ส่องเทรนด์ Pent Up Demand สะเทือนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ผู้บริโภคพร้อม ‘เล่นใหญ่-จ่ายเต็ม’ หลังอัดอั้นจากวิกฤต

Mega Trends & Business Transformation
15/03/2023
รับชมแล้วทั้งหมด 5672 คน
ส่องเทรนด์ Pent Up Demand สะเทือนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว   ผู้บริโภคพร้อม ‘เล่นใหญ่-จ่ายเต็ม’ หลังอัดอั้นจากวิกฤต
banner
เมื่อแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง ทำให้ประชากรทั่วโลกกว่า 7,000 ล้านคน กลับมาตื่นตัวที่จะเดินทางท่องเที่ยวข้ามประเทศอีกครั้งหนึ่ง หลังจากอัดอั้นกันมานานถึง 3 ปี ประเด็นนี้ช่วยชุบชีวิตให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลับมีลมหายใจอีกครั้ง  
 
ข้อมูลจากองค์การท่องเที่ยวโลก (UNWTO) รายงานว่า ขณะนี้ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกำลังฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565  มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางไปต่างประเทศเพิ่มขึ้น 133% เมื่อเทียบกับปีก่อน  
 


และเมื่อรวมตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปี คิดเป็น 65% ของช่วงก่อนวิกฤตโควิด 19 โดยในรายละเอียดยังพบอีกว่า จำนวนนักท่องเที่ยว 900 ล้านคนที่ออกเดินทางท่องเที่ยวในปี 2565 นั้น เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากปี 2564 ซึ่งในจำนวนนี้เป็นการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคตะวันออกกลาง ที่เติบโตขึ้น 83% จากช่วงก่อนวิกฤตโควิด รองลงมา คือ ภูมิภาคยุโรป 80% และอเมริกา 65% ส่วนเอเชียและแปซิฟิกมีเพียง 23%  



อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่า การท่องเที่ยวจะเติบโตเต็มที่ในปี 2023 (2566) เพิ่มเป็น 80-95% ของช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด โดยเฉพาะการฟื้นตัวของกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนซึ่งประเทศนักท่องเที่ยวเบอร์ 1 ที่จะกลับมาเดินทางท่องเที่ยวเป็นปกติ ขณะเดียวกันยังมีกลุ่มนักท่องเที่ยวสหรัฐ ที่มีโอกาสจะเดินทางมากขึ้นเพราะได้รับแรงสนับสนุนจากเงินดอลลาร์ที่แข็งค่ามากขึ้น (Tourism Set to Return to Pre-Pandemic Levels in Some Regions in 2023 (unwto.org)) 
 
มีการตั้งคำถามเพื่อดูว่า จากการที่ดีมานด์การท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังอัดอั้นมานาน หรือที่เรียกว่า Pent-up demand ผู้บริโภคพร้อมที่จะเล่นใหญ่ - จ่ายเต็ม จะมีผลทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวในปีนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร  
 
หากดูแนวโน้มการท่องเที่ยว หรือ Mega Trends 2023 ในส่วนของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวปีนี้ ที่อุปสงค์คงค้างของการท่องเที่ยว (Pent-up demand) ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่ พฤติกรรมการท่องเที่ยวในยุคดิจิทัลจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป  



โดยหลายธุรกิจมองว่าผู้บริโภคที่ผ่านช่วงการแพร่ระบาดของโควิดมาสู่ยุคหลังโควิด (Post Covid) จะทำให้เกิดประสบการณ์ใหม่ หรือ Physical Experience ที่แตกต่างไปจากเดิม คิดง่าย ๆ คือ คนที่เดินทางท่องเที่ยวจะยังคงมีการดูแลด้านสุขอนามัย มีการใช้เจลล้างมือ หรือสวมหน้ากากอนามัย หรือบางคนอาจจะตัดสินใจเลิกใช้เลยก็เป็นได้ 
 
และสิ่งที่สองคือ พฤติกรรมด้านการใช้เทคโนโลยีของผู้บริโภค จะปรับเปลี่ยนไปจากเดิม กล่าวคือ ยังเสพติดการใช้เทคโนโลยี Everything Everywhere เพราะไลฟ์สไตล์ของพวกเขาเปลี่ยนแปลงไปแล้ว  
 
