สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ถือเป็นประเทศที่นักลงทุนทั่วโลกต่างจับตามอง เพราะมีภาวะเศรษฐกิจเติบโตอยู่ในเกณฑ์ดีจนกลายเป็นตลาดขนาดใหญ่ในภูมิภาคอาเซียน ธุรกิจดาวเด่นที่น่าไปลงทุน คือ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม , ธุรกิจร้านสะดวกซื้อและอีคอมเมิร์ซ , อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม , ธุรกิจแปรรูปผลผลิตการเกษตร ช่วงที่ผ่านมาการค้าการลงทุนในเวียดนามมีความโดดเด่นเป็นอย่างมาก จากการที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบต่างๆ เพื่อดึงดูดนักลงทุน ซึ่งไทยจัดเป็นตลาดส่งออกและนำเข้าอันดับ 1 ของเวียดนาม
คุณสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม และ ประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) เผยว่า ปัจจุบันเวียดนามมีนักลงทุนไทยเข้าร่วมทำธุรกิจมากเป็นอันดับ 3 ของประเทศ ทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่และรายย่อยที่ขยายฐานการผลิตไปสู่เวียดนาม
คุณสนั่นยังเล่าถึงประสบการณ์ลงทุนในเวียดนามเมื่อ 20 ปีก่อน ที่คิดว่า แค่ทำการค้าในประเทศอย่างเดียวไม่พอ ต้องลงทุนในต่างประเทศด้วย เพราะศรีไทยซุปเปอร์แวร์มีการส่งสินค้าไปขายต่างประเทศอยู่แล้ว และสินค้าไทยก็เป็นที่นิยมมากในเวียดนามตั้งแต่สมัยก่อน แต่หลายบริษัทต้องหยุดชะงัก เพราะขาดประสบการณ์การทำธุรกิจ จึงแนะนำว่าควรศึกษาข้อมูลให้มากพอก่อนตัดสินใจลงทุน ซึ่งในสมัยนั้นหากต้องการคำปรึกษาและการสนับสนุนด้านการเงิน ต้องไปที่ธนาคารกรุงเทพ ซึ่งเป็นธนาคารไทยเพียงธนาคารเดียวในเวียดนาม
ด้านคุณธาราบดี ซึ้งอดิชัยวิทย์ ผู้จัดการทั่วไปสาขาในประเทศเวียดนาม ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้มาแชร์ประสบการณ์ระหว่างที่ให้บริการอยู่ในเวียดนามมากว่า 14 ปี มีโอกาสได้ดูแลนักธุรกิจไทยทั้งรายใหญ่รายเล็ก โดยคุณธาราบดี เผยว่า จุดเด่นในประเทศเวียดนามคือ จำนวนประชากรวัยหนุ่มสาว และชนชั้นกลางที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ความต้องการบริโภคจึงเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล เช่น ความต้องการซื้อรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ ที่เห็นได้ชัดคือ ร้านสะดวกซื้อเจ้าใหญ่ที่มีอยู่ทุกหัวมุมถนน สะท้อนให้เห็นถึงกำลังซื้อของประชากรเวียดนาม ซึ่งเป็นโอกาสอันดีของ SME ไทยที่จะเข้าไปเติบโตในเวียดนาม นอกจากนี้ยังต้องศึกษาความแตกต่างของความต้องการตลาดในแต่ละภูมิภาคของเวียดนาม เช่น ภาคเหนือจะเน้นเสื้อผ้าแฟชั่นแบรนด์เนม ขณะที่ภาคใต้เน้นอาหารการกิน และเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญในการทำธุรกิจแต่ละพื้นที่ โดยคุณธาราบดีแนะนำว่า อยากให้ไปใช้ชีวิตอยู่ที่เวียดนามสักสองสามเดือนเพื่อศึกษาตลาดก่อนว่า ผลิตภัณฑ์ของเราเป็นที่ต้องการไหม มีความโดดเด่นหรือตอบสนองผู้บริโภคได้ดีกว่าของที่มีอยู่ในตลาดหรือไม่ และหากตัดสินใจเข้าไปลงทุน ควรเริ่มที่โฮจิมินห์ เพราะมีกลุ่มลูกค้าจำนวนมาก
คุณธาราบดี กล่าวทิ้งท้ายว่า ธนาคารกรุงเทพพร้อมที่จะช่วยเหลือนักลงทุนที่ต้องการไปดำเนินธุรกิจที่เวียดนาม เพราะธนาคารกรุงเทพสามารถเชื่อมโยงทั้งภาคการลงทุน และภาคธุรกิจในเวียดนามไว้ได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิประโยชน์ หรือเครือข่ายธุรกิจ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจ
ทั้งหมดนี้คือเทคนิคเสริมแกร่งธุรกิจส่งออกไทยไปเวียดนาม ผู้ประกอบการ SME ท่านใดที่สนใจจะทำการค้าการลงทุนที่ประเทศเวียดนาม สามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพได้ตลอดเวลาครับ
ธนาคารกรุงเทพ ใส่ใจให้บริการนักลงทุนในย่านอาเซียนด้วยบริการเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน เรามีสาขาของธนาคารอยู่ในประเทศอาเซียน 9 ใน 10 ประเทศ เพื่อให้บริการท่าน
สนใจติดต่อได้ที่ศูนย์ AEC Connect ชั้น 2 สำนักธุรกิจ ธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่
อีเมล: AECconnect@bbl.co.th โทรศัพท์ 02 -230-2758 หรือ สายด่วน 1333