รัฐเตรียมฟื้น 5 โครงการกับงบก้อนแรกภายใต้แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
วงเงินไม่เกิน 4 แสนล้านบาท
เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา
2019 (โควิด-19) โดยเน้นหนักด้านการช่วยเหลือการเกษตรของประเทศ
เรื่องการเข้าถึงเงินทุนของ SMEs ในระยะแรก เพื่อกระตุ้นการจ้างงานเป็นสำคัญ
จากการที่บางธุรกิจไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ เพื่อกระตุ้นให้มีการใช้จ่ายในประเทศและการการท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น
ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่ยังคงตกดิ่งแรง
เพราะไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักสำคัญได้ตามปกติ
จากข้อมูลคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้คาดการณ์ว่าการส่งออกของไทยจะติดลบเพิ่มขึ้นเป็น 10.3% จากเดิมคาดการณ์ว่าจะติดลบที่ 8.8% โดยกระทรวงพาณิชย์ประกาศตัวเลขการส่งออกล่าสุดเดือนพฤษภาคมติดลบ 22.50% ทำสถิติติดลบมากสุดในรอบ 150 เดือนของประวัติศาสตร์การส่งออกไทย อันมีผลมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังคงระบาดอยู่ทั่วโลก ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงเหลือเพียง 8 ล้านคนในปีนี้ จากปกติ 40 ล้านคน ในขณะที่ทั้งภาคประชาชนและภาคเอกชนไม่กล้าใช้จ่ายเงินและลงทุน
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนกรกฎาคมนี้จะอาการหนัก
เพราะเงินเยียวยาที่รัฐบาลแจกให้คนละ 5,000
บาท 3 เดือน กำลังหมดลง ดังนั้นจะเห็นมีธุรกิจที่ทยอยปิดตัวเพิ่มมากขึ้น
เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้น การส่งออกยังไม่ฟื้น
โรงงานยังไม่สามารถกลับมาผลิตได้เต็มที่ นักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่กลับมา
รัฐบาลจึงต้องเร่งการใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ในส่วนของ 4
แสนล้านบาท ให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็วที่สุด
จากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)
เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2563 ได้มีมติเห็นชอบผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้
(คกง.) เพื่อขอใช้จ่ายเงินกู้ภายใต้แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
วงเงินไม่เกิน 4 แสนล้านบาท
เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา
2019 (โควิด-19) จำนวน 5 โครงการ คิดเป็นวงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท
เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะแรก ตามรายละเอียดของโครงการประกอบด้วย
1. โครงการ 1 ตำบล 1
กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วงเงิน 9,800 ล้านบาท
เป็นการฝึกอบรมเกษตรกรเกี่ยวกับเกษตรทฤษฎีใหม่
และการเพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำสำหรับทำการเกษตร คาดว่าจะช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรจำนวน
4.4 หมื่นราย เพิ่มการจ้างงานเกษตรจำนวน 8,010 ราย
มีพื้นที่กักเก็บน้ำสำหรับทำการเกษตรในฤดูแล้งเพิ่มขึ้น
2. โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่
“โคก หนอง นา โมเดล” ของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย วงเงิน 4,700 ล้านบาท โดยจะพัฒนาพื้นที่เรียนรู้ชุมชน ฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่น
และชุมชนผ่านการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร แรงงาน บัณฑิตจบใหม่
กลุ่มแรงงานที่อพยพกลับท้องถิ่น ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรและประชาชน
2.51 หมื่นครัวเรือน เพิ่มการจ้างงานเกษตรกร 6,490 ราย เพิ่มพื้นที่ปลูกป่าไม่น้อยกว่า 2.57
หมื่นไร่
3. โครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน
(One Stop Service) ของกรมส่งเสริมการเกษตร
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วงเงิน 169.88 ล้านบาท โดยจะฝึกอบรมสมาชิกศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน
ให้มีองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมในการตรวจวิเคราะห์ดินและใช้ปุ๋ย
รวมทั้งขยายผลไปยังพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่
โดยคาดว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มการจ้างงานในธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน
ประมาณ 2.36 พันคน ลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีในพืชเศรษฐกิจต่างๆ ไม่น้อยกว่า 20%
หรือประมาณ 1.8 หมื่นตัน คิดเป็นวงเงิน 253 ล้านบาท
4. โครงการพื้นที่ท่องเที่ยวปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว
(Safety Zone) ของกรมการท่องเที่ยว
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา วงเงิน15 ล้านบาท นำมาสร้างต้นแบบพื้นที่ท่องเที่ยวให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว
5 พื้นที่ ได้แก่ ย่านเมืองเก่าน่าน หาดบางแสนชลบุรี เอเชียทีค ชุมชนบ้านไร่กองขิง
เชียงใหม่ และเยาวราช
รวมถึงฝึกอบรมเรื่องความปลอดภัยและสุขอนามัยให้ผู้ประกอบการและร้านค้าต่างๆ
5. โครงการพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ด้านสัตว์ป่า ของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วงเงิน 741.58 ล้านบาท โดยจะทำการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกให้ได้มาตรฐาน การจ้างงานในชุมชนท้องถิ่นรอบพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่า 1,250 คน เพื่อให้ความรู้ในแหล่งท่องเที่ยว พัฒนามาตรฐานกิจกรรมดูนก และเดินป่าในพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่า คาดว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยยกระดับแหล่งท่องเที่ยวเชิงคุณภาพเพื่อการเรียนรู้ด้านสัตว์ป่า ทำให้เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่นโดยรอบ เช่น ผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยว (มัคคุเทศก์) จำนวน 1,250 คน ผู้ประกอบการก่อสร้างในท้องถิ่น จำนวน 125 ราย