ชีวาดี’ น้ำตาลมะพร้าวออร์แกนิก มุ่งสร้างมาตรฐาน เพิ่มคุณค่าด้วยงานวิจัยบุกตลาดเฮลท์ตี้ต่างแดน

SME in Focus
25/04/2023
รับชมแล้วทั้งหมด 1948 คน
ชีวาดี’ น้ำตาลมะพร้าวออร์แกนิก มุ่งสร้างมาตรฐาน เพิ่มคุณค่าด้วยงานวิจัยบุกตลาดเฮลท์ตี้ต่างแดน
banner
‘ผลมะพร้าว’ เป็นซูเปอร์ฟู้ดที่ผู้ประกอบการ SME นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด แต่หากจะบอกว่าเราสามารถนำน้ำจาก ‘ดอกมะพร้าว’ มาแปรรูปเป็น ไซรัป น้ำตาลทราย น้ำส้มสายชู ซีอิ๊ว น้ำจิ้ม และซอสปรุงรสต่าง ๆ ได้ แม้จะไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่นัก แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง

 ดังนั้น หากจะนำน้ำหวานดอกมะพร้าวมาพัฒนาเป็นธุรกิจให้ตอบโจทย์การบริโภค สิ่งหนึ่งที่นิยมทำกัน คือ การสร้างคุณค่าและสะท้อนผ่านการบอกเล่าเรื่องราวสู่ผู้บริโภค รวมถึงสร้างมาตรฐานอาหารปลอดภัยที่สากลยอมรับ ดังเช่นกรณีของ บริษัทชีวาดี โปรดักส์ จำกัด ธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปเพื่อสุขภาพ ปลอดสารเคมี หรือ Organic แบรนด์ ‘ชีวาดี’ (Chiwadi) ผู้จุดประกายตลาดความหวานจากมะพร้าวให้คนทั่วโลกรู้จัก ยอมรับในคุณภาพ และต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปอีกมากมาย



ศึกษาโอกาสตลาดมะพร้าวไม่ง่าย  

คุณสารภี ยวดยง กรรมการผู้จัดการ บริษัทชีวาดี โปรดักส์ จำกัด กล่าวว่า ‘ชีวาดี โปรดักส์’ จดทะเบียนธุรกิจในปี 2554 โดยเห็น ‘ช่องว่าง’ ของน้ำตาลมะพร้าวซึ่งเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมที่มีการแปรรูปในครัวเรือน หรืออุตสาหกรรมแปรรูปขั้นต้นในท้องถิ่น โดยจะเห็นว่ามีน้ำตาลมะพร้าวขายในท้องตลาดทั้งแบบก้อน และแบบบรรจุปี๊บ แต่ส่วนใหญ่ใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต จึงยังไม่สามารถตอบโจทย์การบริโภค หรือเป็นอาหารปลอดภัยระดับส่งออกไปตลาดต่างประเทศได้ 


คุณสารภี ยวดยง กรรมการผู้จัดการ บริษัทชีวาดี โปรดักส์ จำกัด

ขณะที่เทรนด์เรื่องอาหารปลอดภัย เกษตรอินทรีย์ และผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกได้รับความนิยมอย่างสูงในช่วงเวลานั้น ทั้งกำลังซื้อของผู้บริโภคในกลุ่มตลาดนี้ก็เพิ่มขึ้นมาก ดังนั้น หากจะทำธุรกิจน้ำตาลมะพร้าวให้ตอบโจทย์เทรนด์ออร์แกนิก สินค้าจะต้องปลอดสารเคมี และมีมาตรฐานการรับรองคุณภาพที่ทั่วโลกยอมรับ โดยโฟกัสตลาดต่างประเทศที่มูลค่าสูงและเปิดกว้าง 

