EV Conversion แปลงรถยนต์ใช้น้ำมันคันเดิมสู่รถยนต์ EV โอกาส SME ต่อยอดธุรกิจแห่งอนาคต

SME Update
28/06/2023
รับชมแล้วทั้งหมด 4097 คน
EV Conversion แปลงรถยนต์ใช้น้ำมันคันเดิมสู่รถยนต์ EV โอกาส SME ต่อยอดธุรกิจแห่งอนาคต
banner
ปัจจุบันประเทศไทยมีรถยนต์สันดาปหรือใช้น้ำมันราว 40 ล้านคัน ที่มีปัญหามากเนื่องจากเป็นตัวปล่อยคาร์บอนสูง ขณะที่รถยนต์ไฟฟ้ายังมีราคาแพง ทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ คือการสนับสนุนอุตสาหกรรม EV conversion หรือ รถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ด้วยการนำรถยนต์เครื่องยนต์ใช้น้ำมันคันเดิมมาปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ให้เป็นระบบไฟฟ้า 

ซึ่งนอกจากจะช่วยให้คนใช้รถยนต์ไฟฟ้าด้วยต้นทุนที่ถูกแล้ว ยังช่วยกลุ่มอาชีพผู้ขับรถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) รถฟู้ดทรัค รวมถึงรถบริการขนส่งสินค้าให้มีกำไรมากขึ้น เพราะต้นทุนการใช้พลังงานถูกลง อีกทั้งยังเป็นการสร้างเศรษฐกิจฐานราก ทำให้อู่ซ่อมรถยนต์หรือผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายเล็ก ๆ ที่ยังไม่พร้อมก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า หันมาให้บริการติดตั้งเครื่องยนต์ไฟฟ้าเพื่อสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง



ทำไมถึงต้องมี อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง

อย่างที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยมีผู้ใช้รถยนต์สันดาปหรือรถที่ใช้น้ำมันอย่างมหาศาล ที่เป็นตัวการสำคัญในการสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่รถยนต์ไฟฟ้ายังคงมีราคาแพง ท่ามกลางราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แต่การจะเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมรถยนต์สันดาปหรือรถใช้น้ำมันไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าแบบฉับพลัน อาจจะกลายเป็นการดิสรัปต์อุตสาหกรรมรถยนต์สันดาป ส่งผลให้ซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมนี้ปรับตัวไม่ทันภายในเวลาอันใกล้ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อู่ซ่อมรถยนต์ ขณะที่ราคารถยนต์ไฟฟ้ายังค่อนข้างสูง สร้างอุปสรรคต่อกำลังซื้อในภาคประชาชน
 
ทั้งนี้ หากสามารถ Transforms การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ด้วยรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง หรือ EV conversion ให้คนสามารถนำรถยนต์เก่ามาเปลี่ยนเป็นเครื่องยนต์ไฟฟ้าได้ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง จะมีเวลาปรับตัวอย่างน้อย 5-10 ปี เพื่อเข้าสู่ซัพพลายเชนยานยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้ อุตสาหกรรม EV conversion ยังทำให้เกิดซัพพลายเชน และผู้ประกอบการในระบบจำนวนมาก สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนหลายแสนล้านบาทต่อปี



EV conversion คืออะไร?

“EV conversion” หรือ อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง คือ การนำรถยนต์เก่าที่ใช้น้ำมัน มาเปลี่ยนระบบขับเคลื่อนใหม่ เพื่อเปลี่ยนจากการเติมน้ำมันมาเป็นระบบไฟฟ้า 100% โดยเปลี่ยนทั้งเทคโนโลยีที่ใช้จำนวนชิ้นส่วนจากชิ้นส่วนรถน้ำมัน 30,000 ชิ้น เมื่อเป็น EV จะลดลงเหลือเพียง 3,000 ชิ้น 



