“ลาว” กลายเป็นประเทศในฝันของผู้ประกอบการไทยที่ต้องการส่งออกสินค้า ขยายตลาด และฐานการผลิตไปต่างประเทศ ซึ่งการเริ่มต้นทำการค้ากับ สปป.ลาว ของผู้ประกอบการไทย ส่วนใหญ่จะเริ่มจาการค้าชายแดน เนื่องจากความชำนาญของทั้งสองประเทศ มีการทำการค้าผ่านชายแดนมาหลายทศวรรษ ส่วนการลงทุนทางตรงที่ผู้ประกอบการไทยมีความต้องการขยายกิจการและย้ายฐานการผลิตนั้น ผู้ประกอบการไทยจะต้องมีความรู้เรื่องการจัดตั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
การลงทุนทั่วไปมีขั้นตอนจัดการตั้งดังนี้
1. การเตรียมเอกสาร
– สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและหนังสือเดินทาง (Passport)
– ใบยืนยันสถานะภาพจากตำรวจสันติบาล
– ใบยืนยันสถานะทางการเงินจากธนาคารพาณิชย์ใน สปป.ลาว
– ใบมอบสิทธิ์ของผู้ได้รับมอบหมายให้มาแจ้งขึ้นทะเบียนวิสาหกิจ
– รูปถ่าย 3X4 นิ้ว จำนวน 3 ใบ
2. กำหนดทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 1,000 ล้านกีบ
3. เขียนคำร้องขอขึ้นทะเบียนธุรกิจผ่านบริการทะเบียนธุรกิจแบบประตูเดียว โดยการจัดตั้งบริษัทจะต้องจดทะเบียนธุรกิจ หรือภาษาลาวเรียกว่า “การขึ้นทะเบียนวิสาหกิจ” กับกรมทะเบียนและคุ้มครองวิสาหกิจ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า โดยระบบแบบ One Stop Service (บริการจดทะเบียนธุรกิจแบบ “ประตูเดียว”)
4. สามารถขอจดทะเบียนธุรกิจได้ที่
– เมืองเวียงจันทน์ : ติดต่อกรมทะเบียนและคุ้มครองวิสาหกิจ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า โทร. (856-21) 412 011 แฟกซ์ (856-21) 453 865 หรือ www.laotradeportal.gov.la
– แขวงต่าง ๆ : ติดต่อแผนกอุตสาหกรรมและการค้าในแต่ละแขวง
– ระดับเมือง : ติดต่อสำนักงานอุตสาหกรรมและการค้าเมืองของแต่ละเมืองทั่วประเทศ
การลงทุนในสัมปทานรัฐ
ผู้ประกอบการไทยที่มีความสนใจ สามารถติดต่อหน่วยงานแผนการลงทุนส่วนกลาง กระทรวงแผนการและการลงทุน (Ministry of Planning and Investment) หรือสำนักงานที่รับผิดชอบการให้บริการในท้องถิ่นนั้น
การลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะ
ผู้ประกอบการไทยที่มีความสนใจ สามารถติดต่อหน่วยงานคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อการคุ้มครองเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือเขตเศรษฐกิจเฉพาะในแต่ละแห่ง) หรือสำนักงานที่รับผิดชอบการให้บริการในท้องถิ่นนั้น
เมื่อผู้ประกอบการไทยได้ใบทะเบียนธุรกิจแล้ว ให้นำใบทะเบียนฯ ที่ได้รับไปออกเลขประจำตัวผู้เสียภาษีที่กรมส่วนอากร กระทรวงการเงิน หรือหน่วยงานสายอากรแขวง หรือนครเวียงจันทน์ จากนั้นหากกิจการดังกล่าวเกี่ยวข้องกับหน่วยงานใด ให้ขอหนังสืออนุญาตทางเทคนิคจากหน่วยงานนั้น เช่น การดำเนินธุรกิจประกันภัย ต้องอนุญาตด้านเทคนิคจากธนาคารแห่ง สปป.ลาว
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยยังต้องนำใบทะเบียนธุรกิจพร้อมเอกสารประกอบ เพื่อดำเนินการ “จัดทำตราประทับ” และ “ขออนุญาตใช้ตราประทับ” ที่กรมคุ้มครองสำมะโนครัว กระทรวงป้องกันความสงบ (Ministry of public Security) เนื่องจากการทำสัญญาและลงนามในเอกสารต่าง ๆ โดยนิติบุคคลหรือวิสาหกิจนั้น ตราประทับเป็นส่วนสำคัญที่ต้องแสดงเพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวมีผลสมบูรณ์บังคับได้ตามกฎหมาย สปป.ลาว จึงต้องกำหนดรูปแบบตราประทับให้เป็นเฉพาะตามแต่ละประเภทขององค์กรต่าง ๆ ให้เป็นรูปแบบเดียวกัน
ธนาคารกรุงเทพ ใส่ใจให้บริการนักลงทุนในย่านอาเซียนด้วยบริการเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน เรามีสาขาของธนาคารอยู่ในย่านอาเซียน 9 สาขาใน 10 ประเทศเพื่อให้บริการท่าน สนใจติดต่อได้ที่ศูนย์ AEC Connect ชั้น 2 สำนักธุรกิจ ธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ อีเมล: [email protected] สายด่วน 1333