เมื่อของแพง แล้ว SME มีทางเลือกอะไร?

SME Update
21/01/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 2493 คน
เมื่อของแพง แล้ว SME มีทางเลือกอะไร?
banner

ปัญหารุมเร้าทั้งปัจจัยภายนอกและภายในส่งผลให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น

ปัจจุบันสินค้าหลายชนิดเริ่มปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะวัตถุดิบประกอบอาหารต่างๆ ที่ราคาเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งราคานั้นเพิ่มสูงขึ้นจากผลกระทบทั้งปัจจัยภายนอกและภายใน ไม่ว่าจะเป็น เงินเฟ้อที่ขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลกและ ปัญหาโรคระบาดในหมูในประเทศไทย

โดยราคาอาหารโลกตามดัชนี FAO Food Price Index อยู่ที่ 133.7 ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 23.1% จากเดือนเดียวกันในปีก่อนหน้า เนื่องจากโควิดได้สร้างปัญหาด้านการผลิตและการขนส่ง รวมทั้งราคาน้ำมันและค่าแรงที่เริ่มขยับตัวสูงขึ้นในต่างประเทศ ขณะที่ประเทศไทยยังได้พบปัญหาจากปัจจัยภายในประเทศเรื่องโรคระบาดในหมู ซึ่งทำให้เนื้อหมูขาดแคลน ราคาหมูพุ่งสูงขึ้นอย่างมากและทำให้เนื้อสัตว์อื่นๆที่อาจใช้ทดแทนเนื้อหมูเพิ่มขึ้นไปด้วย เช่น ราคาไก่ เป็นต้น จนเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมราคากลางว่าด้วยราคาสินค้าได้กำหนดให้ไก่และเนื้อไก่เป็นสินค้าควบคุมเพื่อพยายามตรึงราคาวัตถุดิบ


ราคาสินค้าที่ปรับขึ้นอาจอยู่กับเราอีกสักระยะ

ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อ แม้ธนาคารกลางของหลายประเทศได้เริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งธนาคารกลางสหรัฐฯที่เตรียมจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยและอาจต้องขึ้นหลายครั้งในปีนี้ เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ในช่วงสั้นผลกระทบของ Omicron ที่ระบาดอย่างหนักในหลายประเทศจะยังคงส่งผลกระทบต่อการขนส่ง การผลิตวัตถุดิบต่างๆ และราคาสินค้าโภคภัณฑ์

นอกจากนี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ถูกคาดการณ์ว่าจะเพิ่มสูงขึ้นจากปีที่แล้ว ก็อาจทำให้ราคาน้ำมันและพลังงานยังอยู่ในระดับสูงต่อไป ด้วยปัจจัยกดดันในเชิงต้นทุนต่างๆ เหล่านี้ก็จะส่งผลกระทบต่อทั้งราคาปุ๋ย ถั่วเหลืองและข้าวโพดอาหารสัตว์ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนในการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์นั้นยังคงสูงต่อไป ถึงแม้ประเทศไทยจะเป็นผู้ผลิตเนื้อสัตว์เหล่านี้เอง แต่ด้วยต้นทุนการเลี้ยงที่สูงก็จะผลักดันให้ราคาอาหารของประเทศนั้นยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไป ยกเว้นว่าจะเกิดการนำเข้าอาหารจากต่างประเทศอย่างเช่น กรณีของผักที่มีสินค้านำเข้าจำนวนมากจากประเทศจีนซึ่งทำให้ราคาผักได้ปรับตัวลดลงในช่วงเดือนที่ผ่านมา

ในด้านปัจจัยภายใน ด้วยปัญหาโรคระบาดในหมู แม้ภาครัฐจะออกนโยบายมาช่วยเหลือและส่งเสริมผู้เลี้ยงหมูแต่ก็ต้องใช้เวลาอีกสักพัก ในการเพิ่มการผลิต เพราะต้องมีการจัดการระบบ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ชักจูงผู้ผลิตให้เร่งการผลิต อีกทั้งระยะเวลาการเลี้ยงหมูก่อนที่จะจำหน่ายได้อยู่ที่ประมาณ 4-5 เดือน ซึ่งในกรณีของประเทศจีนซึ่งเคยประสบปัญหาในลักษณะเดียวกันในปี 2019 รัฐบาลก็ต้องใช้เวลากว่า 2 ปีกว่าที่ราคาหมูจะปรับลดลงถึงระดับก่อนที่จะเกิดปัญหา ในขณะที่การแก้ปัญหาโดยนำเข้าหมูนั้นอาจช่วยแก้ปัญหาด้านราคาของเนื้อหมูได้บ้างในระยะสั้นแต่ก็อาจสร้างปัญหาในเชิงโครงสร้างการเลี้ยงหมูของประเทศในระยะยาวได้เช่นกัน

