Road to Health & Wellness Hub ส่องความพร้อมการเป็นศูนย์กลางสุขภาพของไทย บนเวทีระดับโลก

Mega Trends & Business Transformation
18/05/2023
รับชมแล้วทั้งหมด 9034 คน
Road to Health & Wellness Hub ส่องความพร้อมการเป็นศูนย์กลางสุขภาพของไทย บนเวทีระดับโลก
banner
การปักหมุดพัฒนาเพื่อไทยเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดี (Health & Wellness Hub) เป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง จากตลาดการท่องเที่ยวด้าน Health & Wellness ของโลกที่มีขนาดใหญ่ มีรายได้ 4.5 ล้านล้านบาท และจะเติบโตสู่  6.99 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2568  และยังเป็นเป้าหมายที่ 3 จาก 17 เป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainanable Development Goals: SDGs) ที่ทั่วโลกต้องการให้บรรลุในปี 2030 อีกด้วย 



วางโรดแมป “ยุทธศาสตร์ 10 ปี”

ไทยมีการวางเส้นทางเดินหน้าสู่เป้าหมายการเป็น ‘ศูนย์กลางด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี’ ด้วยการจัดทำ “ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ” หรือ Medical Hub ปี 2560-2569  โดยกระทรวงสาธารณสุขมอบหมายให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ สนับสนุนนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical and Wellness Tourism)

เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนอนาคตประเทศที่รัฐบาลได้วางให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มนี้เป็น 1 ใน 10 เครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่



เป้าหมายการพัฒนายุทธศาสตร์นี้ เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางบริการสุขภาพของโลก มีรายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ยั่งยืน โดยวางองค์ประกอบการขับเคลื่อน 4  ด้าน คือ 

1.ศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub) เช่น บริการนวด/สปาเพื่อสุขภาพ นวดเสริมสวย สปาน้ำพุร้อน เป็นต้น

2.ศูนย์กลางบริการสุขภาพ (Medical Service Hub) เช่น บริการรักษาพยาบาล ทั้งเสริมความงาม ทันตกรรม ศัลยกรรม บริการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก บริการห้องปฏิบัติการ เป็นต้น 

3.ศูนย์กลางบริการวิชาการและงานวิจัย (Academic Hub) เช่น การจัดการศึกษาระดับปริญญา การจัดการศึกษาระดับแรงงานฝีมือ การจัดประชุมนานาชาติ เป็นต้น 

4.ศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Product Hub) ทั้งยาแผนปัจจุบัน ยาสมุนไพร อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ เป็นต้น 



การเดินหน้ายุทธศาสตร์ 2 เฟส 

ขณะนี้ผ่านมาถึงครึ่งทางแล้ว สำหรับการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ ได้แบ่งออกเป็น 2 ช่วงคือ ระยะเร่งด่วน (Quick Win) ปี 2560-2561 จะต้องดำเนิน 5 ยุทธศาสตร์ได้แก่ 

1.ยุทธศาสตร์เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการบริหารจัดการสุขภาพ เช่น ตั้งคณะกรรมการระดับชาติ คณะกรรมการอำนวยการเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (นโยบาย Medical Hub) การพัฒนาระบบประกันอุบัติเหตุสำหรับชาวต่างชาติที่เดินทางมาที่ประเทศไทย 

2.ยุทธศาสตร์พัฒนาบริการรักษาพยาบาล ทั้งการพัฒนาสถานพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ การขยายเวลาพำนักในราชอาณาจักรไทย 

3. ยุทธศาสตร์พัฒนาบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ เช่น การพัฒนาบริการรองรับผู้สูงอายุ พัฒนาแหล่งน้ำพุร้อนในประเทศไทย 

4. ยุทธศาสตร์พัฒนาบริการวิชาการและงานวิจัยทางการแพทย์ 

5. ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการตลาดและประชาสัมพันธ์ เช่น จัดทำแพคเก็จส่งส่งเสริมสุขภาพ และจัดการจับคู่ธุรกิจ การพัฒนาศูนย์แสดงสินค้าเพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เป็นต้น

ส่วนเฟสที่ 2 จะเป็นการดำเนินยุทธศาสตร์ในระยะปานกลาง -ยาว นับจากปี 2562-2569 ประกอบด้วย 5ยุทธศาสตร์ ได้แก่

1.ยุทธศาสตร์เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการจัดบริการสุขภาพ เช่น การปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการดำเนินงาน พัฒนาระบบสารสนเทศและข้อมูล การจัดตั้ง Wellness City เป็นต้น

2.ยุทธศาสตร์พัฒนาบริการรักษาพยาบาล เช่น การพัฒนาระบบการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลสำหรับชาวต่างชาติ 

3.ยุทธศาสตร์ พัฒนาบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ เช่น การยกระดับการนวดแผนไทย เป็นมรดกวัฒนธรรมของโลก 

4.ยุทธศาสตร์ การพัฒนาบริการวิชาการและงานวิจัยทางการแพทย์ เช่น การจัดประชุมวิชาการนานาชาติ เป็นต้น

5.ยุทธศาสตร์ ส่งเสริมการตลาดและประชาสัมพันธ์ เช่น การเสริมสร้างภาพลักษณ์ประเทศไทย เป็น Country Branding  



ส่องจุดแข็ง-จุดอ่อน ไทย  

ย้อนกลับไปในการทำแผนยุทธศาสตร์ของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2559 ได้มีการจัดทำการศึกษา Swot Analysis การดำเนินนโยบาย Medical Hub ของไทย พบว่า 

1. จุดแข็ง (Strenght)
ไทยมีแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นที่รู้จักทั่วโลก ความพร้อมของสถานพยาบาลเอกชนที่มีมาตรฐานนานาชาติ มีบริการครบวงจร และเป็นที่นิยมของชาวต่างชาติ

โดยโรงพยาบาลชื่อดังของไทย อย่าง โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้รับการจัดอันดับเป็นโรงพยาบาลที่ดีที่สุด 1 ใน 10 ของโลกมาตั้งแต่ปี 2557 แล้ว  แพทย์และบุคคลากรทางการแพทย์ มีความรู้และความเชี่ยวชาญรองรับความต้องการของต่างชาติได้ อัตราค่าบริการรักษาพยาบาลมีระดับราคาที่เหมาะสมเมื่อเทียบกับคุณภาพ ผู้บริการมี Service Mind มีบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกครบถ้วน มีความโดดเนด้านการแพทย์แผนไทยและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทย 

2. จุดอ่อน (Weakness) ประกอบด้วย ยังไม่มีคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายให้ไปในทิศทางเดียวกัน ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งจะรุนแรงมากขึ้นหากเปิดให้บริการนักท่องเที่ยวต่างชาติ อัตราค่ารักษาพยาบาลเอกชนเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง

กฎระเบียบยังเป็นอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ ความร่วมมือ PPP ระหว่างรัฐและเอกชนในการจัดบริการสุขภาพร่วมกันยังไม่มีประสิทธิภาพ และยังขาดการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอย่างเป็นระบบ เพื่อรองรับ การจัดบริการสุขภาพที่เป็นเทรนด์และสอดรับกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง

3. โอกาส (Opportunity) ประกอบด้วย ตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) มีขนาดใหญ่ และขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ Wellness Tourism ผู้รับบริการต่างชาตินิยมแสวงหาบริหารรักษาพยาบาลนอกประเทศ เพราะในประเทศของเขามีต้นทุนค่ารักษาที่สูง และมีคิวรอการรักษานาน

และไม่สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ และการรวมกลุ่มประเทศภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียน และการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีต่างๆ ทำให้มีการเคลื่อนย้ายของประชากรและการเติบโตของการค้าการลงทุนในธุรกิจสุขภาพ 

4. อุปสรรค (Threats) ประกอบด้วย ภาวะเศรษฐกิจโลกยังมีความผันผวน เกิดการก่อการร้ายในบางประเทศมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้รับบริการชาวต่างชาติ และประเทศคู่แข่ง เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ก็ประกาศนโยบายเป็น Medical Hub เช่นกันกับไทย   



ความพร้อมธุรกิจไทยในเวทีโลก
 
ล่าสุดทางสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ได้เปิดเผยศึกษาศักยภาพและโอกาสของเศรษฐกิจสุขภาพ หรือ Wellness Economy ของไทย เมื่อเดือนพฤษภาคม  2566  พบว่า เศรษฐกิจสุขภาพมีโอกาสเติบโตสูงมาก

จากการที่ทั่วโลกตื่นตัวการใส่ใจต่อสุขภาพและการดูแลตนเองที่มากขึ้น  ตามข้อมูลจากสถาบันด้านสุขภาพสากล (GWI) ประเมินว่าอุตสาหกรรมสุขภาพของโลกจะเติบโตเฉลีย 7.5%  ระหว่างปี 2566-2568 และจะมีมูลค่ารวมสูงถึง 6.99 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2568 โดยสัดส่วนมูลค่าตลาดเกือบ 70% จะอยู่ที่ 4 สาขา ได้แก่ 

1.การดูแลสุขภาพส่วนบุคคลและความงาม สัดส่วน 19.90% 
2.โภชนาการและการลดน้ำหนัก สัดส่วน 17.04% 
3.การออกกำลังกาย สัดส่วน 16.89% 
 4.ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สัดส่วน 15.88%



โดยปัจจุบันไทยได้รับการจัดอันดับ 1 ในการเป็นจุดหมายด้านการพักผ่อนเพื่อสุขภาพ (Wellness Retreat 2020, www.slingo.com) อันดับ 5 ประเทศที่มีการดูแลด้านสุขภาพที่ดี (Global Health Security Index 2021) และอันดับ 5 ประเทศที่มีอิทธิพลของมรดกทางวัฒนธรรม (Culture Heritage Influence 2021, นิตยสาร CEOWorld) และรัฐบาลมีนโยบายในการสนับสนุนประเทศไทยเป็นระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสประเทศไทย (Thailand Wellness Economic Corridor : TWC) ซึ่งถือเป็นจุดแข็งในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเวลเนสของไทยสอดรับกับข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข

อย่างไรก็ตาม ในผลศึกษาชี้ว่า หากในอนาคตไทยมีการส่งเสริมอุตสาหกรรม Wellness ในสาขาที่มีแนวโน้มความต้องการสูงขึ้น จะสามารถดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มการใช้จ่ายสูง และช่วยในการกระจายรายได้ไปสู่การท่องเที่ยวเมืองรอง และยังสามารถชูอัตลักษณ์เชิงวัฒนธรรมประสานกับความโดดเด่นในพื้นที่ ควบคู่กับการตรวจสอบมาตรฐานการให้บริการและการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ รวมถึงการสนับสนุนการจับคู่ทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการท้องถิ่นเพื่อดึงดูดการลงทุน จะช่วยบูรณาการการสร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมด้านสุขภาพของไทย และสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยด้วย 



วิเคราะห์รายสาขา 

ผลการศึกษา สนค. ยังวิเคราะห์ลงไปอีกว่า สาขาธุรกิจที่ไทยมีศักยภาพ มีสัดส่วนในตลาดโลกสูงและตลาดโลกเติบโตสูง ได้แก่ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งไทยมีสัดส่วนในตลาดโลกคิดเป็น 1.08% ขณะที่ตลาดโลกเติบโต 10.2% (คาดการณ์มูลค่าตลาดโลกปี 2568 อยู่ที่ 1,127.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ) โดยคาดว่าจะเร่งตัวสูงขึ้นมากในช่วงหลังเปิดการท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ จึงเป็นสาขาที่ควรให้ความสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์การขยายตลาดของไทยต่อไป

ส่วนสาขาที่เป็นโอกาสการพัฒนาของไทย โดยไทยมีสัดส่วนในตลาดโลกต่ำ แต่ตลาดโลกเติบโตสูง ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งไทยมีสัดส่วนในตลาดโลกคิดเป็น 0.14% ขณะที่ตลาดโลกเติบโต 12.4% (คาดการณ์มูลค่าตลาดโลกปี 2568 อยู่ที่ 580.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ) และการออกกำลังกาย โดยมีสัดส่วนไทยในตลาดโลกคิดเป็น 0.39% ขณะที่ตลาดโลกเติบโต 9.5% (คาดการณ์มูลค่าตลาดโลกปี 2568 อยู่ที่ 1,198.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ซึ่งแนวโน้มการเติบโตสูง แต่ไทยมีสัดส่วนตลาดในประเทศและตลาดโลกน้อย จึงเป็นโอกาสในการพัฒนาเพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดโลกเพิ่มขึ้น

สาขาที่ตลาดมีขนาดเล็กแต่ไทยมีความโดดเด่น โดยไทยมีสัดส่วนในตลาดโลกสูง แต่ตลาดโลกเติบโตปานกลาง ได้แก่ สปา สัดส่วนไทยในตลาดโลก 1.55% ตลาดโลกเติบโต 7.0% คาดการณ์มูลค่าตลาดโลกปี 2568 อยู่ที่ 150.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ แม้สปามีมูลค่ารวมในตลาดโลกน้อย โดยมีสัดส่วนเพียง 1.54% และ 2.12% ของตลาดโลก ในปี 2563 และ 2568 ตามลำดับ แต่มีสัดส่วน 3.59% ของตลาดในประเทศไทย ซึ่งมองว่าไทยสามารถพัฒนาอัตลักษณ์เป็นจุดขายที่เจาะกลุ่มเฉพาะด้านได้



สาขาธุรกิจสุขภาพที่ต้องเร่งพัฒนา

ส่วนสาขาที่ต้องปรับปรุงพัฒนา โดยการรีแบรนด์ หรือเพิ่มนวัตกรรม เพราะไทยมีสัดส่วนในตลาดโลกต่ำ และตลาดโลกเติบโตปานกลาง แบ่งเป็น 
-กลุ่มสาขาที่ไทยควรส่งเสริมการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ โภชนาการและการลดน้ำหนัก สัดส่วนไทยในตลาดโลก 0.92% ตลาดโลกเติบโต 5.4% คาดการณ์มูลค่าตลาดโลกปี 2568 อยู่ที่ 1,209.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ 

-การดูแลสุขภาพและความงาม สัดส่วนไทยในตลาดโลก 0.68% ตลาดโลกเติบโต 5.0% คาดการณ์มูลค่าตลาดโลกปี 2568 อยู่ที่ 1,412.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ 

-ยาแผนโบราณและอาหารเสริม สัดส่วนไทยในตลาดโลก 0.69% ตลาดโลกเติบโต 6.6% คาดการณ์มูลค่าตลาดโลกปี 2568 อยู่ที่ 582.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ 

-เวชศาสตร์เชิงป้องกัน สัดส่วนไทยในตลาดโลก 0.46% ตลาดโลกเติบโต 5.5% คาดการณ์มูลค่าตลาดโลกปี 2568 อยู่ที่ 478.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ 

นอกจากนี้ ยังมีสาขาที่ไทยควรเร่งพัฒนา ได้แก่ น้ำพุ น้ำแร่ร้อน ซึ่งไทยมีสัดส่วนในตลาดโลก 0.03% ขณะที่ตลาดโลกเติบโต 7.7% (คาดการณ์มูลค่าตลาดโลกปี 2568 อยู่ที่ 89.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ซึ่งแม้จะมีขนาดตลาดไม่ใหญ่ และไทยมีสัดส่วนในตลาดโลกน้อยมาก แต่ก็มีโอกาสจากแนวโน้มสัดส่วนตลาดโลกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น และไทยมีแหล่งท่องเที่ยวน้ำพุร้อนกลุ่มจังหวัดอันดามัน ซึ่งต้องประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางมากขึ้น



จะเห็นว่าความพร้อมของไทยสู่เวทีโลกด้าน Health and Wellness แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่จะเป็นไปไม่ได้ ไทยยังต้องอาศัยการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์อย่างจริงจัง สร้างและดำเนินนโยบายอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนลดปัญหาและอุปสรรค์ในการขับเคลื่อนธุรกิจใน 4 กลุ่มตามยุทธศาสตร์ เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นฮับด้านสุขภาพตามเป้าหมายให้ได้ 

ติดตาม บทความ Series Mega Trends & Business transformation เมื่อโลกปรับ คนเปลี่ยน ส่องทิศทาง Wellness Economy โอกาสเติบโตธุรกิจไทยในตลาด Health & Wellness Tourism  ได้ในบทความหน้า  

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ธุรกิจยุคดิจิทัล ต้อง Transformation อย่างไร เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ในเทศกาลสงกรานต์

ธุรกิจยุคดิจิทัล ต้อง Transformation อย่างไร เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ในเทศกาลสงกรานต์

ความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ กลายเป็นโจทย์หลักของนักการตลาดในยุคดิจิทัล หากเจาะลึกลงไปจะพบว่าการเปลี่ยนแปลงจนทำให้เกิดการดิสรัปด้านเทคโนโลยีรอบนี้…
pin
567 | 10/04/2024
5 เทคโนโลยีสุดล้ำ ที่ธุรกิจนำมาปรับใช้เป็นกลยุทธ์ใหม่กระตุ้นยอดขาย ดึงลูกค้า ช่วงมหาสงกรานต์ 2567

5 เทคโนโลยีสุดล้ำ ที่ธุรกิจนำมาปรับใช้เป็นกลยุทธ์ใหม่กระตุ้นยอดขาย ดึงลูกค้า ช่วงมหาสงกรานต์ 2567

ประเพณีสงกรานต์ของไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน สนับสนุนให้ “สงกรานต์” เป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์เทศกาลระดับโลก…
pin
3491 | 10/04/2024
5 นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี ตอบโจทย์เทรนด์รักสุขภาพองค์รวม 'Holistic Health' เมื่อคนยุคใหม่มองหาสุขภาวะที่ดีขั้นสุด

5 นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี ตอบโจทย์เทรนด์รักสุขภาพองค์รวม 'Holistic Health' เมื่อคนยุคใหม่มองหาสุขภาวะที่ดีขั้นสุด

การดูแลสุขภาวะที่ดีกำลังเป็นโจทย์สำคัญด้านสาธารณสุขของประเทศ ในห้วงเวลาที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็น “สังคมสูงวัย “ (Aged Society) โดยมีข้อมูลพบว่าตั้งแต่ปี…
pin
971 | 25/03/2024
Road to Health & Wellness Hub ส่องความพร้อมการเป็นศูนย์กลางสุขภาพของไทย บนเวทีระดับโลก