ประวัติความเป็นมา และจุดพลิกผันที่ทำให้หันมาสนใจ Smart Farmer
คุณนคร – เคยเป็นนักวิจัยที่ธรรมศาสตร์ ทำงานพัฒนาชนบทอยู่ที่ปราจีนบุรี และหันมาทำการเกษตร เพราะเราสนใจเป็นทุนเดิมตั้งแต่เป็นนักศึกษา ตอนแรกก็เริ่มจากปลูกผักกินเองที่บ้าน พอเพื่อน ๆ เห็นก็เชียร์ให้ทำห้องเรียนที่บ้านเองเลย นั่นคือก้าวแรก
คุณธีรพจน์ – ก่อนจะเข้ามาในแวดวงนี้ก็ทำด้านการตลาดมาก่อน เราเคยเป็นจิตอาสาตอนน้ำท่วม มีการรับจิตอาสาไปช่วยปรับปรุงแปลงผักของจังหวัดอ่างทอง ก็ได้รู้จักกับเกษตรอินทรีย์ รู้ถึงความอันตรายของสารเคมี ก็ค่อย ๆ กระเถิบเข้ามาในแวดวงสีเขียว
เจาะลึกโครงการและศูนย์การเรียนรู้ต่าง ๆ ของทั้งสองท่าน
คุณนคร – ศูนย์การเรียนรู้เกษตรในเมืองคือสวนในบ้าน เราเคยไปทำงานกับคนอื่นและเห็นว่าเกษตรกรพึ่งพาตัวเองจากการตอบโจทย์ของตัวเองอย่างแรก และค่อยต่อยอดไป ผมก็มีแรงบันดาลใจแบบนี้ เริ่มคิดกับตัวเองว่าจะทำอะไร เราอยู่กรุงเทพฯ ไม่ได้มีที่อะไรมากมาย ก็ปลูกผักกินเอง คนก็เริ่มสนใจ สัมภาษณ์ คนเริ่มรู้จัก เพราะเราปลูกผักกินเอง เรามีความรู้ด้านนี้อยู่ ไม่ได้ใช้สารเคมี เราก็เริ่มมีห้องเรียนเล็ก ๆ ให้คนที่สนใจเข้ามาเรียนรู้ ปัจจุบันก็มีกิจกรรมต่าง ๆ มากขึ้น
คุณธีรพจน์ – Health Me Delivery เริ่มจากการที่ต้องการสนับสนุนให้คนเมืองได้ทานนมออร์แกนิก ก็เริ่มส่งไปที่บ้าน จนมีลูกค้าก็เปิดเป็นร้านอาหารมังสวิรัติ Health Me Delivery และเริ่มมีศูนย์เรียนรู้ ออร์แกนิกเวย์ ปลูกเพื่อเข้ามาใช้ในร้านอาหาร เราเริ่มมีรถส่งสินค้าไปตามบ้านเยอะขึ้นจากตรงนี้
ผักพื้นบ้านและความเข้าใจของคนไทย
คุณธีรพจน์ – ผักพื้นบ้านคนส่วนใหญ่จะรู้จักแค่ผักบุ้ง กะหล่ำ แครอท จริง ๆ มีอีกเยอะ และมีสรรพคุณค่อนข้างสูง เราเลยสนับสนุนด้านนี้ ให้คนเข้ามารู้จักและใช้ประโยชน์จากมัน และสอดคล้องไปกับการทานผักตามฤดูกาล การทานอะไรตามธรรมชาติมันดีเสมอ
คุณนคร – เราจะเห็นว่าผักในตลาดส่วนมากจะมีต้นกำเนิดจากต่างประเทศ เราอยู่ในภูมิอากาศร้อนชื้น ก็จะมีผักพื้นบ้านหรือผักถิ่นอยู่ เช่น ผักบุ้งไทย หรือผักปรัง ซึ่งอีกหน่อยจะเป็น Super Food หรือก็คือผักที่ขึ้นง่าย มีพลังในตัวเอง
มีโครงการอะไรที่ร่วมมือกันอยู่บ้าง