โดยตลาดมีขนาดใหญ่ขึ้นทุกปีจากความรู้ใหม่ที่ชาวตะวันตกทราบถึงดัชนีน้ำตาลต่ำ และการมองหาความหวานที่ไม่ทำลายสุขภาพ Coconut nectar จึงเป็นทางออกของตลากโลก และสินค้าจากน้ำดอกมะพร้าว ทั้งน้ำส้มสายชูหมัก และซอสต่างๆล้วนเป็นตลาดใหม่ที่ขยายตัวรวดเร็วที่ประเทศไทยไม่มีใครทำเลย



อย่างไรก็ตาม เมื่อศึกษาตลาดในเชิงลึก กลับพบว่า ’ชีวาดี โปรดักส์’ ไม่ใช่รายแรกที่สนใจธุรกิจที่น้ำตาลมะพร้าว เพราะเดิมมีผู้เล่นในตลาดนี้อยู่บ้าง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากกระบวนการเก็บเกี่ยวน้ำหวานดอกมะพร้าวมีความซับซ้อน และยุ่งยากมากหากจะนำมาผลิตเป็นน้ำตาลที่ปลอดสารเคมีแบบ 100 % ขณะที่ซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องแทบไม่มีเลย สิ่งเหล่านี้จึงเป็นการเริ่มต้นที่ท้าทายมาก  





กว่าจะได้ ‘น้ำตาลดอกมะพร้าว’

คุณสารภี สะท้อนภาพว่า การเก็บดอกมะพร้าวเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งก่อนจะเกิดเป็นลูกมะพร้าวต้องเป็นดอกมะพร้าวก่อน โดยดอกมะพร้าวอ่อนจะอยู่ในกาบดอก กาบดอกมะพร้าวจะเหมือนกับกาบดอกไม้ทั่วไปคืออยู่ในอุ้งแต่จะอยู่ในลักษณะแทงเป็นแนวสูงขึ้นไป ซึ่งถ้าหากว่าดอกมะพร้าวแก่ก็จะปริและเปิดออก โดยเราจะใช้วิธีนำกระบอกไปห่อดอกมะพร้าวเอาไว้และตัดปลายดอกมะพร้าวทุกวันเพื่อให้ได้น้ำหวานดอกมะพร้าวเป็นประจำทุกวัน และเก็บเกี่ยววันละ 2 รอบ เช้าและเย็น ซึ่งรสชาติของดอกมะพร้าวแท้จะมีรสชาติที่หวานอมเปรี้ยว ซึ่ง ’ชีวาดี โปรดักส์’ จะใช้มะพร้าวพันธุ์น้ำตาลเป็นหลัก



รวมกลุ่มชาวบ้าน ปักธงที่แม่กลอง

คุณสารภี มองว่าสิ่งที่จะทำให้ทุกคนยอมรับในสินค้าของ ‘ชีวาดี โปรดักส์’ คือมาตรฐาน เริ่มจากการหาแหล่งวัตถุดิบหลัก ซึ่งตนไม่มีพื้นฐานหรือความรู้เกี่ยวกับธุรกิจมะพร้าวมาก่อน ทุกอย่างเริ่มจากศูนย์ โดยตนเดินทางไป อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกมะพร้าวแหล่งใหญ่ของประเทศ และมีชุมชนที่ทำน้ำตาลมะพร้าว และแทบจะไม่เหลือกี่รายที่ยังคงทำแบบดั่งเดิมอยู่

สิ่งที่คิดไว้ในตอนนั้น คือการจัดหาแหล่งวัตถุดิบที่มีเพียงพอต่อการพัฒนาเป็นอุตสาหกรรม และทุกกระบวนการจะต้องปลอดสารเคมี เริ่มจากปรับเปลี่ยนกรรมวิธีการผลิตน้ำตาลมะพร้าวของชาวบ้านให้เป็นแบบอินทรีย์หรือไม่ใช้สารเคมีใด ๆ เลย 

“อยากทำน้ำตาลมะพร้าวของแท้มั้ย? เราถามชาวบ้านในตอนนั้น 
ชาวบ้านบอกเราว่า “อยากนะ แต่ไม่มีใครซื้อ”



