‘ป.อุบล’ หมูยออร่อยที่สุด! กลยุทธ์ขยายธุรกิจอาหารแปรรูป เจาะตลาดผู้บริโภคคนเมือง

SME in Focus
16/07/2023
รับชมแล้วทั้งหมด 10991 คน
‘ป.อุบล’ หมูยออร่อยที่สุด! กลยุทธ์ขยายธุรกิจอาหารแปรรูป เจาะตลาดผู้บริโภคคนเมือง
banner
‘ป.อุบล’ ธุรกิจครอบครัว (Family business) ก่อตั้งโดยคุณประยงค์ เหรียญรักวงศ์ (พ่อ) ผู้มีแนวคิดธุรกิจแปรรูปอาหารทะเล เช่น เนื้อกุ้ง เนื้อปลา เนื้อปู และสินค้าทะเลอื่น ๆ ให้เกิดมูลค่าเพิ่ม และจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางหน้าร้าน

อาทิ แฮ่กึ๊น ฮ่อยจ๊อ จำหน่ายในตลาดสด เริ่มต้นทำเป็นอุตสาหกรรมภายในครัวเรือนในปี 2519 ชื่อร้าน มหาชัยวาริน ก่อนปรับเปลี่ยนเป็นแบรนด์ ป.อุบล ที่ได้ชื่อว่าเป็น แบรนด์หมูยอที่มีชื่อเสียงในจังหวัดอุบลฯ เป็นเวลาเกือบครึ่งศตวรรษ (47 ปี)

ที่ได้สั่งสมองค์ความรู้ด้านการแปรรูปเนื้อสัตว์เป็นอาหาร ปัจจุบันผลิตและจำหน่ายสินค้ากว่า 50 รายการ โดยได้รับรางวัลการันตีความอร่อยระดับประเทศมากมาย



คุณสมนึก เหรียญรักวงศ์  ผู้ดูแลในส่วนโรงงานและกระบวนการผลิต ตลอดจนซัพพลายวัตถุดิบทั้งหมดให้ร้าน ป.อุบล สาขาต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งมีธุรกิจร้านของฝากในจังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 9 สาขา มองว่า จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของแบรนด์ ป.อุบล เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2545 ธุรกิจได้ขยายเป็นโรงงาน และพัฒนาการผลิตให้ทันสมัยมากขึ้น

โดยปรับแผนผลิตสินค้าเนื้อสัตว์แปรรูปในเชิงอุตสาหกรรมให้ทันสมัยขึ้น ซึ่งตอนนั้นจำหน่าย กุนเชียง แฮ่กึ๊น ฮ่อยจ๊อ ไก่จ๊อ แหนม หมูเด้ง ต่อมาในปี 2548 เริ่มผลิต ‘หมูยอ’ ที่เป็นสินค้าขึ้นชื่อประจำจังหวัดอุบลราชธานี และเป็นสินค้าเรือธงที่ทำให้ ป.อุบล มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วประเทศ

ในปี 2555-2556 ‘หมูยอ’ ร้าน ป.อุบล ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 งานเกษตรแห่งชาติ การันตีว่าเป็นแบรนด์หมูยอที่อร่อยระดับโอทอป 5 ดาวของจังหวัดอุบลฯ ทั้งยังมีรางวัลการันตีความอร่อยอีกมากมาย อาทิ ได้รับคัดเลือกเป็นสินค้าโอทอป 5 ดาว หลายสมัย และได้นำจุดเด่นนี้มาพัฒนาจนเป็นจุดขายถึงปัจจุบัน 



‘เคล็ดลับ’ ความอร่อย 

เริ่มจากการผลิตที่เน้นวัตถุดิบเนื้อสัตว์ที่สดใหม่ ไม่ใส่แป้ง ใส่ใจ ‘รสชาติความอร่อย’ มากกว่าการลดต้นทุนผลิต มีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัย รักษาคุณภาพสม่ำเสมอ เป็นโรงงานเพียงแห่งเดียวในจังหวัดอุบลราชธานีที่มีมาตรฐาน GMP และ HACCP

และได้รับการรับรองมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ผู้บริโภคจึงเชื่อมั่นได้ว่าสินค้ามีคุณภาพและปลอดภัยจากสารเคมีอันตราย อาทิ บอแรกซ์และสารกันเสียต่าง ๆ ด้วยมาตรฐานดังกล่าวจึงสามารถส่งออกไปตลาดต่างประเทศได้ 



คุณสมนึก บอกเคล็ดลับว่า  ป.อุบล นำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาสร้างมาตรฐานการแปรรูปสินค้า ตลอดจนมีการวัดค่าต่าง ๆ และทดสอบทุกรอบการผลิต เป็นเคล็ดลับความอร่อยที่ทำให้ถูกปากคนไทยทั่วประเทศ

