‘ลำปางฟู้ดโปรดักส์’ แชร์แนวคิดธุรกิจเกษตรลดเสี่ยง รับมือทุกความเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพ

SME in Focus
18/02/2024
รับชมแล้วทั้งหมด 2547 คน
‘ลำปางฟู้ดโปรดักส์’ แชร์แนวคิดธุรกิจเกษตรลดเสี่ยง รับมือทุกความเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพ
banner

วามเสี่ยงในภาคเกษตร รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเกษตรมีมากมาย อาทิ ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ราคาผลผลิตตกต่ำ ความสม่ำเสมอของวัตถุดิบ ฤดูกาล ความต้องการของตลาด ผู้บริโภค รวมทั้งมาตรฐานรับรองสินค้า มาตรการด้านภาษี และที่ไม่ใช่ภาษี การแข่งขันและแย่งตลาดในส่วนของเกษตรส่งออก เหล่านี้ล้วนเป็นความเสี่ยงพื้นฐานที่ธุรกิจเกษตรต้องพบเจอ และหากจะเติบโตก็ต้อง Move on ให้ได้


การรับมือความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นเคล็ดลับการเติบโตของธุรกิจเกษตร และ Mindset ที่มองความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติ หากรู้ปัญหาก่อนที่จะเกิด พร้อมกำหนดแนวทางแก้ไข รับมือตามความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นไว้แล้ว บางครั้งความเสี่ยงเหล่านั้นก็ยังสร้างโอกาสในการเริ่มต้นทำสิ่งอื่น รวมถึงแตกไลน์ธุรกิจขยายกลุ่มสินค้าได้มากมาย



ดังกรณีศึกษาของ คุณพิเศษ เอี่ยมสกุลรัตน์ ผู้บริหาร บริษัท ลำปางฟู้ดโปรดักส์ จำกัด และบริษัทในเครือ ธุรกิจครอบครัว (Family Business) ดำเนินธุรกิจผลิต รับจ้างผลิต (OEM) สินค้าอาหารแปรรูปมากว่า 30 ปี มีสินค้าหลากหลายชนิดทั้งในรูปของผลไม้และผักกระป๋อง แกงและซุปพร้อมรับประทาน น้ำจิ้ม ซอสผัด น้ำพริก ผักดอง อาหารตามฤดูกาล อาหารสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูป และผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์สินค้าของตนเอง ได้แก่ แม่จินต์, J.F.FARM, ช้างไทย รถม้า และ แบรนด์น้องใหม่ อัศวิน ผลิตสินค้ามาตรฐานส่งออกตลาดยุโรป และประเทศอื่นๆ ทั่วโลก




ปิดความเสี่ยงอย่างไร


คุณพิเศษ สะท้อนปัญหาว่า เราต้องมองเห็น และวิเคราะห์ถึงต้นตอของปัญหา เช่น การนำเข้าสินค้าเกษตรแปรรูปจากจีนซึ่งมีราคาถูกกว่า ไม่ว่าจะเป็นหน่อไม้กระป๋อง มะเขือเทศกระป๋อง ข้าวโพดกระป๋อง ส่งผลให้เกิดการแข่งขันในตลาดเดียวกัน ทำให้เราขายสินค้าได้ยากขึ้น เราจะรับมือกับสถานการณ์นั้นอย่างไร




แนวคิดคือ ต้องทำอย่างไรจึงจะสามารถหลีกเลี่ยงการแข่งขันนั้นได้ ทางออกคือ การหาตลาดใหม่ที่จีนไม่สามารถเข้าไปทำตลาดได้ หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นประเทศที่ไม่ชอบค้าขายกับจีน เพราะอาจมีปัญหาทางการค้า หรือปัญหาอื่น ๆ ในอดีตกันมาก่อน ซึ่งนั่นคือโอกาสสำหรับเราในการปิดความเสี่ยงจากการโดนสินค้าจีนแย่งตลาด




อาทิ ญี่ปุ่น ประเทศที่ต้องการลดการพึ่งพาสินค้านำเข้าจากจีน ดังนั้นในแง่ของธุรกิจ คือเราไปเปิดตลาดใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงของการถูกแย่งตลาดในพื้นที่ ที่จีนไม่สามารถมาแข่งขันในตลาดนี้ได้ ที่เราน่าจะสามารถเปิดตลาดใหม่ได้ แต่ประการสำคัญคือ สินค้าของเราเป็นที่ต้องการของตลาดนั้นหรือเปล่า ทั้งในแง่ของตัวผลิตภัณฑ์เอง คุณภาพสินค้า หรือมาตรฐานการผลิต อย่างไรก็ตาม ความยืดหยุ่นของธุรกิจ และสภาพคล่องทางการเงินเป็นปัจจัยสำคัญในการอยู่รอดเสมอ


