อยากเสริมทักษะด้านไหน เลือกได้ตามใจ! ชวนรู้จักแหล่งเรียนรู้ สู่การ ‘Upskill - Reskill’ คนทำงานอยู่รอดแม้เผชิญ Digital Transformation

Mega Trends & Business Transformation
27/12/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 6158 คน
อยากเสริมทักษะด้านไหน เลือกได้ตามใจ! ชวนรู้จักแหล่งเรียนรู้ สู่การ ‘Upskill - Reskill’ คนทำงานอยู่รอดแม้เผชิญ Digital Transformation
banner
SME Series ในตอนที่แล้ว เป็นการชี้ให้เห็นว่า Digital Transformation ส่งผลอย่างไร ทำไม? คนทำงานยุคใหม่ต้องมีการปรับตัวด้วยการ Lifelong Learning, Upskill, Reskill เพื่อรับมือกับลักษณะงานยุคดิจิทัล เป็นที่มาของ SME Series ตอนนี้ ที่ต้องการนำเสนอแหล่งเรียนรู้ ชี้เป้าตัวช่วยเสริมทักษะด้านต่าง ๆ สู่การ ‘Upskill - Reskill’ อย่างมีประสิทธิภาพ ให้คนทำงานพร้อมรับมือแม้ต้องเผชิญกับ Digital Transformation ในอนาคต



Digital Transformation ส่งผลให้เกิดการช่วงชิงแรงงานทักษะสูง (War for Talents)

ด้วยการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและนวัตกรรม ส่งผลให้เกิดความต้องการแรงงานทักษะสูง เพื่อรองรับการทำงานที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง จากลักษณะงานที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนาที่มีสัดส่วนของกำลังแรงงานทักษะสูงเพิ่มมากขึ้น

ในขณะที่การศึกษาของ Forbes Thailand ซึ่งสำรวจผู้บริหารระดับสูงขององค์กรใน 19 ประเทศทั่วโลก พบว่า ผู้นำองค์กรธุรกิจ ต่างกังวลว่าจะเกิดภาวะขาดแคลนแรงงานทักษะสูงแบบฉับพลัน ซึ่งผู้นำองค์กรธุรกิจในไทยมีความกังวลเกี่ยวกับการขาดแคลนแรงงานทักษะสูงในอนาคตอันใกล้ มากกว่าผู้นำในประเทศอื่น ๆ จากประเด็นดังกล่าว

ทำให้ทุกประเทศทั่วโลกต่างมีนโยบายแสวงหา ดึงดูดและรักษาคนเก่งจากทุกมุมโลก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศตนเอง อาทิ การผ่อนคลายกฎระเบียบเกี่ยวกับการนำเข้าแรงงานต่างชาติทักษะสูง มาตรการจูงใจทางภาษี การให้เงินสนับสนุน การสร้างวัฒนธรรมยอมรับคนต่างชาติในสังคม รวมถึงการจัดตั้งศูนย์อำนวยความสะดวกเพื่อให้คำปรึกษาชาวต่างชาติที่ต้องการหางานทำในประเทศ


 
เมื่อสถานการณ์แรงงานโลกกำลังปรับตัวตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี แรงงานซึ่งเป็นที่ต้องการในโลกอนาคตจึงจำเป็นต้องเป็น “แรงงานทักษะสูง” รองรับการทำงานที่ควบคู่ไปกับเทคโนโลยีได้ ส่งผลให้ภาวะการจ้างงานนั้นเปลี่ยนแปลงไป หลายภาคธุรกิจต้องการบุคลากรที่มีความรู้ มีทักษะแบบใหม่เข้าทำงาน แต่ก็ประสบปัญหาในการหาแรงงานที่มีทักษะตรงกับความต้องการ

ปัญหานี้มาจากการที่แรงงาน ไม่สามารถใช้โอกาสที่เกิดจาก Technological Disruption ได้อย่างเต็มที่ เพราะขาดการเรียนรู้ ขาดทักษะใหม่ แต่ทว่าทักษะที่จำเป็นและเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานนั้น ก็อาจจะเปลี่ยนไปตามดีมานด์ของธุรกิจ หรือปัจจัยความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ

ดังนั้น ทักษะที่เราพัฒนาในวันนี้ ก็อาจจะไม่เป็นที่ต้องการในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่แรงงานจะต้องพัฒนาตัวเองต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง การส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) Upskill, Reskill ก็อาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยให้การพัฒนาและยกระดับทักษะ ให้สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนำธุรกิจให้อยู่รอดได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง



หลายประเทศทั่วโลก กำลังให้ความสำคัญเรื่อง Lifelong Learning, Upskill, Reskill

สิงคโปร์
มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore : NUS) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง (Nanyang Technological University : NTU) ได้รับการจัดอันดับจากสื่อด้านการศึกษาหลายสำนักว่าเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับต้น ๆ ของโลก เผยว่า วิกฤตการณ์โควิด 19 และอัตราการเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่องของสิงคโปร์

ส่งผลกระทบต่อการเรียนในระดับอุดมศึกษาในสิงคโปร์ การเติบโตของสตาร์ทอัพและบริษัทเทคโนโลยีที่เน้นประสบการณ์มากกว่าวุฒิปริญญา ทำให้การศึกษาในระดับปริญญาขึ้นไปถูกลดทอนความสำคัญ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในสิงคโปร์จึงเริ่มปรับเปลี่ยนบทบาทและหน้าที่ของมหาวิทยาลัย รวมทั้งปฏิรูปการบริหารและหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นไปตามทิศทางและแนวโน้มของโลกสมัยใหม่

นำมาสู่การพัฒนาทักษะ “เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต” (Lifelong Learning) เป็นภารกิจสำคัญและจำเป็น โดย NUS ได้เริ่มจัดตั้ง School of Continuing and Lifelong Education เมื่อปี 2558 เน้นพัฒนาความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงานยุคใหม่ให้กับศิษย์เก่า ด้วยแนวความคิดว่า ผู้คนในปัจจุบันไม่ควรหยุดเรียนรู้ แต่ควรเพิ่มพูนทักษะใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา

เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันในตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยจะออกหลักสูตรใหม่ ๆ อย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งให้สิทธิแก่ศิษย์เก่าทุกคนในการกลับมาเรียนหลักสูตรระยะสั้นได้หนึ่งหลักสูตรโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2565 NUS ได้จัดงานประชาสัมพันธ์หลักสูตรระดับประกาศนียบัตรชั้นสูง (Graduate Certificate) ให้กับประชาชนทั่วไปในงาน Lifelong Learning Festival ที่จัดขึ้นครั้งแรกที่วิทยาเขต Kent Ridge ของ NUS เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการศึกษาขั้นสูงได้ง่ายขึ้นในราคาที่ไม่แพง โดยส่วนใหญ่เป็นหลักสูตรนอกเวลาทำการและเริ่มการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2022/2023 กว่า 70 หลักสูตร เช่น Graduate Certificate in Analytics and Technology Management และ Graduate Certificate in Technological Innovation Management โดยมอบส่วนลดค่าเล่าเรียน 10% แก่ประชาชนทั่วไป และลดเพิ่มอีก 5% สำหรับศิษย์เก่าของ NUS

นอกจากนี้ NUS ได้เปิดตัวแอปพลิเคชันมือถือ “NUS Career+” ที่พัฒนาล่าสุด ผู้ใช้งานสามารถบันทึกประวัติการศึกษา ประวัติการทำงาน และทักษะต่าง ๆ และเลือกตำแหน่งงานที่ต้องการ แอปพลิเคชันจะใช้ฐานข้อมูลจากเว็บไซต์จัดหางานต่าง ๆ มาประมวลผลเพื่อระบุทักษะที่ผู้ใช้งานควรจะเรียนรู้เพิ่มเติม และแนะนำหลักสูตรจากสถาบันต่าง ๆ ในประเทศที่เปิดสอน NUS พัฒนา Career+ มาตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยในสิงคโปร์ยังได้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ร่วมในการสอนอย่างจริงจัง โดยได้นำเทคโนโลยีโลกเสมือนจริง (virtual reality: VR) และเทคโนโลยีโลกเสมือนผสานโลกแห่งความจริง (augmented reality: AR) มาใช้ในการเรียนการสอน เช่น การจำลองสถานการณ์อาชญากรรม ภาพสามมิติของหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และลายนิ้วมือ หรือการจำลองสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาลเพื่อให้นักศึกษาแพทย์เรียนรู้ด้านความปลอดภัยให้กับผู้ป่วย การใช้แชตบอท AI จำลองบทสนทนาระหว่างผู้ป่วยกับนักศึกษาแพทย์