เราจึงบอกเขาว่า...ถ้าอย่างนั้นเราจะรับซื้อเอง

การทำธุรกิจที่ร่วมกับชุมชนของ ‘ชีวาดี โปรดักส์’ เน้นสร้างงาน สร้างอาชีพแก่คนในชุมชน เพื่อยกระดับรายได้ให้กลุ่มชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการทำน้ำตาลจากดอกมะพร้าว รวมถึงแรงงานในซัพพลายการผลิตทั้งหมดให้มีความพอใจในอาชีพ อยู่ดีกินดี และสอดรับกับการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตควบคู่กับสังคมอย่างยั่งยืน (Sustainability) 



โดย คุณสารภี ได้ไปคลุกคลีกับชาวบ้านที่ แม่กลอง ศึกษากระบวนการเก็บน้ำหวานจากดอกมะพร้าวเพื่อนำมาต้มและเคี่ยวให้หนืดเป็นน้ำตาล ตลอดจนการมอบองค์ความรู้ใหม่ ๆ ในการปรับปรุงกระบวนการผลิตน้ำตาลมะพร้าวที่มีคุณภาพแก่ชาวบ้าน 



สำหรับส่วนสำคัญในการได้มาซึ่งวัตถุดิบคุณภาพ คือ งานปาดและเก็บน้ำดอกมะพร้าวที่เป็นวัตถุดิบสำคัญ ถือเป็นขั้นตอนที่มีความยุ่งยาก โดยมีกระบวนการตั้งแต่โน้มช่อดอกมะพร้าวแล้วปาดส่วนปลายช่อให้เกิดแผล น้ำหวานจะหยดลงจากรอยปาดแล้วจึงใช้กระบอกรองรับน้ำหวาน ต้องคอยมาเก็บน้ำหวานทุกเช้า-บ่าย เพื่อนำไปเคี่ยวเป็นน้ำตาล งานลักษณะนี้ต้องใช้ทักษะเฉพาะและความอดทน ซึ่งปัจจุบันแรงงานด้านนี้หาได้ยากเต็มที



คุณสารภี กล่าวด้วยว่า การรักษาความสดใหม่ของวัตถุดิบเป็นเรื่องที่สำคัญ เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียในอากาศและอุณหภูมิที่สูงมากจะทำให้น้ำหวานดอกมะพร้าวเปรี้ยว หรือเกิดการเปลี่ยนสภาพ ด้วยเหตุนี้การเก็บน้ำหวานดอกมะพร้าวแบบดั้งเดิม ชาวบ้านบางรายจะใส่เปลือกไม้พะยอม หรือไม้เคี่ยมตากแห้งลงไปเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ได้ชั่วคราว แต่จะทำให้เกิดรสฝาดหรือขม ดังนั้น บางส่วนจึงอาจเลือกที่จะใส่สารกันบูดหรือสารที่สามารถยับยั้งการเน่าเสียซึ่งเป็นสารเคมี ขณะที่ ‘ชีวาดี โปรดักส์’ ทุกขั้นตอนจะทำแบบดั้งเดิม ไม่ใช้สารเคมี เป็นวิถีธรรมชาติที่ดีต่อผู้บริโภค



รวมถึงการปรับปรุงพื้นที่โรงงานผลิตของชาวบ้านให้มีความสะอาด ถูกสุขลักษณะ เป็นมาตรฐานขั้นต้นที่ต้องทำและค่อย ๆ แนะนำชาวบ้านให้ปรับเปลี่ยนไปทีละขั้นตอน ใช้เวลานานพอสมควรกว่าทุกอย่างจะลงตัว จนสามารถผลิตน้ำตาลมะพร้าวที่มีคุณภาพและปลอดสารเคมี 



สร้างมาตรฐานสินค้าออร์แกนิก

คุณสารภี  กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีการลงพื้นที่ไปศึกษาแลกเปลี่ยนความรู้ และถ่ายทอดองค์ความรู้การพัฒนาคุณภาพผลผลิตให้มีมาตรฐานแก่ชาวบ้านในจังหวัดสมุทรสงคราม

