ความท้าทายใหม่! เมื่อไทยต้องการมุ่งสู่ ‘HUB ยานยนต์ไฟฟ้าแห่งภูมิภาคเอเชีย’

SME Update
29/04/2023
รับชมแล้วทั้งหมด 3745 คน
ความท้าทายใหม่! เมื่อไทยต้องการมุ่งสู่ ‘HUB ยานยนต์ไฟฟ้าแห่งภูมิภาคเอเชีย’
banner
เมื่อไทยต้องการก้าวขึ้นมาชิงการเป็น ‘ศูนย์กลางผลิต EV แห่งภูมิภาคเอเชีย’ แบบก้าวกระโดด รัฐบาลไทยตั้งเป้าหมายว่าภายในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ. 2573 ที่ล่าสุดไทยมีข่าวดี เมื่อ BYD รถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ยักษ์ใหญ่สัญชาติจีน เข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิต EV ในไทย โดยเงินลงทุนสูงถึง 3 หมื่นล้านบาท ปรากฏการณ์นี้ถือเป็นดีลสำคัญที่ไทยสานต่อจนประสบความสำเร็จ ถือเป็นก้าวสำคัญของการไปสู่ ‘ศูนย์กลางผลิต EV แห่งภูมิภาคเอเชีย’ 



ภาพรวมอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทย

อุตสาหกรรมรถยนต์ไทย เป็นซัพพลายเชนของผู้ประกอบรถยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ยาวมาก มีความใกล้ชิดและมีการพัฒนาวิจัยร่วมกันกับผู้ผลิตรถยนต์ต่อมาก็จะทอดสายไปยังซัพพลายเชน Tier 2 ,3 ส่วนใหญ่แล้วการจ้างงานจะเป็นผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นกลุ่มซัพพลายเชนที่มีคุณภาพสูงมากเพราะในรถยนต์ 1 คันถ้าเป็นระบบสันดาปภายใน หรือ ICE (Internal Combustion Engine) จะประกอบไปด้วยชิ้นส่วนกว่า 30,000 ชิ้น ดังนั้นหากซัพพลายเชนส่งไม่ได้ขาดไปซักชิ้นจะไม่สามารถประกอบรถยนต์ได้

เพราะฉะนั้นคุณภาพของซัพพลายเชนอุตสาหกรรมรถยนต์จึงมีความสำคัญมาก สิ่งนี้ถือเป็นจุดแข็งของไทย ทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ไทยมีความเข้มแข็งมากว่า 30 ปีจนเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก



ยานยนต์ยุคใหม่กับความท้าทายของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย

คุณพิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล ประธานกรรมการบริหาร บมจ. อีโนเว รับเบอร์ (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ทั่วโลกกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้พลังงานทางเลือกหรือพลังงานสะอาดซึ่งมีหลายรูปแบบ จุดนี้ถือเป็นความท้าทายในด้านยานยนต์ของไทยอย่างมาก

เป็นเหตุผลหลักที่ส่งให้แนวโน้มความต้องการยานยนต์ทั่วโลกเปลี่ยนไปเป็นความต้องการ ‘ยานยนต์ไฟฟ้า’ หรือ EV (Electric Vehicle) มากขึ้น แน่นอนว่าประเทศไทยย่อมต้องปรับตัวตามกระแสนี้ให้ทันเช่นกัน เพื่อไม่ให้ตกขบวนของการเป็น ‘ศูนย์กลางผลิต EV แห่งภูมิภาคเอเชีย’

โดยคู่แข่งสำคัญของไทย คือเพื่อนบ้านในภูมิภาคอย่าง อินโดนีเซีย คู่แข่งรายสำคัญของไทย มีตลาดใหญ่กว่าไทยเกือบ 4 เท่า มีแร่นิกเกิลที่ใช้มากเป็นอันดับ 2 รองจากลิเทียม เป็นแร่สำคัญในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า

นอกจากนี้ยังมีต้นทุนแรงงานที่ถูกกว่าไทยถึง 3 เท่า ขณะที่ เวียดนามเองก็ประกาศตัวว่าต้องการเป็นฐานการผลิตในภูมิภาคนี้เช่นกัน จุดนี้ถือเป็นความท้าทายในด้านยานยนต์ของไทยอย่างมาก



สอดรับกับ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ที่ให้มุมมองในเรื่อง ไทยกับการก้าวสู่การเป็น ‘ศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ในภูมิภาคเอเชีย’ ว่าถ้าพูดถึงความได้เปรียบไทยยังอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบอินโดนีเซียอยู่ นั่นคือ ไทยมีความพร้อมของห่วงโซ่อุปทานชิ้นส่วนรถยนต์ที่มีความเข้มแข็ง

