‘Big Data’ เรื่องใหญ่ที่ผู้ประกอบการ SME ต้องใส่ใจ เพื่อประยุกต์ใช้ไปให้รอดในสมรภูมิการแข่งขันยุคดิจิทัล

Mega Trends & Business Transformation
06/09/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 5940 คน
‘Big Data’ เรื่องใหญ่ที่ผู้ประกอบการ SME ต้องใส่ใจ เพื่อประยุกต์ใช้ไปให้รอดในสมรภูมิการแข่งขันยุคดิจิทัล
banner
ณ บัดนาว เมืองไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมดิจิทัล Thailand 4.0 ตามอีกหนึ่ง Mega Trend สร้างการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ระบบดิจิทัลเกี่ยวโยงกับชีวิตประจำวันอย่างแยกไม่ออก ทุกสิ่งอย่างต่างขับเคลื่อนด้วยข้อมูล จึงมีการใช้ประโยชน์จาก Big Data แพร่หลายมากขึ้น

สำหรับภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการและ SME แล้ว Big Data คือแหล่งรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมและกิจกรรมที่เกิดขึ้นจริงกลายเป็นขุมทรัพย์ที่แต่ละองค์กรสามารถนำไปวิเคราะห์เพื่อให้ได้ Insight ที่เป็นประโยชน์สำหรับการดำเนินธุรกิจ สร้างความเข้าใจความสัมพันธ์ในรูปแบบใหม่ๆ รวมไปถึงคาดการณ์พฤติกรรมผู้บริโภคในเชิงลึกได้มากกว่าการวิเคราะห์ข้อมูลแบบดั้งเดิมในอดีต ดังนั้นธุรกิจเล็กหรือใหญ่ จึงควรใช้ Big Data นำมา Transform องค์กร ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคยุคดิจิทัลอย่างตรงจุด



Big Data คืออะไร เข้าใจให้มากขึ้น

ขณะนี้มีการใช้งานตัวของข้อมูลกันอย่างมาก ข้อมูลจำนวนมหาศาลนั้นถูกเก็บในทุกๆ วัน ในแต่ละบริษัทนั้นจะมีการเก็บข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลการทำงาน หรือการใช้งานระบบอะไรก็ตามในบริษัท เมื่อข้อมูลมีเยอะมากขึ้นๆ ก็จะนับว่าเป็น Big Data ทั้งนั้น

ดังนั้นเราจึงกล่าวได้ว่า Big Data ก็คือข้อมูลทุกอย่างที่มีอยู่ในบริษัท ทั้งข้อมูลที่มีแหล่งที่มาจากภายในบริษัทเองและข้อมูลที่มาจากแหล่งที่มาภายนอกอย่าง Social Media โลกออนไลน์ต่างๆ ซึ่งทั้งหมดเป็นข้อมูลที่สามารถนำมาวิเคราะห์ได้หรือก็คือ ข้อมูลดิบนั่นเอง

ทั้งนี้ข้อมูลเหล่านี้สามารถนำมาวิเคราะห์ได้ด้วยวิธีการหลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับว่าองค์กรต้องการนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้งานด้านใด ในปัจจุบันนิยมทำ Big Data Analysis เพื่อใช้ในการสำหรับการคาดการณ์เหตุการณ์ในอนาคต หรือก็คือเพื่อใช้ดูแนวโน้มสิ่งที่จะเกิดขึ้นนั่นเอง



Big Data คือ การเก็บรวบรวมข้อมูลที่มีทั้งหมดภายในองค์กรไม่ว่าจะเป็น
- ข้อมูลของบริษัท 
- ข้อมูลติดต่อของลูกค้า 
- ข้อมูลติดต่อของผู้ร่วมธุรกิจ 
- ลักษณะของผู้บริโภค 
- การทำรายการธุรกิจต่างๆ ในแต่ละวัน 
- ตัวอักษร ไฟล์เอกสาร รูปภาพ 
- รวมถึงข้อมูลอื่นๆ แทบทุกประเภทที่อยู่บนโลกออนไลน์

เมื่อข้อมูลมีปริมาณมากจึงต้องอาศัยระบบประมวลผลที่มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับปริมาณข้อมูลที่มีอยู่อย่างมหาศาล

เบื้องต้นการเก็บข้อมูลแบบ Big Data นี้ สามารถนำไปวิเคราะห์ข้อมูลในด้านต่างๆ เพื่อนำไปวางแผน และตัดสินใจ ในการดำเนินธุรกิจ หรือช่วยเพิ่มโอกาสในการทำธุรกิจให้ก้าวหน้ามากขึ้น



ชวนรู้จัก..ลักษณะของ Big Data (5V) 

มีปริมาณมาก (Volume) 
Big Data เป็นข้อมูลที่มีขนาดใหญ่หรือเป็นข้อมูลที่มีปริมาณมากมายมหาศาลไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบออนไลน์หรือออฟไลน์ โดยข้อมูลเหล่านี้จะมีปริมาณมากกว่าหน่วย TB (Terabyte) ขึ้นไป

มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (Velocity) 
เนื่องจากข้อมูล Big Data มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ชนิดที่เรียกว่า Real Time จึงทำให้สามารถวิเคราะห์ง่ายๆ แบบ Manual ได้ แต่ไม่สามารถจับทิศทางหรือรูปแบบที่ชัดเจนหรือตายตัวของข้อมูลเหล่านั้นได้

หลากหลายประเภทหรือแหล่งที่มา (Variety) 
ข้อมูลมีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลที่เป็นไฟล์ภาพรูปภาพ ตัวอักษร หรือวีดีโอ ฯลฯ ในขณะเดียวกันก็มีที่มาที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็น Platform, e-Commerce, Social Network เป็นต้น

ยังไม่ผ่านการประมวลผล (Veracity)
หาก Big Data นั้นไม่ผ่าน Process หรือแปลงให้อยู่ในรูปแบบของข้อมูลดิบ (Raw Data) ก็จะไม่สามารถใช้งานหรือใช้ประโยชน์ต่อองค์กรหรือบริษัทได้

ข้อมูลที่แปรผันได้ (Variability)
ข้อมูล Big Data ที่มีการเปลี่ยนเเปลงอย่างรวดเร็วตามรูปแบบการใช้งาน และรูปแบบของการจัดเก็บข้อมูลก็จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับแหล่งข้อมูลที่เก็บมา

การจะใช้ประโยชน์จาก Big Data ได้นั้น มีอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญนั่นก็คือความเชื่อมโยงกันของข้อมูล หากสิ่งที่รวบรวมมานั้นไม่สามารถหาจุดเชื่อมโยงกันได้ ข้อมูลเหล่านั้นก็ไร้ประโยชน์ การเก็บ Data ที่มีประสิทธิภาพนั้นจึงต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์กันของข้อมูลด้วย



3 ขั้นตอน นำ Big Data มาใช้ประโยชน์

1. การรวบรวมข้อมูลและนำมาจัดเก็บ (Storage)
เป็นการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ทั้งข้อมูลที่มีคุณภาพ ข้อมูลที่มีประโยชน์ ข้อมูลรูปภาพ วิดีโอ รวมไปถึงไฟล์เสียง

2. การประมวลผล (Processing)
เป็นการรวบรวมข้อมลที่ได้มาไว้ในที่เดียวกัน จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาจัดเเบ่งเป็นหมวดหมู่โดยข้อมูลแต่ละหมวดหมู่ต้องมีความสัมพันธ์กัน และนำมาเปลี่ยนรูปแบบเพื่อเอาเข้าสู่ระบบคลังข้อมูลที่ผ่านการประมวลผล

3. การวิเคราะห์และนำเสนอ (Analysis)
เมื่อได้ข้อมูลจากการประมวลผลแล้วข้อมูลที่ได้จะมีการจัดเรียงแล้วในหลายมิติจะถูกนำมาวิเคราะห์หา Pattern ของข้อมูลที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เช่น หาความสัมพันธ์ที่ซ่อนอยู่ การหาแนวโน้มของลูกค้า เป็นต้น สู่การนำข้อมูลเหล่านั้นมามาข้อสรุป พัฒนา และต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุด

การใช้งาน Big Data นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ปัจจุบันถ้าเป็นข้อมูลภายในองค์กรของคุณที่มีเก็บไว้อยู่แล้ว คุณสามารถใช้เครื่องมือที่มีอยู่แล้วในท้องตลาดทั่วไป เช่น ERP (Enterprise Resource Planning), POS (Point Of Sale) เข้ามาจัดการได้ไม่ยาก แต่การจะทำให้องค์กรทราบถึงความต้องการของตลาด รวมถึงสามารถวิเคราะห์ความต้องการของผู้บริโภค เพื่อให้สามารถผลิต Content ทางการตลาด สามารถทำ SEO หรือทำ Social Marketing ให้ออกมาดีได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือประเภท Social Listening Tools เข้ามาช่วย

ซึ่ง Social Listening Tools สามารถช่วยให้เข้าถึงความต้องการของผู้คนบนโลกออนไลน์ ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลบน Social Platform ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ช่วงเวลาในการโพสต์ การวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงบวก เชิงลบ แม้กระทั่งทำให้ทราบว่าคอนเทนต์ที่ดีที่สามารถเรียก Engagement ของผู้คนบนโลกออนไลน์นั้นเป็นอย่างไร นับว่า Social Listening Tools มีประโยชน์ในการวิเคราะห์ข้อมูล Big Data ไม่น้อยเลยทีเดียว

ผู้ประกอบการและ SME ประสบความสำเร็จในการนำ ERP, POS มาใช้ในองค์กร



บริษัท ผลิตภัณฑ์ปลากระป๋องสยาม จำกัด
ผู้ผลิตปลากระป๋องภายใต้แบรนด์ Silver Bell โดยมีการนำระบบ ERP (Enterprise Resource Planning) มาบริหารจัดการทรัพยากรภายในองค์กร โดยข้อมูลทั้งหมดขององค์กรจะถูกบันทึกเก็บเป็นข้อมูลกลาง ทำให้ฝ่ายบริหารมองเห็นข้อมูลทั้งหมดในธุรกิจได้ง่าย รวมไปถึงแต่ละฝ่ายสามารถดึงเอาข้อมูลออกมาทำงานได้ทันที ทำให้องค์กรสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างเป็นระบบ




บริษัท แฮส ออเดอร์ จำกัด
เจ้าของแพลตฟอร์มฮาลาลเดลิเวอรี ‘Pinsouq (พินซูก)’ นำ Software-as-a-Service ซึ่งเป็นระบบบริหารจัดการใน ERP (Enterprise Resource Planning) ซอฟต์แวร์สำหรับการวางแผนการจัดการ

โดยจะมีการรวมข้อมูลทุกอย่างบันทึกไว้ใน Database ทั้งหมด มาเป็นเซอร์วิสให้กับร้านขายของชำโดยเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์ม ‘ของชำ’ ช่วยให้บริษัททราบข้อมูลทั้งหมด เช่น การซื้อ - ขาย จำนวนสินค้า เชื่อมกับ POS (Point of sale system) หรือระบบขายหน้าร้าน เพื่อบริหารสต็อกทั้งระบบ เพื่อให้ร้านขายของชำกลายเป็น Smart Retail




บริษัท ยนต์ผลดี จำกัด 
ซึ่งดำเนินธุรกิจผลิตและพัฒนาเครื่องจักรที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตข้าว พร้อมติดตั้งและวางระบบอย่างครบวงจร ได้นำซอฟต์แวร์ระบบบริหารจัดการทรัพยากรภายในองค์กร คือ MRP และ ERP มาใช้ภายในบริษัท

ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ในการวางแผนจัดการห่วงโซ่อุปทาน การผลิต การเงิน และกระบวนการอื่นๆ ทำให้การดำเนินงานต่างๆ ในองค์กรเป็นไปโดยอัตโนมัติและสะดวกขึ้น อาทิ การตรวจสอบระบบบัญชี การจัดซื้อ หรือแม้แต่การบริหารจัดการวัตถุดิบเพื่อจัดการและวางแผนความต้องการวัตถุดิบต่างๆ ในองค์กร ทำให้วินิจฉัยและวิเคราะห์ต้นทุนแบบเรียลไทม์ได้




B&B Bakery 
ร้านชิฟฟ่อนเค้กมะพร้าวน้ำหอมและของฝากชื่อดังของจังหวัดสมุทรสาคร ได้นำเทคโนโลยีระบบ POS (Point of Sale System) มาใช้ในงานจัดการขายหน้าร้าน ซึ่งสามารถใช้คิดเงินค่าสินค้า เก็บข้อมูลยอดขาย ช่วยเช็กสต็อกสินค้า และนำไปสู่การบริหารจัดการภายในร้านให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น




บริษัท คลิกเน็กซ์ จำกัด

ดำเนินธุรกิจพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ให้บริการตั้งแต่ผู้ประกอบการและ SME ไปจนถึงองค์กรขนาดใหญ่ พร้อมทั้งให้บริการการตลาดออนไลน์ และบริการ SMS อย่างครบวงจร ได้พัฒนาระบบ AI Chatbot ที่ทันสมัยที่ถูกพัฒนามาให้สามารถเข้าใจภาษามนุษย์ได้เพิ่มมากขึ้นทั้งยังเชื่อมโยงและเข้าใจความหมายของภาษาได้อย่างถูกต้อง

พร้อมทั้งวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของแต่ละคำในประโยคตามหลักภาษาหรือไวยากรณ์ ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับทีมขาย สามารถสร้างโอกาสทางการขาย และติดตามยอดขายได้เป็นอย่างดี

พร้อมกันนี้ยังสามารถรวบรวมและจัดเก็บข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ ส่งต่อไปยังระบบที่ใช้ในการจัดการและการวางแผนทรัพยากรทางธุรกิจขององค์กร (ERP) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยตอบโจทย์ด้านการทำ Marketing ครบจบในที่เดียวได้อย่างดีเยี่ยม




บริษัท ซากุระ โปรดัคส์ (ไทยแลนด์) จำกัด
ตัวแทนจัดจำหน่ายเครื่องเขียนแบรนด์ SAKURA แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยมาจนถึงปัจจุบัน ได้มีการ Implement ระบบ ERP มาใช้ในการจัดการข้อมูล เนื่องจากองค์กรเติบโตทำให้ข้อมูลเริ่มมีความซับซ้อน โดยระบบนี้สามารถดูสินค้าคงคลัง วิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ขายดี ข้อมูลทางการตลาดในเชิงลึก เพื่อที่จะนำข้อมูลมาประกอบการวางแผนการตลาด และการจัดซื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ




บจก.เน้นเนื้อ
ร้านอาหาร ‘เน้นเนื้อ’ ตอบโจทย์สายเนื้อโดยเฉพาะทั้งรสชาติ คุณภาพวัตถุดิบ ราคาที่จับต้องได้ มีการระบบ POS (Point of sale system) หรือระบบขายหน้าร้านครบวงจร ซึ่งสามารถตรวจสอบได้จากระบบหลังบ้านแบบ Real Time 

โดยข้อดีของ POS อีกอย่างก็คือ Data ทำให้บริษัททราบว่าเมนูไหนขายดี จากนั้นจะมีการนำมาวิเคราะห์เพื่อคิดเมนูใหม่ๆ เพิ่มเติม




นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างของการนำ Big Data มาใช้ให้เกิดประโยชน์ก็คือ บริษัทอีคอมเมิร์ซชื่อดังของโลกหลายแห่งมีการใช้ Big Data เพื่อแนะนำสินค้าแบบ Real Time โดยอัตโนมัติ หรือเราๆ เคยสังเกตไหมว่าเวลาที่อยากได้สินค้าชนิดใดชนิดหนึ่ง เมื่อไรก็ตามที่เข้าไปหาข้อมูลสินค้าชนิดนั้นใน Google หรือจากแหล่งต่างๆ เมื่อเวลาผ่านไปจะมีสินค้าที่ต้องการนั้นปรากฏให้เห็นในโฆษณาหน้าเพจเฟซบุ๊ก โซเชียลมีเดียอื่นๆ หรือตามเว็บไซต์ต่างๆ โดยโฆษณาสินค้านั้นก็คือ Big Data ข้อมูลขนาดใหญ่ที่ได้เก็บรวบรวมความต้องการของเราไว้เป็นที่เรียบแล้ว และจะปรากฏให้เห็นบ่อยๆ เพื่อล่อตาล่อใจ จนกดเข้าไปสั่งซื้อสินค้าชนิดนั้นนั่นเอง

ประโยชน์ของ Big Data 
จริงๆ แล้ว Big Data สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หรือภาคเอกชน โดยในส่วนนี้จะพูดถึงประโยชน์ของ Big Data หากนำมาปรับใช้ในภาคธุรกิจแล้วจะสามารถทำให้

เข้าใจลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น 
ด้วยการนำฐานข้อมูลที่มีอยู่ใน Big Data ศึกษาถึงลักษณะพฤติกรรมของผู้บริโภคว่ามีการตัดสินใจในการเลือกสินค้าอย่างไร สามารถนำเสนอสินค้าที่คุณมีอยู่ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้หรือไม่ หากไม่มีจะสามารถนำสินค้าชนิดอื่นที่มีอยู่นำไปทดแทนได้หรือไม่ 

วิเคราะห์ความต้องการของตลาดในอนาคตได้ 
ข้อมูลต่างๆ ที่ถูกค้นหาในอินเทอร์เน็ต รวมถึงในโซเชียลมีเดียต่างๆ สามารถนำมารวบรวมได้ ว่ามีอะไรที่เป็นกระแสหรือได้รับความนิยมอยู่ในขณะนั้น ว่ากระแสอะไรที่นำมาค้นหาหรือกล่าวถึงอยู่มากที่สุด ก็สามารถนำข้อมูลนั้นมาวิเคราะห์และวางแผนก่อน หากมีแผนที่ดีและสามารถทำได้อย่างรวดเร็วก็สามารถเป็นผู้นำกระแสได้อย่างไม่ยาก 

การวางแผนอนาคตมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 
จากข้อมูลที่มีอยู่สามารถนำผลวิเคราะห์จาก Big Data เข้ามาช่วยประกอบการวางแผนและการตัดสินใจได้เป็นอย่างดี ทั้งในเรื่องของการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต โดยการเก็บข้อมูลต่างๆ ภายในองค์กรเพื่อนำไปวิเคราะห์ไม่ว่าจะเป็น กระบวนการผลิต ข้อมูลการใช้วัตถุดิบ จะทำให้สามารถทราบได้ว่าปัญหาภายในองค์กรมีหรือไม่ต้องปรับปรุงแก้ไขส่วนใด เพื่อที่จะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการผลิต 

คาดการณ์ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น 
จากการนำข้อมูลที่มีจาก Big Data มาคาดการณ์ความต้องการของตลาด ซึ่งนอกจากคาดการณ์ในอนาคตได้แล้วนั้น ก็ยังสามารถนำข้อมูลส่วนนั้นมาวิเคราะห์ต่อยอดได้อีกว่า ในอนาคตนั้นจะมีเหตุการณ์อะไรที่สามารถเกิดขึ้นได้บ้าง ก็สามารถนำข้อมูลส่วนนั้นนำไปวางแผน ปรับนโยบาย วิธีการบริหารองค์กร เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

ธุรกิจเล็กหรือใหญ่ ทำไม? ไม่ควรมองข้ามการใช้ Big Data

ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ/องค์กรขนาดเล็กหรือใหญ่ การใช้ข้อมูลก็สามารถช่วยสร้างความได้เปรียบต่างๆ ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ Big Data ซึ่งรวมเอาข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาประมวลผลและวิเคราะห์ร่วมกัน ก็จะช่วยให้องค์กรหรือธุรกิจนั้นๆ มีข้อมูลเชิงลึก (insight) ประกอบการวางแผนหรือตัดสินใจ

Big Data จะช่วยให้เข้าใจธุรกิจและอุตสาหกรรมของตัวเองได้ดียิ่งขึ้น ตลอดจนมีข้อมูลและข้อมูลเชิงลึกจากตลาด เข้าใจลูกค้าและสถานการณ์ได้ดีขึ้น ช่วยให้สามารถนำมาปรับปรุงการดำเนินงาน นำมาสร้างแผนเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายและโอกาส รวมถึงช่วยให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพและตรงจุด 
นอกจากนี้ Big Data ยังช่วยผนึกรวมข้อมูล (integrate) ในโลกออฟไลน์และบนโลกออนไลน์เข้าด้วยกัน ช่วยให้ธุรกิจอำนวยความสะดวกและสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า/ผู้รับบริการได้ทั้งสองทาง



Big Data ประยุกต์ใช้อย่างไร? ให้ประสบความสำเร็จ

เทคโนโลยีสำหรับใช้กับบิ๊กดาต้ามีแนวโน้มวิวัฒนาการอย่างรวดเร็ว ดังนั้นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่สุด คือการเตรียมการเพื่อรองรับทั้งการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงของความต้องการในการใช้งานดาต้าขององค์กรเอง ซึ่งควรพิจารณาการดำเนินการให้สอดคล้องกับขั้นตอนต่างๆ ดังนี้

1. ระบุประเภทของดาต้าที่มีประโยชน์กับองค์กร
องค์กรต้องเริ่มต้นจากการระบุว่าดาต้าประเภทใดมีประโยชน์กับวัตถุประสงค์ของงาน ซึ่งอาจจะเป็นดาต้าที่องค์กรจัดเก็บอยู่แล้ว หรือดาต้าที่มีอยู่แล้วแต่ยังไม่ได้รับการจัดเก็บหรือบริหารจัดการก็เป็นได้ โดยเป็นได้ทั้งดาต้าจากภายนอก เช่น กระแสดาต้า (Streaming Data) จากพันธมิตรทางธุรกิจ ดาต้าที่ได้จาก Internet of Things (IoT) เป็นต้น

และเป็นได้ทั้งดาต้าจากภายใน เช่น ดาต้าจากอีเมลที่ช่วยให้เข้าใจความรู้สึกของลูกค้า ดาต้าจากเฮลป์เดสก์ (Help Desk) ที่ช่วยวัดประสิทธิภาพของการแก้ไขปัญหาหรือระบุถึงตำหนิของสินค้าได้ เป็นต้น

2. วางแผนการนำดาต้าไปใช้
ทั้งแผนกที่ต้องการใช้งานดาต้าและแผนกไอทีจำเป็นต้องทำการศึกษาดาต้าที่องค์กรมีอยู่ เพื่อวางแผน ค้นหาวิธีวิเคราะห์ดาต้าที่เหมาะสม และกำหนดวิธีการติดตามผลของการใช้งานดาต้า โครงการที่เกี่ยวข้องกับบิ๊กดาต้าที่ได้รับการออกแบบให้สร้างประโยชน์อย่างชัดเจนและต่อเนื่อง (หรือสร้างประโยชน์ให้กับหลายแผนก)

มักมีแนวโน้มที่จะได้รับการตอบรับที่ดีกว่าจากฝ่ายบริหารและมักได้รับการจัดสรรงบประมาณให้มากกว่า ซึ่งการต่อยอดโครงการจะเป็นไปได้ง่ายขึ้นหากองค์กรมีวิสัยทัศน์และแผนงานที่ชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้น

3. เลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม
การเปลี่ยนดาต้าให้การเป็นข้อมูลเชิงลึก (Insight) เพื่อนำไปใช้งานนั้น ต้องการเครื่องมือที่เหมาะสม ทั้งเทคโนโลยีที่รวบรวมดาต้าจากแหล่งต่างๆ ซึ่งฮาดูป (Hadoop) เป็นเครื่องมือที่ใช้งานอย่างแพร่หลายในขั้นตอนนี้ โดยเป็นเครื่องมือสร้างแหล่งจัดเก็บดาต้าเชิงไม่สัมพันธ์ (Nonrelational Data Store) จึงสามารถรองรับดาต้าได้ในปริมาณไม่จำกัดและมีความน่าเชื่อถือสูง

แต่ในบางกรณีระบบบริหารจัดการฐานข้อมูลเชิงสัมพันธ์อาจเป็นเครื่องมือที่เหมาะสมกว่าก็เป็นได้ เช่น ในกรณีที่มุ่งเน้นการใช้งานดาต้าที่มีโครงสร้างชัดเจน เป็นต้น นอกจากนี้องค์กรยังต้องการเทคโนโลยีที่ใช้คัดกรองและเรียบเรียงดาต้าเพื่อสร้างดาต้าที่มีคุณภาพและมีความถูกต้อง เครื่องมือในการสร้างโมเดลเพื่อใช้งานดาต้าผ่านอัลกอริทึมต่างๆ เครื่องมือนำเสนอดาต้าในเชิงภาพในรูปแบบของกราฟิก

และอาจต้องการเครื่องมือในการเชื่อมต่อดาต้าหรือผลการวิเคราะห์ดาต้าเข้ากับแอปพลิเคชันอื่นๆ อีกด้วย สิ่งสำคัญคือต้องเลือกเทคโนโลยีให้เหมาะสมกับการใช้งานและประเภทของดาต้า และวางแผนเพื่อรองรับการใช้งานในอนาคตต่อไป

4. จัดทำกระบวนการและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับดาต้าที่เหมาะสม
สิ่งสำคัญที่องค์กรต้องพิจารณาคือการสร้างความมั่นใจว่า ดาต้านั้นพร้อมใช้งานในเวลาที่ต้องการ สามารถนำไปใช้งานได้จริง มีคุณภาพ และนำมาใช้งานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้องค์กรต้องกำหนดนโยบายการกำกับดูแลด้านดาต้า (Data Governance) เพื่อควบคุมการเข้าใช้งาน การรักษาความเป็นส่วนตัว

และควบคุมให้เป็นไปตามกฎข้อบังคับที่มี ให้ครอบคลุมทุกมิติของระบบและการใช้งาน ยิ่งไปกว่านั้นองค์กรยังจำเป็นต้องสร้างกรอบการทำงานที่ชัดเจนในการกำกับดูแลการเคลื่อนที่ของดาต้า การจัดการสิทธิการเข้าถึงดาต้า กฎระเบียบต่างๆ กระบวนการบริหารจัดการดาต้าตลอดช่วงอายุ กำหนดเกณฑ์การวัดคุณภาพของดาต้า และสื่อสารประเด็นเหล่านี้ให้กับพนักงานที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน

5. จัดตั้งทีมงานที่มีความสามารถที่เหมาะสม
หนทางสู่ความสำเร็จของโครงการบิ๊กดาต้าอนาไลติกส์ต้องอาศัยความร่วมมือและความเข้าใจอย่างต่อเนื่องระหว่างแผนกที่ใช้งานดาต้าและแผนกไอที ซึ่งโดยทั่วไปทีมงานบิ๊กดาต้าอนาไลติกส์จะประกอบด้วย เจ้าหน้าที่จากแผนกไอที ซึ่งเข้าใจธรรมชาติของแหล่งกำเนิดดาต้า นักวิเคราะห์ธุรกิจ ซึ่งมีประสบการณ์ในการทำงานกับดาต้าที่เคลื่อนย้ายจากฐานข้อมูลธุรกรรมไปยังคลังข้อมูล ผู้บริหารของแผนกที่ใช้งานดาต้า

ซึ่งสามารถกำหนดวิธีการประเมินความสำเร็จและผลที่ได้รับจากโครงการ และมักเป็นผู้ที่สามารถตัดสินใจในการจัดสรรงบประมาณมาลงทุนในโครงการได้ นักวิทยาศาสตร์ดาต้าซึ่งสามารถอธิบายได้ว่าดาต้าจะได้รับการวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ได้อย่างไร และที่ปรึกษาจากภายนอก ซึ่งจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งและเติมเต็มช่องว่างที่ยังขาด รวมถึงการถ่ายโอนความรู้ความชำนาญให้กับบุคลากรของทีมงานอย่างเหมาะสม

6. บริหารความคาดหวังและความพยายามของแผนกไอทีและแผนกที่ใช้งานดาต้า
การลงทุนในโครงการบิ๊กดาต้าอนาไลติกส์ที่มาพร้อมกับเป้าหมายที่ชัดเจนย่อมมาพร้อมกับความคาดหวัง ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการบริหารจัดการที่เหมาะสมตามช่วงเวลาต่างๆ ของการดำเนินงาน และการเริ่มการทดสอบ (Pilot) จะช่วยให้สามารถกำหนดประโยชน์ที่ได้รับ เวลาในการดำเนินโครงการที่เป็นไปได้ และงบประมาณที่อาจต้องใช้ในโครงการต่อเนื่องในอนาคต

โดยในช่วงแรกของการดำเนินโครงการนั้น ความคาดหวังที่มีต่อโครงการควรถูกจำกัดให้อยู่ในระดับต่ำ เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของงบประมาณและเวลาที่ใช้ในการดำเนินโครงการ และหลังจากที่เริ่มเห็นความสำเร็จของโครงการแล้ว ทีมงานควรแจ้งให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ เพื่อสร้างความมั่นใจซึ่งจะนำไปสู่การต่อยอดโครงการในอนาคต

7. ยกระดับความก้าวหน้า ประสิทธิภาพ และนวัตกรรม
เมื่อองค์กรมีความก้าวหน้าด้านบิ๊กดาต้าอนาไลติกส์ในระดับหนึ่งแล้ว ควรพิจารณาจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านอนาไลติกส์ขึ้น เพื่อเพิ่มการใช้งานอนาไลติกส์ในวงกว้างให้กับแผนกหรือหน่วยธุรกิจต่างๆ อีกทั้งยังเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลดาต้าขององค์กรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการด้านดาต้าที่สอดประสานกันได้ดีขึ้น นอกจากนี้องค์กรยังควรตรวจสอบการใช้งานและประโยชน์ของการใช้งานบิ๊กดาต้าอนาไลติกส์เป็นประจำ

Big Data คือขุมทรัพย์มูลค่ามหาศาลและทรงพลังในยุคดิจิทัล ซึ่งภาคธุรกิจต้องขับเคลื่อนด้วยข้อมูล และด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันนั้นได้เปลี่ยนมาใช้ชีวิตบนสื่อออนไลน์มากขึ้น เสพสื่อ เสพคอนเทนต์มากขึ้น ถ้าหากมองข้ามในส่วนนี้ก็มีโอกาสที่จะเสียเปรียบคู่แข่งและเสียกลุ่มลูกค้าไปเป็นจำนวนมากอย่างคาดไม่ถึง ดังนั้นไม่ว่าจะธุรกิจไหนก็ต้องมี Big Data ยิ่งมีข้อมูลเยอะก็ยิ่งได้เปรียบคู่แข่ง ในการช่วยให้ผู้ประกอบการและ SME ทำ Marketing ถูกจุด เข้าใจผู้บริโภคมากขึ้น รวมถึงการนำไป Business Transformation องค์กร และยังสามารถก่อเกิดเป็นไอเดียใหม่ๆ สำหรับการพัฒนาสินค้าและบริการในอนาคต ประสบความสำเร็จในเส้นทางธุรกิจ อยู่รอดในสมรภูมิการแข่งขันสุดดุเดือดยุคปัจจุบัน


แหล่งอ้างอิง : สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa)
http://lib3.dss.go.th/fulltext/dss_J/2561_66_207_P30-31.pdf 
https://www.depa.or.th/th/article-view/big-data-ecosystems 
https://www.peerpower.co.th/blog/smes/big-data-for-sme/ 
https://datasciencedegree.wisconsin.edu/data-science/what-is-big-data/ 
https://www.edureka.co/blog/what-is-big-data/

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ธุรกิจยุคดิจิทัล ต้อง Transformation อย่างไร เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ในเทศกาลสงกรานต์

ธุรกิจยุคดิจิทัล ต้อง Transformation อย่างไร เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ในเทศกาลสงกรานต์

ความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ กลายเป็นโจทย์หลักของนักการตลาดในยุคดิจิทัล หากเจาะลึกลงไปจะพบว่าการเปลี่ยนแปลงจนทำให้เกิดการดิสรัปด้านเทคโนโลยีรอบนี้…
pin
479 | 10/04/2024
5 เทคโนโลยีสุดล้ำ ที่ธุรกิจนำมาปรับใช้เป็นกลยุทธ์ใหม่กระตุ้นยอดขาย ดึงลูกค้า ช่วงมหาสงกรานต์ 2567

5 เทคโนโลยีสุดล้ำ ที่ธุรกิจนำมาปรับใช้เป็นกลยุทธ์ใหม่กระตุ้นยอดขาย ดึงลูกค้า ช่วงมหาสงกรานต์ 2567

ประเพณีสงกรานต์ของไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน สนับสนุนให้ “สงกรานต์” เป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์เทศกาลระดับโลก…
pin
2893 | 10/04/2024
5 นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี ตอบโจทย์เทรนด์รักสุขภาพองค์รวม 'Holistic Health' เมื่อคนยุคใหม่มองหาสุขภาวะที่ดีขั้นสุด

5 นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี ตอบโจทย์เทรนด์รักสุขภาพองค์รวม 'Holistic Health' เมื่อคนยุคใหม่มองหาสุขภาวะที่ดีขั้นสุด

การดูแลสุขภาวะที่ดีกำลังเป็นโจทย์สำคัญด้านสาธารณสุขของประเทศ ในห้วงเวลาที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็น “สังคมสูงวัย “ (Aged Society) โดยมีข้อมูลพบว่าตั้งแต่ปี…
pin
959 | 25/03/2024
‘Big Data’ เรื่องใหญ่ที่ผู้ประกอบการ SME ต้องใส่ใจ เพื่อประยุกต์ใช้ไปให้รอดในสมรภูมิการแข่งขันยุคดิจิทัล