จับตาผู้เล่นยักษ์ใหญ่ อุตสาหกรรม EV ปักฐานลงทุนไทย ป้อนตลาดอาเซียน

Mega Trends & Business Transformation
29/09/2023
รับชมแล้วทั้งหมด 16075 คน
จับตาผู้เล่นยักษ์ใหญ่ อุตสาหกรรม EV ปักฐานลงทุนไทย ป้อนตลาดอาเซียน
banner
ความเข้มงวดของกฎระเบียบด้านมลพิษของทั่วโลก จะเป็นแรงหนุนให้ผู้ผลิตรถต้องเปลี่ยนโมเดลรถยนต์ที่ทำการตลาดอยู่มากกว่าครึ่งหนึ่งให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้า ในปี 2573 เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือ Net Zero
 
การ์ทเนอร์ บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษา ได้คาดการณ์ปริมาณการจัดส่งรถยนต์พลังงานไฟฟ้าทั่วโลก 2 ประเภท ได้แก่ ปลั๊กอินไฮบริด และ พลังงานไฟฟ้าแบตเตอรี่ 100% ในปี 2566 จะอยู่ที่ 15 ล้านคัน และจะเพิ่มเป็น 17.9 ล้านคัน ในปี 2567
 
ในส่วนของประเทศไทย ก็ได้วางเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายในปี 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ภายในปี 2608 จึงต้องเร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการขนส่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในสาขาที่มีการลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
 
ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติได้พิจารณาเห็นชอบในหลักการจัดทำ “แผนพลังงานชาติ” โดยกำหนดให้มีการปรับแผนพลังงานภาคขนส่ง สร้างสมดุลระหว่างผู้ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ (biofuel) และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นหนึ่งในนั้น
 
“ประเทศไทย” ในฐานะผู้ผลิตรถยนต์และส่งออกรถยนต์สันดาปอันดับ 1 ของอาเซียน และติดท็อป 10 ระดับโลก จึงได้เบนเข็มมุ่งสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมอีวี โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้ไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกอีวีไม่แพ้กับที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้วในการการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องยนต์สันดาป เมื่อหลายสิบปีก่อน
 
โดยได้เดินหน้าแผนพัฒนารถยนต์อีวี ตามนโยบายที่เรียกว่า 30@30 ซึ่งเป็นโยบายที่กำหนดว่าในปี 2573 ต้องผลิตรถยนต์อีวี รถยนต์นั่งกระบะให้ได้ 725,00 คัน รถจักรยานยนต์ให้ได้ 675,000 คัน รถบัสรถบรรทุกให้ได้ 34,000 คัน หรือคิดเป็น 30% ของการผลิตทั้งหมด
 
ซึ่งรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาชุดที่ผ่านมา ได้อัดมาตรการกระตุ้น “ตลาดอีวี” ด้วยการลดหย่อนภาษีอีวีสูงสุดถึงคันละ 1.5 แสนบาท และการลดภาษีสรรพสามิตรจาก 8% เหลือ 2% เพื่อปั้นให้ตลาดอีวีเกิดขึ้นให้ได้ ซึ่งประกอบกับเป็นจังหวะที่ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา จึงเป็นแรงส่งให้ตลาดอีวีคึกคักมากขึ้น



ข้อมูลจากสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย
 
สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) ระบุว่า ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566  ยอดการจดทะเบียนอีวีมีจำนวนมากกว่า 37,000 คัน เติบโตขึ้น 400% เมื่อเทียบกับช่วงปี 2565 
 
โดยมาตรการส่งเสริมอีวีช่วงแรก ที่เรียกว่าแพ็กเก็จอีวี 3.0 นั้น จะเน้นหนักเรื่องส่งเสริมการผลิตภายในประเทศ ด้วยการกำหนดเงื่อนไขให้เอกชนที่จะได้รับสิทธิ์ส่วนลดราคาจำหน่ายจากกรมสรรพากร เพื่อให้สามารถนำเข้ารถอีวีเข้ามาจำหน่ายในประเทศก่อน จะต้องแลกกับการมาตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทย และเริ่มเดินเครื่องตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป ในสัดส่วน 1 ต่อ 1 



