ทางรอดจาก Digital Transformation ‘Upskill & Reskill’ การปรับตัวของคนทำงาน ตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงลักษณะงานยุคเทคครองเมือง

Mega Trends & Business Transformation
13/12/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 5913 คน
ทางรอดจาก Digital Transformation ‘Upskill & Reskill’ การปรับตัวของคนทำงาน ตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงลักษณะงานยุคเทคครองเมือง
banner
เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิด Mega Trend ที่เรียกว่า Digital Transformation เปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ ส่งผลกระทบและเปลี่ยนแปลงการบริการ สินค้า รวมถึงรูปแบบการทำงานที่มีอยู่ของอุตสาหกรรมแบบเดิม ๆ เพื่อความอยู่รอดจาก Digital Transformation คนทำงานยุคปัจจุบันจึงต้องมีการ Lifelong Learning, Upskill, Reskill ปรับตัวและตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงลักษณะงานยุคเทคครองเมืองที่กำลังเกิดขึ้น



Digital Transformation คืออะไร?

อธิบายให้เข้าใจก็คือ การปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้าร่วมกับองค์กรหรือธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบ ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ตั้งแต่การบริหารไปจนถึงสายการผลิตและการควบคุมคุณภาพ ทุกอย่างสามารถเปลี่ยนแปลงได้ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ยกตัวอย่างเรื่องง่ายๆ เช่น การที่เราเปลี่ยนจากการทำเอกสารแบบกระดาษในองค์กรมาเป็นไฟล์งานในคอมพิวเตอร์ การส่งอีเมลแทนการส่งจดหมาย เป็นต้น

แต่แน่นอน นั่นเป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวของดิจิทัล จนการมาถึงจุดสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเทคโนโลยี AI, Cloud Computing, Big Data, ERP และเทคโนโลยี IoT ที่เปลี่ยนภาพจำของคำว่าดิจิทัลไปโดยสิ้นเชิง

- เราเปลี่ยนการคำนวณด้วยการคาดเดา เป็นการใช้ Data ในการคาดการณ์
- เราเปลี่ยนการทำเรื่องซ้ำ ๆ ในโรงงานด้วยหุ่นยนต์และระบบ Automation
- เราเก็บข้อมูลทุกอย่างให้ปลอดภัยด้วย Cloud Storage 
- เรารับรู้ข้อมูลทุกอย่างในโรงงานผ่านระบบ IoT 

นี่คือการเปลี่ยนแปลงที่ผสานเข้ากับชีวิตและการทำงานของคนรุ่นใหม่ และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ว่าบริษัทไหน ๆ ก็ต้องตามให้ทัน



เมื่อเทคเปลี่ยนเร็ว คนทำงานต้อง Lifelong Learning

เทคโนโลยีในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเร็วมาก และทำให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ ขึ้น เพียงไม่กี่ปีจากที่เราเคยนั่งดูโทรทัศน์กัน ปัจจุบันหลาย ๆ บ้านไม่ได้ดูโทรทัศน์ แต่ดูรายการต่าง ๆ ผ่านโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตกันแล้ว

หากมัวแต่ยึดติดกับความรู้เดิมที่เคยเรียนรู้มา เราอาจไม่สามารถสู้กับโลกที่เปลี่ยนแปลงได้ อาชีพใหม่ ๆ ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีจะเกิดขึ้นเยอะ ในขณะที่บางอาชีพที่เคยมั่นคง ก็อาจถูกเทคโนโลยีแทนที่ก็เป็นได้ ดังนั้น ผู้คนจะอยู่รอดในอนาคตที่หมุนเร็วได้ จำเป็นต้องมีทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อก้าวให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนไปเร็ว

จากข้อมูลของ World Economic Forum (2020) ได้รายงานสถานการณ์ตลาดแรงงานของโลกว่าภายในปี 2022 แรงงานต้องเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทักษะที่เรียนรู้จากการทำงานและชุดทักษะใหม่ ซึ่งประเทศไทยได้มีการประยุกต์ใช้ Micro-learning และ E-learning เพิ่มเติมจากการเรียนในระบบประมาณ 8 ปีมาแล้ว