เพื่อฝึกฝนทักษะด้านการสื่อสารและการจ่ายยา สิงคโปร์มั่นใจว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ จะช่วยเติมเต็มการเรียนการสอนให้สมบูรณ์มากขึ้น โดยสามารถทำซ้ำอย่างไม่จำกัดและประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งจะช่วยให้การศึกษาในมหาวิทยาลัยยิ่งโดดเด่น มีประสิทธิภาพ และแข่งขันได้ดียิ่งขึ้นในระยะยาว

ญี่ปุ่น 
ประเด็นทางสังคมที่ท้าทายของญี่ปุ่นในปัจจุบัน คือเรื่องการพัฒนาผู้สูงอายุ เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ โดยมีประชากรผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป สูงถึงร้อยละ 27.2 และมีประชากรที่มีอายุเกินหนึ่งร้อยปีสูงเป็นประวัติการณ์ จำนวนกว่า 86,000 คน

 ทั้งนี้ รัฐบาลมีแนวทางพัฒนาให้ญี่ปุ่นเป็นสังคม 5.0 ที่มุ่งเน้น ‘IOT’ (Internet of Things) หรือการที่ทุกสิ่งทุกอย่างสามารถเชื่อมโยงสู่โลกอินเทอร์เน็ตผ่านเทคโนโลยียุคใหม่ โดยสิ่งนี้มีส่วนอย่างมากในการเข้ามาช่วยสนับสนุนชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรสูงวัย ขณะที่หน่วยงานด้านการศึกษา มีความพยายามส่งเสริมให้ผู้สูงอายุทุกคนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยจัดการศึกษาให้แก่ผู้สูงอายุในรูปแบบต่าง ๆ มากขึ้น

ในภาพกว้างขึ้นมา ญี่ปุ่นมีการปฏิรูปการศึกษาครั้งล่าสุดในปี 2018 หัวใจสำคัญคือการเตรียมพลเมืองเข้าสู่ปี 2030 อย่างมีความสุขและเท่าทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว 
กระทรวงศึกษาธิการได้ปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานให้เป็น ‘หลักสูตรไปสู่สังคม’ มุ่งพัฒนาคน 3 ข้อ คือ 

1) ให้ทุกคนมีความรู้และทักษะในการทำงานประกอบอาชีพและดำรงชีวิตอยู่ได้ 

2) ให้นำความรู้ไปสู่การปฏิบัติ โดยปลูกฝังให้เด็กมีความสามารถในการคิด ตัดสินใจ และแสดงความคิดเห็น 

3) ให้มีการเชื่อมโยงระหว่างตนเองกับสังคม ให้กินดีอยู่ดี สร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้และหล่อหลอมความเป็นมนุษย์

ทิศทางการดำเนินนโยบายการศึกษาของญี่ปุ่น คือการลงทุนสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ โดยมีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่โครงการ ‘Super Science High School’ เพื่อพัฒนาความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ระดับโรงเรียน การสร้างเยาวชนรุ่นใหม่ให้เป็นพลเมืองโลกที่มีภาวะผู้นำ มีความรู้ความเข้าใจในปัญหาสังคม มีความสามารถในการแก้ปัญหา และมีความสามารถในการสื่อสาร

ส่วนในระดับอุดมศึกษา มีโครงการ ‘Super Global University’ เพื่อสร้างนวัตกรรมที่แข่งขันได้ในระดับนานาชาติ และยังมีนโยบายลดจำนวนนักศึกษาสายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ในมหาวิทยาลัยของรัฐ เพื่อผลิตนักศึกษาสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้มากขึ้น สอดคล้องกับอุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ ญี่ปุ่นมีผลการสอบ PISA ในปี 2018 ในวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน มากกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ OECD (Organization for Economic Co-operation and Development)

เอสโตเนีย

เอสโตเนียเป็นประเทศแรกของโลก ที่ประกาศให้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน โดยมีการประกาศ ‘วาระดิจิทัลแห่งชาติ 2020’ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ให้พร้อมสำหรับการเติบโตของการเชื่อมต่อข้อมูลสารสนเทศยุคใหม่ และยกระดับบริการสาธารณะต่างๆ ให้เข้าถึงง่ายและมีประสิทธิภาพมากที่สุด

เอสโตเนียมีบัตรประชาชนอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่ปี 2002 ซึ่งสามารถใช้เป็นพาสปอร์ตเพื่อท่องเที่ยวทั่วยุโรป เป็นประเทศแรกที่มีการเลือกตั้งออนไลน์ได้จากที่บ้าน ประชาชนสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ทุกที่ด้วยบริการ Wi-Fi ฟรี สามารถใช้บริการด้านสุขภาพแบบดิจิทัลและรับใบสั่งยาดิจิทัล ขณะที่การทำธุรกรรมต่างๆ ก็สามารถทำได้สะดวกรวดเร็ว เช่น การเปิดบริษัท ใช้เวลาเพียง 20 นาที โดยใช้หลักฐานแค่บัตรประชาชนใบเดียว

หลักสูตรของประเทศเอสโตเนียแตกต่างจากประเทศอื่น คือมีเนื้อหาด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ในทุกระดับชั้น เด็กทุกคนมีทักษะในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้ ทั้งยังสร้างโอกาสในการเรียนรู้สำหรับผู้ใหญ่ให้เพิ่มพูนความสามารถด้านดิจิทัล เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและช่วยทำให้งานมีประสิทธิผลมากขึ้น

มีการกำหนดยุทธศาสตร์การเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่มีจุดมุ่งหมาย 5 ประการ คือ เปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ โดยกำหนดหลักสูตรแห่งชาติที่ทันสมัย สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม เน้นความคิดสร้างสรรค์ การคิดแบบมีตรรกะ และภาษาอังกฤษ  สร้างความสามารถและแรงจูงใจครูและผู้บริหารโรงเรียน โดยปรับฐานเงินเดือนครูให้สูงขึ้นและให้อิสระอย่างเต็มที่กับครูในการสอน

สร้างโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิต ให้ทุกเขตมีโรงเรียนสายอาชีพให้ทุกคนเข้าถึงและเดินตามฝันได้ ไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนของประเทศ เน้นเทคโนโลยีดิจิทัล สามารถเข้าถึง E-learning 100% ทั่วประเทศ สร้างความเสมอภาคและการมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ตลอดชีวิต ในรูปแบบสวัสดิการทางสังคม เช่น นักเรียนทุกคนได้เรียนฟรี ได้รับอาหารกลางวันฟรี และยังมีทุนการศึกษาต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ

แคนาดา

เป็นประเทศที่มีประชากรผู้ใหญ่วัยทำงานในสัดส่วนสูงที่สุด เมื่อเทียบกับอัตราเฉลี่ยของประเทศพัฒนาแล้วในกลุ่ม OECD เมื่อปี 2019 Royal Bank of Canada (RBC) ได้เผยแพร่งานศึกษาเรื่อง ‘Humans Wanted’ เพื่อส่งสัญญาณเตือนถึงรัฐบาล สถาบันการศึกษา ภาคธุรกิจ และสาธารณชน ว่าหากไม่มีการทำอะไรสักอย่าง ภายใน 1-2 ทศวรรษข้างหน้า ชาวแคนาดาจะไม่สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงด้านอาชีพ โดยมีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2030 แรงงานจำนวนมากกว่าร้อยละ 10-12 จะถูกแทนที่โดยเทคโนโลยี

ด้วยเหตุนี้ แคนาดาจึงให้ความสำคัญกับการเตรียมให้พร้อมสำหรับตลาดแรงงานในอนาคต มีการกำหนดนโยบายการเรียนรู้แห่งชาติ เพื่อผลักดันให้เกิดการสนับสนุนการเรียนรู้ของกลุ่มคนทำงานที่เป็นผู้ใหญ่ ให้มีทักษะเพิ่มเติมจากทักษะเดิม และสามารถรองรับงานในอนาคตได้ รวมทั้งการกำหนดยุทธศาสตร์การศึกษา ‘Learn Canada’ ซึ่งมุ่งยกระดับคุณภาพและโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตของชาวแคนาดาทุกคน

ยุทธศาสตร์ดังกล่าว เป็นการปูทางไปสู่อีกหลายโครงการสำคัญเพื่อสร้างความมั่นคงในการทำงาน เช่น ข้อตกลงด้านการพัฒนากำลังแรงงาน ซึ่งสนับสนุนการพัฒนาทักษะ เพิ่มพูนประสบการณ์การทำงาน ไปจนถึงการริเริ่มธุรกิจใหม่ ๆ หรือโครงการ ‘Future Skills’ ที่มีบทบาทวิเคราะห์แนวโน้มสำคัญของโลก รวมทั้งทดสอบวิธีการและนวัตกรรมในการเตรียมชาวแคนาดาให้พร้อมกับการทำงานในอนาคต

