3 CEO สุดแกร่ง ต้นแบบแนวคิด ESG มุ่งสู่ธุรกิจสีเขียว สร้างความยั่งยืนให้โลก

SME in Focus
11/01/2024
รับชมแล้วทั้งหมด 2850 คน
3 CEO สุดแกร่ง ต้นแบบแนวคิด ESG มุ่งสู่ธุรกิจสีเขียว สร้างความยั่งยืนให้โลก
banner

ความตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมสำหรับคนทำการค้าการลงทุน จะได้ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘ธุรกิจสีเขียว’ หมายถึง การทำธุรกิจที่เป็นมิตรต่อโลกหรือธุรกิจสีเขียว (Green Business) เมกะเทรนด์ใหญ่ที่อุตสาหกรรมทั่วโลกกำลังปรับตัว มุ่งสู่ New Business Model ของการทำอุตสาหกรรมที่ตระหนัก และให้ความสำคัญกับความยั่งยืน ลดการทำลายธรรมชาติ และหาวิธีการต่าง ๆ เพื่อใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์ และลดการส่งผลเสียต่อโลกให้น้อยที่สุด


โมเดลเศรษฐกิจ BCG มุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน


โมเดลเศรษฐกิจ BCG หรือ โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นเศรษฐกิจทฤษฎีใหม่ที่ผสมผสานการพัฒนา 3 ด้านหลัก คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศในด้านสังคม เศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม และให้ไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals–SDGs ขององค์การสหประชาชาติ (UN)


ขณะที่ ‘ธุรกิจสีเขียว’ (Green Business) คือสิ่งที่นักวิเคราะห์ทั่วโลก มีความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า นี่คือการทำธุรกิจแห่งอนาคต และนักรบผู้กล้าหาญที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินงานสู่ความยั่งยืน จะอยู่รอด และได้รับการยอมรับในฐานะ นักรบ ผู้ต่อสู้เพื่อให้โลกใบนี้ไม่ถูกทำลาย (Green Warrior) ถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อน และผลักดันให้ผู้บริโภคมีความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม


อ้างอิงข้อมูลจาก UN Global Compact ที่ได้สำรวจมุมมองของซีอีโอทั่วโลกจำนวน 1,232 ราย จาก 113 ประเทศ 21 ภาคอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการเตรียมการขององค์กรธุรกิจ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พบว่า 20% ของซีอีโอเหล่านี้ เชื่อมั่นในแผนของประเทศ แต่กว่า 70% มองว่าต้องปรับแผนธุรกิจของตัวเอง ไม่เช่นนั้นธุรกิจจะไปต่อลำบาก เอกชนต้องเร่งปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ และเร่งอนุรักษ์ฟื้นฟูธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างเร่งด่วน


ทว่าหัวใจสำคัญที่จะทำให้เดินหน้าไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้ คือ ผู้ประกอบการหรือนักลงทุน ต้องมองหาโอกาสในการลงทุนตั้งแต่ตอนนี้ แม้จะต้องมีต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งถือเป็นการลงทุนเพื่ออนาคต เพราะหากยังไม่เริ่มดำเนินการปล่อยให้โอกาสผ่านไป จนสหประชาชาติออกกฎกติกาทางการค้าระหว่างประเทศมากมายออกมาทั้งเรื่องภาษี และการนำเข้า จะทำให้ธุรกิจของเราเสียโอกาส และหากไปลงทุนในตอนนั้นจะยิ่งมีต้นทุนที่แพงกว่าในอนาคต

บทความนี้ Bangkok Bank SME จึงขอนำเสนอ 3 ธุรกิจต้นแบบ ที่ผู้นำองค์ถือเป็น Role Model การเป็นธุรกิจสีเขียว ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และมีธรรมาภิบาล ดำเนินงานตามหลัก ESG ที่ยึดมั่นในนโยบายทางด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) ได้อย่างครอบคลุม ครบทุกมิติเพื่อความยั่งยืนขององค์กร (Sustainability) ดังต่อไปนี้


