‘GFC’ คลินิกให้บริการทางการแพทย์สำหรับผู้มีบุตรยากแบบครบวงจร ธุรกิจ SME โตสวนกระแสสังคมผู้สูงอายุ

SME in Focus
06/06/2023
รับชมแล้วทั้งหมด 2082 คน
‘GFC’ คลินิกให้บริการทางการแพทย์สำหรับผู้มีบุตรยากแบบครบวงจร ธุรกิจ SME โตสวนกระแสสังคมผู้สูงอายุ
banner
คลินิกให้บริการสำหรับผู้มีบุตรยาก เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่เติบโตสวนกระแสแม้ในช่วงสถานการณ์โควิด ท่ามกลางข้อเท็จจริงที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ว่า หลายประเทศทั่วโลกกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ

ในขณะที่อัตราการเกิดและจำนวนประชากรในวัยทำงานลดลง ทว่า ในสังคมคนเอเชีย ยังคงมีค่านิยมในการมีบุตรหลานสืบทอดตระกูล จึงทำให้เทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ เข้ามามีบทบาทกับคู่สามี-ภรรยาในปัจจุบันเพื่อตอบโจทย์ผู้ที่มีบุตรยาก ทำให้ธุรกิจดังกล่าวมีโอกาสเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ  

Genesis Fertility Center (GFC) ถือเป็นธุรกิจ SME อนาคตไกลในแวดวงให้บริการรักษาผู้มีบุตรยาก ที่มองเป็น เห็นโอกาส Bangkok Bank SME จะพามาทำความรู้จักกันในวันนี้



ฝากไข่ คือ การวางแผนเพื่ออนาคต

คุณกรพัส อัจฉริยมานีกูล ซีอีโอของ ‘GFC’ กล่าวว่า คำว่า “ครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ” ประกอบด้วย พ่อ แม่ ลูก เนื่องจากการมีลูกจะเป็นการเติมเต็มความสุขของครอบครัว แต่ต้องยอมรับว่าสังคมในยุคปัจจุบันภาวะการมีบุตรยากเป็นปัญหาที่พบบ่อยที่เกิดขึ้นกับคู่สามี-ภรรยายุคใหม่ทั่วโลก

สาเหตุหลักเกิดจากหลาย ปัจจัย ทั้งไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตประจำวัน ความเครียดจากการทำงาน หรือแม้แต่คู่สามี-ภรรยา แต่งงานและมีบุตรลูกช้าลง จากความไม่พร้อมด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายสำหรับการเลี้ยงดูที่สูง ทำให้ต้องทำงานสร้างฐานะทางครอบครัวก่อน

แต่เมื่อถึงจุดที่มีความพร้อมในช่วงอายุที่มากขึ้น สมรรถภาพการมีบุตรด้วยวิธีธรรมชาติกลับลดลง ปัจจัยเหล่านี้จึงเป็นที่มาของการนำเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ เข้ามาเป็นตัวช่วยหลัก สำหรับการตอบโจทย์ผู้ที่มีบุตรยากและเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการวางแผนเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการมีลูกในอนาคตด้วย ‘บริการรับฝากไข่’  


กรพัส อัจฉริยมานีกูล ซีอีโอของ ‘GFC’

“การฝากไข่ เป็นเหมือนกับการทำประกัน วันนี้ถือเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับผู้หญิง เราทำเป็นทางเลือกให้กับตัวเองในอนาคต บางคนอาจจะยังไม่อยากมีครอบครัว หรือบางคนอยากสร้างฐานะให้มั่นคงก่อน แต่อยากฝากไข่ไว้ เผื่อในอนาคตอยากมีลูก ก็ถือเป็นการวางแผนอนาคตอย่างหนึ่ง ซึ่งเราพยายามจะรณรงค์ในเรื่องนี้”

สำหรับค่าใช้จ่ายบริการฝากไข่ครั้งละประมาณ 150,000 บาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในขั้นตอนการกระตุ้นไข่ และขั้นตอนการเก็บไข่ โดยจะมีค่าฝากไข่เป็นรายปีแยกออกไปอีก

