เข้าใจตลาดอาเซียน กับ เสี่ยเจริญ แห่ง ส.ขอนแก่น

Go Inter Case
28/04/2016
รับชมแล้วทั้งหมด 2118 คน
เข้าใจตลาดอาเซียน กับ เสี่ยเจริญ แห่ง ส.ขอนแก่น
banner
อาหารที่ผลิตต้องคนไทยชอบ และส่งออกตลาดโลกได้ คุณเจริญ แห่ง ส.ขอนแก่น  เริ่มต้นเล่าเรื่องราวของการลงทุนในต่างแดนว่า “ส.ขอนแก่น ได้เข้าไปลงทุนในหลายประเทศ อาทิ ฮ่องกง จีน เวียดนาม ยุโรป กัมพูชา และลาว โดยภายในปี 2559 นี้ ได้วางแผนการเข้าไปลงทุนในสหรัฐอเมริกา“ การทำธุรกิจอาหารนั้นตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่า “อาหารไทยเป็นที่ต้องการของตลาดโลก” จากการที่เคยทำหน้าที่เป็นกรรมาธิการท่องเที่ยวและได้มีโอกาสศึกษาความต้องการในต่างประเทศ  ซึ่งก่อนหน้าที่จะเริ่มต้นทำธุรกิจนั้น แต่เดิม คุณเจริญ เคยทำงานเป็นผู้จัดการใหญ่ดูแลตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศให้กับ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน)  หรือ ซีพี เป็นระยะเวลาร่วม 10 ปี โดยเป็นที่รู้กันอย่างดีว่าซีพีนั้นเป็นบริษัทชั้นนำด้านวงการอาหารของโลก จากประสบการณ์ทำงานในบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างโชกโชน และมีความรู้เรื่องการตลาดเป็นอย่างดี ทำให้คุณเจริญเริ่มอยากทำธุรกิจเป็นของตัวเองขึ้น และการเริ่มต้นของ ส.ขอนแก่น นั้นคือ ทำสิ่งที่คนไทยชอบกิน และต้องขายในตลาดโลกได้ แค่เริ่มต้นธุรกิจก็มองการณ์ไกลนอกจากขายในประเทศได้แล้วยังเป็นที่นิยมในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดประเทศจีนที่มีขนาดของตลาดนับพันล้านคน ถ้าสามารถเข้าตลาดจีนได้ จะสร้างกำไรอีกหลายเท่าตัว สินค้าตัวแรกที่เริ่มผลิตคือ หมูหยอง คุณเจริญกล่าวว่า ในฐานะเป็นผู้ผลิตที่ต้องใช้วัตถุดิบมาผลิตหมูหยอง รวมถึงนำหมูมาแปรรูปสินค้าอีกหลายตัว ทั้งหมูยอ หมูแผ่น แคบหมู เป็นต้น เมื่อมีการผลิตมากขึ้น ทำให้หมูที่เป็นวัตถุดิบหลักไม่สามารถตอบสนองความต้องการผลิตได้ทัน หลังจากทำธุรกิจผ่านไป 10–15 ปี จึงเริ่มต้นผลิตวัตถุดิบเอง ทำให้เป็นการผลิตแบบครบวงจร ทั้งต้นน้ำ (ผลิตวัตถุดิบ) กลางน้ำ (ผลิตสินค้า) และปลายน้ำ (จัดจำหน่าย) ทั้งการทำอาหารคน อาหารสัตว์ และเพาะพันธุ์สัตว์ เข้าใจโครงสร้างอาเซียน ก่อนรุกตลาดอย่างจริงจัง กลยุทธ์ทางธุรกิจ โครงสร้าง และการแข่งขัน (Firm Strategy, Structure & Rivalry) ในอาเซียน แทบทุกประเทศยังคงมีปัญหาเรื่องการควบคุมตลาดโดยรัฐ กฎระเบียบต่าง ๆ ยังไม่มีความเป็นเสรีอย่างแท้จริง เช่น การควบคุมราคาสินค้า การกำหนดมาตรฐานต่าง ๆ ที่ส่งผลทำให้เกิดการกีดกันทางการค้าการลงทุน แต่แนวโน้มสถานการณ์ต่าง ๆ เริ่มดีขึ้นเรื่อย ๆ  ในหลายประเทศของอาเซียนจึงจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับพันธกรณีของ องค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) ในการเข้าสู่สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations : ASEAN) หรือประชาคมอาเซียน รวมทั้งเขตการค้าเสรี (Free Trade Area : FTA) กับประเทศคู่ค้าของไทยด้วย สิ่งหนึ่งที่ทำให้การค้าไทยได้เปรียบในเวทีอาเซียนคือ อุตสาหกรรมไทยมีศักยภาพอยู่ในอันดับต้น ๆ ของอาเซียน เนื่องจากความเข้มแข็งในด้านปัจจัยการผลิตภายในประเทศที่มีศักยภาพและมีความหลากหลาย ทักษะฝีมือแรงงานเหมาะสมกับต้นทุนค่าจ้าง และยังมีตลาดในประเทศที่มีศักยภาพรองรับความต้องการในอนาคต ขณะที่แง่ของตลาดส่งออกพบว่า อาหารไทยยังเป็นที่ต้องการของตลาดโลก เพราะสินค้าไทยมีคุณภาพมาตรฐาน  ถ้าหากว่ารัฐบาลสามารถยกระดับขีดจำกัดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรม จะช่วยสร้างโอกาสและความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมอาหารของไทยในระดับอาเซียน รวมถึงระดับโลกได้ไม่ยาก ปัญหาของผู้ประกอบการไทยในการเข้าสู่เวทีอาเซียน เรื่องหลัก ๆ ที่ภาครัฐพยายามอย่างมากในการช่วยผู้ประกอบการไทยมาโดยตลอดคือ ผู้ประกอบการไทยยังมีความรู้ความเข้าใจในตลาดอาเซียนระดับที่น้อย ทำให้ขาดแรงจูงใจในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อาหารที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดอย่างแท้จริง ยังรวมถึงเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาระบบขนส่ง ความเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ทำให้ในหลายประเทศของอาเซียนพบกับปัญหาในการกระจายสินค้า อีกทั้งปัญหาด้านภาษีศุลกากรด้วย แม้ว่าจะลดบทบาทลงไปมาก แต่ในหลายประเทศของอาเซียนกลับยังพบอุปสรรค มาตรการ อุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTBs) ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก “ปัจจุบันยังหาจุดร่วมในการลด NTBs อย่างเป็นรูปธรรมไม่ได้ ซึ่งหมายถึงมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษีนำเข้ารูปแบบต่าง ๆ ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีการกำหนดอย่างเป็นทางการว่า มาตรการใดเป็น NTBs อย่างชัดเจน” 3 กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ที่พร้อมสำหรับเวทีอาเซียน กลุ่มแรก เป็นกลุ่มสินค้าที่ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันและส่งออกมากขึ้น คือ กลุ่มประเภทอาหารแปรรูปต่าง ๆ ทั้งผลไม้ ผัก เนื้อสัตว์ เครื่องปรุงรส และแป้ง เพราะประเทศไทยมีความน่าเชื่อถือด้านการผลิตนี้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว  รวมถึงความพร้อมด้านเทคโนโลยีและวัตถุดิบด้วย กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มสินค้าที่ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันได้อย่างเท่าเทียม คือ กลุ่มเครื่องดื่ม ข้าว ธัญพืช เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบระดับคุณภาพดี แต่มีราคาสูง ทำให้การแข่งขันอยู่ในระดับปานกลาง กลุ่มที่สาม เป็นกลุ่มสินค้าที่การแข่งขันยังเสียเปรียบ คือ กลุ่มอาหารประเภท นม อาหารสัตว์ สัตว์น้ำ น้ำมันพืช โกโก้ ช็อกโกแลต เครื่องเทศ ชา กาแฟ จากการที่วัตถุดิบไม่เพียงพอ และต้นทุนสูง รวมถึงสินค้าไม่ตรงตามต้องการของตลาด นอกจากนี้ ภาพรวมของ AEC จะเป็นโอกาสของไทยแล้ว แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารไทยไม่ควรประมาทหรือชะล่าใจก็คือ การแข่งขันกับประเทศนอกภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะประเทศกลุ่มพัฒนาแล้วอย่าง สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ที่มีความได้เปรียบด้านทุน เทคโนโลยี และนวัตกรรม จะใช้ช่องทาง AEC เข้ามาขยายการค้าการลงทุนในอาเซียน และทำให้ตลาดอาเซียนมีการแข่งขันรุนแรงมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการไทยรายใหญ่ยังไม่มีความน่าเป็นห่วงมากเท่ากับผู้ประกอบการรายย่อย (SME) ที่ต้องเร่งพัฒนาศักยภาพรอบด้านของธุรกิจให้มีความพร้อม เพื่อรับมือกับตลาดที่จะมีการแข่งขันที่ดุเดือดมากขึ้นในอนาคต ธนาคารกรุงเทพ ใส่ใจให้บริการนักลงทุนในย่านอาเซียนด้วยบริการเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน เรามีสาขาของธนาคารอยู่ในย่านอาเซียน 9 สาขาใน 10 ประเทศเพื่อให้บริการท่าน สนใจติดต่อได้ที่ศูนย์ AEC Connect ชั้น 2 สำนักธุรกิจ ธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ อีเมล: AECconnect@bbl.co.th สายด่วน 1333 ตลาดอาหารอาเซียน sme

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ถอดสูตรความสำเร็จ เบอร์ 1 ตลาดชาเขียว “โออิชิ”

ถอดสูตรความสำเร็จ เบอร์ 1 ตลาดชาเขียว “โออิชิ”

สำหรับกลยุทธ์ดังกล่าวจะช่วยต่อยอดรากฐานอันแข็งแกร่ง รวมถึงการทำ CSR อย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญตามแผนวิสัยทัศน์ 2020 โออิชิ ได้จัดตั้งบริษัทย่อยในต่างประเทศ…
pin
3478 | 12/07/2016
N&B แฟรนไชส์เครปไทย โกอินเตอร์

N&B แฟรนไชส์เครปไทย โกอินเตอร์

ธุรกิจแฟรนไชส์ไทย ทำหน้าที่เป็นตัวขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญในต่างประเทศ เพราะสามารถส่งออกสินค้าและบริการ โดยไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าเหมือนการส่งออกทั่วไป…
pin
947 | 31/05/2016
เข้าใจตลาดอาเซียน กับ เสี่ยเจริญ แห่ง ส.ขอนแก่น

เข้าใจตลาดอาเซียน กับ เสี่ยเจริญ แห่ง ส.ขอนแก่น

อาหารที่ผลิตต้องคนไทยชอบ และส่งออกตลาดโลกได้ คุณเจริญ แห่ง ส.ขอนแก่น  เริ่มต้นเล่าเรื่องราวของการลงทุนในต่างแดนว่า “ส.ขอนแก่น ได้เข้าไปลงทุนในหลายประเทศ…
pin
2119 | 28/04/2016
เข้าใจตลาดอาเซียน กับ เสี่ยเจริญ แห่ง ส.ขอนแก่น