‘ผงโปรตีนจากคาร์บอน’ นวัตกรรมรักษ์โลก เปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ให้กลายเป็น อาหาร ลดโลกร้อน
เราทุกคนตระหนักดี ว่าโลกกำลังอยู่ในวิกฤติ “ภาวะโลกรวน” ซึ่งมาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ ปัญหาภาวะโลกร้อน และ สภาพภูมิอากาศ ที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงระยะเวลาที่ยาวนาน ซึ่งจากปัจจัยทั้ง 2 อย่างนี้ ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติที่มีความผันผวนอย่างรวดเร็ว มีความรุนแรง และมีความถี่ขึ้นจนยากที่คาดเดา
ซึ่งภัยธรรมชาติที่เราพบเจอได้บ่อยขึ้น เช่น อากาศที่ร้อนขึ้น น้ำแข็งขั้วโลกละลาย อุทกภัย ภัยแล้ง สาเหตุดังกล่าวล้วนมาจากฝีมือของมนุษย์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการรุกพื้นที่ป่า ขยายเมือง การปล่อยก๊าซ CO2 การไม่รู้จักการบริหารจัดการขยะ และยิ่งจำนวนประชากรโลกเพิ่มขึ้น สถานการณ์ดูจะยิ่งเลวร้ายลง เทรนด์ของการผลิตอาหารแบบทางเลือกเหมือนอย่าง Future Foods จะกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นในอนาคต เพราะเราไม่สามารถผลิตอาหารแบบเดิมในปริมาณที่มากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แม้เราจะทราบดีว่า อุตสาหกรรมปศุสัตว์เป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน แต่ปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์ก็ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด โดยมีการบริโภคราว 386 ล้านตันต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ภายในปี 2050 มีการคาดการณ์ว่าประชากรโลกจะสูงถึง 10,000 ล้านคน ยิ่งทำให้ความต้องการโปรตีนจากเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นถึง 68% นั่นหมายความว่า เราต้องหาแหล่งอาหารเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า แล้วจะทำยังไงไม่ให้กระทบต่อสภาพแวดล้อม? เป็นโจทย์สำคัญที่ทั่วโลกต่างคิดค้นนวัตกรรมที่หลากหลาย เพื่อหาวิธีแก้ปัญหานี้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ด้วยจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ทำให้ทุกวันนี้เราผลิตเนื้อสัตว์มากกว่าเมื่อ 50 ปีก่อนประมาณ 6 เท่าตัว ก่อให้เกิดปริมาณก๊าซเรือนกระจก 1 ใน 4 ของทั้งโลก ขณะเดียวกันการผลิตที่มากขึ้น ส่งผลให้ผืนป่าถูกทำลายมากขึ้นเช่นกัน โดยแผ่นดิน 1 ใน 4 ของโลก ถูกใช้เพื่ออุตสาหกรรมปศุสัตว์ และ 1 ใน 3 ของพื้นที่เพาะปลูกถูกใช้สำหรับอุตสาหกรรมการเกษตร เพื่อนำมาเป็นอาหารสัตว์เหล่านั้น อีกส่วนคือจำนวนต้นไม้ที่เคยช่วยดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่ให้ไปสู่ชั้นบรรยากาศ ก็ถูกตัดและถางป่าเป็นจำนวนมาก

ทำโลกร้อนนักใช่มั้ย! จับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาทำอาหารซะเลย
ที่ผ่านมาเราคงได้ยินและได้เห็นเนื้อสัตว์จากห้องแล็บที่เกิดจากการเพาะเนื้อเยื่อจากเซลล์สัตว์ หรือนวัตกรรมเนื้อจากพืช (plant-based) ที่สร้างจากโปรตีนถั่วเหลืองและถั่วเขียว จนกลายเป็นทางเลือกสำหรับคนที่อยากกินพืช ผัก แต่ยังชอบรสชาติและรสสัมผัสของเนื้อสัตว์อยู่นั่นเอง

