‘ประเทศไทย’ เดินหน้า เศรษฐกิจพอเพียง-ESG-ตั้งเป้าลดโลกร้อนใน 17 ปี เปลี่ยนไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

ESG
23/10/2023
รับชมแล้วทั้งหมด 11499 คน
‘ประเทศไทย’ เดินหน้า เศรษฐกิจพอเพียง-ESG-ตั้งเป้าลดโลกร้อนใน 17 ปี เปลี่ยนไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
banner
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง-นโยบายเศรษฐกิจ BCG” แนวทางสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน- ขับเคลื่อน SDGs ประเทศไทย นายกฯ เศรษฐา ประกาศ ณ SDG Summit 2023 นิวยอร์ก ตั้งเป้าลดโลกร้อน “ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหลือ 40% และบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ใน 17 ปี ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหลือ 0 ใน 42 ปี 

จากการที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ประกาศ คำแถลงแรก ณ Trusteeship Council Chamber สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐฯ ในการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนประจำปี  2023 (Sustainable Development Goals (SDG) Summit 2023) เพื่อยืนยันความมุ่งมั่นของไทยในการบรรลุ เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ใจความระบุว่า “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง-นโยบายเศรษฐกิจ BCG” คือแนวทางสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน- ขับเคลื่อน SDGs ของประเทศไทย



BlackRock ตอบรับร่วมมือธุรกิจ BCG ไทย

ความสำเร็จแรก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในการเยือนสหรัฐฯ คือ การพบกับ Larry Fink ซีอีโอ BlackRock บริษัทบริหารการเงินและการลงทุน เป็นกองทุนขนาดใหญ่ เบอร์หนึ่งของโลก ได้ศึกษาแนวทางในการลงทุนในประเทศไทย และตอบรับการร่วมมือธุรกิจ BCG ในไทย คาดภายใน 5 ปีข้างหน้า สร้างเม็ดเงินให้ประเทศกว่า 1 ล้านล้านบาท

สำหรับการดำเนินธุรกิจที่ส่งเสริมด้าน BCG มีความแตกต่างจากธุรกิจในรูปแบบเดิมมาก คนทำงานจะได้รับการจ้างงานในอัตราเงินเดือนที่สูง เนื่องจากด้านที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน จะอาศัยแรงงานที่มีทักษะ ส่งผลให้การจ้างงานจะเพิ่มขึ้นเป็นล้านตำแหน่ง และที่สำคัญคือ การใช้ทรัพยากรจะน้อยลงเกินครึ่ง ซึ่ง BlackRock แสดงท่าทีที่ชัดเจน ว่าเร็ว ๆ นี้ จะเข้ามาลงทุนในไทย

ถือเป็นข่าวดีของประเทศไทย และเป็นความสำเร็จก้าวแรกที่นายกรัฐมนตรีเดินทางเยือนต่างประเทศ และสามารถเจรจากับภาคธุรกิจกองทุนอันดับ 1 ของโลกที่สนับสนุนธุรกิจอย่างยั่งยืนได้



เป้าหมายสำคัญ พาเศรษฐกิจไทยเติบโตแบบ Low Carbon

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยเน้นอุตสาหกรรมนำร่องระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อขยายผลความสำเร็จนี้ รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการกำหนดนโยบายจัดการขยะ และเปิดให้จัดหาสินค้ากรีน เพื่อสร้าง Eco-System ที่เอื้อต่อระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นต้น

รวมถึงการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด ถือเป็นการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคต และช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตแบบคาร์บอนต่ำ อีกทั้งรัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานสะอาดให้เต็มประสิทธิภาพ และศึกษาการเปิดให้สามารถซื้อ - ขายไฟฟ้าจาก Renewable Source ได้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นจุดแข็งของประเทศไทยในการดึงดูดนักลงทุน และบริษัทต่างชาติในอนาคต



โดยในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ UNFCCC COP ครั้งที่ 26 ประเทศไทยได้ให้คำมั่นสัญญาที่สำคัญดังนี้

- มุ่งมั่นในการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้บรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050

- เพิ่มเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจาก 20% เป็น 40% ภายในปี 2030