ด้วยเงินเฟ้อทั่วโลกที่ยังเพิ่มสูงขึ้นและปัญหาการขาดแคลนหมู จะทำให้ร้านอาหารต้องอยู่กับต้นทุนวัตถุดิบอาหารสูงไปอีกสักพัก ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อกำไรของร้านต่างๆ เพราะต้นทุนวัตถุดิบคิดเป็น 30-50% ของยอดขาย ร้านอาหารจึงอาจให้ความสำคัญมากขึ้นกับการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีต่างๆ มาช่วยในการบริหารจัดการต้นทุนและเพิ่มรายได้ในการสร้างกำไร



การปรับเมนูและส่งเสริมการขายออนไลน์

แม้ราคาวัตถุดิบอาหารจะปรับสูงขึ้นเกือบจะยกแผงแต่การปรับขึ้นนั้นอยู่ในสัดส่วนที่ไม่เท่ากัน นอกจากนี้ทางภาครัฐก็ได้เริ่มมีมาตราการควบคุมราคาออกมาสำหรับสินค้าบางชนิด ยกตัวอย่างเช่น เนื้อไก่ ซึ่งราคาเฉลี่ยเริ่มนิ่งในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมาซึ่งต่างจากราคาหมูที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เหตุผลนี้คือ ความจำเป็นอย่างยิ่งที่ร้านโดยเฉพาะรายย่อยต้องนำระบบ POS และระบบบัญชีออนไลน์เพื่อวิเคราะห์กำไรและวัตถุดิบของแต่ละจานเพื่อให้สามารถทำการส่งเสริมการขายได้ ทั้งนี้ร้านยังอาจใช้ระบบการวิเคราะห์ออนไลน์ และด้วยความสามารถของ POS หลายๆ ที่ในปัจจุบันที่มีฟังก์ชั่นการปรับเมนูสินค้าที่ขายผ่านช่องทางออนไลน์ได้อย่าง Real-Time ร้านค้าต่างๆ จึงสามารถออกโปรโมชั่นส่งเสริมการขายและเมนูใหม่ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง โดยอาจเน้นเมนูที่ร้านคำนวนแล้วมีกำไรต่อจานสูง หรือเมนูที่ราคาวัตถุดิบไม่ได้ขยับสูงขึ้นมากนัก ซึ่งปัจจุบันก็มีเครื่องมือการจัดการโปรโมชั่นและเมนูการขายออนไลน์อย่าง Eatlab ซึ่งใช้ AI ในการนำข้อมูลของร้านมาประมวลประกอบกับตำแหน่งที่ตั้งและประเภทของร้าน เพื่อแนะนำราคาและโปรโมชั่นส่งเสริมการขายที่เหมาะสม เป็นต้น



การจัดการต้นทุนผ่านการจัดการการสั่งซื้อและการบริหารจัดการสต็อค

ในด้านการจัดการต้นทุน  ร้านอาจใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เช่น Freshket หรือ Makroclick เพื่อเปรียบเทียบราคาสินค้าและสั่งวัตถุดิบ อีกทั้งแพลตฟอร์มอย่างเช่น Freshket ยังช่วยให้ร้านสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยร้านอาหารสามารถลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการที่จะต้องส่งบุคลากรไปเลือกสรรและซื้อสินค้า นอกจากนี้ Freshket มีระบบในการควบคุมคุณภาพมาตรฐานสินค้าและสามารถจัดส่งสินค้าในวันถัดไป ซึ่งช่วยให้ร้านอาหารสามารถลดจำนวนสินค้าที่ต้องสต็อคและลดกระบวนการในการคัดและจัดการวัตถุดิบลง รวมทั้งยังมีวงเงินสินเชื่อให้กับร้านอาหารซึ่งช่วยให้ร้านจัดการกระแสเงินสดได้ดีขึ้น

 




