เปลี่ยนปัญหา ขยะแฟชั่น ด้วยโมเดล ‘BCG’ ทางออก ‘อุตสาหกรรม Fast Fashion’ สู่ความยั่งยืน

SME Update
10/12/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 5936 คน
เปลี่ยนปัญหา ขยะแฟชั่น ด้วยโมเดล ‘BCG’ ทางออก ‘อุตสาหกรรม Fast Fashion’ สู่ความยั่งยืน
banner
ธุรกิจและอุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้าเติบโตอย่างรวดเร็ว การผลิตจำนวนมากในภาคอุตสาหกรรมทำให้ต้นทุนลดลงหลายเท่า เสื้อผ้าจึงหมุนเวียนเปลี่ยนคอลเลคชันไปอย่างรวดเร็วเพื่อตอบสนองความพึงพอใจของผู้บริโภค

ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้เกิด อุตสาหกรรม Fast Fashion ที่ส่งผลกระทบมหาศาลต่อโลกและสิ่งแวดล้อม โมเดล ‘BCG’ จึงเป็นทางออก ‘อุตสาหกรรม Fast Fashion’ ในอนาคตที่จะตอบโจทย์ผู้บริโภคและผู้ประกอบการในการสร้างความยั่งยืน (Sustainability) ที่แท้จริงให้เกิดขึ้นได้


 
Fast Fashion คืออะไร?

เสื้อผ้าที่เน้นสวมใส่เพียงไม่กี่ครั้งตามกระแสนิยม โดยมีกระบวนการผลิตที่รวดเร็ว ใช้ต้นทุนต่ำทั้งในส่วนของวัตถุดิบในการผลิตและแรงงาน เพื่อให้เสื้อผ้ามีราคาไม่แพง เข้าถึงได้ง่าย เป็นแฟชั่นวงจรสั้น ๆ เปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อย ๆ เน้นการขายปริมาณมากในเวลาอันรวดเร็ว



Fast Fashion ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร

อุตสาหกรรม Fast Fashion เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสร้างยอดขายให้อุตสาหกรรมเสื้อผ้ายุคนี้ได้อย่างมหาศาล ขณะที่เสื้อผ้าจะสวมใส่แค่ไม่กี่ครั้งแล้วถูกทิ้งไปอย่างรวดเร็ว เพื่อจะได้ตามแฟชั่นคอลเลคชันใหม่ที่อินเทรนด์กว่าอย่างรวดเร็วนั่นเอง
   
ด้วยเหตุนี้เองทำให้อุตสาหกรรม Fast Fashion เป็นตัวการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมามากกว่า 1.2 พันล้านตันต่อปี หรือคิดเป็นสัดส่วนถึงประมาณ 8 - 10 % ของอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลก ซึ่งเป็นตัวเลขการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มากกว่าอุตสาหกรรมการเดินเรือและการบินเสียอีก

เท่านั้นยังไม่พอ อุตสาหกรรมดังกล่าว ยังใช้น้ำจำนวนมหาศาลในกระบวนการผลิต และเป็นตัวการปล่อยน้ำเสียและมลพิษมากมายเกือบ 20 % ของปริมาณน้ำเสียทั่วโลกออกสู่สิ่งแวดล้อมอีกด้วย



แฟชั่นหมุนเวียน คือทางออกวิกฤต Fast Fashion

ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแฟชั่นจำนวนไม่น้อย ที่พยายามหันมาเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความยั่งยืน (Sustainability) ให้กับธุรกิจ จึงเกิดเป็นกระแส Eco Fashion หรือ Sustainable Fashion

ปัญหาส่วนใหญ่เริ่มจากความต้องการของผู้บริโภค ทางออกของปัญหาก็น่าจะเริ่มต้นจากผู้บริโภคเช่นกัน เพราะความไม่สมดุลกันระหว่างความต้องการซื้อและการใช้งานจริง ก่อให้เกิดขยะเสื้อผ้ามากมาย

