‘Energy Efficiency’ เครื่องมือลดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ First step SME ปรับโฉมธุรกิจสู่เส้นทาง Net Zero

ESG
20/04/2023
รับชมแล้วทั้งหมด 5283 คน
‘Energy Efficiency’ เครื่องมือลดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ First step SME ปรับโฉมธุรกิจสู่เส้นทาง Net Zero
banner
การทำงานให้ได้ผลผลิตเท่าเดิม แต่ใช้พลังงานน้อยลง โดยใช้พลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าจะเป็นไฟส่องสว่าง การทําน้ำร้อน การทําความเย็น การขนส่ง หรือการขับเคลื่อนเครื่องจักรกลในกระบวนการผลิต เป็นนัยสำคัญของคำว่า ‘Energy Efficiency’ นั่นหมายถึง การใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่า ซึ่งจะต้องมีการวางแผนและควบคุมการใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อลดการรั่วไหลของพลังงาน เป็นการลดการสูญเสียพลังงานทุกขั้นตอน นอกจากจะช่วยให้ไปสู่เป้าหมาย Net Zero ได้อย่างแท้จริงแล้ว ยังเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจได้อีกด้วย



เป้าหมาย Net Zero ของไทย ดำเนินการไปถึงไหนแล้ว

สำหรับทิศทางพลังงานในปี 2023 ของประเทศไทย มีแผนงานสำคัญในการเดินหน้าสู่เป้าหมาย Net Zero โดยตั้งเป้าลดการใช้พลังงาน เช่น การบังคับใช้ข้อบัญญัติเกณฑ์มาตรฐานอาคารด้านพลังงาน BEC (Building Energy Code) ซึ่งการบังคับใช้นี้ช่วยลดต้นทุน พร้อมเพิ่มโอกาสการแข่งขัน สร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศ โดยจะมีผลบังคับใช้ในอาคารพื้นที่ ไม่ต่ำกว่า 2,000 ตารางเมตรทันที คาดว่าจะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าได้ 13,700 ล้านหน่วย หรือกว่า 47,000 ล้านบาท รวมถึงลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 1 ล้านตันต่อปี 

นอกจากนี้ ได้ส่งเสริมให้ส่วนราชการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป และนำร่อง ESCO อนุรักษ์พลังงาน, การพัฒนาแพลตฟอร์มทางการเงิน, สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการใช้อุปกรณ์ เครื่องจักรประสิทธิภาพสูง, โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล/ก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงาน เพื่อชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก โดยเร่งการลงทุน 200 เมกะวัตต์ คาดว่าจะมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจรวม 20 ปี มูลค่ารวมกว่า 37,000 ล้านบาท อีกทั้งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 630,737 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า



ทำไมภาคธุรกิจไทยต้องให้ความสำคัญเรื่องนี้

อีกหนึ่งมาตรการที่จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจไทยและถือเป็นโจทย์สำคัญของผู้ประกอบการ SME คือ ‘CBAM’ หรือการเก็บภาษีคาร์บอน โดยเฉพาะสินค้าที่ต้องส่งออกไป EU เป็นหนึ่งในเครื่องมือในการบรรลุเป้าหมายปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ตามแผนปฏิรูปสีเขียว (European Green Deal)

โดยในปี 2023 นี้ หากไทยส่งสินค้าไปยังกลุ่มประเทศ EU จะมีการเก็บภาษีคาร์บอน และส่งผลให้บางภาคธุรกิจต้องแบกรับต้นทุนสูงขึ้น โดยภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ คือ ซีเมนต์ อะลูมิเนียม เหล็กและเหล็กกล้า ปุ๋ย พลาสติกปิโตรเคมี Organic Chemical และไฮโดรเจน ซึ่งมีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมาก และในอนาคตอาจมีการขยายขอบเขตไปยังอุตสาหกรรมหรือสินค้าอื่นด้วย



ซึ่งที่ผ่านมาธุรกิจใหญ่หลายรายทั้งไทยและต่างประเทศ ได้เริ่มปรับตัวเพื่อบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปสู่ธุรกิจที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เนื่องจากแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกหลายอย่าง เช่น ความคาดหวังของนักลงทุนที่ต้องการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีธรรมาภิบาลที่ดีตามแนวทาง ESG ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยใช้พลังงานฟอสซิลลดลง 



