Transition สู่ Operation Excellence ความมุ่งมั่นพัฒนาระบบการทำงาน สู่ความเป็นเลิศในธุรกิจแป้งทำอาหาร ‘แบรนด์ปลาแฟนซีคาร์ฟ’

SME in Focus
22/04/2024
รับชมแล้วทั้งหมด 647 คน
Transition สู่ Operation Excellence ความมุ่งมั่นพัฒนาระบบการทำงาน สู่ความเป็นเลิศในธุรกิจแป้งทำอาหาร ‘แบรนด์ปลาแฟนซีคาร์ฟ’
banner

การทำโลกธุรกิจสำหรับ SME ยุคดิจิทัล ต้องมี ‘นวัตกรรม’ เข้ามาเป็นตัวช่วยให้ธุรกิจเติบโต และอยู่รอดท่ามกลางการแข่งขัน เพิ่มขีดความสามารถด้านการพัฒนาสินค้า บริการ และช่องทางการขายใหม่ ๆ ให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ตรงจุด และสร้างความแตกต่างในตลาด เช่นเดียวกับผู้บริหารคนเก่ง ทายาทธุรกิจรุ่นสองของธุรกิจครอบครัวที่ก่อตั้งมานานกว่า 35 ปี อย่าง คุณลัดดาวัลย์ เจริญหิรัญศิลป์ ผู้จัดการฝ่ายแผนงานและกลยุทธ์ บริษัท เจริญวรกิจ จำกัด ที่เรานำกลยุทธ์และแนวคิดการบริหารธุรกิจให้ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม มาให้ติดตามกันในบทความนี้


คุณลัดดาวัลย์ เจริญหิรัญศิลป์ ผู้จัดการฝ่ายแผนงานและกลยุทธ์ บริษัท เจริญวรกิจ จำกัด


จุดเริ่มต้นธุรกิจผลิตแป้ง "แบรนด์ปลาแฟนซีคาร์ฟ"


คุณลัดดาวัลย์ กล่าวว่า เริ่มต้นจากธุรกิจครอบครัว มีโรงงานขนาดเล็กที่มีพนักงานเพียงไม่กี่คน จำหน่ายวัตถุดิบแปรรูปทางการเกษตร สินค้าหลัก คือแป้งมันสำปะหลัง แป้งข้าวเหนียว แป้งข้าวเจ้า แป้งท้าว และแบะแซ เป็นเจ้าแรกในตลาดที่นำแบะแซมาบรรจุในถุงจำหน่าย


“เราเป็นทายาทรุ่นสอง ที่รับช่วงต่อจากคุณพ่อ - คุณแม่ สินค้าที่ลูกค้ารู้จักดีจะเป็นกลุ่มแป้งข้าวเหนียวดำกับแบะแซ ที่ได้รับการยอมรับอันดับหนึ่งในตลาด นอกจากนี้ยังรับผลิต (OEM) ให้ลูกค้าเพื่อส่งออก บางรายไว้วางใจให้บริษัทผลิตสินค้ามายาวนานต่อเนื่องมากกว่า 30 ปี เราไม่ได้เป็นธุรกิจที่ใหญ่ แต่เป็น SME ที่กำลังปรับฐานโครงสร้างการทำงานของธุรกิจครอบครัวให้ค่อย ๆ เติบโตขึ้น”