อยากเปลี่ยนรถยนต์ เป็นรถ EV ต้องใช้งบเท่าไหร่

สำหรับ EV conversion เครื่องยนต์ที่สำคัญจะอยู่ที่ EV Kit หรือชุดมอเตอร์และระบบไฟฟ้าที่เกี่ยวข้อง โดยมีราคาตั้งแต่ 300,000 - 800,000 บาทขึ้นไป แล้วแต่รุ่นรถยนต์และอุปกรณ์ชิ้นส่วน ซึ่งถือว่าสูงมากหากเทียบกับผลสำรวจที่พบว่า ผู้ใช้งานมีกำลังทรัพย์ในการเปลี่ยนรถยนต์เป็น EV conversion ไม่เกิน 300,000 บาท เท่านั้น 



จุดคุ้มทุน 

สำหรับความคุ้มค่าของการดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้า พบว่ารถเล็กสี่ล้อสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายจากการใช้ไฟฟ้าเมื่อเทียบกับน้ำมันได้ดีกว่ารถใหญ่ขนาดหกล้อและสิบล้อ ซึ่งอุตสาหกรรม EV conversion ควรมุ่งเน้นไปที่ Niche market ที่เป็น Commercial vehicle เนื่องจากมี Demand และคุ้มค่าต่อต้นทุนการ Conversion มากกว่า 

โดยราคาที่เหมาะสม (Optimum price) ในปัจจุบันควรอยู่ที่ไม่เกิน 300,000 บาทต่อคัน พิจารณาจากการที่รถกระบะทั่วประเทศอายุ 10 ปีขึ้นไป มีประมาณ 4 ล้านคัน ถ้าสามารถนำมา Conversion เพียง 10% ( 4 แสนคัน) จะเกิดเงินหมุนเวียนในประเทศกว่า 120,000 ล้านบาท ไปยังผู้ผลิตชิ้นส่วนและอู่รถทั่วประเทศ ทั้งยังลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมจากการปล่อยมลภาวะได้อย่างมาก

ขณะที่ ผศ.ดร.ปฐพีพัฒน์ เตชะลิ่มสกุล ประธานหลักสูตรวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และระบบอัตโนมัติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ผู้คร่ำหวอดในวงการรถยนต์ไฟฟ้ามากว่า 20 ปี ระบุว่า หากคำนวณจากค่าน้ำมันและค่าไฟฟ้าในขณะนี้ อาจต่างกัน 9-10 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายระหว่างรถ EV กับรถน้ำมัน รถ EV จะประหยัดลง 300,000 บาท ใน 1 แสนกิโลเมตร เป็นเหตุผลว่าทำไมจำนวนรถยนต์ EV ในไทยจึงสูงขึ้น และได้รับความสนใจจากผู้ใช้รถจนมียอดจองอย่างก้าวกระโดด



ภาครัฐผลักดันมาตรฐานรถ EV Conversion

มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจเริ่มสนใจ EV Conversion แต่อาจจะยังกังวลและตั้งคำถามในใจว่า แล้วรถยนต์ดัดแปลงแบบนี้จะปลอดภัยและขับได้ ไม่ผิดกฎหมายจริงหรือ? 

แน่นอนว่าการสร้างความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรม EV conversion จำเป็นต้องมีการออกมาตรฐานรับรองว่า อู่ซ่อมรถ หรือ ผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์รายย่อย หรือ SME เป็นผู้ให้บริการที่มีมาตรฐาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค 

ด้วยเหตุนี้ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV) จึงได้มีการพิจารณามาตรการขับเคลื่อนการผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน ซึ่งเป็นรถยนต์กลุ่มใหญ่ของประเทศ ให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (EV) ได้ โดยวันที่ 2 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา ได้มีมติให้กระทรวงอุตสาหกรรมแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (EV Conversion) ภายใต้บอร์ด EV ซึ่งประกอบไปด้วย 29 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โดยมีสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ได้แก่ รถยนต์ รถกระบะ รถจักรยานยนต์ รถสามล้อ รถโดยสาร รถบรรทุก เรือ รถไฟไฟฟ้า และชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศให้แข่งขันได้ จัดทำมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง 

รวมถึงพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงและชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมการเปลี่ยนผ่านการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน

ด้านเลขาธิการ สมอ. ระบุด้วยว่า สมอ. ได้จัดทำมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าและมาตรฐานที่เกี่ยวข้องยานยนต์ไฟฟ้าออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินการจัดทำมาตรฐาน ซึ่งมีทั้งที่อยู่ระหว่างการจัดทำและประกาศใช้แล้ว รวมจำนวน 138 มาตรฐาน เช่น สถานีชาร์จ รถยนต์ไฟฟ้า จักรยานยนต์ไฟฟ้า รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า ระบบการสื่อสารระหว่างรถยนต์ไฟฟ้ากับโครงข่ายไฟฟ้า เป็นต้น และล่าสุดมี 3 มาตรฐานที่อยู่ระหว่างดำเนินการเป็นมาตรฐานบังคับ ได้แก่ สถานีชาร์จ แบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และการป้องกันผู้โดยสารเมื่อเกิดการชนจากด้านหน้าและด้านข้าง

โดยขณะนี้ สมอ. อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ได้แก่ ชุดชิ้นส่วนสำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง นอกจากนี้ ยังได้จัดทำมาตรฐานอุตสาหกรรมเอสสำหรับผู้ประกอบการ SME จำนวน 2 มาตรฐาน ได้แก่ การบริการดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้า มอก. เอส 221-2566 มีผู้ประกอบการยื่นขอการรับรองแล้ว จำนวน 3 ราย และการบริการดัดแปลงรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า มอก. เอส 222-2566 อีก 1 รายซึ่งมาตรฐานของ สมอ. จะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้เปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลกได้ในอนาคต



อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างไร?

จากเดิมประชาชนมี 2 ทางเลือก คือ ซื้อรถน้ำมันใหม่ หรือเปลี่ยนเป็นรถ EV เลย รถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง หรือ EV conversion  จึงเป็นตรงกลางที่ทำให้รถน้ำมันคันเดิมแต่กลายเป็นรถ EV ในราคาที่เอื้อมถึง นอกจากนี้ ยังสานฝันคนรักรถเก่าที่สามารถนำรถมาปรับโฉมอัปเดทเทคโนโลยีจนวิ่งได้เหมือนรถใหม่ 



ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงจะช่วยแก้ปัญหาทั้งอุปสงค์และอุปทาน ได้ดังนี้
1) วิกฤติค่าพลังงานเชื้อเพลิงราคาสูง จะช่วยประหยัดค่าน้ำมันได้ถึง 5 เท่า
2) ประหยัดค่าซ่อมรถ 15 เท่าต่อปี
3) ช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้มากขึ้น
4) ประเทศไทยมีผู้ประกอบการ Tier 3 จำนวนกว่า 2,000 บริษัทที่ไม่มีเทคโนโลยีการผลิตชิ้นส่วนรถไฟฟ้า ขาดเครื่องมือในการเปลี่ยนผ่านเสี่ยงต่อการปิดตัวลง
5) ประเทศไทยมีผู้ประกอบการอู่ซ่อมรถ 20,000 อู่ที่จดทะเบียน 50,000 อู่ที่ไม่ได้จดทะเบียน ซึ่งอู่เหล่านี้ซ่อมรถไฟฟ้าไม่ได้ ถ้าเปลี่ยนผ่านฉับพลันจะทำให้พวกเขาตกงาน 



EV Conversion จะเป็นโอกาสของ SME ได้อย่างไร 

อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง จะเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการอู่รถยนต์ในการพัฒนาเทคโนโลยี ต่อยอดธุรกิจได้ในอนาคต รวมถึงผู้ผลิตชิ้นส่วนเกี่ยวกับรถไฟฟ้ามีตลาดเพิ่มขึ้น โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่