ภาพจาก : https://solarfoods.com/
มาวันนี้ Solar Foods บริษัทสตาร์ทอัปของฟินแลนด์ ได้ผลิต ‘แป้งโปรตีนจากคาร์บอนไดออกไซด์’ โดยแป้งที่ได้เรียกว่า Solein (โซลีน) มาจากการรวมคำว่า Solar + Protein เข้าด้วยกัน เป็นผงแป้งสีเหลืองที่มีโปรตีนเป็นส่วนประกอบ 60 - 70% ส่วนประกอบที่เหลือจะเป็นกรดไขมันและไฟเบอร์
Solar Foods ระบุว่า โซลีน ใช้เทคนิคการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศ และการใช้พลังงานหมุนเวียนในการแยกก๊าซไฮโดรเจนออกจากน้ำในอากาศ จากนั้นจึงนำก๊าซที่ได้มาเข้าถังหมักจุลินทรีย์เพื่อเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้กลายเป็นโปรตีนเซลล์เดียวว โดยไม่ก่อเกิดก๊าซเรือนกระจก ทำให้โซลีนกลายเป็นอาหารแห่งอนาคต คือ มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ซึ่งการผลิตโซลีน 1 กิโลกรัมจะใช้น้ำแค่ 10 ลิตรเท่านั้น น้อยกว่า 250 เท่าและใช้พื้นที่น้อยกว่า 10 เท่าเมื่อเทียบกับถั่วเหลืองที่ต้องใช้น้ำถึง 2,500 ลิตร และเนื้อวัวที่ต้องใช้น้ำถึง 15,000 ลิตร
จากนั้นนำไปทำให้เป็นผง ซึ่งกระบวนการทำให้แห้งนี้จะเป็นการหมักตามธรรมชาติไม่ต่างอะไรจากการหมักไวน์หรือเบียร์ แต่ต้องใช้เครื่องปฏิกรณ์พิเศษ ท้ายที่สุดผงโซลีนที่รับประทานได้จะมีคุณค่าทางอาหารที่มีส่วนประกอบของโปรตีนถึง 65% โลว์คาร์โบไฮเดรต (Carb) 20 – 25% ไขมัน 5 – 10% รวมถึงกรดอะมิโนต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อร่างกาย

ภาพจาก : https://www.facebook.com/SolarFoodsFi/
ความน่าสนใจ อยู่ตรงที่ การผลิตอาหารดังกล่าวแทนที่จะทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ กลับดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีอยู่แล้วในอากาศ มาทำเป็นอาหารโดยใช้วิธีคล้าย ๆ กับการผลิตเนื้อสัตว์จากในห้องแลป แต่เปลี่ยนจากการผลิตเซลล์โปรตีนในเนื้อสัตว์มาเป็นผลิตผงโปรตีน ผงที่ได้มีลักษณะเหมือนแป้งสาลีทั่วไปและสามารถนำไปทำอาหารได้ทุกชนิด

ภาพจาก : https://solarfoods.com/
โดยวิธีสร้างโปรตีนจากคาร์บอนไดออกไซด์ยังช่วยบรรเทาความหิวโหยจากการขาดแคลนอาหาร โดย โซลีน มีสารอาหารที่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน เนื่องจาก โซลีน มีโปรตีนสูงไม่แพ้เนื้อสัตว์ แต่มีความแตกต่างที่โดดเด่น คือ ไม่จำเป็นต้องเลี้ยงสัตว์ ไม่ต้องใช้ที่ดินทางการเกษตรมากมาย ไม่ว่าจะสภาพภูมิประเทศแบบใด คุณภาพดินหรือแหล่งน้ำจะเพียงพอหรือไม่ จึงสามารถผลิตขึ้นได้ในทุกที่ ทำให้ลดการใช้ที่ดิน ทรัพยากรและการใช้น้ำ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ที่สำคัญการผลิตโซลีนแต่ละครั้งสร้างมลพิษน้อยกว่าการผลิตเนื้อวัวถึง 100 เท่า และน้อยกว่าการผลิตโปรตีนจากพืชถึง 5 เท่า ตอบโจทย์การไปสู่เป้าหมายอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals –SDGs) ได้อย่างมีศักยภาพ

ภาพจาก : https://www.facebook.com/SolarFoodsFi/
ความโดดเด่นที่สุดอีกข้อหนึ่ง สำหรับเทคโนโลยีนี้ คือ ความรวดเร็วในการผลิต โดยมีอัตราการเติบโต 4 วันจะให้โปรตีนได้เทียบเท่ากับเลี้ยงวัว 2 ปี และใช้น้ำแค่ 0.8 ลิตรต่อกิโลกรัม ถ้าเทียบกับน้ำที่ต้องใช้ในการเลี้ยงวัว อาจต้องใช้มากถึง 15,000 ลิตรต่อกิโลกรัม เมื่อเทียบกับปริมาณโปรตีนที่ได้แล้ว กระบวนการผลิตทั้งหมดใช้พื้นที่ในการผลิตน้อยกว่าปศุสัตว์แบบเดิมถึง 1.5 ล้านเท่าและใช้น้ำน้อยกว่า 15,000 เท่าเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม การผลิตอาหารดังกล่าว Future Foods จะใช้พลังงานหมุนเวียนผลิตเป็นไฟฟ้า ทำให้มีต้นทุนสูงขึ้น แต่ก็แลกมาด้วยสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น ดังนั้น แม้จะยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง แต่สิ่งนี้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยผลิตอาหารได้มากขึ้น รองรับกับประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากมีกระบวนการสร้างอาหารรูปแบบใหม่ ๆ จะทำให้ลดปัญหาการขาดแคลนอาหารได้อย่างยั่งยืน