ทว่ามาตรการดังกล่าว กำลังจะสิ้นสุดลงในสิ้นปี 2566 นี้ และแม้ว่ารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะวางหมากเดินหน้ามาตรการส่งเสริมการลงทุนอีวี 3.5 เป็นแพ็กเก็จต่อเนื่อง แต่ก็ต้องเปลี่ยนผ่านรัฐบาลเสียก่อน จึงทำให้มาตรการดังกล่าวยังไม่ได้มีผลบังคับใช้ และอาจจะมีโอกาสที่จะถูกปรับเปลี่ยน สร้างความกังวลให้กับผู้ใช้รถที่เสี่ยงจะจดทะเบียนไม่ทันสิ้นปี 2566 และอาจจะยังไม่ได้รับการสนับสนุนในแพ็กเก็จ 3.5



อย่างไรก็ตาม “นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์” เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ยังมองว่าการส่งเสริมแพ็กเก็จอีวี 3.5 ควรต้องเดินหน้าต่อเพื่อรักษาโมเมนตั้มในการเติบโตของอุตสาหกรรมอีวี ซึ่งจะเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่จะมาขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งในขณะนี้มีค่ายรถยนต์เข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทยมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีอีกหลายบริษัทที่อยู่ระหว่างการเตรียมการจะเข้ามาลงทุนเพิ่มเติม 
 
สำหรับสถานการณ์ส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ ล่าสุด ได้มีการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนโครงการเกี่ยวกับอีวีไปทั้งหมด 14 โครงการ รวมกำลังการผลิตกว่า 270,00 คัน โดยตามแผนจะทยอยผลิตตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป ซึ่งหากใช้กำลังการผลิตเต็มที่จะสามารถผลิตได้ปริมาณ 1 ใน 3 ของเป้าหมายที่จะผลิตให้ได้ 725,000 คันในปี 2030



หากอัพเดทสัญญาณจากค่ายรถอีวีที่กระโดดลงมาสู้ศึกในตลาดอีวีไทยในช่วงที่ผ่านมา จะพบว่า ส่วนใหญ่จะเป็นค่ายจีน ไล่เรียงมาตั้งแต่  MG ซึ่งเป็นแบรนด์ที่คุ้นเคยสำหรับคนไทย เพราะเข้ามาตั้งฐานผลิตในไทยนับตั้งแต่ปี 2556 ร่วมกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ มีฐานการผลิตที่จ.ชลบุรี และต่อยอดผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 100% ในปี 2566 และยังขยายการลงทุนโรงงานแบตเตอรี่ ด้วยเม็ดเงินลงทุน 2,500 ล้านบาท



ต่อมา Great wall motor ที่มาเปิดโรงงาน ที่จ.ระยอง เมื่อปี 2564 ถือว่าใช้ไทยเป็นฐานการผลิตแบบเต็มรูปแบบแห่งที่ 2 นอกประเทศจีน มีกำลังการผลิต 80,000 คันต่อปี จากแผนการลงทุน 26,000 ล้านบาท



บริษัท อีวีไพรมัส จำกัด ผู้จำหน่ายรถยนต์ DFSK หรือ DONGFENG, SERES และ VOLT CITY EV ได้ลงทุนกว่า 400 ล้านบาท ขยายโรงงานอีวี ที่จ.ฉะเชิงเทรา เตรียมผลิต 4,000 คันต่อปี ในปี 2566



แต่ที่ฮือฮาที่สุด จะเป็นการมาของ ยักษ์ใหญ่อันดับ 1 ของโลก  “BYD” ที่กางแผนลงทุนเกือบ 18,000 ล้านบาท ในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ (BEV) และปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) บนพื้นที่ 800 ไร่ ในนิคมดับบลิวเอชเอ สร้างโรงงานขนาดกำลังการผลิต 150,000 คัน เพื่อจำหน่ายในประเทศไทยและส่งออกไปยังอาเซียนและยุโรป โดยก่อนที่จะผลิตรถในไทย BYD ได้จับมือกับเรเว่ ออโตโมทีฟ บริษัทของทายาทสยามกลการ เพื่อทำตลาดในประเทศไทย และตั้งเป้าหมายยอดขาย 10,000 คัน 



