปลือกออก แล้วนำไปตากโดยข้ามขั้นตอนการขจัดเมือกไป กาแฟกะลาที่ได้มาจึงมีสีสันที่ดำด่าง น้ำตาล คล้ายกับมีน้ำตาล หรือน้ำผึ้งเคลือบอยู่ที่ผิว

จุดเด่นของกาแฟ Honey Process คือ มีความเปรี้ยวต่ำ (Lower acidity) แต่มีบอดี้ และความละมุนของรสชาติที่ดีมาก การแปรรูปกาแฟแบบนี้ ให้ความสำคัญกับการคงเหลือ ‘เมือก (mucilage)’ ที่ยังติดอยู่กับกะลาระหว่างการตาก เพราะเมือกมีความหวานตามธรรมชาติอยู่, การตากกาแฟกะลาพร้อมเมือกนั้นจะช่วยให้เมล็ดกาแฟมีรสชาติหวานขึ้นได้

“เราได้เปรียบตรงที่ เราเอาเมล็ดกาแฟจากบนดอยมาตากในพื้นที่ราบใน อ. ดอยสะเก็ด และมีโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งทีอื่นยังไม่มี”
 
กาแฟคุณภาพระดับ Specialty ไม่ต้องโปรโมท คนก็ออกตามหา

แน่นอนว่า เริ่มแรกก็อาจไม่มีใครรู้จัก เพราะ คุณเสาวลักษณ์ ไม่ได้โปรโมทบนโซเชียลมีเดีย แต่เพราะอะไรสินค้าจึงเป็นจุดสนใจให้ลูกค้าตามหาด้วยตัวเอง 

“เราส่งขายตามร้านค้าต่าง ๆ ด้วยความที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก พอเราขายในราคาที่แพงขึ้นมาหน่อย ก็ขายไม่ค่อยได้ เพราะผู้บริโภคมักจะเลือกซื้อกาแฟแบรนด์ที่คุ้นหูคุ้นตามากกว่า มีระบุแหล่งผลิต หรือสายพันธุ์ชัดเจนบนบรรจุภัณฑ์ เช่น เป็นกาแฟจากเอธิโอเปีย พันธุ์เกอิชา แบบนี้ก็จะขายดีกว่า จึงลองกลับไปขอคำปรึกษาจากอาจารย์ที่สถาบันการเรียนรู้กาแฟพิเศษประเทศไทย และได้ส่งกาแฟเทพเสด็จ ไปตรวจสอบคุณภาพ ซึ่งได้คะแนนอยู่ที่ 86 ถือเป็นกาแฟระดับ Specialty Coffee และอาจารย์ยังช่วยซื้อ ช่วยหาตลาดให้อีกด้วย” 



นอกจากนี้ ไพรัตน์ ฟู้ด ยังส่งกาแฟเข้าประกวดตามคำแนะนำของอาจารย์ เพื่อลองเข้าตลาด Niche Market ให้แบรนด์พอมีหน้ามีตาเป็นที่รู้จักในกลุ่มคนรักกาแฟก่อน ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดี และยังช่วยเพิ่มมูลค่าของผลผลิตได้ตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ ชาวไร่ชาวสวนก็พลอยขายผลกาแฟได้ราคาดีไปด้วย 

หลังจากนั้น “กาแฟเทพเสด็จ” จาก ไพรัตน์ ฟู้ด ก็ค่อย ๆ เริ่มเป็นที่รู้จัก จากคนในพื้นที่พูดกันปากต่อปาก ใครได้ชิมก็อยากแนะนำเพื่อน ลูกค้าพากันแชร์ต่อในโลกโซเชียล ทำให้ทุกวันนี้ มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาชิมถึงที่ฟาร์มไม่ขาดสาย กลายเป็นหนึ่งในเมนูซิกเนเจอร์ของ “แบ่งปันฟาร์ม” ไปแล้ว
 


ฟาร์มแห่งการ ”แบ่งปัน”  ณ แบ่งปันฟาร์ม

“ที่ฟาร์มแห่งนี้ เราเริ่มต้นจากอาคาร 1 หลัง เราต้องการขายเมล็ดกาแฟ เลยใช้เงินลงทุนส่วนใหญ่ไปกับพวกเครื่องจักร เครื่องชงกาแฟราคาหลักล้าน เพื่อเป็นสถานที่ที่ให้ลูกค้าสามารถเข้ามาเลือกซื้อกาแฟ และชิมกาแฟได้ด้วย”
 
ปัจจุบัน นอกจากกาแฟเทพเสด็จแล้ว แบ่งปันฟาร์ม ยังมีเมนูอาหารคาว – หวาน ให้เลือกหลากหลาย ในราคาเริ่มต้นเพียงแค่ 50 บาทเท่านั้น แต่ละเมนูจะมีส่วนผสมของพืชผัก – ผลไม้ที่เก็บสด ๆ จากฟาร์มเกษตรอินทรีย์แห่งนี้ด้วย



