‘ภาษีพลาสติก’ กติกาใหม่ลด Climate Change เติมโลกใบใหม่ให้สดใสด้วยเศรษฐกิจ BCG
ขยะพลาสติกเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลกมายาวนาน จากการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจและการบริโภคที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งวิถีชีวิตของผู้คนที่ต้องการความสะดวกสบายมากขึ้น โดยเฉพาะการบริโภคอาหารก่อให้เกิดขยะพลาสติกมากถึง 242 ล้านตันต่อปี โดยประเทศที่มีขยะพลาสติกมากที่สุด 3 อันดับแรกได้แก่ สหรัฐอเมริกา (34 ล้านตัน) สหภาพยุโรป (30 ล้านตัน) อินเดีย (26 ล้านตัน) ขณะที่ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 12 (4.8 ล้านตัน) และเพื่อแก้ปัญหานี้ ก่อให้เกิดมาตรการเก็บ ‘ภาษีพลาสติก’ ที่ให้ประโยชน์แก่ธุรกิจที่มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า
อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทย การแก้ปัญหาขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน (Sustainability) นั้น ไม่ใช่เพียงแค่การลดปริมาณการใช้ลงเท่านั้น แต่ต้องเริ่มจากการปรับเปลี่ยนแนวคิด ตลอดจนการออกแบบสินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องใช้ และบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้หลายครั้ง ตามแนวความคิด BCG Model ในเรื่อง เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการหันมาประกอบธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ก่อนอื่นมาทำความรู้จัก ‘ภาษีพลาสติก’ คืออะไร?
‘ภาษีพลาสติก’ (Plastic Tax) หรือ ‘ภาษีบรรจุภัณฑ์พลาสติก’ (Plastic Packaging Tax: PPT) เป็นมาตรการภาษีที่เรียกเก็บเงินหรือค่าธรรมเนียมจากผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือประเทศสมาชิกที่ผลิต นำเข้า หรือใช้ผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งและย่อยสลายยาก ที่ไม่รวมบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่มาจากการรีไซเคิล ซึ่งการจัดเก็บภาษีพลาสติกจะทำให้ต้นทุนของบรรจุภัณฑ์พลาสติกเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคเปลี่ยนไปใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หรือเลือกใช้สินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้หรือบรรจุภัณฑ์ที่นำมาใช้ซ้ำแทน จะส่งผลทำให้ปริมาณขยะพลาสติกลดลง

มาดูมาตรการจัดเก็บ ‘ภาษีพลาสติก’ ในต่างประเทศ
ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกได้ออกมาตรการลดขยะพลาสติก และรณรงค์ใช้ผลิตภัณฑ์รีไซเคิลเพื่อลดขยะพลาสติกในทะเล และลดมลภาวะจากขยะล้นเมือง ยกตัวอย่าง ประเทศสวีเดน ต้นแบบของการกำจัดขยะ และนำขยะกลับมาใช้เป็นพลังงานภายในประเทศ ได้ถึง 96% ของขยะในประเทศ
หรือประเทศสหรัฐอเมริกา เดนมาร์ก อินโดนีเซีย และจีน มีการเก็บภาษีเพิ่มขึ้นจากผู้ผลิตถุงพลาสติกภายในประเทศ และมาตรการเก็บค่าธรรมเนียมจากถุงพลาสติก ในประเทศอังกฤษ กัมพูชา และมาเลเซีย นอกจากนี้หลายประเทศยังมีการรณรงค์เลิกใช้ถุงพลาสติกอีกด้วย

