แปรรูปทูน่ากระป๋อง เฮ! พาณิชย์ เตรียมปลดล็อคนำเข้าทูน่าครีบเหลือง

SME Update
25/01/2019
รับชมแล้วทั้งหมด 2132 คน
แปรรูปทูน่ากระป๋อง เฮ! พาณิชย์ เตรียมปลดล็อคนำเข้าทูน่าครีบเหลือง
banner
กรมการค้าต่างประเทศเตรียมยกเลิกประกาศคุมนำเข้าปลาทูน่าชนิดครีบเหลืองและผลิตภัณฑ์ หลัง ครม.ไฟเขียวให้เลิกใช้ เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานภาครัฐ ให้อยู่ภายใต้กฎหมายของกรมประมงเพียงแห่งชาติ และเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง ประกาศและระเบียบกระทรวงพาณิชย์ที่กำกับดูแลการนำเข้าสินค้าปลาทูน่าชนิดครีบเหลืองและผลิตภัณฑ์ พ.ศ.2537 ซึ่ง ครม. ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว และขณะนี้ กรมฯ กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการยกเลิกประกาศและระเบียบดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และสอดคล้องกับมาตรการของกรมประมง โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในเร็วๆ นี้

โดยที่ผ่านมา จากประกาศกระทรวงพาณิชย์ดังกล่าว กระทรวงพาณิชย์ได้ออกประกาศและระเบียบกระทรวงพาณิชย์ที่กำกับดูแลการนำเข้าสินค้าปลาทูน่าชนิดครีบเหลืองและผลิตภัณฑ์ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 มีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการป้องกันการทำลายปลาโลมาอันเนื่องมาจากการจับปลาทูน่าดังกล่าว รวมทั้งเพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการกีดกันทางการค้าจากประเทศคู่ค้าที่ให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล

มาตรการดังกล่าวกำหนดให้ผู้นำเข้าปลาทูน่าชนิดครีบเหลืองและผลิตภัณฑ์ต้องมีหนังสือรับรองจากกรมประมงไปแสดงต่อกรมศุลกากรว่าสินค้าดังกล่าวไม่ได้มาจากการทำประมงด้วยอวนล้อมบริเวณเขตร้อนในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกที่เป็นอันตรายต่อปลาโลมา

ขณะที่ ปัจจุบัน กรมประมงมีมาตรการควบคุมตรวจสอบการนำเข้าสินค้าปลาทูน่าและผลิตภัณฑ์ ภายใต้พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 ที่ตราขึ้นเพื่อป้องกันการทำประมงที่ผิดกฎหมายรองรับระเบียบ IUU Fishing (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing) โดยกำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้าดังกล่าวจะต้องขออนุญาตนำเข้าจากกรมประมง ซึ่งการอนุญาตจะทำได้เฉพาะเมื่อมีใบรับรองการจับสัตว์น้ำหรือเอกสารอื่นใดที่แสดงว่าสัตว์น้ำนั้นได้มาจากการทำประมงโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งครอบคลุมเงื่อนไข เรื่อง การป้องกันการจับปลาทูน่าครีบเหลืองที่เป็นอันตรายต่อปลาโลมาด้วย ทำให้เกิดความซ้ำซ้อนในการบังคับใช้กฎหมาย

การปลดล็อคดังกล่าว จะเป็นการลดความซ้ำซ้อนในการบังคับใช้กฎหมาย โดยต่อไปการขออนุญาตจะไปอยู่ที่กรมประมงเพียงแห่งเดียว

ทั้งนี้ ปลาทูน่าจัดเป็นสัตว์น้ำที่มีความสำคัญในอุตสาหกรรมอาหาร เนื่องจากผู้บริโภคเห็นว่าปลาทูน่าเป็นอาหารที่สามารถทดแทนเนื้อสัตว์ประเภทอื่นได้ มีคุณค่าทางโภชนาการสูง และราคาไม่แพง ปัจจุบันประเทศไทยส่งออกปลาทูน่ากระป๋องมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก แบ่งผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องออกเป็น 2 รูปแบบหลัก คือ ปลาทูน่าในน้ำมันพืช (Tuna in oil) และปลาทูน่าในน้ำเกลือ (Tuna in brine)

นอกจากจะเป็นผู้ผลิตและส่งออกปลาทูน่ากระป๋องรายใหญ่ของโลกแล้ว ประเทศไทยยังเป็นผู้นำเข้าวัตถุดิบปลาทูน่ารายใหญ่ของโลกด้วย เนื่องจากกว่าร้อยละ 80 ของปลาทูน่าที่ใช้ในการผลิตปลาทูน่ากระป๋องต้องนำเข้า ทั้งนี้เพราะปลาทูน่าที่จับได้จากการทำประมงของไทยมีประมาณร้อยละ 20 เท่านั้น ทั้งมีแนวโน้มลดลง