 “ตอนนั้นยังเรียกว่าอยู่ในขั้นทดลอง เพราะต้องการดูว่าชาวบ้านจะสามารถผลิตวัตถุดิบได้ในปริมาณที่เพียงพอต่อการนำไปต่อยอดในอุตสาหกรรม และทำให้มีมาตรฐานที่ดียิ่งขึ้นได้หรือไม่” 



ด้วยเหตุนี้ ในการบริหารจัดการงานชุมชน จึงต้องให้ชาวบ้านเข้าใจในสิ่งที่เราทำ ขณะเดียวกัน ต้องเข้าใจชาวบ้านด้วยว่ามีวิถีชีวิตและทำงานอย่างไร มีปัญหาในกระบวนการไหนบ้าง เพื่อปรับปรุงและแก้ไขให้ตรงตามความต้องการของตลาด ซึ่งต้องทำให้ชาวบ้านดูว่าทำแบบนี้ แล้วจะขายได้ ชาวบ้านจึงเริ่มเปลี่ยนมาทำแบบที่เราอยากให้ทำ คือทุกขั้นตอนต้องไม่ใช้สารเคมีเลย 

ต่อมา ‘ชีวาดี โปรดักส์’ ได้รับมาตรฐานการรับรองผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก ซึ่งถือเป็นใบเบิกทางไปสู่การต่อยอดวัตถุดิบให้เป็นผลิตภัณฑ์  

“ทำงานร่วมกับชาวบ้านและวิสาหกิจชุมชนเป็นเรื่องยาก การเปลี่ยนแนวคิดหรือความเคยชินเดิม ๆ ต้องใจเย็น ค่อยเป็นค่อยไป เหมือนเราไปจีบเขา การจะให้เขายอมรับและเชื่อใจ ย่อมต้องใช้เวลา” 



‘ความจริงแท้’  เพิ่มคุณค่าด้วยงานวิจัย 

คุณสารภี  กล่าวอีกว่า ภายหลังจากการรวมกลุ่มชาวสวนมะพร้าวที่สมัครใจเข้าร่วมเพื่อพัฒนาคุณภาพวัตถุดิบน้ำตาลมะพร้าว ต่อมาทำทั้งสวนของบริษัทฯ และมีสวนมะพร้าวเข้าร่วมมากขึ้น จนในที่สุดก็ได้ปริมาณที่มากพอสำหรับพัฒนาเป็นอุตสาหกรรม จนนำวัตถุดิบที่เป็นน้ำตาลมะพร้าวเข้าสู่โรงงานผลิต เป็นการยกระดับมาตรฐานสินค้าให้สูงขึ้นอีกขั้น เช่น FSSC, HACCP, GMP เป็นต้น เพื่อปูทางไปสู่ตลาดต่างประเทศ 



ด้านการตลาด ‘ชีวาดี โปรดักส์’ ใช้กลยุทธ์ ‘ความจริงแท้’ คือใช้ของจริงไม่ปลอมปน วัตถุดิบที่ใช้ต้องเป็นของแท้จากธรรมชาติ ปลอดสารเคมี ซึ่งสิ่งการันตีคุณภาพ คือบริษัทได้รับคัดเลือกจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) เข้าประกวดสินค้าแปลกใหม่ที่มีนวัตกรรม โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้รางวัล คือ  น้ำหวานดอกมะพร้าวอินทรีย์ ได้รางวัลนวัตกรรมการปรับเปลี่ยนโมเลกุลน้ำตาลมะพร้าวที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ เป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภคที่รักสุขภาพ และผู้บริโภคที่ต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และน้ำตาลมะพร้าวทรายทอง ตรา ทำ.มา.นาน ได้รางวัลชนะเลิศการออกแบบอาหาร ที่ใช้ใยอาหารในการป้องกันการเกาะติดของน้ำตาลชนิดผง และได้รับอนุสิทธิบัตรคุ้มครองกระบวนการผลิต