มาดูกันว่าประเทศที่มีการจัดเก็บภาษีพลาสติก (Plastic Tax) หรือ ภาษีบรรจุภัณฑ์พลาสติก (Plastic Packaging Tax: PPT) ไปแล้ว และประเทศที่เตรียมจะจัดเก็บภาษีในอนาคตอันใกล้นี้ มีประเทศอะไรบ้าง
เริ่มจากประเทศที่จัดเก็บภาษีพลาสติกไปแล้ว ได้แก่
สหภาพยุโรป โดยเริ่มจัดเก็บตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 โดยกำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องจ่ายภาษีให้กับสหภาพยุโรป โดยคำนวณจากปริมาณบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว ในอัตรา 0.8 ยูโรต่อกิโลกรัม โดยประเทศสมาชิกอียูแต่ละประเทศ ยังสามารถที่จะออกมาตรการภาษีพลาสติกของตนเองที่แตกต่างกันได้ ยกตัวอย่าง อิตาลีและสเปน เก็บภาษีพลาสติกจากผู้ผลิต ผู้ขาย ผู้ซื้อ ซัพพลายเออร์ และผู้นำเข้า ในอัตรา 0.45 ยูโรต่อกิโลกรัม
สหราชอาณาจักร เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 65 โดยจัดเก็บภาษีบรรจุภัณฑ์พลาสติกจากผู้ผลิตและผู้นำเข้าบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่มีส่วนผสมจากพลาสติกรีไซเคิลน้อยกว่าร้อยละ 30 ในอัตรา 200 ปอนด์ต่อตัน ส่วนโปรตุเกส เตรียมจัดเก็บภาษีพลาสติกในอัตรา 0.30 ยูโรต่อกิโลกรัม ภายในปี 2566
.
ส่วนประเทศที่เตรียมจะจัดเก็บภาษี ได้แก่
สหรัฐอเมริกา ถือเป็นตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกอันดับ 1 ของไทย ปัจจุบันกำลังจัดทำร่างกฎหมาย Reduce Act of 2021 ที่จะจัดเก็บภาษีพลาสติกที่ไม่มีส่วนผสมจากพลาสติกรีไซเคิลและบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ในอัตรา 0.2 – 0.5 ดอลลาร์ต่อปอนด์
.
ฟิลิปปินส์ เป็นอีกประเทศที่เตรียมจะจัดเก็บภาษีจากผู้ผลิตและผู้นำเข้าพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวเช่นกัน ในอัตรา 100 เปโซฟิลิปปินส์ต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 1.75 ดอลลาร์ฯ ภายในปี 2569

แล้วประเทศไทยได้รับผลกระทบอะไรบ้าง?
ทั้งนี้ จากข้อมูลสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ระบุว่า ในปี 2564 ประเทศไทยมีการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกไปตลาดโลก รวมมูลค่าทั้งสิ้น 140,772.17 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 2.07 % ของมูลการส่งออกรวม และมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกสำหรับใน 11 เดือนแรกของปี 2565 คิดเป็นมูลค่า 146,580.53 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า 14.09%
ในอนาคตมีแนวโน้มที่ตลาดเหล่านี้จะจัดเก็บภาษีพลาสติก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกอันดับ 1 ของไทย อยู่ระหว่างจัดทําร่างกฎหมาย Reduce Act of 2021 ซึ่งย่อมส่งผลให้ผู้ส่งออกมีต้นสูงขึ้น ดังนั้น ประเทศไทยต้องเตรียมพร้อมรองรับการปรับตัว และแสวงหาโอกาสทางการตลาดในการส่งออกผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับความต้องการ ของผู้บริโภค โดยตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย 5 อันดับแรก ได้แก่
• สหรัฐอเมริกา สัดส่วน 19.26%
• ญี่ปุ่น สัดส่วน 16.74%
• เวียดนาม สัดส่วน 5.69%
• ฟิลิปปินส์ สัดส่วน 4.94%
• จีน สัดส่วน 4.75%
ด้านผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ถึงแม้ตลาดสำคัญของไทยจะยังไม่มีการจัดเก็บภาษีพลาสติกในตอนนี้ แต่อนาคตอันใกล้นี้มีแนวโน้มที่ตลาดเหล่านี้จะจัดเก็บภาษีพลาสติก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกอันดับ 1 ของไทย อยู่ระหว่างจัดทำร่างกฎหมาย ซึ่งย่อมส่งผลให้ผู้ส่งออกมีต้นทุนสูงขึ้น

โอกาส ผู้ประกอบการ SME ไทย รุกตลาดบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก
นอกจากภาษีพลาสติกที่หลายประเทศเริ่มจัดเก็บแล้ว แนวโน้มในเรื่องของการแบนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งของทั่วโลกดูเหมือนว่าจะตื่นตัวมากขึ้น จึงเป็นโจทย์ที่ผู้ประกอบการ SME ไทยต้องเตรียมการรองรับ และปรับตัวเพื่อให้สามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในทางออกในการช่วยดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม คือการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ก้าวหน้า ซึ่งก่อให้เกิดงานวิจัยเรื่องบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกเป็นจำนวนมาก โดยอาจใช้แนวทาง ดังต่อไปนี้

1. บรรจุภัณฑ์ชีวภาพ (Bio packaging) วิจัยและพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ ที่ผลิตจากอ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง สามารถย่อยสลายได้ใน 180 วัน บรรจุภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายด้วยวิธีทางชีวภาพ (Biodegradable packaging) สามารถใช้แทนกระดาษและโฟมพอลิสไตรีนได้ บรรจุภัณฑ์ดังกล่าวผลิตจากปูนขาว แป้งมันฝรั่ง และเส้นใยพืช ซึ่งอาจเป็นเส้นใยใหม่หรือจากกระดาษรีไซเคิล ผ่านการทำให้พองโดยใช้ไอน้ำแล้วอบในอุปกรณ์คล้ายกับอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตโคนไอศกรีม

2. บรรจุภัณฑ์บริโภคได้ (edible packaging) เช่น บรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากสาหร่ายสีน้ำตาล กับสารประกอบแคลเซียม ใช้สำหรับบรรจุน้ำเปล่า หรือน้ำหวาน ทดแทนขวดและแก้วพลาสติก สามารถบริโภคได้โดยไม่เหลือทิ้งเป็นขยะ ซึ่งได้ทดลองใช้จริงในงานวิ่งมาราธอนในกรุงลอนดอน ช่วยลดขยะพลาสติกได้อย่างมาก

3. บรรจุภัณฑ์รีไซเคิล (Recycle packaging) ผลิตจากพลาสติกชนิดเดียวกัน เช่น พอลิพรอพิลีน (polypropylene: PP) เนื่องจากรีไซเคิลง่ายใช้ต้นทุนต่ำ และสามารถผลิตได้จริงในเชิงพาณิชย์ บรรจุภัณฑ์วัสดุชนิดเดียว (mono-material) เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ใช้วัสดุพลาสติกประเภทเดียวกันทั้งหมด ที่มีจุดประสงค์หลัก เพื่อการรีไซเคิลที่ไม่ต้องทำการจำแนกชนิดของขยะพลาสติก เป็นต้น

4. พัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับและมาตรฐานบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่มีส่วนผสมของพลาสติกรีไซเคิล

5. การส่งเสริมและผลักดันการส่งออกพลาสติกชีวภาพ โดยคํานึงถึงการตอบสนองต่อความต้องการของตลาดหรือผู้ซื้อ

6. การทําธุรกิจอย่างยั่งยืน (Sustainable business) ที่คํานึงถึงสังคมส่วนรวม สิ่งแวดล้อม และประเด็นทางสังคมต่าง ๆ ตลอดจนเศรษฐกิจสร้างมูลค่า (Value added economy) ที่นําเทคโนโลยีมาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มคุณภาพของสินค้า และสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เป็นต้น

7. ใช้ประโยชน์จาก Green Tax Expense มาตรการลดหย่อนภาษี ‘พลาสติกที่ย่อยสลายได้’ โดยให้ผู้ประกอบการนำรายจ่ายที่ใช้ในการซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ มาหักลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นจำนวน 1.25 เท่าของค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายไป ระหว่างปี 2565-2567 ซึ่งเป็นอีกทางที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนได้
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นว่า เรื่องขยะพลาสติกไม่ใช่เรื่องไกลตัวสำหรับธุรกิจอีกต่อไป แต่มีแนวโน้มที่มาตรการทางเศรษฐกิจคือการเก็บภาษีการใช้พลาสติกอีกด้วย ดังนั้นธุรกิจควรเร่งปรับตัวให้ไว เพื่อความได้เปรียบในการแข่งขันทางการตลาด ที่สำคัญช่วยสร้างสังคมที่น่าอยู่ และดูแลรักษาโลกไปพร้อม ๆ กันอย่างยั่งยืน
อ้างอิง
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.)
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=588835763281421&set=pb.100064650074276.-2207520000.&type=3&locale=es_LA
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
https://www.onep.go.th/11-%E0%B8%98%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%A1-2565-%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B9%8C%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B5%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B2/
https://www.bangkokbiznews.com/environment/1046931
กองนโยบายการสร้างความเข้มแข็งทางการค้า
http://www.tpso.moc.go.th/th/node/12318?fbclid=IwAR0n7mahSwHycNv_koykFR49n6EevLUOZ3i3Qz9SQrwHu8w2AzfFbjeO2lY