เพราะไทยเป็นฐานผลิตยานยนต์แห่งสำคัญของโลก และมีความสามารถในการผลิตให้ต้นทุนถูกลง หรือ มี Economy of scale แต่ข้อได้เปรียบเหล่านี้จะลดลงทันทีที่อินโดนีเซียสามารถก้าวสู่ผู้ผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้าได้



เนื่องจากอินโดนีเซียเป็นแหล่งผลิตแร่นิกเกิลรายใหญ่ของโลก ซึ่งครองส่วนแบ่งการตลาดถึง 1 ใน 4 ส่งผลให้นักลงทุนจากจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่นและ สหรัฐฯ มีความสนใจที่จะใช้อินโดนีเซียเป็นฐานการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ไทยจึงเสียเปรียบอินโดนีเซียในด้านนี้ค่อนข้างมาก

ดังนั้นนักลงทุนรายใหญ่ต้องมองทั้งประเทศเหล่านี้เป็นทางเลือกเพื่อการลงทุน แต่ไทยก็มีจุดแข็งคือโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ของเราดีและมีความพร้อมใน AEC ค่อนข้างสูง



ในขณะเดียวกันกฎหมายต่าง ๆ ของไทยก็เอื้อและเป็นที่เชื่อถือเหล่านี้ล้วนเป็นข้อได้เปรียบของไทย ขณะที่รัฐบาลก็ส่งเสริมให้มีการผลิตรถยนต์ EV ถึง 30% ของยอดการผลิตรถยนต์ทั้งหมด ซึ่งถือเป็น Package ที่มีแรงจูงใจสูงมาก จะเห็นได้ว่ามีผู้ยื่นขอส่งเสริมการลงทุนถึงกว่า 800,000 คัน ส่งผลให้ไทยมีโอกาสรักษาความเป็น ‘ดีทรอยต์แห่งเอเซีย’ ในยุคของยานยนต์ยุคใหม่อย่าง EV ได้ 



ศักยภาพของผู้ผลิตรถยนต์ไทยกับการเป็น ‘ศูนย์กลางในภูมิภาคเอเซีย’

คุณพิมพ์ใจ ให้ข้อมูลว่า ปีที่ผ่านมายอดรวมในการผลิตของไทยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาประมาณ 1.75 ล้านคันต่อปี ติดอันดับท็อปเท็นประเทศที่ผลิตรถยนต์มากที่สุดในเอเชีย เพราะไทยเคยผลิตได้ถึง 2.5 ล้านคันต่อปี

โดยเรามีกำลังผลิตได้มากถึง 3 ล้านคันต่อปี ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่า ต้องมีการแข่งขันในตลาดโลกด้วย ขณะที่การสร้างตลาดในประเทศก็ต้องทำควบคู่ไปด้วย

โดยมีสัดส่วนการตลาดในประเทศ 50% ส่วนอีก 50% เป็นการส่งออก ต้องบอกว่า Consumer มีความมั่นใจในรถยนต์ที่ผลิตจากไทยดังนั้นแบรนด์ Image ในประเทศไทยถือว่าแข็งแรงมาก กล่าวได้ว่าถ้ารถยนต์ที่มาจากประเทศไทยลูกค้าจะเชื่อมั่นอย่างมาก สิ่งนี้จะส่งผลให้การผลิตรถ EV ของไทยในอนาคตได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย



ขณะที่สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า ประเทศไทยที่เป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ญี่ปุ่นมานั้น กำลังถูกค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจีนบุกตลาด ทั้งในแง่ของการมาตั้งฐานการผลิต และการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้ามาไทย ซึ่งถือเป็นตลาดรถ EV จีนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน และใหญ่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก

โดยในเดือนกันยายนที่ผ่านมา BYD ซึ่งเป็นบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าและไฮบริดที่ใหญ่ที่สุดเบอร์ 1 ของทั้งในจีนและของโลก ได้ประกาศแผนสร้างโรงงานผลิตรถไฟฟ้านอกประเทศจีนเป็นครั้งแรก ที่จ.ระยอง ซึ่งก่อนหน้านั้นเพียงไม่กี่วัน ค่ายใหญ่อย่าง Great Wall Motor ก็ประกาศไลน์การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 10,000 คัน ที่ระยองเช่นกัน 



