‘ฟายด์ โฟล์ค’ เปิดประสบการณ์ เที่ยวชุมชน ‘วัดผลลดปล่อยคาร์บอนได้’

SME in Focus
12/10/2023
รับชมแล้วทั้งหมด 1498 คน
‘ฟายด์ โฟล์ค’ เปิดประสบการณ์ เที่ยวชุมชน ‘วัดผลลดปล่อยคาร์บอนได้’
banner
ปัจจุบันการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เป็นที่สนใจเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากที่ทุกคนเริ่มตระหนักได้ว่าทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย โดยผลสำรวจของบริษัท SAP Concur บริษัทชั้นนำที่ให้บริการด้านการเดินทาง พบว่า ในปี 2566 นักเดินทาง 95% ต้องการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ สะท้อนถึงการให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

ประเทศไทยจึงขานรับเทรนด์การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการท่องเที่ยว บริษัท ฟายด์ โฟล์ค จำกัด (Find Folk) เป็นหนึ่งในตัวอย่างของธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ประสบความสำเร็จ จากการเป็นทั้งที่ปรึกษา และผู้ออกแบบการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงผู้สนับสนุนโครงการ Low Carbon Tourism

ซึ่งวันนี้เรามีโอกาสพูดคุยกับ คุณจักรพงษ์ ชินกระโทก CEO & Founder บริษัท ฟายด์ โฟล์ค จำกัด เจ้าของรางวัล ‘รองชนะเลิศระดับโลก’ Low carbon ที่คัดเลือกจากสตาร์ทอัพ 1000 รายทั่วโลก จะมาเปิดมุมมองและแนวคิดการดำเนินธุรกิจท่องเที่ยวแบบใหม่ ในวันที่การอนุรักษ์ครองใจผู้คน เราจะปรับเปลี่ยนธุรกิจไปสู่ความยั่งยืนได้อย่างไร



เลือกเรียนท่องเที่ยว เพราะอยากพาครอบครัวพ้นความลำบาก

คุณจักรพงษ์ เป็นเด็กต่างจังหวัด เกิด เติบโต และเล่าเรียนในจังหวัดนครราชสีมา เขาตัดสินใจเลือกเรียนสาขาวิชาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ด้วยเหตุผลง่าย ๆ แต่ยิ่งใหญ่สำหรับเด็กคนหนึ่งที่มาจากต่างจังหวัด ที่คิดแค่เพียงอยากพาครอบครัวออกจากความยากลำบาก ซึ่งการเป็นเด็กท่องเที่ยวถูกมองว่า ‘ง่าย’ ไม่เท่เหมือนเรียน หมอ หรือวิศวกร ทั้งที่ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ค่อนข้างสูง จึงเป็นความท้าทายสำหรับเขามาก

เขาเล่าให้เราฟังถึงจุดเปลี่ยน ตอนเรียนปี 2 ได้มีโอกาสไปช่วยอาจารย์ทำวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยว 20 ชุมชนในภาคอีสาน ครั้งนั้นทำให้ คุณจักรพงษ์ เห็นลู่ทางในวิชาชีพว่า หากเรียนจบการท่องเที่ยว ก็ไม่จำเป็นต้องประกอบอาชีพไกด์หรือทำงานในโรงแรม-ภัตตาคาร เสมอไป แต่ยังมีอาชีพนักวิจัย นักพัฒนา และนักสร้างแบรนด์ที่คนเรียนการท่องเที่ยวสามารถนำไปประยุกต์เพื่อประกอบอาชีพได้เช่นกัน



รายได้ท่องเที่ยวอันดับ 4 แต่ขีดความสามารถแข่งขันอยู่ 31ของโลก

คุณจักรพงษ์ มองว่า ปี 2018 เป็นยุคที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทยรุ่งเรืองถึงขีดสุด ถือเป็นปีทองของไทย โดยทำรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นอันดับที่ 4 ของโลก แต่เมื่อมองอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยว (Travel & Tourism Competitiveness Index: TTCI)  โดยสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ปรากฏว่าไทยอยู่อันดับ31 ของโลก นั่นหมายความว่า ด้านเศรษฐกิจเราทำได้ดีมาก แต่ขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้านการบริหารจัดการต่าง ๆ กลับเป็นรองประเทศอื่นอยู่มาก 

