ไทม์ไลน์ “ลิบรา”หนทางที่เต็มไปด้วยความไม่ไว้ใจ

SME Update
28/07/2019
รับชมแล้วทั้งหมด 2568 คน
ไทม์ไลน์ “ลิบรา”หนทางที่เต็มไปด้วยความไม่ไว้ใจ
banner

ช่วงเดือนกว่าที่ผ่านมา ประเด็นเรื่องสกุลเงินดิจิทัลของเฟซบุ๊ก หรือ ลิบรา(Libra)ได้กลายเป็นประเด็นของสังคมโลกที่เขย่าทุกวงการให้หันไปโฟกัสกับก้าวสำคัญของเฟซบุ๊กในครั้งนี้  แม้ว่ามาถึงตรงนี้จะเป็นที่แน่ชัดจากปากของมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กแล้วว่าจะไม่เปิดตัวลิบราจนกว่าข้อกังวลด้านกฎระเบียบจะคลี่คลายและได้รับการอนุมัติให้ออกอย่างเหมาะสม

ทั้งยังต้องตีความหมายของคำพูดของนายเดวิส มาร์คัส ที่ดูแลด้านเทคโนโลยีบล็อกเชนของบริษัทเฟซบุ๊ค อิงค์ ที่ยืนยันกับสภาคองเกรสว่าจะไม่เปิดตัวลิบรา หมายถึงเฉพาะแค่ในสหรัฐฯหรือไม่? แต่ก่อนที่จะไปสรุปว่ามีประเทศไหนสนใจ หรือ ไม่ไว้ใจ ลิบรา เรามาย้อนดูไทม์ไลน์การเริ่มต้นกันสักหน่อย        

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลค์ Facebook bangkokbanksme 


18 มิถุนายน 2562 โลกได้รู้จัก Libra

พลันที่ “เฟซบุ๊ก อิงค์” เปิดตัวสกุลเงินดิจิทัลของตัวเอง โดยใช้ชื่อว่า “ลิบรา” (Libra) ในการเคลื่อนไหวที่มีเป้ามาอยู่ที่ การสร้างระบบชำระเงินระดับโลก ที่มีต้นทุนต่ำ ผ่านทางอุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ ลิบราว่า เป็น “สกุลเงินใหม่” ของโลก โดยวางแผนที่จะเริ่มใช้งานในปี 2020 ซึ่งสกุลเงินดิจิทัลนี้ ได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตร 27 ราย รวมถึง องค์กรไม่หวังผลกำไร บริษัทในอุตสาหกรรมให้บริการการเงิน และผู้ประกอบธุรกิจอีคอมเมิร์ซ อย่าง อูเบอร์ สปอติฟาย มาสเตอร์การ์ด อีเบย์ และโวดาโฟน

Libra หรือจะเป็นยุคใหม่ของธุรกรรมการเงินโลก

ด้วยความที่เป็นเฟซบุ๊กที่มีผู้ใช้งานทั่วโลกมากที่สุด ทำให้การเกิดขึ้นของ ลิบรา ได้สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลก !!!

แรงสั่นสะเทือนนี้ แตกต่างจากครั้ง บิทคอยน์ และท่ามกลางความแปลกใหม่ของลิบรา ย่อมต้องมีสถาบันการเงินของรัฐที่หมายตาไว้ ทำให้ธนาคารกลางเกือบทั่วโลกที่เดิมต่างละเว้นที่จะเข้าไปควบคุมเงินดิจิทัล เพราะคุมได้ยากแต่ที่ผ่านมาไม่ได้เกิดปัญหามากนัก ทั้งมองเงินดิจิทัลมีขนาดเล็กเกินกว่าที่จะสร้างความเสี่ยงต่อระบบการเงินของโลก

รู้ลึกเรื่อง Libra โจทย์ท้าทายการเงินโลก

แต่ไม่ใช่สำหรับ ลิบรา ที่มีเฟซบุ๊กอยู่เบื้องหลัง  ในช่วงการเปิดตัวของลิบรา มีนายธนาคารกลางจากอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี กลับออกมาระบุว่า เฟซบุ๊กควรจะคิดถึงการตรวจสอบอย่างละเอียดด้วย