“การมองเห็นปัญหาก่อนที่ปัญหาจะเกิด ช่วยให้เราสามารถวางแนวทางแก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสม ถือเป็นเคล็ดลับการจัดการความเสี่ยงธุรกิจให้อยู่รอดได้ ในทางกลับกัน การทำอะไรที่ทุ่มสุดตัวโดยไม่มีแผนรองรับที่ดี ถึงแม้จะมีกระแสเงินสดหมุนเวียนเพียงพอ และมีผู้สนับสนุนทางการเงินที่ดี ก็อาจเป็นเรื่องยาก และเสี่ยงมาก ๆ สำหรับเอสเอ็มอี”



รุ่นก่อตั้งธุรกิจครอบครัว


คุณพิเศษ กล่าวว่า รุ่นคุณปู่เป็นคนจีนที่ย้ายถิ่นฐานมาทำธุรกิจในไทย ในรุ่นของคุณพ่อทำธุรกิจตัวแทนและจัดจำหน่ายสุรา เป็นจุดเริ่มต้นของการลงทุนขยายอาณาจักรธุรกิจครอบครัวไปสู่ธุรกิจอื่น ๆ สมัยที่ก่อตั้งโรงงานเขาเพิ่งเรียนจบจากต่างประเทศ ทำงานในต่างประเทศระยะหนึ่ง ก่อนเข้ารับช่วงธุรกิจครอบครัวจากคุณพ่อ


ประสบการณ์จากการเรียนและทำงานในต่างประเทศทำให้เข้าใจวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ ตลอดจนความต้องการพื้นฐานของผู้คนในต่างประเทศ ทั้งครอบครัว เครือญาติ ก็มีก่อตั้งธุรกิจอยู่ในต่างประเทศเป็นอย่างดี บวกกับมีเครือข่ายธุรกิจครอบครัวที่สนับสนุนเกื้อกูลกัน และช่วยให้มีลู่ทางจำหน่ายสินค้าเกษตรในตลาดยุโรป และอื่น ๆ ได้


ช่วงเริ่มเข้ามาช่วยธุรกิจครอบครัว คุณพิเศษ บอกว่า ได้มีโอกาสไปดูแหล่งซัพพลายวัตถุดิบการเกษตรทางภาคเหนือของไทย เห็นว่ามีจำนวนมากและหลากหลาย ผู้คนมีอัธยาศัยดี ต่อมาได้ก่อตั้ง บริษัท ลำปางฟู้ดโปรดักส์ จำกัดในปี 2533 ช่วงแรกเป็นโรงงานผลิตมะเขือเทศกระป๋อง ผลไม้กระป๋องตามฤดูกาล ซึ่งการเติบโตของธุรกิจขยายตัวดี จากมะเขือเทศ ลิ้นจี่ ลำไย ผัก และผลไม้อีกหลายชนิด และบริการรับจ้างผลิตครบวงจร (OEM)



จากที่เห็นว่าง่าย ๆ ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด


สมัยก่อนช่วงฤดูกาลเก็บผลไม้จะจ้างคนงานเท่าไหร่ก็ได้ แต่ปัจจุบันแรงงานกลับเป็นปัญหาสำคัญ และสำหรับสินค้าเกษตรตามฤดูกาล ที่มีช่วงระยะเวลาผลิตเพียงไม่กี่เดือน ทำให้พัฒนาด้านการตลาดและช่องทางจำหน่ายได้ยาก เพราะแม้บางช่วงสินค้ามีราคาดี ขายได้กำไรดี แต่ผลผลิตมีน้อย หรือไม่พอ ที่สำคัญ สินค้าสดตามฤดูกาลยังมีอายุการเก็บรักษา (Product Life Cycle) ค่อนข้างสั้น เน่าเสียง่าย มีต้นทุนในการเก็บรักษา จึงเป็นความเสี่ยงของสินค้าเกษตรตามฤดูกาลที่ค่อนข้างบริหารจัดการยากพอสมควร