คุณสารภี  กล่าวว่า การขยายสู่ตลาดต่างประเทศ มีมูลค่าสูง รวมถึงสินค้าต้องมีมาตรฐานที่สากลยอมรับ ดังนั้น ไม่เพียงการนำวัตถุดิบอย่าง น้ำตาลมะพร้าว มาปรับปรุงคุณภาพเท่านั้น แต่ต้องต่อยอดด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม เช่น การสกัดสรรพคุณของน้ำตาลมะพร้าวที่ดีต่อสุขภาพ รวมถึงการออกงานแสดงสินค้า และการประชุมวิชาการที่มีคนสนใจเรื่องน้ำตาลมะพร้าว เพื่อเผยแพร่ข้อมูลสินค้าให้เกิดการรับรู้สิ่งที่เราทำไปด้วย เป็นทั้งการส่งต่อความรู้ ควบคู่การตลาดนั่นเอง 



หลังจากที่ผลิตภัณฑ์ชิ้นแรก คือ น้ำหวานดอกมะพร้าวอินทรีย์ ออกสู่ตลาด มีออเดอร์จากต่างประเทศหลั่งไหลเข้ามามากมาย หลังจากนั้นผลิตภัณฑ์ชิ้นที่สองของ ‘ชีวาดี โปรดักส์’  จึงออกสู่ตลาด นั่นคือ น้ำส้มสายชูหมักจากดอกมะพร้าวอินทรีย์ ต่อยอดจากการนำน้ำหวานดอกมะพร้าวมาหมักเป็นน้ำส้มสายชู  อีกทั้งยังนำผลิตภัณฑ์ ไปแตกไลน์สู่ผลิตภัณฑ์อื่นอีกหลากหลายชนิด อาทิ การพัฒนาเป็นซอสปรุงรส น้ำจิ้ม ซีอิ๊ว ต่าง ๆ เช่น อะมิโนมะพร้าว (Coconut aminos) ที่เข้ามาแทนซีอิ้วจากกลุ่มแพ้ถั่ว กลูเตน และหลีกเลี่ยงการใช้อาหารดัดแปรพันธุกรรม ซอสปรุงรสจากมะพร้าวอินทรีย์ เพื่อจำหน่าย ช่วยให้ชุมชนที่ผลิตน้ำตาลมะพร้าวมีรายได้เพิ่มขึ้น 



“เราต้องรู้จริง คือ รู้ความแตกต่างระหว่างสินค้าตนเองกับสินค้ารายอื่น ๆ ในตลาด จึงต้องทำวิจัยเพื่อให้รู้จักสินค้าดีขึ้น แล้วนำมาบอกเล่าให้คนทั่วไปได้รับรู้ เพิ่มมูลค่าให้สินค้าด้วยงานวิจัย ใช้การตลาดเชิงความรู้ เป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค รวมถึงการวิจัยผลการบริโภคน้ำหวานดอกมะพร้าว และ น้ำส้มสายชูหมักจากดอกมะพร้าว ต่อสุขภาพของมนุษย์ที่ทาง ชีวาดี ได้ศึกษาไว้ หรือเรียกว่า การวิจัยเชิงคลินิก ที่ให้ลูกค้าตัดสินใจเพราะเรารู้ลึกซึ้ง และเป็นความจริงที่ให้ผลดีมากต่อสุขภาพ”



ปัจจุบัน ‘ชีวาดี โปรดักส์’ มีสวนมะพร้าวที่เข้าร่วมโครงการกว่า 300 ไร่ ใช้วัตถุดิบประมาณ 200 ตันต่อเดือน จากกระแสการเติบโตของเทรนด์อาหารปลอดภัยและสุขภาพ ทำให้มีออเดอร์เข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยมีตลาดหลักปลายทาง คือตลาดต่างประเทศ 