CEO สายกรีน ตอบโจทย์ความสำเร็จ ด้วยผลิตภัณฑ์ลดโลกร้อน


คุณยุวดี เอี่ยมสนธิทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีลิค คอร์พ จำกัด (มหาชน)


บริษัทซีลิค คอร์พ จำกัด (มหาชน) ธุรกิจที่เริ่มต้นจากการผลิตกาวยางด้วยเทคโนโลยีจากญี่ปุ่น ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนังในประเทศไทย ที่ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้ามากว่า


คุณยุวดี เอี่ยมสนธิทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีลิค คอร์พ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ซีลิค คอร์พ และ บริษัทย่อย ประกอบธุรกิจผลิตและจัดจำหน่าย (ทั้งในและต่างประเทศ) รวมทั้งวิจัยและพัฒนา ใน 3 สายการดำเนินการหลัก คือ ธุรกิจกาวอุตสาหกรรม ธุรกิจสติ๊กเกอร์ หรือฉลากที่มีกาวในตัว ธุรกิจผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพเพื่อจำหน่ายให้แก่ลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ ก่อตั้งขึ้นในปี 2522


เราเป็นลูกค้าเก่าแก่ของธนาคารกรุงเทพ ตั้งแต่รุ่นบุกเบิก จนมาถึงเจน 2 โดย ‘ซีลิค’ เริ่มจากเป็นผู้ผลิตกาว ที่ซัพพลายให้กับอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมเครื่องหนัง เฟอร์นิเจอร์ รองเท้า หากย้อนกลับไปช่วงที่เปิดบริษัทใหม่ ๆ ยุคนั้นประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรองเท้าที่มีชื่อเสียงมาก ธุรกิจของเราจึงเข้ามารองรับความต้องการ นอกจากกาวกลุ่มผลิตภัณฑ์กาวซอลเวนท์ (Solvent Based Adhesive) ที่ใช้ทำรองเท้า เรายังมีผลิตภัณฑ์เครื่องหนังและเครื่องฟอกหนังต่าง ๆ




ด้วยความมุ่งมั่นในการคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ใส่ใจ ในความต้องการของลูกค้า เรามั่นใจว่า ‘ซีลิค’ สามารถตอบโจทย์การใช้งานกาวอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี


สำหรับผลิตภัณฑ์ใส่ใจสิ่งแวดล้อม คือกลุ่มผลิตภัณฑ์กาวหลอมร้อนรักษ์โลก ซึ่งเป็นกาวกลุ่ม hotmelt ที่มีส่วนผสม ของมวลสารชีวภาพเข้าไปเพื่อลดการใช้วัตถุดิบที่ผลิตจาก fossil fuel หรือผลิตภัณฑ์ที่มาจากการทับถมน้อยลง เป็นการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตให้กับลูกค้าได้อีกทางหนึ่ง




หากลูกค้า มีการทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint of Organization : CFO) ที่เป็นเครื่องมือแสดงข้อมูลปริมาณการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจก ตัวนี้จะลดใน SCOPE 3 ที่เป็นการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทางอ้อมด้วย ซึ่งหากจะให้ครบลูปทั้งซัพพลายเชน ซัพพลายเออร์ จะต้องช่วยสนับสนุนในเรื่องการใช้ Sustainable Materials ด้วยเหมือนกัน เรามองว่านี่คือเทรนด์ที่กำลังมา


โจทย์ของการลดโลกร้อน เป็นปัญหาใหญ่ เมื่อเรามีผลิตภัณฑ์อยู่แล้ว จึงไม่ใช่การเริ่มจากศูนย์ แต่นำสิ่งที่มีอยู่ไปต่อยอด เริ่มจากเข้าไปศึกษาที่ BOI (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) หมวดงานวิจัยและพัฒนา โดยเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เราส่งไป 2 โครงการที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ Non Toxic คือกลุ่มกาวซอลเวนท์ ที่ไม่มีโทลูอีน (Toluene) และผลิตภัณฑ์กาวหลอมร้อนที่ใช้ปิโตรเคมีน้อยลง