‘Energy Efficiency’ ก้าวแรกของการลดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

ดังนั้นการลดการใช้พลังงานเป็นเรื่องสำคัญที่ทั่วโลกให้ความสำคัญอันดับแรก โดยตั้งเป้าการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน โดยใช้ มาตรการการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน (Energy Efficiency: EE) ได้แก่

-การปรับ เปลี่ยนอุปกรณ์ เช่น เปลี่ยนหลอดไฟเป็นหลอด LED 

-การเพิ่มประสิทธิภาพอุปกรณ์และระบบ เช่น ติดตั้งฉนวนกันความร้อนที่ผนัง หลังคาหรือห้องใต้ดิน รวมไปถึงการเลือกทาสีและใช้หลังคากันความร้อน เพื่อควบคุมอุณหภูมิที่เย็นสบายภายในอาคาร เป็นต้น

-การติดตั้งระบบควบคุมและเซนเซอร์ต่าง ๆ เช่น การติดตั้งระบบจัดการแสงอัจฉริยะ และสมาร์ทมิเตอร์ (Smart Meter)

-การเลือกใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงานที่มีประสิทธิภาพสูง เช่น การเลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฉลากเบอร์ 5 ประหยัดพลังงาน หรือเลือกประเภทอุปกรณ์ที่ประหยัดพลังงาน เช่น เตาไฟฟ้าเหนี่ยวนำ (Induction Stove) แทนที่เตาไฟฟ้า



อย่างไรก็ตาม  มาตรการ EE นี้ ควรมีข้อระวังในเรื่องของ ‘Rebound Effect’ ที่เกิดจากพฤติกรรมของผู้ใช้  ซึ่งทำให้ปริมาณพลังงานที่ใช้ในภาพรวมไม่ได้ลดลงอย่างที่ควรจะเป็น บางกรณีอาจสิ้นเปลืองมากกว่าเดิม เช่น เมื่อเปลี่ยนไฟส่องสว่างจากหลอดไส้มาเป็นหลอด LED ช่วยให้ค่าไฟฟ้าลดลง ทำให้ผู้ประกอบการติดตั้งหลอดไฟส่องสว่างเพิ่มมากขึ้นเพื่อความสวยงาม หรือเปิดไฟส่องสว่างไว้ตลอดคืน อาจทำให้สิ้นเปลืองมากกว่าเดิม เป็นต้น



เริ่มจากออกแบบอาคารให้ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ในอนาคตจำนวนอาคารสำนักงาน ไม่ว่าจะเป็นตึกสูง ตึกแถว หรือโรงงาน จะมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ  ผลกระทบจากอาคารต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมจะยิ่งมีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้หน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ผลักดันกฎกระทรวงการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน หรือ Building Energy Code : BEC

ซึ่งได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 โดยจะเริ่มใช้บังคับกับอาคารขนาด 5,000 ตร.ม. ขึ้นไปก่อน และบังคับใช้กับอาคารขนาด 2,000 ตร.ม. ขึ้นไป ตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป เพื่อเป็นมาตรฐานในการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่หรืออาคารดัดแปลง ที่มีการใช้พลังงานสูง ด้วยการกำหนดมาตรฐานและหลักเกณฑ์และวิธีการออกแบบอาคาร เพื่อให้อาคารมีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ 

ซึ่งกฎหมาย BEC จะเป็นประโยชน์และเป็นกลไกสำคัญในการช่วยประหยัดพลังงานในภาคอาคาร โดยอาคารที่ออกแบบผ่านตามมาตรฐาน BEC นับว่าเป็นกฎหมายสำคัญที่จะช่วยประหยัดพลังงานในภาคอาคารอย่างน้อยร้อยละ10 ซึ่งจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 3 - 5 % และคืนทุนไม่เกิน 3 ปี แต่มีความคุ้มค่าในระยะยาว โดยจะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าได้รวม 13,700 ล้านหน่วย หรือกว่า 47,000 ล้านบาท ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 6,850 ตัน ช่วยลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการใช้พลังงานที่ลดลง สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้ธุรกิจที่ให้ความสำคัญการประหยัดพลังงานและและใส่ใจสิ่งแวดล้อม 



แล้วอาคารสีเขียว ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้อย่างไร?