ซึ่งรูปแบบการเรียนรู้แบบ Micro-learning และ E-learning ที่โดดเด่นของประเทศไทย ได้แก่ MOOCs (Massive Open Online Course) ซึ่งถือกำเนิดและได้รับความนิยมอย่างมากในต่างประเทศ เนื่องจากเป็นการเรียนรู้ทางออนไลน์ที่สามารถรองรับผู้เรียนได้ทุกช่วงวัยและไม่จำกัดการศึกษา บรรยายโดยอาจารย์เจ้าของวิชาจากมหาวิทยาลัยชื่อดัง มีแบบฝึกหัดหลังบทเรียนบางแพลตฟอร์มและมีกระดานสนทนา (Forum) ให้ผู้เรียนได้เข้าไปแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้สอนหรือผู้เรียนด้วยกันเองได้

แตกต่างจากรูปแบบการเรียนแบบเดิม เช่น E-learning ที่จำกัดการเรียนสำหรับผู้เรียนเฉพาะกลุ่มเรียนในสถาบันการศึกษานั้น ๆ โดยสถาบันการศึกษาของไทยที่นำ MOOCs มาใช้ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chula MOOC) มหาวิทยาลัยมหิดล (MUx) รวมถึงมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทยซึ่งเป็นหน่วยงานกลางที่ประสานงานกับมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในการจัดทำหลักสูตรร่วมกัน (Thai MOOC)

เพื่อเชื่อมโยงโลกแห่งการศึกษาและโลกแห่งการทำงาน สอดรับกับข้อมูลของ The World Economic Forum ได้คาดการณ์ไว้ว่า ในอนาคตจะมีการโยกย้ายงาน หรืองานอย่างอื่นเข้ามาแทนที่ 75 ล้านตำแหน่ง ภายในปี 2565 ใน 20 ประเทศเศรษฐกิจหลัก และในขณะเดียวกันคาดว่าจะมีการสร้างหรือเพิ่ม 133 ล้านตำแหน่งใหม่ ซึ่งถูกขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยีและดิจิทัล กลายเป็นโอกาสทองของคนที่ Upskill และ Reskill การทำงานอยู่เสมอ



พัฒนาทักษะเดิม (Upskill) เติมทักษะใหม่ (Reskill) ‘คนทำงาน’ ก้าวทัน Digital Transformation 

เมื่อการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้หากต้องการพัฒนา ดังนั้น นอกจากภาคธุรกิจที่ต้อง Business Transformation ตัวเองแล้ว คนทำงานก็ต้องเสริมทักษะเพื่อสอดรับลักษณะงานยุค Digital Transformation เช่นเดียวกัน ด้วยการเรียนรู้เพิ่มเติม เช่น Lifelong Learning คำจำกัดความขนาดใหญ่ ที่เจาะให้เล็กลงก็คือการ Upskill และ Reskill นั่นเอง เพื่อพัฒนาทักษะและความรู้ของพนักงานในองค์กรให้เท่าทันกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ

Upskill คืออะไร

Upskill คือ การเพิ่มและพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมี อาจเรียกได้ว่าเป็นการติดอาวุธเครื่องมือใหม่ ๆ อย่างความรู้ความสามารถเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ และส่งผลถึงประสิทธิภาพการทำงาน ทำให้พนักงานในองค์กรสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างดี และสามารถทำผลงานออกมาได้ดีขึ้น         

ตัวอย่างการ Upskill โดยนำเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ เช่น ระบบการแพทย์ของสหราชอาณาจักรได้ปรับรูปแบบการทำงานใหม่ สู่การใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลแบบเต็มตัว เพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายโรคโควิด 19 ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่ทำการนัดหมายและให้แพทย์วินิจฉัยอาการผ่านวิดีโอคอล 100% ซึ่งการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานลักษณะนี้ บุคลากรทางการแพทย์จะต้องเรียนรู้วิธีวินิจฉัยและประเมินอาการผู้ป่วยทางไกลอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกับเรียนรู้วิธีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเหมาะสม

Reskill คืออะไร

Reskill คือ การเปลี่ยนหรือเพิ่มทักษะใหม่ เพื่อยกระดับบุคลากรในองค์กรให้สามารถทำงานกับการเปลี่ยนแปลง รวมถึงมีทักษะในการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้ เนื่องจากเทคโนโลยีใหม่ ๆ อาจเข้ามาแย่งงานทำให้เกิดอัตราการว่างงานสูงขึ้น หากไม่มีการ Reskill เพื่อเพิ่มพูนทักษะใหม่ ๆ ให้เท่าทัน ก็จะทำให้กลายเป็นบุคคลว่างงานเพราะไม่เป็นที่ต้องการของตลาดได้  
โดยข้อมูลของ The Future of Jobs Report 2020 ทำให้เห็นว่า ทักษะการทำงานบางอย่าง ทั้งทักษะด้านความรู้ (Hard Skills) และทักษะด้านอารมณ์ (Soft Skills) ที่ตลาดงานต้องการในปัจจุบัน และยังคงมีความสำคัญในอนาคต เช่น ทักษะการแก้ปัญหา การคิดวิเคราะห์ ความยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ที่เผชิญ ความอดทนต่อความเครียด การใช้เทคโนโลยี และการออกแบบและพัฒนาโปรแกรม เป็นต้น

รายงานระบุว่า ในปี 2025 จะมีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มมากขึ้น ทำให้กว่า 50% ของลูกจ้างจำเป็นต้อง Reskill ใหม่ และคาดว่าอีก 6 เดือนข้างหน้า ลูกจ้างกว่า 40% ต้อง Reskill ใหม่ หมายถึงการที่เรามี Skill เดิม แต่มีการเรียนรู้ปรับตัวเพื่อหยิบเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ และด้วยผลกระทบจากการระบาดของโควิด 19 และการเปลี่ยนมาใช้ระบบอัตโนมัติมากขึ้นส่งผลให้ลูกจ้างต้อง Reskills ใหม่ภายใน 5 ปีข้างหน้า งานกว่า 85 ล้านงานจะมีการแทนที่ด้วยเครื่องจักรกล

นอกจากนี้ยังระบุว่า นายจ้างกว่า 90% มีความคาดหวังว่าทักษะใหม่ ๆ ที่จะได้จากการเรียนรู้หน้างาน ระยะเวลาที่ใช้ในการเรียนรู้ทักษะใหม่ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ประเภทของทักษะ ประเภทของงานหรือวิชาชีพ ฯลฯ ทักษะที่เกี่ยวกับคนและวัฒนธรรม การเขียน การขาย หรือ Marketing อาจใช้ระยะเวลาเรียนเพียง 1 - 2 เดือน ในขณะที่ทักษะด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และ AI อาจใช้เวลา 2 - 3 เดือน ส่วนทักษะด้าน Cloud Computing และวิศวกรรมอาจใช้ระยะเวลานานกว่าทุกทักษะคือประมาณ 4 - 5 เดือน



ทักษะ 4 ด้าน ที่จำเป็นกับคนทำงานยุคดิจิทัล

ทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy)

การรู้จักนำเครื่องมือดิจิทัล และโปรแกรมต่างๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการสื่อสาร ปฏิบัติงาน และทำงานร่วมกัน หรือใช้เพื่อพัฒนากระบวนการทำงาน หรือระบบงานในองค์กรให้มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนความสามารถติดตามและเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ ๆ ที่เข้ามาได้ตลอดเวลา รวมถึงยังต้องเข้าใจถึงแนวโน้มของเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเข้ามา เช่น เรื่องของ เอไอ คริปโทเคอร์เรนซี และเมตาเวิร์ส เป็นต้น

