แนวโน้มสำคัญอุตสาหกรรมการผลิตไทยในปี 2566 ผู้ประกอบการไทยจะรับมืออย่างไร ?

SME Update
30/12/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 7507 คน
แนวโน้มสำคัญอุตสาหกรรมการผลิตไทยในปี 2566  ผู้ประกอบการไทยจะรับมืออย่างไร ?
banner
ภาพรวมสถานการณ์เศรษฐกิจและการลงทุนในปี 2565 คงต้องบอกว่าเป็นปีที่หนักหนาสาหัสไม่น้อย เพราะเป็นปีที่เศรษฐกิจมีความผันผวนตลอดทั้งปี และความผันผวนดังกล่าวจะต่อเนื่องไปในปี 2566 แต่หากนักลงทุนเข้าใจสถานการณ์ เข้าใจแนวโน้มเศรษฐกิจภาพใหญ่ หรือเทรนด์สำคัญของโลกที่กำลังเปลี่ยนไป ก็จะสามารถตัดสินใจลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และคว้าโอกาสต่าง ๆ ที่กำลังเปิดเข้ามาเป็นโอกาสของตัวนักลงทุนและผู้ประกอบการ



ความคืบหน้าของอุตสาหกรรมเป้าหมาย และแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในปี 2566

ในอดีต การจะใช้เทคโนโลยีอย่างเซมิคอนดักเตอร์ เป็นเรื่องยากมากที่จะเข้าถึงและหาซื้อมาใช้ด้วยปัจจัยด้านราคา แต่ปัจจุบันมูลค่าของเทคโนโลยีเพิ่มเป็น 50 % เท่ากับความต้องการในใช้งานที่เพิ่มมากขึ้นของเซมิคอนดักเตอร์ ที่มีมูลค่าการใช้งานถึง 50 % เมื่อเทียบกับสมัยก่อน สอดคล้องกับพฤติกรรมของคนไทยที่แม้จะไม่ได้คิดเทคโนโลยีเองก็ตาม แต่ก็ใช้งานได้เก่ง ยิ่งในช่วงที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) การใช้งาน cloud Adoption Services by Private Sector ที่เพิ่มสูงขึ้นถึง จาก 20 % เป็น 75 % เกือบ 2 เท่าตัวแม้แต่การ Work from Home ก็จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเช่นเดียวกัน นับว่าคนไทยคุ้นชิ้นกับการใช้เทคโนโลยีเป็นอย่างมาก

สำหรับเป้าหมายใน 3 - 4 ปี ที่ EEC (Eastern Economic Corridor) หรือเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกต้องการดึงดูด คือ บริษัทที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีพื้นฐาน เพื่อให้สอดคล้องโครงสร้างพื้นฐานที่ EEC ได้ลงไปแล้วกว่า 80 - 90 % มั่นใจได้ว่าด้วยกลไกของ Gross Provincial. Product: GPP หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด ตั้งเป้าไว้ว่าในแต่ละปีต้องมีการลงทุนไม่ต่ำกว่า 2 แสนกว่าล้านใน 5 ปีข้างหน้า จากอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น

-อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ โดยปีแรกจะเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ EV เพียงปีแรกก็มีบริษัทมาร่วมลงทุนไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านจากเป้าที่ตั้งไว้ถึง 4 หมื่นล้าน ต่อด้วย Monorail จะเข้ามาอีก 2 แสนล้านในปีถัดไป

-5G อุตสาหกรรมดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์ นับเป็นเรื่องที่ดีมากที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับ สำนักงาน กสทช. ได้ประมูลคลื่นความถี่ 5G ซึ่งเหมาะกับการใช้งาน Industrial 4.0 และสามารถประยุกต์ใช้กับงานด้านสาธารณสุขและด้านการศึกษาต่อไป ล่าสุด เป็นเรื่องที่น่ายินดีมากที่จะมีบริษัทรายใหญ่สนใจจะใช้ประโยชน์จาก 5G เช่น ผู้เล่นอย่าง Google หรือ AWS สนใจเข้ามาตั้ง Data Center ในประเทศไทย และเพื่อให้เกิด Data Industrial ทาง EEC อาจมีแนวคิดในการตั้ง Common data lack ในอนาคตก็เป็นได้ เพื่อให้อุตสาหกรรมนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์

-อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง ทาง EEC มีความร่วมมือกับประเทศจีน พร้อมทั้งสร้างความร่วมมือกับทางสวิสเซอร์แลนด์ ในการสร้างศูนย์ Genomics ที่ใหญ่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อดึงดูดผู้ลงทุนด้าน Biologic เช่น ยาสมัยใหม่  

-อุตสาหกรรมขนส่งโลจิติกส์ EEC สนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยเป็นผู้ดำเนินการด้านโลจิสติกส์ในพื้นที่มากขึ้น เช่น การขนส่งที่สนามบินอู่ตะเภา



ความท้าทาย ‘ เศรษฐกิจไทย ปี 2566 ’ กับการปรับตัวของภาคธุรกิจ

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้อัปเดตเศรษฐกิจ และแนวโน้มสำคัญสำหรับการลงทุนในปี 2566 โดย ดร.กอบศักดิ์ มองว่า แม้ความผันผวนจะต่อเนื่องไปในปี 2566 แต่จะเป็นปีที่เป็นโอกาสในการลงทุน เป็นปีที่สำคัญที่สุด ที่ผู้ประกอบการไม่ควรพลาด สำหรับแนวโน้มสำคัญสำหรับการลงทุนในปี 2566 ได้แก่

-การกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

หลังจากที่ประเทศไทยจัดการกับสถานการณ์โควิด-19 โดยมีการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง และเริ่มผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศ โดยเปิดประเทศเต็มรูปแบบตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2565 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้น โดยจากสถิติ 9 เดือนแรก ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 30 ก.ย. 2565 พบว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสม 6,018,943 คน เฉลี่ย 668,771 คนต่อเดือน

ซึ่งยอดรวมทะลุ 6 ล้านคนตามที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้คาดการณ์ไว้ โดยนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยอะที่สุด ได้แก่ มาเลเซีย อินเดีย ลาว สิงคโปร์ และกัมพูชา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศเพื่อนบ้าน และมีความเป็นไปได้สูงว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยถึง 10 ล้านคนในสิ้นปีนี้ 

ดร.กอบศักดิ์ กล่าวว่า ภาคการท่องเที่ยวจะเป็นภาคที่ดีเด่นเป็นพิเศษ เพราะคิดเป็น 15 % ของ GDP ไทย และเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว ดังนั้น ภาคท่องเที่ยว จึงเป็นธีมสำคัญในการลงทุน และในภาคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ร้านอาหาร การเดินทาง รวมถึงของฝาก ก็จะได้รับอานิสงค์ด้วย

-การกลับเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ

หลังจากที่เปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ นักธุรกิจเริ่มกลับมาเดินทางอีกครั้ง ดร.กอบศักดิ์ ได้ยกตัวอย่างข่าวดีของไทย เช่น บริษัท BYD บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของจีน ตัดสินใจซื้อที่ดิน 600 ไร่จากบริษัท WHA เพื่อมาลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และส่งออก 150,000 คันต่อปี หรือบริษัท AWS (Amazon Web Services) ผู้ให้บริการคลาวด์รายใหญ่ในเครือ Amazon ตัดสินใจลงทุนครั้งสำคัญในไทย ตั้ง Cloud Region และเตรียมต่อยอดลงทุนระยะยาวอีกเกือบสองแสนล้านบาท และบริษัท Google ก็อาจจะตามมาด้วยเช่นกัน

ที่สำคัญไปกว่านั้น ดร.กอบศักดิ์ มองว่า อาเซียนกำลังกลายเป็น Key Gateway ในการเข้าสู่เอเชีย โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากรัสเซียกำลังทำสงคราม นักลงทุนที่ไปลงทุนแล้วต้องถอนทุนกลับมา ขณะที่จีนก็กำลังมีปัญหากับสหรัฐฯ และไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในช่วงต่อไป จีนจึงกลายเป็นประเทศที่หลายคนกำลังคิดว่าอาจจะไม่ใช่ที่เหมาะสมในการเอาเงินไปลงทุนช่วงนี้ ส่วนอินเดีย แม้จะเป็นเป้าหมายที่น่าสนใจและกำลังเติบโตได้ดี แต่ในอินเดียแต่ละเมืองหรือแต่ละพื้นที่ล้วนมีกฎเกณฑ์ของตนเอง 