- ร่างแผนพลังงานแห่งชาติขึ้นใหม่ เน้นประสิทธิภาพการใช้พลังงานสะอาดในภาคการขนส่ง 
- เตรียมยุติการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน ภายในปี 2040



- เพิ่มการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ 



- ดำเนินโครงการนำร่อง โดยใช้แนวความคิด เกษตรกรรมยั่งยืน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ช่วยลดความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และช่วยเพิ่มความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่เกษตรกรทั่วประเทศ

- กำหนดหลักเกณฑ์อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff) สนับสนุนการใช้โซลาร์รูฟท็อป (Solar Rooftop) และการวัดไฟฟ้าแบบสุทธิ (net-metering) เพื่อจูงใจการผลิตพลังงานสะอาด ซึ่งประเทศไทยตั้งเป้าที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ครอบคลุม 55% ของพื้นที่ทั้งหมดภายในปี 2037

- ส่งเสริมกลไกการเงินสีเขียว (Green Finance) ผ่านการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน ปัจจุบันสามารถระดมเงินได้ 12.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ผ่านกลไกนี้ ไทยจะออกพันธบัตรเชื่อมโยงกับความยั่งยืน กระตุ้นการเติบโตของพันธบัตรสีเขียว เพื่อให้มั่นใจว่าองค์กรต่าง ๆ จะได้รับแรงจูงใจในการบรรลุเป้าหมาย SDG เช่น ‘หุ้นกู้สีเขียว’



ทุ่ม 4.5 แสนล้านบาท เพื่อเศรษฐกิจสีเขียว

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ได้แสดงวิสัยทัศน์การขับเคลื่อนสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ด้วยแนวคิด ESG ผลักดันประเทศไทยสู่ความยั่งยืน (Sustainability) ในงาน ESG Symposium 2023 ภายใต้งาน Sustainability Expo 2023 โดยรัฐบาลออกมาตรการทางการเงินกว่า 450,000 ล้านบาท ลงทุนเศรษฐกิจสีเขียว โดยเร่งผลักดันพัฒนากระบวนการผลิตสีเขียว ควบคู่กับนวัตกรรมสีเขียว อย่างต่อเนื่อง เช่น ปูนคาร์บอนต่ำ พลาสติกรักษ์โลก บรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ อีกทั้งผสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนแก้วิกฤติโลกร้อน ซึ่งมี CEO จากหลายอุตสาหกรรมถึง 80 ราย อาทิ ภาคพลังงาน การผลิต อสังหาริมทรัพย์ ยานยนต์ สุขภาพ บริการ ร่วมระดมสมองเพื่อหาทางออก ปรับกระบวนการผลิตเพื่อลดโลกร้อน ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะสนับสนุนให้ เศรษฐกิจไทยมีโอกาสเติบโตสู่สังคมคาร์บอนต่ำได้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้



ESG ไม่ใช่แค่กระแส แต่เป็น ‘โอกาส’ สำหรับธุรกิจ SME

ปัจจุบัน หลายประเทศเตรียมมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงสหภาพยุโรปเริ่มเก็บภาษีคาร์บอนสินค้าข้ามพรมแดน ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อบริษัทมากกว่า 1,000 บริษัท และกระทบต่อมูลค่าการส่งออกถึง 18,000 ล้านบาท

ขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อ้างถึงการจัดอันดับขีดความสามารถในการรับมือภัยธรรมชาติ ซึ่งประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 39 จาก 48 ประเทศทั่วโลก หากเราไม่ทำอะไรเลย ภายในปี 2050 อาจต้องเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจมากถึง 43% ต่อ GDP



อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า การเปลี่ยนไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ยังมีผู้ประกอบการอีกมาก โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก เกษตรกร และชุมชน ที่ยังไม่ตระหนักถึงวิกฤตนี้ หรือยังไม่พบทางออกเพื่อรับมือมากนัก ดังนั้นควรสนับสนุนการเข้าถึงความรู้ เทคโนโลยี และการเข้าถึงเงินทุน แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ให้สามารถปรับตัวอยู่รอดได้ 