แต่กว่าจะถึงจุดนี้ได้ ต้องผ่านการพบปะลูกค้าและออกงานแสดงสินค้าทั่วประเทศมานับสิบปี ได้รับคำติชมจากลูกค้ามากมาย และได้นำมาปรับปรุงสินค้าให้ดีขึ้น  ตลอดจนมีการพัฒนาสูตรและรักษาคุณภาพอย่างสม่ำเสมอจน ป.อุบล เป็นร้านของฝากขึ้นชื่อประจำจังหวัดอุบลราชธานี 

สำหรับสูตรหมูยอ ป.อุบล นับเป็นสูตรลับเฉพาะที่เป็นการผสมผสานระหว่างองค์ความรู้ด้านการแปรรูปเนื้อสัตว์และการถนอมอาหารต่าง ๆ มายาวนาน กับองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์อาหารสมัยใหม่  โดยมีโรงงานผลิตอยู่ที่อุบลราชธานี รวมทั้งปัจจุบันกำลังสร้างโรงงานการผลิตแห่งที่ 3 เพื่อขยายตลาดของฝากท้องถิ่นอื่น ๆ เพิ่มเติม



เจาะตลาดของฝากเมืองกรุง  



ปี 2550 คุณสมหมาย เหรียญรักวงศ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด วางแผนนำแบรนด์ ป.อุบล รุกตลาดกรุงเทพ ฯ โดยในช่วง 2-3 ปีแรกเน้นการนำสินค้าเข้าแสดงและจำหน่ายในงานโอทอป เพื่อเป็นการแนะนำและประชาสัมพันธ์แบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้บริโภค ด้วยการเน้นสินค้าที่มีความโดดเด่นได้รับความนิยมของแบรนด์

อาทิ หมูยอ ไส้กรอกอีสาน แหนมกระดูกอ่อน แหนมใบมะยม กุนเชียง หมูสวรรค์ เนื้อสวรรค์ หมูหยอง ซึ่งสินค้าที่มีกระแสตอบรับดีมากที่สุดจากลูกค้าคือ ‘หมูยอ’ ด้วยคำยกย่องว่า ‘เป็นหมูยออร่อยที่สุดในประเทศ’ และยังเป็นสินค้ายอดขายอันดับ 1 ประเภทอาหารภายในงานอีกด้วย โดยเราใช้เทคนิคการขายด้วยการให้ลูกค้า ‘ชิม’ เพราะเราเชื่อมั่นในแบรนด์เป็นอย่างมากว่า ‘สินค้าต้องถูกปากลูกค้า จึงจะนำไปสู่การตัดสินใจซื้อในที่สุด’





นำ ‘ป.อุบล’ เข้าโมเดิร์นเทรด  

ภายหลังสร้างชื่อจากการออกงานโอทอป มีห้างสรรพสินค้าเริ่มเข้ามาติดต่อไปร่วมธุรกิจ ด้วยข้อเสนอในการให้พื้นที่ห้างเพื่อจัดโปรโมชั่นสินค้า หรือให้พื้นที่นำสินค้าไปวางจำหน่าย ทั้งนี้ จึงผลักดันสินค้าหลัก อาทิ หมูยอ กุนเชียง แหนม จำหน่ายใน Top Supermarket 

โดยจัดแสดงในพื้นที่แนะนำสินค้าด้านหน้าเคาน์เตอร์จ่ายเงิน (Super Out) ที่แยกส่วนจากชั้นวางในซูเปอร์มาร์เก็ต (Super In) 

นอกจากนี้ ป.อุบล ต้องการกระจายสินค้าตามซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้า ทั่วกรุงเทพฯ รวมถึงจังหวัดในเขตปริมณฑล เพื่อให้ลูกค้ารู้จัก ป.อุบล ให้มากที่สุด จึงร่วมมือกับห้างเดอะมอลล์ เพื่อจัดรายการและส่งเสริมการขายสินค้าในห้างอีกด้วย 



แบรนด์ของฝากจากอุบลฯ รุกตลาดคนกรุง 







คุณสมหมาย มองว่าการทำตลาด ป.อุบล ในเมืองหลวง ต้องเริ่มจากการนำเสนอในรูปแบบของฝาก และเพิ่มเมนูอาหารต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคมากขึ้น อาทิ ก๋วยจั๊บญวน ยำหมูยอ ยำแหนม

โดยพัฒนาสูตรน้ำยำให้ง่ายต่อการปรุง และมีรสชาติกลาง ๆ สามารถรับประทานได้ทุกเพศทุกวัย ภายใต้แนวคิดที่ไม่เน้นการใช้เงินเพื่อโฆษณาผ่านสื่อต่าง ๆ แต่จะใช้วิธีการนำเสนอสินค้าส่งถึงผู้บริโภคตามห้างสรรพสินค้าหรือซูเปอร์มาร์เก็ตแทน