ขณะที่ Hozon New Energy Automobile ซึ่งเป็นค่ายรถไฟฟ้าจากเซี่ยงไฮ้ ก็เพิ่งเปิดโชว์รูมในประเทศไทยเป็นครั้งแรกที่เซ็นทรัล พระราม 2
นอกจากมาตั้งโรงงานผลิตและโชว์รูมแล้ว อัตราการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าของจีนมายังไทยยังทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ระหว่างเดือน ม.ค.- ก.ย. ปี 2565 อยู่ที่ 59,375 คัน หรือเพิ่มขึ้นถึง 176 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 ทำให้ขณะนี้ไทยเป็นตลาดส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าของจีนที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจาก เบลเยี่ยม และ สหราชอาณาจักร เท่านั้น

นอกจากนี้สำนักข่าวต่างประเทศยังยืนยันว่า ไทยยังเป็นตลาดใหญ่ของ EV ด้วยเพราะปัจจุบัน หากลองเทียบยอดขายรถยนต์ EV ใน 3 ตลาดอาเซียน ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และประเทศอื่น ๆ  จะพบว่ายอดขายในไทยนำโด่งกว่าใคร ทั้งปัจจุบันในปี 2022 ไปจนถึงคาดการณ์ในปี 2030 โดยยอดขาย EV ปี 2022 (รวม 31,000 คัน) สัดส่วนมาอยู่ที่ ไทย 15,600 คัน มาเลเซีย 1,600 คัน อินโดนีเซีย 4,100 คัน ประเทศอื่น ๆ 9,700 คัน



ภาครัฐกำลังสำคัญในการเปลี่ยนผ่านมุ่งสู่ ‘HUB ยานยนต์ไฟฟ้าแห่งภูมิภาคเอเชีย’

ภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรมและทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้มีการขยับเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงไปสู่เป้าหมายนี้มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ยกตัวอย่าง การเก็บภาษีสรรพสามิต เดิมทีจะเป็นการคำนวณตามขนาดของเครื่องยนต์ แต่มาในวันนี้เรามีการคำนวณตามปริมาณการปล่อยไอเสียแทน เช่น รถยนต์สันดาปที่ใช้น้ำมัน ภาษีจะอยู่ที่ราว 25 – 30% แต่ถ้าเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ภาษีจะอยู่ที่เพียง 2% เท่านั้น

สำหรับมาตรการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยก็คือ รัฐบาลจะให้การอุดหนุนทั้งส่วนลดยานยนต์ไฟฟ้า ลดภาษีสรรพสามิต ลดอากรขาเข้า และยกเว้นอากรขาเข้า โดยค่ายรถที่เข้าร่วมโครงการจะต้องผลิตชดเชยให้เท่ากับจำนวนที่นำเข้า ในปี 2024 ขณะที่ประเทศไทยต้องการให้มีปริมาณการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นสัดส่วน 30% ภายในปี 2030

นโยบายเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าไทยมุ่งมั่นที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของโลก ซึ่งเพิ่มความเชื่อมั่นและดึงดูดนักลงทุนหน้าใหม่เข้ามา ส่วนใหญ่มาจากจีนและคาดว่าจะทยอยตามมาเพิ่มขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจที่มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของจีนในประเทศไทย ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 จะเพิ่มขึ้นถึงเท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ EV

ทั้งนี้เพื่อให้สอดรับกับเป้าหมายและแผนการดำเนินงานที่วางไว้ ในปี 2565 คณะรัฐมนตรีจึงได้อนุมัติมาตรการต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นการลงทุนและความต้องการ EV ในประเทศไทย ได้แก่

-การอุดหนุนเงินสดสูงสุดถึง 150,000 บาทสำหรับรถ EV ที่ผลิตในประเทศ 

-การยกเว้นภาษีนิติบุคคลสูงถึง 13 ปีสำหรับการตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนในประเทศไทย

-การยกเว้นภาษีนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปและชิ้นส่วนเทคโนโลยีสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้าในระยะเริ่มต้น

-การลดอัตราภาษีสรรพสามิต

-การลดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตจดทะเบียนรถ 

-การได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีด้านการส่งออกผ่านกรอบข้อตกลง FTAs ซึ่งทำให้การส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนจากไทยไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนและเอเชียแปซิฟิกเสียภาษีใกล้เคียงศูนย์  

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการส่งเสริมที่ไม่ใช่การเงิน เช่น การเร่งขยายโครงข่ายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า โดยมีเป้าหมายติดติดตั้งสถานีชาร์จให้ได้ 12,000 แห่งทั่วประเทศภายในปี 2573 ดังนั้นภาครัฐจึงถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการผลิตรถ EV ไทยให้ก้าวสู่การเป็นเบอร์หนึ่งของ ‘HUB ยานยนต์ไฟฟ้าแห่งภูมิภาคเอเชีย’



