‘ลิเธียม-โซเดียม’ แร่สำคัญผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ไทยมีโอกาสในตลาดแบตเตอรี่ EV แค่ไหน?

Mega Trends & Business Transformation
22/02/2024
รับชมแล้วทั้งหมด 8773 คน
‘ลิเธียม-โซเดียม’ แร่สำคัญผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ไทยมีโอกาสในตลาดแบตเตอรี่ EV แค่ไหน?
banner

ความคึกคักของตลาดยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ทั่วโลก คาดว่าจะมีจำนวนสูงถึง 17.5 ล้านคัน เติบโต 27% ในปี 2024 ผลพวงจากเทรนด์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกจึงได้ออกมามาตรการส่งเสริมการใช้อีวี


ด้วยเหตุนี้ หลายประเทศจึงได้ช่วงชิงโอกาสในการดึงดูดการลงทุนอีวี ด้วยการชูจุดขายว่า เป็น “แหล่งแร่” ที่ใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตแบตเตอรี ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมอีวี




โดยก่อนหน้านี้จะเห็นว่า ในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเฉพาะ “อินโดนีเซีย” นับได้ว่าเป็นประเทศที่มีความโดดเด่นมากที่สุด จากการที่มี “แหล่งแร่นิกเกิล” มากที่สุดในโลก ซึ่งแร่ชนิดนี้ จะถูกแปรรูปเป็นส่วนประกอบในแบตเตอรีอีวี ทำให้นักลงทุนทั่วโลกหันไปลงทุนที่อินโดนีเซีย ยกตัวอย่างเช่น ฮุนได เข้าไปลงทุนเปิดโรงงานผลิตอีวีนอกกรุงจาร์กาตา และจะเริ่มใช้แบตเตอรีที่ผลิตภายในประเทศ ในปี 2567 หรือการดึงผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่จากจีน CATL ไปร่วมลงทุนโรงงาน นอกจากนี้ยังมี Mitsubishi ที่เตรียมจะไปลงทุนขยายโรงงานในอินโดนีเซียด้วย


เรื่องนี้นับได้ว่าเป็นความยากลำบากอย่างยิ่งของไทย ในการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมแบตเตอรี และก้าวสู่ฮับของการผลิตอีวี เพราะขณะนั้นไทยประสบปัญหาขาดแคลนแหล่งวัตถุดิบไม่มีแหล่งแร่เช่นเดียวกับอินโดนีเซีย


จนกระทั่งล่าสุด ข่าวการพบเหมืองแร่ลิเทียมใน อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ได้กลายเป็นประกายแห่งความหวังให้กับประเทศไทยที่จะมี “โอกาส” ในการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) บ้าง

การค้นพบลิเธียม


ย้อนกับไปเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2567 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผยข้อมูลว่าได้อนุญาตอาชญาบัตรพิเศษจำนวน 3 แปลง เพื่อสำรวจแหล่งลิเทียมในพื้นที่อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา


ผลการสำรวจ ปรากฎพบ “หินอัคนี” เนื้อหยาบมาก สีขาวหรือหินเพกมาไทต์ ซึ่งเป็นหินต้นกำเนิดที่นำพาแร่เลพิโดไลต์สีม่วง หรือแร่ที่มีองค์ประกอบของลิเธียมมาเย็นตัว และตกผลึกจนเกิดเป็นแหล่งลิเธียมที่มีศักยภาพ 2 แหล่ง ได้แก่ แหล่งเรืองเกียรติ มีปริมาณสำรองประมาณ 14.8 ล้านตัน เกรดลิเธียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% และแหล่งบางอีตุ้มที่อยู่ระหว่างการสำรวจ ขั้นรายละเอียด เพื่อประเมินปริมาณสำรอง




ซึ่ง หากมีการอนุญาตประทานบัตร “ลิเธียมจากแหล่งเรืองเกียรติ” เพื่อทำเหมือง คาดว่าจะสามารถนำแร่ลิเธียมมาเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาด 50 kWh ได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคัน โดยมั่นใจว่าเทคโนโลยีการแต่งสินแร่ลิเธียมในปัจจุบัน สามารถควบคุมและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนได้เป็นอย่างดี


ประเทศในโลก ที่มีแร่ลิเธียม


ด้วยเหตุที่ลิเธียมเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน สำหรับใช้เป็นพลังงานขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งนั่นจะสร้างความมั่นคงและเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต ว่าประเทศไทยจะมีลิเธียมในการผลิตแบตเตอรี่ รองรับการตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศได้


โดยมีการคาดการณ์ว่าความต้องการลิเธียมทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าภายในปี 2568 และจะต้องการมากกว่า 2 ล้านตัน ภายในปี 2573