ขณะเดียวกันการทำธุรกิจกับคนอินเดียก็ไม่ง่าย จะเหลือแค่อาเซียนที่เป็นประตูเมืองที่เปิดกว้าง รับนักลงทุน อยู่ง่าย อยู่สบาย ต้นทุนกำลังดี มีกำลังซื้อที่เหมาะสม อาเซียนคือจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ จึงทำไมการลงทุนต่างประเทศกำลังหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศไทยและประเทศในภูมิภาค



-อุตสาหกรรมในช่วงต่อไป : Intermediate S-Curve

การพัฒนาเศรษฐกิจไปสู่อนาคต เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดร.กอบศักดิ์ มองว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาป เครื่องฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (Hard Disk Drive) อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างง่าย พลังงานเชื้อเพลิงที่มาจากฟอสซิล หรือแม้กระทั่งอาหาร อุตสาหกรรมเหล่านี้กำลังถูก Disrupt และทุกคนกำลังมุ่งหน้าลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และดร.กอบศักดิ์ ยังมองอีกว่าประเทศไทยต้องก้าวขึ้นสู่การใช้เทคโนโลยีในขั้นถัดไป ซึ่งต้องล้ำสมัยเพื่อหา Value ที่สำคัญเพิ่มเติม โดยมีหลายอุตสาหกรรมที่เรียกว่า Intermediate S-Curve เป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่น่าสนใจ ดังนี้

-เกษตร อาหาร ชีวภาพ เป็นอุตสาหกรรมที่เป็นความเข้มแข็งของประเทศไทย และในช่วงที่เกิดวิกฤติอาหารโลกอยู่ในขณะนี้ เป็นอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะมาอย่างแน่นอน

-ท่องเที่ยว สุขภาพ เป็นอุตสาหกรรมที่กำลังกลับมาหลังเปิดประเทศ และเป็นอุตสาหกรรมหลักของ GDP ไทย

-ยานยนต์ไฟฟ้า ขณะนี้มีหลายบริษัทตั้งใจใช้ไทยเป็น Hub สำคัญในการสร้างยานยนต์ไฟฟ้าขึ้นมา โดยอาศัย Supply Chain ที่มีอยู่แล้วเป็นพื้นฐานที่สำคัญ และเปลี่ยนบริษัทที่เคยผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปให้ผลิตรถยนต์ยุคใหม่

- ปิโตรเคมีชั้นสูง การทำปิโตรเคมีแบบเดิม ๆ เริ่มไม่ตอบโจทย์ ต้องสร้างลักษณะเฉพาะ เพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์มีราคา มี Margin มากขึ้น

- Logistics ต่อไปประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้า บริษัท FedEx หรือบริษัทอื่น ๆ กำลังมาคุยกับประเทศไทยว่า จะใช้ไทยเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าได้อย่างไร

- Digital & Startup เป็นอุตสาหกรรมที่เหมาะกับประเทศไทย เพราะมีความได้เปรียบทั้ง Location และทรัพยากรต่าง ๆ

- International Hub เป็นอุตสาหกรรมที่เหมาะกับประเทศไทย เพราะมีความได้เปรียบทั้ง Location และทรัพยากรต่าง ๆ เช่นกัน



นอกจากนี้ ดร.กอบศักดิ์ ยังแนะนำว่า การลงทุนในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และโครงสร้างพื้นฐานสำคัญอื่น ๆ จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ โดยมีหลายโครงการใน EEC ที่เริ่มไปแล้ว เช่น ท่าเรือน้ำลึกที่มาบตาพุดและแหลมฉบัง สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นต้น ทั้งหมดนี้จะเป็นสิ่งที่ค่อย ๆ เปลี่ยนให้โครงการ EEC เหมาะสำหรับการเข้ามาของนักลงทุน รองรับอุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคต จึงอยากให้นักลงทุนจับตามองโครงการนี้ในอนาคตด้วยเช่นกัน