ทักษะความเข้าใจในการใช้ข้อมูล (Data Literacy) 

คือความสามารถเอาข้อมูลต่าง ๆ มาใช้ทำงานได้มีประสิทธิภาพ คือ มีความสามารถอ่านข้อมูล เข้าใจความหมายและสามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้ ทักษะด้านนี้ไม่ได้หมายความว่า ต้องมาเป็นนักวิทยาการข้อมูลหรือนักวิเคราะห์ข้อมูล แต่หมายถึงการใช้ข้อมูลในชีวิตประจำวันและการทำงาน

ทักษะทางด้านเทคนิค 

ทักษะการพัฒนาโปรแกรม เนื้อหาด้านดิจิทัล อาทิ การทำคลิป การทำแดชบอร์ด การพัฒนาแอปพลิเคชันต่าง ๆ ซึ่งเมื่อก่อนอาจถูกมองว่าเป็นทักษะของคนไอทีหรือวิศวกรคอมพิวเตอร์ แต่ในวันนี้แอปฯ หรือเนื้อหาดิจิทัลหลายอย่างสามารถที่จะพัฒนาได้โดยคนทั่วไป การเขียนโปรแกรมก็สามารถทำได้ง่ายขึ้น และเริ่มมีการเรียนกันตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษา รวมถึงในปัจจุบันมีเครื่องมือที่สามารถจะพัฒนาระบบเอไอได้โดยง่าย

ทักษะการตระหนักถึงภัยคุกคามด้านดิจิทัล 

ความเข้าใจถึงความเสี่ยงทางด้านภัยคุกคามด้านดิจิทัลต่าง ๆ รวมถึงรู้วิธีการใช้อย่างปลอดภัย ซึ่งนอกจากภัยที่อาจเกิดจากอาชญากรรมคอมพิวเตอร์แล้วยังรวมถึงภัยที่เกิดจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในโลกออกไลน์ด้วย เช่น การถูกบูลลี่ในโลกดิจิทัล การแยกแยะข้อมูลเท็จในโลกออนไลน์ การจัดการพาสเวิร์ดที่ดี หรือเข้าใจความเสี่ยงจากการรั่วไหลของข้อมูลดิจิทัลต่าง ๆ

ในอดีตคนทำงานอาจมองว่าการ Upskill และ Reskill ความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญแต่ยังไม่เร่งด่วน หากแต่ความจริง Digital Skill นั้นมีความสำคัญอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนนี้ที่โลกกำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์โควิด 19 ซึ่งเข้ามากระตุ้นให้เห็นถึงความจำเป็นต้องปรับตัวไวขึ้น เพื่อตอบสนองลักษณะงานรูปแบบใหม่รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป



ทำไม? ผู้ประกอบการและ SME ควรช่วยพนักงาน ‘Upskill & Reskill’ ตอบโจทย์การทำงานยุคใหม่

ด้วยขีดความรู้ความสามารถของพนักงาน เป็นฟันเฟืองหลักและเส้นทางการชี้วัดความอยู่รอดขององค์กร ‘Upskill & Reskill’ จึงเปรียบเสมือนอาวุธลับที่ภาคธุรกิจไม่ควรมองข้าม หากต้องการก้าวผ่านสถานการณ์เดิม ๆ เพิ่มศักยภาพให้องค์กรสามารถแข่งขันได้อย่างเต็มที่ในโลกธุรกิจยุคใหม่

ปัจจุบันภาคธุรกิจควรมองพนักงานเป็น Asset ไม่ใช่ Cost ดังนั้น คนทำงานจึงเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าและน่าลงทุนไม่น้อย เพราะการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีคุณค่า ย่อมนำมาซึ่งมูลค่าเพิ่มของสินทรัพย์นั้นในอนาคต การลงทุนในคน คือ การพัฒนาความรู้ ทักษะ ทัศนคติ และพฤติกรรมของคนในองค์กรให้มีขีดความสามารถสูงขึ้น