โดยในช่วงแรกจะไม่เลือกวางสินค้าในชั้นวางปกติทั่วไป แต่จะเลือกวางบนพื้นที่จัดโปรโมชั่นเพื่อเน้นการประชาสัมพันธ์แบรนด์ ผ่านการแนะนำสินค้าด้วยการให้ลูกค้าชิมก่อน
 
คุณสมหมาย ยอมรับว่าการเลือกวางสินค้าบนพื้นที่จัดโปรโมชั่น มีต้นทุนสูงกว่าการวางขายในชั้นวางปกติทั่วไป เพราะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และบุคลากรเพิ่มเข้ามา แต่ผลที่ได้คือ Brand Awareness สามารถสร้างการรับรู้ในแบรนด์ ทำให้สินค้าเป็นที่รู้จัก ก่อให้เกิด Demand ทำให้สามารถขายสินค้าจากการจำแบรนด์สินค้าได้ ซึ่งการตลาดแบบนี้ถือเป็นการสร้างกลไกทางการตลาดที่แท้จริงมากกว่า




เปิดร้าน Stand Alone ภายในปั๊ม

คุณสมหมาย กล่าวว่า การระบาดของโควิด 19 ที่ผ่านมา ห้างสรรพสินค้าไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ ทำให้ต้องคิดใหม่ว่า อาจจะต้องหาพื้นที่จำหน่ายสินค้า ‘นอกห้าง’ โดยตอนนั้นเจรจากับทางปั๊มน้ำมัน ปตท.

และด้วยชื่อเสียงที่ดีของ ป.อุบล จึงได้เป็น Exclusive Brand ของร้านค้าในปั๊มน้ำมัน ปตท. สามารถจำหน่ายได้ในปั๊มน้ำมันทุกสาขา และได้สิทธิพิเศษ อาทิ ได้ดูข้อมูลเชิงลึกในด้านต่าง ๆ ก่อนที่ปั๊มจะเปิดสาขา ได้สิทธิ์เลือกทำเลก่อน ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ประกอบการทั่วไปจะได้เลือกทำเลภายหลังจากที่ปั๊มน้ำมันเปิดบริการแล้ว 



พร้อมกับการพัฒนาร้าน ป.อุบล ที่เป็น Stand Alone ภายในปั๊ม ปตท. เน้นจำหน่ายสินค้ากลุ่มอาหารให้มากขึ้น อาทิ อาหารพร้อมทาน (Ready to eat) เมนูของกินเล่น อาทิ แฮ่กึ๊นทอด ฮ่อยจ๊อทอด ที่เป็นสูตรดั้งเดิมตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ

หรืออาจจะเรียกว่าเป็นเมนู ‘อาหารเวียดนาม’ ที่นอกจากก๋วยจั๊บญวนแล้ว ยังมีขนมปากหม้อญวน เมี่ยงสด แหนมเนือง เมี่ยงทอด เป็นเมนูที่พัฒนาขึ้นโดยใช้ผลิตภัณฑ์ของ ป.อุบล ทั้งหมด 

ร้าน ป.อุบล ที่เปิดเป็น Stand alone ภายในปั๊มน้ำมัน ปตท.ปัจจุบันมี 6 สาขา สาขาแรกคือที่จังหวัดนครปฐม สาขา 2 อยู่ที่จังหวัดสมุทรสาครซึ่งเปิดในเวลาไล่เลี่ยกัน หลังจากนั้นขยายไปจังหวัดฉะเชิงเทรา

และล่าสุดคือบางกรวย นนทบุรี สัดส่วนยอดขายจะไปทางห้างและซูเปอร์มาร์เก็ตประมาณ 70% และ Stand alone ภายในปั๊มน้ำมัน ปตท.ประมาณ 30%

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าภาพรวมยอดขายในส่วนของห้างและซูเปอร์มาร์เก็ตจะมากกว่า เนื่องจากสาขาที่มากกว่า แต่หากพิจารณาจากผลกำไร และโอกาสในการขายสินค้ารายการอื่น ๆ  ร้านอาหารที่เปิดเป็น Stand alone จะตอบโจทย์ได้ดีกว่า 



คุณสมหมาย กล่าวว่า การนำสินค้าของฝากมาขายที่กรุงเทพฯ นับเป็นเรื่องท้าทาย การทำอาหารที่เป็นของพื้นถิ่นจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาซื้อของฝากหรือรับประทานอาหารในร้าน เคล็ดลับง่าย ๆ คือพอลูกค้าได้รับประทานแล้วอร่อย ก็ต้องอยากซื้อกลับไปรับประทานที่บ้าน หรือซื้อเป็นของฝากนั่นเอง



มองอนาคตธุรกิจแบรนด์ ป.อุบล



คุณสมหมาย เล่าให้ฟังถึงช่วงวิกฤตโควิด 19 ว่าอาจเพราะแนวคิดการทำธุรกิจแบบคนไทยเชื้อสายจีนที่สอนว่า ไม่ควรไปร่วมหุ้นทำธุรกิจกับใคร ที่ผ่านมาเราจึงไม่เคยคิดเรื่องนี้ แม้กระทั่งช่วงโควิดระบาด ธุรกิจประสบปัญหา ยอดขายลดลงมาก แต่เราก็เลือกที่จะหาเงินทุนด้วยการกู้ยืมจากสถาบันการเงินมาเพื่อหล่อเลี้ยงธุรกิจและพนักงานให้อยู่กับเราได้ต่อไป
 
แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย สินค้ากลับมาขายได้อีกครั้ง และแบรนด์มีความพร้อมที่จะรุกตลาดทั้งกรุงเทพและปริมณฑล ด้วยของดีจากจังหวัดอุบลราชธานี เรามองอนาคตที่จะขยายตลาดทั้งในซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้า และปั๊มน้ำมัน อย่างต่อเนื่อง

จากปัจจุบันที่มีสินค้า ป.อุบล วางขายใน Top Supermarket และห้างสรรพสินค้าชั้นนำรวมกว่า 50 สาขาทั่วประเทศ เรากำลังเจรจาเพื่อวางขายใน Macro รวมทั้งขยายสาขา Stand alone ในปั๊มบางจาก ซึ่งคาดว่าจะเปิดได้ 3 สาขาภายในปีนี้



สำหรับแนวคิดการเปิดแฟรนไชส์ คุณสมหมาย มองว่าเราต้องมีความพร้อมมากกว่านี้ โดยเฉพาะเรื่องการสร้างมาตรฐาน และความเข้มแข็งของแบรนด์ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาพัฒนาอีกระยะหนึ่ง

ติดตามข้อมูลแบรนด์ ป.อุบล เพิ่มเติมได้ที่  
http://www.pohubon.com/index.php 

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘LED Farm’ โรงงานผลิตพืชด้วยหลอดไฟ ฟาร์มผักพันธุ์ใหม่ เอาใจคนรักสุขภาพยุคดิจิทัล

‘LED Farm’ โรงงานผลิตพืชด้วยหลอดไฟ ฟาร์มผักพันธุ์ใหม่ เอาใจคนรักสุขภาพยุคดิจิทัล

จากธุรกิจผลิตหลอดไฟ LED ต่อยอดสู่การพัฒนาด้านการผลิตอาหารและนวัตกรรมการแปรรูปสินค้าเกษตรออร์แกนิก แบรนด์ ‘แอลอีดี ฟาร์ม’ (LED Farm) ที่มุ่งสร้างมาตรฐานสินค้าเกษตรคุณภาพ…
pin
72 | 25/04/2024
Transition สู่ Operation Excellence ความมุ่งมั่นพัฒนาระบบการทำงาน สู่ความเป็นเลิศในธุรกิจแป้งทำอาหาร ‘แบรนด์ปลาแฟนซีคาร์ฟ’

Transition สู่ Operation Excellence ความมุ่งมั่นพัฒนาระบบการทำงาน สู่ความเป็นเลิศในธุรกิจแป้งทำอาหาร ‘แบรนด์ปลาแฟนซีคาร์ฟ’

การทำโลกธุรกิจสำหรับ SME ยุคดิจิทัล ต้องมี ‘นวัตกรรม’ เข้ามาเป็นตัวช่วยให้ธุรกิจเติบโต และอยู่รอดท่ามกลางการแข่งขัน เพิ่มขีดความสามารถด้านการพัฒนาสินค้า…
pin
189 | 22/04/2024
จากธุรกิจนำเข้า สู่เจ้าของกรรมสิทธิ์อุปกรณ์ ‘ตู้บริการสื่อสารเอนกประสงค์’ กล่องสมองกลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจร

จากธุรกิจนำเข้า สู่เจ้าของกรรมสิทธิ์อุปกรณ์ ‘ตู้บริการสื่อสารเอนกประสงค์’ กล่องสมองกลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจร

Bangkok Bank SME จะพาไปทำความรู้จักกับธุรกิจในกลุ่มบริษัทโทรคมนาคม (Telco) ที่เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะรู้ว่ารูปแบบของการดำเนินงาน มีภาพรวมของรายละเอียดอย่างไร…
pin
810 | 17/04/2024
‘ป.อุบล’ หมูยออร่อยที่สุด! กลยุทธ์ขยายธุรกิจอาหารแปรรูป เจาะตลาดผู้บริโภคคนเมือง