สร้างมูลค่าสินค้าเกษตรจาก ‘ทุเรียนอ่อนเหลือทิ้ง’ สู่การผลิตเครื่องสำอาง ต่อยอดรายได้มหาศาลให้เกษตรกรไทย
ฤดูกาลของ ‘ทุเรียน’ ราชาแห่งผลไม้ไทย พืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและชื่อเสียงให้กับประเทศ เนื่องจากในแต่ละปีไทยส่งออกทุเรียนไปยังประเทศต่างๆ มากมายทั่วโลก ซึ่งฤดูกาลของทุเรียนได้แก่ช่วงเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม แต่บางพื้นที่สามารถให้ผลผลิตได้ถึงเดือนตุลาคมเลยทีเดียว
และนอกจากจะกินทุเรียนสดๆ แล้ว ยังสามารถนำมาแปรรูปทุเรียนให้เกิดเป็นเมนูใหม่ที่แสนอร่อยและช่วยเก็บรักษาไว้ได้นานขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ทุเรียนทอด ทุเรียนเชื่อม เพื่อให้เก็บไว้กินได้นานขึ้นอีกด้วย

เรื่องที่หลายๆ คนไม่เคยรู้เกี่ยวกับ ‘ทุเรียนอ่อน’
แม้ทุเรียนจะสามารถนำมาแปรรูปทุเรียนให้เกิดประโยชน์อีกมากมาย แต่ก็น่าเสียดายว่ายังมีผลทุเรียนอีกจำนวนมากที่ยังไม่ถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยชาวสวนทุเรียนจะต้องตัดผลทุเรียนอ่อนทิ้งโดยเฉลี่ยประมาณ 200 - 300 ผลต่อหนึ่งต้น เพื่อให้มีจำนวนผลบนต้นทุเรียนที่เหมาะสม ไม่มากเกินไป
เนื่องจากทุเรียนหนึ่งต้นจะออกดอกจำนวนมาก หากทุกดอกกลายเป็นผลทั้งหมด จะทำให้ต้นทุเรียนรับน้ำหนักไม่ไหว ทำให้กิ่งหักได้ ชาวสวนจึงจำเป็นต้องเลือกผลที่มีรูปร่างสวย เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ขายได้ในราคาที่ดี จึงทำให้ผลทุเรียนอ่อนเป็นสิ่งที่ไม่มีมูลค่าในปัจจุบัน
ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาทุเรียนอ่อนเหลือทิ้ง ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ทีมวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำทีมโดย รศ.ดร.ศุภอรรจ ศิริกันทรมาศ ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการวิจัย จนค้นพบสาระสำคัญหลายชนิด จากสารสกัดจากทุเรียนอ่อนที่ดีต่อผิวและผม ปลอดกลิ่น ปลอดภัย เพื่อเป็นวัตถุดิบที่สำคัญในการใช้สำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง
สารสำคัญใน ‘ทุเรียนอ่อน’
จากการนำผลทุเรียนอ่อนไปวิเคราะห์เมแทโบโลม (เมแทบอไลต์ทั้งหมด) เพื่อศึกษาองค์ประกอบทางเคมี
และศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพควบคู่ไปด้วย พบสารประกอบดังนี้
- โพลีฟีนอล (Polyphenols) มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระในปริมาณที่สูงมาก
- ฟีนอลิก (Phenolics) มีฤทธิ์ยับยั้งหรือชะลอการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดอนุมูลอิสระ
- ไกลเคชัน (Glycation) มีความสามารถในการป้องกันผิวจากรังสีอัลตราไวโอเลต
- เพคติน (Pectin) มีคุณสมบัติในการเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวหนัง
นอกจากนี้ ในการศึกษาของทีมนักวิจัย เป็นการใช้กระบวนการสกัดที่ไม่ซับซ้อน ไม่มีการใช้ตัวทำละลายที่เป็นพิษที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม และไม่ใช้ความร้อนในการสกัด เพื่อลดพลังงาน ขั้นตอน และค่าใช้จ่าย ซึ่งถือเป็นเป็นกระบวนการสกัดสารที่สามารถประหยัดต้นทุนในการผลิตได้เป็นอย่างมาก ซึ่งกรรมวิธีการสกัดนี้จะทำให้ได้สารสกัดที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและแพคตินในปริมาณค่อนข้างสูง
โดยสารสำคัญดังกล่าว ทีมวิจัยได้ทดลองสกัดสารจากทุเรียนอ่อนพันธุ์หมอนทอง แต่ภายหลังก็ได้ทดสอบสกัดสารจากทุเรียนอ่อนพันธุ์อื่นๆ ด้วย ซึ่งพบว่าไม่ว่าจะสายพันธุ์ใด ทุเรียนอ่อนก็ให้สารสำคัญที่ไม่ต่างกัน รวมถึงได้ลองนำครีมกันแดดตามท้องตลาดมาผสมกับสารสกัดในรูปแบบผงสารสกัด ในปริมาณ 2-3% ตามมาตรฐานที่ อย.กำหนด
พบว่า เนื้อครีมกันแดดให้เนื้อสัมผัสเหมือนเดิม ผงสารสกัดที่มีสีเหลืองจางๆ เมื่อใส่ในผลิตภัณฑ์แล้วแทบจะไม่เห็นความแตกต่างของสี ที่สำคัญคือสารสกัดจากทุเรียนอ่อนไม่มีกลิ่น จึงไม่รบกวนกลิ่นของครีมกันแดด นอกจากนี้แล้ว ทีมวิจัยยังพบว่าสารสกัดทุเรียนอ่อนยังมีฤทธิ์ในการเพิ่มการแบ่งตัวของเซลล์รากผมอีกด้วย แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายต่อไปได้

โอกาสเกษตรกร ผู้ประกอบการ และ SME ไทย
ทั้งนี้ จากผลการศึกษาได้ค้นพบประโยชน์ที่สำคัญจากทุเรียนอ่อน ที่ผู้ประกอบการและ SME ไทยสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นแบรนด์ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีคุณภาพ เพื่อตอบโจทย์ปัญหาผิวได้ เนื่องมีจากฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงเทียบเท่าวิตามินซี เพิ่มความชุ่มชื่นและปกป้องผิวจากรังสียูวี ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับราชาแห่งผลไม้ของไทยให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และยังสามารถช่วยเพิ่มมูลค่าจากของเหลือใช้ทางการเกษตรได้เป็นอย่างดี
ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกทุเรียนหลายแสนไร่ ผลผลิตที่ออกมาในแต่ละปีมีจำนวนมาก แต่วัตถุดิบที่เป็นของเหลือใช้ทางการเกษตรที่สูญเปล่าไม่มีคนสนใจและไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ก็มีอยู่เป็นจำนวนมากเช่นกัน ดังนั้นการนำวัตถุดิบเหลือใช้มาเพิ่มมูลค่า โดยเฉพาะผลผลิตทางการเกษตร ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจและควรได้รับการสนับสนุนการศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง
แหล่งอ้างอิง : คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
https://www.chula.ac.th/highlight/72151/