ในการบริหารการจัดการการสั่งซื้อนั้น ผู้ประกอบการยังสามารถลดต้นทุนผ่านการบริหารจัดการสต็อคเพื่อลดจำนวนอาหารที่ต้องสูญเสีย (Food Waste) โดยจากข้อมูลของ refed.org หากร้านอาหารติดตามและแก้ปัญหาของอาหารที่ทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ โดยสำรวจในทุกกระบวนการตั้งแต่การสั่ง การสต็อค การปรุง และจำนวนวัตถุดิบที่ให้ลูกค้าในแต่ละจาน ร้านจะสามารถลดต้นทุนได้ถึง 2-6% ของต้นทุนทั้งหมด โดยในการบริหารจัดการนั้น ร้านอาจเริ่มจากการวิเคราะห์จำนวนของอาหารที่สูญเสียผ่านระบบ POS ติดตามที่มาของอาหารที่สูญเสีย และเริ่มจัดการการสั่งและสต็อคสินค้าให้เหมาะสมมากขึ้น เช่น การบริหารจัดการสต็อคแบบ First-in-First-Out ตรวจสอบวันหมดอายุของประเภทวัตถุดิบต่างๆ ทำโปรโมชั่นเมนูต่างๆ เพื่อเร่งระบายวัตถุดิบที่ใกล้หมดอายุ รวมทั้งปรับและออกเมนูให้เหมาะสมกับความต้องการบริโภคจริงๆ ของลูกค้า เพราะอาหารในหลายๆ เมนู ลูกค้าอาจทานเหลือเป็นประจำและอาจไม่ได้ให้คุณค่ากับวัตถุดิบที่ใส่ไปจนเกินความจำเป็น เป็นต้น



เพิ่มรายได้ผ่านการขายสินค้าผ่านช่องทางใหม่ๆ

ในขณะที่กำไรต่อจานนั้นลดลงแต่ต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น ร้านอาหารอาจต้องหาแนวทางใหม่ๆ ในการหารายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งหนึ่งในช่องทางการหารายได้ คือ การทำโปรโมชั่นผ่านแพลตฟอร์มทางเลือกต่างๆ นอกเหนือจากแอพลิเคชั่นดิลิเวอรี่ทั่วไป ยกตัวอย่างเช่น เพื่อดึงดูดลูกค้าให้สนใจในช่วง Off-Peak ของร้าน ซึ่งปกติมีลูกค้าจำนวนน้อย โดยร้านอาจเลือกใช้แพลตฟอร์มอย่าง Eatigo ในการให้ส่วนลดเพิ่มเติม เพื่อดึงลูกค้าให้มาใช้บริการในช่วงเวลาที่มีลูกค้าน้อย ในขณะเดียวกัน เพื่อกระตุ้นยอดขายร้านก็อาจจะออกโปรโมชั่นเซ็ทเมนูใหม่ๆ ผ่านแพลตฟอร์ม เช่น Hungry Hub เป็นต้น



ร้านอาหารเองยังอาจเริ่มคิดเมนูเพื่อตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่ม Vegan

ด้วยกระแสการดูแลสุขภาพและการให้ความใส่ใจมากขึ้นกับสภาวะโลกร้อน ผู้บริโภคหลายๆ คนก็เริ่มหันมารับประทานอาหารที่ทำจากพืชแทนเนื้อสัตว์มากขึ้น และปัจจุบันเนื้อสัตว์ที่ทำจากพืช (Plant-based Meat) ได้รับการพัฒนาให้มีรสและเนื้อสัมผัสที่เหมือนกับเนื้อสัตว์มากขึ้นเรื่อยๆ แม้ในปัจจุบัน ราคาของเนื้อ Plant-based จะยังมีราคาสูงเนื่องจากกำลังการปลูกวัตถุดิบและขนาดของกำลังการผลิตยังไม่ใหญ่มากพอที่ทำให้ราคาลดลงมาแข่งขันกับราคาเนื้อสัตว์ได้ แต่ราคาของเนื้อ Plant-based ก็ลดลงอย่างรวดเร็วโดยราคาเนื้อ Plant-based ของบริษัท Impossible Foods ได้ลดลง 22-36% ในรอบ 18 เดือน ในขณะที่บริษัท Beyond Meat ก็ตั้งเป้าที่จะผลิตเนื้อ Plant-based ที่ถูกกว่าราคาเนื้อสัตว์อย่างน้อยหนึ่งประเภทภาย 2 ปี

ด้วยความต้องการของเนื้อ Plant-based ที่มากขึ้นและต้นทุนการผลิตที่ทยอยลดลง ก็ทำให้แบรนด์อาหารหลายๆแบรนด์ได้ออกเสนอเมนู Plant-based มาตอบโจทย์ผู้บริโภค ยกตัวอย่างเช่น Burger King หรือ KFC ที่มีเมนูที่ใช้เนื้อ Plant-based แทนเนื้อวัวและเนื้อไก่ เป็นต้น ด้วยราคาเนื้อสัตว์ที่แพงก็อาจเป็นโอกาสให้ร้านอาหาร SME ต่างๆ เริ่มออกเมนูที่เน้นเมนูผักแทนเนื้่อสัตว์มากขึ้น พร้อมทั้งทดลองออกเมนูที่อาจใช้เนื้อ Plant-based เพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าใหม่ๆและหารายได้เพิ่มเติม โดยปัจจุบันก็มีเนื้อ Plant-based หลากหลายประเภทจากผู้ผลิตทั้งในและต่างประเทศให้เลือกซื้อได้



ราคาวัตถุดิบอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นจะเป็นความท้าทายสำหรับผู้ประกอบร้านอาหารหลายๆราย ด้วยปัจจัยทั้งภายนอกและภายในประเทศปัญหาดังกล่าวอาจไม่สามารถคลี่คลายได้โดยเร็ว ร้านอาหารจึงอาจจำเป็นต้องปรับตัวและวิเคราะห์ต้นทุนอย่างใกล้ชิดมากขึ้น และใช้โอกาสนี้ในการสร้างความเข้มแข็งให้กับร้าน โดยนำเครื่องมือต่างๆมาปรับใช้เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพ รวมทั้งทดลองเมนูและโปรโมชั่นใหม่ๆ เพื่อหารายได้เพิ่มเติม

ผู้เขียน : ธนวัฒน์ พฤกษานานนท์ Tech & Innovation Advisor, Bnomics


▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่

Website : https://www.bnomics.co

Facebook : https://www.facebook.com/Bnomics.co

Blockdit : https://www.blockdit.com/bnomics

Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC

Youtube : https://www.youtube.com/bnomics

Twitter : https://twitter.com/bnomics_co


Reference :

https://refed.org/downloads/Restaurant_Guide_Web.pdf

https://www.fao.org/newsroom/detail/FAO-Food-Price-Index-december-2022/en

https://www.wongnai.com/business-owners/restaurant-cost-structure

https://www.dit.go.th/Content.aspx?m=19

https://www.cnbc.com/2021/08/25/impossible-foods-beyond-meat-battle-price-parity-with-real-meat.html

https://www.cnbc.com/2021/08/25/impossible-foods-beyond-meat-battle-price-parity-with-real-meat.html

Global food prices dip in December (fao.org)

เปิดแผนคำนวณต้นทุนร้านอาหาร เรื่องน่ารู้สู่ผลกำไร - Wongnai

กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ (dit.go.th)

Impossible Foods, Beyond Meat battle to achieve price parity with real meat (cnbc.com)

Chinese Pig Prices Are No Longer Flying High - WSJ

 

 

 

 


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘TikTok For All’ Update เทรนด์ใหม่ปี 2024 พร้อมกลยุทธ์เพิ่มโอกาส SME ไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

‘TikTok For All’ Update เทรนด์ใหม่ปี 2024 พร้อมกลยุทธ์เพิ่มโอกาส SME ไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

TikTok ตอกย้ำการเป็นแพลตฟอร์มเอนเตอร์เทนเมนต์ที่น่าเชื่อถือสำหรับทุกคน ทั้งครีเอเตอร์ คอมมูนิตี้ผู้ใช้งาน และธุรกิจทุกขนาดในไทย ด้วยการเปิดตัว…
pin
1300 | 14/02/2024
ทอดไม่ทิ้ง! เปลี่ยน ‘น้ำมันเหลือทิ้ง’ เป็น ‘น้ำมันเครื่องบิน’ โอกาสใหม่ SME ไทย เติบโตอย่างยั่งยืน

ทอดไม่ทิ้ง! เปลี่ยน ‘น้ำมันเหลือทิ้ง’ เป็น ‘น้ำมันเครื่องบิน’ โอกาสใหม่ SME ไทย เติบโตอย่างยั่งยืน

ขณะที่ยานพาหนะต่าง ๆ ทั้ง รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รถไฟ และเรือ ต่างมุ่งสู่การใช้เชื้อเพลิงพลังงานทดแทน ที่เป็นพลังงานสะอาดกันแล้ว แต่สำหรับการเดินทางโดยอากาศยาน…
pin
1666 | 26/01/2024
จับกระแส 'เทรนด์ธุรกิจ' ปี 2024 ใครได้ไปต่อ ใครมาแรง SME ไทยต้องรู้

จับกระแส 'เทรนด์ธุรกิจ' ปี 2024 ใครได้ไปต่อ ใครมาแรง SME ไทยต้องรู้

ปี 2024 นี้ ธุรกิจไหนมาแรง ธุรกิจไหนน่าจับตา เทรนด์ธุรกิจใดกำลังมาแรง Bangkok Bank SME สรุปมาไว้ในบทความนี้ เพื่อเป็นแนวทางแก่ SME และผู้ที่กำลังคิดจะเริ่มต้นทำธุรกิจทุกท่าน…
pin
1921 | 25/01/2024
เมื่อของแพง แล้ว SME มีทางเลือกอะไร?