แนวทางการบรรเทาปัญหาด้วยแฟชั่นแบบหมุนเวียน เป็นหนึ่งในแนวคิด ‘เศรษฐกิจหมุนเวียน’ อันเป็นส่วนหนึ่งของ โมเดล BCG เช่น การนำเอาวัสดุรีไซเคิลมาทำเป็นเสื้อผ้าใหม่ หรือการให้เช่าและขายเป็นเสื้อผ้ามือสอง ถือเป็นอีกทางเลือกที่เราสามารถเอาสินค้าเดิมมาหมุนเวียนใช้ซ้ำและแลกเปลี่ยนกันได้ ช่วยลดขยะแฟชั่นได้ไม่น้อย

ทั้งนี้ จากข้อมูลที่น่าสนใจของบริษัท Thredup ซึ่งเป็นร้านค้าออนไลน์มือสองขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ได้คาดการณ์ว่า อีก 10 ปี ข้างหน้า มูลค่าตลาดของเสื้อผ้ามือสองจะมีมูลค่าสูงกว่า Fast Fashion มากถึง 2 เท่า

เนื่องจากเทรนด์การบริโภคที่มีแนวโน้มเปลี่ยนไป ทั้งจากปัญหา Fast Fashion รวมไปถึงการที่คนรุ่นใหม่ ๆ เริ่มตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม สนใจแฟชั่นแบบหมุนเวียนมากขึ้น ซึ่งแนวโน้มของผู้บริโภคเปิดใจต่อการซื้อเสื้อผ้ามือสองเพิ่มมากขึ้นในทุก ๆ ปี  จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ที่สนใจธุรกิจเสื้อผ้ามือสอง ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมาก



ทางออก อุตสาหกรรม Fast Fashion จะไปสู่ความยั่งยืนได้อย่างไร?

ปัจจุบันเจ้าของธุรกิจแบรนด์แฟชั่นหลาย ๆ แบรนด์ หันมาให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อโลกมากขึ้น โดยเฉพาะเจ้าของแบรนด์แฟชั่นชั้นนำ ที่ล่าสุดได้ร่วมลงนามในกฎบัตรด้านอุตสาหกรรมแฟชั่น (Fashion Industry Charter for Climate Action) ของสหประชาชาติ ได้ถูกกำหนดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาของอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และตั้งเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแฟชั่นให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 หรือ ปี พ.ศ. 2593

โดยผู้ลงนามตั้งเป้าที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดซัพพลายเชนลง 30 % ภายในปี ค.ศ. 2030 หรือ ปี พ.ศ. 2573 ซึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมา เริ่มเห็นแบรนด์เสื้อผ้า หันมาเปลี่ยนกระบวนการผลิตเสื้อผ้าให้เข้าใกล้กับ ความยั่งยืน (Sustainability)  มากขึ้น เช่น การใช้ใยผ้าที่ทำมาจากวัสดุรีไซเคิล 100% รวมทั้งวัสดุออแกนิกส์



ตัวอย่างธุรกิจแฟชั่นที่ใช้แนวคิด BCG โมเดล 

รู้หรือไม่ ? ฟุตบอลโลก 2022 เสื้อนักกีฬาทำมาจากขยะพลาสติกริมชายหาด หนึ่งในบริษัทที่น่าสนใจ ในการนำแนวทาง Circular Fashion แฟชั่นหมุนเวียน คือ การนำขยะพลาสติกหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งในปัจจุบันมีหลายแบรนด์เริ่มนำโมเดล BCG มาใช้ เช่น เสื้อนักกีฬา ‘ฟุตบอลโลก 2022’  ของ Adidas ที่ใช้ในการแข่งขัน FIFA World Cup 2022 ทำมาจากขยะพลาสติกที่เก็บจากท้องทะเลและเกาะต่าง ๆ บริเวณชายหาด และพื้นที่ชุมชนตามแนวชายฝั่งถึง 50 % เลยทีเดียว โดย Adidas ได้ผลิตให้กับ 5 ทีมชาติ ได้แก่ อาร์เจนตินา เยอรมนี ญี่ปุ่น เม็กซิโกและสเปน

สำหรับขยะเหล่านี้ได้มาจากโครงการ Parley Ocean Plastic ที่ Adidas ร่วมกับองค์ Parley ก่อตั้งขึ้น เพื่อไม่ให้ขยะพลาสติกเป็นมลพิษในทะเล จึงนำมาใช้ประโยชน์แทน หลักในการรีไซเคิลคือ ผ้า Polyester เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตชุดแข่งกีฬารวมไปถึงชุดแข่งฟุตบอล