ขณะเดียวกัน ปัจจัยที่เป็นความท้าทายที่อาจจะส่งผลกับการท่องเที่ยวในปีนี้ ยังมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่อาจจะชะลอตัว ความยืดเยื้อปัญหาสงครามรัสเซีย -ยูเครน ตลอดจนทั้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้ทำให้คนหันมาใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม และการสร้างความยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งทุกอย่างล้วนผูกโยงกับเทรนด์การท่องเที่ยวแบบใหม่ว่าจะไปในทิศทางใด โดยพอสรุปได้ว่าเทรนด์ที่กำลังมาแรงในปีนี้ คือ  



เทรนด์ท่องเที่ยวที่ดีต่อสุขภาพ สังคมและโลก หรือ Sustainable Wellness สาเหตุที่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ยังถือเป็นเทรนด์มาแรงมากต่อเนื่อง จากความหมายของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน คือความต้องการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับหาแนวทางการอยู่ร่วมกันของการท่องเที่ยวกับท้องถิ่น ในขณะที่ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้บริสุทธิ์ ในการทำงานระดับสากล ซึ่งองค์การสหประชาชาติให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับการท่องเที่ยว รวมถึงการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ และมีงานวิชาการที่เกี่ยวข้องมากมายสนับสนุนเรื่องดังกล่าว 

 
ไม่เพียงแค่รูปแบบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ หรือลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่านั้น แต่ยังหมายถึงประสบการณ์ที่มุ่งเน้นไปที่การสร้างประโยชน์ให้กับคนในท้องถิ่นและเศรษฐกิจ ตลอดจนการอนุรักษ์มรดกทางธรรมชาติและวัฒนธรรมควบคู่กันไปด้วย 



ในขณะเดียวกัน ความวุ่นวายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้เดินทางหันมาสนใจการท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อนในกระท่อมที่หลบซ่อนตัวกลางป่า สนุกสนานกับการตั้งแคมป์ ทำอาหารรอบกองไฟ และการใช้เข็มทิศเดินทาง หรือที่เรียกว่าการท่องเที่ยวในรูปแบบ “ตัดขาดจากโลกภายนอก” (off-grid) หรือการท่องเที่ยวแบบสไตล์ชนบท หรือ Hay-cation เพื่อท่องเที่ยวสถานที่ที่มีลักษณะเป็นบ้านพักตากอากาศที่มีทิวทัศน์สวยงาม สัมผัสชีวิตชนบท ซึ่งจะเป็นที่นิยมมากขึ้นในปี 2566 

โดยอีกกลุ่ม จะเป็นการท่องเที่ยวของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ทำงานทางไกล หรือใช้ชีวิตการทำงานผ่านระบบออนไลน์ ทำงานที่ไหนก็ได้ ที่เรียกว่า กลุ่ม Digital Nomad  เช่น กลุ่มนักเขียนฟรีแลนซ์ บล็อกเกอร์ โปรแกรมเมอร์ ซึ่งจะใช้ชีวิตการทำงานควบคู่กับการพักผ่อนก็เริ่มจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ภายหลังจากโควิดทำให้ทุกคนเริ่มได้เรียนรู้ประสบการณ์ทำงานจากที่ไหนก็ได้ หรือ  Work from anywhere  



เป็นที่น่าสังเกตว่า เทรนด์นี้ทำให้มีหลายประเทศ เช่น จอร์เจีย, โครเอเชีย, ไอซ์แลนด์, เยอรมนี, อินโดนีเซีย รวมถึงไทย ปรับมาตรการเพื่อจับตลาดดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เข้าประเทศ โดยการอำนวยความสะดวกให้กับการเดินทางและขอวีซ่า แบบที่เรียกว่า Long Term Resident VISA หรือ LTR  ซึ่งไม่เพียงสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังช่วยดึงดูดแรงงานทักษะสูงเข้ามาทำงานในประเทศอีกด้วย  
 
นอกจากนี้ ไลฟ์สไตล์การเดินทางกับครอบครัว เพื่อใช้เวลากับสมาชิกในครอบครัวหลังจากที่ผ่านช่วงวิกฤตโควิด 3 ปี ทำให้ความสนุกของครอบครัวถูกปิดกั้น ดังนั้น หลังจากเปิดประเทศ มีโอกาสที่เทรนด์การเดินทางร่วมกับครอบครัวนี้  ส่งผลให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มีโอกาสเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 25%  
 