พัฒนาสินค้าหลากหลาย ลดความเสี่ยง


คุณพิเศษ เริ่มมองหาช่องว่างตลาดที่ธุรกิจสามารถผลิตสินค้าเพิ่มได้ และต้องเป็นสินค้าที่สามารถเก็บรักษาไว้ได้นานเพื่อกระจายความเสี่ยงในส่วนของการผลิตผักและผลไม้ตามฤดูกาล เขาได้พัฒนาสินค้าไปยังกลุ่มเครื่องแกง แกงแบบกระป๋องพร้อมกิน (Ready to Eat) ซอส สินค้าของดอง - ดองเก็บวัตถุดิบในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว แล้วทยอยนำมาผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปได้ตลอดทั้งปี รวมถึงการนำวัตถุดิบเกษตรอื่น ๆ มาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าและเพิ่มความหลากหลายกลุ่มสินค้า


เป้าหมาย คือ ต้องการกระจายความเสี่ยง จากเดิมทำกลุ่มสินค้าที่เป็นผลผลิตทางการเกษตรตามฤดูกาล ต่อมาได้นำผลผลิตที่มีมาพัฒนาเป็นสินค้าที่มีอายุการเก็บรักษาได้นานขึ้น และแตกกลุ่มให้สินค้ามีความหลากหลายสอดรับกับพฤติกรรมการบริโภคของลูกค้าในตลาดต่างประเทศ

เขามองว่า ความเสี่ยงของสินค้าที่เป็นผลผลิตเกษตรตามฤดูกาลมีมาก ควบคุมยาก ยังเกินความสามารถของเราในตอนนั้น ที่จะสร้างเครื่องมือหรือใช้เทคโนโลยีมาแก้ปัญหาส่วนนี้ได้ แต่การผลิตสินค้าหลายชนิด จะช่วยให้ธุรกิจสามารถกระจายความเสี่ยงในตลาดจากผลผลิตที่ไม่สม่ำเสมอ


ดังนั้น ช่วงไหนผลผลิตลำไยมีน้อย อาจต้องนำกระเทียมมาผลิตเป็นสินค้าให้มากหน่อยเพื่อเพิ่มรายได้ในส่วนที่ขาดหายไป ประกอบกับตอนนั้นสินค้าจีนเข้ามาแย่งตลาด ทั้งยังมีต้นทุนราคาที่ต่ำกว่าสินค้าจากไทย ตลาดผลไม้ตามฤดูกาลทั้งในส่วนมะเขือเทศ ลิ้นจี่ เริ่มโดนแย่งตลาดไป ต้องกลับมาคิดว่าจะทำอย่างไรต่อไปดี จากเดิมที่เน้นตลาดส่งออก 100% ก็เริ่มมองช่องทางตลาดในประเทศ และเริ่มมองถึงการสร้างแบรนด์




สร้างแบรนด์รองรับตลาดในประเทศ


อุดช่องว่างของความเสี่ยงตลาดต่างประเทศที่แข่งขันสูง ประจวบเหมาะกับช่วงเวลานั้นมีห้างค้าปลีกสมัยใหม่จากต่างประเทศ (Modern Trade) ได้มาก่อตั้งและขยายสาขาในประเทศ คุณพิเศษ จึงนำของดองที่เป็นสินค้า OTOP พื้นเมืองมาพัฒนาเรื่องบรรจุภัณฑ์ หีบห่อ ตลอดจนคุณภาพตามมาตรฐานอุตสาหกรรมอาหารที่กฎหมายกำหนด เพื่อจำหน่ายในห้างค้าปลีกในประเทศ




ธุรกิจจึงมีการปรับตัวทั้งในส่วนที่เป็นสินค้าที่จำหน่ายต่างประเทศ สินค้ารับจ้างผลิต ผลไม้กระป๋องตามแบรนด์ของลูกค้า และสินค้าที่เป็นแบรนด์ตนเอง อาทิ แม่จินต์, JF, J.F.FARM, ช้างไทย, อัศวิน และลูกชิดแบรนด์ รถม้า, รถไฟ และรถถัง โดยหลักการธุรกิจ คือ นำสินค้าโอทอปในท้องถิ่นมาพัฒนารูปลักษณ์ ใช้เทคโนโลยีและกระบวนการผลิตสินค้าที่เป็นมาตรฐานสินค้าส่งออก ขยายตลาด และช่องทางจำหน่าย




