Case Study 3 ผู้ออกแบบระบบ Automation คนไทย ผู้พลิกโฉมอุตสาหกรรมการผลิตไทย ให้แข่งขันในตลาดโลกได้

SME in Focus
07/01/2024
รับชมแล้วทั้งหมด 1278 คน
Case Study 3 ผู้ออกแบบระบบ Automation คนไทย ผู้พลิกโฉมอุตสาหกรรมการผลิตไทย ให้แข่งขันในตลาดโลกได้
banner

มนุษย์ไม่เคยหยุดพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้ธุรกิจมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ต่างคิดค้นหนทางที่จะผลิตให้มีคุณภาพมากขึ้น รวดเร็วขึ้น แต่ใช้พลังงานน้อยลง และลดการใช้แรงงานมนุษย์ในส่วนที่มีความเสี่ยงกันมาโดยตลอด ปัจจุบันผู้ผลิตจำนวนมากจึงเลือกใช้นวัตกรรม Automation คือระบบที่เครื่องจักรสามารถทำงานได้อย่างอัตโนมัติมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่จะผลักดันขีดความสามารถในการแข่งขันให้พุ่งทะยานขึ้นไปเรื่อย ๆ


การเข้ามาของระบบ Automation (อัตโนมัติ) จึงทำให้แต่ละโรงงานสามารถควบคุมต้นทุนการผลิตได้ดีขึ้น ผลิตสินค้าได้คุณภาพสม่ำเสมอ สามารถผลิตและส่งมอบสินค้าได้ตามกำหนดเวลา เรียกได้ว่าเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มกำลังการผลิต และยังลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุของพนักงานในโรงงานได้อย่างมีนัยสำคัญ Automation จึงตอบรับกับสถานการณ์การแข่งขันทางธุรกิจที่มากขึ้น จนกลายมาเป็นพื้นฐานของอุตสาหกรรมแทบทุกประเภทในปัจจุบัน


ระบบ Automation มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในภาคธุรกิจไทย ทั้งในด้านการช่วยเพิ่มผลผลิตในกระบวนการผลิตสินค้า ช่วยดูแลในเรื่องคุณภาพชีวิต ไปจนถึงการสร้างความสะดวกสบายต่าง ๆ สำหรับการใช้งานระบบ Automation ประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง


อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่สำคัญของอุตสาหกรรมระบบ Automation ไทย คือ การขาดตลาดภายในประเทศ เพราะผู้ใช้งานมักไม่ได้ให้ความสำคัญกับระบบ Automation ที่พัฒนาในประเทศเท่าที่ควร จะเห็นได้จากการที่ผู้ผลิตรายใหญ่ ๆ ที่มีการปรับปรุงกระบวนการผลิตและการบริการเป็นระบบอัตโนมัติต่าง ๆ ล้วนนำเข้าระบบ Automation จากต่างประเทศ ทำให้ไทยยังต้องอาศัยการนำเข้าระบบอัตโนมัติที่มีมูลค่าสูงจากต่างประเทศเป็นหลัก


ปัจจุบันจึงมีผู้ประกอบการระบบ Automation ไทย ที่มีศักยภาพในการคิดค้นนวัตกรรม เล็งเห็น Pain Point ที่เป็นจุดอ่อนของภาคธุรกิจไทย ช่วยให้ผู้ประกอบการ SME สามารถเข้าถึงระบบ Automation ได้มากขึ้น เพื่อนำไปพัฒนาธุรกิจของตัวเองให้สามารถแข่งขันในตลาดที่ใหญ่ขึ้นได้ ซึ่งจะเป็นฐานเศรษฐกิจใหม่ของประเทศในอนาคตได้


บทความนี้ Bangkok Bank SME ขอยกตัวอย่าง 3 ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการระบบ Automation (ออโตเมชัน) ชั้นนำในประเทศไทย เพื่อเป็นแนวทางในการพลิกโฉมอุตสาหกรรมการผลิตของผู้ประกอบการ SME ไทย ให้สามารถแข่งขันในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ



ระบบ Automation คืออะไร?