คุณนคร – กิจกรรม ‘ปันอยู่ปันกิน’ คือวันที่ผู้ผลิตพบผู้บริโภค ทุกคนที่เคยมาอบรมเราก็จะมีชุมชนร่วมกัน Heart Core Organic เรามีพูดคุยกันอยู่เสมอ ซึ่งเราก็เอาพื้นที่งานนี้มาให้ผู้บริโภคจัดการอาหารตัวเองได้เลย ร่วมกันหาว่าเกษตรกรคนไหนสามารถเข้าถึงอาหารที่ดีตามธรรมชาติได้ เพราะเราสนับสนุนให้เกิดระบบอาหารในเมืองที่ยั่งยืน ในเมืองเราปลูกกินเองได้บางส่วน มันจะทำให้เราเข้าใจที่มาที่ไป ดูสีผักก็รู้ว่าดีหรือไม่ดี เนื่องจากปริมาณปุ๋ยที่แตกต่างกันด้วยอีกเรื่อง คนที่ไม่มีความรู้ก็คิดว่าผักมีสีเข้มน่าทานกว่า ซึ่งจริง ๆ มันไม่ใช่ ตอนนี้ ‘ปันอยู่ปันกิน’ เราจัดกันมาครึ่งปีแล้ว 5-6 ครั้ง เฉลี่ยเดือนละครั้ง คนส่วนใหญ่ก็จะเป็นแม่บ้าน เพราะทำอาหารกินเอง
คุณธีรพจน์ – เรากำลังกระจายสิ่งเหล่านี้ให้สังคมเมืองทราบมากขึ้น และมี Health Me Delivery ช่วยให้เค้าได้รับกันทั่วถึง เราไม่คิดค่าจัดส่งสินค้า เพราะอยากให้ผู้บริโภคได้กินสินค้าดี ๆ เยอะ ๆ เราคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่กำไรเป็นหลัก
มุมมองเรื่อง “คนเมืองกับ Smart Farmer”
คุณนคร – เราต้องดูว่าเรา Smart เรื่องอะไร ถ้าเป็นเรื่องใช้ชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติได้ อันนี้จะเป็นการ Smart ที่แท้จริง เมืองจะอยู่ไม่ได้ถ้าขาดพื้นที่เกษตรกรรม หลายประเทศยอมรับว่าต้องมีพื้นที่เกษตรกรรมในเมืองเหลืออย่างน้อยครึ่งหนึ่ง เพราะจะเป็นปอดให้กับเรา แปรเปลี่ยนของเสีย ทำให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ เหมือนอย่างประเทศแคนาดา เมืองโตรอนโต้ หรืออย่างโตเกียว รณรงค์ให้เอาพื้นที่รกร้างมาปลูกอาหารกินเอง
คุณธีรพจน์ – พักหลัง ๆ มีคนเข้ามาปรึกษาเยอะเรื่องเกษตรกรรม อยู่ในจุดที่ดี เราเน้นที่จะกลับไปใช้วิถีธรรมชาติ ลดสิ่งปนเปื้อนลง แต่ก็มีเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาสนับสนุน กลายเป็น Smart Farmer ที่แท้จริง
ฝากอะไรถึงคนทางบ้าน
คุณนคร – ควรเริ่มจากกิจกรรมที่เป็นตัวของตัวเอง ไม่ว่าจะทำอะไรถ้าพึ่งตัวเองได้เป็นพื้นฐาน ก็จะเป็นการต่อยอดไปทำสิ่งต่าง ๆ ได้
คุณธีรพจน์ – เป็นธุรกิจที่ให้คุณค่า ทำแล้วจะภูมิใจที่ได้ทั้งดูแลตัวเองและคนอื่น โอกาสทางธุรกิจในด้านเกษตรอินทรีย์ยังมีอีกกว้าง และเรายินดีที่จะสนับสนุนให้เกิดโมเดลธุรกิจแบบนี้ให้ทั่วประเทศไทย
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษา Bangkok Bank SME เราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้านทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ สายด่วน 1333