สำหรับตลาดผลไม้กระป๋อง ภาพรวมคือมีการแข่งขันสูง และผู้เล่นรายใหญ่ที่เข้มแข็งในตลาดอยู่แล้ว เราจึงพยายามมองหาช่องว่างที่จะปิดความเสี่ยงได้ ตอนนั้นเริ่มทำข้าวโพดหวานกระป๋อง สินค้าส่งออกจากไทยที่ได้รับความนิยมสูงมากในตลาดต่างประเทศ ทั้งแหล่งผลิตข้าวโพดในต่างประเทศที่มีเพียงรอบเดียวในหนึ่งปี ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการ


ขณะที่ไทยมีแหล่งปลูกข้าวโพดหวานอยู่มาก เป็นผลผลิตที่สามารถปลูกได้ทั้งปี และมีระยะการเก็บเกี่ยวสั้นเพียง 3-4 เดือน และ จึงเป็นจุดแข็งที่สำคัญสำหรับข้าวโพดหวานของไทย และเป็นจุดที่ทำให้ธุรกิจเราขยายการเติบโตเรื่อยมา แม้ที่ผ่านมา ในตลาดจะมีผู้เล่นหน้าใหม่เกิดขึ้นมาก แต่เมื่อเจอการแข่งขัน ธุรกิจที่ไม่สามารถปรับตัวได้จะค่อย ๆ ลดจำนวนลงไป




เน้นหารายได้หลาย ๆ ทาง


คุณพิเศษ กล่าวว่า เขาไม่ได้ใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมข้าวโพดหวาน แต่พยายามสร้างจุดยืนของธุรกิจ โดยมุ่งไปที่การพัฒนาสินค้าและบรรจุภัณฑ์ให้สอดรับกับความต้องการที่แตกต่างของลูกค้าในต่างประเทศ กลายเป็นว่าการที่ไปรับทำหีบห่อ ทำบรรจุภัณฑ์เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้า กลับเป็นจุดแข็งที่ทำให้สามารถสร้างกลุ่มลูกค้ารายใหม่ในต่างประเทศได้ อาทิ ลูกค้าญี่ปุ่นที่ต้องการให้เราออกแบบและทำบรรจุภัณฑ์ให้


กลายเป็นว่า เราไปรับทำของยากซึ่งในตลาดตอนนั้นยังไม่มีใครทำ รวมถึงการส่งเสริม และพัฒนาด้านนวัตกรรมอีกหลายส่วนโดยพิจารณาว่าจะเข้ามาทดแทนและลดความเสี่ยงของสินค้าในตลาดที่ปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ เหตุนี้การเปลี่ยนแปลงจึงเป็นเรื่องปกติ ความสามารถในการประคับประคองธุรกิจและสร้างการเติบโตต้องอาศัยความยืดหยุ่นในหลายด้านผสมรวมกัน ดังนั้นการทำสินค้าหลายชนิดเป็นการลดความเสี่ยง แต่ต้องแน่ใจว่าสินค้าทุกตัวมีเอกลักษณ์พอที่จะเสริมสร้างความแตกต่าง สร้างจุดยืนในตลาดได้ในระยะยาว มิเช่นนั้นจะมีปัญหาในกรณีผลิตหลายอย่าง แต่ไม่ดีเด่นจริงสักอย่าง


“ผมมองว่าการรับทำของยาก จากที่ไม่มีใครทำ จนเป็นของง่าย เป็นการสร้างจุดยืนและความสามารถของธุรกิจ ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะของลูกค้าได้เป็นอย่างดี”




ขยายธุรกิจที่เชียงแสน ร่วมลงทุนในลาว


คุณพิเศษ ขยายธุรกิจมาที่ อ.เชียงแสน จ. เชียงราย ก่อตั้ง บริษัท เชียงแสนฟูดส์โปรดักส์ จำกัด เพื่อรวบรวมวัตถุดิบสินค้าเกษตรซึ่งในส่วนที่เป็นสินค้าหลัก คือ ข้าวโพดหวานโดยนำไปผลิตในโรงงานที่ จ.ลำปาง ส่วนโรงงานที่เชียงแสนจะเน้นรวบรวมผลผลิตลูกชิด หรือลูกตาว จากแหล่งต่าง ๆ ในภาคเหนือของไทย และจาก สปป.ลาว ตอนบน เพื่อแปรรูป และส่งออก รวมทั้งจำหน่ายในประเทศภายใต้ แบรนด์ รถม้า ปัจจุบันเป็นสินค้ายอดนิยมอันดับหนึ่งของประเทศไทย