ขณะเดียวกัน ที่นี่ยังเป็นศูนย์การเรียนรู้ มีแปลงเกษตรอินทรีย์ สวนผลไม้ อาทิ ทุเรียน แก้วมังกร เงาะ มังคุด กระท้อน  ลองกอง ฯลฯ และสัตว์หลากหลายสายพันธุ์ ทั้ง ไก่ต๊อก เก้ง กวาง กระต่าย เป็ด นกยูง วัว ฯลฯ ผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาเที่ยวชมได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย มากันได้ทั้งครอบครัว เพราะผู้บริหารฯ ตั้งใจสร้างสถานที่แห่งนี้ให้เป็นพื้นที่แห่งการแบ่งปันความสุขควบคู่ความรู้ด้านการเกษตรกับคนทุกเพศทุกวัย 
 
แผนการขยายกิจการในอนาคต สู่แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรผสมผสานครบวงจร

ในเรื่องของสินค้าทางการเกษตร คุณเสาวลักษณ์ ระบุว่า “จากที่เคยขายส่งอย่างเดียว พอมีหน้าร้านที่ฟาร์มนี้ นอกจากกาแฟแล้ว เรายังได้ขายผลผลิตทางการเกษตร พืชผัก ผลไม้สด ๆ ไข่ไก่ ขายดีจนสินค้าไม่พอขายก็มี แต่เราจะยังไม่ขยาย อยากทำที่มีอยู่ให้ดีที่สุดก่อน เพื่อคงคุณภาพให้ได้มาตรฐานอย่างต่อเนื่อง”

แต่ที่น่าสนใจก็คือ “ในอนาคตจะมีรีสอร์ต มีบ้านพักประมาณ 10 หลัง มีหอประชุม ที่จุคนได้หลายร้อยคน มีทั้งโซน Indoor และ Outdoor ใช้ทำกิจกรรมเวิร์คช็อปให้ความรู้ด้านการเกษตร เช่น สอนเด็ก ๆ เลี้ยงไส้เดือน หรือเป็นที่เปิดคลาสสอนบาริสต้า สอน Cupping โดยจะเชิญอาจารย์จากกรุงเทพฯ มาสอนถึงที่เชียงใหม่ นักเรียนก็จะได้ใบประกาศที่สถาบันทั่วโลกยอมรับ และยังมีแผนจะทำคาเฟ่เพิ่มด้วย”
 
“หลังจากนี้อาจมีการโปรโมทร้านผ่านเพจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวในเชียงใหม่ แต่ก็ยังไม่เน้นโปรโมทแบรนด์ตัวเองมากนัก เพราะตอนนี้สถานที่เราอาจจะยังไม่สามารถรองรับคนได้เยอะ ในอนาคต ถ้ามีการขยับขยายพื้นที่ค่อยโปรโมทตามความเหมาะสม ตอนนี้ เป้าหมายคือเราอยากให้คนที่ได้มาเที่ยว เอาเรื่องราวไปแชร์ต่อ บอกกันปากต่อปากมากกว่า เพราะมองว่าวิธีนี้จะเป็นการทำตลาดที่น่าจะยั่งยืนกว่า สิ่งที่เรามุ่งมั่นและตั้งใจ คือ ความสุขคือการแบ่งปัน และ การแบ่งปันคือหนทางสู่ความยั่งยืน” 

หัวใจสำคัญที่ทำให้ ไพรัตน์ ฟู้ด ฝ่าทุกวิกฤต สร้างรายได้อย่างยั่งยืน ทั้งธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีก 

จากประวัติการดำเนินกิจการมาอย่างยาวนาน จนเป็นแบบอย่างในเรื่องของการทำธุรกิจบนแนวทางความยั่งยืน (Sustainability) อย่างที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ไพรัตน์ ฟู้ด ผ่านทั้งวิกฤติ และปัญหาต่าง ๆ มานับครั้งไม่ถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาเรื่องการขาดแคลนวัตถุดิบ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล และสภาพอากาศที่อยู่นอกเหนือการควบคุม 


 
“เมื่อก่อนเรากลัวปัญหาเรื่องผลผลิตขาดช่วง ไม่พอจำหน่าย แต่ปัจจุบัน เรามีการวางแผนล่วงหน้าในแต่ละปี หากสินค้ากลุ่มไหนมีผลผลิตลดลง ก็จะหาสินค้าประเภทอื่นมาทดแทน โดยการเพิ่ม Product Line ของผลผลิตที่มีปริมาณมากเข้ามาแทน และอาจร่วมมือกับกระทรวงวิทย์ฯ หรือองค์กรภาคการเกษตร เพื่อคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกมาวางจำหน่าย เช่น ปีไหนเรารับซื้อกระเทียมมาได้เยอะ นอกจากสินค้าขายดีอย่างกระเทียมดอง เราอาจจะทำน้ำสลัดกระเทียมออกมาวางจำหน่าย เพื่อทดแทนรายได้จากผลผลิตที่หายไป”