อีกด้านหนึ่ง ก็จะเห็นเทรนด์การท่องเที่ยวที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ กลับเติบโตสูงขึ้นเช่นกัน โดยในช่วงที่ผ่านมา เทรนด์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness tourism) ได้หันมามองหากิจกรรมใหม่ ๆ อย่างศาสตร์จักระบำบัด มากกว่ากีฬา สปา โยคะแบบเดิม ๆ ไม่ว่าจะเป็น การมองหาแหล่งท่องเที่ยวเพื่อว่ายน้ำในธรรมชาติ หรือ  Wild Swimming  การท่องเที่ยวเพื่อเดินทางไปแข่งขันกีฬาตามประเทศต่าง ๆ เช่น แข่งขันขี่ม้า, กอล์ฟ, เทนนิส  



ทั้งยังมีการท่องเที่ยวตามรอยหนังดัง หรือที่เรียกว่า Set-Jetter ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ยกตัวอย่างเช่น ปรากฎการณ์ตามรอยซีรีส์เกาหลีชื่อดัง “ Hometown Cha Cha Cha” ทำให้มีผู้ชมเดินทางไปเที่ยวเมืองโพฮังมากขึ้น ซึ่งมีผลสำรวจจากเอ็กซ์พีเดีย ระบุว่ามีกลุ่มนักท่องเที่ยว 44% ที่ได้รับอิทธิพลจากภาพยนตร์และรายการทีวี สะท้อนถึงพลังของการทำการตลาดผ่านสิ่งที่เรียกว่า Soft Power นั่นเอง  
 
การขยายอิทธิพลของ Soft Power ไม่ใช่เพียงทางด้านความบันเทิงเท่านั้น แต่ยังมีความนิยมท่องเที่ยวเพื่อกราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อเป็นศิริมงคลในชีวิตตามสถานที่ต่าง ๆ หรือที่เรียกว่าการท่องเที่ยวสายมูเตลู หรือ สายมู ก็ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางสำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทย และต่างชาติ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีโบราณสถาน โบราณวัตถุ ที่ได้รับความศรัทธาจากนักท่องเที่ยวจำนวนมาก  
  
จะเห็นว่าเทรนด์การท่องเที่ยว มีความแตกต่างและหลากหลายมากขึ้นจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่กลับมาท่องเที่ยว แบบ Pent up demand  นำมาสู่การฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยวที่เคยซบเซาไปกว่า 3 ปี ซึ่งในมุมผู้ประกอบการ SME ไม่ว่าเทรนด์ไหนจะมา ก็ถือเป็นโอกาสสำคัญที่เพิ่มโอกาสในการขาย ดึงผู้บริโภคที่อัดอั้นจากการใช้จ่ายมาท่องเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจ 



แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการในธุรกิจเอสเอ็มอี( SME) ในกลุ่มท่องเที่ยว จะต้องเตรียมพร้อม คือ ต้องสำรวจว่าธุรกิจของคุณมี Pent up demand รออยู่หรือไม่ ถ้าใช่ ก็ควรใช้โอกาสนี้ในการเพิ่มโอกาสทำการค้าการขาย ด้วยการปรับใช้เทคโนโลยี เข้ามาช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับธุรกิจรองรับดีมานด์ที่เพิ่มขึ้น  
 
ทั้งนี้ อุปสรรคสำคัญที่พบ หลังจากที่หลายธุรกิจที่เพิ่งฟื้นตัวกลับมา อาจจะประสบปัญหาเรื่องการหาแรงงาน ที่เดินทางกลับภูมิลำเนา ไม่สามารถกลับมาทำงานได้ทัน หรือไม่เพียงพอความต้องการ ซึ่งจากข้อมูลของสมาคมโรงแรมไทย พบว่า นับจากเดือนพฤษภาคม 2565 การจ้างงานในภาคบริการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 68% จากช่วงโควิด ทำให้มีธุรกิจท่องเที่ยวกว่า 50% ที่ประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน  
ส่วนธุรกิจที่สามารถหาแรงงานกลับมาทำงานได้ ก็จะประสบปัญหาต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น จึงทำให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ ต้องหันมาพึ่งพาการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้เกิดเป็น ธุรกิจท่องเที่ยว 4.0 มากขึ้น 


https://moocs.nia.or.th/article/5-new-normal-travel-trends

โดยข้อมูล NIA MOOCs (2023) ระบุว่า เทรนด์เทคโนโลยีที่นำมาใช้ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพื่อช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่กำลังมาแรง คือการใช้หุ่นยนต์ แชตบอทต่าง ๆ เช่น ChatGPT มาช่วยในการตอบข้อมูลที่เป็นคำถามที่พบบ่อยให้กับลูกค้า เพื่ออำนวยความสะดวก และลดภาระงานขององค์กร  
 