1. กลุ่ม Battery อุตสาหกรรมแบตเตอรี่มีความสำคัญต่อการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า โดยมีผู้ผลิตแบตเตอรี่ 2 กลุ่ม คือ 1) ผลิต Battery Cells ขึ้นเองในประเทศ และนำมาผลิต Battery Pack ซึ่งมีผู้ประกอบการในประเทศทำได้เพียง 1-2 รายในปัจจุบัน และ 2) นำเข้า Battery Cells มาจากต่างประเทศ และนำมาผลิต Battery Pack มีผู้ประกอบการในประเทศ ไม่น้อยกว่า 5 ราย ที่มีศักยภาพผลิตได้ในระดับอุตสาหกรรม

สำหรับ Battery Pack เป็นหนึ่งในชิ้นส่วนสำคัญที่ไทยมีโอกาสสูง เนื่องจากมีผลิตเพื่อ Supply ให้รถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงและรถยนต์ไฟฟ้าใหม่ และมีตลาดผู้ใช้งานเชิงพาณิชย์ เช่น รถบัส, รถกระบะ, รถบรรทุก, รถจักรยานยนต์ ดังนั้น ควรมีการสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้ไทยสามารถออกแบบและผลิต Battery Pack ได้เอง และมีกระบวนการทดสอบให้มีคุณภาพมาตรฐานสูงขึ้น ในราคาที่ผู้บริโภคเข้าถึงได้



2. กลุ่ม EV Conversion การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง โดยการใช้โครงรถเดิมและเปลี่ยนระบบ
ขับเคลื่อนเป็นไฟฟ้าเพื่อสร้าง Demand/Local Content ในประเทศให้สูงขึ้น ให้เกิดอุตสาหกรรม Battery/
Battery Pack และ Parts/components ให้มีราคาถูกลงทำให้แข่งขันได้



3. กลุ่ม EV New Design เมื่อเรามีความชำนาญมากพอก็สามารถต่อยอดสู่การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าใหม่ทั้งคัน โดยการพัฒนาออกแบบตัวรถเอง และนำชิ้นส่วนเข้ามาประกอบภายในประเทศ

คาดว่าความต้องการอะไหล่ที่มีราคาไม่แพงในตลาดหลังการขายของรถยนต์ไฟฟ้าที่มีอายุเกิน 7 ปีขึ้นไป จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ซึ่งไทยมีศักยภาพที่สามารถผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ เหล่านี้ได้



กรณีตัวอย่างผู้ประกอบการ EV conversion ที่มีมาตรฐานรองรับขับได้ถูกกฎหมายแน่นอน

ปัจจุบันมีกลุ่มผู้ประกอบการยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเพิ่มขึ้นหลายราย แต่มีหนึ่งรายที่หลายคนรู้จักกันดี เป็นตัวอย่างของการปรับตัวธุรกิจให้สอดรับกับสถานการณ์โลกแห่งอนาคตได้เป็นอย่างดี นั่นคือ บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด ผู้ผลิตและประกอบรถยนต์ รถพ่วง รถกึ่งพ่วง รถเพื่อการขนส่งรายใหญ่ของประเทศ ที่เห็นกันมากมายบนท้องถนน ที่วันนี้ได้ปรับเปลี่ยนตัวเองจากรถยนต์สันดาปปล่อยมลพิษ สู่รถบรรทุกไฟฟ้าพลังงานสะอาด สามารถวิ่งได้มากกว่า 200 กิโลเมตร  ต่อการชาร์จเต็ม 1 ครั้ง โดยระยะทางที่แจ้งนี้ เกิดจากการทดสอบขณะที่รถบรรทุกน้ำหนัก 25 ตัน ที่การขับขี่บนถนนปกติ 

ทั้งนี้ สามารถทำความเร็วได้ที่ 100 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง การชาร์จไฟเต็ม 1 ครั้ง ใช้เวลาประมาณ 112 นาที  สำหรับอายุแบตเตอรี่ ประมาณ 8 ปี หรือ ประมาณ 3,000 cycles 