โรงงานแปรรูปที่เป็นกิจการร่วมค้า (Joint Venture) ที่เวียงจันทน์ สปป.ลาว ได้ร่วมลงทุนสร้างโรงงานเพื่อรองรับผลผลิตลูกชิดภาคกลางของ สปป.ลาว มาแปรรูปและกลับมาไทย และประเทศเพื่อนบ้าน ข้อดีของการลงทุนร่วมกัน และถือเป็นโอกาสสำคัญของเรา คือ การผลิตข้าวโพดหวานในลาวจะได้ คือ ได้ GSP หรือสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าส่งออกจากสปป.ลาวไปยุโรป


สำหรับสินค้าที่เลี้ยงธุรกิจใน สปป.ลาวตลอดช่วงที่ไม่ได้ทำลูกชิด เป็นผลผลิตตามฤดูกาล คือ นมข้าวโพดหวาน ผลผลิตทางการเกษตรในท้องถิ่นที่มีจำนวนมาก นำมาแปรรูปเป็นสินค้าอาหารสดเพื่อจำหน่ายในท้องถิ่น ตลาดนี้เติบโตดี ถือเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้หล่อเลี้ยงโรงงาน แต่กิจการยังมีขนาดเล็กและข้อจำกัดหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหาขาดแคลนแรงงานท้องถิ่น


คุณพิเศษ เผยมุมมองในการทำธุรกิจว่า ต้องปรับขนาดธุรกิจให้เหมาะสมกับตลาด มองหาโอกาสใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับการลงทุน และปรับตัวให้เร็ว ยืดหยุ่น พร้อมรับความเสี่ยงใหม่ ๆ อยู่เสมอ


“ไม่ต้องเป็นปลาใหญ่ในอ่างเล็ก หรือปลาเล็กในอ่างใหญ่ แนวคิดของผมคือการไม่ไปแข่งกับรายใหญ่หรือในตลาดที่เราแข่งขันยาก ขออยู่ในอ่างขนาดกลาง ๆ โดยที่เราเป็นปลาตัวใหญ่สุด”




ส่งเสริมเกษตรออร์แกนิก สู่มาตรฐานสากล


คุณพิเศษ บอกว่า ที่ผ่านมา มีการส่งเสริมการปลูกสินค้าเกษตรในพื้นที่ต่าง ๆ ตามชนิดของผลผลิต บางแหล่งมีคุณภาพได้มาตรฐานสินค้าเกษตรออร์แกนิก เราเริ่มจากการทำแปลงทดลองเพื่อเพาะปลูกพริกเองให้ได้มาตรฐานออร์แกนิกตามที่ตลาดยุโรปต้องการ และปัจจุบันได้ส่งเสริมความรู้เหล่านี้ให้เกษตรกร ทำให้พริกของเราเป็นสินค้าส่งออกที่ได้มาตรฐานยุโรป โดยส่วนหนึ่งซัพพลายเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตอาหารให้แก่อุตสาหกรรมในประเทศ และยังได้ขยายธุรกิจไปในส่วนของการแปรรูปพริกเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าในรูปแบบต่าง ๆ รองรับตลาดทั้งในประเทศ และตลาดต่างประเทศ


อย่างไรก็ตาม แม้ความต้องการสินค้าออร์แกนิกยังมีดีมานด์ที่ไม่จำกัด ลูกค้าในยุโรปมีความต้องการสูง แต่ข้อจำกัดด้านระเบียบและมาตรฐานรับรอง และที่เราทำได้ ส่วนหนึ่งเพราะเรามีพื้นที่แหล่งปลูกเป็นของตนเองด้วย ทำให้ตลอดมา สินค้าเกษตรไทยที่สามารถส่งออกไปยุโรปในเกรดออร์แกนิกนั้นยังมีปริมาณไม่มากนัก ขณะที่การส่งเสริมเกษตรกรให้ได้มาตรฐานรับรองออร์แกนิก อาจต้องเริ่มตั้งแต่การสร้างมาตรฐานรับรองแปลงปลูกของเกษตรกรก่อน




อนาคต หากเกษตรกรไทยสามารถยกระดับ และมีใบรับรองแปลงปลูกที่ได้มาตรฐานออร์แกนิก จะทำให้พื้นที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอีกมาก เหตุนี้ การส่งเสริมปลูกพืชมูลค่าต่ำอาจไม่คุ้มค่า เป้าหมายต่อไป คือต้องเพิ่มมูลค่าที่ดินดังกล่าวโดยการปลูกพืชสมุนไพรมูลค่าสูงเพื่อรองรับอุตสาหกรรมยา และความงาม ที่จะเป็นโอกาสของเกษตรไทยในอนาคต