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น ขอยกตัวอย่างอาคารที่สามารถลดการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ‘อาคาร เอสซีจี 100 ปี’ โดยอาคารเเห่งนี้มีคุณสมบัติในการลดการใช้พลังงานหลายด้าน เริ่มตั้งแต่การเลือกพื้นที่ก่อสร้างที่ไม่มีธรรมชาติปกคลุมอยู่ก่อน (Brownfield) จึงไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพเเวดล้อมธรรมชาติมากเท่าพื้นที่ ที่มีป่าปกคลุม (Greenfield)

บริเวณรอบ ๆ โครงการมีพื้นที่สีเขียวอยู่มากกว่า 50% มีการรักษาต้นไม้เดิมไว้ ด้วยการถอนต้นไม้ไปดูแลรักษา แล้วนํามาปลูกในบริเวณพื้นที่เดิมหลังสร้างอาคารเสร็จ ขณะที่ส่วนของดาดฟ้าก็มีการปลูกต้นไม้ (Garden rooftop) เพื่อลดอุณหภูมิบริเวณอาคารด้วย



ด้านการใช้ทรัพยากรน้ำ มีการกักเก็บน้ำฝน (Rain harvesting) เพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ในการดูแลภูมิทัศน์บริเวณอาคาร พร้อมทั้งมีการใช้ผลิตภัณฑ์ประหยัดน้ำภายในอาคาร เช่น ก๊อกน้ำ หรือสุขภัณฑ์ประหยัดน้ำ จึงช่วยประหยัดน้ำได้ถึง 6 ล้านลิตรต่อปี



ด้านการประหยัดพลังงาน ใช้เทคโนโลยีกระจกสองชั้นเพื่อช่วยลดปริมาณความร้อนที่จะเข้าสู่ตัวอาคาร รวมถึงมีการติดตั้งระบบเทคโนโลยีประหยัดไฟฟ้า อาทิ ระบบควบคุมแสงไฟ (Daylight sensor) ระบบควบคุมอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศอัตโนมัติ หลอดไฟฟ้า LED และ T5 เป็นต้น 

นอกจากนี้ ยังใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์สํานักงานที่ได้รับมาตรฐานประหยัดพลังงาน สามารถลดการใช้ไฟฟ้าของอาคารได้ถึง 2,300,000 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี ที่สำคัญอาคารแห่งนี้ยังติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar cell) ขนาด 84 กิโลวัตต์ ซึ่งช่วยผลิตไฟฟ้าได้ถึง 99,000 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี



ด้านวัสดุก่อสร้าง มีการใช้วัตถุดิบหลายชนิดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น กระเบื้องปูพื้นที่มีส่วนผสมจากวัสดุรีไซเคิลถึง 60 % ส่วนวัสดุที่เป็นไม้ จะใช้ไม้จากป่าปลูกที่ได้รับการรองรับจาก Forest Steward Council (FSC) ถึงกว่า 50%



ด้านการเดินทางและการขนส่ง มีการใช้วัสดุท้องถิ่นในการก่อสร้างอาคาร เพื่อลดมลพิษจากการขนส่ง นอกจากนี้ ยังมีการจัดการประชุมด้วยระบบ Video conference ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อลดมลพิษจากการเดินทาง



ด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมภายใน มีการติดตั้งระบบกรองฝุ่นและระบบควบคุมปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์อัตโนมัติ อากาศบริสุทธิ์จากภายนอกอาคารจึงถ่ายเทเข้ามาในตัวอาคารได้มากขึ้น และเลือกใช้พรมที่ไม่มีส่วนผสมของสารเคมี

จะรู้ได้อย่างไร ? ว่าอาคารเราได้มาตรฐานอาคารสีเขียว

หลายคนคงมีคำถามว่า แล้วเราจะรู้ได้อย่างไร? ว่าอาคารใดมีคุณสมบัติดีพอที่จะเรียกได้ว่า ‘อาคารสีเขียว’  แล้วใช้อะไรเป็นตัววัด ? ทั้งนี้ ตามมาตรฐานสากลในการประเมิน Green Building ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก หรือมาตรฐานอาคาร Leadership in Energy and Environmental Design (LEED) เป็นเกณฑ์การพิจารณาหลัก ๆ ซึ่งมีการใช้งานมานานและมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในประเทศไทยโดยจะเน้นในเรื่องของทำเล ที่ตั้งอาคาร การประหยัดพลังงาน การประหยัดน้ำ ระบบระบายอากาศ และการเติมอากาศบริสุทธิ์ รวมไปถึงการรีไซเคิลและการเลือกใช้วัสดุที่ไม่มีสารระเหยที่เป็นพิษตกค้าง เป็นต้น 