-ดอกเบี้ยขาขึ้น

ดอกเบี้ยทั่วโลกเป็นเทรนด์ขาขึ้น โดยคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด จะเร่งขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปอีกระยะ จากคาดการณ์ดอกเบี้ยของเฟดในอีก 6 เดือนข้างหน้าจะไปอยู่ที่ 5.87 ดังนั้น การขึ้นดอกเบี้ยยังไม่จบง่าย ๆ การที่เฟดจะสู้กับเงินเฟ้อที่สูง 8 - 9 % เฟดน่าจะขึ้นดอกเบี้ยไปที่ 5 - 6 % เป็นอย่างน้อย และอาจจะเกินเลยกว่านั้นถ้าหากจำเป็น 

ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.กอบศักดิ์ สังเกตและวิเคราะห์ว่า “แบงก์ชาติน่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งหนึ่งในช่วงปลายปีนี้ และดอกเบี้ยน่าจะขึ้นไปอยู่ที่ 1.25% ซึ่งเป็น Baseline สมัยวิกฤติต้มยำกุ้ง และหลังจากนั้นในปี 2566 คงขึ้นแค่ 1 - 2 ครั้ง และเมื่อเกิดปัญหาเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก (Global Recession) แบงก์ชาติต้องทบทวนว่าจะขึ้นดอกเบี้ยต่อหรือไม่ท่ามกลางพายุเศรษฐกิจที่กำลังซบเซา 

ซึ่งจะมีนัยต่อการลงทุน เพราะเมืองไทยเงินเฟ้อไม่เยอะเหมือนกับประเทศอื่น ๆ ขณะเดียวกันเงินเฟ้อที่แบงก์ชาติดูก็คือ เงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ซึ่งตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 3.12 % (ข้อมูล ณ เดือนตุลาคม 65) ใกล้เคียงกับกรอบเป้าหมายที่ 1 – 3 % ขณะที่โลกต้องขึ้นดอกเบี้ยเยอะ เช่น เฟด น่าจะขึ้นดอกเบี้ยไปที่ 5 -6 % ส่วนแบงก์ชาติก็จะขึ้นดอกเบี้ยไปประมาณ 1 – 1.5 % ถือว่ามีนัยยะอย่างยิ่ง เพราะหมายความว่าบริษัทจดทะเบียนไทยไม่ต้องรับภาระต้นทุนทางการเงินที่เยอะเหมือนประเทศอื่น เพราะได้รับอานิสงค์จากการที่เงินเฟ้อไทยต่ำ



-การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ออกมาประมาณการเศรษฐกิจโลกเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2566 จะเติบโตประมาณ 2.7 % ซึ่งเป็นการเติบโตที่อ่อนแอที่สุดนับตั้งแต่ปี 2544 และคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ยุโรป และลาตินอเมริกา จะเติบโตประมาณ 1 %, 0.5 % และ 1.7 % ตามลำดับ ซึ่งทั้งหมดเป็นตลาดใหญ่ จะมีก็แต่เอเชียที่ยังพอไปได้ ซึ่งคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตอยู่ที่ 4.9 %

ดร.กอบศักดิ์ มองว่า อาเซียนคือ Safe Haven เพราะนักลงทุนต้องลงทุนตลอด และนักลงทุนจะมองว่า ถ้าลงทุนแล้ว ที่ไหนจะเสียหายน้อยที่สุด ก็จะเอาเงินจากที่ที่เสียหายเยอะมาที่ที่เสียหายน้อย เช่น ตลาดหุ้น Nasdaq ของสหรัฐฯ ตั้งแต่ต้นปีปรับตัวลงมาแล้ว 30 % ขณะที่ตลาดหุ้นไทยลงมา 2 % เป็นต้น และดร.กอบศักดิ์ ได้ฝากมุมมองไว้ว่า ปี 2566 เศรษฐกิจจะท้าทายเป็นพิเศษ เพราะว่าเศรษฐกิจจริงจะเริ่มติดลบ และเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ อาจจะลึกกว่าที่ทุกคนคิดไว้