เพื่อขับเคลื่อนกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพตามเป้าหมายที่องค์กรกำหนดไว้ ดังนั้น หากผู้ประกอบการและ SME ต้องการให้องค์กรก้าวหน้าตามทันกระแสโลก ก็ควรพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะและความรู้ความสามารถตามไปด้วย โดย Bangkok Bank SME มี 4 เหตุผล ทำไม? ทุกองค์กรต้อง ‘Upskill & Reskill’ ให้กับพนักงาน

รับมือ Job Description ที่เปลี่ยนไป

จากอดีตจนถึงปัจจุบันเราได้เห็นการเปลี่ยนผ่านตั้งแต่โทรศัพท์มือถือธรรมดา ถูกพัฒนากลายมาเป็นสมาร์ทโฟนที่ใช้กันทั่วโลก หรือวิธีการทำ Marketing ก็เปลี่ยนไปใช้เครื่องมือสุดฮิตอย่างโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มเป็นหลัก มนุษย์คนใดที่ไม่พยายามปรับตัวให้เข้ากับโลกใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น มนุษย์คนนั้นก็จะกลายเป็นคนที่ไม่มีคุณค่าในมุมมองของทักษะและความสามารถ

ดังนั้น การที่ผู้บริหารได้ตระหนักถึงการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ส่งผลให้ลักษณะการทำงานเปลี่ยนไปถือว่าเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่องค์กรจะต้อง Reskill (เรียนรู้ทักษะใหม่) และ Upskill (ต่อยอดพัฒนาทักษะที่มีอยู่ให้มีความเชี่ยวชาญมากขึ้น) ให้กับพนักงานของตน

แก้ไขข้อบกพร่องของพนักงาน

เพื่อแก้ไขการทำงานที่ผิดพลาดซ้ำ ๆ ในเรื่องเดิม ซึ่งวิธีที่จะทำให้พนักงานรู้จุดอ่อนของตนและปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น องค์กรจะต้องมีการประเมิน Skills พนักงานให้เหมาะสมกับอาชีพ หลายครั้งที่พนักงานปฏิบัติงานผิดพลาดซ้ำ ๆ อาจเป็นเพราะพวกเขาเหล่านั้นยังไม่มีความชำนาญมากพอหรือขาดความรู้บางอย่างที่จำเป็นไป ดังนั้น ผู้ประกอบการและ SME ต้องรีบจัดการกับปัญหาการทำงานผิดพลาดด้วยการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ และต่อยอดทักษะเดิมให้เข้มข้นมากขึ้น



เพิ่มขีดความสามารถทัดเทียมกับคู่แข่งอุตสาหกรรมเดียวกัน

บ่อยครั้งจะเห็นได้ว่าคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกันมีกลยุทธ์ในการทำธุรกิจที่น่าตื่นตาตื่นใจ ไม่ว่าจะเป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้ หรือมีความคิดสร้างสรรค์ที่ล้ำหน้ากว่า ทั้งหมดเกิดจากความสามารถของบุคลากรที่มีคุณภาพ หากภาคธุรกิจรู้ตัวว่าองค์กรเดินช้ากว่าคู่แข่ง หน้าที่ของผู้บริหารคือต้องกลับมาพัฒนาทรัพยากรในองค์กรของตนเองให้มีคุณภาพ โดยเฉพาะบุคลากรในตำแหน่งงานที่มีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนองค์กรจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง Reskill และ Upskill ตัวเองให้มีศักยภาพและสามารถสร้างคุณค่าให้กับองค์กรมากขึ้น