‘แป้ง’ แตกต่างกันอย่างไร


เชื่อว่าหลายคนสงสัยเหมือนกัน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ หรือคนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับธุรกิจขนม มักจะแยกประเภทของแป้งไม่ได้ว่า แต่ละตัวแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งเราก็จะอธิบายว่า ถ้าเป็นแป้งข้าวเหนียว เวลานำไปผสมน้ำจะมีคุณสมบัติเกาะตัวเป็นก้อน ให้ความเหนียว นุ่ม นึกถึงเวลาเรากินขนมต้ม หรือบัวลอยที่เวลากัดจะเหนียว ๆ หนึบ ๆ ส่วนแป้งข้าวเจ้า จะค่อนข้างร่วน นิยมใช้ทำขนมดอกจอก ขนมขี้หนู ที่มีความร่วนซุย ส่วนแป้งมัน แป้งท้าวยายม่อม จะใส่เพื่อเพิ่มความหนืด แต่ไม่เท่าแป้งข้าวเหนียว แป้ง มีค่อนข้างหลากหลายประเภท แต่ละตัวจะมีคุณสมบัติเฉพาะ ขึ้นอยู่กับการใช้งาน ส่วนแบะแซ จะใช้ทำนมหนืด ที่ช่วงหนึ่งลูกค้านิยมมาก



นอกจากนั้นจะเป็นลูกค้า B2B บริษัทรายใหญ่ที่ซื้อไปทำขนมหวาน หรือกวนไส้ขนม เช่น ขนมเปี๊ยะ ช่วยให้ถั่วเหลืองที่นำมาทำไส้ เนียน ละเอียดขึ้น ถ้าไม่ใส่ ไส้ขนมเปี๊ยะจะไม่ค่อยเกาะตัว ส่วนแบะแซ มีรสหวานแต่ไม่เหมือนน้ำตาลทราย เป็นการนำแป้งมันมาผ่านกระบวนการเคี่ยว ลักษณะเหมือนน้ำเชื่อมแบบหนืดเหมือนคาราเมล ในตลาดปัจจุบันมีแบบผงด้วย อยู่ที่ว่าผู้ผลิตจะนำไปผ่านกระบวนการหรือกรรมวิธีแบบไหนให้เหมาะกับการใช้งานของลูกค้า




ธุรกิจเราจะเป็นคนกลางที่มีความสัมพันธ์กับโรงงานผลิตสินค้าแต่ละชนิด การผลิตของสินค้าแต่ละชนิดจึงมีกระบวนการไม่เหมือนกันเลย อย่างแบะแซกระบวนการผลิตเป็นการนำแป้งมันไปเข้าสู่กระบวนการย่อยให้ได้น้ำตาล โดยมีการกำหนด Spec สินค้าเพื่อให้เหมาะสมสำหรับการทำอาหาร มีความเหนียวใสที่ถูกใจผู้ใช้งาน ซึ่งโรงงานแต่ละประเภทก็จะมีวิธีการผลิต และตรวจสอบ QC คนละแบบ รายที่ผลิตแป้งมันก็จะเป็นโรงงานโม่ แยกกากจากหัวมันเพื่อให้ได้แป้งมันออกมา รายที่เป็นแป้งจากข้าวก็จะมีขั้นตอนการผลิตอีกรูปแบบหนึ่ง โดยเราจะเป็นผู้ที่ตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ทั้งหมด


เมื่อก่อนทางซัพพลายเออร์ ทำแบบไหนได้เขาก็เอามาขาย แต่ถ้าโรงงานเขาคิดสูตรที่ลงตัว ลูกค้าใช้สูตรนี้แล้วชอบ สั่งซื้อเป็นประจำ เราจะไปล็อคสเป็คกับโรงงานให้ผลิตแบบนี้ ช่วยให้ลูกค้าทำขนมได้ในมาตรฐานที่กำหนดไว้ เขาจะได้สูตรคงที่ เป็นหนึ่งในการบริหารจัดการของเราที่ทำให้กับลูกค้าได้วัตถุดิบที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น