นอกจากนี้ ยังมีระบบ ‘Canada Training Credit’ ซึ่งแรงงานอายุระหว่าง 25-64 ปี จะได้รับเครดิตสำหรับฝึกอบรม 1,000 เหรียญแคนาดา เพื่อนำไปใช้สำหรับการเข้าฝึกอบรมในเรื่องที่ตัวเองสนใจ มีโครงการ ‘Youth Employment and Skills Strategy’ ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนได้เข้ารับการอบรมและฝึกทักษะจากการทำงานจริงในองค์กรต่าง ๆ 

หันกลับมามองประเทศไทย การจะทำให้แรงงานบ้านเรามีทักษะและความรู้เป็นที่ต้องการในตลาดแรงงาน จำเป็นอย่างมากที่คนทำงานต้องหมั่นเรียนรู้ พัฒนาทักษะใหม่ ๆ ต่อเนื่องตลอดชีวิต แต่โจทย์สำคัญคือ จะทำอย่างไรให้แรงงานได้พัฒนาทักษะทั้ง Upskill และ Reskill ให้ทันต่อความท้าทายที่กำลังเกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้ Bangkok Bank SME จึงขอเป็นหนึ่งช่องทางในการร่วมผลักดัน ให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ ๆ ขึ้นจริงอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการรวบรวมแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ มาให้คนทำงานได้เลือกเสริมทักษะตามถนัด ดังนี้ 



ชี้ช่องส่องตัวช่วย เสริมองค์ความรู้ Upskill และ Reskill



สถาบันวิทยาการนวัตกรรม (NIA Academy)

คือสถาบันเฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญด้านการจัดการนวัตกร จัดตั้งขึ้นเพื่อให้ผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจ ผู้บริหาร ภาครัฐ เอกชน นักศึกษา ตลอดจนบุคคลทั่วไปที่สนใจ ได้เรียนรู้การยกระดับความสามารถทางนวัตกรรมสู่ความสําเร็จอย่างสร้างสรรค์ โดยได้รวบรวมหลักสูตรการยกระดับความสามารถทางนวัตกรรมที่มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับ มีความน่าเชื่อถือ ตลอดจนศึกษาแนวโน้มในอนาคต วิธีการนําเสนอใหม่ ๆ รวมไปถึงการนำเอากรณีศึกษาของคนไทย มาใช้ในการเรียนรู้ร่วมกัน

NIA Academy MOOCs ทำหน้าที่เป็นระบบและศูนย์กลางการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ ระบบเปิดสำหรับมหาชนแห่งชาติ เพื่อรองรับ “การศึกษาระบบเปิดเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต” (Lifelong Learning Space) ที่มีความเชี่ยวชาญ “ด้านนวัตกรรม” โดยเฉพาะ 



ดีป้า

ได้จัดตั้ง ‘ศูนย์พัฒนาทักษะดิจิทัล’ เพื่อยกระดับการเรียนอาชีวศึกษาและผู้ประกอบการ (I AM Digital Studio and Cloud - Learning Space) ยกระดับสถาบันอาชีวะให้เป็นศูนย์กลางความเป็นเลิศด้านการพัฒนาทักษะดิจิทัล 3 ด้าน กล่าวคือ ด้าน Data Science ด้านการประยุกต์เทคโนโลยี Co-Bot (Collaborative Robot) นวัตกรรมหุ่นยนต์อัจฉริยะ และด้านการพัฒนา Digital Media



Thailand Cyber University Project (TCU)

โครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย (คซท.) จะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลาง ในการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการสอน และ สนับสนุนหน่วยงานการศึกษาในการนำเทคโนโลยีด้านการเรียนรู้เข้ามาปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เป็นหน่วยงานกลาง ที่ริเริ่ม ประสานและสนับสนุนสถาบันอุดมศึกษาในการจัดการศึกษาแบบอีเลิร์นนิง ( e-Learning) อย่างมีคุณภาพ และมีมาตรฐานสูงและเหมาะสมอย่างพึ่งพาตนเองได้



ThaiMOOC

เว็บไซต์เรียนออนไลน์ฟรี ที่เกิดจากความร่วมมือของหน่วยงานรัฐ และมหาวิทยาลัยหลายแห่ง เช่นเดียวกับ TCU แต่เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการเรียนเพื่อสายอาชีพ เช่น บัญชี ภาษา การออกแบบ การพัฒนาเว็บ การพยาบาลผู้สูงอายุ เป็นต้น ซึ่งมีการสอนทั้งแบบวิดีโอ มีเอกสารประกอบการสอน และมีข้อสอบในบางบทเรียน