ขณะที่การผลิตลิเธียมทั่วโลกนั้น หากตรวจสอบข้อมูลจาก GlobalData ได้มีการประเมินว่าในปี 2024 ทั่วโลก จะมีปริมาณแร่ลิเธียมอยู่ที่ 1.07 แสนตัน และคาดการณ์ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือในปี 2034 จะมีปริมาณลิเธียมเพิ่มเป็น 3.4 แสนตัน


โดยได้สรุปรายชื่อบริษัทที่ทำเหมืองลิเธียมทั่วโลกไว้ ดังนี้


1.ออสเตรเลีย บริษัท Tianqi Lithium (51%)สัญชาติจีน ออสเตรเลีย และ Albemarle Corporation (49%) สัญชาติ สหรัฐอเมริกา ปริมาณรวม 1.55 แสนตัน

2.ชิลี บริษัท Sociedad Quimica y Minera สัญชาติ ชิลี ปริมาณ 1.35 แสนตัน

3.ออสเตรเลีย บริษัท Mineral Resources Limited สัญชาติออสเตรเลีย 64,000 ตัน

4.ออสเตรเลีย บริษัท Pilbara Minerals สัญชาติออสเตรเลีย ปริมาณ 56,100 ตัน

5.ชิลี บริษัท Albemarle Corporation สัญชาติสหรัฐอเมริกา ปริมาณ 32,890 ตัน

6.อาร์เจนตินา บริษัท Livent Corporation สัญชาติ สหรัฐอเมริกา 32,800 ตัน

7.ออสเตรเลีย บริษัท Allkem Limited สหรัฐอเมริกา ปริมาณ 26,810 ตัน

8.ซิมบับเว บริษัท Sinomine Zimbabwe Bikita Mining Co., Ltd สัญชาติจีน ปริมาณ 26,600 ตัน

9.โบลิเวีย บริษัท Yacimientos de Litio Bolivianos (YLB) สัญชาติโบลิเวีย ปริมาณ 14,000 ตัน

10. อาร์เจนตินา บริษัท Allkem Limited สัญชาติ สหรัฐอเมริกา ปริมาณ 13,800 ตัน




อย่างไรก็ตาม ในส่วนของประเทศไทยเอง แหล่งลิเธียมเรืองเกียรติ ที่พบว่ามีปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ (Mineral Resource) ประมาณ 14.8 ล้านตัน แต่ก็ยังเป็น “แร่ดิบ” ที่ยังไม่ใช่แร่ลิเธียม แต่หากแหล่งบางอีตุ้มสำรวจพบลิเธียมได้เพิ่มเติม และมีการพัฒนาเหมืองขึ้นมาได้ แน่นอนว่า ไทย จะสามารถดึงดูดนักลงทุนไทยและต่างชาติ ที่มีศักยภาพเข้ามาตั้งโรงงาน เพื่อให้ไทยมุ่งสู่การเป็นฐานผลิตหลักของภูมิภาคได้

โซเดียมไออน แร่น้องใหม่คู่แข่งลิเธียม


ซึ่งหลังจากข่าวการขุดพบแหล่งแร่ลิเธียมในจังหวัดพังงา ถือเป็นวัตถุดิบหลักสำหรับการผลิตแบตเตอรี ซึ่งจะเชื่อมโยงห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมแบตเตอรีให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น แต่นั่นยังต้องรอระยะเวลาในการพัฒนาและลงทุนอีกอย่างน้อย 3-5 ปี




แต่ความหวังที่อาจจะเกิดขึ้นเร็วกว่า “ลิเธียม” สำหรับประเทศไทยนั้น ยังไม่ปิดตายเสียทีเดียว เพราะนอกจากแร่ลิเธียมแล้ว ไทยยังมี “แหล่งแร่โซเดียม” ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับการผลิตแบตเตอรีชนิด “โซเดียมไอออน” เป็นแห่งแรกของอาเซียนได้


นวัตกรรมการผลิตแบตเตอรีโซเดียมไอออนนี้ ถูกค้นพบโดยนักวิจัยซึ่งเป็นอาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อปี 2565 เป้าหมายการศึกษาเพื่อตอบโจทย์ว่าจะทำอย่างไรที่จะให้ไทยสามารถอยู่ในห่วงโซ่ซัพพลายเชนของการผลิตแบตเตอรีได้ แม้ว่าจะไม่มีแร่ลิเธียมในประเทศไทยก็ตาม




การวิจัยจึงโฟกัสมาที่ “แร่โซเดียม” ซึ่งเป็นแร่ที่พบในประเทศไทยมาเป็นเวลานานหลายสิบปีแล้ว เป็นผลพลอยได้จากการสำรวจแหล่งโพแทชและเกลือหิน ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) เช่นในบริเวณจังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ และอุดรธานี โดยแร่โพแทชนับเป็นวัตถุดิบสำคัญที่เป็นองค์ประกอบสำหรับผลิตปุ๋ยราคาถูก ลดภาระการนำเข้าปุ๋ยจากต่างประเทศ


ขณะที่แร่โซเดียม (เกลือแร่) ที่ดึงโซเดียมไอออนมา สามารถใช้สำหรับพัฒนาเป็นเซลล์แบตเตอรีได้ ทั้งนี้จากข้อมูลทางด้านธรณีวิทยามีการคาดการณ์ว่าไทยมีแร่โซเดียมอุดมสมบูรณ์ ด้วยปริมาณสำรองที่พบมากถึง 18 ล้านล้านตัน ซึ่งสามารถผลิตได้นับเป็นร้อยปี

จุดอ่อน-จุดแข็ง 2 แร่


แน่นอนว่า ลิเธียมเป็นแร่หลักที่ทั่วโลกคุ้นเคย แต่ก็ไม่ใช่ว่าการใช้ลิเธียมจะดีและไม่มีข้อจำกัด เพราะมีหลายคนกล่าวว่าความเสี่ยงที่อาจจะเกิดระเบิดหรือเกิดไฟลุกไหม้ในแบตเตอรีลิเธียมโดนน้ำ ได้กลายเป็นปัญหากังวลหลักที่นักลงทุนกลัว ซึ่งข้อเท็จจริง สารที่ทำให้ระเบิดนั้นคือ โลหะลิเธียม ซึ่งจะถูกดึงออก ไม่ได้ถูกนำมาใช้ในกระบวนการผลิตแบตเตอรี เพราะจะใช้แค่เพียงลิเธียมไออนเท่านั้น ยกเว้นแต่มีข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต




ขณะที่ แบตเตอรีโซเดียมไออน มีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุระเบิดหรือไฟไหม้น้อยกว่า เพราะกำลังไฟในการใช้สำหรับผลิตแบตเตอรี่โซเดียมไอออนน้อยกว่า แม้ว่าการจุไฟได้น้อยกว่าจะเป็นจุดด้อยโซเดียม แต่นั่นก็ทำให้ราคาแบตเตอรีโซเดียมไอออนมีราคาถูกกว่าแบตเตอรีลิเธียมประมาณ 40-60% ดังนั้น การใช้โซเดียมไอออนตอบโจทย์เรื่องความประหยัดและปลอดภัยได้


อย่างไรก็ตาม หากจะมีการนำแร่โซเดียมไปใช้ในกระบวนการผลิตแบตเตอรีจะต้องผ่านการถลุงแร่เสียก่อน ซึ่งปัจจุบันไทยโรงถลุงแร่โซเดียมแล้วที่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นการนำโซเดียมมาใช้ในอุตสาหกรรมแก้ว แต่ยังไม่มีผู้ลงทุนต่อยอด นำโซเดียมไปใช้ในการผลิตแบตเตอรี เพราะการลงทุนในโรงงานแบตเตอรีโซเดียมไอออนต้องเป็นโรงงานขนาดใหญ่ซึ่งต้องใช้งบประมาณลงทุนหลักหมื่นล้านบาท จึงจะทำให้ปริมาณที่คุ้มค่าต่อการลงทุน


แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังนับว่ามีความหวังมากกว่า “แร่ลิเธียม” ซึ่งยังอยู่ในขึ้นตอนการสำรวจ แหล่งบางอีตุ้ม จังหวัดพังงา และไทยก็ยังไม่มีโรงถลุงแร่ เนื่องจากไม่มีการทำเหมืองแร่ในบริเวณใกล้เคียง ดังนั้นหลังจากสำรวจแล้วก่อนจะใช้ประโยชน์ จำเป็นต้องมีการลงทุนก่อสร้างโรงถลุงเพื่อรองรับเสียก่อน




อัพเดทภาพรวมการลงทุนอุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรีในไทย


หากตรวจสอบสถานะการลงทุนอุตสาหกรรมแบตเตอรีในประเทศไทย พบว่า คณะกรรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2567 พบว่า ปัจจุบันมีผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตแบตเตอรี่ จำนวน 38 โครงการ เงินลงทุนรวม 23,600 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่โครงการที่ได้รับบีโอไอนั้น จะเป็นการผลิตในขั้น Battery Module และ Battery Pack ส่วนผู้ผลิตในระดับต้นน้ำหรือ Battery Cell ปัจจุบันมี 1 รายคือ อมิตา เทคโนโลยี ในเครือพลังงานบริสุทธิ์ (EA)





สำหรับประเภทกิจการที่ได้รับส่งเสริม แบ่งดังนี้


1.แบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) 23 โครงการ เงินลงทุน 11,700 ล้านบาท