สำหรับรถบรรทุก ราคาค่าดัดแปลงพร้อมเครื่องยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ ที่ความจุ 200 kW ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ซึ่งถูกกว่าถึง 3 เท่าเมื่อเทียบกับราคารถบรรทุกไฟฟ้าใหม่ ที่ราคาสูงถึง 5.99 ล้านบาท ส่วนรถปิกอัพ ราคาประมาณ 7 แสนบาท รวมแบตเตอรี่  ขณะที่รถปิกอัพไฟฟ้าใหม่ ราคาอยู่ที่ 1.55 ล้านบาท

สะท้อนให้เห็นว่า หากเรานำรถเก่าที่มีอยู่แล้ว มาดัดแปลงเป็นรถยนต์ไฟฟ้าได้ น่าจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดี ไม่ต้องสร้างภาระทางการเงิน แม้การดัดแปลงรถยนต์จากระบบสันดาปใช้น้ำมันในการขับเคลื่อนมาเป็นระบบไฟฟ้าอาจยังมีค่าใช้จ่ายอยู่บ้าง แต่ถ้าเทียบกับการซื้อรถใหม่ถือว่าถูกกว่ามาก ขณะเดียวกันยังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ช่วยเหลือผู้ประกอบการต่าง ๆ ในซัพพลายเชนให้มีเวลาปรับตัว เปลี่ยนผ่านจากรถยนต์ใช้น้ำมันไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า และที่สำคัญช่วยลดมลพิษได้อย่างมหาศาลเพื่อก้าวสู่สังคมไร้คาร์บอนที่ทุกคนอยากให้เกิดขึ้นในเร็ววัน



แนวโน้มธุรกิจ EV Conversion ในอนาคต

ที่ผ่านมา ประเทศไทยให้ความสำคัญในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และมีความพยายามที่จะลดอุณหภูมิลง รวมถึงมีการประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2065

จึงเป็นสาเหตุที่ต้องผลักดันให้คนหันมาใช้รถ EV เนื่องจากต้องการสนับสนุนพลังงานสะอาดเพื่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยงานวิจัยเผยว่าฝุ่น PM 2.5 ประมาณ 65-70% เกิดจากมลพิษที่มาจากรถยนต์ นอกจากนี้รถยนต์ 1 คันปล่อยคาร์บอนเฉลี่ย 800,000 ตันต่อปี หากเปลี่ยนเป็นรถ EV ได้ 100,000 คันในอนาคต ก็สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้มากถึง 800,000 ตันต่อปี

ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก เพราะการจะบรรลุเป้าหมายได้ ทุกภาคส่วนต้องเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาด รวมถึงภาคส่วนคมนาคมด้วย โดยในปี 2025 มีข้อมูลว่าราคารถยนต์น้ำมันจะแพงกว่ารถยนต์ไฟฟ้า ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าได้รับความสนใจมากขึ้น ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมรถยนต์สันดาปจึงจำเป็นต้องเร่งปรับตัวตั้งแต่วันนี้ เพื่อให้ทันเทรนด์การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศไทยได้ประกาศจะเป็น ASEAN EV-Hub รวมถึงกำหนดว่าในปี 2030 จะมีรถยนต์ไฟฟ้า 100% (Zero Emission Vehicle: ZEV) ที่มีการผลิตขึ้นภายในประเทศถึงร้อยละ 30 หรือคิดเป็นจำนวน 6-7 แสนคันต่อปี ซึ่งสัดส่วนในการผลิตรถไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ดังนั้นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้ต้องพร้อมเปลี่ยนแปลง หากมีการวางแผนที่ดีจะสามารถยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการเดิมให้สามารถเดินต่อไปได้ เป็นที่มาของโครงการ รถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (EV Conversion) ที่จะช่วยยกระดับความสามารถของผู้ประกอบการไทยได้อีกทางหนึ่ง