เมื่อตรวจสอบจากผลการประเมิน พบว่าหนึ่งในตัวชี้วัดที่ได้คะแนนน้อย คือเรื่องความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Sustainability) ส่งผลให้หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน เริ่มตื่นตัวขานรับเทรนด์โลก เพื่อให้การท่องเที่ยวไทยได้รับการยอมรับมากขึ้น



ความพร้อม + โอกาส = ความโชคดี

คุณจักรพงษ์ ตั้งคำถามในใจว่า ทำไมเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวของเราเติบโต แต่ด้านการจัดการกลับสวนทางกัน แสดงว่าการจัดการของเรามีปัญหา นั่นเป็นหนึ่งเหตุผลที่เราก่อตั้ง บริษัท ฟายด์ โฟล์ค จำกัด (Find Folk) ขึ้นมา เพราะอยากเห็นการบริหารจัดการท่องเที่ยวของประเทศไทยเกิดความยั่งยืน (Sustainability)

“เราอยากเห็นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยออกจากความยากลำบาก เติบโตอย่างสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และอยากสร้างการเปลี่ยนแปลงให้คนเรียนการท่องเที่ยว หันมาเป็นนักวิจัย นักพัฒนา และเป็นนักสร้างแบรนด์การท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ ๆ ที่ยั่งยืนมากขึ้น”



จุดเริ่มต้นธุรกิจท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ 

คุณจักรพงษ์ เล่าถึงจุดเริ่มต้นธุรกิจท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ว่า ฟายด์ โฟล์ค เกิดขึ้นมาในฐานะที่ปรึกษาการบริหารจัดการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ซึ่งการท่องเที่ยวของเราไม่ใช่การ ชิม ช้อป แชร์ แล้วกลับ แต่เราเที่ยวแบบลึกซึ้ง ที่ผ่านมาธุรกิจท่องเที่ยวไทยโตเฉพาะรายใหญ่ แต่คนที่เป็นเจ้าของทรัพยากรในชุมชนกลับไม่เติบโตตามไปด้วย ทั้งที่เป็นเจ้าของทรัพยากร สุดท้ายกลับได้รับผลกระทบมากที่สุด

ดังนั้นเราจึงอยากสร้างผลประโยชน์ให้กับเจ้าของทรัพยากร โดยทำงานร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งการทำงานของ ฟายด์ โฟล์ค มีโมเดลการทำงาน 3 ส่วน คือ การพัฒนาคน พัฒนาทรัพยากร และพัฒนาแนวความคิดของผู้ประกอบการ เป็นหลักการเดียวกับที่เราเคยลงพื้นที่ชุมชนเมื่อครั้งทำวิจัยร่วมกับอาจารย์

“เราไม่ได้เลือกชุมชน แต่ชุมชนเลือกเรา โดยเราเป็นเหมือนโค้ชและเมนเทอร์ ทำหน้าที่เติมในสิ่งที่ชุมชนขาด แล้วเลือกใช้เครื่องมือพัฒนาให้เหมาะกับความพร้อมของแต่ละพื้นที่ ซึ่งวิธีคิดงานของเรา จะพยายามสร้างโมเดล เมื่อโมเดลนั้นสำเร็จ ชุมชนก็เป็นเมนเทอร์ให้ชุมชนอื่น ๆ ต่อไป”

การทำงานของเราไม่ได้เข้าไปช่วยเขา แต่มองว่าเราเป็นผู้มีประโยชน์ที่เข้าไปทำงานร่วมกับชุมชน ตลอด 5 ปีเราสร้างชุมชนท่องเที่ยวใหม่น้อยมาก เพราะก่อน ฟายด์ โฟล์ค เกิด มีคนพัฒนาเป็นพันเป็นหมื่นชุมชนแล้ว เราเพียงเข้าไปต่อยอด โดยจุดมุ่งหมายของเรา คือเมื่อถอยออกมา ชุมชนยังสามารถทำการท่องเที่ยวต่อได้ด้วยตนเอง ซึ่งเรายังเป็นที่ปรึกษาให้เขา เพื่อให้เขาไปต่อด้วยตัวเองได้ 

“เราไม่ได้บอกว่าเราเก่งที่สุดในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพียงแต่เราคอยแก้โจทย์ให้ลูกค้า เชื่อมโยงเครือข่ายให้เกิดการพัฒนา เพราะเรามีองค์ความรู้ด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวที่เข้มแข็งอยู่แล้ว เพียงแต่หาคน หาสีสันมาเติมเต็มให้สนุกขึ้น โดยไม่ส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมเท่านั้นเอง”