สิ่งที่ไทยควรทำ! ในการเปลี่ยนผ่านสู่ ZEV ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย

ทั้งนี้ทำให้การเปลี่ยนผ่านของไทยเป็นไปอย่างราบรื่น ซึ่งจริง ๆ แล้วการใช้งานรถยนต์สันดาปหรือรถยนต์ใช้น้ำมันนั้น มีการคาดการณ์ว่าจะยังคงมีใช้อยู่ 15 - 30 ปี ดังนั้นเราต้องมีการบริหารจัดการพลังงานในสัดส่วนที่เหมาะสม ต้องยอมรับว่าปัจจุบันพลังงานไฟฟ้าของไทย 80% มาจากพลังงานฟอสซิล มีเพียง 20% เท่านั้นที่ได้มาจากพลังงานสะอาดหรือพลังงานหมุนเวียน 

ด้วยเหตุนี้ประเทศไทยจึงต้องเร่งปรับสัดส่วนให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น ดังนั้นรถยนต์ EV ก็ยังไม่ถือเป็นพลังงานสะอาด 100% เพราะสัดส่วนพลังงานของเรายังไม่เป็น GREEN 100% เนื่องจากพลังงานต้นทางยังเป็นพลังงานฟอสซิล ที่ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม 



ดังนั้นการปรับเปลี่ยนต้องใช้เวลาพอสมควร ในระยะเวลา 15 - 30 ปี รถยนต์ที่ใช้น้ำมันจะยังคงอยู่ จึงต้องสร้างโอกาสให้เกิดห่วงโซ่อุปทานชิ้นส่วนรถยนต์ ZEV (Zero Emission Vehicle) ที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้  ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ BEV และ ยานยนต์ไฟฟ้าเซลเชื้อเพลิง FCEV ให้ครบวงจรมากที่สุดในประเทศ และสร้างโอกาสให้ไทยมีฐานตลาดรถยนต์ ZEV ทั้งในและต่างประเทศที่ใหญ่มากพอ มีการพัฒนาให้มีคุณภาพดีและมีราคาที่สามารถแข่งขันได้ เพื่อรักษาตลาดไว้และเป็น Backup ให้กับรถยนต์ไฟฟ้าของไทยในอนาคต ถือเป็นการรักษาตลาด รถยนต์ ICE และสร้างตลาด EV ให้มีความเข้มแข็งไปพร้อม ๆ กัน

ซึ่งประเทศไทยอาจต้องใช้ระยะเวลามากถึง 30 ปีในการวิจัยและพัฒนาด้านพลังงานและบุคลากรเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านรถยนต์ระบบสันดาปไปสู่ระบบไฟฟ้าในอนาคต



ในช่วงเปลี่ยนผ่านผู้ประกอบการรถยนต์ ICE ควรปรับตัวอย่างไรให้ไปต่อได้ 

คุณพิมพ์ใจ สะท้อนภาพว่า ผู้ที่อยู่ในธุรกิจรถยนต์ ICE ต้องช่วยกันสร้างความเชื่อถือที่เรามีสูงอยู่แล้ว แต่ถ้าสามารถแข่งขันในด้านราคาได้มากกว่านี้จะเพิ่มโอกาสทางการตลาดอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยได้อย่างมีศักยภาพมากขึ้น ซึ่งต้องไม่ลืมว่ารถไทยเป็นรถพวงมาลัยขวา เพราะฉะนั้นพื้นที่ในการผลิตรถพวงมาลัยขวามีแค่ 1 ใน 6 ของโลกเท่านั้น ดังนั้นการแข่งขันของเราจึงสูงมาก ซึ่งรถพวงมาลัยซ้ายและพวงมาลัยขวาไม่สามารถใช้ Parts ร่วมกันได้เนื่องจากมีราคาสูงมาก



ดังนั้นประเทศไทยต้องทำให้รถยนต์ ICE รักษาคุณภาพมาตรฐานเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าในตลาดโลกได้ เพื่อต่อยอดไปสู่ความน่าเชื่อถือในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตของประเทศไทย เป็นการสร้างความยั่งยืนในอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยต่อไปในอนาคตนั่นเอง

จุดแข็งของไทยเพื่อก้าวสู่ ‘HUB EV แห่งเอเชีย’ คืออะไร?

