ในเรื่องนี้นั้นมีหลายฉากที่เกี่ยวข้องกับหุ่นกระบอก ซึ่งทำให้ผู้ชมได้มีโอกาสสัมผัส และเห็นการแสดงหุ่นกระบอก ศิลปะที่น้อยคนนักจะเคยชม
หุ่นกระบอกในเนื้อเรื่องของละคร “กำไลมาศ” นี้ เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยเลียนแบบมาจากหุ่นจีนไหหลำ ซึ่งมีการบันทึกไว้ว่าเกิดขึ้นในแถบภาคเหนือ คือ สุโขทัย อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ โดยนายเหน่งแห่งเมืองสุโขทัยได้เห็นหุ่นจีนไหหลำ จึงนำมาประดิษฐ์ให้เป็นแบบไทย และใช้แสดงกันในแถบนั้น
จากนั้นเมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เสด็จตรวจราชการที่ จ.สุโขทัย พระยาสุโขทัยได้จัดให้มีการแสดงหุ่นนายเหน่งให้กรมพระยาดำรงฯ ได้ทรงทอดพระเนตร ขณะเดียวกัน หม่อมราชวงศ์เถาะพยัคฆเสนา ซึ่งได้ชมการแสดงในครั้งนั้นด้วย เกิดความคิดที่จะสร้างหุ่นกระบอกขึ้นมา และนำมาจัดแสดงในกรุงเทพฯ จนได้รับความนิยมล้นหลาม
ถึงแม้จะชื่อว่าหุ่นกระบอก แต่หลาย ๆ คนกลับไม่เคยรู้เลยว่า เจ้าหุ่นกระบอกนั้นเกี่ยวข้องกับ “กระบอก” อย่างไร เพราะดูจากรูปร่างลักษณะก็ไม่น่าจะมาจากกระบอกตรงไหน ทั้งจากศีรษะหุ่น มือ เสื้อผ้า แต่หารู้ไม่ว่าลำตัวของหุ่นนั้นจริง ๆ แล้วทำด้วยกระบอกไม้ไผ่ จึงเป็นที่มาของคำว่า “หุ่นกระบอก”
ในการประดิษฐ์หุ่นขึ้นมาเป็นตัวละครต่าง ๆ เช่น พระ นาง ยักษ์ ลิง ตลก หรือสัตว์นั้น ในส่วนของศีรษะหุ่นแต่ละตัวจะมีการเขียนคิ้ว แต่งหน้า ทาปากอย่างสวยงามตามแต่บุคลิกของตัวละคร แต่ด้วยความที่ศีรษะของหุ่นนั้นมีขนาดไม่ใหญ่มาก จึงต้องใช้ฝีมือในการประดิษฐ์ค่อนข้างมาก ส่วนมือของหุ่นจะต้องตั้งวง หุ่นบางตัวโดยเฉพาะหุ่นผู้หญิง จะตั้งวงทั้งสองข้าง ในขณะที่บางตัวจะตั้งวงข้างซ้ายข้างเดียว
ส่วนมือขวาของหุ่นที่กำอาวุธ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นตัวพระ ยักษ์ และตัวตลก โดยมือของหุ่นนั้นจะถูกต่อกับไม้ตะเกียบไว้ใช้สำหรับจับเชิดหุ่น ในขณะที่เสื้อของหุ่นจะทำเป็นถุงคลุมจากไหล่ลงมาครึ่งตัว ทั้งนี้ตัวละครที่แตกต่างกันก็จะใช้คอสตูมหรือเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่แตกต่างกันไป
การแสดงหุ่นกระบอกหรือการเชิดหุ่นนั้น เป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่มีท่าทางในการเชิดหลายแบบ ซึ่งต้องอาศัยการฝึกฝน จึงจะทำให้หุ่นนั้นมีท่วงท่าลีลางาม อีกทั้งมีวงดนตรีคอยบรรเลงเพลงประกอบ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะใช้วงปี่พากย์เครื่องห้า ที่มีทั้งปี่ใน ระนาดเอก ฆ้องวงใหญ่ ตะโพน กลองแขก กลองทัด รวมทั้งซออู้และกลองแต๊ก ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่ขาดไม่ได้ในการแสดงหุ่นกระบอก โดยผู้เชิดหุ่นจะเป็นผู้ร้องเพลงหุ่นและเจรจาบทพากย์ต่าง ๆ เอง แต่หากผู้เชิดเป็นผู้ชาย ก็จะให้ผู้หญิงเป็นผู้พากย์แทน ซึ่งผู้ชมจะไม่ได้เห็นผู้พากย์หรือผู้เชิดหุ่นรวมทั้งวงดนตรี เพราะจะมีการสร้างโรงและฉากหุ่นปิดบังไว้
ในการแสดงหุ่นกระบอกนั้น มักจะนำละครจักร ๆ วงศ์ ๆ เช่น ลักษณวงศ์ ขุนช้างขุนแผน แก้วหน้าม้า สังข์ทอง ฯลฯ มาใช้แสดง แต่ที่นิยมที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องพระอภัยมณี โดยในอดีตนั้นการแสดงหุ่นกระบอกมักจะแสดงในงานสมโภชหรืองานนักขัตฤกษ์ต่าง ๆ
แต่ในปัจจุบันการแสดงหุ่นกระบอกนั้นค่อนข้างหาชมได้ยาก โดยจะยังนิยมอยู่เฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีใจรักศิลปะแขนงนี้เท่านั้น เพราะถูกความบันเทิงรูปแบบอื่นเข้ามาแทนที่ ซึ่งหากศิลปะแขนงนี้ล้มหายตายจากไป ก็คงเป็นที่เสียใจอยู่ไม่น้อย
