เมื่อโลกธุรกิจ สู้ด้วยเรื่องความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เปิดมุมมอง CEO สายกรีน กับแนวคิดธุรกิจยั่งยืน

ESG
13/12/2023
รับชมแล้วทั้งหมด 2757 คน
เมื่อโลกธุรกิจ สู้ด้วยเรื่องความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เปิดมุมมอง  CEO สายกรีน กับแนวคิดธุรกิจยั่งยืน
banner
ในโลกธุรกิจ ผู้ประกอบการต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาไม่ว่าธุรกิจของคุณจะเป็นประเภทใดก็ตาม ด้วยเหตุนี้ การจะประสบความสำเร็จได้ จึงต้องประกอบด้วยปัจจัยต่าง ๆ ทั้งความมุ่งมั่น คุณภาพของสินค้าและบริการที่ดี รักษามาตรฐานสม่ำเสมอ หมั่นหาความรู้เพิ่มเติม ปรับตัวตามเทรนด์ผู้บริโภค ใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาธุรกิจให้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งวางเป้าหมายร่วมกับคนในองค์กรเพื่อก้าวสู่เป้าหมายความสำเร็จไปพร้อมกัน 

แต่นอกจากที่กล่าวไปข้างต้น อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่คนทำธุรกิจต้องให้ความสำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือ การดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG (Environmental (สิ่งแวดล้อม) Social (สังคม) และ Governance (ธรรมาภิบาล) ที่ถือเป็นกลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน  

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา องค์การสหประชาชาติ  หรือ UN ได้ประกาศเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) 17 เป้าหมาย โดยจะเป็นข้อผูกพันสำหรับชาติสมาชิกที่ได้ให้การรับรอง 193 ประเทศ (รวมประเทศไทยด้วย) เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนดังกล่าว จะถูกใช้เป็นเครื่องกำหนดทิศทางการพัฒนาทั้งของไทยและของโลก นับจากนี้จนปี 2573 ครอบคลุมระยะเวลา 15 ปี จึงเป็นสิ่งที่สะท้อนว่า นับจากนี้ ภาคธุรกิจจะต้องเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางการสร้างสรรค์สังคม และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นไปที่การสร้างคุณค่าให้กับผู้มีส่วนได้เสีย สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม 

บทความนี้ Bangkok Bank SME จึงขอนำมุมมอง และวิสัยทัศน์การดำเนินธุรกิจของเหล่าผู้บริหาร เจ้าของธุรกิจ ที่เป็น Role model ด้านการเป็นผู้ประกอบกิจการที่ให้ความสำคัญในเรื่องความยั่งยืน และมีแนวคิดสร้างความสำเร็จ โดยคำนึงถึงการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน ไม่ใช่เพียงหวังเรื่องผลกำไรเพียงอย่างเดียว เพื่อเป็นต้นแบบของการสร้างแรงบันดาลใจ ให้แง่คิดสำหรับนักธุรกิจรุ่นใหม่ ได้นำไปปรับใช้กับการดำเนินงานในปัจจุบัน ดังนี้

บริษัท ซิมพลิ เด็คคอร์ จำกัด ธุรกิจสีเขียว ที่เน้นทั้งการสร้างแบรนด์ PAPA PAPER รองรับตลาดบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก และกระดาษกันกระแทก นวัตกรรมจากเยื่อธรรมชาติ และรีไซเคิลกล่อง มีเป้าหมายจะก้าวสู่ Green Business เน้นแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และพัฒนามาตรฐานที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด สู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) 

คุณธนากร สุภาษา เริ่มทำแบรนด์ PAPA PAPER ของตัวเองขึ้นมา โดยวาง Brand Positioning เป็นบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก เน้นผลิตสินค้าตามมาตรฐานส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่น สำหรับตลาดในประเทศ จับกลุ่มลูกค้าโรงแรม และผู้ที่สนใจนำไปใช้ในงานตกแต่ง ใช้วัสดุที่ผลิตกระดาษจากเยื่อธรรมชาติ ทั้ง กล้วย เยื่อไผ่ และต้นข้าวโพดเหลือทิ้งทางการเกษตร นำมาเพิ่มมูลค่าผ่านนวัตกรรมการผลิตและออกแบบสินค้า รองรับตลาดที่ใส่ใจโลก รวมถึงตลาดต่างประเทศที่มีกฎระเบียบและมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม สอดรับกับเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 

เมื่อทั่วโลกให้ความสำคัญ ภาคธุรกิจจึงต้องพร้อมใจปรับตัวไปในทิศทางนี้ ซึ่งถือเป็นแนวคิดและความต้องการของสังคมยุคใหม่ ที่อนาคตอันใกล้ จะนำไปสู่การออกกฎระเบียบ หรือมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม ที่จะมีผลในทางกฎหมาย ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องพบเจอมากขึ้นในอนาคต แม้ปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่มีนโยบายบังคับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ไม่ช้าก็เร็ว จะต้องเกิดขึ้น และวันนั้น ธุรกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมาก จะต้องมองหาพันธมิตร เพื่อเข้ามาแก้ปัญหาด้านนี้

“ธุรกิจเน้นแนวคิด ESG เราส่งเสริมสังคม ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม มีธรรมาภิบาล มุ่งพัฒนามาตรฐานและระเบียบให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน”

คุณธนากร สุภาษา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิมพลิ เด็คคอร์ จำกัด

อ่านบทความฉบับเต็ม คลิก : 

ผู้ก่อตั้ง ‘Gem Forest Coffee’ โรงคั่วกาแฟสัญชาติไทย ที่สามารถส่งเสริมการเพิ่มมูลค่ากาแฟได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ พร้อมพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรผู้เพาะปลูกกาแฟ ให้มีอาชีพ สร้างรายได้อย่างยั่งยืน

คุณเคเลบ จอร์แดน กล่าวว่า ตนมักจะทำอะไรที่คนอื่นไม่ค่อยทำกัน ย้อนไปเมื่อประมาณ 15 ปีก่อน กาแฟในเมืองไทย จะเป็นสายพันธุ์คาติมอร์ เน้นผลผลิตสูง แต่ไม่ได้เน้นรสชาติ แต่แนวคิดของเขาคือ การปลูกกาแฟสายพันธุ์ดี อาจจะไม่ต้องได้ผลผลิตเยอะ แต่รสชาติดี จะสร้างความแตกต่างได้มากกว่า เชื่อว่าผู้บริโภคหลายคนอยากซื้ออะไรก็ตามที่มีความพิเศษ หรือรสชาติไม่เหมือนของที่มีทั่วไป อะไรที่คนอื่นไม่ค่อยทำ Demand สูง มี Value แต่ก็มีความเสี่ยง เพราะถ้าเกิดสายพันธุ์ที่ลองปลูกนี้ไม่เวิร์ค การลงทุนก็เสียเปล่า 

เราเชื่อมั่นในกาแฟไทย เพราะจุดเด่นคือ การสร้างมูลค่า ไม่ได้ขายแค่รสชาติอย่างเดียว แต่ขายโอกาสในการมีส่วนร่วมและช่วยให้ชีวิตของเกษตรกรดีขึ้นด้วย

“การปลูกกาแฟ สามารถปลูกด้วยระบบร่มเงา หรือระบบเกษตรป่าไม้ (Agroforestry) ซึ่งเป็นการปลูกกาแฟใต้ร่มเงาของต้นไม้ป่าที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ ข้อดีคือ นอกจากจะช่วยลดการเกิดโรค ให้ผลสม่ำเสมอ และเสริมความสมบูรณ์ให้ต้นกาแฟแล้ว ยังฟื้นฟูผืนป่าไปในตัว โดยเฉพาะการปลูกกาแฟในพื้นที่เขาหัวโล้น ช่วยพลิกฟื้นให้ผืนป่ากลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง นับเป็นการทำเกษตรอย่างยั่งยืนควบคู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของคนในชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม”

คุณเคเลบ จอร์แดน หนุ่มอเมริกัน ผู้ก่อตั้ง ‘Gem Forest Coffee’

อ่านบทความฉบับเต็ม คลิก : 

บริษัท วัลย์ดีพาณิชย์ อุตสาหกรรม จำกัด ถือเป็นแบบอย่างธุรกิจ SME ในอุตสาหกรรมพลาสติก ที่มีประวัติการดำเนินกิจการยาวนานถึง 74 ปี ผ่านการสืบทอดธุรกิจมาแล้วถึง 3 รุ่น กับความท้าทายครั้งใหม่ในยุคที่ ‘พลาสติก’ ถูกมองเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม

คุณพิชญา ชูเอกวงศ์ เปิดเผยว่า ธุรกิจครอบครัวเรา อยู่ในอุตสาหกรรมพลาสติก ที่คนส่วนใหญ่คนมักพูดถึงพลาสติกในมุมผู้ร้าย แต่ในฐานะผู้ผลิต อยากบอกว่า ถ้าคุณรู้จักพลาสติกจริง ๆ ถือว่าเป็นวัสดุที่มีประโยชน์มาก พลาสติกที่ใช้อย่างถูกประเภทจะสามารถช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ดีกว่ากระดาษหรือผ้า เนื่องจากพลาสติกสามารถใช้ซ้ำ และมีต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่า และบางกระบวนการก็สร้าง Carbon Footprint น้อยกว่าวัสดุอื่น

ยกตัวอย่าง น้ำขวดลิตร  1 แพ็ค ปกติจะใช้ฟิล์มที่มีความหนา 60-70 ไมครอน เราสามารถลดเหลือ 45 ไมครอนได้ เป็นนวัตกรรมใหม่ที่เรากำลังร่วมมือกับลูกค้าหลาย ๆ ราย เช่น บริษัทในเครือไทยเบฟเวอเรจ (ThaiBev) และบริษัทผลิตเครื่องดื่มชั้นนำของประเทศรายอื่น ๆ ซึ่งการลดความหนาดังกล่าว นอกจากจะช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการลดต้นทุนให้ลูกค้าด้วย 

นอกจากนั้น ในส่วนของ Recycle ตัว Shrink Film บาง ๆ สามารถนำกลับมาใช้ได้ โดยเรามีนวัตกรรมในการนำพลาสติกรีไซเคิลเหล่านี้กลับมาใช้ผลิต เพื่อส่งกลับไปให้ลูกค้าต่อได้เช่นกัน

ในฐานะหนึ่งในซัพพลายเชนที่เป็นผู้ผลิตฟิล์ม เราได้มีโอกาสทำงานโครงการสำคัญกับบริษัทลูกค้าชั้นนำของประเทศ และซัพพลายเออร์เม็ดพลาสติกรายใหญ่ ที่ร่วมสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่แท้จริง โดยเราผลิตฟิล์มพลาสติกให้ลูกค้าใช้ แล้วทางบริษัทลูกค้าที่นำฟิล์มเราไปใช้จะรวบรวมฟิล์มกลับมาให้บริษัทผู้ผลิตเม็ด เพื่อผลิตเม็ดพลาสติก Recycle เพื่อส่งกลับมาให้เราผสม และผลิตฟิล์มใหม่กลับไปให้ทางลูกค้าใช้อีกครั้ง 

เรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นความรับผิดชอบของทุกคนที่ต้องช่วยกัน ผู้ประกอบการต้องทำความเข้าใจกับผู้บริโภคในเรื่องราคาด้วย เพราะทุกอย่างมีต้นทุน การนำกลับมาใช้ใหม่ หรือการเลือกใช้วัตถุดิบพิเศษที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม อาจส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น รวมทั้งสิ่งสำคัญคือเมื่อใช้เสร็จแล้ว ต้องเรียนรู้ที่จะแยกขยะอย่างถูกวิธี จะได้เป็น Circular Economy อย่างแท้จริง

“การที่เราอยู่ในอุตสาหกรรมพลาสติก ความท้าทาย คือ ทำอย่างไรให้การผลิตฟิล์มพลาสติกของเรา ตอบโจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยหลักการสำคัญ คือ 3 R (Reduce, Reuse, Recycle) สำหรับ Reuse อาจไม่เหมาะกับผลิตภัณฑ์ของเรา จึงพยายามจะ Reduce เช่น ฟิล์มหด (Shrink Film) ส่วนใหญ่คนจะคิดว่าเป็นฟิล์มบาง ๆ ธรรมดาทั่วไปสามารถลดอะไรได้อีก แต่บริษัทเราการทำ R&D และลงทุนกับเครื่องจักรใหม่ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดการใช้พลาสติกต่อแพ็คได้

คุณพิชญา ชูเอกวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทวัลย์ดีพาณิชย์อุตสาหกรรม จำกัด

อ่านบทความฉบับเต็ม คลิก : 

บริษัท ซีลิค คอร์พ จำกัด (มหาชน) ธุรกิจที่เริ่มต้นจากการผลิตกาวยางด้วยเทคโนโลยีจากญี่ปุ่น ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนังในประเทศไทย ที่ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้ามากว่า 30 ปี สู่การขยายไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ อีกหลากหลาย