เมื่อได้รับการยืนยันจาก BOI จึงมั่นใจว่า เรามาถูกทางแล้ว เราจึงมอบหมายให้ทีม R&D ออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อให้ตอบโจทย์เรื่องลดโลกร้อน เพื่อไปต่อยอดโครงการดังกล่าวกับ BOI ให้เกิดผลสำเร็จ ตอนนี้เราเป็นเจ้าแรกและเจ้าเดียวในประเทศไทยที่ออกผลิตภัณฑ์กาวหลอมร้อนที่ใช้ปิโตรเคมีน้อยลง


อ่านเพิ่มเติม คลิก :

https://www.bangkokbanksme.com/en/23-9focus-sealic-adhesive-that-meets-the-needs-of-us


หญิงแกร่งแห่ง ‘บริษัท ไทยเอเซีย ไรซ์ โปรดักส์ จำกัด’ กับเป้าหมาย ‘Go Green’


คุณอรวรรณ ล้อบุณยารักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยเอเซีย ไรซ์ โปรดักส์ จำกัด


คุณอรวรรณ ล้อบุณยารักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยเอเซีย ไรซ์ โปรดักส์ จำกัด ผู้นำนวัตกรรมการผลิตที่เป็น Know How ของตนเอง สร้างคุณภาพที่แตกต่าง พร้อมปั้นแบรนด์ ให้เป็นที่รู้จัก ในฐานะผู้ส่งออกเส้นก๋วยเตี๋ยวข้าวไทยรายใหญ่ของเมืองไทย ฉายมุมมองเรื่องสิ่งแวดล้อมว่า


ขณะนี้มาตรการเก็บภาษีคาร์บอนสินค้าข้ามแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) เริ่มมีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทย คาดว่าน่าเริ่มเห็นได้ชัดขึ้นนับจากนี้เป็นต้นไป โดยจะมีการคุมเข้มจากคู่ค้าในกระบวนการผลิตที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นั่นหมายความว่าใครไม่เริ่มปรับตัวนับจากนี้อาจประสบปัญหาการขายสินค้าไปยังต่างประเทศ หรือรับจ้างผลิตสินค้าให้กับคู่ค้าในต่างประเทศ


“การส่งออกไปตลาดยุโรปสิ่งสำคัญคือการผลิตสินค้าของบริษัท ต้องไม่ไปเบียดเบียนสังคมและสิ่งแวดล้อม เรื่องนี้ไม่ใช่มีแต่เฉพาะตลาดในประเทศยุโรปเท่านั้น แต่ตลาดสหรัฐอเมริกาก็เริ่มใช้กฎหมายข้อบังคับดังกล่าวในการพิจารณาเก็บภาษีคาร์บอน (Tax Border Carbon) นำเข้าสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากต่างประเทศกันบ้างแล้ว”




เรื่องนี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่บริษัท มุ่งมั่นทำมาอย่างต่อเนื่อง คือการดำเนินธุรกิจด้วยแนวคิด ESG โดยคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน (Sustainability) เริ่มจากการรับซื้อข้าวจากเกษตรกรในพื้นที่ ประมาณเดือนละ 1,000 ตัน นอกจากนี้บริษัทยังมีการนำเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพและเซลล์โซล่าเซลล์ รวมถึงการปลูกป่า มาช่วยในการลดปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยการนำของเสียที่เหลือจากกระบวนการผลิตคือน้ำแป้งวันละ 200,000 ลิตรมาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพเพื่อแปรเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าใช้ในโรงงานได้ถึง 2,100 กิโลวัตต์ต่อวัน



อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://bangkokbanksme.com/en/waste-water-noodle-factory-to-electric-power


วิธีการเหล่านี้ ทำให้บริษัทมีส่วนช่วยลดการใช้พลังงานฟอสซิลและยังทำให้ประหยัดค่าไฟฟ้าได้ถึงเดือนละกว่า 200,000 บาทเลยทีเดียว ที่สำคัญเป็นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนได้เป็นอย่างดี