ขณะที่ในส่วนของกาแฟ หากช่วงไหนเก็บเกี่ยวได้น้อย เราส่งของให้ร้านกาแฟต่าง ๆ ได้น้อย เขาก็อาจใช้การ Blend กาแฟเข้ามาช่วย อาจมีการใช้กาแฟที่มีราคาถูกกว่าเป็น Base และใช้กาแฟของเราเสริมเข้าไป เพื่อดึงรสชาติ เพราะเมล็ดกาแฟทั่วไป ราคาจะอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 100 กว่าบาท แต่ของเรา ราคาขั้นต่ำจะอยู่ที่ประมาณ 350 บาทต่อกิโลกรัม อาจเอาของเราไปผสมสัก 15% - 20% บางปีอาจต้องเปลี่ยนสัดส่วนการ Blend ขึ้นอยู่กับปริมาณการผลิตของเราด้วย แต่สุดท้าย เมื่อ Blend แล้ว ก็ยังคงรสชาติกาแฟที่ดีอยู่”
 


ดังนั้น การปรับตัวเพื่อรับมือกับวิกฤตต่าง ๆ อาจเป็นหนทางที่ทำให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ก่อเกิดเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ หรือการเพิ่มมูลค่าของสินค้า ในขณะเดียวกัน ไพรัตน์ ฟู้ด ก็มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจโดยยึดหลักการให้ความสำคัญกับ “คุณภาพ และความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า” เหนือสิ่งอื่นใด ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นผ่านโมเดลธุรกิจที่ยั่งยืนของ ไพรัตน์ ฟู้ด มาแล้วรุ่นสู่รุ่น จากธุรกิจค้าส่ง ที่มีลูกค้าเรียกร้องจนต้องหันมาขายปลีกควบคู่ไปด้วย



เชื่อว่า สินค้าจะราคาถูก หรือแพง หากคุณภาพดี ยังไงคนก็ซื้อ “เราไม่ได้หวั่นไหวกับราคาตลาด ไม่ค้ากำไรเกินควร บางทีผลผลิตบางอย่างราคาตลาดขึ้นไปถึง 500 บาทต่อกิโลกรัม แต่เราก็ขายของเราอยู่ที่ 300 บาท เราก็อยู่ได้แล้ว เกษตรกรก็อยู่ได้ มีความสุขทั้งเกษตรกร ผู้ผลิต และผู้บริโภค” 

“ถ้าของคุณมีคุณภาพ แต่ไม่สามารถหาที่อื่นมาทดแทนได้ สร้างเอกลักษณ์ของคุณขึ้นมา ยังไงเขาก็ต้องกลับมาหาคุณ” คุณเสาวลักษณ์ ทิ้งท้าย


ติดตามเรื่องราวของ บริษัท ไพรัตน์ ฟู้ด จำกัด และ แบ่งปันฟาร์ม ได้ที่
https://www.facebook.com/pansfarms

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

จากธุรกิจนำเข้า สู่เจ้าของกรรมสิทธิ์อุปกรณ์ ‘ตู้บริการสื่อสารเอนกประสงค์’ กล่องสมองกลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจร

จากธุรกิจนำเข้า สู่เจ้าของกรรมสิทธิ์อุปกรณ์ ‘ตู้บริการสื่อสารเอนกประสงค์’ กล่องสมองกลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจร

Bangkok Bank SME จะพาไปทำความรู้จักกับธุรกิจในกลุ่มบริษัทโทรคมนาคม (Telco) ที่เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะรู้ว่ารูปแบบของการดำเนินงาน มีภาพรวมของรายละเอียดอย่างไร…
pin
169 | 17/04/2024
‘วรุณา’ นำเทคโนโลยี AI ยกระดับภาคการเกษตรไทย พร้อมดันประเทศสู่สังคม Net Zero

‘วรุณา’ นำเทคโนโลยี AI ยกระดับภาคการเกษตรไทย พร้อมดันประเทศสู่สังคม Net Zero

ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกมีความตื่นตัวและหันมาให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อช่วยดูแลและช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนที่ปัจจุบันทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย…
pin
389 | 10/04/2024
‘เอเชี่ยนแอสฟัลท์’ ผู้เชี่ยวชาญด้านยางมะตอย ขยายไลน์สู่ผู้นำนวัตกรรมวัสดุก่อสร้าง เจาะตลาด Home Use ครบวงจรด้วยเทคโนโลยี

‘เอเชี่ยนแอสฟัลท์’ ผู้เชี่ยวชาญด้านยางมะตอย ขยายไลน์สู่ผู้นำนวัตกรรมวัสดุก่อสร้าง เจาะตลาด Home Use ครบวงจรด้วยเทคโนโลยี

ถนนลาดยาง คืออะไร?ยางมะตอย By-Product จากกระบวนการกลั่นน้ำมันดิบ ลักษณะสีดำ ข้น หนืด ด้วยคุณสมบัติที่ทนทานต่อสภาพอากาศ ทนน้ำ ยึดเกาะกับวัสดุหินได้ดี…
pin
1308 | 01/04/2024
'ไพรัตน์ ฟู้ด' สร้างสรรค์ 'กาแฟเทพเสด็จ' ยกระดับ Thai Specialty Coffee สู่สากล