CHULA MOOC

เว็บไซต์เรียนออนไลน์ของจุฬาฯ ซึ่งเป็นวิชาที่สอนโดยคณะอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีวิชาเรียนน้อยกว่า ThaiMOOC แต่มีความหลากหลายตามแต่ละคณะ โดยเข้าเรียนผ่านระบบ Courseville ที่สามารถเชื่อมต่อด้วย Facebook ได้ ซึ่งการเรียนการสอนจะอยู่ในรูปแบบวิดีโอ และเมื่อเรียนครบหรือทำคะแนนได้ตามที่กำหนด จะได้รับเกียรติบัตรรับรอง


ภาพจาก : https://thaipublica.org/2020/11/eec-model-education/

EEC Model Type B 

เป็นหลักสูตรของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EEC โดยเป็นการฝึกอบรมระยะสั้นแบบ Short-course Module เพื่อผลิตกำลังคนให้ทันต่อ ความต้องการของภาคเอกชน และปรับทักษะ (Re-skill) เพิ่มทักษะ (Up-skill) ในระยะเร่งด่วน โดยมี ระยะเวลาฝึกอบรมตั้งแต่ 1 วัน ถึง 1 ปี



Mux (Mahidol University Extension)

ปัจจุบันการเรียนรู้ภายในห้องเรียนนั้นไม่เพียงพอต่อการศึกษาเรียนรู้และการทำงานอีกต่อไป ดังนั้นการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ภายนอกจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยยกระดับความรู้ให้มีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งแหล่งรู้ออนไลน์ (Online Learning Platform) ก็จะเป็นส่วนช่วยสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนการเรียนรู้ดังกล่าว ตามคำว่า “การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning)” 
โดย MUx เป็นแหล่งเรียนรู้แบบเปิดที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียน ให้สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลการเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา



‘CMU Lifelong Education’

‘มหาวิทยาลัยเชียงใหม่’ ได้มีการส่งเสริมการศึกษาตามอัธยาศัยนอกระบบโรงเรียน โดยจัดตั้ง ‘วิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่’ หรือ ‘CMU School of Lifelong Education: CMU-LE’ ขึ้น เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต ด้วยการ Reskill - Upskill กับหลักสูตรที่จะพัฒนาทักษะของผู้เรียนไปได้เรื่อย ๆ โดยไม่มีขีดจำกัด ให้ความสำคัญกับ Hard Skills และ Soft Skills ควบคู่ไปด้วยกัน ซึ่งมีหลักสูตรให้เลือกมากมาย

ศูนย์การเรียน SIAMTECH Electric Vehicle Learning Center (EV-LC) 

ถือเป็นอีกแหล่งสำคัญใน “การผลิตกำลังคนดิจิทัล” ของประเทศ ด้านยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อยกระดับองค์ความรู้และทักษะสำคัญด้านยานยนต์ไฟฟ้า ก่อนก้าวสู่การเป็นบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญในตลาดแรงงานของประเทศ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน พร้อมขับเคลื่อนประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเต็มรูปแบบในอนาคต

SkillLane

เว็บไซต์เรียนออนไลน์ที่เกิดจาก StartUp สายการศึกษา มีทั้งคอร์สฟรีและเสียเงิน โดยเป็นคอร์สที่ เน้นเรียนรู้เพื่อให้ใช้งานในชีวิตการทำงานจริงได้ เช่น การเงินการลงทุน การพัฒนาตัวเอง การใช้โปรแกรมต่าง ๆ สอนโดยผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้น ๆ การเรียนการสอนเป็นรูปแบบวิดีโอ มีเอกสารประกอบ มีแบบทดสอบ และการประเมินผลหลังเรียนจบ

กลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.)

กลุ่ม มทร. มีนโยบายและการขับเคลื่อนการจัดการเรียนการสอนร่วมกับอุตสาหกรรมและการเรียนรู้ตลอดชีวิต อาทิ การจัดทำหลักสูตรสหกิจศึกษา การจัดรูปแบบการเรียนการสอนแบบ Work-integrated Learning การจัดทำหลักสูตรระยะสั้น และการจัดทำระบบธนาคารหน่วยกิต นอกจากนี้สามารถแบ่งกลุ่มความเชี่ยวชาญของ มทร. เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 

1) Industrial & technology transformation 
2) Agricultural transformation 
3) Tourism transformation 

ซึ่งข้อเสนอการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของกลุ่ม มทร. ได้แก่ การร่วมยกระดับศักยภาพของ กศน. ในทุกมิติ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชน การมุ่งสู่การผลิตกำลังคนร่วมกับภาคเอกชน การสร้างแพลตฟอร์มและหลักสูตรระยะสั้น เพื่อพัฒนาทักษะกำลังแรงงาน และการส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้สูงวัยอย่างมีคุณภาพ

กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.)