แบรนด์น้องใหม่เริ่มเห็นบนท้องถนนสีสันสะดุดตาอย่าง “เนต้า” ดำเนินการโดย บริษัทแม่ของ เนต้า ออโต ไทยแลนด์  คือ บริษัท โฮซอน นิวเอนเนอร์ยี่ ออต้าโมบิล ได้ว่าจ้างบริษัท บางชันเยนเนอเรลเอเซมบลี จำกัด ประกอบรถ EV พวงมาลัยขวาในประเทศไทย เพื่อนำไปทำตลาดทั้งในประเทศไทย และส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน 



และเมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัท ฉางอัน ออโตโมบิล จำกัด ผู้ผลิตรถอีวียักษ์ใหญ่จากจีน ก็ประกาศว่า ได้ยื่นซองรับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ และจะมีการลงทุนในประเทศไทยเฟสแรก มูลค่ากว่า 8,800 ล้านบาท เพื่อตั้งฐานการผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวา ทั้งประเภทยานยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ (BEV) ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) และรถยนต์ไฟฟ้าผสมขยายระยะ (REEV) ในประเทศไทย ด้วยกำลังการผลิต 1 แสนคันต่อปี  มีเป้าหมายจะนำไปจำหน่ายในประเทศไทย และส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ทั้งในอาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ และแอฟริกา
 
ซึ่งนับได้ว่าเป็นที่น่าจับตามอง เพราะฉางอันฯ เป็นผู้ผลิตที่มีความเชี่ยวชาญด้านอีวีและระบบขับขี่อัจฉริยะ เป็นอันดับ 1 ใน 4 ของผู้ผลิตอีวียักษ์ใหญ่ของจีน มียอดขายกว่า 2 ล้านคันในปีที่แล้ว ซึ่งบริษัทได้ทำการศึกษาโอกาสและความเป็นไปในไทยและหลังประเทศในอาเซียน แต่ท้ายที่สุดก็เลือกไทย ไม่เพียงเท่านั้นฉางอันฯ ยังได้แสวงหาเครือข่ายซัพพลายเออร์สัญชาติไทยที่จะผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ ให้กับบริษัทอีกด้วย



ไม่เพียงเท่านั้น ค่ายจีน ยักษ์ใหญ่อีวี GAC AION  ประกาศแผนการลงทุนแล้วเช่นเดียวกัน โดยบริษัท จีเอซี นิว เอ็นเนอร์ยี ออโต้โมบิล คอมพานี ลิมิเต็ด บริษัทย่อยของ GAC Group (Guangzhou Automobile Group) ประกาศเมื่อเดือนมีนาคม 2566 ว่าเตรียมจะแสวงหาผู้ร่วมลงทุนตั้งโรงงานผลิตอีวีในไทย 100,000 คันต่อปี บนพื้นที่ 500-1,000 ไร่ ด้วยมูลค่าลงทุน ประมาณ 6,400 ล้านบาท   
 
สำหรับ GAC AION นั้นเป็นผู้ผลิตอีวีอันดับ 1 ใน 3 ของจีน  ปัจจุบันผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าระบบอัตโนมัติ  และเทคโนโลยีโรบอต อุตสาหกรรมการบิน และการคมนาคม โดยโรงงานแห่งแรกของ GAC AION ใช้เวลาเพียง 3 ปี สามารถเติบโตอย่างรวดเร็ว มียอดขายทะลุ 2.5 ล้านคัน มูลค่า 500,000 ล้านหยวน เมื่อปี 2565
 
ขณะที่ค่ายยุโรปอย่าง Mercedes-Benz  อยู่ระหว่างก่อสร้างโรงงานและติดตั้งเครื่องจักรเตรียมพร้อมจะเริ่มผลิต ภายในปี 2566



ส่วนผู้ผลิตค่ายไทยก็ไม่น้อยหน้า อย่าง บมจ.ปตท. ได้มีการขยายการลงทุนโรงงานผลิตรถอีวี โดยให้บริษัทลูก คือ บริษัทฮอริษอน พลัส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง อรุณ พลัส บริษัทย่อยของ ปตท. กับ Lin Yin International Investment บริษัทในกลุ่มของ Foxconn ตั้งโรงงานรับจ้างผลิต (OEM) รถอีวี กำลังการผลิตในเฟสแรกจะมีจำนวน 50,000 คัน เริ่มผลิตในปี 2567
 
