รัฐฯ เร่งเยียวยา ฟื้นเศรษฐกิจฐานรากทั้งระบบ

News
06/04/2016
รับชมแล้วทั้งหมด 1656 คน
รัฐฯ เร่งเยียวยา ฟื้นเศรษฐกิจฐานรากทั้งระบบ
banner
มาตรการดังกล่าวนี้เกิดขึ้นบนเวทีสัมมนาวิชาการ จัดโดยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)  โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษว่า ขณะนี้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยอ่อนแรง จากปัญหาและอุปสรรคภายใน ดังนั้นหากไม่เร่งปฏิรูปในด้านต่าง ๆ ในช่วง 5-6 ปี ข้างหน้า  GDP ของไทยจะขยายตัวแบบไม่ยั่งยืน และลดต่ำกว่าร้อยละ 3 อย่างแน่นอน ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องใช้โอกาสในช่วง 2 ปีนี้ เร่งรัดการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ เพื่อให้มีความเข็มแข็งมาจากภายใน ซึ่งประกอบด้วย 1. การเปลี่ยนจากภาคเกษตรปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อขายผลผลิตเพียงอย่างเดียว ปรับมาเป็นปลูกพืชหลากหลายตามความต้องการของตลาด นำไปสู่การแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อให้ภาคเกษตรมีความเข็มแข็ง เพราะขณะนี้รัฐบาลได้พยายามส่งเสริมตลาดประชารัฐ ผลักดันห้างสรรพสินค้าช่วยเป็นตลาดรับซื้อ การให้สินเชื่อจากแบงก์รัฐเพื่อเติมทุนให้ภาคเกษตร 2. การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย ผ่านการใช้บทวิจัย แนวคิดนวัตกรรมใหม่มาปรับใช้ในเชิงธุรกิจ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าไทย ต่อไปหากต้องการขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอ ต้องมีเงื่อนไขการเน้นวิจัยและพัฒนา 3. การสร้างศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการใหม่ เพื่อเน้นทาง SME รายใหม่ที่ผ่านการพัฒนาด้วยพื้นฐานเทคโนโลยี ในการนำสินค้าเดิมที่มีอยู่มาต่อยอดกับการออกแบบ ผ่านการสนับสนุนโดยเอกชนรายใหญ่ และรัฐบาลสนับสนุน และ 4. ต้องการส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยปรับปรุงหลักสูตรพัฒนาแนวคิดให้นักศึกษา ใช้แนวคิดใหม่ผ่านหลักสูตรคณิตศาสตร์ประยุกต์ การวิจัย วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อนำไปปรับใช้ในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ในงานเดียวกันนี้ นายทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวเช่นกันว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน มีอัตราการว่างงานต่ำมากไม่ถึงร้อยละ 1 อัตราเงินเฟ้อแทบติดลบ อัตราดอกเบี้ยต่ำ แต่การลงทุนไม่ขยับตัว การบริโภคไม่ขยายเพิ่ม จึงทำให้เศรษฐกิจไม่เกิดการหมุนเวียน การว่างงานต่ำมากจึงดูเหมือนคนมีงานทำทุกคน แต่ผลิตภาพและผลผลิตกลับไม่มีคุณภาพ นับเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ซึ่งต้องเร่งทำการปฏิรูป เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมานับว่าขาดคุณภาพ ดังนั้นเพื่อพัฒนาประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน ต้องปรับทัศนคติ แนวคิด ด้วยการตระหนักถึงความสำคัญต่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้กับทุกภาคส่วน เพื่อสร้างความพอดี ทั้งการสร้างหนี้สิน ขยายกิจการ ภาครัฐต้องสร้างจิตสำนึก ธรรมาภิบาลให้เกิดกับทุกภาคส่วน จากนั้นเร่งผลักดันภาคเกษตรพัฒนาไปสู่ภาคอุตสาหกรรมแปรรูปหรือภาคบริการ

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


รัฐฯ เร่งเยียวยา ฟื้นเศรษฐกิจฐานรากทั้งระบบ