Automation คือ ระบบที่ทำงานผ่านการควบคุมจากคอมพิวเตอร์ หรือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเริ่มทำงานได้ด้วยตัวเองตามคำสั่งของมนุษย์ จะเห็นว่า ปัจจุบันระบบอัตโนมัติเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทั้งในด้านวิศวกรรม อุตสาหกรรม การเกษตร โลจิสติกส์ รวมทั้งยังกลายเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของคนในยุคนี้


ระบบอัตโนมัติถูกคิดค้นมาเพื่อให้สามารถลดการใช้ทรัพยากรที่ไม่จำเป็น และตอบสนองความต้องการของมนุษย์ให้ได้มากที่สุดโดยหลายธุรกิจเลือกนำระบบอัตโนมัติเพื่อช่วยสร้างมูลค่า สร้างความสะดวกในการผลิต เพิ่มขีดความสามารถให้การแข่งขัน หรือที่เรียกว่า Digital Transformation เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคและลูกค้าในยุค Digital มากยิ่งขึ้น


ความสำคัญของระบบ Automation กับการทำธุรกิจยุค Digital


Automation นับเป็นอีกหนึ่งในโซลูชันที่จะมาเป็นพื้นฐานของทุกอุตสาหกรรม มีแนวโน้มจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง เมื่อระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ กลายเป็นส่วนหนึ่งในไลฟ์สไตล์ของกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ และยังแทรกซึมอยู่ในทุกอุตสาหกรรมทุกประเภท การทำธุรกิจยุคปัจจุบัน ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานและกระบวนการภายในองค์กร โดยเปิดรับ Automation เข้ามาเป็นองค์ประกอบสำคัญในกระบวนการทำงาน


อย่างไรก็ดี ‘ระบบ Automation’ ในไทย สำหรับบริษัทขนาดใหญ่กว่า 80% พัฒนาไปมากแล้ว ยกเว้น SME ยังไม่สามารถปรับเปลี่ยนมากนัก เนื่องจากมองว่าการลงทุนมีค่าใช้จ่ายสูง ขณะที่ระบบการผลิตแบบเดิมยังดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งในความเป็นจริง หากมองถึงการลงทุนในระยะยาวถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามาก เนื่องจากข้อดี คือ ทำให้สินค้าที่ผลิตออกมามีคุณภาพสูงกว่าการใช้แรงงานคน มีความเสถียรและแม่นยำ คำนวณยอดการผลิตต่อวันได้ และสิ่งสำคัญคือช่วยในการบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย


อ้างอิงข้อมูลจากแบบสำรวจอุตสาหกรรมไทย โดยสถาบันไทย-เยอรมัน (TGI) ที่ชี้ให้เห็นถึงสัดส่วนการใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์มีเพียง 15% ทำให้เกิดการคาดการณ์ว่า 85% ของอุตสาหกรรมที่ยังไม่มีการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวอาจไร้ความสามารถในการแข่งขันภายในระยะเวลาไม่นานนับจากนี้


ทั้งนี้ สัดส่วนที่ยังไม่มีการใช้งานหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัตินั้น พบว่าส่วนใหญ่มีการใช้งานเครื่อง CNC ร่วมกับกระบวนการทำงานแบบ Manual สัดส่วนมากถึง 35% และมีการใช้งาน CNC ร่วมกับสายพานลำเลียงเพียง 25% ส่วนโรงงานที่ใช้มนุษย์ทำงานแบบ Manual เต็มรูปแบบยังมีอยู่ถึง 25% ภายใน 5 ปีข้างหน้านี้ 85% ของอุตสาหกรรมภายในประเทศไทยที่ไม่มีการปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงของยุค 4.0 จะไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้ และ 53% ของ SME อาจต้องปิดกิจการ ‘ระบบ Automation’ จึงเป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนากระบวนการผลิต เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการและ SME ต้องเรียนรู้และปรับตัวให้ทันหากต้องการให้ธุรกิจอยู่รอดและไปต่อได้อย่างแข็งแกร่ง


ข้อมูลจาก ไอบีเอ็ม ร่วมด้วยไอดีซี ผู้ให้บริการชั้นนำด้านการวิจัยและคำแนะนำด้านไอทีระดับโลก ระบุว่า ในปี 2566 การใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีดิจิทัลขององค์กรในเอเชียแปซิฟิคจะเติบโต 3.5 เท่าของเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายเพื่อวางรากฐานสู่การดำเนินการให้เกิดความแตกต่างทางการแข่งขัน และการเติบโตในระยะยาว และภายในปี 2567 องค์กรถึง 30% ขององค์กรทั้งหมด จะมีกลยุทธ์บริหารภาวะวิกฤติและความต่อเนื่องทางธุรกิจ เพื่อรับมือวิกฤติเศรษฐกิจและดิสรัปชันในอนาคตได้อย่างคล่องตัว


จากรายงานของ International Federation of Robotics (IFR) พบว่า ค่าเฉลี่ยความสามารถในการทำงานของแรงงานเมื่อนำหุ่นยนต์เข้ามาเพิ่มขึ้น 0.37% เพิ่มผลผลิตของอุตสาหกรรมที่ใช้ถึง 13.6% ซึ่งเป็นไปตามจุดประสงค์หลักของการใช้งานหุ่นยนต์ดังนี้.