แน่นอนว่ากลยุทธ์ของบีโอไอหลังจากนี้ ยังพยายามสนับสนุนให้ผู้ประกอบการค่ายรถยนต์ในประเทศไทยไปสู่อีวีมากขึ้น พร้อมทั้งเร่งดึงดูดผู้ผลิตรายใหม่จากจีน เกาหลี ญี่ปุ่น อเมริกา และยุโรป เข้ามาขยายการลงทุนในประเทศไทย ทำให้จากนี้ไปอาจจะได้เห็นหลายบริษัทประกาศแผนลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น



พร้อมกันนี้ บีโอไอยังมีแผนเสนอมาตรการอีวี 3.5 เป็นมาตรการสำคัญ ให้คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ขยายเวลามาตรการอีวี 3.5 ในการนำเข้ารถยนต์ทั้งคัน (CBU) ในปี 2567-2568 และมีการผลิตชดเชยในปี 2569-2570 ซึ่งคาดว่าถ้ามีรัฐบาลใหม่แล้วก็จะเสนอมาตรการนี้เข้าไปในอีวีชุดใหม่เพื่อพิจารณาก่อนนำเสนอให้กับครม. ซึ่งควรเสร็จภายในเดือนธันวาคม เพื่อประกาศใช้ให้ทัน 1 มกราคม 2567 ด้วย
 
เพราะถึงอย่างไรก็เชื่อมั่นได้ว่า รัฐบาลใหม่ยังต้องสนับสนุนและผลักดันเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมอีวีต่อไป  เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย 30@30 ที่ตั้งเป้าว่าต้องมีอีวีให้ได้ 30% ภายในปี 2030 แน่นอนว่าอีวีต้องเติบโตอย่างน้อย ปีละ 50,000 คัน  


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ธุรกิจยุคดิจิทัล ต้อง Transformation อย่างไร เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ในเทศกาลสงกรานต์

ธุรกิจยุคดิจิทัล ต้อง Transformation อย่างไร เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ในเทศกาลสงกรานต์

ความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ กลายเป็นโจทย์หลักของนักการตลาดในยุคดิจิทัล หากเจาะลึกลงไปจะพบว่าการเปลี่ยนแปลงจนทำให้เกิดการดิสรัปด้านเทคโนโลยีรอบนี้…
pin
4213 | 10/04/2024
5 เทคโนโลยีสุดล้ำ ที่ธุรกิจนำมาปรับใช้เป็นกลยุทธ์ใหม่กระตุ้นยอดขาย ดึงลูกค้า ช่วงมหาสงกรานต์ 2567

5 เทคโนโลยีสุดล้ำ ที่ธุรกิจนำมาปรับใช้เป็นกลยุทธ์ใหม่กระตุ้นยอดขาย ดึงลูกค้า ช่วงมหาสงกรานต์ 2567

ประเพณีสงกรานต์ของไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน สนับสนุนให้ “สงกรานต์” เป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์เทศกาลระดับโลก…
pin
4204 | 10/04/2024
5 นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี ตอบโจทย์เทรนด์รักสุขภาพองค์รวม 'Holistic Health' เมื่อคนยุคใหม่มองหาสุขภาวะที่ดีขั้นสุด

5 นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี ตอบโจทย์เทรนด์รักสุขภาพองค์รวม 'Holistic Health' เมื่อคนยุคใหม่มองหาสุขภาวะที่ดีขั้นสุด

การดูแลสุขภาวะที่ดีกำลังเป็นโจทย์สำคัญด้านสาธารณสุขของประเทศ ในห้วงเวลาที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็น “สังคมสูงวัย “ (Aged Society) โดยมีข้อมูลพบว่าตั้งแต่ปี…
pin
1057 | 25/03/2024
จับตาผู้เล่นยักษ์ใหญ่ อุตสาหกรรม EV ปักฐานลงทุนไทย ป้อนตลาดอาเซียน