2.แบตเตอรี่ความจุสูงสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ 15 โครงการ เงินลงทุน 11,900 ล้านบาท

มาตรการส่งเสริมการลงทุน


ซึ่งในการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนใน กิจการผลิตแบตเตอรี่จาก บีโอไอ จะมีเงื่อนไขในการรับสิทธิประโยชน์ ดังนี้


1. กรณีมีขั้นตอนการผลิต Cell โดยให้ได้รับสิทธิและประโยชน์ลดหย่อนอากรขาเข้าวัตถุดิบและ วัสดุจำเป็นตามมาตรา 30 ในอัตราร้อยละ 90 สำหรับ ชิ้นส่วนหรือวัตถุุดิบที่ไม่มีการผลิตในประเทศ เป็นระยะเวลา 5 ปี ทั้งนี้ จะอนุุมัติให้คราวละ 1 ปี นับจากวันที่นำเข้าวัตถุดิบครั้งแรก ในกรณีนี้จะได้รับสิทธิประโยชน์ ยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปี (ไม่จำกัดวงเงิน)

2. กรณีนำ Cell มาเริ่มผลิต เช่น ผลิตเป็น Module หรือ Battery Pack เป็นต้น โดยให้ได้รับสิทธิและประโยชน์ลดหย่อนอากรขาเข้าวัตถุดิบและวัสดุจำเป็น ตามมาตรา 30 ในอัตราร้อยละ 90 สำหรับชิ้นส่วน หรือวัตถุดิบที่ไม่มีการผลิตในประเทศเป็นระยะเวลา 5 ปี ทั้งนี้ จะอนุุมัติให้คราวละ 1 ปี นัับจากวันที่นำเข้าวัตถุดิบครั้งแรก


ในกรณีนี้จะได้รับสิทธิประโยชน์ ยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปี


3. กรณีนำ Module มาผลิตเป็น Battery Pack ในกรณีนี้จะได้รับสิทธิประโยชน์ ยกเว้นภาษีเงินได้ 5 ปี




ด้วยมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่น่าสนใจ และจากการที่ไทยมีความพร้อมในการเป็นแหล่งวัตถุดิบ “ลิเธียม และโซเดียม” มีโอกาสทำให้หลังจากนี้ จะมีการลงทุนในอุตสาหกรรมแบตเตอรีคึกคักเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้ความหวังของไทยในการเป็นศูนย์กลางการผลิตแบตเตอรีขยับใกล้เข้ามา ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้ไทยเข้าเป็นส่วนหนึ่งในตลาดอีวีได้







Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ธุรกิจยุคดิจิทัล ต้อง Transformation อย่างไร เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ในเทศกาลสงกรานต์

ธุรกิจยุคดิจิทัล ต้อง Transformation อย่างไร เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ในเทศกาลสงกรานต์

ความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ กลายเป็นโจทย์หลักของนักการตลาดในยุคดิจิทัล หากเจาะลึกลงไปจะพบว่าการเปลี่ยนแปลงจนทำให้เกิดการดิสรัปด้านเทคโนโลยีรอบนี้…
pin
4203 | 10/04/2024
5 เทคโนโลยีสุดล้ำ ที่ธุรกิจนำมาปรับใช้เป็นกลยุทธ์ใหม่กระตุ้นยอดขาย ดึงลูกค้า ช่วงมหาสงกรานต์ 2567

5 เทคโนโลยีสุดล้ำ ที่ธุรกิจนำมาปรับใช้เป็นกลยุทธ์ใหม่กระตุ้นยอดขาย ดึงลูกค้า ช่วงมหาสงกรานต์ 2567

ประเพณีสงกรานต์ของไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน สนับสนุนให้ “สงกรานต์” เป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์เทศกาลระดับโลก…
pin
4192 | 10/04/2024
5 นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี ตอบโจทย์เทรนด์รักสุขภาพองค์รวม 'Holistic Health' เมื่อคนยุคใหม่มองหาสุขภาวะที่ดีขั้นสุด

5 นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี ตอบโจทย์เทรนด์รักสุขภาพองค์รวม 'Holistic Health' เมื่อคนยุคใหม่มองหาสุขภาวะที่ดีขั้นสุด

การดูแลสุขภาวะที่ดีกำลังเป็นโจทย์สำคัญด้านสาธารณสุขของประเทศ ในห้วงเวลาที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็น “สังคมสูงวัย “ (Aged Society) โดยมีข้อมูลพบว่าตั้งแต่ปี…
pin
1056 | 25/03/2024
‘ลิเธียม-โซเดียม’ แร่สำคัญผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ไทยมีโอกาสในตลาดแบตเตอรี่ EV แค่ไหน?