Transition สู่ Operation Excellence


จากธุรกิจเล็ก ๆ ของคุณพ่อ - คุณแม่ ทำให้บริษัทไม่มีการเซ็ตระบบโครงสร้างการทำงานเท่าที่ควร เอกสารทุกอย่างยังใช้เป็นกระดาษและเขียนรายละเอียดต่าง ๆ ด้วยมือ แต่ด้วยความสามารถในการผลิตสินค้าจากความถนัด และทำตลาดอย่างถูกจังหวะ ทำให้ บริษัท เจริญวรกิจ จำกัด เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ในฐานะ ‘ทายาทธุรกิจ’ ที่เข้ามารับช่วงต่อ จึงเกิดความคิดว่าหากปล่อยให้ทุกอย่างเป็น Manual และไม่มีการจัดประเภทงาน วางระบบพื้นฐานให้ดี ทำทุกอย่างแบบเป็นก้อนเดียวกัน คงไม่ได้แล้ว


“เมื่อไม่มีระบบ ทำให้การดำเนินงานมีข้อจำกัดหลายอย่าง เราจึงเริ่มจากแบ่งหมวดหมู่การทำงาน เป็นฝ่ายตามหน้าที่ให้ชัดเจน ช่วงแรกค่อนข้างยากเพราะต้องอาศัยเวลา ค่อย ๆ เข้าไปปรับเปลี่ยน เมื่อก่อนไม่มีการประชุมพนักงาน วันหนึ่งถ้าจะให้ทุกคนเข้าประชุม มาช่วยเสนอไอเดียร่วมกัน ต้องให้ทุกคนมีเวลาปรับตัวพอสมควร สิ่งสำคัญไม่ใช่แค่เราบอกเขาว่าต้องทำ แต่ต้องให้ความรู้ว่าทำแล้วได้อะไร เป็นพี่เลี้ยงที่ซัพพอร์ตให้พนักงานมีความพร้อมรับการเติบโตไปกับเรา จัดโครงสร้างองค์กรให้เข้าที่เข้าทาง



ธุรกิจ SME สู่ Digitization (ดิจิไทเซชั่น)


Digitization หรือกระบวนการแปลงข้อมูลไปสู่รูปแบบดิจิทัล เพื่อสร้างคุณค่าใหม่ ๆ สำหรับธุรกิจ มาจากคุณลัดดาวัลย์ เป็นผู้บริหารที่ชอบการพัฒนาทุกอย่างตลอดเวลา เช่น เปลี่ยนวิธีเปิดบิลจากการเขียนมือ ซึ่งเป็นปัญหาที่พนักงานรุ่นเก่ายังคงคุ้นชินและเลือกจะทำงานแบบเดิม ให้มาใช้โปรแกรมบัญชี Peak ที่เป็นตัวช่วยให้เกิดความสะดวกและคล่องตัวในการจัดการเอกสารซื้อ-ขายของกิจการมากยิ่งขึ้น


“เราให้ลูกน้องมาทดลองทำเอกสารในโปรแกรม ช่วงแรกมีกระแสต่อต้านเหมือนกัน แต่เราอธิบายว่า ธุรกิจเติบโตขึ้น หากต้องเขียนเอกสาร 80 - 100 แผ่นต่อวัน คงเป็นไปไม่ได้ ต้องมีระบบเข้ามาช่วยจะทุ่นเวลาการทำงาน ทุกวันนี้เราทำได้แล้ว”


อีกหนึ่งโปรแกรมที่เราปรับใช้ คือเรื่องการบริหารทรัพยากรบุคคล Empeo เป็นโปรแกรม HRM บริหารบุคคลแบบอัตโนมัติ รวมถึงการจ่ายเงินเดือนพนักงาน จากเดิมเราเห็นฝ่ายบุคคลนำเงินมานับใส่ทีละซอง ซึ่งมีโอกาสผิดพลาดสูง เราหาโปรแกรมมาทดลองปรับใช้ ข้อดีคือเรามีข้อมูลให้ฝ่ายบุคคลทำงานง่าย ดูย้อนหลังได้ว่าใครขาดลามาสาย จะมีประวัติหมดและยังสรุปผลลัพธ์ออกมาได้ด้วย


ปัญหาของการทำธุรกิจมีเยอะมาก แต่ด้วยความเคยชิน จึงทำให้บางครั้งพนักงานอาจไม่รู้สึกถึงปัญหา แต่สำหรับเราจะรู้ว่า อันไหนบ้างที่เป็นปัญหา ต้องได้รับการแก้ไข เรื่องโปรแกรมอัตโนมัติจะตอบโจทย์ได้มาก ถ้าคุณรู้ว่าปัญหาของคุณคืออะไร และหาโปรแกรมที่ใช่ให้เจอ


ความยากของการใช้โปรแกรม คือต้องทำความเข้าใจให้ได้มากที่สุด ต้องหาความรู้ว่าโปรแกรมที่ออกแบบมาใช้งานแบบไหน ตัวเราเองต้องรู้ก่อน และต้องถ่ายทอดให้พนักงานเข้าใจ เรียนรู้การใช้โปรแกรมให้ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ถ้ามีข้อสงสัย เราจะติดต่อไปที่ผู้ดูแล ซึ่งเขามีเจ้าหน้าที่คอยตอบคำถาม หรือส่งทีมงานเข้ามาช่วยดูให้ ยิ่งรู้เร็วเท่าไหร่ ขั้นตอนอิมพลีเมนต์ก็มีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น



อีกหนึ่งปัจจัยที่จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงได้ คือวัฒนธรรมองค์กร อยู่ที่มายด์เซ็ต แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องค่อย ๆ ปรับเปลี่ยน ถ้าเราเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือเลย จะเกิดการช็อค เพราะแม้จะเป็นเรื่องที่คิดว่าง่าย แต่สำหรับบางคนอาจกลายเป็นเรื่องยากทันทีก็ได้ ถ้าเรื่องนั้นเป็นเรื่องใหม่สำหรับพนักงานเรา การให้เขาปรับตัวคือเราจะมีเป้าหมายว่า วันนี้เราคุยกับเขา ทำความเข้าใจ ค่อย ๆ ป้อนข้อมูล จาก 100% พนักงานเรารับได้เท่าไหร ให้โจทย์เขากลับไปทำและมีรายงานกลับมาให้เรา ไม่ใช่แค่ให้เขาเข้ามาฟังแต่ไม่มีความเข้าใจ ค่อย ๆ Transition องค์กร ซึ่งเรามองว่าวิธีแบบนี้เห็นผลดีมากกว่า ได้เห็นถึงการพัฒนาการ ประเมินผล วัดผลได้ว่าพนักงานเรามีความเข้าใจในการใช้โปรแกรมอัตโนมัติได้อย่างแท้จริงหรือไม่




ทุกอย่างที่เปลี่ยนแปลง คือความท้าทาย


ถ้าเรื่องนี้จบแล้ว เราจะหาเรื่องใหม่ไปเรื่อย ๆ ไม่หยุดพัฒนา มีหนึ่งตัวอย่างที่เราเข้ามาปรับธุรกิจแล้วเห็นผลได้ชัด คือเรื่องบรรจุภัณฑ์ ย้อนไป 10 ปีที่แล้ว สินค้าที่เป็นถุงแป้งจะอยู่ในพลาสติก และมีผงแป้งติด ทำให้ต้องคอยปัดออกหรือไม่อยากจับถุงเพราะเปื้อนมือ เนื่องด้วยเราเป็นธุรกิจครอบครัว ต้องผ่านการเห็นชอบก่อน จึงเสนอไอเดียกับคุณพ่อ – คุณแม่ ว่าอยากให้สินค้าน่าใช้ ดูสะอาดตา เหมาะกับคนรุ่นใหม่ ขอทำ Branding และเปลี่ยนแพ็คเกจจิ้งใหม่ ซึ่งครั้งนั้นใช้เงินลงทุนพอสมควร ในการเปลี่ยนทั้งเรื่องภาพลักษณ์ วัสดุของถุงที่นอกจากสวยงาม ยังทำให้คุณภาพสินค้าเก็บได้นานขึ้น แม้ว่าการสร้างแบรนด์จะเห็นผลช้า เพราะลูกค้ายังจำเราไม่ได้ แต่ผ่านไปสักพัก ลูกค้ารีวิวสินค้าเราในเชิงบวก บางคนบอกว่าแป้งของเราสื่อให้เห็นถึงสินค้าของคนรักสุขภาพ ตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มที่นำแป้งไปทำขนม