ทรัมป์ ย้ำไม่ไว้ใจลิบรา

ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม ทันทีที่นายโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทวิตข้อความในทวิตเตอร์โพสต์ข้อความลงบนทวิตเตอร์ว่า “ผมไม่ใช่แฟนคลับของบิทคอยน์และสกุลเงินดิจิทัลอื่น ๆ ซึ่งไม่ใช่เงินจริง ๆ อีกทั้งมูลค่าของมันยังมีความผันผวนสูงและไม่มีหลักอ้างอิง พร้อมเสริมว่า สินทรัพย์คริปโตเคอร์เรนซีที่ไม่มีการกำกับดูแลอาจช่วยอำนวยความสะดวกให้กับพฤติกรรมผิดกฎหมายต่าง ๆ เช่น การค้ายาและเรื่องมิชอบอื่น ๆ”

สภาคองเกรสเรียกผู้บริหารเฟซบุ๊คเข้าพบ     

17 ก.ค.2562 นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) แจ้งต่อสภาคองเกรสว่า แผนการเปิดตัวเงินลิบราของเฟซบุ๊กไม่สามารถเป็นไปได้ จนกว่าเฟซบุ๊กจะมีมาตรการแก้ไขข้อกังวลเกี่ยวกับการละเมิดความเป็นส่วนตัว ปัญหาการฟอกเงิน การปกป้องผู้บริโภค และเสถียรภาพทางการเงิน

ด้านคณะกรรมาธิการการบริการด้านการเงินของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกาได้ส่งหนังสือไปยังมาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก, เชอร์ริล แซนด์เบิร์ก และเดวิด มาร์คัส หัวหน้าผู้บริหารโครงการพัฒนา “ลิบรา” ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่เฟซบุ๊กและพันธมิตรพัฒนาขึ้นและ “คาลิบรา” ซึ่งเป็นระบบกระเป๋าสำหรับจัดเก็บและแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัล โดยขอให้เฟซบุ๊กยุติการพัฒนาดังกล่าวออกไปชั่วคราว

เปิดเบื้องลึกเฟซบุ๊ก...ทำไมต้องเงินดิจิทัล “ลิบรา”

ทั้งนี้นอกจากคณะกรรมาธิการดังกล่าวยังมีหนังสือกลุ่มผู้บริโภค กลุ่มสิทธิส่วนบุคคล กลุ่มนโยบายทางเศรษฐกิจและกลุ่มองค์กรอื่น ๆ อีก 33 กลุ่มที่มีหนังสือร้องเรียนไปยังเฟซบุ๊กให้ระงับการพัฒนาลิบราชั่วคราวดัวยเช่นเดียวกัน

และต่อมาทางสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ก็เสนอกฎหมายห้ามบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำสัญชาติสหรัฐ ดำเนินธุรกิจเหมือนเป็นสถาบันการเงิน หรือออกสกุลเงินดิจิทัล 


G7 ก็ยังไม่ยอมรับลิบรา

ด้านคณะทำงานกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนํา 7 ประเทศ (จี 7)ออกรายงานเบื้องต้นว่าด้วยคริปโตเคอเรนซีที่มีสินทรัพย์ค้ำประกันในการประชุมรัฐมนตรีคลังจี 7 ที่ฝรั่งเศสในสัปดาห์หน้า นายฟรองซัวส์ วิลเลอรอย เดอ แกลลูต์ ผู้ว่าการธนาคารกลางฝรั่งเศสเผยว่า ยิ่งหน่วยงานสากลตรวจสอบโครงการลิบราของเฟซบุ๊กมากเท่าไหร่ ยิ่งมีคำถามที่น่ากังวลและสิ่งที่อาจเป็นข้อจำกัดมากขึ้นเท่านั้น

มาร์ก คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ ให้สัมภาษณ์ว่า การออกเงินดิจิทัลนี้ จะต้องเป็นเรื่องที่มีความปลอดภัย หรือไม่เช่นนั้น ก็จะต้องไม่เกิดขึ้น

ขณะที่นายเยนส์ ไวด์มานน์ ผู้ว่าการธนาคารกลางเยอรมนี เตือนว่า ลิบราอาจสร้างความเสียหายให้กับธนาคารต่างๆ ได้ หากกลายเป็นทางเลือกที่แพร่หลาย แทนที่การฝากเงินสกุลต่างๆ แบบดั้งเดิม

หนึ่งในประเด็นที่คณะทำงานพิเศษของจี 7 จะพิจารณาเกี่ยวกับเงินดิจิทัลของเฟซบุ๊ก คือ เรื่องของผู้ดูแล หรือสถานที่ และวิธีการจัดเก็บสกุลเงินต่างๆ ที่จะนำมาใช้สนับสนุนเงินดิจิทัลนี้ เป็นไปได้ว่าอาจมีการตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อเข้ามาดูแลเรื่องลิบราโดยเฉพาะในอนาคต

ตามคาด ! เมื่อสหรัฐฯขยับ Libra ก็สะดุด

 จีนย้ำ ลิบราต้องถูกควบคุมโดยธนาคารกลาง

ทางด้านท่าทีของจีนโดยนายมู ชางชุน รองผู้อำนวยการฝ่ายสำนักงานชำระบัญชีของธนาคารกลางจีน ได้กล่าวแสดงความเห็นว่า สกุลเงิน Libra ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัลของเฟซบุ๊กนั้น จะต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารกลาง ทั้งบอกอีกว่า ลิบรา ซึ่งเป็นสกุลเงินคริปโตที่สามารถแปลงเป็นค่าเงินอื่นๆได้นั้น สามารถเคลื่อนไหวข้ามพรมแดนได้อย่างเป็นอิสระ และอาจจะอยู่ในภาวะที่ไม่ยั่งยืนหากไม่ได้รับการสนับสนุนและกำกับดูแลโดยธนาคารกลาง

สกุลเงินดิจิทัลอาจถูกนำไปใช้ในการปล่อยกู้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อนโยบายการเงิน และสร้างความเสี่ยงให้กับอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศต่างๆที่สกุลเงินผันผวน และเฟซบุ๊กไม่ได้ให้คำมั่นสัญญาณที่ชัดเจนว่าจะแสดงความรับผิดชอบเกี่ยวกับการต่อต้านการฟอกเงินและต่อต้านการสนับสนุนเงินให้กลุ่มก่อการร้าย รวมทั้งไม่ได้แสดงความชัดเจนว่าทางบริษัทมีแนวทางอย่างไรในการปกป้องความเห็นส่วนตัวของผู้ใช้

กระแส ลิบรา ในไทย

ภายในประเทศไทยก็มีกระแสตื่นตัวของ ลิบรา ไม่น้อยเช่นกัน อาทิ หัวข้วที่หยิบยกมาถกกันโดยภาครัฐที่เป็นฝ่ายกำกับดูแล “สุมาพร มานะสันต์” นิติกรชำนาญการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ระบุว่า เมื่อพูดถึงลิบราจะมีคำถามว่า หน่วยงานกำกับดูแลจะต้องกำกับใคร และการจะนำสกุลเงินดิจิทัล “ลิบรา” มาใช้ซื้อสินค้าและบริการในประเทศไทยนั้น มีคำถามว่า “ลิบราเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายหรือไม่” และผู้ประกอบธุรกิจจะเป็นใคร ซึ่งจะต้องมาเทียบดูกับกฎหมายไทยว่าจะกำกับดูแลได้อย่างไร ซึ่งหากเทียบเคียงกับ พ.ร.บ.เงินตรา “ลิบรา” อาจเข้าข่ายแค่กฎหมายบางข้อเท่านั้น จึงยากที่จะตีความว่าจะใช้เป็นเงินตราได้

และในส่วนของการประกอบธุรกิจที่พอจะเทียบเคียง ได้แก่ 1.พ.ร.บ.ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน ก็ยังถูกปิดตายในข้อกฎหมายดังกล่าว 2.พ.ร.บ.ระบบชําระเงิน ก็ยังมีข้อจำกัดตรงคำว่า “เงิน” ที่จะต้องเป็นเงินตราที่แลกเปลี่ยนได้ตามกฎหมาย และสุดท้าย พ.ร.บ.อีเพย์เมนต์ ซึ่งดูใกล้เคียงมากที่สุด

ความคืบหน้า “อินทนนท์”สกุลเงินดิจิทัลของไทย

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่าลิบราจะเข้ามาทดแทนเงินท้องถิ่นได้รวดเร็วแค่ไหน ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศว่า มีระดับการพัฒนาระบบการเงินมากน้อยเพียงใด ซึ่งในประเทศที่ประชาชนเชื่อมั่นในสกุลเงินท้องถิ่น หรือในประเทศที่ระบบการชำระเงินมีประสิทธิภาพ ดังนั้นโอกาสที่ลิบราจะเข้ามาทดแทนเงินท้องถิ่นไม่ใช่เรื่องง่าย

นางพราวพร เสนาณรงค์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า หากลิบราถูกนำมาใช้ชำระเงิน หรือโอนลิบราระหว่างกัน จะอยู่ภายใต้การกำกับของ ธปท. แต่หากนำลิบรามาซื้อขาย (เทรด) ในไทย จะเป็นหน้าที่กำกับของ ก.ล.ต. ภายใต้ พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจ สินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ธนาคารกลางของแต่ละประเทศเฝ้าติดตามลิบราอย่างใกล้ชิด เพราะกังวลว่าจะกระทบต่อเสถียรภาพการเงินของแต่ละประเทศ และกังวลว่าจะถูกนำไปใช้เกี่ยวกับการฟอกเงิน และอาจส่งผลต่อผู้ลงทุนได้ ซึ่งต้องติดตามว่าจะได้ข้อสรุปเช่นไรต่อไป


ในที่นี้เราคงไม่ต้องกล่าวถึงภาคเอกชนที่ให้ความสนใจลิบรา เอาแค่ให้สามารถฝ่าด่านภาครัฐและธนาคารกลางของแต่ละประเทศก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น ไม่ใช่หนทางที่ราบเรียบหรอกที่ ลิบรา จะผงาดขึ้นเป็นกระเป๋าเงินของโลกออนไลน์ เพราะอย่างที่เรียนในข้างต้น ไม่มีชาติไหน ไว้วางใจระบบของเฟซบุ๊ก 


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘TikTok For All’ Update เทรนด์ใหม่ปี 2024 พร้อมกลยุทธ์เพิ่มโอกาส SME ไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

‘TikTok For All’ Update เทรนด์ใหม่ปี 2024 พร้อมกลยุทธ์เพิ่มโอกาส SME ไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

TikTok ตอกย้ำการเป็นแพลตฟอร์มเอนเตอร์เทนเมนต์ที่น่าเชื่อถือสำหรับทุกคน ทั้งครีเอเตอร์ คอมมูนิตี้ผู้ใช้งาน และธุรกิจทุกขนาดในไทย ด้วยการเปิดตัว…
pin
1294 | 14/02/2024
ทอดไม่ทิ้ง! เปลี่ยน ‘น้ำมันเหลือทิ้ง’ เป็น ‘น้ำมันเครื่องบิน’ โอกาสใหม่ SME ไทย เติบโตอย่างยั่งยืน

ทอดไม่ทิ้ง! เปลี่ยน ‘น้ำมันเหลือทิ้ง’ เป็น ‘น้ำมันเครื่องบิน’ โอกาสใหม่ SME ไทย เติบโตอย่างยั่งยืน

ขณะที่ยานพาหนะต่าง ๆ ทั้ง รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รถไฟ และเรือ ต่างมุ่งสู่การใช้เชื้อเพลิงพลังงานทดแทน ที่เป็นพลังงานสะอาดกันแล้ว แต่สำหรับการเดินทางโดยอากาศยาน…
pin
1662 | 26/01/2024
จับกระแส 'เทรนด์ธุรกิจ' ปี 2024 ใครได้ไปต่อ ใครมาแรง SME ไทยต้องรู้

จับกระแส 'เทรนด์ธุรกิจ' ปี 2024 ใครได้ไปต่อ ใครมาแรง SME ไทยต้องรู้

ปี 2024 นี้ ธุรกิจไหนมาแรง ธุรกิจไหนน่าจับตา เทรนด์ธุรกิจใดกำลังมาแรง Bangkok Bank SME สรุปมาไว้ในบทความนี้ เพื่อเป็นแนวทางแก่ SME และผู้ที่กำลังคิดจะเริ่มต้นทำธุรกิจทุกท่าน…
pin
1917 | 25/01/2024
ไทม์ไลน์ “ลิบรา”หนทางที่เต็มไปด้วยความไม่ไว้ใจ