มีจุดเด่นด้านการพัฒนาท้องถิ่น โดยแบ่งกลุ่มความเชี่ยวชาญเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 

1) เกษตรและอาหาร 
2) การท่องเที่ยว 
3) ชุมชนท้องถิ่น 
4) เศรษฐกิจสร้างสรรค์ 
5) การศึกษา 

ซึ่งข้อเสนอการพัฒนากลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มแรงงานฐานรากและผู้สูงอายุของบทบาท มรภ. เช่น พัฒนาแพลตฟอร์มส่งเสริมโรงเรียนขนาดเล็ก พัฒนาศักยภาพเศรษฐกิจท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน ขยายนโยบาย University as a marketplace รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อเสริมศักยภาพให้ผู้ประกอบการในท้องถิ่น



‘ผู้ประกอบการ’ หัวเรือสำคัญ นำทางองค์กรสู่การปรับเปลี่ยน

นอกเหนือจากการปรับตัวของพนักงานเองแล้ว ผู้ประกอบการและ SME ถือเป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจและแรงกระตุ้นหลักที่นำพาให้องค์กรก้าวต่อไปในยุคสมัยที่ทัศนียภาพทางธุรกิจเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เมื่อธุรกิจและพนักงานต้องการที่พึ่ง ผู้ประกอบการควรเรียนรู้ที่จะปรับเปลี่ยน Mindset ที่มีต่อ องค์กร บุคลากร และลูกค้า เพื่อเป็นหลักยึดและให้สามารถรับมือกับทุกสถานการณ์ได้อย่างมืออาชีพ

ด้านองค์กร

เมื่อประกอบธุรกิจในยุคดิจิทัล ธุรกิจเริ่มขับเคลื่อนและเรียนรู้จากการศึกษาข้อมูล ผู้ประกอบการต้องติดตามความเคลื่อนไหวของวงการดิจิทัล การพัฒนาของเครื่องไม้เครื่องมือเทคโนโลยี พร้อม เปิดรับข้อมูลใหม่ ๆ และ นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ อาทิ โซเชียลมีเดีย การจัดการข้อมูลบน Cloud Collection มีการใช้เครื่องมือวัดผลทางดิจิทัล อาทิ Google Analytics ที่ถือเป็นแหล่งข้อมูลชั้นเยี่ยม มาประยุกต์ใช้ศึกษาพฤติกรรมทางดิจิทัลของผู้บริโภค

นำ Insight ที่ได้มาต่อยอด สร้างองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านกลยุทธ์ทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่นอกจากจะสร้างประโยชน์ให้ทั้งลูกค้าและองค์กรในระยะยาวได้แล้ว ยังมีประสิทธิภาพและสามารถนำกลับมาทำซ้ำได้ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการต้องทำความเข้าใจวัฏจักรของธุรกิจ เมื่อประสบพบเจอกับปัญหา ต้องเตรียมพร้อมแก้ปัญหาและเริ่มต้นใหม่ อยู่เสมอ

ด้านบุคลากร 

ในยุคดิจิทัล ลักษณะงานและรูปแบบการทำงานมีการเปลี่ยนแปลงไป ผู้ประกอบการต้องรู้จักรักษาบุคลากรคุณภาพผ่านการพัฒนาทักษะพนักงาน เพิ่มเติมความรู้ทางด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีให้แก่พนักงาน อาทิ การใช้งาน Cloud หรือการใช้งานโซเชียลมีเดียเพื่อการตลาด พร้อมพิจารณาเพิ่มความยืดหยุ่นให้พนักงาน เพื่อปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ไม่คาดฝัน เช่น เปิดโอกาสให้พนักงานทำงานที่บ้านท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาด การให้สิทธิ์วันพักร้อนที่ยาวนานกว่าเดิม
 