1. ลดต้นทุน : ระบบ Automation ช่วยลดเวลาในการทำงานได้เป็นอย่างดี รวมถึงการอำนวยความสะดวกให้กับแรงงานทำให้ไม่เกิดค่าใช้จ่ายจากการบาดเจ็บหรือ Downtime


2. เพิ่มคุณภาพ : ระบบ Automation นั้นเป็นสิ่งที่มีความแม่นยำสูง สามารถผลิตชิ้นงานที่มีความละเอียดสูงและทำงานในรูปแบบพิเศษที่มนุษย์ไม่อาจทำได้


3. เพิ่มความสามารถในการผลิต : การทำงานภายใต้เงื่อนไขอันจำกัด เช่น สถานที่ สภาพแวดล้อม ระยะเวลา ต้องมีการบริหารจัดการที่ดีไม่อย่างนั้นจะสูญเสียอย่างมาก เช่น การบริหารจัดการคลังสินค้าที่ดีจะไม่ก่อให้เกิดการส่งชิ้นส่วนที่ล่าช้า หรือการทำงานซ้ำๆ อย่างต่อเนื่องได้โดยไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงจากความเมื่อยล้า


4. รักษาสุขภาพและความปลอดภัยที่ดี : การใช้งานระบบควบคุมอัตโนมัติสามารถส่งเสริมความปลอดภัยของกระบวนการผลิตได้เป็นอย่างดี ด้วยระบบเซนเซอร์ตรวจจับการทำงาน สามารถทดแทนแรงงานมนุษย์ในการปฏิบัติงานที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพและความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ เช่น ระบบหยุดการทำงานของหุ่นยนต์เมื่อมีคนเข้าไปใกล้


ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้นในทุกวันเพื่อทำให้การใช้ชีวิตง่าย ทั้งในแง่ของคนและองค์กรธุรกิจ ในการนำเทคโนโลยีมาช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสบการณ์ของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มผลกำไรได้ในระยะยาว ‘ระบบ Automation ’ จึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องเรียนรู้และปรับใช้ เพื่อไม่ให้ธุรกิจถูกดิสรัปต์ บทความนี้ Bangkok Bank SME ขอยกตัวอย่าง 3 ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการระบบ Automation (ออโตเมชัน) ชั้นนำในประเทศไทย เพื่อเป็นแนวทางในการพลิกสู่โอกาสธุรกิจของคุณ ให้สามารถแข่งขันได้ในยุคอุตสาหกรรม 4.0


‘บริษัท เลิศวิลัยแอนด์ซันส์ จำกัด’


ผู้บูรณาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติครบวงร ปูทาง SME สู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0



ดร.ประพิณ อภินรเศรษฐ์ กรรมการบริหาร บริษัท เลิศวิลัยแอนด์ซันส์ จำกัด


ดร.ประพิณ อภินรเศรษฐ์ กรรมการบริหาร บริษัท เลิศวิลัยแอนด์ซันส์ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ หรือ Automation System Integrator (ASI) แถวหน้าของประเทศไทย ผู้ให้บริการออกแบบ พัฒนา บูรณาการ และติดตั้งหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมายาวนานกว่า 20 ปี จนก้าวสู่ผู้นำด้านการพัฒนาและออกแบบระบบหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ งานเชื่อมโลหะครบวงจร และผู้ผลิตสายไฟฟ้าสำหรับงานอุตสาหกรรม งานอุตสาหกรรมทางทะเล และงานขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย


ระบบ SI คืออะไร?


SI (system integration) หมายถึง ระบบที่เชื่อมโยงและพัฒนาระบบงาน ระหว่างระบบเก่ากับระบบใหม่เข้าด้วยกัน หาก SME บางราย มีการใช้ระบบอัตโนมัติภายในโรงงานอยู่แล้ว ต้องการเพิ่มเครื่องจักร หรืออัปเกรดเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้าไป System Integration ตัวนี้ จะเป็นตัวเชื่อมเทคโนโลยีทั้งสองเข้าด้วยกันนั่นเอง