นอกจากนี้ ยังมีการนำเทคโนโลยีไร้สัมผัส (Contactless Tech) มาใช้ในการบริการ เช่น ระบบ Digital Key การปลดล็อกห้องพักโดยไม่ใช้กุญแจ การใช้ระบบ RFID NRC ในการสแกนจดจำใบหน้าลูกค้า รวมถึง การใช้แพลตฟอร์มในการวางแผนสำหรับนักท่องเที่ยวต่าง ๆ เป็นต้น  
 


ดังนั้น การใช้เทคโนโลยี เข้ามาปรับใช้ในธุรกิจ เพื่อรองรับดีมานด์ที่เพิ่มขึ้น น่าจะเป็นคำตอบสำคัญสำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวนับจากนี้ไป  เพื่อให้สามารถบริการตอบโจทย์การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวหลัง Pent-up demand  ที่จำนวนนักท่องเที่ยวกลับมาโตเร็วและแรงได้ในอนาคต  

ประเด็นต่อจากนี้ คือ สิ่งที่ผู้ประกอบการ SME ภาคธุรกิจท่องเที่ยว จะมีการนำเทคโนโลยีใด มาปรับใช้อย่างไร? เพื่อให้ก้าวทันเทรนด์ท่องเที่ยวในปี 2023 และเกิดการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่สดใสจากโอกาสการเติบโตของธุรกิจ 

...ติดตามบทความ การปรับตัวของ SME ท่องเที่ยวไทย เมื่อต้อง Transformation รับดีมานด์พุ่ง หันใช้เทคฯ เพิ่มมูลค่า ตอบโจทย์ลูกค้าตรงจุด ในครั้งหน้า ทาง Bangkok Bank SME

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ธุรกิจยุคดิจิทัล ต้อง Transformation อย่างไร เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ในเทศกาลสงกรานต์

ธุรกิจยุคดิจิทัล ต้อง Transformation อย่างไร เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ในเทศกาลสงกรานต์

ความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ กลายเป็นโจทย์หลักของนักการตลาดในยุคดิจิทัล หากเจาะลึกลงไปจะพบว่าการเปลี่ยนแปลงจนทำให้เกิดการดิสรัปด้านเทคโนโลยีรอบนี้…
pin
2150 | 10/04/2024
5 เทคโนโลยีสุดล้ำ ที่ธุรกิจนำมาปรับใช้เป็นกลยุทธ์ใหม่กระตุ้นยอดขาย ดึงลูกค้า ช่วงมหาสงกรานต์ 2567

5 เทคโนโลยีสุดล้ำ ที่ธุรกิจนำมาปรับใช้เป็นกลยุทธ์ใหม่กระตุ้นยอดขาย ดึงลูกค้า ช่วงมหาสงกรานต์ 2567

ประเพณีสงกรานต์ของไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน สนับสนุนให้ “สงกรานต์” เป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์เทศกาลระดับโลก…
pin
3660 | 10/04/2024
5 นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี ตอบโจทย์เทรนด์รักสุขภาพองค์รวม 'Holistic Health' เมื่อคนยุคใหม่มองหาสุขภาวะที่ดีขั้นสุด

5 นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี ตอบโจทย์เทรนด์รักสุขภาพองค์รวม 'Holistic Health' เมื่อคนยุคใหม่มองหาสุขภาวะที่ดีขั้นสุด

การดูแลสุขภาวะที่ดีกำลังเป็นโจทย์สำคัญด้านสาธารณสุขของประเทศ ในห้วงเวลาที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็น “สังคมสูงวัย “ (Aged Society) โดยมีข้อมูลพบว่าตั้งแต่ปี…
pin
987 | 25/03/2024
ส่องเทรนด์ Pent Up Demand สะเทือนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว   ผู้บริโภคพร้อม ‘เล่นใหญ่-จ่ายเต็ม’ หลังอัดอั้นจากวิกฤต