“เทคโนโลยีปัจจุบัน ทำให้เราสามารถเก็บไข่ได้ 10-20 ปี แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาจากอายุของผู้ฝากไข่ด้วยว่า ร่างกายอยู่ในภาวะใด เนื่องจากภาวะร่างกายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แม้จะอายุเท่ากัน ส่งผลให้คุณภาพของความสมบูรณ์ของไข่ต่างกัน บางคนอายุ 30 ปี แต่ไข่เหมือนอายุ 35 ปี ฉะนั้น จึงมองว่าอายุที่เหมาะสมของผู้ที่จะฝากไข่ควรที่อยู่ที่ระดับอายุ 28 ปี หรือยิ่งฝากมาเร็วยิ่งดี”



นำเทคโนโลยี Eeva มาใช้ในกระบวนการรักษาผู้มีบุตรยาก เป็นเจ้าแรกในไทย

GFC ถือเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการให้บริการทางการแพทย์ สำหรับผู้มีปัญหามีบุตรยากด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ของประเทศไทยได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่ให้คำแนะนำและคำปรึกษา ตลอดจนการเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม โดยทีมแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ผู้ชำนาญการที่มีประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์

 และหนึ่งในความพิเศษของการให้บริการผู้มีบุตรยาก ของ ‘GFC’ คือ การนำเทคโนโลยี Early Embryo Viability Assessment (EEVA)เป็นการนำระบบ AI จากประเทศสหรัฐอเมริกามาช่วยประเมินตัวอ่อน ซึ่งเป็นที่แรกในประเทศไทย เข้ามาใช้เป็นการเพิ่มความแม่นยำในกระบวนการตรวจสอบ วิเคราะห์คุณภาพของตัวอ่อนอย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำ เพื่อคอยตรวจดูพัฒนาการของตัวอ่อนที่อยู่ในเครื่องเลี้ยงตลอด 24 ชั่วโมง ว่าตัวอ่อนไหนมีการพัฒนาตามเกณฑ์ที่ AI มีฐานข้อมูลบันทึกอยู่ ซึ่งแพทย์จะนำมาประเมิน เพื่อประกอบการตัดสินใจคัดเลือกตัวอ่อนที่สมบูรณ์ที่สุด

คุณกรพัส ระบุว่า เป้าหมายของ GFC คือการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ที่ดีที่สุด ภายใต้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย และเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน GFC เร่งขยายคลินิก สาขาสุวรรณภูมิ พระราม 9 รวมถึงการลงทุนในสาขาย่อยตามพื้นที่ต่างจังหวัด ที่มีศักยภาพและมีฐานลูกค้าผู้มีบุตรยาก

เพื่อขยายพื้นที่การให้บริการเพิ่มมากขึ้น ควบคู่กับการเพิ่มศูนย์ฝึกอบรม นักเทคนิคการแพทย์ พร้อมเครื่องมือในการทำการวิจัยและพัฒนา (R&D) ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการขยายตัวสำหรับรองรับการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้เข้ารับบริการรักษาภาวะมีบุตรยาก ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติในอนาคต  



บริการครบวงจรสำหรับผู้มีบุตรยาก

คุณกรพัส ระบุว่า ‘GFC’ แบ่งบริการออกเป็น 5 ส่วน ได้แก่ 

บริการที่ 1 ให้บริการตรวจเบื้องต้นก่อนให้คำแนะนำหรือรักษา : โดยให้คำปรึกษาสำหรับผู้ที่ต้องการมีบุตร ทั้งนี้หากคำแนะนำไม่สำเร็จ จะนำเข้าสู่บริการการรักษาตามความเหมาะสมในขั้นตอนต่อไป 