และจากความรู้ ความเชี่ยวชาญที่ ดร.ประพิณ สั่งสมมายาวนานในธุรกิจการเชื่อมโลหะ และแตกแขนงไปยังธุรกิจต่าง ๆ จนก้าวสู่ผู้ให้บริการในอุตสาหกรรมหลากหลาย โดยมีความชำนาญด้านระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ หรือ System Integrator (SI) ชั้นนำของประเทศไทย ธุรกิจของ บริษัท เลิศวิลัยแอนด์ซันส์ จำกัด คือ ขายหุ่นยนต์อุตสาหกรรม วางโปรแกรมหุ่นยนต์ ติดตั้งหุ่นยนต์ และบริการหลังการขาย ขั้นต่อไปก็คือการ เป็น Robot & Automation System Integrator หรือ ผู้บูรณาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ


ดร.ประพิณ เผยว่า “ถ้าเปรียบกับการสร้างบ้าน เราคือผู้รับเหมาก่อสร้าง ทำทุกอย่างเพื่อให้สร้างบ้านเสร็จครบหมด และถ้าเราจะทำให้ครบวงจร เราคงต้องเป็นผู้ผลิตหุ่นยนต์ด้วย จึงเป็นที่มาของเรื่อง นวัตกรรม (Innovation) ของ บริษัทเลิศวิลัยฯ คือ หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ FACoBOT AMR (Autonomous Mobile Robot) สำหรับงานระบบเคลื่อนย้ายสินค้าหรือสิ่งของที่ทำงานด้วยระบบโปรแกรม AI อัตโนมัติ สามารถหลบหลีกสิ่งกีดขวางได้เอง ใช้งานร่วมกับระบบการขนส่งสิ่งของภายในอาคารหรือโรงงานต่าง ๆ ลดการพึ่งพาแรงงานคน


เครดิตภาพจาก : https://www.facebook.com/photo/?fbid=5819011928140176&set=pcb.5818990874808948


ดร.ประพิณ ให้แนวคิดว่า หากคุณทำเรื่องเทคโนโลยี สิ่งที่ต้องมีเป็นของตัวเองคือ นวัตกรรม ซึ่งตนเริ่มพัฒนา Autonomous Mobile Robots พัฒนาฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ทั้งหมดขึ้นเองโดยคนไทย ซึ่งในช่วงโควิด 19 ได้เริ่มทำหุ่นยนต์ AMR นี้ออกมาเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยติดเชื้อ Covid 19 โดยช่วยการเคลื่อนย้ายยาและอาหาร รวมถึงฆ่าเชื้อโรค แทนที่คนทำงาน เป็นหุ่นยนต์เคลื่อนที่ที่ใช้ในโรงพยาบาล รวมทั้งบูรณาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในส่วนของ Operational Technology (OT) ที่เชื่อมโยงหุ่นยนต์ ระบบออโตเมชัน เครื่องจักร เซนเซอร์ ฯลฯ (ในแนวนอน) จากนั้นจึงสั่งของเข้ามาเพื่อประกอบ ด้านซอฟต์แวร์ในส่วนของ OT เมื่อลูกค้ามีความต้องการเรื่องอะไร เช่น หากต้องการหุ่นยนต์ยกของ บริษัทจะมีการใส่ระบบที่เป็น Know How เข้าไป



เครดิตภาพจาก : https://www.facebook.com/photo/?fbid=5819011928140176&set=pcb.5818990874808948


นอกจากนี้ บริษัท เลิศวิลัยแอนด์ซันส์ จำกัด ยังมีการโปรแกรมเรื่องแมชชีนเลิร์นนิ่ง โดยมี Open source ที่นำมาพัฒนาต่อให้เป็นของเราเอง แล้วจึงใช้ซอฟต์แวร์คอยเก็บข้อมูล และทำให้เกิดการเรียนรู้อยู่เสมอ การ Optimize ได้เอง จะช่วยให้เราแก้ไขหรือพัฒนาเองได้ ฉะนั้น คุณต้องมี Know How มีซอฟต์แวร์ และมีแพลตฟอร์มที่จะทำและแก้ไขได้ ที่สำคัญคือ มี Library ต้อง Optimize ให้การใช้งานรวดเร็ว ไม่มีข้อผิดพลาด


SME ปรับใช้เทคโนโลยี หุ่นยนต์ และระบบออโตเมชันอย่างไร?