คุณสารภี เผยมุมมองว่า แม้ปัจจุบันจะเกิดคู่แข่งรายใหม่ ๆ ในตลาดเดียวกันมากมาย แต่กระบวนการได้มา ราคา การผลิต รวมไปถึงนวัตกรรม มีความแตกต่างกัน ด้วยเหตุนี้บริษัท จึงโฟกัสที่สินค้าที่มีมาตรฐาน ที่แท้จริง และตลาดต่างประเทศ รวมถึงการเป็นซัพพลายวัตถุดิบให้แบรนด์ส่งออกรายใหญ่ให้เพียงพอ ซึ่งนับว่าท้าทายมาก 

ประกอบกับปัจจุบัน เรามีพันธมิตรธุรกิจในต่างประเทศที่แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านต่าง ๆ รวมทั้งยังได้มีการจับมือกับธุรกิจค้าปลีกในประเทศเพื่อพัฒนาแบรนด์ ‘ชีวาดี’ ในช่องทางขายปลีกต่าง ๆ อีกด้วย 

คุณสารภี ทิ้งท้ายว่า เป้าหมายต่อไป คือการสร้างธุรกิจอย่างสมดุล จึงเลือกทำในสิ่งที่ถนัด และเปิดกว้างแก่ทุกธุรกิจที่สนใจทำงานร่วมกัน เพราะเชื่อในความจริงแท้ และเน็ตเวิร์คกิ้ง เพื่อสร้างซัพพลายเชนน้ำตาลมะพร้าวที่เข้มแข็ง ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ควบคู่กับการสร้างสังคมให้เกิดการแบ่งปันที่ยั่งยืน 

รู้จัก บริษัทชีวาดี โปรดักส์ จำกัด เพิ่มเติมได้ที่

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

Transition สู่ Operation Excellence ความมุ่งมั่นพัฒนาระบบการทำงาน สู่ความเป็นเลิศในธุรกิจแป้งทำอาหาร ‘แบรนด์ปลาแฟนซีคาร์ฟ’

Transition สู่ Operation Excellence ความมุ่งมั่นพัฒนาระบบการทำงาน สู่ความเป็นเลิศในธุรกิจแป้งทำอาหาร ‘แบรนด์ปลาแฟนซีคาร์ฟ’

การทำโลกธุรกิจสำหรับ SME ยุคดิจิทัล ต้องมี ‘นวัตกรรม’ เข้ามาเป็นตัวช่วยให้ธุรกิจเติบโต และอยู่รอดท่ามกลางการแข่งขัน เพิ่มขีดความสามารถด้านการพัฒนาสินค้า…
pin
98 | 22/04/2024
จากธุรกิจนำเข้า สู่เจ้าของกรรมสิทธิ์อุปกรณ์ ‘ตู้บริการสื่อสารเอนกประสงค์’ กล่องสมองกลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจร

จากธุรกิจนำเข้า สู่เจ้าของกรรมสิทธิ์อุปกรณ์ ‘ตู้บริการสื่อสารเอนกประสงค์’ กล่องสมองกลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจร

Bangkok Bank SME จะพาไปทำความรู้จักกับธุรกิจในกลุ่มบริษัทโทรคมนาคม (Telco) ที่เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะรู้ว่ารูปแบบของการดำเนินงาน มีภาพรวมของรายละเอียดอย่างไร…
pin
616 | 17/04/2024
‘วรุณา’ นำเทคโนโลยี AI ยกระดับภาคการเกษตรไทย พร้อมดันประเทศสู่สังคม Net Zero

‘วรุณา’ นำเทคโนโลยี AI ยกระดับภาคการเกษตรไทย พร้อมดันประเทศสู่สังคม Net Zero

ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกมีความตื่นตัวและหันมาให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อช่วยดูแลและช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนที่ปัจจุบันทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย…
pin
534 | 10/04/2024
ชีวาดี’ น้ำตาลมะพร้าวออร์แกนิก มุ่งสร้างมาตรฐาน เพิ่มคุณค่าด้วยงานวิจัยบุกตลาดเฮลท์ตี้ต่างแดน