ความยากของไอเดียนี้ คือรุ่นคุณพ่อคุณแม่ทำธุรกิจแบบดั้งเดิม จึงมีความคิดแบบคนรุ่นเก่าว่าแป้งที่ใส่ถุงแบบเดิมก็ขายได้อยู่แล้ว เพราะช่องทางหลักจะเป็นร้านยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ในตลาดไม่ได้ซีเรียส ทำไมจึงต้องทุ่มเงินเพื่อเปลี่ยน แต่พอทุกอย่างทำเสร็จแล้ว เราทำให้เห็นว่ามันเพิ่ม Value ถึงแม้ช่องทางเดิมจะขายได้อยู่แล้ว แต่คงดีกว่าถ้าสินค้าได้เพิ่มช่องทางเข้าถึงผู้บริโภคที่เป็น End User เข้าถึงแบรนด์ เห็นและจดจำได้ว่าแบรนด์เราเป็นสินค้าที่ดี มีคุณภาพ บรรจุภัณฑ์ดูดี เป็นภาพลักษณ์ที่ดี ทำให้เราได้ลูกค้าจากออนไลน์เพิ่มขึ้น



ช่องทางออนไลน์ เริ่มจากทำเว็บไซต์ขึ้นมาก่อน และค่อย ๆ เพิ่มช่องทางขายใน Shopee Lazada เป้าหมายการเข้าไปในออนไลน์ เราโฟกัสที่การให้ข้อมูลลูกค้า ได้สื่อสารกันสะดวก มีช่องทางติดต่อที่เป็นเหมือนการให้บริการหลังการขาย ทำให้เราได้ลูกค้าที่ไม่ใช่แค่ End User ที่มาซื้อเรา แต่ได้ลูกค้าที่เป็นบริษัท ที่ End User เขาซื้อแล้วบอกต่อกัน เป็นช่องทางเล็ก ๆ ที่บางคนมองข้าม บางคนวิ่งไปหา B2B แต่ทุกวันนี้ ฝ่ายจัดซื้อก็อยู่ในนี้เกือบหมด เราได้พูดคุยกันผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ต่อยอดการขาย และยังทำให้เข้าถึงความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น

เมื่อก่อนลูกค้าคงไม่คิดว่าแป้งทำขนม จะมาขายออนไลน์ได้เพราะน้ำหนักเยอะ ส่วนใหญ่ไปตลาด ตามห้างฯ สะดวกกว่า แต่เราลงขาย และมีคนมาแชร์ว่ามีแป้งใน Shopee แล้ว หลังจากนั้นเริ่มมีคนเอามาขายตามกันเต็มไปหมด หลายคนรู้จักเราจากช่วงโควิดที่ออนไลน์เติบโต ส่วนเรื่องส่งออก จะเป็นการทำ OEM ให้ลูกค้า ซึ่งเราจะไม่ทำแข่งกับลูกค้าของตัวเอง ในอนาคตยังมีเรื่องอื่นที่เรายังอยากทำอีกเยอะ วางแผนเอาไว้แล้ว เป็นความท้าทายในการทำธุรกิจของเรา




เปลี่ยน ‘แป้ง’ เป็น ‘ปัง’


จุดแข็งของธุรกิจ เรามองว่าคือความใส่ใจกับลูกค้า และเรื่องการบริการ ซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานที่คนทำธุรกิจต้องมี การบริการที่ดีและแก้ปัญหาลูกค้าได้อย่างรวดเร็วจะสร้างความประทับใจ ทำให้ลูกค้าซื้อขายกับเราได้ในระยะยาว