ขณะที่ มาตรฐาน TREES หรือ Thai’s rating of energy and environment sustainability เป็นระบบประเมินความยั่งยืนทางพลังงานและสิ่งแวดล้อมไทย ซึ่งถูกพัฒนาโดยสถาบันอาคารเขียวไทย โดยได้มีการปรับให้มีความเหมาะสมกับศักยภาพของประเทศไทย สามารถใช้วัสดุในประเทศมากขึ้น และเหมาะกับการก่อสร้างในประเทศไทยมากกว่า ทั้งยังเป็นการส่งเสริมผู้ผลิตไทย เช่น วัสดุที่นำไปใช้ในการก่อสร้างอาคารเขียวต้องเป็นวัสดุที่ได้รับฉลากเขียวประเทศไทย ซึ่งหากให้เกณฑ์มาตรฐาน LEED วัสดุที่ใช้ก็ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศเท่านั้น




อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าเเม้แนวคิดอาคารสีเขียวในประเทศไทยจะได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น แต่ผู้ประกอบการยังไม่เข้าใจถึงผลกระทบของอาคารที่มีต่อสภาพแวดล้อมและยังมองไม่เห็นประโยชน์ทางธุรกิจจากการสร้างอาคารสีเขียวเท่าที่ควร จึงเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันผลักดัน

ESCO อีกหนึ่งทางเลือกเครื่องมือการลดพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับองค์กรหรือบริษัทเก่าแก่ ที่ไม่ได้ออกแบบอาคารสำนักงานเป็นแบบประหยัดพลังงานตั้งแต่ต้น แต่ต้องการปรับตัวสู่เป้าหมาย Net Zero ทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ใช้บริษัทจัดการพลังงาน (ESCO : Energy Service Company) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในการลดต้นทุนด้านพลังงานและมีการรับประกันผลการประหยัดพลังงานให้แก่ผู้ลงทุนได้ ด้วยการอนุรักษ์พลังงานและใช้พลังงานทดแทนเข้ามาช่วยลดพลังงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

โดย ESCO จะรับประกันผลการดำเนินการด้วยการตรวจวัดและพิสูจน์ผลประหยัดพลังงาน หากมีผลประหยัดพลังงานต่ำกว่าเป้าหมาย ESCO จะจ่ายเงินชดเชยส่วนที่ขาดไปให้แก่เจ้าของธุรกิจ แต่ถ้าผลประหยัดพลังงานสูงกว่าเป้าหมาย ESCO จะขอแบ่งกำไรด้วย 

ยกตัวอย่างบริษัทรับจัดการพลังงาน ESCO รายหนึ่ง เข้าไปดูแลพลังงาน ห้างทองบุญครองพร สุพรรณบุรี เปลี่ยนมาใช้หลอดไฟ LED ทั้งหมด มูลค่าการลงทุน 120,000 บาท ผลการประหยัดพลังงาน 12,236 กิโลวัตต์ชั่วโมง/ ปี ผลประหยัด 46,500 บาท/ ปี ระยะเวลาคืนทุน 2.58 ปี

หรือ ศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ ที่เปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีการบำบัดและปรับสภาพน้ำ ด้วยโอโซน (Ozone Water System) มูลค่าการลงทุน 2,324,400 บาท ผลการประหยัดพลังงาน 500,580 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี ผลประหยัด 2,268,680 บาท/ ปี ใช้เวลาคืนทุน 1.02 ปี 

จากตัวอย่างบริษัทรับจัดการพลังงาน ESCO รายหนึ่ง จะเห็นได้ว่า ยิ่งองค์กรขนาดใหญ่มากเท่าไหร่ยิ่งประหยัดและคืนทุนได้เร็วมากยิ่งขึ้น