โดย ปลาทูน่าครีบเหลือง เป็นสายพันธุ์ที่ผู้ประกอบการไทยใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตปลาทูน่ากระป๋องและจำหน่ายมากเป็นอันดับสอง โดยลักษณะของปลาทูน่าพันธุ์นี้จะมีขนาดลำตัวยาว 27-60 นิ้ว และน้ำหนักตั้งแต่ 7-25 กิโลกรัม อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่มีอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 18-30 องศาเซลเซียส ลักษณะโดยทั่วไปจะเป็นปลาที่มีสีเข้มน้อย และมีปริมาณเนื้อปลามากกว่าสายพันธุ์อื่นๆ

แต่ละปีไทยนำเข้าปลาทูน่าสด/แช่เย็น/แช่แข็งปริมาณ 700,000-760,000 ตัน มูลค่า 41,000-45,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 97% ของปริมาณการนำเข้ารวม โดยนำเข้าชนิดหรือสายพันธุ์ท้องแถบ มากที่สุด คิดเป็น 70% รองลงมา คือ พันธุ์ครีบเหลือง ,พันธุ์ครีบยาว และพันธุ์ตาโต  ตามลำดับ

โดยปลาทูน่าครีบเหลืองที่นำเข้าทางศูนย์บริหารจัดการด่านตรวจสัตว์น้ำเขต 3 จังหวัดสงขลา เป็นการนำเข้าโดยเรือบรรทุกสินค้าตู้คอนเทนเนอร์และเรือบรรทุกสัตว์น้ำ (BULK) ในลักษณะสินค้าแช่แข็งทั้งหมด ณ ท่าเรือน้ำลึกสงขลา ซึ่งมีการนำเข้าทางเรือบรรทุกสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากประเทศ  อินโดนีเซีย  ไต้หวัน  จีน และ หมู่เกาะโซโลมอน และส่งต่อไปยังโรงงานแปรรูปซึ่งมีที่ตั้งภายในจังหวัดสงขลา พังงา และภูเก็ต ประมาณร้อยละ 80 ส่วน ซึ่งเมื่อแปรรูปแล้วจะส่งออกจำหน่ายยังต่างประเทศประมาณร้อยละ 90 โดยมีตลาดหลักคือสหรัฐอเมริกา และออสเตรเลียส่วนที่จำหน่ายในประเทศประมาณร้อยละ 10 ในรูปแบบผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องที่ผลิตไปยังห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ขณะที่ประมาณร้อยละ 20 เป็นการรอส่งออกต่อไปในรูปแบบวัตถุดิบเพื่อเข้าโรงงานแปรรูป ในญี่ปุ่น และเวียดนาม

การดำเนินการดังกล่าวเป็นการบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐในการขจัดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงานของรัฐ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการกลุ่มแปรรูปอาหารกระป๋อง


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

Personal Branding สําหรับเจ้าของธุรกิจ SME: ทําอย่างไรให้คุณเป็นที่จดจําในวงการธุรกิจ

Personal Branding สําหรับเจ้าของธุรกิจ SME: ทําอย่างไรให้คุณเป็นที่จดจําในวงการธุรกิจ

กระแสการเติบโตของอินฟลูเอนเซอร์และสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้แนวคิดเรื่อง Personal Branding ถูกนำมาพูดถึงอย่างกว้างขวางอีกครั้ง เพราะในวันนี้ที่โลกมีคนเก่งเกิดขึ้นมากมาย…
pin
9 | 17/04/2025
สาย SME ต้องรู้ไว้! AI คืออะไร ทำงานอย่างไร พร้อมตัวอย่าง AI สำหรับใช้ปั้นธุรกิจให้โต

สาย SME ต้องรู้ไว้! AI คืออะไร ทำงานอย่างไร พร้อมตัวอย่าง AI สำหรับใช้ปั้นธุรกิจให้โต

แนวโน้มการใช้ AI และประโยชน์ต่อการเติบโตของ SMEในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้เข้ามาสร้างผลกระทบอย่างมหาศาลต่อธุรกิจ…
pin
9 | 16/04/2025
ทรัมป์ขึ้นภาษี 37% กระทบอะไรบ้าง และ SME ไทยต้องปรับตัวยังไง?

ทรัมป์ขึ้นภาษี 37% กระทบอะไรบ้าง และ SME ไทยต้องปรับตัวยังไง?

Topic Summary: นโยบายขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ สร้างแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ต่อการค้าโลก มาดูกันว่าเหตุการณ์นี้กระทบ…
pin
11 | 11/04/2025
แปรรูปทูน่ากระป๋อง เฮ! พาณิชย์ เตรียมปลดล็อคนำเข้าทูน่าครีบเหลือง