แก้ปัญหาได้ทั้ง 2 วิกฤตในคราวเดียวกัน
ด้านโครงการอาหารโลก (World Food Programme, WFP) ระบุว่า ขณะนี้ทั่วโลกมีประชากร 8 พันกว่าล้านคน และมีประชากร 1 ใน 9 ของโลก ต้องเผชิญกับความหิวโหย ซึ่ง ‘ผงโปรตีนจากคาร์บอน’ จะสามารถลดปัญหาการขาดแคลนอาหารของประชากรบนโลกได้ ด้วยการสร้างผลิตภัณฑ์จากผงโปรตีนสำหรับอาหารจำนวน 2 พันล้านมื้อได้ภายในปี 2023
การผลิตอาหารจากคาร์บอนช่วยแก้ปัญหา 2 อย่างในเวลาเดียวกัน คือ การขาดแคลนอาหารและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมอาหาร Solar Foods ยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกา เพื่อผลิตอาหารในพื้นที่ภัยพิบัติหรือเขตสงครามเพื่อให้สามารถผลิตอาหารได้อย่างรวดเร็วในสภาพแวดล้อมที่ทรัพยากรมีจำกัด

ภาพจาก : https://www.facebook.com/SolarFoodsFi/
สิงคโปร์ เป็นประเทศแรก ขายผงโปรตีนจาก “ก๊าซคาร์บอน”
ในปี 2567 ชาวสิงคโปร์จะเป็นประเทศแรกในโลก ที่ได้ลองสัมผัสรสชาติ ขนมปัง เส้นพาสตา ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่ม และอาหารอื่น ที่มีส่วนผสมของ ’โซลีน’ (Solein) หรือผงโปรตีนที่ผลิตจากก๊าซในอากาศ โดยผงโปรตีนโซลีน นี้ จะมีสีเหลือง ลักษณะและรสชาติคล้ายกับแป้งสาลี ซึ่งสามารถนำไปประกอบอาหารต่าง ๆ ได้ทุกชนิด แต่ที่บริษัทแนะนำ คือ การนำโซลีนไปปรุงเป็น พาสต้า ขนมปัง หรือโปรตีน Plant-based ซึ่งประกอบด้วยโปรตีนกว่า 65 - 70% และมีกรดอะมิโนจำเป็นครบ ทั้ง 9 ชนิด ตามที่ร่างกายคนเราต้องการ

ภาพจาก : https://www.facebook.com/SolarFoodsFi/
สำหรับผงโปรตีนโซลีน ได้ผ่านการทดสอบจากสำนักงานอาหารสิงคโปร์ (Singapore Food Agency – SFA) จึงมั่นใจได้ในเรื่องความปลอดภัยและกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานด้านอาหารของสิงคโปร์ ผงโปรตีนโซลีนจึงเป็น 1 ใน 7 ผลิตภัณฑ์อาหารใหม่ (Novel Food) จาก 5 บริษัท ที่ได้การรับรองเพื่อขายในสิงคโปร์ในปัจจุบัน โดยคาดว่าการก่อสร้างโรงงานเชิงพาณิชย์ของบริษัท Solar Foods ที่ฟินแลนด์ จะแล้วเสร็จและพร้อมผลิตภายในปี 2567
ทั้งนี้ จากข้อมูลบริษัทวิเคราะห์ตลาด Blackbox Research ของสิงคโปร์ ระบุว่า คนสิงคโปร์จำนวนมากถึง 77% สนใจที่จะบริโภคโปรตีนทางเลือกมากขึ้น โดยเฉพาะถ้าอาหารมีรสชาติอร่อยและราคาไม่แตกต่างจากเนื้อสัตว์จริงมากนัก
สะท้อนให้เห็นว่า กระแสโลกทุกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงเสมอ ผู้คนคำนึงถึงสุขภาพในการรับประทานอาหารควบคู่ไปกับการใส่ใจในเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จึงอยากให้ภาคส่วนธุรกิจคำนึงถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนี้และนำมาปรับใช้ สร้างไอเดียทางธุรกิจ ต่อยอดประกอบกับการพัฒนาทางนวัตกรรม เพื่อให้ไทยไม่ตกกระแส และมีการพัฒนาธุรกิจให้เท่าทันกระแสของโลกที่เปลี่ยนแปลงได้
อ้างอิง :
https://brandinside.asia/capture-carbon-protein-alternative/
https://thaibizsingapore.com/news/%E0%B8%81/directions/singapore-plant-based-protein-alternative-foods-local-trend-updates-2022/
https://www.matichonweekly.com/column/article_568963
https://www.posttoday.com/post-next/1246