คุณลัดดาวัลย์ ทิ้งท้ายว่า การเติบโตของ SME ที่อยากเปลี่ยนสู่ Digitization ไม่ใช่เรื่องง่าย อย่าเพิ่งคิดว่าการนำระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ จะได้ผลดีหมดทุกอย่าง


“เราผ่านจุดที่ยอมลงทุนกับโปรแกรมต่าง ๆ เยอะมาก แต่ถ้าคนของคุณไม่พร้อม ระบบไม่เหมาะกับองค์กรก็เสียเปล่า การปรับใช้ขึ้นอยู่กับว่าเรามีปัญหาอะไร แล้วหาโปรแกรมที่ตอบโจทย์ได้มาทดลองใช้สักระยะ ถ้าเวิร์คก็ใช้ต่อ ถ้าไม่ใช่ก็เปลี่ยน อย่าใจร้อนไปลงทุนกับระบบ คุณยอมจ่ายเป็นล้าน แต่ถ้าใช้ไม่ได้ ก็ไม่มีประโยชน์”



รู้จัก บริษัท เจริญวรกิจ จำกัด เพิ่มเติมได้ที่ :

https://missflour.com/



Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ชูนวัตกรรม ขับเคลื่อน-ยกระดับ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้สู่ความยั่งยืน ด้วย Automation กลยุทธ์สู่ Smart Factory ระดับรางวัล The Prime Minister's Industry Award 2023 ของ 'ศรีวัฒนา วู้ดดิ้ง อินดัสทรีส์'

ชูนวัตกรรม ขับเคลื่อน-ยกระดับ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้สู่ความยั่งยืน ด้วย Automation กลยุทธ์สู่ Smart Factory ระดับรางวัล The Prime Minister's Industry Award 2023 ของ 'ศรีวัฒนา วู้ดดิ้ง อินดัสทรีส์'

การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วจากการรุกคืบของเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอ และส่งผลให้ผู้บริโภคมีความต้องการที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา นำมาสู่การพัฒนา…
pin
372 | 30/04/2024
Business Model ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และ โซล่าร์เซลล์มุ่งเน้นสร้าง "ธุรกิจยั่งยืน" ทำกำไร พร้อมสนับสนุนชุมชน-สังคม-สิ่งแวดล้อม

Business Model ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และ โซล่าร์เซลล์มุ่งเน้นสร้าง "ธุรกิจยั่งยืน" ทำกำไร พร้อมสนับสนุนชุมชน-สังคม-สิ่งแวดล้อม

ภาพรวมตลาดสินค้า อะไหล่ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและโซล่าร์เซลล์มีแนวโน้มเติบโตสูง คาดการณ์ว่าจะเติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี จากปี 2566…
pin
359 | 29/04/2024
‘LED Farm’ โรงงานผลิตพืชด้วยหลอดไฟ ฟาร์มผักพันธุ์ใหม่ เอาใจคนรักสุขภาพยุคดิจิทัล

‘LED Farm’ โรงงานผลิตพืชด้วยหลอดไฟ ฟาร์มผักพันธุ์ใหม่ เอาใจคนรักสุขภาพยุคดิจิทัล

จากธุรกิจผลิตหลอดไฟ LED ต่อยอดสู่การพัฒนาด้านการผลิตอาหารและนวัตกรรมการแปรรูปสินค้าเกษตรออร์แกนิก แบรนด์ ‘แอลอีดี ฟาร์ม’ (LED Farm) ที่มุ่งสร้างมาตรฐานสินค้าเกษตรคุณภาพ…
pin
705 | 25/04/2024
Transition สู่ Operation Excellence ความมุ่งมั่นพัฒนาระบบการทำงาน สู่ความเป็นเลิศในธุรกิจแป้งทำอาหาร ‘แบรนด์ปลาแฟนซีคาร์ฟ’