ผู้ประกอบการ SME ไม่ปรับตัว อาจเสียตลาดและโอกาสแข่งขัน

สำหรับผู้ประกอบการ SME ที่อยากเห็นธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainability) ต้องปรับวิธีคิดในการทำธุรกิจเสียใหม่ เพราะวิธีการเดิม ๆ นั้นไม่สามารถทำให้กิจการที่สร้างมา อยู่รอดในโลกการค้ายุคใหม่ที่เผชิญวิกฤติรอบด้านในระยะยาวได้อย่างแน่นอน ซึ่งปัจจุบันประเทศที่เป็นตลาดสำคัญของไทยกำลังเดินหน้ามาตรการลดโลกร้อนกันอย่างเต็มกำลัง ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจส่งออกคงเริ่มเห็นผลกระทบด้านภาษี กฎหมาย ตลอดจนมาตรการทางการค้าต่าง ๆ กันบ้างแล้ว 

เช่น ทวีปยุโรปมีมาตรการ EU Aviation Carbon Tax ซึ่งจะเก็บค่าธรรมเนียมการปล่อยก๊าซคาร์บอนกับทุกสายการบินที่ลงจอด ณ สนามบินของประเทศที่เป็นสมาชิก EU นอกจากนี้ยังมีมาตรการเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอนสำหรับการนำเข้าสินค้า (Border Carbon Tax Adjustment) 

มาตรการเช่นนี้จะสร้างผลกระทบกับธุรกิจด้าน ‘การขนส่ง’ ดังนั้นผู้ประกอบการ Supplier ผู้ผลิต และภาคส่วนต่าง ๆ ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การแปรรูป การผลิต ไปจนถึงการขาย ต้องปรับตัวให้กระบวนการทำงานของตัวเองปล่อยคาร์บอนออกมาให้ได้น้อยที่สุด เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดของตัวเอง

เพราะการคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนภายใต้มาตรการ CBAM จะคิดทั้งวงจรการผลิตสินค้า SME จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกกดดันจากบริษัทใหญ่ทั้งในและต่างประเทศให้ลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่าง ๆ ในการประกอบธุรกิจ 

ซึ่งปัจจุบันภาครัฐของไทยมีกลไกส่งเสริมให้ ผู้ประกอบการ SME ปรับตัวไปสู่ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น มาตรการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในภาคอุตสาหกรรม โดยส่งเสริมให้ SME ดำเนินกิจกรรมการประหยัดพลังงานด้วยตนเอง รวมทั้งการสนับสนุนเงินทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักรอุปกรณ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการใช้พลังงานทดแทน เช่น การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ฯลฯ

โดยมีสิทธิประโยชน์และแรงจูงใจ ได้แก่ การยกเว้นภาษีนำเข้าสำหรับเครื่องจักร และการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ภายใต้นโยบายส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ ภาคเอกชนก็ได้เริ่มสร้างกลไกสนับสนุน SME ลดการปล่อยคาร์บอน เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรม ได้ร่วมมือกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก วางแผนก่อตั้งสถาบันบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกแบบครบวงจร โดยมีเป้าหมายสนับสนุนให้ SME เข้าถึงพลังงานสะอาดได้ 100% เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนตลอด Supply Chain



นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งยังมี ‘สินเชื่อสีเขียว’ (Green credit) เพื่อให้ธุรกิจ SME ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน อย่างเช่น ธนาคารกรุงเทพ ได้ออก สินเชื่อ บัวหลวงกรีน ‘Bualuang Green’ ที่ต้องการสนับสนุนผู้ประกอบการ SME ให้มีการลงทุนเพื่อลดหรือแสวงหาการใช้พลังงานทดแทน รวมถึงการบริหารจัดการของเสียเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม 
 
ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ SME ที่ต้องการปรับกระบวนการธุรกิจเพื่อการประหยัดพลังงาน ลดต้นทุน และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์การดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนมากขึ้น 

โดยธนาคารได้กำหนดขอบเขต รายละเอียด และประเภทสินเชื่อดังกล่าวออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่
1. การลงทุนด้านพลังงานทดแทน (Renewable)
2. การบริหารจัดการของเสียเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่
3. การลงทุนเพื่อเปลี่ยนมาใช้วัสดุชีวภาพทดแทนสารเคมี