ข้อได้เปรียบของไทยในการเป็น “แม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยว”

หากพิจารณาถึงข้อได้เปรียบของไทยที่จะเป็น “แม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยว” ได้ คุณจักรพงษ์ ให้คำตอบเรื่องนี้ว่า ความหลากหลายทางชีวภาพและลักษณะเฉพาะตัวของคนไทย เป็นสองปัจจัยสำคัญที่ตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี บวกกับกระแสการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จะช่วยเพิ่มเสน่ห์และเป็นพลังเสริมให้แม่เหล็กนั้นมีแรงดึงดูดมากขึ้น



คุณจักรพงษ์ ฉายภาพว่า ปัจจุบันชุมชนทำธุรกิจเก่งขึ้นมาก โดยเฉพาะทางภาคใต้ เขาจะรู้เรื่องการบริหารต้นทุนมากขึ้น โดย DNA ไทยเราเป็นเจ้าบ้านที่ดีอยู่ในตัว เรียกว่า Customize Experience คือประสบการณ์ที่ออกแบบได้สำหรับลูกค้า 

“ยกตัวอย่าง เช่น เราไปเที่ยวญี่ปุ่น อยากกิน ราเมน ที่ไม่เผ็ด จะปรับเปลี่ยนอะไรของเขาจะเป็นเรื่องที่ยาก แต่ถ้าเป็นเมืองไทย ไปกินก๋วยเตี๋ยว คนหนึ่ง สั่งไม่ใส่ถั่วงอก อีกคนขอเผ็ด ๆ ส่วนอีกคนขอแบบไม่เผ็ดเลย คนไทยเราทำได้หมด ประเทศไทยจึงมี DNA ที่ประเทศอื่นลอกเลียนแบบได้ยากมาก”



ประเทศไทยขึ้นชื่อเรื่องการบริการระดับโลก เมื่อเติมเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) ทำให้เราเป็นแม่เหล็กที่แข็งแรงในการดึงดูดนักท่องเที่ยว ซึ่ง ฟายด์ โฟล์ค เป็นเหมือนประตูที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปสู่สัมผัสชุมชนในมิติการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

การันตีด้วยรางวัล ‘รองชนะเลิศระดับโลก’ Low carbon ที่คัดเลือกจากสตาร์ทอัพ 1,000 รายทั่วโลก โดย เร็ว ๆ นี้ เราจะเปิดตัวโปรโมชั่นแรก คือ 1,000 สิทธิ์ลด 50% โดยได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่จะทำร่วมกับ 10 ชุมชน ในคอนเซ็ปต์ ‘Low Carbon Tourism’ ในช่วงวันที่ 20พฤศจิกายนนี้



Local Low Carbon เที่ยวชุมชนวัดผลลดคาร์บอนที่แรก

สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA) มอบหมายให้สมาชิกสมาคมกว่า 80 บริษัท ได้ลองออกแบบเส้นทางท่องเที่ยว Low Carbon และนำเส้นทางดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เพื่อคำนวณหาค่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำกิจกรรม

เช่น เส้นทาง A เดิมเคยนำนักท่องเที่ยวขี่มอเตอร์ไซค์เที่ยว นอนโฮมสเตย์ติดแอร์ คำนวณก๊าซเรือนกระจก (Carbon Footprint) ออกมาได้ 500 หน่วย ทีนี้ถ้าเราลองให้นักท่องเที่ยวเปลี่ยนจากขี่มอเตอร์ไซค์ มาปั่นจักรยานในระยะทางที่เท่ากัน เปลี่ยนจากนอนโฮมสเตย์ติดแอร์เป็นนอนเต็นท์ จะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้เหลือ 200 หน่วย

นี่เรียกว่าเป็นการ ‘ร่วมลด’ หลังจากนั้น ถ้าอยากทำให้การท่องเที่ยวมีปริมาณคาร์บอนเป็นศูนย์ (Carbon Neutral) ก็อาจจะมีแนวทางพัฒนาและหาคาร์บอนเครดิตมาทดแทนต่อไปได้

สำหรับ Local Low Carbon เป็นการท่องเที่ยวชุมชนที่นักท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาสิ่งแวดล้อม ได้ช่วยลดการเกิดก๊าซเรือนกระจก โดยใช้เครื่องมือวัดผลการลดการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดังนี้

1. รณรงค์การใช้รถสาธารณะหรือใช้รถคันเดียวกัน
2. ลดการใช้กระดาษและพลาสติก
3. งดใช้โฟมเพื่อตกแต่งหรือเป็นภาชนะใส่อาหาร
4. ลดการใช้พลังงานจากอุปกรณ์ไฟฟ้า
5. ใช้วัสดุอุปกรณ์ที่สามารถนำกลับมา Reuse หรือ Recycle ได้
6. ตักอาหารให้พอดีรับประทาน

สิ่งเหล่านี้จะถูกนำมาคำนวณ หากเราลดการใช้สิ่งเหล่านี้ได้ จะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้เท่าไหร่ ซึ่งองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (GTO) จะมีค่ากลางในการคำนวณ เช่น กระดาษ A4 หนึ่งแผ่น น้ำมัน 1 ลิตร ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไหร่ เราจะเอาสิ่งเหล่านี้มาคำนวณ ซึ่งถ้าเราออกแบบทริปในการเที่ยวดี จะสามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ไม่น้อยเลยทีเดียว 

คุณจักรพงษ์ ยกตัวอย่างโครงการ Low Carbon Tourism เส้นทางการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วย 3 แนวคิดหลักของโครงการ คือ ปรับ ปรับพฤติกรรมการเดินทางในการท่องเที่ยว เช่น การปั่นจักรยาน ทำให้ไม่เสียค่าน้ำมัน เพิ่มเวลาดื่มด่ำกับธรรมชาติ ลด ลดขั้นตอนการผลิตและบริโภค ลดใช้พลาสติก ลดใช้พลังงาน ลดค่าใช้จ่าย ชดเชย

ชวนนักท่องเที่ยวไปทำกิจกรรมดี ๆ เรียนรู้วิถีชุมชน ปลูกต้นไม้หายาก ชดเชยความอุดมสมบูรณ์ให้กับธรรมชาติ เพราะเราไม่สามารถทำให้การบริโภคเป็นศูนย์ได้ แต่สามารถลดขั้นตอนการผลิตและบริโภคให้น้อยลงกว่าเดิมได้



เช่น โปรแกรมท่องเที่ยวชุมชนแบบ Local Low Carbon ทริป ‘ล่องเรือ เรียนรู้ ชิมส้มโอแบบโลว์คาร์บอน’ (One Day Trip)

นักท่องเที่ยวจะได้สนุกกับการเรียนรู้ สมาร์ทฟาร์มอินทรีย์ ต้นแบบการท่องเที่ยวไร้คาร์บอน สวนแรกในไทย แหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรแบบครบวงจร ที่มีการจัดการท่องเที่ยวแบบไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยแนวคิดการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ และได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ด้วย

ความพิเศษของโปรแกรมนี้ คือ หลังจบทุกกิจกรรมทางชุมชนจะสรุปผลการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์เทียบจากการทำกิจกรรมรูปแบบเดิม ผลตัวเลขเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ใหญ่ ซึ่งวันนี้เท่ากับการปลูกต้นไม้ถึง 152 ต้น ซึ่งหลายกิจกรรมในโปรแกรมเป็นสิ่งที่ทำอยู่แล้วในกระบวนการท่องเที่ยวทั่วไป

ดังนั้น การเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่เราทุกคนต้องใส่ใจ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ใช่แค่การท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังสามารถนำกลับไปทำในชีวิตประจำวันของเราได้ด้วย




ปัจจุบันมีชุมชนที่ดูแลกี่ราย แล้วดึงดูดลูกค้ามาท่องเที่ยวได้อย่างไร?

ปัจจุบันอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแบบยั่งยืน เริ่มหยั่งรากลึก ถ้ามองด้านเศรษฐศาสตร์เป็นแรงกดดันที่ต้องทำ (Force Move) และจำเป็นต้องทำ (Need to do) ถ้าไม่ทำไทยจะตกขบวนอย่างแน่นอน

ซึ่ง ฟายด์ โฟล์ค พยายามศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ปี 2018 จนกระทั่งปี 2021 เราได้รับการสนับสนุนพันธมิตรหลายภาคส่วน เรามีชุมชนที่ดูแลอยู่ประมาณ 200-300 ชุมชน ซึ่งถ้านับจริง ๆ มีชุมชนที่เราเคยทำงานด้วยเป็น 1,000 ชุมชน แต่แบ่งเป็น ชุมชนที่รับนักท่องเที่ยวเองได้แล้ว กับชุมชนที่กำลังพัฒนา ต่อยอดอยู่ หรือชุมชนที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ จะเป็นลักษณะ ชุมชนดี แหล่งท่องเที่ยวดี แต่ยังไม่มีใครทำ 

ในส่วนของ ฟายด์ โฟล์ค เราอยู่ใน Stage ของคนที่ลงไปต่อยอด ที่ส่วนใหญ่มีคนเข้าไปพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวแล้ว ซึ่งตลอด 6 ปีที่ทำงานร่วมกับชุมชนมา เราสร้างชุมชนท่องเที่ยวใหม่น้อยมาก

เพราะก่อน ฟายด์ โฟล์ค เกิด มีคนพัฒนาเป็นพันเป็นหมื่นชุมชนแล้ว เราเพียงเข้าไปต่อยอด ทำหน้าที่บริหารจัดการ ทำการตลาดหาคนมาท่องเที่ยว ทำให้สินค้าและบริการเป็นที่ยอมรับ โดยจุดมุ่งหมายของเรา คือเมื่อถอยออกมา ชุมชนยังทำการท่องเที่ยวต่อได้ด้วยตนเอง ซึ่งเรายังเป็นที่ปรึกษาให้เขา เพื่อให้เขาสามารถไปต่อได้ด้วยตัวเองอย่างยั่งยืนนั่นเอง



หลักเกณฑ์การคัดเลือกชุมชนของ ฟายด์ โฟล์ค

คุณจักรพงษ์ เผยถึงหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกชุมชนว่า ชุมชนที่สนใจสามารถติดต่อเข้ามาได้ โดยเราจะมีการสัมภาษณ์และให้ชุมชนส่งโปรแกรมการท่องเที่ยวมา แล้วเราจะลงไปดูว่าสามารถบริหารจัดการท่องเที่ยวได้ตามโปรแกรมจริงหรือไม่

ส่วนในเรื่องของการคำนวณก๊าซเรือนกระจก ฟายด์ โฟล์คจะจัดการให้ทั้งหมด ซึ่งทุกทริปในการเที่ยวต้องมีการปล่อยคาร์บอนอยู่แล้ว แต่ทำอย่างไรจึงจะปล่อยให้น้อยที่สุด อย่าง 10 ชุมชนที่จะประกาศแคมเปญ เราจะเข้าไปแนะแนวทางว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนตรงไหนได้บ้าง เช่น ใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้ การเดินทางตรงไหนใช้จักรยานแทนได้ เป็นต้น

ล่าสุดเราพัฒนาแพลตฟอร์มขึ้นมา ชื่อ GoGreenBooking.com เป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสำหรับจำหน่ายเฉพาะสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมีการคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทุกสินค้าและบริการที่จำหน่าย

รวมถึงที่เกิดจากการขนส่ง การผลิต การใช้พลังงาน และการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ หมายความว่า ถ้าไปเที่ยว 1 ทริป เราสามารถรู้ได้เลยว่าเราปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปเท่าไหร่ และเราสามารถซื้อคาร์บอนเครดิตในการ Offset ได้ด้วย 



ก้าวต่อไปของ ฟายด์ โฟล์ค

CEO หนุ่มเจ้าของแนวคิดธุรกิจท่องเที่ยว Low Carbon ให้มุมมองว่า การท่องเที่ยวไทยมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมั่นใจว่า ไทยจะสามารถทวงบัลลังก์ประเทศที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวติด TOP 5 ของโลกได้ 

ซึ่ง คุณจักรพงษ์ มองว่าการทำตลาดไม่ใช่เรื่องยาก เพราะไทยมีหลายปัจจัยที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ ไม่ว่าจะเป็น ค่าเงินที่เหมาะสม ทรัพยากรที่หลากหลาย อัตลักษณ์ชุมชนที่น่าสนใจ ความเจริญ สะดวกสบายระดับ 5-6 เราก็มี สิ่งเหล่านี้จะทำให้แนวโน้มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน 

สำหรับเป้าหมาย ฟายด์ โฟล์ค มีแผนที่ต้องไปให้ถึง คือ การเป็นผู้นำด้านการบริหารจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ขณะนี้มีบริการครอบคลุม ทั้งบริการที่ปรึกษา บริการทัวร์ และบริการวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาด เหมือนตอนต้นที่บอกไว้ ‘เราจะทำให้เรื่อง Green เป็นเรื่องง่าย ใครก็เที่ยวแบบ Green ได้ง่ายนิดเดียว ถ้านึกอะไรไม่ออกเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ให้นึกถึง ฟายด์ โฟล์ค’