ลดต้นทุนการจ้างพนักงานเพิ่ม

การที่ภาคธุรกิจมีจำนวนบุคลากรเพิ่มขึ้น หมายความว่าองค์กรเติบโตขึ้นตามปริมาณงาน แต่ในทางกลับกันหากองค์กรต้องการหาพนักงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากพนักงานเดิมที่มีอยู่ไม่มีความสามารถในด้านที่องค์กรต้องการ หมายความว่าองค์กรไม่มีแผนพัฒนาทักษะบุคลากรของตนเอง ซึ่งสิ่งสำคัญที่ผู้บริหารต้องจัดการอย่างต่อเนื่องคือการจัดโปรแกรมส่งเสริมพัฒนาทักษะบุคลากร ให้สามารถทำงานตอบโจทย์กลยุทธ์ในอนาคต และที่สำคัญการพัฒนาบุคลากรภายในยังสามารถลดต้นทุนในการจ้างพนักงานเพิ่ม

ด้วยความที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิด Digital Transformation ดังนั้น ภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการและ SME รวมถึงตัวพนักงานเอง ต่างต้องให้ความสำคัญในเรื่อง ‘Upskill & Reskill’ เพื่อตอบโจทย์การทำงานยุคใหม่ อยู่รอดได้แม้จะทำงานในยุคเทคครองเมือง


แหล่งอ้างอิง : สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI), สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA)
https://www.martechthai.com/technology/digital-transformation-roadmap/ 
https://www.manpowerthailand.com/th/blxk/2020/12/skill-must-have-in-covid-era-th?source=google.com 
https://www.etda.or.th/th/Useful-Resource/Knowledge-Sharing/Digital-Transformation-Trends-in-2021.aspx 
https://www.matichon.co.th/publicize/news_2936990 
https://www.weforum.org/agenda/2020/10/top-10-work-skills-of-tomorrow-how-long-it-takes-to-learn-them/ 
https://blog.futurefocusedlearning.net/10-beneficial-lifelong-learning-skills 
https://www.chula.ac.th/highlight/81812/ 
https://www.bangkokbiznews.com/tech/862683
https://www3.weforum.org/docs/WEF_Future_of_Jobs_2020.pdf Ref. PDF

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ธุรกิจยุคดิจิทัล ต้อง Transformation อย่างไร เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ในเทศกาลสงกรานต์

ธุรกิจยุคดิจิทัล ต้อง Transformation อย่างไร เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ในเทศกาลสงกรานต์

ความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ กลายเป็นโจทย์หลักของนักการตลาดในยุคดิจิทัล หากเจาะลึกลงไปจะพบว่าการเปลี่ยนแปลงจนทำให้เกิดการดิสรัปด้านเทคโนโลยีรอบนี้…
pin
3543 | 10/04/2024
5 เทคโนโลยีสุดล้ำ ที่ธุรกิจนำมาปรับใช้เป็นกลยุทธ์ใหม่กระตุ้นยอดขาย ดึงลูกค้า ช่วงมหาสงกรานต์ 2567

5 เทคโนโลยีสุดล้ำ ที่ธุรกิจนำมาปรับใช้เป็นกลยุทธ์ใหม่กระตุ้นยอดขาย ดึงลูกค้า ช่วงมหาสงกรานต์ 2567

ประเพณีสงกรานต์ของไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน สนับสนุนให้ “สงกรานต์” เป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์เทศกาลระดับโลก…
pin
3827 | 10/04/2024
5 นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี ตอบโจทย์เทรนด์รักสุขภาพองค์รวม 'Holistic Health' เมื่อคนยุคใหม่มองหาสุขภาวะที่ดีขั้นสุด

5 นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี ตอบโจทย์เทรนด์รักสุขภาพองค์รวม 'Holistic Health' เมื่อคนยุคใหม่มองหาสุขภาวะที่ดีขั้นสุด

การดูแลสุขภาวะที่ดีกำลังเป็นโจทย์สำคัญด้านสาธารณสุขของประเทศ ในห้วงเวลาที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็น “สังคมสูงวัย “ (Aged Society) โดยมีข้อมูลพบว่าตั้งแต่ปี…
pin
1006 | 25/03/2024
ทางรอดจาก Digital Transformation ‘Upskill & Reskill’ การปรับตัวของคนทำงาน ตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงลักษณะงานยุคเทคครองเมือง