ธุรกิจครอบครัว ในยุคเปลี่ยนผ่านฉับพลัน (Family business in disruption era)

Family Business
28/02/2024
รับชมแล้วทั้งหมด 5219 คน
ธุรกิจครอบครัว ในยุคเปลี่ยนผ่านฉับพลัน (Family business in disruption era)
banner

ธุรกิจครอบครัว (Family Business) ที่ลักษณะโดดเด่น คือเป็นธุรกิจที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นเจ้าของ และมีหุ้นส่วนใหญ่ของธุรกิจ มากกว่า 50% โดยในประเทศไทย มีจำนวนธุรกิจครอบครัว คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 70% ของธุรกิจทั้งหมด ทำให้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน การสืบทอดธุรกิจที่ส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่นเป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้เจ้าของกิจการต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา


โดยเฉพาะ ปี 2024 นี้ หากมองถึงภาพรวมการดำเนินงานของธุรกิจครอบครัว พบว่ามีปัจจัยรุมเร้า ที่อาจส่งผลระทบหลายด้าน เช่น ต้นทุนการดำเนินงานที่สูงจากภาวะเงินเฟ้อ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยเพิ่ม ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายในการกู้ยืมเงิน ด้านกำลังซื้อของผู้บริโภค ลดลงจากค่าครองชีพที่สูงผู้บริโภคหันมาประหยัด และวางแผนการใช้จ่ายมากขึ้น




รวมทั้ง การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ที่เกิดขึ้นและพัฒนาตลอดเวลา ‘ธุรกิจครอบครัว’ จึงต้องปรับตัวหันไปลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคดิจิทัล เช่น การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เป็นต้น


นอกจากปัจจัยที่กล่าวข้างต้น ยังมีเรื่องใหญ่ที่เปรียบเหมือนพายุดีเปรสชัน (Depression Storm) ซึ่งอาจเข้ามา Disruption ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจครอบครัวแบบไม่ทันตั้งตัว นั่นคือการ ก้าวสู่ยุคเปลี่ยนผ่านฉับพลัน (Family business in disruption era) ธุรกิจครอบครัว จะปรับตัวและรับมือกับ Disruption ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถอยู่รอดได้ในยุคปัจจุบันต้องทำอย่างไร ติดตามได้ในบทความนี้




คุณวิเชฐ ตันติวานิช ผู้ประกอบการธุรกิจครอบครัว (AFBE) กล่าวว่า ย้อนไป 2563 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเริ่มใช้ พระราชบัญญัติพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยเริ่มครั้งแรก ในปี 2504 ซึ่งในขณะนั้น มีชาวจีนอพยพมาอยู่อาศัยในประเทศไทยจำนวนหนึ่ง


คนจีนโพ้นทะเลเหล่านั้น มีอายุมากน้อยคละกันไป ด้วยแบบฉบับเฉพาะตัวที่เราทราบดีว่า คนจีนส่วนใหญ่ มีนิสัยขยัน อดทน อดออม เคารพนับถือผู้มีอาวุโสกว่า มีความกตัญญูรู้คุณคน ช่างสังเกต และไม่กลัวที่จะลำบาก คนจีน จึงมีโอกาสทำมาค้าขาย แบบซื้อมาขายไป กำไรครั้งละนิดหน่อยก็อดทนทำไป แม้จะขาดทุนนิด กำไรหน่อย ก็อาศัยลูกตื๊อทำมาหากินไปเรื่อย ๆ


คุณสมบัตินี้ เมื่อมาประกอบกับ พ.ร.บ.สภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ ทำให้คนจีนที่มีความขยัน ได้ปัจจัยแห่งความสำเร็จในเชิงธุรกิจมากขึ้น เรียกว่า เปลี่ยนจากการทำมาหากิน มาเป็นการทำธุรกิจนั่นเอง




มาถึงวันนี้ คนจีนเหล่านั้น สะสมกำไร ขยายธุรกิจของครอบครัว มาจนถึงระดับ ร้อย พัน หมื่นล้านบาท และอายุของพวกเขา ก็อยู่ในช่วง 70-90 ปีกันแล้ว




ถ้าวันนี้ปัจจัยแวดล้อมในงานทำธุรกิจ ยังคงเหมือนกับเมื่อ 60 ปีที่ผ่านมา คือทักษะการค้าขายที่คนรุ่นแรกใช้ในการสร้างธุรกิจครอบครัวมาจนเป็นร้อย พัน หมื่นล้าน นำมาสู่การส่งต่อธุรกิจให้คนรุ่นต่อไป ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ในความเป็นจริงที่เห็นประจักษ์คือ ปัจจัยความสำเร็จในเชิงธุรกิจเปลี่ยนไปหมดแล้ว เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ส่งผลต่อการผลิตทั้งปริมาณและคุณภาพ


ช่องว่าง ระหว่าง คนสองวัย


นอกจากนี้ ความก้าวหน้าทางวิชาการ การตลาด และเครื่องมือทางการเงินที่มีมากมาย ทำให้เกิดปัญหาใหญ่ระหว่างคนสองวัยที่ใจเริ่มไม่ตรงกันในการทำธุรกิจ พ่อแม่ มีเงินพร้อมส่งต่อให้ลูก ๆ ระดับร้อย พัน หมื่นล้านที่ตนทำสะสมมา แต่ก็ไม่ไว้ใจลูก ๆ ที่เกิดมาบนความรวยของครอบครัว ว่าจะรักษาเงินเหล่านั้นไว้ได้ดีแค่ไหน หรืออดหวั่นใจไม่ได้ว่าลูก ๆ จะทำให้เกิดความเสียหายจนธุรกิจล้มเหลว




ส่วนในมุมของลูก ๆ ก็มองความสามารถของพ่อแม่ในอดีตเป็นหนังประวัติศาสตร์ ที่ไม่สามารถฉายซ้ำในยุคนี้ได้อีกแล้ว แต่อายุพ่อแม่ บังคับให้ต้องวางมือและส่งต่อธุรกิจให้ลูกทั้ง ๆ ที่ไม่มั่นใจ จึงควบคุมแบบอ้อมๆ ด้วยวิธีการเดิม ๆ ทำให้ลูกขัดขืนและไม่ทำตาม ทำให้เกิดรอยร้าวในครอบครัว จนบางครอบครัวมีความรุนแรงขนาดทำร้าย โกงกัน และถึงขั้นฟ้องร้องจนเป็นคดีความ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้าอย่างมาก เพราะต่อให้ ‘รวย’ แค่ไหน ก็หาความสุขไม่ได้เลย


ผสานรอยร้าว ด้วย ธรรมนูญครอบครัว


ความท้าทายเหล่านี้ มักจะเกิดขึ้นกับทุกธุรกิจครอบครัวที่กำลังจะส่งต่อกิจการจากรุ่นพ่อแม่ไปให้รุ่นลูก แต่ยังมีหลายครอบครัว ที่ก้าวผ่านหมอกควันที่น่าอึดอัดนี้ไปได้ เพราะมีความเข้าใจอันดีต่อกัน สามารถตกลงกันได้ว่าสมาชิกครอบครัวทุกคนต้องร่วมมือกันทำให้ฐานะครอบครัวให้มั่งคั่งและยั่งยืนไปด้วยในเวลาเดียวกัน นั่นคือ ธุรกิจครอบครัวที่มีการทำ “ธรรมนูญครอบครัว” นั่นเอง


ธรรมนูญครอบครัว พูดในภาษาที่เข้าใจง่ายๆคือ “กฎของบ้าน” ที่สมาชิกครอบครัวทุกคน ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ ทำอะไร อยู่ที่ไหน หากเป็นสายเลือดหรือมีความเกี่ยวข้องในทางใดก็ตาม นับว่าเป็นเหมือนคนในครอบครัว กฎของบ้านจะเป็นหลักในการปกครองดูแล แบ่งสิทธิประโยชน์ หน้าที่ และความรับผิดชอบของสมาชิกแต่ละคนจะต้องปฏิบัติตาม




โดยหลัก ๆ จะแบ่งกฎออกได้ 3 ด้าน คือ

1. ด้านการปกครองดูแลสมาชิกครอบครัว ซึ่งมีสภาครอบครัวที่ผู้อาวุโสของบ้านจะเป็นกรรมการ ดูแลไปถึงการตัดสินข้อขัดแย้งกันระหว่างสมาชิกครอบครัว

2. ด้านการสืบทอดกิจการ คือการกำหนดคุณสมบัติของสมาชิกครอบครัวที่จะมอบหมายให้เป็นผู้บริหารระดับสูงในธุรกิจที่ครอบครัวทำอยู่ รวมเป็นถึงการฝึกฝน ปลูกฝังสมาชิกครอบครัวเพื่อให้เกิดความพร้อมในการเข้าทำงานในธุรกิจตรอบครัวในอนาคต