และอีกหนึ่งเป้าหมายที่สำคัญของ ฟายด์ โฟล์ค คือ มุ่งหวังให้การท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน เป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น จะทำให้การท่องเที่ยวไทยมีความหลากหลายไม่เหมือนประเทศอื่น 

“ทุกวันนี้การท่องเที่ยวไม่ได้แข่งกันทำยอดขาย แต่แข่งกันทำแต้มแห่งความดี นั่นหมายถึง การเป็นโรงแรม ที่พัก แหล่งท่องเที่ยวที่ดี เป็นมิตรต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นการสร้างชื่อเสียง ภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์นั่นเอง”

ส่วนเป้าหมายสุดท้าย เราจะเป็นผู้ให้ความรู้ (Educate) คนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ว่าการเที่ยวที่ดี และยั่งยืน จะได้ประโยชน์ทุกฝ่าย เจ้าของทรัพยากรมีรายได้ ส่วนนักท่องเที่ยวก็มีความสุข เพราะได้ประสบการณ์ดี ๆ จากการมาท่องเที่ยวกลับไป ขณะที่ธรรมชาติเองก็ได้รับการอนุรักษ์ ถือเป็น การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่ทุกคนเติบโตไปด้วยกันได้อย่างยั่งยืน

คุณจักรพงษ์ ยังกล่าวทิ้งท้ายไว้น่าสนใจว่า “อยากเห็น New Destination Branding ของการท่องเที่ยวไทย คือ Sustainable Destination เพราะปัจจุบันเกิดภาพจำในสายตานักท่องเที่ยวทั่วโลกว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ Value Money ถูกมองว่าคุ้มค่า คุ้มราคา แต่นักท่องเที่ยวไม่เห็นคุณค่า ซึ่งอยากเปลี่ยนภาพจำให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกมองว่า ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่ดีและยั่งยืน สังคมและวัฒนธรรมดี สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรมีการจัดการที่ดี”


ติดตามเรื่องราวของ บริษัท ฟายด์ โฟล์ค จำกัด ได้ที่


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘วรุณา’ นำเทคโนโลยี AI ยกระดับภาคการเกษตรไทย พร้อมดันประเทศสู่สังคม Net Zero

‘วรุณา’ นำเทคโนโลยี AI ยกระดับภาคการเกษตรไทย พร้อมดันประเทศสู่สังคม Net Zero

ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกมีความตื่นตัวและหันมาให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อช่วยดูแลและช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนที่ปัจจุบันทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย…
pin
303 | 10/04/2024
‘เอเชี่ยนแอสฟัลท์’ ผู้เชี่ยวชาญด้านยางมะตอย ขยายไลน์สู่ผู้นำนวัตกรรมวัสดุก่อสร้าง เจาะตลาด Home Use ครบวงจรด้วยเทคโนโลยี

‘เอเชี่ยนแอสฟัลท์’ ผู้เชี่ยวชาญด้านยางมะตอย ขยายไลน์สู่ผู้นำนวัตกรรมวัสดุก่อสร้าง เจาะตลาด Home Use ครบวงจรด้วยเทคโนโลยี

ถนนลาดยาง คืออะไร?ยางมะตอย By-Product จากกระบวนการกลั่นน้ำมันดิบ ลักษณะสีดำ ข้น หนืด ด้วยคุณสมบัติที่ทนทานต่อสภาพอากาศ ทนน้ำ ยึดเกาะกับวัสดุหินได้ดี…
pin
1136 | 01/04/2024
ยนต์ผลดี จากโรงงานผลิตเครื่องสีข้าว สู่ ‘โรงเรียนโรงสี’ และเป้าหมายการยกระดับอุตสาหกรรมข้าวให้เข้มแข็ง

ยนต์ผลดี จากโรงงานผลิตเครื่องสีข้าว สู่ ‘โรงเรียนโรงสี’ และเป้าหมายการยกระดับอุตสาหกรรมข้าวให้เข้มแข็ง

โรงเรียน ‘โรงสีข้าว’ แห่งแรกของไทย โรงเรียน ‘โรงสีข้าว’ หรือ ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวข้าว จัดตั้งโดย บริษัท ยนต์ผลดี จำกัด…
pin
1507 | 25/03/2024
‘ฟายด์ โฟล์ค’ เปิดประสบการณ์ เที่ยวชุมชน ‘วัดผลลดปล่อยคาร์บอนได้’