คุณยุวดี เอี่ยมสนธิทรัพย์ เปิดเผยว่า ซีลิค คอร์พ และ บริษัทย่อย ประกอบธุรกิจผลิตและจัดจำหน่าย (ทั้งในและต่างประเทศ) รวมทั้งวิจัยและพัฒนา ใน 3 สายการดำเนินการหลัก คือ ธุรกิจกาวอุตสาหกรรม ธุรกิจสติ๊กเกอร์ หรือฉลากที่มีกาวในตัว ธุรกิจผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพเพื่อจำหน่ายให้แก่ลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ ก่อตั้งขึ้นในปี 2522

ล่าสุดเราออกผลิตภัณฑ์ใหม่ คือกลุ่มผลิตภัณฑ์กาวหลอมร้อนรักษ์โลก คือ กาวกลุ่ม hotmelt ที่มีส่วนผสม ของมวลสารชีวภาพเข้าไปเพื่อลดการใช้วัตถุดิบที่ผลิตจาก fossil fuel หรือผลิตภัณฑ์ที่มาจากการทับถมน้อยลง เป็นการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตให้กับลูกค้าได้อีกทางหนึ่ง

ขณะเดียวกัน หากลูกค้า มีการทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint of Organization : CFO) ที่เป็นเครื่องมือแสดงข้อมูลปริมาณการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจก ตัวนี้จะลดใน SCOPE 3 ที่เป็นการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทางอ้อมด้วย ซึ่งหากจะให้ครบลูปทั้งซัพพลายเชน ซัพพลายเออร์ จะต้องช่วยสนับสนุนในเรื่องการใช้ Sustainable Materials ด้วยเหมือนกัน เรามองว่านี่คือเทรนด์ที่กำลังมา

โดยทั่วไปทุกบริษัท จะมีนโยบายด้านความยั่งยืนจากระดับผู้บริหารที่ส่งต่อมายังพนักงานอยู่แล้ว ฉะนั้น จึงถือเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องเข้าไปแนะนำผลิตภัณฑ์รักษ์โลกให้คนหน้างานได้รู้จัก ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกันหาวิธีแก้ไขปัญหา Climate Change ที่มีความสำคัญอย่างมาก   

“เรื่องสิ่งแวดล้อม ถือเป็นการเพิ่มต้นทุนในบางอย่าง สำหรับเรา มองว่าค่าใช้จ่าย คือการลงทุนเพื่อซื้อความพร้อมเตรียมไว้ให้ธุรกิจไปต่อได้เลยเมื่อเวลามาถึง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม และสังคมมากขึ้น ซึ่งเรามีนโยบายความยั่งยืนอยู่แล้ว การขับเคลื่อน คือทำให้เป็นรูปเป็นร่าง เป็นนโยบายที่ต้องไปให้ถึง เอารวมเข้าไปในกระบวนการ มีตัวชี้วัด และทุกฝ่ายร่วมผลักดันไปด้วยกัน”

คุณยุวดี เอี่ยมสนธิทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีลิค คอร์พ จำกัด (มหาชน)

อ่านบทความฉบับเต็ม คลิก : 


บริษัท ไทยแทฟฟิต้า จำกัด คร่ำหวอดในอุตสาหกรรมสิ่งทอแบบครบวงจรมายาวนาน และยังเป็นเจ้าของแบรนด์แฟชั่น  Earthology Studio ด้วย Vision มุ่งมั่นเป็นผู้ผลิตสิ่งทอระดับโลก ที่พัฒนาสินค้าด้วยความใส่ใจสิ่งแวดล้อมทุกกระบวนการในการผลิต 

คุณกฤติกา  ชัยวิไล เปิดเผยว่า เราอยู่ในธุรกิจสิ่งทอมา 34 ปี มีโรงงานอยู่ที่จังหวัดระยอง การดำเนินงานมีการพัฒนาเรื่องเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีเป้าหมายสู่การเป็นโรงงานผู้ผลิตสิ่งทอที่ยั่งยืน และมีสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

ย้อนไปช่วง 15 ปีที่ผ่านมา เราเริ่มเห็นแนวโน้มในการพัฒนาสิ่งทอที่เรียกว่า Sustainable Fiber และ Sustainable Material ยกตัวอย่างแบรนด์ใหญ่ที่ทำเรื่องนี้เช่น The North Face เราจึงมองว่า แฟชั่น ถือเป็นหนึ่งในบริบทของธุรกิจสิ่งทออยู่แล้ว เราจึงเริ่มตั้งแต่การทำ Innovation และ R&D เพื่อเตรียมความพร้อมของโรงงาน ในการปรับเปลี่ยนไปสู่ธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ว่าจะทำได้อย่างไรบ้าง

เนื่องจากธุรกิจเรา Develop กับ Global Brand เราจึงมี Technical Know-how  เรื่องการ Development หรือ  Innovation เกี่ยวกับผ้า ซึ่งการพัฒนาไม่ยาก ส่วนที่ยาก คือการรวบรวมซัพพลายเชน ถ้าเป็นระบบภายในองค์กรเราจัดการได้ แต่ส่วนที่ทำร่วมกับเกษตรกร เป็นระบบอีโคซิสเต็ม ส่งเสริมกันในฐานะพันธมิตรเพื่อให้เกิดคุณค่าในการผลิตสินค้า ต้องทำให้เขาเห็นภาพร่วมกันว่า อนาคต Trends เรื่องความยั่งยืนมาแน่  แม้ว่าขณะนี้ Agriculture Waste ยังมีดีมานด์ไม่มากหากเทียบกับรีไซเคิล แต่หลายภาคส่วนเริ่มมีความเข้าใจ สำหรับเกษตรกร อาจต้องใช้เวลา ถ้าจะให้ดีและเห็นผลเร็วต้องมีการส่งเสริมจากภาครัฐ

“ในฐานะ SME อาจจะมองว่าเรื่องการรีไซเคิล หรือสิ่งแวดล้อมเป็นคอร์สมหาศาลที่ต้องลงทุน แต่ให้เรามองว่าธุรกิจต้องเริ่มออกเดิน เพื่อดูว่าเราทำอะไรไปแล้วบ้าง? เพราะถ้าไม่เริ่ม อีกไม่กี่ปีนี้ คุณจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจ จะสู้กับคู่แข่งยาก
“โลกอนาคตไม่ได้สู้กันที่เรื่องราคาเพียงอย่างเดียวแล้ว แต่ผู้บริโภคจะดูว่าแบรนด์นั้น ๆ ทำเพื่อโลกมากแค่ไหน”

คุณกฤติกา ชัยวิไล Vice President บริษัทไทยแทฟฟิต้า จำกัด

อ่านบทความฉบับเต็ม คลิก : 

บริษัท ศิลปทอไทย จำกัด หรือ Thai Arts Knitting factory Co.,Ltd.  ธุรกิจที่เริ่มจากรุ่นพ่อแม่ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 50 กว่าปีที่แล้ว ช่วงนั้นธุรกิจเสื้อไหมพรมกันหนาว ที่มีต้นกำเนิดจากฮ่องกง ไต้หวัน เฟื่องฟูและได้รับความนิยม ธุรกิจจึงบูมมาก นอกจากขายในประเทศ ยังส่งออกไปอเมริกา ญี่ปุ่น และประเทศต่าง ๆ ด้วย

คุณสมชาย ธัญญศิริ กล่าวว่า เราผ่านวิกฤตและอุปสรรคต่าง ๆ จนก้าวสู่ความสำเร็จ โรงงานเราจะเก็บข้อมูลในกระบวนการผลิตตั้งแต่เริ่มต้น เช่นในการผลิตแบบไล่สี ต้องมีการทดลอง ถ้าใส่สีดำมากไป ต้องลดลง เติมสีขาว มีการลองทำทั้งตัวก่อนผลิต หลังย้อมเราต้องคืนสภาพ ต้องดึงเส้นด้ายกลับมาทั้งหมดแล้วมาหาสัดส่วนเพื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ในทางเคมี เรียกว่า การถอดไหม เพื่อให้รู้ว่าแต่ละสี แต่ละพอร์ชั่น มีสัดส่วนเท่าไหร่ ทำให้จัดการคอร์สได้ พอเราสั่งวัตถุดิบ รู้ว่าต้องสั่งอันไหนกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอาจจะมี Waste  5 - 10%

นอกจากนั้น ขั้นตอนการย้อมต้องใช้น้ำจำนวนมาก เราจะเลือกสั่งซื้อเส้นด้ายรีไซเคิล กับซัพพลายเออร์ที่ได้การรับรองว่าผ่านกระบวนการย้อมที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่โรงงานที่ขายกล่องกระดาษบรรจุภัณฑ์ ต้องได้รับการรับรองว่าใช้กระดาษรีไซเคิล พลาสติก หรือถุงพลาสติกที่ผลิตให้เรา ต้องได้รับการยอมรับในระดับสากลว่าเป็น ‘กรีนซัพพลายเชน’ 

ปัจจุบัน มายด์เซ็ตผู้บริโภคเปลี่ยนไป เป็นเรื่องใหญ่ที่ผู้ประกอบการ SME ต้องปรับตัว เด็กรุ่นใหม่ จะใส่ใจเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากกว่ารุ่นเรา ในธุรกิจแฟชั่น ลูกค้าที่ยอมจ่ายแพงขึ้น คือกลุ่มที่ให้ความสำคัญเรื่องของสิ่งแวดล้อม คนรุ่นใหม่เติบโตมาพร้อมความใส่ใจปัญหาเหล่านี้ เขารู้ว่าการทำลายโลกเป็นสิ่งผิด และไม่เหมาะสม ยุคเขาต้องมีการแยกขยะ เจนเนอเรชั่นเปลี่ยนไป 

“ถ้าจะทำธุรกิจให้ยั่งยืน ต้องไม่มองไปข้างหน้าอย่างเดียว แต่ต้องมองไปถึงรุ่นข้างหลัง ที่เดินตามเรามาว่าเขาคิดอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า หรือธุรกิจได้อีกทางหนึ่ง”

คุณสมชาย ธัญญศิริ กรรรมการผู้จัดการ บริษัท ศิลปทอไทย จำกัด

อ่านบทความฉบับเต็ม คลิก : 

ทั้งหมดนี้ คือตัวอย่างของคนต้นแบบในภาคธุรกิจ ที่มองเห็นความสำคัญของการรักษาสิ่งแวดล้อม และพร้อมจะเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานตามแนวโน้มและเทรนด์ของโลกในอนาคต ในทิศทางการสร้างสรรค์สังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยหลัก ESG เข้ามามีส่วนช่วยให้องค์กรเติบโตบนวิถีแห่งความยั่งยืน
































Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ส่อง 5 นวัตกรรม ESG สุดว้าว! ทั่วโลกเขาเปลี่ยนขยะเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลก (Green Product) อะไรกันบ้าง

ส่อง 5 นวัตกรรม ESG สุดว้าว! ทั่วโลกเขาเปลี่ยนขยะเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลก (Green Product) อะไรกันบ้าง

หลายปีที่ผ่านมา โลกได้พัฒนาก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว มีผลิตภัณฑ์มากมายที่พัฒนาขึ้นมาจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่สร้างความสะดวกสบายให้ผู้บริโภค…
pin
2605 | 18/03/2024
ศึกษาโมเดล “ไฮโดรเจนสีเขียว” ใหญ่ที่สุดในโลก นำข้อดีมาปรับใช้ ในอุตสาหกรรมผลิตพลังงานไฮโดรเจนไทย ได้อย่างไร

ศึกษาโมเดล “ไฮโดรเจนสีเขียว” ใหญ่ที่สุดในโลก นำข้อดีมาปรับใช้ ในอุตสาหกรรมผลิตพลังงานไฮโดรเจนไทย ได้อย่างไร

ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ หนึ่งในสาเหตุสำคัญมาจากการผลิตพลังงานไฟฟ้าและพลังงานความร้อนโดยการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล…
pin
4851 | 29/02/2024
เทรนด์ ESG โตแรง! SME - สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ จะสตาร์ทอย่างไร ไม่ให้ตกเทรนด์โลก?

เทรนด์ ESG โตแรง! SME - สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ จะสตาร์ทอย่างไร ไม่ให้ตกเทรนด์โลก?

สำหรับหลาย ๆ  SME ที่เริ่มสร้างธุรกิจโดยเฉพาะ ‘สตาร์ทอัพ’ มีเสียงบอกกล่าวแนะนำกันอย่างต่อเนื่องว่า ‘สตาร์ทอัพ’ จะต้องทำ ESG เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รอไม่ได้…
pin
3375 | 20/02/2024
เมื่อโลกธุรกิจ สู้ด้วยเรื่องความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เปิดมุมมอง  CEO สายกรีน กับแนวคิดธุรกิจยั่งยืน