‘สยาม เอ็ม.ซี.’ ตีตลาดโลกด้วยกลยุทธ์ เพิ่มมูลค่าข้าวแต๋น พร้อมใช้อัตลักษณ์ขนมพื้นบ้านไทยให้ไกลระดีบ Global
บริษัท สยาม เอ็ม.ซี. จำกัด เจ้าของธุรกิจผลไม้แปรรูปตรา ‘ฟรุ๊ตแลนด์’ และ Bangkok Cookies ที่เกิดจากแนวคิดอยากพัฒนาสินค้าที่เพิ่มมูลค่าให้กับข้าวไทย และสร้างอัตลักษณ์ขนมที่ทำจากข้าวไทยเป็น Rice Cracker จนเป็นที่ต้องการทั้งตลาดในประเทศอย่างร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า และตลาดส่งออก
คุณประสงค์ ลิ้มเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยาม เอ็ม.ซี. จำกัด เปิดเผยเส้นทางแห่งความสำเร็จว่า ภายหลังจากที่ตนเรียนจบด้านวิศวกรรม ก็ได้เริ่มต้นการทำงานในสายงานด้านวิศวกรรมที่มีความมั่นคงและเป็นองค์กรชั้นนำระดับประเทศ พร้อมทั้งทำงานเสริมควบคู่กันไปด้วย ต่อมาเมื่อมีผู้ใหญ่ให้คำแนะนำว่าตนเป็นคนที่มีความขยันและมีความมุ่งมั่นในการทำงาน ประกอบกับตนเป็นคนที่ชอบค้าขาย จึงตัดสินใจลาออกจากงานมาทำธุรกิจแปรรูปผลไม้อย่างเต็มตัว โดยเริ่มจากกลุ่มผลิตภัณฑ์ผลไม้อบแห้ง

คุณประสงค์ ลิ้มเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยาม เอ็ม.ซี. จำกัด
ซึ่งในช่วงแรกใช้กลยุทธ์การหาตลาดด้วยการออกบูธและร่วมงานแสดงสินค้าภายในประเทศ รวมทั้งยังนำสินค้าเข้าไปเสนอวางขายในร้านสะดวกซื้อและร้านขายส่ง-ปลีก ซึ่งในขณะนั้นยังมียอดขายไม่มากเท่าที่ควร ตนจึงมุ่งสำรวจความต้องการของตลาดใหม่ เพื่อหาข้อบกพร่องของสินค้า พร้อมกับสอบถามโดยตรงจากลูกค้าหรือผู้บริโภคถึงสิ่งที่ต้องการจากการซื้อสินค้า จากนั้นจึงนำเอาคำแนะนำมาเป็นข้อมูลเพื่อพัฒนาสินค้าให้สามารถตอบโจทย์กับผู้บริโภค

คว้าโอกาสส่งต่อรสชาติผลไม้ไทยสู่ผู้บริโภคต่างชาติ
คุณประสงค์ ยังกล่าวอีกว่า ต่อมาเมื่อตนมีโอกาสไปออกบูธร่วมงานจัดแสดงสินค้าก็ได้รับการชักชวนจากทาง ‘คิง เพาเวอร์’ ให้นำสินค้าไปวางจำหน่ายที่สนามบินเพื่อให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติซื้อกลับไปเป็นของฝาก แม้ในช่วงแรกจะยังไม่ได้รับการตอบรับที่ดี เนื่องจากสินค้ายังไม่ตอบโจทย์กับพฤติกรรมของลูกค้าชาวต่างชาติ แต่ตนยังได้รับคำแนะนำจากบุคลากรของ ‘คิง เพาเวอร์’ ในด้านต่าง ๆ ให้มีการปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้สินค้าได้รับการตอบรับที่ดีและมีรายได้เพิ่มมากขึ้นอย่าง


แตกไลน์สินค้าใหม่ไปสู่กลุ่ม Rice Cracker
ต่อมาจึงมีแนวคิดในการแตกไลน์ไปสู่สินค้ากลุ่ม Rice Cracker ซึ่งตนได้แรงบันดาลใจ ภายหลังจากมีโอกาสได้พบกับลูกค้าชาวญี่ปุ่นที่ให้คำแนะนำว่า “สินค้าดีต้องมีความโดดเด่น และเป็นอัตลักษณ์” อีกทั้งยังให้คำแนะนำอีกว่า Rice chips หรือ Rice cookies ที่คนไทยเรียกว่า ‘ข้าวแต๋น’ ทั้งโลกมีแค่ไทยแห่งเดียวที่มีความแตกต่างจากประเทศอื่น เพราะยังคงเห็นเมล็ดข้าว และทุกครั้งที่เขามาประเทศไทยก็มักจะซื้อกลับไปเป็นของฝาก
จากนั้นตนเองมีแนวคิดในการทำผลิตภัณฑ์ข้าวแต๋น เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติ โดยได้มีการหารือและรับคำแนะนำจากทีมบุคลากรของ ‘คิง เพาเวอร์’ ในการพัฒนาสินค้า เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีรสชาติตอบโจทย์กับกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติมากที่สุด จนสามารถต่อยอดข้าวแต๋น ขนมพื้นบ้านให้กลายเป็น ‘คุกกี้’ ภายใต้แบรนด์ ‘Bangkok Cookies’ ที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ของไทย ไม่ว่าจะเป็นรสลาบ ต้มยำ แกงกะหรี่ แกงเขียวหวาน และรสผลไม้ พร้อมกับปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ให้น่าซื้อมากยิ่งขึ้น จนทำให้ประสบความสำเร็จและได้มีการตอบรับจากกลุ่มลูกค้ามายาวนานจนถึงปัจจุบัน

“ในช่วงที่เราจะทำผลิตภัณฑ์ข้าวแต๋นนั้น เราได้รับคำแนะนำจากทีมงานของร้านคิง เพาเวอร์ ซึ่งเป็นร้านที่เราต้องนำสินค้าไปวางจำหน่ายว่า ต้องพัฒนาสินค้าให้มีหลายรายการออกมาพร้อมกัน เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค โดยต้องสามารถตอบโจทย์ได้ ดังนี้ 1. ต้องเป็น Rice Cracker ที่มีความแตกต่างไม่เหมือนเจ้าอื่นในตลาด 2. ต้องมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย และ 3. ต้องมีอายุการจัดเก็บรักษาอาหารได้ถึง 1 ปี (จากปกติข้าวแต๋นทั่วไปจะเก็บได้ 3 เดือน)
เนื่องจากในอดีตสินค้ากลุ่มข้าวแต๋น ยังจำกัดอยู่แต่รูปแบบเดิม ไม่มีความแปลกใหม่ เมื่อเราได้โจทย์เหล่านี้แล้ว ก็ได้ใช้ความมุ่งมั่นในการวิจัยและพัฒนาอย่างละเอียดเป็นเวลาถึง 4 ปี ซึ่งระหว่างนี้ต้องมีการลงพื้นที่ไปพูดคุยและสอบถามกับลูกค้า เพื่อเรียนรู้ให้ทราบถึงความต้องการและพฤติกรรมในการเลือกซื้อ จากนั้นทีมงานก็จะเสนอไอเดียไปสู่การทดลองทำ และนำไปให้ลูกค้าลองทานแล้วสอบถามความพึงพอใจ จนในที่สุดก็สามารถทำได้สำเร็จ และเป็นอีกหนึ่งกลุ่มสินค้าที่ครองใจทั้งคนไทยและนักท่องต่างชาติได้”

เข้าสู่ตลาดส่งออกด้วยกลยุทธ์ Thai Rice Chips
ส่วนเรื่องนี้ ตนได้ใช้กลยุทธ์ Thai Rice Chips โดยใช้จุดแข็งจากประเทศไทยมีข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีชื่อเสียงที่ทั่วโลกมีการยอมรับมาอย่างยาวนาน ทั้งยังเป็นข้าวสายพันธุ์ที่มีเอกลักษณ์และเป็นสินค้าระดับพรีเมียมมีข้อได้เปรียบเมื่อเทียบกับคู่แข่งในประเทศเพื่อนบ้าน ที่สำคัญบริษัทยังสามารถนำวัตถุดิบทั้งข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว และข้าวขาว มาสร้างมูลค่าเพิ่มและผสมกันเป็นสูตรเฉพาะ ทำให้กลุ่มลูกค้ามีการตอบรับเป็นอย่างดี
จนปัจจุบันบริษัทมีการส่งออกสินค้าไปจำหน่ายกว่า 30 ประเทศทั่วโลก เช่น ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งถือเป็นการสร้างความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง ที่ได้นำสินค้าจากข้าวไทย ไปสู่ผู้บริโภคในตลาดสากล ตลอดจนได้รับคำสั่งซื้อจากวอลมาร์ท ซึ่งเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกาและของโลก
จากไอเดียลองทำสิ่งใหม่ไปสู่การผลิตแบบ Mass Production
คุณประสงค์ เผยถึงแนวคิดในเรื่องนี้อย่างน่าสนใจว่า เนื่องจากตนเป็นผู้ประกอบการ SME ดังนั้น เมื่อสามารถทำสินค้าออกสู่ตลาดให้เป็นที่ยอมรับประสบความสำเร็จแล้ว ต้องยกระดับการผลิตสู่ Mass Production หรือการผลิตสินค้าครั้งละมาก ๆ สู่ตลาดที่ใหญ่ขึ้น สิ่งสำคัญคือต้องมีความเข้มข้นในเรื่องมาตรฐานเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ตั้งแต่การปรับโรงงานผลิต พัฒนาคุณภาพสินค้า และปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐาน พร้อมกันนี้ ยังต้องวางแผนงานต่าง ๆ อย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นการบริหารต้นทุนในการผลิตและการจำหน่ายให้สามารถทำกำไรได้ พร้อมทั้งยังต้องมีกลยุทธ์เพื่อป้องกันและเตรียมรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นให้ดีด้วย


สร้าง Core Value สู่เป้าหมายเดียวกัน
ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัทมีการส่งเสริมให้พนักงาน ตระหนักถึงความสำคัญของการทำงานเป็นทีมเวิร์ค หากมีปัญหาทุกคนภายในองค์กรจะระดมความคิดและทำงานร่วมกัน เพื่อให้งานนั้นสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ซึ่งวัฒนธรรมเหล่านี้ยังช่วยสร้างทีมงานให้มีความแข็งแกร่ง และมีเป้าหมายร่วมกัน รู้จักมองความผิดพลาดเป็นโอกาสแห่งการเรียนรู้
ขณะเดียวกัน บริษัทยังประเมินความต้องการของลูกค้า นำมาต่อยอดพัฒนาสินค้าให้สอดรับกับเทรนด์เพื่อตอบโจทย์กับความต้องการของลูกค้าได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ช่วยหล่อหลอมทำให้เกิดเป็นค่านิยมองค์กร ส่งผลให้ลูกค้ามองเห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจ พร้อมกับให้ความเชื่อมั่นในคุณภาพและนึกถึงบริษัทเป็นเจ้าแรกเมื่อมีความต้องการอยากให้ผลิตสินค้า ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างยอดขาย และเพิ่มรายได้ให้บริษัทเติบโตขึ้น
“เรามุ่งเน้นให้พนักงานทุกคนมีความเป็นปึกแผ่น และมองเห็นเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกัน ในกรณีที่เกิดความผิดพลาดในการทำงานเราก็จะใช้โอกาสนั้นเป็นการเรียนรู้ หรือแม้แต่ในช่วงวิกฤติโควิด19 ที่ผ่านมา เรายังไม่เคยปรับลดเงินเดือน แต่จะส่งเสริมให้เขาใช้โอกาสนี้ที่อยู่ในช่วงวิกฤติ มุ่งวิจัยและพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ ให้มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งค่านิยมเหล่านี้ช่วยให้เราพัฒนาตัวเองเพื่อเตรียมรับโอกาสใหม่ได้อยู่เสมอ”

Bangkok Cookies ช่วยยกระดับ Supply Chain ข้าวไทยให้ดีได้
ปัจจุบันบริษัทมีโครงการ "ขอบคุณชาวนา" ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่แบรนด์ Bangkok Cookies ทำขึ้น เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าของข้าวไทย ให้ชาวนามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยมีการรับซื้อข้าวเกษตรอินทรีย์นำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิต ทั้งยังได้ช่วยเหลือเกษตรกร ทั้งเรื่องเมล็ดพันธุ์ และสร้างระบบท่อน้ำให้เพียงพอต่อการปลูกข้าว โดยแนวคิดนี้ยังมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ผลผลิตจากเกษตรกรชาวไทยไปไกลถึงระดับสากลอีกด้วย
Focus ขอบเขตของตลาดให้ชัดเจน
คุณประสงค์ กล่าวในช่วงท้ายถึงกลยุทธ์การทำตลาดว่า บริษัทจะมุ่งเจาะตลาดไปทีละกลุ่ม โดยมีเป้าหมายไปที่การตอบสนองความพึงพอใจของผู้บริโภคกลุ่มนั้นแบบเฉพาะเจาะจง ซึ่งต้องมีการกำหนดขอบเขตของตลาดให้ชัดเจน เพราะกลุ่มลูกค้าแต่ละกลุ่มหรือแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน ไม่เช่นนั้นอาจประสบปัญหากับการแบกต้นทุนในการผลิตที่สูง และต้องคอยจัดการปัญหาที่อาจตามมาได้
รู้จัก ‘บริษัท สยาม เอ็ม.ซี. จำกัด’ เพิ่มเติมได้ที่
https://www.bangkokcookies.com/
https://www.facebook.com/bangkokcookiesthailand/
http://www.smcfruit.com/