โดยธุรกิจขนาดใหญ่ต้องเป็นพี่เลี้ยงผู้ประกอบการขนาดเล็กและชุมชน รวมทั้งผนึกกำลังกับภาคส่วนต่าง ๆ ในการเปลี่ยนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ลดผลกระทบจากสภาวะอากาศแปรปรวนขั้นวิกฤต รวมทั้งสร้างเศรษฐกิจที่เจริญเติบโต คุณภาพชีวิตดี เน้นการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน เกษตรกรรายได้ดี ลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย 



ดังนั้นประเทศไทยต้องปรับตัว เพราะความยั่งยืน (Sustainability) ถือเป็นความท้าทายทางเศรษฐกิจของไทยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนการปรับตัวของภาคธุรกิจ รวมถึงได้มีการกำหนดนโยบายด้าน ESG ให้เป็นพันธกิจขององค์กร และผลักดันมาโดยตลอด เช่น การปรับกระบวนการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงินคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และการกำหนด Thailand taxonomy หรือ จัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

พร้อมเน้นย้ำว่าการขับเคลื่อนธุรกิจด้วยแนวคิด ESG ไม่ใช่แค่กระแส แต่เป็น ‘โอกาส’ สำหรับธุรกิจ SME ที่จะเติบโตเคียงคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อมและโลกใบนี้ไปพร้อม ๆ กันอย่างยั่งยืน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน 



ตัวอย่าง SME ที่ปรับตัวสู่การทำธุรกิจที่ยั่งยืน

‘สวนส้มจงลักษณ์’ เป็นตัวอย่างผู้ประกอบการ SME ภาคการเกษตรที่ปรับตัวสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำได้เป็นอย่างดี โดยเริ่มจากการลงทุนด้านพลังงานสะอาด และลดค่าไฟฟ้า ซึ่งการจัดการน้ำในสวนส้มเป็นต้นทุนที่สูงมาก จึงลงทุนเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) 



เพื่อใช้สำหรับระบบน้ำในแปลงส้ม นอกจากจะช่วยลดต้นทุนพลังงานในสวนส้ม แต่ผลลัพธ์ที่มากกว่าลดต้นทุนค่าไฟฟ้า คือ การเก็บข้อมูล โดยพื้นฐานในการทำเกษตรแปลงใหญ่ ปัจจัยทางธรรมชาติที่เป็นองค์ประกอบสำคัญคือ แสงอาทิตย์ และฝน ขณะที่ระบบของเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ จะมีฟังก์ชันหนึ่งที่มีการเก็บข้อมูลแสงอาทิตย์ อุณหภูมิ และสภาพอากาศในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์มาก



 นอกจากนี้บรรจุภัณฑ์สำหรับบรรจุส้ม ยังช่วย ลดปัญหาขยะพลาสติก โดยใช้กล่องกระดาษรีไซเคิล หรือ ‘ถุงตาข่ายผ้าฝ้ายทำมือ’ เป็นผลผลิตจากฝ้ายในท้องถิ่น ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยังสร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย

สนใจอ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่
https://bangkokbanksme.com/en/23-9focus-jonglak-orange-garden-sustainable-business



ขณะที่ภาคการท่องเที่ยว เป็นอีกหนึ่งธุรกิจหลักของประเทศไทยที่สร้างรายได้เข้าประเทศปีละมหาศาล โดย ‘ฟายด์ โฟล์ค’ เป็นตัวอย่าง Travel Tech Startup ที่ทำธุรกิจใส่ใจเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) โดยให้ความสำคัญต่อปัญหาโลกร้อน และนำเครื่องมือวัดผลกระทบจากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ มาใช้ครั้งแรกกับกิจกรรมท่องเที่ยวชุมชน

และชวนเข้าร่วมทริปแคมเปญรักษ์โลก ‘Local Low Carbon’ การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ คาร์บอนต่ำ ชวนนักท่องเที่ยว เสพศิลป์ เที่ยวฟิน กินคลีน มอบประสบการณ์ท่องเที่ยวใส่ใจสิ่งแวดล้อม สู่การขับเคลื่อนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 