3. การดูแลเรื่องความเป็นเจ้าของ การตกลงการถือหุ้น การซื้อขายหุ้นระหว่างสมาชิกครอบครัวกันเอง ซึ่งในสามด้านนี้สามารถลงรายละเอียดในแต่ละด้านไปได้ถึง 12 เรื่องย่อย

ทั้งนี้ การได้มาซึ่งธรรมนูญครอบครัว หรือ กฎของบ้านของแต่ละครอบครัว จะต้องผ่านกระบวนการที่ละเอียดอ่อน และใช้เวลาสั้นยาวไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับขนาดของครอบครัว และความซับซ้อนของธุรกิจในมุมของจำนวนและขนาด รวมไปถึงระดับความรัก ความเข้าใจที่สมาชิกครอบครัวมีต่อกัน และการทำธรรมนูญครอบครัวขึ้นมา จะต้องทำขึ้นโดยบริษัทมืออาชีพที่ให้บริการด้านนี้เท่านั้น เพราะบริษัทเหล่านี้มีบทเรียน มีกรณีศึกษามากกว่า มีความเป็นกลางและสามารถหาจุดสมดุลในการเจรจากันจนถึงข้อสรุปได้ง่ายกว่าการทำกันเองในครอบครัว




ทิ้งท้ายด้วยปัจจัยสำคัญอีกข้อ ที่ยาก และเป็นอุปสรรคในการทำธรรมนูญครอบครัว คือ รุ่นพ่อแม่ไม่เห็นด้วยเพราะกลัวการเปลี่ยนแปลงในการที่ตนต้องทำตาม และเข้าใจคลาดเคลื่อนไปว่า ธรรมนูญครอบครัว เป็นการทำพินัยกรรมมอบสมบัติของตนให้รุ่นต่อไป ทำให้ลังเลและรอเวลาไปเรื่อย ๆ




นอกจากปัจจัยที่กล่าวมา จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจครอบครัวเช่นเดียวกับธุรกิจทั่วไป ธุรกิจครอบครัวจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์และปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันและเติบโตอย่างยั่งยืน


ขอบคุณข้อมูลโดย GURU รับเชิญ : คุณวิเชฐ ตันติวานิช ผู้ประกอบการธุรกิจครอบครัว (AFBE)

ติดตามสาระความรู้เรื่องการทำธุรกิจครอบครัวให้ราบรื่น ยั่งยืน ในบทความตอนหน้า






Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

5 อุปสรรคใหญ่ กับความท้าทายที่ธุรกิจครอบครัวต้องเรียนรู้ เพื่อ Transition สู่ยุค AI Disruption

5 อุปสรรคใหญ่ กับความท้าทายที่ธุรกิจครอบครัวต้องเรียนรู้ เพื่อ Transition สู่ยุค AI Disruption

นับตั้งแต่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการบริหารธุรกิจครอบครัว (Family Business) จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ธุรกิจครอบครัวที่มีรูปแบบการดำเนินงานแตกต่างจากธุรกิจทั่วไป…
pin
4920 | 09/04/2024
อะไรคือกุญแจสำคัญ? ของการบริหารธุรกิจครอบครัว ให้เติบโตอย่างยั่งยืนในยุคดิจิทัล

อะไรคือกุญแจสำคัญ? ของการบริหารธุรกิจครอบครัว ให้เติบโตอย่างยั่งยืนในยุคดิจิทัล

ธุรกิจครอบครัวยุคดิจิทัล ต้องเผชิญความท้าทายจาก Disruption อยู่ตลอดเวลา เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เทรนด์ รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคจากสถานการณ์รอบตัว…
pin
4426 | 30/03/2024
ศึกษาแนวคิด 3 พลังหญิง นำทัพ ‘ธุรกิจครอบครัว’ Transition ธุรกิจทางรอดอย่างยั่งยืนในยุค Disruption

ศึกษาแนวคิด 3 พลังหญิง นำทัพ ‘ธุรกิจครอบครัว’ Transition ธุรกิจทางรอดอย่างยั่งยืนในยุค Disruption

ธุรกิจครอบครัวที่บริหารด้วยค่านิยมแบบดั้งเดิม มักจะมีมุมมองว่าลูกผู้ชาย เหมาะสมที่จะก้าวขึ้นมารับช่วงกิจการในตำแหน่งหัวหน้า ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบหลักในการหารายได้…
pin
5351 | 08/03/2024
ธุรกิจครอบครัว ในยุคเปลี่ยนผ่านฉับพลัน (Family business in disruption era)