“สำหรับเป้าหมายการ ‘Go Green’ เพื่อความยั่งยืนในอนาคตในการทำธุรกิจในอนาคตเราจะปลูกป่าเพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนที่ปล่อยออกไปให้ได้มากกว่าการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนในกระบวนการผลิตของบริษัทซึ่งเทียบกับการปลูกป่า 1,300 ไร่ ซึ่งสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 1,235 Ton CO2e ต่อปี” คุณอรวรรณ กล่าวอย่างมุ่งมั่น


อ่านเพิ่มเติม คลิก :

https://www.bangkokbanksme.com/en/23-9focus-sealic-adhesive-that-meets-the-needs-of-use


ทายาทธุรกิจคนเก่ง กับภารกิจบริหารงานด้วยแนวคิด BCG Model



คุณสถาพร ไพศาลบูรพา กรรมการผู้จัดการ บริษัท บูรพา พรอสเพอร์ จำกัด


‘บูรพา พรอสเพอร์’ ผู้ผลิตและจำหน่ายแป้งข้าวสำเร็จรูป แบรนด์ ‘หมีคู่ดาว’ ที่เราคุ้นหูมายาวนาน กับการชูกลยุทธ์องค์กรแห่งนวัตกรรม เป็นเครื่องมือพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืน สร้างธุรกิจจากแป้งข้าว ส่งต่อจากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูก ด้วยวิสัยทัศน์ที่อยากเป็นนักอุตสาหกรรม จนนำมาสู่การก่อตั้งโรงงานเป็นของตัวเอง พร้อมทั้งขยายสินค้าไปยังตลาดทั้งในและต่างประเทศได้


คุณสถาพร ไพศาลบูรพา กรรมการผู้จัดการ บริษัท บูรพา พรอสเพอร์ จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการขับเคลื่อนแผนในการพัฒนาธุรกิจ 2 เรื่องหลัก ๆ คือ การทำสินค้าให้สอดคล้องกับเทรนด์การบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ ด้วยการพัฒนาสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่มเพื่อเป็นทางเลือก จากการใช้สารสกัดและประโยชน์จากข้าวซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักที่มีอยู่มากมายภายในประเทศไทย ซึ่งไม่มีสารก่อภูมิแพ้ และปลอดการตัดแต่งพันธุกรรม (Non- GMOs) ทั้งยังสามารถตอบโจทย์กับเทรนด์ผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพได้เป็นอย่างดี




ส่วนเรื่องต่อมา คือ การดำเนินธุรกิจตามแนวคิด BCG Model โดยบริษัทพบว่าที่ผ่านมาเมื่อมีการนำเมล็ดข้าวมาเข้าสู่กระบวนการคัดแยกและปรับสภาพ ก่อนเข้าสู่กระบวนการผลิตมักจะทำให้เมล็ดข้าวซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ไม่ผ่านเกณฑ์ต้องถูกคัดไปทำเป็นอาหารสัตว์หรือผลิตภัณฑ์อื่นซึ่งมีมูลค่าน้อย บริษัทจึงได้ทบทวนและเล็งเห็นถึงการเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบเหล่านี้ให้มีความสอดคล้องกับหลักการ Circular Economy ที่คำนึงถึงการนำทรัพยากรต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด


ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการวิจัยและพัฒนาให้สามารถนำมาใช้แปรสภาพเป็นผลิตภัณฑ์อย่างอื่นได้ ซึ่งคาดว่าโครงการนี้จะช่วยลดปัญหาความสูญเปล่าและสูญเสียวัตถุดิบในการผลิตได้เป็นอย่างดี




นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้ง Solar Roof ซึ่งเป็นระบบเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์มาเป็นพลังงานไฟฟ้าบนหลังคา โดยใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาอาคารโรงงานผลิต แล้วนำพลังงานไฟฟ้าที่ได้ไปใช้ในโรงงาน ซึ่งช่วยให้บริษัทสามารถลดค่าไฟฟ้าได้ถึง 20% รวมถึงการปรับปรุงบรรจุภัณฑ์โดยเปลี่ยนสเปกถุงพลาสติก โดยลดการใช้เม็ดพลาสติกลงถึง 20% แต่ยังคงให้มีความเหนียวและทนทาน ซึ่งช่วยลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ได้หลายร้อยตันต่อปี อีกทั้งยังมีแผนที่จะนำน้ำที่ผ่านการบำบัดจากกระบวนการปรับสภาพเมล็ดข้าวมาพัฒนาต่อยอดสู่การทำไบโอแก๊สเพื่อใช้ภายในโรงงานอีกด้วย


อ่านเพิ่มเติม คลิก :

https://bangkokbanksme.com/en/7focus-burapa-prosper-innovative-organization


ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่นับวันทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อถึงยุคที่วิกฤตส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต จนส่งผลผู้บริโภคหันมาให้ความสนใจ และตื่นตัวไปกับเทรนด์สินค้าและบริการที่ต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม นี่คือสัญญาณที่สะท้อนว่า ได้เวลาแล้ว ที่ภาคธุรกิจต้องชูนโยบาย Green Business เป็นธงแห่งเป้าหมาย และสร้าง Awareness ด้านความใส่ใจเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม ทุกกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อก้าวสู่ ‘ธุรกิจสีเขียว’ พร้อมสู้รบกับปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างเต็มภาคภูมิ บนความยั่งยืนในโลกธุรกิจ...


อ้างอิง :

https://www.businesseventsthailand.com/th/support-solution/success-story/detail/636-what-is-bcg-economy-model-how-is-it-related-to-mice-industry

https://www.tris.co.th/esg/

https://tdri.or.th/2017/07/interviews-sdgs-goal-16



Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

จากธุรกิจนำเข้า สู่เจ้าของกรรมสิทธิ์อุปกรณ์ ‘ตู้บริการสื่อสารเอนกประสงค์’ กล่องสมองกลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจร

จากธุรกิจนำเข้า สู่เจ้าของกรรมสิทธิ์อุปกรณ์ ‘ตู้บริการสื่อสารเอนกประสงค์’ กล่องสมองกลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจร

Bangkok Bank SME จะพาไปทำความรู้จักกับธุรกิจในกลุ่มบริษัทโทรคมนาคม (Telco) ที่เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะรู้ว่ารูปแบบของการดำเนินงาน มีภาพรวมของรายละเอียดอย่างไร…
pin
180 | 17/04/2024
‘วรุณา’ นำเทคโนโลยี AI ยกระดับภาคการเกษตรไทย พร้อมดันประเทศสู่สังคม Net Zero

‘วรุณา’ นำเทคโนโลยี AI ยกระดับภาคการเกษตรไทย พร้อมดันประเทศสู่สังคม Net Zero

ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกมีความตื่นตัวและหันมาให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อช่วยดูแลและช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนที่ปัจจุบันทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย…
pin
393 | 10/04/2024
‘เอเชี่ยนแอสฟัลท์’ ผู้เชี่ยวชาญด้านยางมะตอย ขยายไลน์สู่ผู้นำนวัตกรรมวัสดุก่อสร้าง เจาะตลาด Home Use ครบวงจรด้วยเทคโนโลยี

‘เอเชี่ยนแอสฟัลท์’ ผู้เชี่ยวชาญด้านยางมะตอย ขยายไลน์สู่ผู้นำนวัตกรรมวัสดุก่อสร้าง เจาะตลาด Home Use ครบวงจรด้วยเทคโนโลยี

ถนนลาดยาง คืออะไร?ยางมะตอย By-Product จากกระบวนการกลั่นน้ำมันดิบ ลักษณะสีดำ ข้น หนืด ด้วยคุณสมบัติที่ทนทานต่อสภาพอากาศ ทนน้ำ ยึดเกาะกับวัสดุหินได้ดี…
pin
1343 | 01/04/2024
3 CEO สุดแกร่ง ต้นแบบแนวคิด ESG มุ่งสู่ธุรกิจสีเขียว สร้างความยั่งยืนให้โลก