นอกจากนี้ยังพัฒนาแพลตฟอร์มขึ้นมา ชื่อ GoGreenBooking.com เป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสำหรับจำหน่ายเฉพาะสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทุกประเภทสินค้าและบริการที่จำหน่าย

รวมถึงจากการขนส่ง ผลิต การใช้พลังงาน และการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ หมายความว่า ถ้าไปเที่ยว 1 ทริป จะรู้ได้เลยว่าเราปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปเท่าไหร่ และยังซื้อคาร์บอนเครดิตในการ Offset ได้ด้วย

สนใจอ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่
https://bangkokbanksme.com/en/23-10focus-findfolker-visit-the-community-to-reduce-carbon-emissions

สะท้อนให้เห็นว่า การจะขับเคลื่อน ESG เพื่อผลักดันประเทศไทยสู่ความยั่งยืนได้ คนไทยทุกภาคส่วน ทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ต้องร่วมกันหาแนวทางทำให้ประเทศไทยเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ

ซึ่งภาวะโลกเดือด (Boiling World) ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของทุกชีวิตบนโลก สภาพอากาศสุดขั้วส่งผลต่อสุขภาพ ภัยแล้งรุนแรงมากขึ้น อาหารขาดแคลน ซึ่งนำไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับครัวเรือนจนถึงระดับมหภาค

หากทุกฝ่ายร่วมมือกันตามแนวทาง ESG ที่เน้นสร้างเศรษฐกิจ ควบคู่กับสมดุลทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างโปร่งใส มุ่งสู่เป้าหมาย Sustainable Development Goals (SDGs) เราจะดูแลโลกให้กลับมาดีขึ้นได้

อ้างอิง
กรมประชาสัมพันธ์
https://www.prd.go.th/th/content/category/detail/id/39/iid/221178
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/72449
https://www.thaipbs.or.th/news/content/331877
https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%A9%E0%B8%90%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88/201847
https://greennews.agency/?p=35644
https://www.isranews.org/article/isranews-short-news/122150-isranews-1000-510.html
https://www.thairath.co.th/money/sustainability/green_finance/2726823


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

Green Hotel (โรงแรมสีเขียว) ปรับตัวอย่างไร? ให้อยู่รอด พร้อมตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

Green Hotel (โรงแรมสีเขียว) ปรับตัวอย่างไร? ให้อยู่รอด พร้อมตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

ถึงวันหยุดพักผ่อนกันยาว ๆ อีกแล้ว สำหรับช่วงเทศกาลมหาสงกรานต์ หลายคนวางแผนไปท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้จากการไปพักโรงแรม หรือรีสอร์ท…
pin
2569 | 14/04/2024
ผ่าแนวคิด ‘อุตสาหกรรมยานยนต์-อากาศยานรักษ์โลก’ ปรับตัวสู่เส้นทาง Net Zero ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร?

ผ่าแนวคิด ‘อุตสาหกรรมยานยนต์-อากาศยานรักษ์โลก’ ปรับตัวสู่เส้นทาง Net Zero ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร?

ปัจจุบันมีการผลักดัน และพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในทุกมิติ จึงก้าวหน้าขึ้นทุกวัน ส่งผลให้ยานยนต์ทุกประเภทต่างมุ่งหน้าสู่เส้นทางพลังงานสะอาด รวมไปถึง…
pin
3814 | 30/03/2024
ส่อง 5 นวัตกรรม ESG สุดว้าว! ทั่วโลกเขาเปลี่ยนขยะเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลก (Green Product) อะไรกันบ้าง

ส่อง 5 นวัตกรรม ESG สุดว้าว! ทั่วโลกเขาเปลี่ยนขยะเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลก (Green Product) อะไรกันบ้าง

หลายปีที่ผ่านมา โลกได้พัฒนาก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว มีผลิตภัณฑ์มากมายที่พัฒนาขึ้นมาจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่สร้างความสะดวกสบายให้ผู้บริโภค…
pin
3454 | 18/03/2024
‘ประเทศไทย’ เดินหน้า เศรษฐกิจพอเพียง-ESG-ตั้งเป้าลดโลกร้อนใน 17 ปี เปลี่ยนไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