บริการที่ 2 รักษาผู้มีบุตรยากด้วยวิธี IUI (Intrauterine insemination) : การรักษาผู้มีบุตรยากด้วยการทำ IUI เป็นการฉีดเชื้อ ซึ่งขั้นตอนนี้ ทางทีมแพทย์จะเช็คความพร้อมของฝ่ายหญิง โดยมีการกระตุ้นไข่ด้วยการกินยา และเมื่อครบกำหนดฝ่ายชายต้องเข้ามาเก็บอสุจิ จากนั้นจะคัดตัวอ่อนที่แข็งแรงที่สุด ฉีดเข้าไปในโพรงมดลูกฝ่ายหญิง ซึ่งถือเป็นวิธีที่ค่อนข้างจะใกล้เคียงธรรมชาติพอสมควร 

บริการที่ 3 รักษาผู้มีบุตรยากด้วยวิธี ICSI (Intracytoplasmic Sperm Injection) : การทำเด็กหลอดแก้ว ‘อิ๊กซี่’ หรือการฉีดตัวอสุจิเข้าไปในไข่ โดยการคัดไข่ 1 ใบ และอสุจิ 1 ตัว ที่มีความแข็งแรงสมบูรณ์ที่สุด มาผสมกัน ซึ่งจะใช้เข็มเจาะ และฉีดอสุจิเข้าไปที่เนื้อไข่โดยตรง เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิเป็นตัวอ่อน แล้วจึงนำกลับเข้าสู่โพรงมดลูก 

บริการที่ 4  ตรวจพันธุกรรมของตัวอ่อน NGS (Next generation sequencing ) เป็นวิธีการคัดกรองโครโมโซม : การตรวจโครโมโซมก่อนใส่ตัวอ่อนกลับเข้าไปที่โพรงมดลูก โดยจะทำในวันที่ 5 ของการเลี้ยงตัวอ่อน เพราะเป็นช่วงที่ตัวอ่อนมีความพร้อมในการกลับเข้าสู่โพรงมดลูก ซึ่งจะมีการดึงโครโมโซมออกไปตรวจในห้องแลปของ ‘GFC’ เอง เนื่องจากต้องการควบคุมคุณภาพการรักษาให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยการตรวจโครโมโซมยังทำให้ทราบเพศของทารกด้วย

บริการที่ 5 บริการแช่แข็งไข่และการฝากไข่ (Oocyte Freezing)  : การฝากไข่ ฝ่ายหญิงจำเป็นต้องผ่านกระบวนการกระตุ้นให้ร่างกายผลิตไข่ออกมามากกว่าปกติ ซึ่งแต่ละคนอาจได้ผลลัพธ์ออกมาไม่เท่ากัน โดย ‘GFC’ จะพยายามทำให้มีจำนวนไข่นำฝากมากที่สุด อย่างน้อยควรได้รายละ 20 ใบ เนื่องจากจะสูญเสียไข่กว่าครึ่งหนึ่งในขั้นตอนการละลายจากการแช่แข็ง กรณีที่คนไข้บางรายมากระตุ้นครั้งแรก แล้วได้ไข่ 20-30 ใบ จะถือว่ากระตุ้นครั้งเดียวจบ แต่บางราย กระตุ้นแล้วร่างกายผลิตไข่ได้ไม่เพียงพอ ทางทีมแพทย์จะแนะนำให้กลับมากระตุ้นใหม่อีกครั้งเพื่อเก็บไข่เพิ่ม



มุมมองจาก CEO ต่อแนวโน้มธุรกิจรักษาผู้มีบุตรยากในไทย

คุณกรพัส ระบุว่า เอเชียแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่คนต้องการมารักษาภาวะมีบุตรยากมากที่สุด ดังนั้นการที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) สอดรับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ระยะเวลา 10 ปี ถึงปี 2570 ส่งผลให้เปิดโอกาสการพัฒนาศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub) ศูนย์กลางบริการสุขภาพ (Medical Service Hub) ศูนย์กลางบริการวิชาการและงานวิจัย (Academic Hub) และศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Product Hub)

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในเทรนด์การแพทย์สมัยใหม่ จากทีมแพทย์ที่มีความสามารถความเชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นที่ยอมรับด้านการให้บริการของกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติ  ประกอบกับการให้บริการของไทยถูกกว่าเมื่อเทียบกับภูมิภาคอาเซียน

ดังนั้น จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลเชิงบวกต่อธุรกิจการให้บริการสำหรับผู้มีบุตรยากในประเทศไทย ซึ่งเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ของกลุ่มบริษัท “GFC” จากการให้บริการรักษาภาวะมีบุตรยากของกลุ่มลูกค้าในประเทศ รวมถึงชาวต่างชาติในอนาคตเช่นกัน 

“เรามีคนไข้ที่เดินทางเข้ามารักษากับเราเป็นจำนวนมาก แม้ว่าลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นคนไทย แต่เรามองว่าตลาดในประเทศไทยยังมีช่องว่างการเติบโตในธุรกิจให้บริการดังกล่าว ส่งผลให้ GFC โฟกัสกลุ่มคนไข้ ในประเทศเป็นหลัก ส่วนคนไข้ต่างประเทศนั้น หลังจากที่มีการขยายสาขาสุวรรณภูมิ และพระราม 9 จะสามารถรองรับกลุ่มคนไข้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศได้มากขึ้น”

ขณะเดียวกัน ปี 2565 ประเทศไทยมีเด็กเกิดใหม่เพียง 500,000 คน จากที่คาดการณ์ไว้ที่ 700,000 คน นับว่าต่ำสุดในรอบ 3 ปี ซึ่งหากเราแบ่งประชากรออกเป็น 3 ระดับ วัยเด็ก มีประมาณ 16% วัยทำงาน 63% ผู้สูงอายุ 20% หากปล่อยให้อัตราการเกิดน้อยลงต่อเนื่อง จะส่งผลประเทศไทยเริ่มมีปัญหาเรื่องทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศในอนาคตได้ ซึ่งประเทศอื่น ๆ ก็ประสบปัญหานี้ด้วยเช่นกัน  ฉะนั้นธุรกิจการรักษาผู้มีบุตรยาก จึงเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญ รวมถึงมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศด้วย  



ในธุรกิจนี้ Success Rate คือ ข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน

คุณกรพัส กล่าวเพิ่มเติมว่า อุตสาหกรรมนี้จะวัดกันหลัก ๆ ด้วย Success Rate ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ความสำเร็จในการรักษา 

“หากจะดูว่าคลินิกนี้มีคุณภาพแค่ไหน ส่วนใหญ่จะดูกันที่ Success Rate ซึ่งการรักษาผู้มีบุตรยาก ไม่ค่อยเหมือนกับธุรกิจอื่น เพราะเกี่ยวกับธรรมชาติเป็นหลัก ฉะนั้น เงื่อนไขที่เจอจะค่อนข้างแตกต่าง อย่างไรก็ตาม  ต้องขึ้นอยู่กับความสามารถของแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ และเครื่องมือของเราเอง...ว่าพร้อมแค่ไหน” 



‘GFC’ การรวมตัวของผู้เชี่ยวชาญจาก 4 ศาสตร์

บริษัท เจเนซีส เฟอร์ทิลีตี เซ็นเตอร์ จำกัด หรือเรียกย่อ ๆ ว่า GFC ก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มผู้ถือหุ้นที่มีประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญเฉพาะตัวจาก 4 ศาสตร์ ได้แก่ 

1. แพทยศาสตร์ โดย รองศาสตราจารย์ นายแพทย์พิทักษ์ เลาห์เกริกเกียรติ อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสูตินรีเวช-เทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ มีประสบการณ์ในการรักษามากว่า 23 ปี และแพทย์หญิงปรวัน ตั้งธรรม สูตินรีแพทย์ ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีด้านการเจริญพันธุ์

2. วิทยาศาสตร์ โดย คุณปิยดา วิรัตน์พงษ์ นักวิทยาศาสตร์ด้านเทคนิคการแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงตัวอ่อน การทำ ‘อิ๊กซี่’ หรือเด็กหลอดแก้ว (ICSI / Intracytoplasmic Sperm Injection) มีประสบการณ์มากว่า 20 ปี 

3. ศาสตร์การลงทุน โดย นายแพทย์ประมุข วงศ์ธนะเกียรติ สูตินรีแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน

4. ศาตร์การบริหารธุรกิจ โดย คุณกรพัส และ คุณภาสิรี อรวัฒนศรีกุล นักธุรกิจ ผู้เคยเข้ารับการรักษาภาวะการมีบุตรยากมาก่อน ซึ่งสามารถตระหนักถึงปัญหา และเข้าใจ Pain Point ของผู้มีบุตรยากได้เป็นอย่างดี



คุณกรพัส อัจฉริยมานีกูล ซีอีโอของ GFC กล่าวว่า หนึ่งในคุณค่าองค์กรที่สำคัญ คือ GFC ดูแลคนไข้ทุกคนเสมือนคนในครอบครัว และพนักงานของเราทุกคนพร้อมที่จะใส่ใจในทุกรายละเอียด และมุ่งมั่นที่จะสานฝันของทุกครอบครัวให้เป็นจริง

“ผมย้ำเสมอว่า 1 เปอร์เซ็นต์ของคนไข้แต่ละคนมีความสำคัญไม่เท่ากัน คนที่มาหาเรา มีปัญหาเรื่องการมีบุตรยากอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น 1 เปอร์เซ็นต์สำหรับเขา สำคัญมาก ๆ เราต้องเก็บรายละเอียดพวกนี้ให้ได้มากที่สุด” 



Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘LED Farm’ โรงงานผลิตพืชด้วยหลอดไฟ ฟาร์มผักพันธุ์ใหม่ เอาใจคนรักสุขภาพยุคดิจิทัล

‘LED Farm’ โรงงานผลิตพืชด้วยหลอดไฟ ฟาร์มผักพันธุ์ใหม่ เอาใจคนรักสุขภาพยุคดิจิทัล

จากธุรกิจผลิตหลอดไฟ LED ต่อยอดสู่การพัฒนาด้านการผลิตอาหารและนวัตกรรมการแปรรูปสินค้าเกษตรออร์แกนิก แบรนด์ ‘แอลอีดี ฟาร์ม’ (LED Farm) ที่มุ่งสร้างมาตรฐานสินค้าเกษตรคุณภาพ…
pin
153 | 25/04/2024
Transition สู่ Operation Excellence ความมุ่งมั่นพัฒนาระบบการทำงาน สู่ความเป็นเลิศในธุรกิจแป้งทำอาหาร ‘แบรนด์ปลาแฟนซีคาร์ฟ’

Transition สู่ Operation Excellence ความมุ่งมั่นพัฒนาระบบการทำงาน สู่ความเป็นเลิศในธุรกิจแป้งทำอาหาร ‘แบรนด์ปลาแฟนซีคาร์ฟ’

การทำโลกธุรกิจสำหรับ SME ยุคดิจิทัล ต้องมี ‘นวัตกรรม’ เข้ามาเป็นตัวช่วยให้ธุรกิจเติบโต และอยู่รอดท่ามกลางการแข่งขัน เพิ่มขีดความสามารถด้านการพัฒนาสินค้า…
pin
257 | 22/04/2024
จากธุรกิจนำเข้า สู่เจ้าของกรรมสิทธิ์อุปกรณ์ ‘ตู้บริการสื่อสารเอนกประสงค์’ กล่องสมองกลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจร

จากธุรกิจนำเข้า สู่เจ้าของกรรมสิทธิ์อุปกรณ์ ‘ตู้บริการสื่อสารเอนกประสงค์’ กล่องสมองกลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจร

Bangkok Bank SME จะพาไปทำความรู้จักกับธุรกิจในกลุ่มบริษัทโทรคมนาคม (Telco) ที่เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะรู้ว่ารูปแบบของการดำเนินงาน มีภาพรวมของรายละเอียดอย่างไร…
pin
878 | 17/04/2024
‘GFC’ คลินิกให้บริการทางการแพทย์สำหรับผู้มีบุตรยากแบบครบวงจร ธุรกิจ SME โตสวนกระแสสังคมผู้สูงอายุ