ดร.ประพิณ กล่าวว่า หากผู้ประกอบการ SME ต้องการเลือกบริษัทที่ให้บริการเรื่องเทคโนโลยี ต้องรู้ว่าบริษัทนั้น มีความเชี่ยวชาญหรือไม่ มีผลงานอะไร ซอฟต์แวร์ที่ใช้ มีการใช้งานมานานแค่ไหน มีบัคหรือไม่ ซึ่งสำหรับบริษัทเลิศวิลัยฯ เราอยู่ในธุรกิจนี้กว่า 20 ปี มีแพลตฟอร์มมากมาย หากจะเลือกใช้ คุณต้องรู้ว่าบริษัทนั้นมี Performance เป็นอย่างไร มีทีมงานเป็นอย่างไร


“ตอนนี้มีปัญหาเรื่องค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ถ้าคุณเป็นเจ้าของธุรกิจ SME ที่เป็นโรงงานขนาดเล็ก ในแง่การผลิตสินค้าต้องใช้แรงงานในการยกและวางสินค้าสำเร็จรูป อย่างแรกคือ ใช้แรงงานคน ถ้าหากเปลี่ยนมาใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมขนาดเล็ก จะมีต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 400,000 บาท เทียบกับค่าแรงคน อยู่ที่ประมาณ 12,000 บาท/คน (รวมค่าโบนัส และ สวัสดิการต่าง ๆ) หรือ 144,000 บาท/คน/ปี หรือ 288,000 บาท/2 คน/ปี ดังนั้น Payback Period ก็ไม่เกิน 2 ปี สำหรับกรณีที่ใช้ คน 2 คน/1 ไลน์การผลิต หรือ ไม่เกิน 4 ปี สำหรับกรณีที่ใช้คน 1 คน/1 ไลน์การผลิต


หรือถ้าเป็นสินค้าหนักขึ้น จะมีต้นทุนประมาณ 1.2-1.4 ล้านบาท อาจจะลงทุนกับระบบออโตเมชัน โดย SME ไปขอ BOI แล้วนำยอดเงินลงทุนไปยกเว้นภาษีนิติบุคคล 100% (ในกรณีที่ใช้ aSI ไทย) ภายใน 3 ปี เพื่อเป็นการช่วยลงทุนหุ่นยนต์และระบบออโตเมชันก็เป็นสิ่งที่ควรทำ”

เพราะในยุคดิจิทัล ทุกธุรกิจต้อง Transforms นี่คือสิ่งที่ SME ต้องปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ หรือ Keep Changing ต้องดูว่าอะไรที่ทำกำไรได้มากขึ้นก็ไปทางนั้น


อ่านบทความเพิ่มเติม : คลิก

https://www.bangkokbanksme.com/en/23-4focus-automation-with-lertvilai-for-smes-in-the-industry



'RST Robotics’ ผู้เชี่ยวชาญด้านเอไอ แนะ SME Transforms สู่ระบบออโตเมชัน เสริมแกร่งธุรกิจ


ประเทศไทย ตื่นตัวกับเรื่อง Digital Transformation และถูกพูดถึงในวงกว้าง ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ มีแนวโน้มการเปลี่ยนมาใช้งานหุ่นยนต์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เมื่อ AI ยุคใหม่ พัฒนารวดเร็วแบบก้าวกระโดด จึงกลายเป็นเครื่องมือที่มีส่วนเพิ่มความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ แม่นยำ และลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการโรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากขึ้นด้วย



คุณอินทัช อนุพรรณสว่าง ผู้บริหารแห่งบริษัท อาร์เอสที โรโบติกส์ จำกัด (RST Robotics)


คุณอินทัช อนุพรรณสว่าง ผู้บริหารแห่งบริษัท อาร์เอสที โรโบติกส์ จำกัด (RST Robotics) อีกหนึ่งผู้ให้บริการโซลูชั่นครบวงจรสำหรับระบบอัตโนมัติในโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมทั้งให้บริการด้านเทคโนโลยี AUTOMATION และ AI อย่างครบวงจร เสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจก้าวสู่การแข่งขันได้ในระดับ Global


จุดเด่น คือความพร้อมด้านทีมงานวิศวกรที่มีประสบการณ์สูง เครื่องจักรทันสมัย และระบบการทำงานที่ได้มาตรฐาน ทำให้ บริษัท อาร์เอสที โรโบติกส์ จำกัด เป็น SI (System Integration) หรือผู้ให้บริการวางระบบอัตโนมัติในอุตสาหกรรมโรงงานอย่างเต็มตัว วางตำแหน่งตัวเองเป็น Total Solution Provider ในรูปแบบวันสต็อปเซอร์วิส ให้บริการลูกค้าตั้งแต่ขั้นตอนการประเมินโรงงาน ตรวจสอบภาพรวมทั้งโรงงานของลูกค้า วิเคราะห์ความเป็นไปได้ คำนวณความคุ้มค่าในการลงทุน วิจัยและพัฒนา Conceptual design นำระบบออโตเมชันเข้ามาช่วยปรับปรุง รวมถึงเรื่องการเป็นที่ปรึกษาด้านบีโอไอให้กับทางลูกค้า ทำ R&D ทั้งส่วนออกแบบทางด้านวิศวกรรม การผลิต การติดตั้ง ไปจนถึง After sales service