จะเห็นได้ว่า อีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลงที่ธุรกิจใหญ่ ๆ เริ่มปรับตัวกันอย่างจริงจังแล้ว คือการลดการปล่อยคาร์บอน และก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ ให้กลายเป็นศูนย์ เพราะในทุกขั้นตอนของการดำเนินธุรกิจ ทั้งการผลิต ขนส่ง ไปจนถึงการค้าขายล้วนปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตัวการภาวะโลกร้อนทั้งสิ้น ดังนั้นหากไม่อยากจ่ายค่าธรรมเนียมในราคาที่สูง ต้องทำความเข้าใจ และตั้งเป้าหมายเพื่อดำเนินการสู่เส้นทาง ‘Net Zero’ อย่างจริงจัง

ในบทความตอนหน้า จะพาผู้ประกอบการไป ‘เปิดคัมภีร์ฝ่าวิกฤติ SME มุ่งสู่ ธุรกิจ Low Carbon เสริมสมรรถนะด้านพลังงานสะอาด สร้างแต้มต่อธุรกิจด้วย Sustainability’ เป็นการประหยัดพลังงานด้วยการผลิตไฟฟ้าใช้เองจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อลดต้นทุนในการผลิตและช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็นทางรอดสำหรับธุรกิจ SME ที่ต้องการรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกไว้  ส่วนพลังงานหมุนเวียนจะเสริมสมรรถนะและสร้างแต้มต่อให้ธุรกิจได้อย่างไร ? ติดตามได้ที่ Bangkok Bank SME ในตอนต่อไป


อ้างอิง
กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) 
http://berc.dede.go.th/?p=3577
http://www.salforest.com/blog/green-building
https://www.energy-catalogue.com/energy-efficiency-conservation-measures
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
https://shorturl.asia/bStC4
กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
https://bec.dede.go.th/requirements-of-the-law/
http://berc.dede.go.th/?p=3577
https://shorturl.asia/p7Gz5
https://econowatt.co.th/esco-energy-management-th/

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ส่อง 5 นวัตกรรม ESG สุดว้าว! ทั่วโลกเขาเปลี่ยนขยะเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลก (Green Product) อะไรกันบ้าง

ส่อง 5 นวัตกรรม ESG สุดว้าว! ทั่วโลกเขาเปลี่ยนขยะเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลก (Green Product) อะไรกันบ้าง

หลายปีที่ผ่านมา โลกได้พัฒนาก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว มีผลิตภัณฑ์มากมายที่พัฒนาขึ้นมาจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่สร้างความสะดวกสบายให้ผู้บริโภค…
pin
2615 | 18/03/2024
ศึกษาโมเดล “ไฮโดรเจนสีเขียว” ใหญ่ที่สุดในโลก นำข้อดีมาปรับใช้ ในอุตสาหกรรมผลิตพลังงานไฮโดรเจนไทย ได้อย่างไร

ศึกษาโมเดล “ไฮโดรเจนสีเขียว” ใหญ่ที่สุดในโลก นำข้อดีมาปรับใช้ ในอุตสาหกรรมผลิตพลังงานไฮโดรเจนไทย ได้อย่างไร

ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ หนึ่งในสาเหตุสำคัญมาจากการผลิตพลังงานไฟฟ้าและพลังงานความร้อนโดยการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล…
pin
4851 | 29/02/2024
เทรนด์ ESG โตแรง! SME - สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ จะสตาร์ทอย่างไร ไม่ให้ตกเทรนด์โลก?

เทรนด์ ESG โตแรง! SME - สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ จะสตาร์ทอย่างไร ไม่ให้ตกเทรนด์โลก?

สำหรับหลาย ๆ  SME ที่เริ่มสร้างธุรกิจโดยเฉพาะ ‘สตาร์ทอัพ’ มีเสียงบอกกล่าวแนะนำกันอย่างต่อเนื่องว่า ‘สตาร์ทอัพ’ จะต้องทำ ESG เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รอไม่ได้…
pin
3375 | 20/02/2024
‘Energy Efficiency’ เครื่องมือลดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ First step SME ปรับโฉมธุรกิจสู่เส้นทาง Net Zero