โดยผ้า Polyester นั้นสร้างจาก Polyethylene Terephthalate หรือ PET ซึ่ง PET ยังเป็นวัตถุดิบหลักของการผลิตขวดพลาสติกบรรจุเครื่องดื่มหรืออาหารต่าง ๆ ดังนั้นจึงทำให้ขวดพลาสติก หรือสิ่งต่าง ๆ ที่ทำจาก PET จะมีคุณภาพสูงในการนำมารีไซเคิลเป็นเส้นใย Polyester กระบวนการผลิต คือ รวบรวมขยะเหล่านี้มารีไซเคิล โดยการทำความสะอาดและแบ่งประเภท หลังจากนั้นหั่นหรือบดให้กลายเป็นชิ้นเล็ก ๆ และเข้ากระบวนการหลอมขึ้นมาใหม่ เพื่อถักขึ้นมาเป็นเส้นใย Polyester 

ซึ่งในการผลิตชุดกีฬาจะนำขวดพลาสติกมาเข้ากระบวนการรีไซเคิลเป็นเส้นใย Polyester เช่น ในชุดแข่ง 1 ชุด ใช้ขวดพลาสติกรีไซเคิล 18 ขวดในการผลิตโดยชุดทั้งหมดของ Adidas ผลิตโดยใช้ โพลีเอสเตอร์รีไซเคิล 100% โดยยังคงคอนเซ็ปต์ที่จะทำให้นักฟุตบอล สามารถโชว์ศักยภาพออกมาได้เต็มที่ ด้วยคุณสมบัติ ใส่สบาย น้ำหนักเบา ใช้เทคโนโลยีทำให้นักฟุตบอลรู้สึกเย็นสบายเวลาสวมใส่

นอกจากจะได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ แล้ว การรีไซเคิลขวดพลาสติกยังมีส่วนช่วยในการประหยัดพลังงานได้ เนื่องจากขวดพลาสติกทำมาจากน้ำมันดิบ เมื่อมีการรีไซเคิลขวดพลาสติก 1 ตัน จึงมีส่วนช่วยลดการใช้น้ำมันได้ 3.8 บาร์เรล หรือคิดเป็น 159.11 ลิตร และช่วยประหยัดพื้นที่ในการฝังกลบขยะได้

คุณสมบัติเหล่านี้ ทำให้ขวดพลาสติก PET เข้าไปมีบทบาทในเทรนด์การทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืน (sustainability) ขององค์กรต่าง ๆ และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างผลิตภัณฑ์จากขวดพลาสติกจากหลายแบรนด์



อีกหนึ่งตัวอย่างธุรกิจ ที่นำแนวทาง Circular Fashion แฟชั่นหมุนเวียนมาใช้ คือ ‘บริษัท วาวา แพค จำกัด’ ธุรกิจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพลาสติก และเส้นใยต่าง ๆ จึงมีแนวคิด ‘Upcycle’  โดยการนำขยะเหลือทิ้งที่เกิดจากกระบวนการผลิตที่จะมีเศษผ้า เศษกระสอบพลาสติกเหลือทิ้งมากมาย นำมาเย็บเป็นกระเป๋ารักษ์โลก สไตล์ทันสมัย โดนใจวัยรุ่น  

นอกจากเป็นการลดขยะ (Waste) พลาสติก เศษผ้า ถุงพลาสติกเหลือทิ้งในโรงงาน ประโยชน์อีกอย่างหนึ่ง คือจะมีคนในชุมชนละแวกโรงงานที่ต้องการทำงานที่บ้าน สามารถนำถุงกระสอบไปเย็บเป็นกระเป๋าที่บ้านได้ เป็นการสร้างงานให้ชุมชนใกล้เคียงด้วย ที่สำคัญ คือทำให้โรงงาน ไม่มีขยะหรือของเสียที่เหลือทิ้งไปอย่างเปล่าประโยชน์