อีกด้านหนึ่ง คุณพิเศษ ยังมองถึงการลงทุนด้าน ESG (Environment, Social and Governance) หรือ แนวคิดการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืนของโลก อาทิ ระบบการจัดการน้ำเสีย ลงทุนด้านพลังงานทดแทน การใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อลดการใช้ไฟฟ้า เป็นธุรกิจที่มีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมชัดเจน จะเป็นจุดขายสำคัญสำหรับลูกค้าในตลาดยุโรปที่ให้ความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม




ส่งต่อธุรกิจครอบครัว


คุณพิเศษ คาดหวังว่า ทายาทและผู้บริหารรุ่นต่อไปจะนำองค์ความรู้ที่คนรุ่นก่อน จากประสบการณ์ลองผิด ลองถูก ไปปรับใช้เพื่อพัฒนาธุรกิจครอบครัวให้เติบโตต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาได้พัฒนาด้านนวัตกรรม มาตรฐาน และการส่งเสริมเกษตรกรเพื่อสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจ นำระบบ Corporate Finance และ Internal Audit มาใช้เพื่อ monitor และป้องกันความเสี่ยงการปฏิบัติงานภายใน ส่วนคนรุ่นต่อไปที่จะเข้ามารับช่วงต่อธุรกิจครอบครัว กำลังเข้ามาเรียนรู้ ส่งต่อข้อมูล องค์ความรู้ และประสบการณ์ทางธุรกิจนำมาแปรเปลี่ยนเป็นองค์ความรู้ขององค์กร เพื่อให้มีการจัดการธุรกิจอย่างเป็นระบบ เป็นวัฒนธรรมที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น รู้ทันปัญหา และวางแผนรับมือความเสี่ยงธุรกิจ เป็นกลยุทธ์ที่ทำให้ธุรกิจเราอยู่รอดและเติบโตเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้


ที่มา: https://www.lampangfood.com/en/index.php







Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

Transition สู่ Operation Excellence ความมุ่งมั่นพัฒนาระบบการทำงาน สู่ความเป็นเลิศในธุรกิจแป้งทำอาหาร ‘แบรนด์ปลาแฟนซีคาร์ฟ’

Transition สู่ Operation Excellence ความมุ่งมั่นพัฒนาระบบการทำงาน สู่ความเป็นเลิศในธุรกิจแป้งทำอาหาร ‘แบรนด์ปลาแฟนซีคาร์ฟ’

การทำโลกธุรกิจสำหรับ SME ยุคดิจิทัล ต้องมี ‘นวัตกรรม’ เข้ามาเป็นตัวช่วยให้ธุรกิจเติบโต และอยู่รอดท่ามกลางการแข่งขัน เพิ่มขีดความสามารถด้านการพัฒนาสินค้า…
pin
141 | 22/04/2024
จากธุรกิจนำเข้า สู่เจ้าของกรรมสิทธิ์อุปกรณ์ ‘ตู้บริการสื่อสารเอนกประสงค์’ กล่องสมองกลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจร

จากธุรกิจนำเข้า สู่เจ้าของกรรมสิทธิ์อุปกรณ์ ‘ตู้บริการสื่อสารเอนกประสงค์’ กล่องสมองกลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจร

Bangkok Bank SME จะพาไปทำความรู้จักกับธุรกิจในกลุ่มบริษัทโทรคมนาคม (Telco) ที่เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะรู้ว่ารูปแบบของการดำเนินงาน มีภาพรวมของรายละเอียดอย่างไร…
pin
709 | 17/04/2024
‘วรุณา’ นำเทคโนโลยี AI ยกระดับภาคการเกษตรไทย พร้อมดันประเทศสู่สังคม Net Zero

‘วรุณา’ นำเทคโนโลยี AI ยกระดับภาคการเกษตรไทย พร้อมดันประเทศสู่สังคม Net Zero

ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกมีความตื่นตัวและหันมาให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อช่วยดูแลและช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนที่ปัจจุบันทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย…
pin
547 | 10/04/2024
‘ลำปางฟู้ดโปรดักส์’ แชร์แนวคิดธุรกิจเกษตรลดเสี่ยง รับมือทุกความเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพ