โมเดล BCG ด้านเครื่องมือการแพทย์ ดันไทยเป็น ‘Medical Hub’ เพื่อความมั่นคงด้านสุขภาพ

SME Update
27/05/2023
รับชมแล้วทั้งหมด 2397 คน
โมเดล BCG ด้านเครื่องมือการแพทย์ ดันไทยเป็น ‘Medical Hub’ เพื่อความมั่นคงด้านสุขภาพ
banner
การขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 ต้องอาศัยการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม 3 มิติ พร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) รวมเป็น BCG Economy Model ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เพิ่มความสามารถการเติบโตและแข่งขันได้ในระดับโลก ก่อให้เกิดการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ ให้ชุมชนเข้มแข็ง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน 



ศูนย์กลางการแพทย์ครบวงจร หรือ Medical Hub คือ หนึ่งในหมุดหมายสำคัญของไทยในการพัฒนาประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดย ‘เครื่องมือแพทย์’ เป็นหนึ่งในสาขาสำคัญของ BCG Economy Model ที่ต้องการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยผลักดันให้เกิดความยั่งยืน (Sustainability) โดยการสนับสนุนให้มีการพัฒนาเครื่องมือแพทย์ที่มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล

เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2562 การระบาดแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว จนทั่วโลกมีผู้ป่วยหนักและผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ทำให้เกิดวิกฤตการขาดแคลนเครื่องมือการแพทย์ รวมไปถึงวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ไม่สามารถนำเข้า หรือผลิตได้ทันตามความต้องการในประเทศ 

ปัจจัยเหล่านี้จึงเป็นตัวเร่งความต้องการใช้เครื่องมือแพทย์และนวัตกรรมทางการแพทย์ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง ที่ทันสมัย ซึ่งต้องอาศัยศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนาของบุคลากรภายในประเทศ เพื่อพัฒนาเครื่องมือแพทย์ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ ลดการนำเข้าตลอดจนสามารถพึ่งพาตนเองได้ รวมถึงสนับสนุนระบบบริการทางการแพทย์ เพื่อยกระดับการให้บริการทางสาธารณสุขของประเทศในการดูแลรักษาคนไทยได้อย่างทันท่วงที 



สถานการณ์ของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในประเทศ\


มูลค่าการนำเข้า – ส่งออก ปี 2564 -  2565

เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมสูงวัยของประเทศไทยอย่างสมบูรณ์ รัฐบาลจึงมีการสนับสนุนให้พัฒนาเครื่องมือแพทย์ที่มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล ซึ่งนับวันยิ่งมีปริมาณความต้องการเพิ่มสูงขึ้น

โดยการค้าเครื่องมือการแพทย์ของประเทศไทยมีการส่งออกในปี 2565 อยู่ที่ 119,200 ล้านบาท สูงกว่ามูลค่าการนำเข้าที่มีประมาณ 96,587 ล้านบาท และเป็นประเทศที่มีการค้าเครื่องมือแพทย์สูงที่สุดในอาเซียน คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 13.16 % สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 5.83% 

โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการส่งออกมูลค่าสูงที่สุดคือ กลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์(Disposable Medical Devices) ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ที่มีการนำเข้ามูลค่าสูงที่สุด คือ กลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์(Disposable Medical Devices)

ทั้งนี้การผลิตเครื่องมือแพทย์ในประเทศมีผู้ประกอบการรวมทั้งสิ้น 1,586 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการ SME ที่ร่วมลงทุนจากต่างประเทศ ส่วนมากเป็นการผลิตเพื่อส่งออกในกลุ่มวัสดุทางการแพทย์ที่ใช้แล้วทิ้งถึง 84% ได้แก่แอลกอฮอล์ ผ้าก๊อซ เข็มฉีดยา สบู่ล้างมือ สเปรย์ล้างมือ หน้ากากอนามัย แว่นตาป้องกัน เป็นต้น 

สอดคล้องกับการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอที่พบว่ามีบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนรวมทั้งสิ้น 66 แห่ง ในจำนวนนี้มากกว่าครึ่งเป็นการขอส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มวัสดุทางการแพทย์ ขณะที่การนำเข้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มครุภัณฑ์ทางการแพทย์ เช่น เครื่องอัลตราซาวด์ เครื่องเอกซเรย์ เครื่องมือทางจักษุ เป็นต้น โดยประเทศคู่ค้าที่ไทยนำเข้ามากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์



โอกาสและความท้าทายของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์

สำหรับความท้าทายของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ที่มีปริมาณความต้องการเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากอัตราการเจ็บป่วยของประชาชนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโรคเฉพาะทาง อาทิ โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน ประกอบกับการเข้าสู่สังคมสูงวัย รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงาน ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

 โดย Allied Market Research คาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยในปี 2566 จะอยู่ที่ 9.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3.1 แสนล้านบาท และอาจขยับสูงถึง 7.6 แสนล้านบาท ในปี 2570 ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 13.2% โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์เข้ามาใช้บริการด้านการแพทย์ในประเทศไทย ประมาณ 7.7 ล้านคน

เป็นปัจจัยที่สะท้อนให้เห็นว่า ไทยมีความได้เปรียบในแง่คุณภาพและมาตรฐานการรักษาเมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียน ทั้งนี้ จากผลกระทบของการโรคระบาดโควิด 19 ในปี 2563 ที่แผ่ขยายจนมีผู้ติดเชื้อเกือบ 30 ล้านคนทั่วโลก ทำให้เกิดการขาดแคลนเครื่องมือแพทย์ ทั้งในแง่ของวัตถุดิบ อุปกรณ์ วัสดุทางการแพทย์ที่ไม่สามารถนำเข้า หรือผลิตได้ทันตามความต้องการในประเทศ

ปัจจัยเหล่านี้ จึงเป็นตัวเร่งความต้องการใช้เครื่องมือแพทย์ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงและทันสมัย ซึ่งต้องอาศัยความต้องการเครื่องมือทางการแพทย์ในการให้บริการที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นด้านมาตรฐานของบริการที่สูงขึ้นด้วย



เป้าหมาย ‘ศูนย์กลางการแพทย์ในอาเซียน’ ในปี 2570

BCG Model สาขาเครื่องมือแพทย์ เป็นความท้าทายของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ไทย ที่เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายพาประเทศไทยก้าวเข้าสู่ ‘ศูนย์กลางการแพทย์ในอาเซียน’ หรือ ‘Medical Hub’ อย่างเต็มรูปแบบในอนาคต เพื่อเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พร้อมทั้งยังผลักดันการผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์รองรับความต้องการที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น 

โดยมี 3 กลยุทธ์หลัก BCG สู่การเป็น Medical Hub 

1. สร้างการพึ่งพาตนเอง เพื่อความมั่นคงทางสาธารณสุข ซึ่งได้มีการตั้งคณะทำงาน 6 คณะด้วยกัน โดยงานทั้งหมดจะเป็นกลไกการสนับสนุนที่ไม่ใช่งานวิจัยและพัฒนา (Non R&D Support Mechanism) เพื่อสนับสนุนให้คนรู้จักและเชื่อมั่นผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ฝีมือคนไทยจนเกิดการใช้งานได้จริง โดยเสนอให้มีกลไกคณะทำงานขึ้นมา ดังนี้

คณะที่ 1 คือคณะทำงานชุดนโยบายและฐานข้อมูล ทำนโยบาย กลยุทธ์ ฐานข้อมูล เพื่อป้อนให้กับคณะทำงานชุดอื่น ๆ

คณะที่ 2 ทำหน้าที่รวบรวมนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ไทย รายชื่อหน่วยงานที่สนับสนุนงบวิจัย ทำฐานข้อมูลว่ามีการผลิตงานวิจัยกี่เรื่องต่อปี และพิจารณาความเป็นไปได้ว่าจะนำไปสู่การจดสิทธิบัตรได้หรือไม่

คณะที่ 3 ว่าด้วยมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ รวบรวมรายชื่อหน่วยงานด้านมาตรฐานการแพทย์ในประเทศไทยว่ามีที่ไหนบ้าง แล้วเอานวัตกรรมที่มีไปรับการทดสอบมาตรฐานต่าง ๆ ให้หมด

คณะที่ 4 จะเป็นชุดที่สร้างความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ไทย โดยสนับสนุนงบประมาณจำนวนหนึ่งเพื่อนำผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานให้โรงพยาบาลทดลองใช้ และส่งข้อมูลกลับมาว่าต้องปรับตรงไหนบ้าง

คณะที่ 5 ดูแลบัญชีนวัตกรรมไทย

คณะที่ 6 คือชุดการตลาด เมื่อผ่านขั้นตอนต่าง ๆ มาหมดแล้ว โรงพยาบาลต้องซื้อให้ได้ 30% ตามที่กฎกระทรวงการคลังกำหนด นี่คือขั้นตอนที่ออกแบบไว้ หากสามารถดำเนินการได้ตามนี้และได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจัง เชื่อว่าจะทำให้ผลิตภัณฑ์เครื่องมือทางการแพทย์ฝีมือคนไทยสามารถตั้งหลักได้ และช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศ เวลาเกิดวิกฤตขึ้นมาก็สามารถยืนได้ด้วยขาตัวเองนั่นเอง

2. ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลในการดูแลสุขภาพ โดยจะเป็นการส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาตอบโจทย์เพื่อลดความครอบคลุมของหน่วยบริการสุขภาพทุกระดับ และลดความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณะสุข อีกทั้งส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการเชื่อมโยงระบบข้อมูลบริการสาธารณสุขของประเทศ โดยการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพระหว่างโรงพยาบาล ซึ่งปัจจุบันมีเครือโรงพยาบาลแสดงความจำนงเข้าร่วมกว่า 100 แห่ง

นอกจากนี้ การผลักดันแพลตฟอร์มดิจิทัลในการเข้าถึงยาเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ อาทิ หมอพร้อม และสุดท้ายส่งเสริม Health Tech Startup  ซึ่งจากการศึกษาโครงการนวัตกรรม 64 โครงการ พบว่าผู้ประกอบการรายย่อยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนฯ และมีสัดส่วนการขยายผลมากที่สุด แต่ยังคงสร้างมูลค่าผลตอบแทนต่อเงินสนับสนุนได้น้อยที่สุดโดยสนับสนุนไปแล้วกว่า 100 ล้านบาท ส่วนเปอร์เซ็นต์สำเร็จ 56% สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม 300 ล้านบาท

3. เพิ่มการลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องมือการแพทย์ เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยกลไกการดำเนินงาน จะเป็นการทำงานร่วมกับ BOI ,EEC ,ตลาดหลักทรัพย์ โรงพยาบาลเอกชน กระทรวงอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการ SME 

ถือเป็นการสนับสนุนภาคธุรกิจที่ผลิตนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์จากการวิจัยอย่างเต็มที่ เพราะเป็นงานที่ต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน ทั้งนี้ มีโอกาสเป็นไปได้สูงที่ประเทศไทยจะไปสู่เป้าหมายการเป็น ‘ศูนย์กลางการแพทย์ในอาเซียน’ ในปี 2570



BCG โอกาสนวัตกรรมคนไทย

ผู้ประกอบด้านสุขภาพและเครื่องมือแพทย์ ถือเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญที่ช่วยสร้างเศรษฐกิจชาติ หากเราไม่มีธุรกิจแบบนี้ในประเทศ การขยับไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วคงเป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก ดังนั้น การมีธุรกิจนวัตกรรมด้านเครื่องมือการแพทย์มากขึ้นอย่างต่อเนื่องถือเป็นเรื่องที่ดี  โดยสนับสนุนให้มีการพัฒนาเครื่องมือแพทย์ให้มีคุณภาพ มาตรฐาน เทียบเท่าสากล ผลักดันเป็นสินค้าส่งออกได้โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและเทคโนโลยีขนาดกลางที่สามารถแข่งราคากับตลาดโลกได้



ยกตัวอย่าง ‘บริษัทเมดิทอป จำกัด’ ผู้นำเข้าและเป็นผลิต-จำหน่ายเครื่องมือทางการแพทย์ชั้นนำของประเทศไทย และส่งออกเครื่องล้างกระบอกไตเทียม ที่ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเอง เพื่อแก้ Pain Point ของลูกค้า ด้วย เมดิทอป นำเข้าและขายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับโรคไตที่มีการขายเครื่องฟอกไต โดยกระบวนการฟอกไตในแต่ละครั้งนั้นต้องใช้เครื่องกรองสารพิษออกจากเลือด ซึ่งในต่างประเทศจะใช้ตัวกรองไตแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง แต่ของในประเทศไทยจะเป็นการนำมาล้างเพื่อใช้กับคนไข้คนเดิมซ้ำจนกว่าตัวกรองจะเสื่อมสภาพ 



จึงเกิดแนวคิดที่จะสร้างและพัฒนาเครื่องล้างตัวกรองไตที่สามาถนำกลับมาใช้ซ้ำได้อย่างปลอดภัย และได้รับความสะดวกทั้งกับพยาบาลและคนไข้ จาก Pain Point ดังกล่าวจึงพัฒนา ‘เครื่องล้างตัวกรองไต’ มาอย่างต่อเนื่อง จนได้รับ ‘รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ’ ปัจจุบันพัฒนาไปหลายรุ่นแล้วโดยจำหน่ายทั้งในประเทศ และส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านด้วย ซึ่งนวัตกรรมนี้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายทั้งผู้ป่วยและภาครัฐได้อย่างมากเลยทีเดียว

นอกจากนี้ เมดิทอป ยังผลิตเครื่องกรองน้ำ RO  (Reverse Osmosis) สำหรับใช้กับเครื่องไตเทียม ทั้งแบบที่เป็นระบบใหญ่และแบบเคลื่อนที่ได้ ซึ่งบางครั้งทางโรงพยาบาลมีจำเป็นต้องย้ายเครื่องเครื่องไตเทียมไปใช้ในแผนกต่าง ๆ เช่น ห้องไอซียู ซึ่งไม่มีระบบน้ำ RO ติดตั้งอยู่ การที่มีระบบ RO แบบเคลื่อนที่ได้ สามารถช่วยอำนวยความสะดวกให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี



 โดยในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา เครื่อง RO ของบริษัทก็ได้รับคำสั่งซื้อมากพอสมควร เพราะสถานการณ์โควิด-19 ทำให้คนไข้จะต้องรักษาตัวแบบแยกอยู่คนเดียว การเคลื่อนย้ายเครื่องไตเทียม และการมีเครื่อง RO แบบเคลื่อนที่ได้ จึงเป็นการแก้ Pain Point ช่วยให้การทำงานสะดวกมากขึ้นนั่นเอง




อีกหนึ่งตัวอย่างการพัฒนาธุรกิจจนสามารถผลิตเครื่องมือการแพทย์ได้เอง คือ ‘บริษัทซี วี พี เมดิคอล เทคโนโลยี จำกัด’ ที่เริ่มต้นจากเป็นผู้ผลิต - จัดจำหน่ายอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ เฉพาะเจาะจงในกลุ่มโรคไต ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ต้องมีการรักษาด้วยการฟอกเลือดไตเทียม ซึ่งสมัยนั้นบ้านเราต้องพึ่งพาการนำเข้าเป็นหลัก สินค้าจึงมีราคาสูงมาก จึงอยากช่วยผู้ป่วยเกี่ยวกับโรคไต ต้องการทำให้อุปกรณ์เกี่ยวกับการฟอกไตราคาถูกลง คนไทยเข้าถึงได้ ที่ก่อนหน้านี้ต้องนำเข้าจากสหรัฐฯ 

ซึ่งในอดีตมีบริษัทจากประเทศญี่ปุ่นมาตั้งฐานผลิตในเมืองไทย ‘ซี วี พี เมดิคอล เทคโนโลยี’ จึงได้ศึกษาเรียนรู้ ก่อนพัฒนาและผลิตทั้ง 2 สินค้ามาจนถึงปัจจุบันก็คือ Spring Bloodline Set และน้ำยาฟอกไต โดย Spring Bloodline Set หรือสายสำหรับฟอกเลือดใช้กับเครื่องฟอกไตเทียม ทางบริษัทมีการวิจัยเพิ่มเติมว่า จะทำอย่างไรให้ใช้เลือดในร่างกายน้อยลง เลือดออกมาน้อยแต่การฟอกมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อคนไข้ (เกิดภาวะแทรกซ้อน - อัตราการติดเชื้อต่ำ) เนื่องจากคนไข้ส่วนใหญ่อายุมากและจะมีโรคอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เบาหวาน ความดันโลหิต โรคหัวใจ ฉะนั้นการใช้เลือดปริมาณน้อยลงหรือใช้เทคนิคการฟอกที่ดียิ่งขึ้น จะส่งผลดีต่อคนไข้ช่วยลดอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ 