หน้าที่ของบริษัท คือ

1. นำโรบอทมา Integrate

2. สร้างเครื่องจักรเอง โดยการ Customize

3. ทำระบบสายพานลำเลียง (Conveyor Belt) รวมถึงระบบไฟฟ้า โปรแกรม และระบบคอนโทรลทั้งหมด

ในส่วนซอฟต์แวร์ จะเป็นกลุ่ม Robotic Process Automation (RPA) และส่วนอื่น ๆ เช่น การบริหารจัดการซอฟต์แวร์ AI หรือ Machine learning 2 โดยพาร์ตเนอร์กับบริษัทชั้นนำ เพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงตามที่ลูกค้าต้องการ




เครื่องจักร คืออุปกรณ์สำหรับสร้างรายได้ให้เจ้าของโรงงานและผู้ประกอบการธุรกิจ เพราะฉะนั้น ระบบที่ออกแบบและผลิต ต้องส่งมอบให้ลูกค้าทันเวลา นี่คือสิ่งที่ บริษัท อาร์เอสที โรโบติกส์ จำกัดให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ของการบริการลูกค้า


คำแนะนำสำหรับ SME ไทย คือตอนนี้ ได้เวลาลุกขึ้นมาทรานฟอร์มสู่ระบบออโตเมชัน เพราะถ้าช้า คงหนีไม่พ้นถูกดิสรัปชัน ซึ่งอาจจะต้องอาศัยความพร้อมหลายมิติ สิ่งสำคัญที่สุดคือ 1. Mindset ของผู้บริหาร ว่าพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนไหม 2. ความพร้อมด้านทีมงาน ต้องดูว่า คุณมีทีมงานในระดับไหน 3. ความพร้อมด้านระบบการผลิตเดิม ที่ผ่านมามีการปรับปรุงพัฒนาบ้างหรือเปล่า เช่น มีการนำระบบลีน (Lean) หรือไคเซ็น (Kaizen) และ นวัตกรรมระบบอัตโนมัติต้นทุนต่ำ (Low Cost Automation) มาปรับใช้


ถ้า SME เอาเครื่องมือเหล่านี้มาใช้ก่อน จะเป็นการทำให้โรงงานมีพื้นฐานที่ดี หากระบบในโรงงานเดิมมีความเสถียร และมั่นคงในระดับหนึ่งแล้ว ออโตเมชันจะไม่ใช่เรื่องยากในการประยุกต์ใช้ ถึงเวลาแล้วที่ SME จะลุกขึ้นมาอัพเกรดโรงงานของคุณ เพื่อลดต้นทุนในกระบวนการผลิตและทำให้บริษัทมีกำไรมากขึ้น


อ่านบทความเพิ่มเติม : คลิก

https://www.bangkokbanksme.com/en/rst-robotics-transforms


อีกส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการ Supply Chain ในช่วงที่ธุรกิจเติบโตและขยายตัวอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญคือ คลังสินค้าอัตโนมัติ (Warehouse Automation) ที่จะสามารถตอบโจทย์เรื่องการจัดการสต๊อกสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่ง บริษัท ออโต้โมชั่นเวิร์ค จำกัด หรือ AMW ในเครือ ‘ขอนแก่นแหอวน’ ผู้เชี่ยวชาญด้านการติดตั้งระบบคลังสินค้าและออกแบบระบบโลจิสติกส์อัตโนมัติ คือกรณีศึกษาที่น่าสนใจในประเด็นนี้




โดยบริษัท ออโต้โมชั่นเวิร์ค จำกัด ให้บริการตั้งแต่การวางแผนงาน จนถึงการให้คำปรึกษา ออกแบบ ผลิต ติดตั้ง และบริการหลังการขายด้วยความเอาใจใส่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้พื้นที่การจัดเก็บ และยกระดับความสามารถในการขนถ่ายวัสดุด้วยความถูกต้องแม่นยำ พร้อมนำเสนอเทคโนโลยีการขนถ่ายวัสดุและระบบคลังสินค้าตามความต้องการเฉพาะด้านของลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ



คุณวินิจ เสรีโยธิน กรรมการผู้จัดการบริษัท ออโต้โมชั่นเวิร์ค จำกัด


ปัจจุบัน หลายธุรกิจหันมาใช้ประโยชน์จากระบบคลังสินค้าอัตโนมัติมากขึ้น คาดว่าในอนาคตจะเพิ่มดีมานด์สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจที่กำลังเติบโตหรือมีแผนขยับขยายเพิ่มขึ้น ซึ่งระบบคลังสินค้าอัตโนมัติ ถือเป็นโซลูชันสำคัญที่ช่วยยกระดับให้กับผู้ประกอบการและกลุ่มธุรกิจทุกประเภท อาทิ กลุ่มปิโตรเคมี กลุ่มธุรกิจจำหน่ายวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน และกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่มีพาเลทสินค้าขนาดใหญ่ มีความหนาแน่นของระบบการจัดเก็บ และต้องการความปลอดภัยสูง


ด้วยระบบ ASRS (Automated Storage & Retrieval System) ซึ่งเป็นระบบการจัดเก็บและเบิกจ่ายสินค้าอัตโนมัติ ประกอบด้วยอุปกรณ์หลัก คือ Stacker Crane หรือเครนอัตโนมัติเป็นเครื่องจักรหลักที่สามารถนำสินค้าเข้าเก็บ หรือนำสินค้าออกมาจากชั้นวางสินค้า โดยสามารถเคลื่อนที่ได้ทั้งแนวราบและแนวดิ่งซึ่งสั่งการและควบคุมการทำงานด้วยคอมพิวเตอร์ พร้อมโปรแกรมบริหารจัดการคลังสินค้าและโปรแกรมสั่งการเครื่องจักรที่มีความแม่นยำสูง ช่วยลดการใช้แรงงานงานคน และลดความซ้ำซ้อนในกระบวนการทำงานได้เป็นอย่างดี




ข้อดีของคลังสินค้าอัตโนมัติ คือช่วยให้พื้นที่ในอาคารคลังสินค้าถูกใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสามารถจัดเก็บสินค้าคงคลังได้มากขึ้นเพราะมีการจัดเก็บแบบแนวดิ่ง ซึ่งช่วยประหยัดพื้นที่ได้มากกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับคลังสินค้าทั่วไปที่วางแบบแนวราบ ที่สำคัญด้วย ระบบ ASRS เป็นการจัดเก็บที่มีความปลอดภัยสูงจึงช่วยป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุต่าง ๆ ได้ เช่น อัคคีภัยที่เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร หรือการโจรกรรมข้อมูลที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ เป็นต้น


อ่านบทความเพิ่มเติม : คลิก

https://www.bangkokbanksme.com/en/11focus-auto-motion-work-warehouse-automation-specialist


จากที่กล่าวมา จะเห็นว่าเทรนด์การปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจมาสู่ระบบ Automation สร้างความได้เปรียบให้กับผู้ประกอบการได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว ประเทศไทยเอง ถือว่ามีการตื่นตัว และมีแนวโน้มการใช้งานหุ่นยนต์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จาก งานวิจัยของ “Automation and Productivity : Evidence from Thai Manufacturing Firms” ที่ได้ศึกษาผลของการใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ต่อผลิตภาพรวม และการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมของไทย พบข้อสรุปในมิติที่เกี่ยวข้องกับการใช้หุ่นยนต์ ใน 3 มิติ คือ


มิติแรก ลงทุนระบบอัตโนมัติที่ผ่านมาอยู่ในระดับเบื้องต้น โดยสัดส่วนการใช้ระบบอัตโนมัติต่อมูลค่าเครื่องจักรและอุปกรณ์ทั้งหมดในปี 2563 มีค่าเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นเป็น 47.16% จากปี 2560 ที่มี 45.81%


มิติที่สอง พบว่า การลงทุนในระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์มีผลเชิงบวกต่อ ระดับผลิตภาพรวม (total factor productivity : TFP) ในภาคอุตสาหกรรมไทย กล่าวคือ โรงงานที่ใช้ระบบอัตโนมัติจะมี TFP สูงกว่าโรงงานที่ไม่ได้ใช้ระบบอัตโนมัติอย่างมีนัยสำคัญเฉลี่ยที่ประมาณ 23%

และมิติที่ 3 พบว่า การใช้ระบบอัตโนมัติ ส่งผลให้การจ้างงานโดยรวมปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะความต้องการแรงงานในกลุ่มทักษะสูง ขณะที่สัดส่วนแรงงานไร้ฝีมือปรับลดลง หมายความว่า หากมีการเพิ่มทักษะให้แรงงานสามารถทำงานกับเทคโนโลยีใหม่ได้ทันจะทำให้ไม่มีผลต่อการลดการจ้างงาน (ดร.คณิศ แสงสุพรรณ และคณะ 2565.ร่วมด้วยช่วยคิด.)