ขณะที่ปัจจุบันไทยมีผู้ประกอบการอยู่หลายกลุ่ม ทั้งผู้ประกอบการเดิม ผู้ประกอบการใหม่ทั้งรายเล็กและรายใหญ่ รวมถึงผู้ประกอบการต่างชาติรายใหม่ ตลาดในอนาคตจึงมีแนวโน้มเข้มข้นและรุนแรงมากกว่าในปัจจุบัน รวมถึงผู้ประกอบการไทยหลายบริษัท เริ่มเปิดตัวผลิตภัณฑ์ยานยนต์ไฟฟ้าทั้งแบบดัดแปลงและแบบใหม่มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การที่จะทำให้ผู้ประกอบใหม่เหล่านี้สามารถแข่งขันได้นั้น จะต้องให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่การพัฒนาต้นแบบ แต่ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้เข้าสู่การผลิตในเชิงปริมาณ ในราคาที่สามารถแข่งขันกับรถที่นำเข้าจากต่างประเทศได้ เป็นโจทย์ที่ต้องวางแผนและต้องคิดกลยุทธ์ที่เหมาะสมในการขับเคลื่อน

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นว่า นี่คือโอกาสที่ผู้ประกอบการ SME ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ หรือ อู่ซ่อมรถ จำนวนมากในประเทศ จะได้พัฒนาศักยภาพธุรกิจ และมีเวลาปรับตัวเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต หากพัฒนาจนได้รับการรับรองมาตรฐานการบริการดัดแปลงรถไฟฟ้า จะสามารถสร้างโอกาสเติบโตทางธุรกิจดัดแปลงรถยนต์สันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV Conversion) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ


อ้างอิง
สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)https://www.nxpo.or.th/th/14430/
https://www.nxpo.or.th/th/14653/
ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
https://www.gcc.go.th/?p=93586
กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน
https://dmf.go.th/public/list/data/detail/id/18400/menu/593
https://www.salika.co/2022/03/13/ev-conversion-new-thailand-ev-industry/
https://www.prachachat.net/d-life/news-1282373?fbclid=IwAR2v7T4w5W5FJQ2aQhO3zkHQRsKvGCgBXVq8IH_2d_tgoaOw_eA_wOj6OCU
https://www.teched.rmutt.ac.th/?p=97857

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘ผงโปรตีนจากคาร์บอน’ นวัตกรรมรักษ์โลก เปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ให้กลายเป็น อาหาร ลดโลกร้อน

‘ผงโปรตีนจากคาร์บอน’ นวัตกรรมรักษ์โลก เปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ให้กลายเป็น อาหาร ลดโลกร้อน

เราทุกคนตระหนักดี ว่าโลกกำลังอยู่ในวิกฤติ “ภาวะโลกรวน” ซึ่งมาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ ปัญหาภาวะโลกร้อน และ สภาพภูมิอากาศ ที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงระยะเวลาที่ยาวนาน…
pin
213 | 26/09/2023
พาชม! นวัตกรรม EV ในงานพลังงาน และเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า ASEAN Sustainable Energy Week และ Electric Vehicle Asia 2023

พาชม! นวัตกรรม EV ในงานพลังงาน และเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า ASEAN Sustainable Energy Week และ Electric Vehicle Asia 2023

ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย เติบโตอย่างก้าวกระโดดจากความนิยมใช้รถพลังงานไฟฟ้าเพื่อประหยัดพลังงาน นอกจากจะช่วยแก้ปัญหามลพิษทางอากาศยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม…
pin
1384 | 14/09/2023
6 เทรนด์ ‘MarTech’ การตลาดยุคใหม่ ปี 2023-2026 ที่แบรนด์ต้องรู้!

6 เทรนด์ ‘MarTech’ การตลาดยุคใหม่ ปี 2023-2026 ที่แบรนด์ต้องรู้!

‘MarTech’ ถือเป็นเครื่องมือการตลาดที่ผสานการตลาด (Marketing) และ (Technology) ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน และเป็นผู้ช่วยชั้นดีที่จะติดปีกแบรนด์ของคุณให้เติบโตได้อย่างรวดเร็ว…
pin
1184 | 29/08/2023
EV Conversion แปลงรถยนต์ใช้น้ำมันคันเดิมสู่รถยนต์ EV โอกาส SME ต่อยอดธุรกิจแห่งอนาคต