ส่วนน้ำยาฟอกไตผลิตด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงซึ่งจะช่วยให้การรักษาดีขึ้น อย่างเช่น ในอดีตใช้เครื่องฟอกแบบปกติ ปัจจุบันจะใช้เครื่องฟอกแบบพิเศษมีออปชันเพิ่มขึ้น ช่วยให้การฟอกไตมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยปล่อย (กำจัด) ของเสียออกจากร่างกายคนไข้ได้ดียิ่งขึ้น ช่วยให้คนไข้สบายขึ้น ขณะนี้น้ำยาฟอกไตมีการส่งออกไปยังประเทศ CLMV ส่วน Spring Bloodline Set มีการส่งออกไปยังกลุ่มชาติอาหรับ ไต้หวัน และเวียดนาม


ทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นว่า หากภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกันผลักดันผู้ประกอบการและ SME รายอื่น ๆ ในบ้านเราในการพัฒนาสินค้า สร้างการรับรู้ให้ต่างประเทศรู้จักแบรนด์สินค้า Made in Thailand และทั่วโลกรู้จักสินค้า Product of Thailand ที่ได้มาตรฐานสากลจะช่วยให้ตลาดเครื่องมือทางการแพทย์เติบโตอย่างยืนตามแนวคิด BCG Economy Model ที่ไทยได้ตั้งเป้าหมายไว้ 


อ้างอิง
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)
http://www.tpso.moc.go.th/sites/default/files/03_policy_ekhruuengmuueaephthy.pdf
http://medicaldevices.oie.go.th/Article.aspx?aid=10675
https://www.bangkokbiznews.com/tech/976668
https://isaninsight.kku.ac.th/archives/828
https://www.thecoverage.info/news/content/1268

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘TikTok For All’ Update เทรนด์ใหม่ปี 2024 พร้อมกลยุทธ์เพิ่มโอกาส SME ไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

‘TikTok For All’ Update เทรนด์ใหม่ปี 2024 พร้อมกลยุทธ์เพิ่มโอกาส SME ไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

TikTok ตอกย้ำการเป็นแพลตฟอร์มเอนเตอร์เทนเมนต์ที่น่าเชื่อถือสำหรับทุกคน ทั้งครีเอเตอร์ คอมมูนิตี้ผู้ใช้งาน และธุรกิจทุกขนาดในไทย ด้วยการเปิดตัว…
pin
1059 | 14/02/2024
ทอดไม่ทิ้ง! เปลี่ยน ‘น้ำมันเหลือทิ้ง’ เป็น ‘น้ำมันเครื่องบิน’ โอกาสใหม่ SME ไทย เติบโตอย่างยั่งยืน

ทอดไม่ทิ้ง! เปลี่ยน ‘น้ำมันเหลือทิ้ง’ เป็น ‘น้ำมันเครื่องบิน’ โอกาสใหม่ SME ไทย เติบโตอย่างยั่งยืน

ขณะที่ยานพาหนะต่าง ๆ ทั้ง รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รถไฟ และเรือ ต่างมุ่งสู่การใช้เชื้อเพลิงพลังงานทดแทน ที่เป็นพลังงานสะอาดกันแล้ว แต่สำหรับการเดินทางโดยอากาศยาน…
pin
1404 | 26/01/2024
จับกระแส 'เทรนด์ธุรกิจ' ปี 2024 ใครได้ไปต่อ ใครมาแรง SME ไทยต้องรู้

จับกระแส 'เทรนด์ธุรกิจ' ปี 2024 ใครได้ไปต่อ ใครมาแรง SME ไทยต้องรู้

ปี 2024 นี้ ธุรกิจไหนมาแรง ธุรกิจไหนน่าจับตา เทรนด์ธุรกิจใดกำลังมาแรง Bangkok Bank SME สรุปมาไว้ในบทความนี้ เพื่อเป็นแนวทางแก่ SME และผู้ที่กำลังคิดจะเริ่มต้นทำธุรกิจทุกท่าน…
pin
1679 | 25/01/2024
โมเดล BCG ด้านเครื่องมือการแพทย์ ดันไทยเป็น ‘Medical Hub’ เพื่อความมั่นคงด้านสุขภาพ