ขณะเดียวกัน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ระบุว่า ประเทศไทยยังคงจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ อุตสาหกรรมที่ถือเป็นจุดเด่นของประเทศไทย เช่น อุตสาหกรรมอาหาร หรืออุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป เริ่มกำหนดเป้าหมายยุทธศาสตร์ และพึ่งพาเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อลดปัญหาด้านต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้น โดยเทคโนโลยี เป็นเครื่องมือจะทำให้เรามีจุดเด่นที่สามารถต่อยอดให้ถึงขีดสุด เน้นการผลักดันนำเอาระบบ IT เข้ามาช่วยในการพัฒนากระบวนการผลิตให้มากขึ้น ตั้งแต่กระบวนการผลิต การบรรจุหีบห่อ และการขนส่ง หากทำได้จะสามารถลดต้นทุน ลดความสูญเสีย และนำไปสู่การแข่งขันที่ดีขึ้น


อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมการผลิต (Manufacturing) ที่ผลิตสินค้าโดยมี เครื่องจักร อุปกรณ์ และแรงงานคนในการผลิต การใช้ Automation อย่างการนำหุ่นยนต์มาใช้ เพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนแรงงาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงที่นโยบายค่าจ้างของแต่ละประเทศปรับสูงขึ้น เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มาสนับสนุนให้เอกชนหันมามองการใช้ AI แทนคน แม้แต่รายงานจาก Forrester Research บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาด้านธุรกิจและเทคโนโลยี ยังระบุว่า


ระบบอัตโนมัติคือ “สิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่สำคัญมาก” (Boardroom Imperative) ของทุกอุตสาหกรรมและทุกภูมิภาค


ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการระบบ Automation ไทย ที่จะแสดงศักยภาพในการคิดค้นนวัตกรรม เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการ SME สามารถเข้าถึงระบบ Automation ได้มากขึ้น เพื่อนำไปพัฒนาธุรกิจของตัวเองให้สามารถแข่งขันในตลาดที่ใหญ่ขึ้นได้ ซึ่งจะเป็นฐานเศรษฐกิจใหม่ของประเทศในอนาคตได้



อ้างอิง :

https://www.nectec.or.th/news/news-public-document/edge-cloud-smartfactory.html

https://www.ibm.com/topics/automation

https://www.automation-expo.asia/tgi-thai-85-percent-couldnt-compete/




Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

Transition สู่ Operation Excellence ความมุ่งมั่นพัฒนาระบบการทำงาน สู่ความเป็นเลิศในธุรกิจแป้งทำอาหาร ‘แบรนด์ปลาแฟนซีคาร์ฟ’

Transition สู่ Operation Excellence ความมุ่งมั่นพัฒนาระบบการทำงาน สู่ความเป็นเลิศในธุรกิจแป้งทำอาหาร ‘แบรนด์ปลาแฟนซีคาร์ฟ’

การทำโลกธุรกิจสำหรับ SME ยุคดิจิทัล ต้องมี ‘นวัตกรรม’ เข้ามาเป็นตัวช่วยให้ธุรกิจเติบโต และอยู่รอดท่ามกลางการแข่งขัน เพิ่มขีดความสามารถด้านการพัฒนาสินค้า…
pin
143 | 22/04/2024
จากธุรกิจนำเข้า สู่เจ้าของกรรมสิทธิ์อุปกรณ์ ‘ตู้บริการสื่อสารเอนกประสงค์’ กล่องสมองกลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจร

จากธุรกิจนำเข้า สู่เจ้าของกรรมสิทธิ์อุปกรณ์ ‘ตู้บริการสื่อสารเอนกประสงค์’ กล่องสมองกลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจร

Bangkok Bank SME จะพาไปทำความรู้จักกับธุรกิจในกลุ่มบริษัทโทรคมนาคม (Telco) ที่เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะรู้ว่ารูปแบบของการดำเนินงาน มีภาพรวมของรายละเอียดอย่างไร…
pin
713 | 17/04/2024
‘วรุณา’ นำเทคโนโลยี AI ยกระดับภาคการเกษตรไทย พร้อมดันประเทศสู่สังคม Net Zero

‘วรุณา’ นำเทคโนโลยี AI ยกระดับภาคการเกษตรไทย พร้อมดันประเทศสู่สังคม Net Zero

ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกมีความตื่นตัวและหันมาให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อช่วยดูแลและช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนที่ปัจจุบันทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย…
pin
547 | 10/04/2024
Case Study 3 ผู้ออกแบบระบบ Automation คนไทย ผู้พลิกโฉมอุตสาหกรรมการผลิตไทย ให้แข่งขันในตลาดโลกได้