สายช้อป ช่วยโลกพ้นจาก Fast Fashion ได้อย่างไร

เราทุกคนสามารถช่วยกัน Slow Down Fast Fashion โดยลดการซื้อและเน้นเสื้อผ้าที่มีคุณภาพ อาจจะเลือกแบบหรือโทนสีพื้น ๆ สไตล์ Minimal ที่สามารถนำมาใส่ซ้ำได้ไม่เบื่อ โดยมีเคล็ดลับที่ทำง่ายดังนี้ เช่น นำเสื้อผ้ามาใส่ซ้ำ ใช้บริการร้านเช่าชุด ซื้อเสื้อผ้ามือสอง สนับสนุนแบรนด์ Eco-Friendly เป็นต้น

ดังนั้น แฟชั่นหมุนเวียน น่าจะเป็นทางออกที่ดีของผู้บริโภค รวมไปถึงการปรับแนวคิดและทัศนคติการเลือกซื้อเสื้อผ้า ว่าจุดไหนถึงจะพอดี ที่ตอบสนองความต้องการได้ และสามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กันได้

สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ความยั่งยืน (Sustainability) จะกลายเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการทั่วโลกต้องให้ความสำคัญ การเปลี่ยนจาก Fast Fashion มาเป็น Eco Fashion อาจจะเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก ซึ่งปัจจุบันแบรนด์ไทยหลายๆ แบรนด์ เริ่มหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน ดังนั้น การบริโภคแบบใช้ซ้ำ รวมไปถึงกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม น่าจะเป็นจุดสมดุลของการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม ท่ามกลางสังคมบริโภคได้เป็นอย่างดี 


ที่มา 
https://www.greennetworkthailand.com/fast-fashion-to-sustainable-fashion/
https://techsauce.co/saucy-thoughts/what-is-fast-fashion-and-how-dangerous-it-is
https://www.topnews.co.th/news/498867
https://www.bangkokbanksme.com/en/bigbag-vavapack
https://www.thaitextile.org/th/insign/detail.1564.1.0.html
https://shorturl.asia/80Hxr

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘TikTok For All’ Update เทรนด์ใหม่ปี 2024 พร้อมกลยุทธ์เพิ่มโอกาส SME ไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

‘TikTok For All’ Update เทรนด์ใหม่ปี 2024 พร้อมกลยุทธ์เพิ่มโอกาส SME ไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

TikTok ตอกย้ำการเป็นแพลตฟอร์มเอนเตอร์เทนเมนต์ที่น่าเชื่อถือสำหรับทุกคน ทั้งครีเอเตอร์ คอมมูนิตี้ผู้ใช้งาน และธุรกิจทุกขนาดในไทย ด้วยการเปิดตัว…
pin
1323 | 14/02/2024
ทอดไม่ทิ้ง! เปลี่ยน ‘น้ำมันเหลือทิ้ง’ เป็น ‘น้ำมันเครื่องบิน’ โอกาสใหม่ SME ไทย เติบโตอย่างยั่งยืน

ทอดไม่ทิ้ง! เปลี่ยน ‘น้ำมันเหลือทิ้ง’ เป็น ‘น้ำมันเครื่องบิน’ โอกาสใหม่ SME ไทย เติบโตอย่างยั่งยืน

ขณะที่ยานพาหนะต่าง ๆ ทั้ง รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รถไฟ และเรือ ต่างมุ่งสู่การใช้เชื้อเพลิงพลังงานทดแทน ที่เป็นพลังงานสะอาดกันแล้ว แต่สำหรับการเดินทางโดยอากาศยาน…
pin
1692 | 26/01/2024
จับกระแส 'เทรนด์ธุรกิจ' ปี 2024 ใครได้ไปต่อ ใครมาแรง SME ไทยต้องรู้

จับกระแส 'เทรนด์ธุรกิจ' ปี 2024 ใครได้ไปต่อ ใครมาแรง SME ไทยต้องรู้

ปี 2024 นี้ ธุรกิจไหนมาแรง ธุรกิจไหนน่าจับตา เทรนด์ธุรกิจใดกำลังมาแรง Bangkok Bank SME สรุปมาไว้ในบทความนี้ เพื่อเป็นแนวทางแก่ SME และผู้ที่กำลังคิดจะเริ่มต้นทำธุรกิจทุกท่าน…
pin
1933 | 25/01/2024
เปลี่ยนปัญหา ขยะแฟชั่น ด้วยโมเดล ‘BCG’ ทางออก ‘อุตสาหกรรม Fast Fashion’ สู่ความยั่งยืน