ดร.กอบศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า วิกฤติ คือ โอกาส ทุกครั้งที่มีวิกฤติ โอกาสจะเปิดขึ้นเสมอ แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ เราจะต้องประคองตัวให้ได้ ถ้าเราประคองตัวไม่ได้โอกาสจะผ่านเลย เพราะระหว่างที่เราล้มลงไปและลุกขึ้นมาโอกาสจะผ่านไปแล้ว แต่ถ้าเกิดเราประคองตัวได้ดี โอกาสที่เปิดขึ้นก็จะเป็นของเรา วันนี้ถ้าอยากลงทุนก็ลงทุนไปก่อน ให้รู้ว่าเรายังอยู่ในตลาด ได้เรียนรู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น แต่อย่าใส่เงินทั้งหมดลงไป ผมคิดว่าโอกาสที่ดียังรออยู่ข้างหน้า และจะเป็นโอกาสที่ดีในรอบหลาย ๆ ปี    

อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมเศรษฐกิจและการลงทุนในปีนี้จะไม่ค่อยสดใส มีความผันผวนเกิดขึ้นมากมาย มีผู้ประกอบการหลายรายเสียหายจากการลงทุนไปพอสมควร หากนักลงทุนเข้าใจสถานการณ์ เข้าใจแนวโน้มใหญ่ หรือเทรนด์สำคัญในโลกที่กำลังเปลี่ยนไปในปี 2566 ก็จะสามารถตัดสินใจลงทุนได้อย่างดี มีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถมองเห็นโอกาสต่าง ๆ ที่กำลังเปิดเข้าในอนาคตได้อย่างแน่นอน 


อ้างอิงจาก  
https://www.nectec.or.th/news/news-article/economy-industry.html
https://www.setinvestnow.com/th/knowledge/article/225-tsi-8-significant-investment-trends-in-2023
https://spacebar.th/en/business/economic-eic-gdp-imflation2023

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘TikTok For All’ Update เทรนด์ใหม่ปี 2024 พร้อมกลยุทธ์เพิ่มโอกาส SME ไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

‘TikTok For All’ Update เทรนด์ใหม่ปี 2024 พร้อมกลยุทธ์เพิ่มโอกาส SME ไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

TikTok ตอกย้ำการเป็นแพลตฟอร์มเอนเตอร์เทนเมนต์ที่น่าเชื่อถือสำหรับทุกคน ทั้งครีเอเตอร์ คอมมูนิตี้ผู้ใช้งาน และธุรกิจทุกขนาดในไทย ด้วยการเปิดตัว…
pin
1236 | 14/02/2024
ทอดไม่ทิ้ง! เปลี่ยน ‘น้ำมันเหลือทิ้ง’ เป็น ‘น้ำมันเครื่องบิน’ โอกาสใหม่ SME ไทย เติบโตอย่างยั่งยืน

ทอดไม่ทิ้ง! เปลี่ยน ‘น้ำมันเหลือทิ้ง’ เป็น ‘น้ำมันเครื่องบิน’ โอกาสใหม่ SME ไทย เติบโตอย่างยั่งยืน

ขณะที่ยานพาหนะต่าง ๆ ทั้ง รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รถไฟ และเรือ ต่างมุ่งสู่การใช้เชื้อเพลิงพลังงานทดแทน ที่เป็นพลังงานสะอาดกันแล้ว แต่สำหรับการเดินทางโดยอากาศยาน…
pin
1595 | 26/01/2024
จับกระแส 'เทรนด์ธุรกิจ' ปี 2024 ใครได้ไปต่อ ใครมาแรง SME ไทยต้องรู้

จับกระแส 'เทรนด์ธุรกิจ' ปี 2024 ใครได้ไปต่อ ใครมาแรง SME ไทยต้องรู้

ปี 2024 นี้ ธุรกิจไหนมาแรง ธุรกิจไหนน่าจับตา เทรนด์ธุรกิจใดกำลังมาแรง Bangkok Bank SME สรุปมาไว้ในบทความนี้ เพื่อเป็นแนวทางแก่ SME และผู้ที่กำลังคิดจะเริ่มต้นทำธุรกิจทุกท่าน…
pin
1879 | 25/01/2024
แนวโน้มสำคัญอุตสาหกรรมการผลิตไทยในปี 2566  ผู้ประกอบการไทยจะรับมืออย่างไร ?