เมื่อถึงเวลามองหาบุคลากรใหม่ ต้องยึดหลักการ สร้างทีมที่มีประสิทธิภาพ มีความรู้รอบด้าน ทั้งทักษะด้าน Hard Skill และ Soft Skill สามารถบริหารจัดการเวลา บริหารงานภายในระยะเวลาที่กำหนด ทำงานเป็นทีมหรือทำงานทดแทนบุคลากรในส่วนที่ขาดได้ จดจำ ให้ความสำคัญ และตอบแทนพนักงาน ที่พร้อมฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ไปพร้อมกับองค์กร ผ่านค่าตอบแทนและสวัสดิการที่คุ้มค่าและสมเหตุสมผล

หมั่นสำรวจปัญหาความขัดแย้ง ความพึงพอใจในการทำงานของพนักงาน และนำมาปรับปรุงพัฒนาสภาพแวดล้อมในที่ทำงานให้ดียิ่งขึ้น เพื่อสร้างความผูกพันต่อองค์กรและผลิตภาพ (Productivity) ในการทำงานสูงสุด

ด้านลูกค้า 

เมื่อผู้ประกอบการนำเอาหลักการ Lean Startup มาปรับใช้โดย ให้ความต้องการของลูกค้าเป็นตัวตั้งต้น องค์กรจะรู้จักและเข้าใจความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง และสามารถนำมาพัฒนาสินค้าและบริการ เพื่อสร้างรายได้และทำกำไรต่อยอดธุรกิจได้ในที่สุด

แหล่งอ้างอิง : สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์, สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI), สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)
https://www.straitstimes.com/singapore/parenting-education/10-rebate-on-nus-masters-course-fees-with-extra-5-off-for-nus-graduates 
https://www.straitstimes.com/singapore/660000-singaporeans-tapped-skillsfuture-schemes-last-year-up-from-540000-in-2020 
https://www.salika.co/2021/03/17/lifelong-learning-thai-education-trend/ 
https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/DocLib_/Article_8Dec2020-2.pdf 
http://www.oic.go.th/FILEWEB/CABINFOCENTER6/DRAWER041/GENERAL/DATA0000/00000749.PDF 
https://www.bangkokbiznews.com/business/business/1033947 
https://elibrary.ksp.or.th/index.php?lvl=cmspage&pageid=4&id_article=246 
https://hbr.org/2021/10/what-motivates-lifelong-learners

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ธุรกิจยุคดิจิทัล ต้อง Transformation อย่างไร เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ในเทศกาลสงกรานต์

ธุรกิจยุคดิจิทัล ต้อง Transformation อย่างไร เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ในเทศกาลสงกรานต์

ความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ กลายเป็นโจทย์หลักของนักการตลาดในยุคดิจิทัล หากเจาะลึกลงไปจะพบว่าการเปลี่ยนแปลงจนทำให้เกิดการดิสรัปด้านเทคโนโลยีรอบนี้…
pin
528 | 10/04/2024
5 เทคโนโลยีสุดล้ำ ที่ธุรกิจนำมาปรับใช้เป็นกลยุทธ์ใหม่กระตุ้นยอดขาย ดึงลูกค้า ช่วงมหาสงกรานต์ 2567

5 เทคโนโลยีสุดล้ำ ที่ธุรกิจนำมาปรับใช้เป็นกลยุทธ์ใหม่กระตุ้นยอดขาย ดึงลูกค้า ช่วงมหาสงกรานต์ 2567

ประเพณีสงกรานต์ของไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน สนับสนุนให้ “สงกรานต์” เป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์เทศกาลระดับโลก…
pin
3304 | 10/04/2024
5 นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี ตอบโจทย์เทรนด์รักสุขภาพองค์รวม 'Holistic Health' เมื่อคนยุคใหม่มองหาสุขภาวะที่ดีขั้นสุด

5 นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี ตอบโจทย์เทรนด์รักสุขภาพองค์รวม 'Holistic Health' เมื่อคนยุคใหม่มองหาสุขภาวะที่ดีขั้นสุด

การดูแลสุขภาวะที่ดีกำลังเป็นโจทย์สำคัญด้านสาธารณสุขของประเทศ ในห้วงเวลาที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็น “สังคมสูงวัย “ (Aged Society) โดยมีข้อมูลพบว่าตั้งแต่ปี…
pin
970 | 25/03/2024
อยากเสริมทักษะด้านไหน เลือกได้ตามใจ! ชวนรู้จักแหล่งเรียนรู้ สู่การ ‘Upskill - Reskill’ คนทำงานอยู่รอดแม้เผชิญ Digital Transformation