นอกจากนั้น Bloomberg ยังระบุว่า ไทยมีหลายปัจจัยที่ดึงดูดการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน อาทิ
-เป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน
-เป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 10 ของโลก
-มีความพร้อมในด้านซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมรถยนต์
-เป็นชาติแรกในภูมิภาคที่ออกมาตรการอุดหนุนการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า สูงสุด 150,000 บาท/คัน
-รัฐบาลออกมาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย ทั้งด้านภาษีและเงื่อนไขต่าง ๆ รวมใช้งบไปแล้วถึงราว 4.3 หมื่นล้านบาท



โอกาสของผู้ประกอบการ SME ไทย จะได้ประโยชน์อะไรในการเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์ไฟฟ้า

คุณพิมพ์ใจ เผยวิสัยทัศน์เรื่องนี้ว่า ที่ผ่านมาเรามีความภาคภูมิใจที่ไทยถือได้ว่าเป็น ‘ดีทรอยต์แห่งภูมิภาคอาเชีย’ แต่เมื่อมีการเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์ยุคใหม่ เป็นความท้าทายอย่างมากและถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการ SME ไทย

เพราะยานยนต์สมัยใหม่มีโครงสร้างที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็น บอดี้รถ ระบบภายใน และระบบยางซิลกันน้ำต่าง ๆ รวมไปถึงระบบไฟส่องสว่าง และผู้ผลิตที่จะเป็นดาวเด่นในการปรับเปลี่ยนจากรถใช้น้ำมันเป็นรถยนต์ไฟฟ้า คือกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เหล่านี้ล้วนเป็น System Parts ที่สำคัญที่จะเป็นโอกาสของ SME ในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต

นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสของผู้ประกอบการ SME อย่างเช่น ศูนย์ซ่อมรถยนต์ EV และ ศูนย์ดัดแปลงรถใช้น้ำมันเป็นรถพลังงานไฟฟ้า ที่จะเกิดขึ้นอีกมากในอนาคต ซึ่งแนวโน้มต้นทุนลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับผู้ใช้รถยนต์น้ำมันในประเทศไทยมีจำนวนมาก ถ้านำมาดัดแปลงเป็นระบบไฟฟ้าได้จะถือเป็นโอกาสที่ดีมากของผู้ประกอบการ SME ไทยในอนาคต


อ้างอิง
https://www.salika.co/2023/01/06/thai-vs-indonesia-ev-hub-of-asean/
https://www.thansettakij.com/business/552265
https://www.facebook.com/bangkokbanksme/videos/1548168872261911/

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘TikTok For All’ Update เทรนด์ใหม่ปี 2024 พร้อมกลยุทธ์เพิ่มโอกาส SME ไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

‘TikTok For All’ Update เทรนด์ใหม่ปี 2024 พร้อมกลยุทธ์เพิ่มโอกาส SME ไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

TikTok ตอกย้ำการเป็นแพลตฟอร์มเอนเตอร์เทนเมนต์ที่น่าเชื่อถือสำหรับทุกคน ทั้งครีเอเตอร์ คอมมูนิตี้ผู้ใช้งาน และธุรกิจทุกขนาดในไทย ด้วยการเปิดตัว…
pin
1059 | 14/02/2024
ทอดไม่ทิ้ง! เปลี่ยน ‘น้ำมันเหลือทิ้ง’ เป็น ‘น้ำมันเครื่องบิน’ โอกาสใหม่ SME ไทย เติบโตอย่างยั่งยืน

ทอดไม่ทิ้ง! เปลี่ยน ‘น้ำมันเหลือทิ้ง’ เป็น ‘น้ำมันเครื่องบิน’ โอกาสใหม่ SME ไทย เติบโตอย่างยั่งยืน

ขณะที่ยานพาหนะต่าง ๆ ทั้ง รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รถไฟ และเรือ ต่างมุ่งสู่การใช้เชื้อเพลิงพลังงานทดแทน ที่เป็นพลังงานสะอาดกันแล้ว แต่สำหรับการเดินทางโดยอากาศยาน…
pin
1405 | 26/01/2024
จับกระแส 'เทรนด์ธุรกิจ' ปี 2024 ใครได้ไปต่อ ใครมาแรง SME ไทยต้องรู้

จับกระแส 'เทรนด์ธุรกิจ' ปี 2024 ใครได้ไปต่อ ใครมาแรง SME ไทยต้องรู้

ปี 2024 นี้ ธุรกิจไหนมาแรง ธุรกิจไหนน่าจับตา เทรนด์ธุรกิจใดกำลังมาแรง Bangkok Bank SME สรุปมาไว้ในบทความนี้ เพื่อเป็นแนวทางแก่ SME และผู้ที่กำลังคิดจะเริ่มต้นทำธุรกิจทุกท่าน…
pin
1680 | 25/01/2024
ความท้าทายใหม่! เมื่อไทยต้องการมุ่งสู่ ‘HUB ยานยนต์ไฟฟ้าแห่งภูมิภาคเอเชีย’